ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 11 : Tesla’s Macintosh

มันคงไม่ใช่คำพูดเกินหลายหากจะบอกว่า โรดส์เตอร์ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกนั้น ก็เปรียบเสมือน เครื่องคอมพิวเตอร์ apple II ของบริษัท Apple เพราะฉะนั้น วิสัยทัศน์ของมัสก์ สำหรับรถยนต์คันที่สองที่ Tesla จะทำการสร้างขึ้นมานั้น มันก็คือ Apple’s Macintosh ของ Tesla ดี ๆ นั่นเอง

ปัญหาใหญ่ของ โรดส์เตอร์นั้น คือเรื่องการ Design เพราะมัสก์ไม่อยากที่จะเริ่มต้นการผลิตรถยนต์จากศูนย์ใหม่ ซึ่งแน่นอน ข้อดีคือมันช่วยลดต้นทุนให้ Tesla เป็นอย่างมากใน Model แรกอย่าง โรดส์เตอร์

แต่คันที่สองมันต้องไม่เหมือนคันแรก มันต้องเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ตั้งแต่ต้นจาก Tesla เท่านั้น มันต้องมีจุดเด่นที่ใคร ๆ เห็นว่ารถคันนี้คือผลิตโดย Tesla เหมือนที่เราเห็นรถยนต์ Benz , BMW , Ferrari , Audi ที่รู้ได้ทันทีว่าแต่ละคันคือ แบรนด์ไหนออกแบบมา

Tesla จึงได้ทำการสร้าง Design Studio เพื่อรองรับการออกแบบรถยนต์รุ่นใหม่โดยเฉพาะ ในโรงงานของ SpaceX ที่ลอสแอนเจลลิส แต่ปัญหาคือ เขาต้องการมือดีด้านนี้มาทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ให้สำหรับ Tesla โดยเฉพาะ และต้องเป็น ดีไซต์ที่ไม่ซ้ำรถยนต์อื่น ๆ ในตลาด เพื่อให้ทุกคนเห็นแล้วรู้ทันทีว่านี่คือ Tesla

และในที่สุด มัสก์ และ Tesla ก็ได้คนที่ต้องการ von Holzhausen Designer ชื่อดังในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ผ่านงานมาทั้ง Volkswagen , Audi , GM และ Mazda โดยมัสก์ยื่นข้อเสนอมให้มาร่วมงานที่ยากจะปฏิเสธ

มัสก์ ได้มือดีอย่าง von Holzhausen มาช่วย Design Model S
มัสก์ ได้มือดีอย่าง von Holzhausen มาช่วย Design Model S

มัสก์ต้องการให้ Holzhausen นั้น ปฏิวัติการดีไซต์ของรถซีดานใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างรถยนต์คันที่ 2 ของ Tesla ซึ่งก็คือ Model S นั่นเอง สำหรับ Holzhausen นั้นงานดีไซต์ รถยนต์แบบปรกติทั่วไปที่ใช้น้ำมัน กับ การ ดีไซต์รถยนต์ไฟฟ้าให้กับ Tesla นั้นมันเป็นอะไรที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร  รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีพื้นที่ว่างให้ใส่ไอเดียต่าง ๆ เข้าไปมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบปรกติ

สิ่งสำคัญอีกส่วนนึงก็คือเรื่องของเสียง เนื่องจากความแตกต่างของเสียงเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน กับ ไฟฟ้า โดยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้านั้น จะมีเสียงที่เงียบกว่า เพราะฉะนั้น ต้องมีการ ดีไซต์เรื่องการลู่ลมของรถยนต์ให้ดีเพื่อไม่ให้มีเสียงดังมาขัดใจผู้ขับขี่

Model S นั้นถูกใช้วัสดุจากอะลูมิเนียมชนิดพิเศษ แบบเดียวกับที่ใช้ในจรวดของ SpaceX แทบจะทั้งคัน ซึ่งจะแตกต่างจาดรถยนต์ทั่วไปที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก

ความเจ๋งอีกอย่างหนึ่งของ Model S ก็คือหน้าจอขนาดยักษ์ 17 นิ้ว ที่เป็นแบบ Touch Screen ที่ดูคล้าย ๆ Ipad ขนาดยักษ์ ซึ่งติดตั้งไว้ที่ Console ของรถยนต์ Model S ทุกคัน และลูกค้าทุกคนก็หลงรักเจ้าจอขนาดยักษ์นี้ทันที่ มันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดอย่างนึงของทีมที่ออกแบบส่วนของภายในรถยนต์ Model S

จอยักษ์ขนาด 17 นิ้ว อีกหนึ่งทีเด็ดของ Model S
จอยักษ์ขนาด 17 นิ้ว อีกหนึ่งทีเด็ดของ Model S

แต่ก็มีบางเรื่องที่เหล่าทีม Design ของ Holzhausen นั้นคิดผิดไป รายละเอียดเล็ก ๆ อย่างไฟสำหรับอ่านหนังสือตรงที่นั่งด้านหลังนั้น เหล่าทีม Design คิดกันว่า คนในยุคนี้นั้นแทบจะไม่อ่านหนังสือกันแล้ว ส่วนใหญ่จะอ่าน ebook กัน ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องไปติดไฟส่องสว่างสำหรับที่นั่งด้านหลัง

แต่เชื่อหรือไม่ว่า มัสก์ นั้นเป็นคนค้นพบจุดบกพร่องนี้ด้วยตัวเอง ในระหว่างช่วงทดสอบรถซึ่งเขามักจะทดสอบด้วยตัวเองนั้น ลูกของเขาต้องการที่จะอ่านหนังสือเมื่อนั่งตรงด้านหลัง แต่มองไม่เห็นสวิตช์ไฟ ถึงกับอุทานออกมาต่อหน้าพ่ออย่างมัสก์ ผู้เป็น CEO ของ Tesla ว่า “มันเป็นรถยนต์ที่งี่เง่าที่สุดในโลก” เลยทีเดียว และสุดท้ายก็ต้องทำการติดไฟสำหรับอ่านหนังสือให้กับ Model S ทุกคันในที่สุด

และในที่สุด ตัว prototype ของ model S ก็พร้อมออกมาให้ยลโฉมกันในเดือนมีนาคม ปี 2009 แม้หลาย ๆ คนจะยังไม่ประทับใจกับมันนักก็ตาม เหล่านักวิจารณ์ก็มองมันเหมือนเป็นของเล่นของมัสก์ เท่านั้น มันยังไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าจริง ๆ แบบที่เขาได้เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ หลาย ๆ สื่อเริ่มวิจารณ์บริษัท Tesla

มีการทดสอบตัว prototype โดยวิ่งไปในเมือง Palo Alto และมีผู้คนสามารถที่จะถ่ายรูปเจ้า Model S ให้หลุดออกไปใน  internet ได้ ซึ่งความจริง Tesla อยากให้เรื่องเหล่านี้เป็นความลับอยู่

แต่มันได้กระจายไปทั่วแล้ว หลาย ๆ คนต่างผิดหวังกับ Design ของ รถยนต์รุ่นใหม่ของ Tesla และหวังว่ามันคงไม่ใช่รถยนต์ที่ผลิตโดย Tesla จริงตามข่าว มันไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะขายรถยนต์หน้าตาแบบนี้ในราคาสูงถึง 50,000 หรือ 60,000 เหรียญ ซึ่งผู้บริโภคมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมายกับ มูลค่าที่สูงขนาดนั้น

Model S ถูกนำไปเทียบกับ Ford Probe รถยุก 80 เลยทีเดียวในช่วงแรกก่อนการเปิดตัวจริง
Model S ถูกนำไปเทียบกับ Ford Probe รถยุก 80 เลยทีเดียวในช่วงแรกก่อนการเปิดตัวจริง

หลาย ๆ คนเปรียบเทียบมันกับ รถยนต์โบราณสุดเห่ยอย่าง Ford Probe ที่เป็นรถยนต์ในยุค 80’s เลยด้วยซ้ำ และที่สำคัญ สถานการณ์ของบริษัทของมัสก์ ก็เริ่มซวนเซ ไม่ว่าจะเป็น SpaceX รวมถึง Tesla เองก็ตามที

ในปี 2008 ทั้ง SpaceX และ Tesla เกือบจะไปไม่รอด SpaceX ล้มเหลวในการปล่อยจรวดถึง 3 ครั้ง และเหลือเงินทุนพอที่จะปล่อยจรวดได้อีกแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น SpaceX ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดครั้งที่ 4 โดยสมบูรณ์

ก่อนหน้าการปล่อยครั้งที่ สามนั้น มัสก์ลงมามีส่วนร่วมแบบถึงลูกถึงคนตามสไตล์ของเขา มัสก์จะติดตามคนที่ต้องรับผิดชอบแต่ละส่วนอย่างไม่ลดละ มันคือเส้นทางวิกฤติของ SpaceX เลยก็ว่าได้ มันเหลือโอกาสอีกไม่มากสำหรับ SpaceX ที่จะทำให้ฝันของมัสก์นั้นเป็นจริง

ในการปล่อยครั้งที่สี่ ความต้องการและความคาดหวังนั้นพุ่งสูงจนถึงระดับที่คนทำงาน เริ่มทำผิดพลาดแบบโง่ๆ  มันเต็มไปด้วยความกดดัน มัสก์เช่าเครื่องบินบรรทุกของทหารพาลำตัวจรวดบินไปจากลอสแอนเจลิส ไปยัง ควาจ สถานที่ปล่อย

เหมือนจะเป็นควมคิดที่ดี แต่วิศวกร SpaceX ลืมไปว่า ปัจจัยในเรื่องของเครื่องบินอัดความดันอากาศจะทำอะไรกับจรวดซึ่งหนาไม่ถึง 1/8 นิ้วเท่านั้น และมันก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้ จรวดที่เหมือนกับขวดน้ำเปล่าเวลาอยู่บนเครื่องบิน เมื่อแรงกดอากาศดันเข้ากับด้านข้างขวดทำให้มันบู้บี้

และจรวดก็เช่นกัน ลำตัวจรวดนั้นยุบลงไปหลายจุด และเกิดปัญหาอีกหลายอย่างขึ้น มัสก์ต้องให้ลูกทีมซ๋อมแซมมันโดยด่วน และเพียงสองสัปดาห์ต่อมาจรวดก็ได้รับการซ่อมแซมภายในโรงเก็บเครื่องบนชั่วคราวที่ ควาจ

การปล่อยครั้งที่สี่ และอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของ SpaceX เกิดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2008 พนักงาน SpaceX ทำงานกันต่อเนื่องไม่หยุดภายใต้ความกดดัน กว่า 6 สัปดาห์  โดยทั้งความฝัน และความหวังของพวกเขากำลังอยู่บนเส้นด้าย

และในที่สุด ช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 28 ทีม SpaceX ได้ยก ฟัลคอน 1 ขึ้นตั้งบนตำแหน่งปล่อยจรวด ครั้งนี้ SpaceX ได้ถ่ายทอดผ่านเว๊บ เพื่อให้สาธารณะชนได้เห็นการสร้างที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้

ซึ่งคราวนี้ ฟัลคอน 1 นั้นไม่ได้ขนสัมภาระจริง ๆ จรวดลำนี้ได้ขนสัมภาระหลอกขนาด 360 ปอนด์แทน เมื่อจรวดเริ่มทำงาน ไต่สูงขึ้น ต่างได้รับเสียงตะโกนและเป่าปากจากผู้ที่กำลังเฝ้าดู

เมื่อท่อนแรกร่วงลงมา ท่อนสองก็ติดเครื่องประมาณ 90 วินาทีของการบิน เครื่องยนต์ลุกแดงและเริ่มเผาไหม้นาน 6 นาที จนท่อนสองเคลียร์เรียบร้อยแล้ว โครงสร้างภายนอกของจรวดเปิดออกที่ราว ๆ ตำแหน่งสามนาที และร่วงกลับลงมาสู่พื้นโลก และ ในที่สุด รางนาทีที่ 9 ของการเดินทาง ฟัลคอน 1 ก็ดับเครื่องตามแผนและไปถึงวงโคจรโลกได้สำเร็จ

การปล่อยครั้งที่ 4 ของ ฟัลคอน 1 เป็นไปได้อย่างราบรื่น
การปล่อยครั้งที่ 4 ของ ฟัลคอน 1 เป็นไปได้อย่างราบรื่น

และนี่คือเครื่องจักรกลเอกชนชิ้นแรกที่บรรลุความพยายามอันยากลำบากได้สำเร็จ มันใช้เวลาถึง 6 ปีในการเดินทางผ่านอุปสรรคต่างๆ  มามากมาย ซึ่งมากกว่าที่มัสก์เคยวางแผนไว้ถึง 4 ปีครึ่ง กับคนห้าร้อยคนในการสร้างปาฏิหาริย์แห่งธุรกิจ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้

และหลังจากการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ องค์กรแห่งหนึ่งก็เริ่มเห็นความสำคัญของ SpaceX และเสี่ยงลงทุนกับ Spacex ด้วยเงิน $1,600 ล้าน องค์กรแห่งนั้นก็คือ NASA ในขณะที่บริษัท Tesla เองก็ประสบวิกฤติด้านการเงินอย่างรุนแรง และเสี่ยงที่จะล้มละลายอีกครั้ง แต่บริษัทก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้โดย ได้รับเงินลงทุนเพิ่มจากบริษัท Daimler ผู้ผลิตรถยนต์ Mercedes Benz เป็นเงิน $50 ล้าน ทำให้ทั้ง 2 บริษัทต่างก็รอดตายอย่างหวุดหวิดจากวิกฤติทางด้านการเงินของอเมริกาที่ร้ายแรงที่สุดครั้งนึงเลยก็ว่าได้

–> อ่านตอนที่ 12 : Rocket Launcher

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 10 : The Show Musk Go On

ความสำเร็จของ Henry Ford ในการสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้นมาใหม่นั้น ส่งผลกระทบชัดเจนต่อชาวอเมริกัน ด้วยภาพที่เขาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่  และ Ford ยังต้องเร่งการผลิตให้ท้นต่อความต้องการของผู้บริโภค เขาได้สร้างสิ่งที่กำลังจะมาเป็นนวัตกรรมที่มีความสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการผลิตรถยนต์ของ Ford นั่นก็คือ การผลิตรถในจำนวนมากได้สำเร็จ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตได้จำนวนมาก  ๆ  ผ่านวิธีการโดยใช้สายพานการผลิตของเขานั้น มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ และมันช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวอเมริกันไป เพื่อนคนสนิทของเขาอย่าง William  Harley และ Arthur Davidson ได้นำเครื่องยนต์ไปติดกับจักรยาน และได้กลายเป็นรถมอเตอร์ไซต์ขายออกไปทั่วประเทศ 

Milton Hershey ได้นำเอาแนวคิดสายพานการผลิตของ Henry Ford ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของเขาอย่างช็อคโกแลต ส่วนพ่อค้าชาว ชิคาโก William Wrigley ก็ใช้แนวคิดเดียวกันในการผลิตหมากฝรั่งออกขายไปได้ทั่วประเทศ 

แนวคิดสายพานการผลิตของ Henry Ford เปลี่ยนอุตสาหกรรมของสหรัฐไปตลอดกาล
แนวคิดสายพานการผลิตของ Henry Ford เปลี่ยนอุตสาหกรรมของสหรัฐไปตลอดกาล

มันทำให้เกิดนักธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างสิ่งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดใหม่ ที่มีต้นแบบมาจาก Henry Ford พวกเขาได้คิดค้นการผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นมา และจ่ายค่าแรงที่เหมาะสมให้กับคนงาน ภายใต้สภาพการทำงานที่ปลอดภัย ขึ้นมาใหม่

และโจทย์นี้ มันก็เป็นโจทย์เดียวกับที่นักธุรกิจรุ่นใหม่แห่งยุคนี้อย่าง อีลอน มัสก์ ต้องเจอ แม้ Henry Ford นั้นได้สร้างรากฐานในเรื่องสายพานการผลิตไปยังอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จกันนับไม่ถ้วนแล้ว แต่มันก็ไม่ง่ายเสียทีเดียวสำหรับการจะมาสร้างรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของ อีลอน มัสก์ เมื่อต้องการผลิตในปริมาณมาก ๆ 

และปัญหานี้ก็เกิดกับ ซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในนั้นที่ Tesla ต้องส่งทีมวิศวกรหนุ่มแน่น ยอดอัจฉริยะ ทั้งหลายไปจัดการในการตั้งโรงงานแบตเตอรรี่ ซึ่งเป็นแผนแรกของ Tesla ที่ต้องการให้ไทยเป็นซัพพลายเออร์หลักแห่งหนึ่งสำหรับผลิตชิ้นส่วนป้อนให้รถยนต์ Tesla ซึ่งบริษัทที่มีความทะเยอทะยาน และ มีความมุ่งมั่นสูงสุด สำหรับงานนี้ก็คือ บริษัท ไทยซัมมิท ของ คุณ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นั่นเอง

ไทยซัมมิท ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตให้กับ Tesla
ไทยซัมมิท ที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิตให้กับ Tesla

แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงนั้น งานด้านแบตเตอรี่ ถือว่าในไทยนั้นยังเป็นงานที่ใหม่มาก ๆ เพราะส่วนใหญ่แม้ไทยจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องการป้อนอะไหล่ต่าง ๆ ให้กับรถยนต์ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือ ยุโรป ก็ตาม แต่มันไม่ใช่เรื่องแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ของประเทศไทย

ทีมงานวิศวกรของ Tesla นั้นต้องมาจัดการเรื่องโรงงานที่จะใช้ รวมถึงการจัดการเรื่องความร้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึง Tesla นั้นมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนสำคัญ และไวต่อสิ่งเร้าเป็นอย่างมาก

มีการลงทุนติดผนังเบาให้กับโรงงานในไทย รวมถึงการเคลือบพื้น และสร้างห้องเก็บของพร้อมเครื่องควบคุมอุณหภูมิ และเหล่าวิศวกรของ Tesla ก็ได้ทำการ Training ให้กับคนงานชาวไทยถึงวิธีที่จะจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มันทำให้การพัฒนานั้นล่าช้าลงไปอีก หลังจากเจอปัญหาต่างๆ  มากมายในประเทศไทย

และ Tesla ยังต้องเจออีกหลายปัญหาในการผลิตจำนวนมาก เนื่องจาก แผงตัวรถนั้นถูกผลิตที่ฝรั่งเศษ มอเตอร์มาจากไต้หวัน เซลล์แบตเตอรี่มาจากจีน ไปประกอบแบตเตอรี่ที่ไทย  ส่งไปให้โลตัสที่อังกฤษสร้างตัวถังรถ แล้วค่อยส่งมาที่ลอสแอนเจลิส

มันเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และแผนต่าง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นระบบระเบียบมากนักทำให้ทุกอย่างล่าช้ายิ่งไปอีก แถมต้นทุนยังสูงมาก เมื่อมัสก์รู้ ก็ได้ว่าจ้างนักวิเคราะห์มาช่วยดูเรื่องต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งพบว่า โรดส์เตอร์แต่ละคันจะใช้ต้นทุน มากกว่า 200,000 เหรียญ และ Tesla วางแผนที่จะขายมันเพียงแค่ 85,000 เหรียญเท่านั้น ซึ่งต่อให้เดินเครื่องผลิตได้ทีละมาก ๆ ก็สามารถลดได้เต็มที่เหลือแค่ 170,000 เท่านั้น มันเห็นความบรรลัยทางด้านการเงิน ในขณะที่รถยังไม่ได้เข้าสายการผลิตเลยด้วยซ้ำ

โรดส์เตอร์ รถรุ่นแรกของ Tesla ที่กำลังจะมีต้นทุนสูงถึง 200,000 เหรียญ
โรดส์เตอร์ รถรุ่นแรกของ Tesla ที่กำลังจะมีต้นทุนสูงถึง 200,000 เหรียญ

แม้ เอเบอร์ฮาร์ด กับ มัสก์ นั้นจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันมาหลายปีในเรื่องการออกแบบบางอย่างของรถ แต่โดยส่วนใหญ่นั้นทั้งคู่เข้าขากันได้อย่างดี พวกเขามีวิสัยทัศน์เหมือนกันหลาย ๆ อย่างในเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และ ความสำคัญของพลังงานทดแทนที่จะมีต่อโลกเรา

แต่ การที่มัสก์ได้รับรู้ราคาต้นทุนที่แท้จริง มันทำให้มัสก์มอง เอเบอร์ฮาร์ดเปลี่ยนไปทันที มันคือการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพดี ๆ นี่เอง ที่ไม่ละเอียดพอในการดูแลเรื่องใหญ่อย่างต้นทุนของรถรุ่นแรกอย่างโรดส์เตอร์ให้มันเละเทะได้เพียงนี้ มันก็ถึงเวลาที่ เอเบอร์ฮาร์ด ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Tesla คนแรก ๆ ต้องเดินออกจากบริษัทที่เขาตั้งมากับมือไป

แม้มัสก์ จะเปลี่ยนตัว CEO ชั่วคราวไปหลายคน สถานการณ์มันก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ตอนนั้น มัสก์ ก็วุ่นอยู่กับ SpaceX อีกบริษัทหนึ่งของเขาอยู่ มัสก์พยายามให้สัญญาว่ารถจะสามารถออกวางจำหน่ายได้ในปี 2008 แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้มันยังไกลจากเป้าหมายที่เขาวางไว้เป็นอย่างมาก

ไม่นานนัก พนักงาน Tesla ก็ได้เห็นมัสก์คนเดียวกับที่ SpaceX เสียที เขาต้องลงมาจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาอย่างเช่นตัวถังรถที่ผิดพลาด มัสก์ก็จัดการกับมาตรง ๆ เขาบินไปอังกฤษด้วยตัวเองเพื่อรับเครื่องมือที่ใช้ผลิตแผ่นตัวถังรถชิ้นใหม่และส่งมันเข้าโรงงานในฝรั่งเศษด้วยตัวเอง

ส่วนเรื่องต้นทุนมัสก์จัดการขั้นเด็ดขาด ต้องทำต้นทุนให้ได้ทุกชิ้นส่วน ต้องมีการกำหนดและวิเคราะห์ต้นทุนทุกเดือน มัสก์ ไม่เคยพลาดในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หัวเขาเหมือนมีเครื่องคิดเลขติดอยู่ในหัว แม้มัสก์ จะดูเหมือนแข็งกร้าว และอารมณ์ร้อน เกินไป แต่ทุกอย่างเขาทำก็เพื่อ Tesla เขาไม่ได้เป็นพวกโลกสวยอย่างที่คนอื่นเคยทำมา

มัสก์ต้องลงมาจัดการปัญหาของ Tesla ด้วยตัวเอง
มัสก์ต้องลงมาจัดการปัญหาของ Tesla ด้วยตัวเอง

ส่วนเรื่องการตลาดนั้น มัสก์จะค้นหาข่าวเกี่ยวกับ Tesla ใน Google แทบจะทุกวัน เมื่อใดที่เขาเจอเรื่องไม่ดีกับ Tesla เขาจะสั่งการให้แผนกประชาสัมพันธ์ไปแก้ไขโดยด่วน นี่มันเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ต้องไม่มีเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ใด  ๆ กับ Tesla ของเขาอีกต่อไป

มัสก์ใส่ใจรายละเอียดทุกอย่าง พนักงานไม่ต้องกังวัลเรื่องวิธีการหรือว่ามันมีข้อบกพร่องหรือเปล่า แค่ตั้งใจทำงานให้เสร็จเท่านั้น มัสก์จะรับฟังปัญหา เขาต้องการคำถามที่เข้าท่าเท่านั้น และเดินหน้าอย่างรวดเร็ว แบบถึงลูกถึงคน ให้งานเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

มันทำให้พนักงานหลายคนทนไม่ไหวต้องลาออกไป แม้จะอัจฉริยะขนาดไหน ก็โดนมัสก์เล่นงานมาแทบจะทั้งสิ้น แต่หลายคนจากรุ่นบุกเบิก ก็รอดกันมาได้ การมีชื่อแบรนด์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีผู้นำอย่าง อีลอน มัสก์ ก็สามารถที่จะจ้างพนักงานแถวหน้าเข้ามาได้เรื่อย ๆ รวมถึงคนจากบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ ที่ต้องการที่จะมาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ร่วมกับ อีลอน มัสก์ ก็ได้เข้ามาร่วมงานมากขึ้นเรื่อย ๆ 

เหมือนทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ใครจะไปคาดคิดว่า อยู่ดี ๆ วิกฤตครั้งใหม่กำลังมาเยือน ขณะก้าวเข้าสู่ปี 2008 บริษัทกำลังจะหมดเงิน โรดส์เตอร์ ใช้เงินทุนในการพัฒนาไปกว่า 140 ล้านเหรียญ หากสถานการณ์ปรกติ มันไม่ยากเลยที่จะระดมทุนเพิ่มเติม แต่ทว่า ปี 2008 อย่างที่ทุกท่านทราบกัน มันคือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนึงของอเมริกา

วิกฤติทางการเงินในปี 2008 ทำให้ Tesla ที่กำลังจะเปิดตัวได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ
วิกฤติทางการเงินในปี 2008 ทำให้ Tesla ที่กำลังจะเปิดตัวได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในสหรัฐฯกำลังถูกฟ้องล้มละลาย ท่ามกลางวิกฤติการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ยุควิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งท่ามกลางเรื่องเลวร้ายทั้งหมดนี้ มัสก์ ต้องโน้มน้าวเหล่านักลงทุนของ Tesla ให้ยอมลงทุนเพิ่มมากกว่า 10 ล้านเหรียญ แต่ปัญหาคือ ตอนนั้นมีแต่ข่าวเสีย ๆ หาย  ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกา ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แทบจะไม่มีใครซื้อรถกันแล้ว มัสก์กำลังอยู่ในเส้นทางที่เสี่ยงที่สุดในชีวิตของเขา ทั้งหมดที่เขาทำมาจะล้มครืนลงไปหรือไม่? เขาจะพา Tesla ฝ่าวิกฤติที่รุนแรงที่สุดครั้งนี้ไปได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Tesla’s Macintosh

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 9 : The Electric Stars

ต้นปี คศ.1991 บริษัทรถยักษ์ใหญ่ของอเมริกาคือ GM ประกาศที่จะพัฒนารถไฟฟ้าขึ้นมาด้วยเหตุผลสาม ประการคืออย่างแรก คือต้องการที่จะ ลดมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากเครื่องยนต์ อย่างที่สองคือ เป็นการคาดการณ์ตลาดรถไฟฟ้าและเตรียม พร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถ เพราะหลายๆ รัฐสนใจที่จะใช้นโยบาย Zero Emission Vehicle (ZEV)  mandate มาแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่าง California มีแผนที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี คศ.1997 เหตุผลสุดท้ายก็คือเป็นความหวังที่จะยึดส่วน แบ่งตลาด รถคืนมาหลังจากที่พลาดท่าให้กับผู้ผลิตรถจากญี่ปุ่น

เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง GM ประกาศทุ่มสุดตัวจะเอาตลาดกลับคืนมาให้ได้ด้วยศักยภาพของ IMPACT CONCEPT CAR อย่าง EV1 โครงการที่คุ้นหูกันดีในแวดวงรถไฟฟ้า โดย GM ผลิต  CONCEPT CAR ออกมา 30 คันเมื่อปี คศ.1993 เพื่อทดสอบและเก็บข้อมูลและเมื่อมาถึงปลายปี คศ.1996 มีการทำตลาด กันอย่างชัดเจน โดยตั้งราคาขายไว้ที่ 33,955 เหรียญ โดยหวังที่จะยึดครองตลาดใหญ่ๆให้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน California
คือเป้าหมายที่สำคัญ

EV1 รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของ GM
EV1 รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของ GM

แน่นอนในยุคแรกเริ่มของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปัญหาอยู่ที่แบตเตอรี่แม้ใน EV1 ของ GM แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแม้ว่าใน EV1 รุ่นแรกๆ แบตเตอรี่เมื่อประจุเต็มนั้นจะ วิ่งได้เพียง 45 ไมล์ แถมแบตเตอรี่อายุสั้นมีปัญหามากระหว่างการใช้งานจริง ๆ 

จนเมื่อ GM พัฒนาแบตเตอรี่ใหม่เป็น NiMH ที่วิ่งได้มากกว่า 100 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และสามารถที่จะชาร์จไฟเข้าแบตได้จากไฟในบ้านที่เรียกกันว่า Plug in ในขณะที่ GM ประสบความสำเร็จกับแบตเตอรี่ รุ่นใหม่ โตโยต้า และ ฮอนด้า นิสสัน และ มิตซูบิชิ ก็พบกับความสำเร็จจากแบตเตอรี่ NIMH เช่นเดียวกัน

ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็น โตโยต้า RAV4 EV ที่เป็นที่ติดใจของผู้ที่ได้ใช้มัน รวมทั้ง GM EV1 ที่เปลี่ยนแบตเตอรี่ไปใช้เป็น NiMH แล้ว

EV1 ของ GM นั้น ให้ประชาชนเช่าใช้เดือนละ 400-500 เหรียญ โดยทำสัญญาเช่าสามปี แทบจะไม่มีขายขาด ที่มีให้เช่าเท่านั้น เนื่องจากจำเป็นต้องบำรุงรักษาเป็นพิเศษจาก GM โดยเฉพาะ เพราะ เป็นเทคโนโลยีใหม่มาก จนไม่รู้จะให้ช่างที่ไหนซ่อมมันได้ หากเกิดปัญหา จุดเด่นของมันคือผู้ใช้แทบไม่ต้องเติมน้ำมันเลย กลับบ้านไปแค่เสียบปลั๊กอย่างเดียว ใช้งานได้เหมือนรถยนต์ปกติ ขับออกทางหลวง ขึ้นทางด่วนได้สบาย หายห่วง

แต่แล้วในที่สุด ในราวปี 2002 GM ก็เรียกรถคืนทั้งหมด แล้วเอามาทุบทิ้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่สงสัยกันอย่างมาก ทำไมโครงการรถยนต์ไฟฟ้าที่ GM วิจัยนับสิบปีจนผลิตออกมาใช้งานได้จริง ถึงหยุดพัฒนาไปเฉยๆ และเก็บรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่รุ่นเดียวไปทำลาย จน Toyota เข็น Prius ที่เป็น Hybrid car ออกมาขายให้คนอเมริกันได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไปแทน กลายยักษ์ใหญ่ของอเมริกัน แพ้ ให้กับบริษัทญี่ปุ่นแบบไม่ควรแพ้เสียด้วยซ้ำ

GM เรียกคืน แล้วทุบทิ้งทั้งหมดแบบงงกันทั้งประเทศ
GM เรียกคืน แล้วทุบทิ้งทั้งหมดแบบงงกันทั้งประเทศ

และในปีเดียวกันนั้นเองมันได้เริ่มศักราชใหม่ของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้าของอเมริกา โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลงไหลในแนวคิดเรื่องพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ปี 2002 เจ.บี. สตรอเบิล ที่อาศัยอยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส ผู้ซึ่งได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ตอนนั้นเขายังไม่ได้งานที่โดนใจนัก เขาพยายามเปลี่ยนงานเพื่องานที่ใช่สำหรับเขา  สุดท้ายเขาได้เลือก Rosen Motors บริษัทที่สร้างหนึ่งในยานพาหนะไฮบริดคันแรก ๆ ของโลก เป็นรถที่เอาล้อตุนกำลังและกังหันก๊าซออก แล้วให้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อแทน

และที่นี่ ทำให้เขาได้รู้จักกับ แฮโรลด์ โรเซน สุดยอดวิศวกร จาก Rosen Motors ที่ทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แนวคิดที่ชัดเจนที่สุดของ สตรอเบิล ที่เขาคิดมาตั้งแต่สมัยเรียนที่สแตนฟอร์ด ก็คือ เขารู้ซึ่งว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไออน อย่างเช่นที่อยู่ในรถ ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์นั้น มีดีกว่าที่ใครหลายคนคิด

แบบที่สตรอเบิลคิดคือ ยานพาหนะซุปเปอร์แอโรไดนามิกซึ่ง 80% ของมวลทั้งหมดทำจากแบตเตอรี่ เขาต้องการที่จะสร้างยานพาหนะเพื่อพิสูจน์แนวคิดให้คนนึกถึงพลังงานของแบตเตอรี่ ลิเทียมไออนเสียมากกว่าการตั้งบริษัทรถยนต์ขึ้นมาเอง

แต่ปัญหาเดียว คือ แทบจะไม่มีใครที่จะสนใจแนวคิดของ สตรอเบิล เลยด้วยซ้ำ นักลงทุนที่ได้ฟังแนวคิดนี้ ล้วนแล้วปฏิเสธเขา คนแล้วคนเล่า จนเขาเริ่มท้อ

สตรอเบล ผู้คลั่งไคล้ รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ ผู้มีบทบาทสำคัญ
สตรอเบิล ผู้คลั่งไคล้ รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ ผู้มีบทบาทสำคัญ

แต่ไม่รู้เพราะโชคชะตาฟ้าลิขิตหรือว่าอย่างไรที่ทำให้เขาไปพบกับชายที่ชื่อ อีลอน มัสก์ ตอนนั้น แฮโรลด์ โรเซน ที่รู้จักกับมัสก์ เป็นการส่วนตัวนั้น ได้นัดทานมื้อกลางวันที่ร้านอาหารใกล้สำนักงานใหญ่ของ SpaceX ใน ลอสแอนเจลิส

แต่ตอนนั้น โรเซน ต้องการคุยเรื่องแนวคิดของเครื่องบินไฟฟ้า ซึ่ง มัสก์ นั้นไม่ค่อยซื้อไอเดียดังกล่าว สตรอเบิล จึงได้เสนอเรื่องโปรเจครถยนต์ไฟฟ้า ด้วยแนวคิดบ้า ๆ เรื่องแบตเตอรี่ลิเทียมไออนของเขาที่ไม่มีใครสนใจให้กับมัสก์ฟัง

แต่นี่มันเป็นการกระตุกความฝันอีกอย่างของมัสก์ เรื่องพลังงานทดแทน มัสก์นั้นคิดเรื่องยานพาหนะไฟฟ้ามาหลายปีแล้ว แต่เขาต้องหยุดมันไว้ชั่วคราวเนื่องจากภาระงานของ SpaceX นั้นทำให้เขาแทบจะไม่มีเวลาที่จะมาคิดถึงเรื่องนี้

แม้นักลงทุนทุกคนจะคิดว่า สตรอเบิล นั้นบ้ากับความคิดของเขา แต่ไม่ใช่กับมัสก์ เขาเสนอให้เงิน 10,000 เหรียญทันที ซึ่งจากจำนวนเงินกว่า 100,000 เหรียญที่เขาต้องการที่จะฝานฝันโปรเจคของสตรอเบิล สิ่งที่มัสก์ต้องการนั่นคือรถพื้นฐานสมรรถนะสูงและรบบส่งกำลังไฟฟ้า และให้สตรอเบิล เดินไปทิศทางดังกล่าวให้ได้

แต่ในเวลาเดียวกันนั้น มีคู่หูธุรกิจ คู่หนึ่งที่ตกหลุมรักแนวคิดสร้างรถพลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเช่นเดียวกัน ทั้งคู่คือ มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด และ มาร์ค ทาร์เพนนิง ผู้ที่ร่ำรวยมาจากการขายกิจการ StartUp ที่ชื่อ Rocket eBook ให้กับเจมสตาร์ ซึ่งเป็นเจ้าของ ทีวีไกด์ และเทคโนโลยีนำทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับเงินมากว่า 187 ล้านเหรียญ

ซึ่งเงินจำนวนมากโขนี้ นี่เอง ทำให้ทั้งคู่สามารถที่จะมาสานฝันของตัวเองในเรื่องการสร้างรถพลังงานไฟฟ้า  ในปี 2003 ทั้งคู่ได้เปิดบริษัท Tesla Motors ขึ้นมา ซึ่งชื่อนี้ก็เพื่อยกย่องนักประดิษฐ์และผู้บุกเบิกมอเตอร์ไฟฟ้าอย่าง นิโคลา เทสลา นั่นเอง

สองคู่หูผู้ตกหลุมรักรถยนต์ไฟฟ้า
สองคู่หูผู้ตกหลุมรักรถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งเมื่อพวกเขาได้ศึกษาอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างลึกซึ้งแล้วนั้น พบว่าไม่ง่ายเลยในการเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง ฟอร์ด GM หรือ BMW แทบจะไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เองอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาควบคุมไว้ มีเพียงแค่เรื่องการวิจัยสันดาปภายใน การขายและการตลาด รวมถึงการประกอบในขั้นสุดท้ายเพียงเท่านั้น

เช่นเดียวกับ สตรอเบิล พวกเขาหานักลงทุนที่จะมาสนใจในอุตสาหกรรมนี้ยากมาก ๆ และมัสก์ คือคำตอบสุดท้ายอีกเช่นเคย เมื่อทั่งคู่ได้มีโอกาสได้พบเจอกับมัส์ และรู้ว่ามัสก์นั้นก็มีแนวคิดเรื่องพลังงานทดแทน และยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เอเบอร์ฮาร์ด กับ ไรท์ ก็บินไปพบมัสก์ ที่ลอสแอนเจลิส ทันที่ และ ด้วยคำถามเพียงไม่กี่ข้อจากมัสก์เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจ และโมเดลด้านการเงิน และไม่นาน มัสก์ ก็โอเค ตกลง และพร้อมจะลุยกับ Tesla Motors ด้วย

การได้เจอนักลงทุนอย่างมัสก์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์เดียวกันนั้น มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงินลงทุน เท่านั้น แต่มันกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่เหมือน ๆ กัน คือการใช้พลังงานทดแทน และ หยุดการเสพติดน้ำมันของสหรัฐอเมริกา และด้วยเงินทุน ที่มัสก์ให้มา 6.5 ล้านเหรียญนั้น มันได้ทำให้ มัสก์กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Tesla และประธานบริษัทในภายหลัง

ส่วนสตรอเบิลนั้น มัสก์ก็ให้เข้ามาร่วมทีม Tesla ทันที และตอนนี้ Tesla ก็กลุ่มคนที่เรียกว่าบ้าที่สุดมารวมกัน เพื่อจะเปลี่ยนโลกใบนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

แต่ปัญหาคือ การสร้างรถยนต์ มันไม่เหมือน การสร้าง application ที่เหล่า startup ในซิลิกอน วัลเลย์ นั้นสามารถหาวิศวกรระดับเทพได้ไม่ยาก แต่การจะหาคนในอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นมันไม่ง่ายเลยทีเดียว

แต่ด้วย connection ของ สตรอเบิล ที่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็ได้ดึงมือดี ที่ได้วิจัยงานที่เกียวข้องกับรถพลังงานแสงอาทิตย์มาร่วมทีมได้ และดึงดูดเอาเหล่าอัจฉริยะแต่ละสาขามาร่วมกันสร้างรถยนต์แห่งอนาคต ที่ตอนนั้นพวกเขาตั้งชื่อโค้ดเนมว่า โร้ดส์เตอร์

ดึงเหล่านักวิจัยจากสแตนฟอร์ดที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่มาแล้ว
ดึงเหล่านักวิจัยจากสแตนฟอร์ดที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่มาแล้ว

และมันก็ถึงเวลาต้องหา โรงงานจริง ๆ จัง  ๆ เพื่อจะได้ทำการวิจัยได้ดียิ่งขึ้น พวกเขาได้เจอกับอาคารเก่าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อน กว้างขนาด 10,000 ตารางฟุต ซึ่งเป็นพื้นที่พอที่จะสร้างห้องวิจัย รวมถึงแผนกต่าง ๆ รวมถึงที่สำหรับประกอบรถยนต์ในขั้นตอนสุดท้ายให้สำเร็จ

แผนแรกของรถยนต์ต้นแบบนั้น พวกเขา จะใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตภายนอกเป็นส่วนใหญ่ทั้ง ชุดเกียร์ จากบริษัทในอเมริกา ชิ้นส่วนอื่นๆ จากเอเชีย วิศวกรเทสลานั้นจะโฟกัสไปที่การพัฒนาระบบชุดแบตเตอรี่ เดินสายไฟในรถ รวมทั้งการตัดและเชื่อมโลหะที่จำเป็นเพื่อประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกันเท่านั้น

รถคันแรกนั้นเสร็จอย่างรวดเร็ว ใช้วิศวกรเพียงแค่ 18 คนเท่านั้นในการสร้างมันขึ้นมา แต่พวกเขายังต้องนำมาทดสอบเพื่อวิจัยปัญหาของแบตเตอรี่เพิ่มเติม เป้าหมายของมัสก์คือต้องการที่จะวางจำหน่ายรถยนต์รุ่นแรกอย่างโรดส์เตอร์ให้ผู้บริโภคในช่วงต้นปี 2006 ให้ได้

โรดส์เตอร์ รุ่นแรกที่มัสก์ ต้องการวางจำหน่ายในปี 2006
โรดส์เตอร์ รุ่นแรกที่มัสก์ ต้องการวางจำหน่ายในปี 2006

แต่ปัญหาคือ หลังการทดสอบ ทีมวิศวกรได้พบข้อบกพร่องต่าง ๆ มากมาย ปัญหาใหญ่คือหากแบตเตอรี่ในรถติดไฟขึ้นมา แล้วมันระเบิด มันสามารถทำลายผู้ขับจนไม่เหลือซากได้เลยกับแบตเตอรี่ที่จะใส่ในรถรุ่นแรกอย่างโรดส์เตอร์

มันคงเป็นฝันร้ายน่าดู หากมีข่าวว่ารถของพวกเขานั้น เหล่า Celeb ชื่อดังหรือคนรวย ๆ ที่ต้องการรถ ถูกย่างสดจากไฟคลอกรถ พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพัฒนาวิธีจัดวางเพื่อไม่ให้ไฟลามจากแบตเตอรี่ไปยังอีกก้อน เพื่อไม่ให้มันระเบิดขึ้นพร้อม ๆ กัน 

ซึ่งหลังจากพวกเขาแก้ปัญหานี้ได้นั้น ก็ถือได้ว่าพวกเขาได้ทิ้งห่างคู่แข่งไปอีกหลายปี ซึ่งมันเป็นความพยายามที่คุ้มค่าสำหรับพวกเขาเป็นอย่างมาก และนี่เป็นหมุดหมายสำคัญของความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ของเทสลา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในกลางปี 2007 เทสลาเติบโตขึ้นจนมีพนักงานกว่า 260 คน และดูเหมือนว่ากำลังจะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำเร็จขึ้นมาจริง ๆ เทสลาจะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ สร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่สวยงาม และมีประสิทธิภาพ และสามารถวิ่งได้เร็วที่สุดในโลก แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการผลิตรถยนต์ คือ การผลิตรถในจำนวนมากนั่นเอง

และปัญหาใหญ่อย่างนึง มันก็เกิดขึ้นในบ้านเราที่ประเทศไทยนี่เอง เทสลาต้องการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเทสลาได้ตกลงเป็นคู่ค้ากับหุ้นส่วนผู้ผลิตที่กระตือรือร้น และมีความทะเยอทะยานมากที่สุดคนหนึ่ง แล้วเทสลาจะเจอกับปัญหาอะไรในประเทศไทย หุ้นส่วนผู้กระตือรือร้นคนนั้นจะเป็นใครหนอ? การผลิตในจำนวนมากนั้นเทสลาจะต้องเจอกับอะไรอีกบ้าง โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : The Show Musk Go On

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 8 : I don’t Need These Russians

หลังจากขาย Paypal ได้สำเร็จ วันหนึ่ง มัสก์ และ อดีตเพื่อนร่วมหอพัก ที่ University of Pennsylvania อย่าง อาดีโอ เรสซี่ ได้ร่วมทริปไปยัง Long Island โดยร่วมกับ ภรรยาของ เรสซี่ และ ภรรยาของมัสก์ มันเป็นทริปพักผ่อนสำหรับคู่รักสองคู่ นอกเมืองนิวยอร์ก แต่มันกำลังจะเกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่หลังจบทริปนี้

เรสซี่ ก็ประสบความสำเร็จกลายเป็นมหาเศรษฐีเช่นเดียวกันมัสก์ เพราะเขาเพิ่งขายบริษัททางด้านอินเตอร์เน็ต Methodfive ให้กับ Xceed มูลค่ากว่า 88 ล้านเหรียญ ระหว่างขากลับจากทริปดังกล่าวท่ามกลางรถติดบนทางด่วนที่ Long Island ทั้งคู่ต่างคิดเหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไปหลังจากนี้ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาจะทำมันต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แบบเปลี่ยนโลกได้เท่านั้น

ทั้งคู่นั้นมีความหลงไหลในเรื่องของอวกาศเช่นเดียวกัน เขาได้ถกเถียงกันเรื่องการเดินทางไปยังดาวอังคาร แต่มัสก์ นั้นคิดว่า NASA คงทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีอยู่แล้ว และคงกำลังดำเนินการอยู่ในการพามนุษย์ไปสู่ดาวอังคารให้สำเร็จหลังเคยพามนุษย์ไปดวงจันทร์ได้มาแล้ว

แต่หลังจากกลับจากทริปดังกล่าว มัสก์ ที่เริ่มสนใจ ไอเดียเก่า ๆ ของเขา เริ่มค้นหาข้อมูลใน website ของ NASA เกี่ยวกับการเดินทางไปยังดาวอังคาร ซึ่งเขาพบว่าข้อมูลแทบจะไม่มีอะไรอัพเดทความคืบหน้าเลยด้วยซ้ำ

มัสก์ค้นหาข้อมูลในเว๊บ NASA พบว่าไม่มีการอัพเดทเรื่องดาวอังคารเลยด้วยซ้ำ
มัสก์ค้นหาข้อมูลในเว๊บ NASA พบว่าไม่มีการอัพเดทเรื่องดาวอังคารเลยด้วยซ้ำ

หลังจากพามนุษย์ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ มันแทบจะไม่มีความคืบหน้าในการไปดาวอังคารของมนุษย์เลยด้วยซ้ำ ตอนนี้มันไม่ได้มีแรงจูงใจ เหมือนยุคที่ต้องขับเคี่ยวกับ รัสเซีย ในการพามนุษย์ไปดวงจันทร์ และแน่นอน อเมริกาเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แต่อยู่บนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ๆ ในโครงการอวกาศเหล่านั้น

เที่ยวบินสู่อวกาศเที่ยวสุดท้ายของ โครงการ Apollo ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1975 มันเป็นการสิ้นสุดการแข่งขันอย่างถาวร ของทั้งอเมริกาและรัสเซีย สงครามทุกอย่างมันจบลงแล้ว และตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับ NASA มากมายเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

อย่างที่มัสก์ ได้คิดไว้ตั้งแต่แรก สามสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์โลกในอนาคต นั้น ส่วนของอินเตอร์เน็ตนั้นเขาสามารถทำได้สำเร็จแล้วถึงสองครั้ง ทั้งกับ Zip2 รวมถึง Paypal มันได้หมดซึ่งความท้าทายต่อมัสก์อีกต่อไปในเรื่องของโลกอินเตอร์เน็ต เขาอิ่มตัวกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตแล้วในตอนนั้น

ส่วนเรื่องพลังงานที่ยั่งยืนนั้น ณ ตอนนั้น มีคนที่สนใจเรื่องดังกล่าวที่กำลังพัฒนาและวิจัยอยู่แล้ว มันเหลือแค่เรื่องของการสำรวจอวกาศ ซึ่งตอนนี้ดูเหมือน NASA จะชะลอโครงการต่าง ๆ ไว้ชั่วคราว เพราะไม่มีแรงผลักดันทั้งเงินทุน และ เรื่องการแข่งขันเหมือนในยุค 70 ที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักกับรัสเซีย

NASA ไม่มีแรงผลักดันในโครงการอวกาศเพื่อสานต่อ
NASA ไม่มีแรงผลักดันในโครงการอวกาศเพื่อสานต่อ

มัสก์ และ เรสซี่ ต้องการหาวิธีที่จะทำให้เรื่องการสำรวจอวกาศ กลับมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกครั้ง ซึ่งแนวคิดแรกของทั้งสองคือ การส่งพืช ไปยังดาวอังคาร โดยโปรเจคนี้ถูกตั้งชื่อว่า Mars Oasis ซึ่งประเมินว่าต้องใช้เงินลงทุนกว่า 65 ล้านเหรียญเลยทีเดียว 

ส่วนอีกแนวคิด เป็นเรื่องการส่งสิ่งมีชีวิตอย่าง หนู ไปยังดาวอังคาร เขาต้องการทดลองว่า หากส่งหนูไปแล้ว จะสามารถผสมพันธ์ ในสภาวะแวดล้อมบนดาวอังคารได้หรือไม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมัสก์ ก็คือ การจะพามนุษย์ไปใช้ชีวิตบนดาวอังคารนั่นเอง

ซึ่งเขาต้องพึ่งพาคนที่มีประสบการณ์ มัสก์ ได้พยายามติดต่อ วิศวกร ที่เป็นที่ปรึกษาด้านอวกาศอย่าง จิม แคนเทรล ซึ่งหลังจากได้พบและคุยกัน แคนเทรล นั้นตัดสินใจที่จะช่วยเหลือมัสก์ ในโปรเจคแรกอย่าง Mars Oasis โดยได้ติดต่อผู้ที่สามารถจัดการเรื่องกระสวยอวกาศที่มีราคาต้นทุนไม่สูงมากนัก

ซึ่งกระสวยอวกาศที่มีราคาถูกสุดในอเมริกาคือ Boeing’s Delta II ของบริษัท โบอิ้ง โดยต้องใช้เงินประมาณ 50 ล้านเหรียญ ซึ่งมันยังเป็นงบประมาณที่สูงเกินไป แคนเทรล ได้พยายามติดต่อ หากระสวยราคาถูก ทุก ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นในฝรั่งเศษ หรือ แม้กระทั่งรัสเซียเองก็ตาม

จรวดถูกสุดในอเมริกาอย่าง Delta II ยังมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านเหรียญ
จรวดถูกสุดในอเมริกาอย่าง Delta II ยังมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านเหรียญ

ในปลายเดือน ตุลาคมปี 2001 มัสก์ แคนเทรล และ เรสซี่ ได้จับเที่ยวบินไปมอสโก คนรวยสามารถที่จะซื้อกระสวยอวกาศได้ในตลาดเปิดอย่างรัสเซีย ซึ่ง เรสซี่นั้นมองว่าเป็นความคิดที่บ้า ที่มาบุกถึงรัสเซียเพื่อซื้อกระสวยอวกาศ

มัสก์ และ ทีม ต้องเดินทางไปมา ระหว่างรัสเซีย และ อเมริกาอยู่หลายครั้ง เพื่อเจรจา มันเป็นการเจรจา ที่ไม่คืบหน้าไปไหน พวกรัสเซีย ไม่ค่อยที่จะไว้ใจทีมของมัสก์ซักเท่าไหร่ และใช้มารยาทแบบรัสเซีย ในการเจรจาดีลธุรกิจนี้

สุดท้ายการเจรจาก็ล่มไม่เป็นท่า ด้วยการเจรจาต่อรองที่พลิกไปพลิกมาตลอดของทางฝั่งรัสเซีย ทำให้มัสก์หมดความอดทนในที่สุด ทุกคนต่างโล่งใจคิดว่ามัสก์คงเลิกล้มความตั้งใจในเรื่องนี้ไปแล้ว

แต่หารู้ไม่ ในช่วงเวลาเจรจาดังกล่าว มัสก์ ได้ไปยืมหนังสือจากแคนเทรลมาศึกษาเรื่องการสร้างกระสวยอวกาศด้วยตัวเอง เขายืมหนังสืออย่าง Rocket Propulsion Elements , Fundamentals of Astrodynamics และ Aerothermodynamics of Gas Turbine and Rocket รวมทั้งบทความต่าง ๆ อีกมากมาย เขาสวมจิตวิญญาณนักอ่านในวัยเด็กอีกครั้ง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างจรวดด้วยตัวเอง

สุดท้าย เขาก็ตระหนักได้ว่าจรวดนั้นสามารถสร้างได้ถูกกว่าที่พวกรัสเซีย เสนอราคามาเสียอีก มันเป็นความอัจฉริยะของมัสก์อีกครั้ง ในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างจรวดอย่างถ่องแท้ มัสก์ได้เริ่มจุดประกายให้คนคิดเรื่องการสำรวจอวกาศอีกครั้งโดยทำให้การสำรวจอวกาศราคาถูกลงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

แม้มัสก์ นั้นจะรู้ดีว่าการตั้งบริษัทจรวดนั้นมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก แต่มัสก์ ก็ได้บุคคลากรชั้นยอดอย่าง ทอม มึลเลอร์ วิศวกรผู้เป็นอัจฉริยะ ด้านการสร้างจรวดมาตั้งแต่เด็ก เขามีชื่อเสียงเรื่องดังกล่าวยาวเป็นหางว่าว มัสก์ได้มือดีมาอีกคนแล้ว ที่จะมาเติมเต็มความฝันของเขาให้จงได้

คอนเซ็ปต์ของจรวดของมัสก์นั้น จะเป็นจรวดที่เหมาะเจาะพอดีสำหรับกลุ่มสำภาระขนาดเล็ก มันสามารถลดราคาการปล่อยจรวดลงไปได้อย่างมหาศาล ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมันมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

และในที่สุด Space Exploration Technologies (SpaceX) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 2002 แถบชานเมืองลอสแอนเจลิส มัสก์ได้ซื้อโกดังเก่าแห่งหนึ่งไว้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานหลักของ SpaceX 

SpaceX ได้ถือกำเนิดขึ้นในที่สุด
SpaceX ได้ถือกำเนิดขึ้นในที่สุด

SpaceX นั้นถือเป็นความพยายามของอเมริกาที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในธุรกิจจรวด หลังจากมันได้หยุดนิ่งมากว่า 50 ปีแล้ว  มัสก์ประกาศว่าจรวดลำแรกของ SpaceX ต้องชื่อ ฟัลคอน 1 เพื่อระลึกถึงยานมิลเลนเนียมฟัลคอนในภาพยนต์เรื่อง สตาร์วอร์ส ที่เขาชื่นชอบ

เป้าหมายของ SpaceX นั้นจะสร้างเครื่องยนต์ตัวแรกให้เสร็จในเดือนพฤษภาคมปี 2003 และประกอบเสร็จสิ้นเดือนสิงหาคม และ มีกำหนดที่จะปล่อยจรวดครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปี 2003 หรือ ประมาณ 15 เดือนหลังจากบริษัทได้ก่อตั้ง และเป้าหมายสูงสุดคือ การไปยังดาวอังคารจะเกิดตามมาราว ๆ ปลายทศวรรษ ก่อนปี 2010

มัสก์ ได้เริ่มว่าจ้างเหล่าวิศวกรหัวกะทิ เข้ามาจากทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา คนเก่ง ๆ ด้านวิศวกรรมในสาขาต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างจรวด ไม่รอดพ้นสายตาของมัสก์ บางคนเขาก็โทรไปชักชวนด้วยตัวเองด้วยซ้ำ

เหล่าวิศวกรทำงานกันอย่างหนักหน่วง ไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง พวกเขากำลังสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาระหว่างการพัฒนา ทั้งเรื่อง เชื้อเพลิง การควบคุมความชื้น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเหล่าวิศวกรของมัสก์แทบจะทั้งสิ้น  

มัสก์ อยากให้สาธารณชนเห็นว่าคนงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของเขาทำอะไรสำเร็จ และช่วยปลุกความตื่นเต้นไปทั่ว SpaceX เขาตัดสินใจจะเปิดตัวต้นแบบฟัลคอน 1 ให้คนทั่วไปได้เห็นในเดือน ธันวาคม ปี 2003 บริษัทจะลากจรวดฟัลคอน 1 สูงเท่าตึกเจ็ดชั้นไปทั่วประเทศบนแท่นที่สร้างขึ้นมาแบบพิเศษ และโชว์มันอย่างยิ่งใหญ่ที่สำนักงานใหญ่องค์การบริหารการบินแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ฟัลคอน 1 จรวดตัวแรกของ SpaceX
ฟัลคอน 1 จรวดตัวแรกของ SpaceX

และงานในวอชิงตัน ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี SpaceX จึงประกาศที่จะสร้างจรวดลำที่สองแล้ว และมองไปถึงฟัลคอน 5 ไปพร้อมกันด้วย โดยตัวฟัลคอน 5 จะมีเครื่องยนต์ 5 ตัวตามชื่อของมัน

พนักงาน SpaceX ส่วนใหญ่ตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผจญภัยของบริษัท และลืมเรื่องพฤติกรรมบางอย่างของมัสก์ที่บางครั้งดูหยาบกระด้างไปบ้าง กับพนักงานในบางครั้ง หลายครั้งมัสก์พยายามบอกกับสื่อว่าเขาเป็นคนออกแบบทั้งหมดของฟัลคอน 1 ซึ่งทำให้พนักงานบางส่วนไม่พอใจ

ปัญหาอีกอย่างก็คือ การที่ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โบอิ้ง หรือ ล็อกฮีด ต่างมอง SpaceX นั้นเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของพวกเขา และที่สำคัญ SpaceXยังเป็นแขกที่ไม่เป็นที่ต้องการของฐานทัพอากาศที่ฟานเดนเบิร์ก ฐานปล่อยจรวดที่มัสก์จะใช้เป็นที่มั่นอีกด้วย

มันเป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับมัสก์มาก ไม่มีใครสนับสนุนเขาเต็มที่แม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ตาม เขากำลังพยายามทำงานที่ยากเข็ญที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จักให้เป็นผลสำเร็จ

มัสก์ จึงต้องหาที่ใหม่ ทีมงานเริ่มมองหาชื่อที่พวกเขารู้จักแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งโลกหมุนเร็วกว่าและเสริมแรงส่งเพิ่มให้จรวดได้ ซึ่ง ชื่อที่ออกมาคือ เกาะควาเจเลน หรือ ควาจ เกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะหินปะการังรูปวงแหวนระหว่างเกาะกวมกับฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก

 เกาะควาเจเลน หรือ ควาจ ที่มั่นใหม่ของ SpaceX
เกาะควาเจเลน หรือ ควาจ ที่มั่นใหม่ของ SpaceX

และในที่สุด วันที่ 24 มีนาคม 2006 ระบบทั้งหมดก็พร้อม ฟัลคอน 1 ตั้งบนแท่นปล่อยสี่เหลี่ยมและติดเครื่อง มันพุ่งสูงขึ้นไปบนฟ้า เปลี่ยนเกาะควาจให้กลายเป็นจุดสีเขียวท่ามกลางพื้นที่กว้างใหญ่ของท้องทะเลสีฟ้า

จากนั้นประมาณ 25 วินาทีก็ปรากฏชัดเจนว่าทุกอย่างไปได้ไม่สวย มีไฟลุกไหม้เหนือเครื่องยนต์ แล้วจู่ ๆ เครื่องที่กำลังบินตรงก็เริ่มหมุน จากนั้นก็ตกลงมายังพื้นโลกแบบควบคุมไม่อยู่ สุดท้าย ฟัลคอน 1 ดิ่งลงมากระแทกจุดปล่อยอย่างจัง 

ปัญหาปรากฏว่า บี-นอตซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญชิ้นหนึ่งของจรวดร้าวเกือบทั้งชิ้น เพราะการกัดกร่อนจากสภาพอากาศเค็มของเกาะควาจนานหลายเดือน 

ซึ่งหลังจากนั้นเกือบหนึ่งปี SpaceX พร้อมลองปล่อยจรวดอีกครั้งในวันที่ 15 มีนาคม ปี 2007 การทดสอบติดเครื่องประสบความสำเร็จด้วยดี จากนั้นในวันที่ 21 มีนาคม ฟัลคอน 1 ก็ได้พุ่งขึ้นและมุ่งตรงสู่อวกาศจากแท่นปล่อยได้สำเร็จ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน เครื่องยนต์สามารถทำงานตามที่วางแผนขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ

เหล่าวิศวกรต่างโห่ร้องด้วยความดีใจ มันเป็นช่วงเวลาห้านาทีอันแสนปลื้มปิติ แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีก ขณะที่จรวดขึ้นสู่อวกาศตามแผน แต่แล้ว การส่ายไปมาจนนำมาสู่การตกอีกครั้ง เครื่องยนต์ดับวูบ เริ่มแตกเป็นชิ้น ๆ และตามมาด้วยการระเบิด อีกครั้งในที่สุด

มัสก์ไม่ยอมแพ้แม้ ฟัลคอล 1 จะล้มเหลวถึงสองครั้ง
มัสก์ไม่ยอมแพ้แม้ ฟัลคอล 1 จะล้มเหลวถึงสองครั้ง

ความล้มเหลวครั้งนี้ถือเป็นความปราชัยอีกครั้งหนึ่งของเหล่าวิศวกรของ SpaceX มันเป็นเวลาเกือบสองปีที่พวกเขาเฝ้าทุ่มเทพัฒนา มัน delayed จากเป้าหมายเดิมของมัสก์มากว่าสี่ปี และมันได้ผลาญเงินมัสก์ไปเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว

แม้มัสก์ จะเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เขาก็จัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีมาก เขามองโลกในแง่ดีมาก ๆ การล้มเหลว ไม่อาจบั่นทอนวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของมัสก์ที่มีต่ออนาคตหรือสร้างความกังขาในความสามารถของเขาได้เลย แม้ตอนนี้สถานการณ์ทางด้านการเงินนั้น SpaceX มีเงินพอให้พยายามได้อีกแค่ครั้งเดียวเท่านั้น มัสก์จะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร โครงการ SpaceX ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาจะเดินไปทางไหนต่อ โปรดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 9 : The Electric Stars

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 7 : Joining the Mafia

หลังจากขาย Zip2 ให้กับ คอมแพค ได้สำเร็จ มัสก์ ก็กลายเป็นเศรษฐีย่อม ๆ ทันที มันเป็นความสำเร็จในการทำธุรกิจครั้งแรก มันมาด้วยช่วงจังหวะ และโอกาสที่เหมาะสม สำหรับเขาเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจแรกอย่าง Zip2 แต่ตอนนี้เขากำลังมองหาธุรกิจใหม่ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินมหาศาล ซึ่งธุรกิจนั้นก็คือ ธนาคาร ซึ่งมัสก์มองว่า เหล่าพวกนายธนาคารทังหลายนั้น รวย แต่ โง่ !!!

แล้วแนวคิดเรื่องการตั้งธนาคารบนอินเตอร์เน็ต มันมาจากไหน? ก็ต้องบอกว่า มัสก์นั้นเคยฝึกงานที่ ธนาคารโนวาสโกเทีย ซึ่งในตอนนั้น เขาได้สะดุดถึงโอกาสทางธุรกิจ แต่เขาก็พยายามบอกเรื่องดังกล่าวกับเหล่าผู้บริหารแต่ไม่มีใครสนใจความคิดเขา 

แต่มันเริ่มตกผลึกจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนที่มัสก์ นั้นไปฝึกงานที่สถานบันวิจัย Pinnacle Research ในปี 1995 ที่ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ ระดับ อัจฉริยะอยู่เต็มไปหมด มัสก์ พยายามที่จะนำเสนอ ไอเดียการชำระเงินในระบบออนไลน์ผ่าน internet 

Pinnacle Research ที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ
Pinnacle Research ที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ

แต่ตอนนั้น แทบจะไม่มีใครมาสนับสนุนแนวความคิดนี้ ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ใครจะบ้ามาจ่ายเงินผ่าน internet เงินดิจิตอล มันเป็นความเพ้อฝัน ซึ่งในตอนนั้น amazon.com ก็เริ่มที่จะให้ชำระเงินได้ผ่านออนไลน์ แต่ การแจ้งบัตรเครดิตนั้นก็ยังผ่านระบบโทรศัพท์อยู่ดี ยังไม่มีใครกล้าที่จะให้ข้อมูลบัตรเครดิตไปยังโลกออนไลน์

แต่ความคิดของมัสก์ นั้นไปไกลมาก เขาถึงขั้นที่จะสร้างสถาบันการเงินแบบออนไลน์เลยด้วยซ้ำ มีบริการทุกอย่างครอบคลุมเหมือนกับธนาคารสาขาปรกตินั่นเอง แต่ปัญหาใหญ่ของแนวคิดมัสก์ คือ กฏระเบียบต่าง ๆ ที่คอยควบคุมวงการการเงินและธนาคารของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่โบราณคร่ำครึ

แต่มันไม่ได้ทำให้มัสก์ ย่อท้อแต่อย่างใด ในช่วงเดียวกับที่ขาย Zip2 นั้นเขาก็ได้เตรียมเปิดบริษัททางด้านการเงินใหม่ไว้เรียบร้อยแล้ว และชักชวนเพื่อนร่วมงานที่ Zip2 รวมถึงเพื่อนสมัยฝึกงานในธนาคารโนวาสโกเทีย มาร่วมกันสร้างบริษัท X.com 

แถมยังได้บุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการเงินอย่าง แฮร์ริส ฟริคเคอร์ และ คริสโตเฟอร์ เพย์น ที่นำความรู้เรื่องกลไกในโลกธนาคารมาให้กับ X.com ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่มองเห็นอย่างเดียวกันคือ การต้องปฏิวัติอุตสาหกรรมธนาคาร ที่มีมากว่าหลายร้อยปี โดยใช้ อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ให้จงได้

X.com บริการที่จะมาปฏิวัติวงการการเงิน
X.com บริการที่จะมาปฏิวัติวงการการเงิน

แต่การเริ่มต้นก็ไม่ได้หอมหวนอย่างที่คิด เพราะเพียงแค่ 5 เดือนแรก มัสก์ กับ ฟริคเคอร์ ก็เริ่มมีปัญหากัน ฟริคเคอร์ต้องการยึดอำนาจใน X.com และต้องการเป็น CEO และคนอย่างมัสก์ ก็ไม่เคยยอมใครอยู่แล้ว ทำให้ทั้งสองแตกหักกันอย่างรวดเร็ว ฟริคเคอร์ คนที่สำคัญมีความรู้ด้านโลกการเงินต้องเดินจากไป

ปัญหาใหญ่ของ X.com มันอยู่ที่ข้อกฏหมาย ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ X.com ได้เกิด แต่มัสก์ ก็ได้ว่าจ้างทีมงานมืออาชีพ เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งเหล่าทีมวิศวกรให้พัฒนาซอฟท์แวร์ให้เส็ดเร็วที่สุด

และในไม่กี่สัปดาห์ X.com เวอร์ชั่นแรก ก็พร้อมปล่อยออกไปให้โลกได้ยลโฉมเสียที รวมถึงข้อกฏหมายต่าง  ๆ มัสก์ก็ได้ว่าจ้างเหล่านักกฏหมายมืออาชีพ มาจัดการได้อย่างเรียบร้อย และมันก็พร้อมออนไลน์ครั้งแรกในช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าในปี 1999

และเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานมากที่สุด มัสก์ นั้นได้จัดโปรโมชั่น เต็มที่เพื่อ โปรโมต X.com ให้ติดตลาดเร็วที่สุด เขาแจกเงิน 20 เหรียญ เพียงแค่คนสมัครมาใช้บริการ รวมถึงแจกอีก 10 เหรียญเพียงแค่แนะนำต่อให้คนรู้จักได้ใช้

เรียกได้ว่า บริการ X.com มันเป็นการปฏิวัติวงการการเงินของอเมริกาเลยก็ว่าได้ เขากำจัดค่าธรรมเนียม ที่เดิมต้องจ่ายให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ ออกไปทั้งสิ้น เพื่อดึงดูดใจคนให้มาใช้งานให้มากที่สุด 

นวัตกรรมที่เด่นที่สุดของ X.com คือ การจ่ายเงินแบบบุคคลต่อบุคคล ซึ่งทำได้เพียงง่ายได้เพีงแค่ใส่ email ของผู้ที่ต้องการส่งเงินไปในเว๊บไซต์ และสามารถทำได้โดยการคลิกเมาส์เพียงไม่กี่ครั้ง เงินก็ไปถึงคนที่คุณรักได้แล้ว

แต่แค่เพียงไม่นาน ก็เกิดคู่แข่งที่สำคัญ สตาร์ทอัพ หน้าใหม่ที่ชื่อ Confinity ที่นำโดย ปีเตอร์ ธีล ที่ได้เปิดบริการอย่าง paypal เข้ามาแข่งกับ X.com โดยตรง มันเป็นสงครามที่ดุเดือด ใครที่เป็นฝ่ายชนะ จะได้เขียนประวัติศาสตร์การปฏวัติอุตสาหกรรมทางด้านการเงินแต่เพียงผู้เดียว

ปีเตอร์ ธีล ที่สร้าง paypal มาเป็นคู่แข่ง x.com ของมัสก์โดยตรง
ปีเตอร์ ธีล ที่สร้าง paypal มาเป็นคู่แข่ง x.com ของมัสก์โดยตรง

ความได้เปรียบของ paypal ของปีเตอร์ ธีล คือ paypal นั้นได้ติดตั้งในเว๊บไวต์ประมูลชื่อดังอย่าง ebay ได้แล้วในขณะนั้น แต่มัสก์ที่ชอบการแข่งขันอยู่แล้วก็ ดำเนินกลยุทธ์ทุกวิธีเพื่อไม่ยอมแพ้ เขาแทบจะทำงาน 24 ชม.ต่อวันในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่พวกเขาก็แข่งกันได้เพียงไม่นาน เพราะขืนแข่งต่อไปดูเหมือน จะตายกันไปข้างหนึ่งก่อน ในปี 2000 พวกเขาหันมารวมพลังกัน ตอนนั้น paypal ของปีเตอร์ ธีล ดูเหมือนเงินใกล้จะหมดแล้วด้วยซ้ำ ส่วนมัสก์นั้นยังมีเงินให้ผลาญอีกมากมาย 

ดังนั้น มัสก์ จึงเป็นฝ่าย ถือไพ่เหนือกว่าในดีล นี้ เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ ขอคง x.com ไว้ตามเดิม และยังได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านเหรียญ จากกลุ่มลงทุนด้านการเงิน

รวมกันเป็นหนึ่งเหลือเพียง x.com ในช่วงแรกของการควบรวม
รวมกันเป็นหนึ่งเหลือเพียง x.com ในช่วงแรกของการควบรวม

แต่ปัญหาใหญ่ในการรวมบริษัท ก็คือ วัฒนธรรมที่แตกต่าง แม้กระทั่ง เทคโนโลยีที่แทบจะต่างกันคนละขั้ว confinity นั้นใช้ open source อย่างลินุกซ์ ส่วน x.com ของมัสก์ ขับเคลื่อนโดย Windows Server ซึ่งความแตกหักนี้ทำให้ ปีเตอร์ ธีล ขอลาออก และ ทิ้งให้มัสก์ บริหารบริษัท ในซากปรักหักพังนี้ต่อ

ปัญหาใหญ๋อีกอย่างก็คือ เมื่อผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ดูเหมือน X.com จะไม่สามารถรองรับการเติบโตดังกล่าวได้ ทำให้ไซต์ ล่มอยู่บ่อย ๆ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องดีเลยสำหรับบริการทางด้านการเงินที่ลูกค้าตั้งความหวังไว้สูง

และมันได้เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจครั้งประวัติศาสตร์ของซิลิกอน วัลเลย์ ขึ้น เมื่อเหล่าพนักงาน X.com กลุ่มหนึ่งได้รวมกลุ่มกันเพื่อคิดหาวิธีที่จะให้มัสก์ออกไป และตัดสินใจลงมือลับหลัง ในตอนที่มัสก์ กำลังเดินทางไปฮันนีมูน ซึ่งเมื่อมัสก์ รู้ก็ได้รีบขึ้นเครื่องกลับมาทันที

แม้จะพยายามตอบโต้กลับในช่วงแรก ๆ ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเหล่ากรรมการได้ตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนมัสก์ก็จะยอมรับกับสิ่งที่เกิดแต่โดยดี และพร้อมที่จะยอมถอยเพื่อให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า ได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง

และมันทำให้อิทธิพลของมัสก์ต่อ X.com นั้นลดลงไปอย่างรวดเร็ว ในเดือน มิถุนายน ปี 2001 X.com ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น paypal.com แทน และ ปีเตอร์ ธีล กลับมาเป็น CEO ของบริษัทอีกครั้ง

สุดท้าย ปีเตอร์ ธีล กลับมาเป็น CEO อีกครั้งและดัน Paypal กลับมา
สุดท้าย ปีเตอร์ ธีล กลับมาเป็น CEO อีกครั้งและดัน Paypal กลับมา

แต่มัสก์ นั้นโตขึ้นอีกขั้นแล้ว เขาอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดี เขายอมรับบทบามที่จะเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทและลงทุนต่อในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ paypal และที่สำคัญเขาสนับสนุน ปีเตอร์ ธีล เต็มที่ในการขึ้นเป็น CEO ของบริษัท

และในที่สุด ผลตอบแทนของความพยายามครั้งที่ 2 ในการปฏิวัติวงการการเงินสหรัฐอเมริกาก็สัมฤทธิ์ผล ใน เดือนกรกฏาคม ปี 2002 ebay ได้เสนอซื้อ paypal ที่ 1,500 ล้านเหรียญ มัสก์ และคณะกรรมการจึงตกลงรับข้อเสนอ

สุดท้ายยักษ์ใหญ่อย่าง ebay ยื่นข้อเสนอซื้อ paypal ในที่สุด
สุดท้ายยักษ์ใหญ่อย่าง ebay ยื่นข้อเสนอซื้อ paypal ในที่สุด

ซึ่งดีลนี้ทำให้มัสก์กลายเป็นมหาเศรษฐีเต็มตัวเสียที เขาได้ส่วนแบ่งไปกว่า 250 ล้านเหรีญ และเงินจำนวนนี้ มันถึงเวลาที่เขาต้องล่าฝันต่อไป ฝันที่เค้าจะเปลี่ยนโลกอีกครั้ง แต่คราวนี้มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เขาเคยทำมา ฝันต่อไปของมัสก์ คืออะไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 8 : I don’t Need These Russians

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ