Geek Life EP134 : วิธีพูด ‘ไม่’ แบบที่ไม่ทำให้ใครเกลียด เทคนิคปฏิเสธแบบมืออาชีพ จาก Harvard ที่ใครๆ ก็ทำได้

ในโลกแห่งการทำงานและความสัมพันธ์ทางสังคม มนุษย์ทุกคนต่างเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างการรักษาน้ำใจผู้อื่นกับการที่จะต้องดูแลเวลาตนเอง การปฏิเสธคำขอจากผู้อื่นเป็นทักษะที่ละเอียดอ่อนและท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์และการไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหน้า

ผู้คนส่วนใหญ่มักพบตัวเองในสถานการณ์ที่ยากลำบากเมื่อต้องตอบปฏิเสธคำขอจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างานที่ขอให้อยู่ทำงานล่วงเวลาในช่วงที่มีนัดสำคัญกับครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานที่ขอความช่วยเหลือในโครงการใหม่ทั้งที่งานประจำก็ท่วมหัวกันอยู่แล้ว ความรู้สึกผิดและความกลัวที่จะทำให้ผู้อื่นผิดหวังมักทำให้หลายคนจำต้องตอบตกลงทั้งที่ในใจนั้นอยากปฏิเสธมากแค่ไหนก็ตาม

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Life’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/4zx3y6a7

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/5785vhxr

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/-oeKKNZe5Sg

ถอดรหัสความสำเร็จ Rometty : เคล็ดลับการใช้ ‘พลังแห่งความดี’ พลิกชีวิตและธุรกิจ

เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ถือว่าได้ว่ามีเนื้อหาฉีกแนวบทเรียนทางด้านธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่ตัวผมเองได้เคยอ่านมาสำหรับหนังสือ Good Power: Leading Positive Change in Our Lives, Work, and World โดย Ginni Rometty

ในทุกวันนี้หลายคนอาจรู้สึกว่าตนเองไม่มีพลังพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง การขาดความมั่นใจในศักยภาพของตนเองมักเป็นกำแพงที่ขวางกั้นผู้คนจากการลงมือทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม

แต่ Ginni Rometty อดีต CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง IBM มีมุมมองที่แตกต่างออกไป เธอเชื่อว่าทุกคนมีพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ ผ่านสิ่งที่เธอเรียกว่า “Good Power” หรือ “พลังแห่งความดี” ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องนามธรรมที่วัดยากในเชิงธุรกิจเป็นอย่างมาก

ในหนังสือ “Good Power” Rometty ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดที่หล่อหลอมตัวเธอตั้งแต่วัยเด็ก จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรระดับโลก เธอเล่าถึงการเติบโตมาในครอบครัวที่มีความท้าทาย

หลังจากพ่อจากไป แม่ของเธอต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ทำให้ Rometty ต้องรับบทบาทดูแลน้องๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ประสบการณ์นี้ได้ปลูกฝังความรับผิดชอบและความเข้าใจในการดูแลผู้อื่น

ความท้าทายในวัยเด็กไม่ได้ทำให้ Rometty ย่อท้อ แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เธอเข้าใจถึงความสำคัญของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การที่ต้องดูแลน้องๆ ในขณะที่แม่ออกไปทำงาน ทำให้เธอเรียนรู้ทักษะการจัดการ การแก้ปัญหา และการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัว ซึ่งทักษะเหล่านี้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการทำงานของเธอในอนาคต

เมื่อ Rometty เริ่มทำงานที่ IBM เธอได้นำหลักการของ “พลังแห่งความดี” มาประยุกต์ใช้ในบริบทธุรกิจ โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับลูกค้ารายสำคัญอย่าง Allstate บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยเทคโนโลยี

แทนที่จะเสนอโซลูชันแบบสำเร็จรูป เธอและทีมเลือกที่จะทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ทำการวิจัยอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายในอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อนำเสนอทางออกที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

ความสำเร็จในการทำงานกับ Allstate ไม่ได้เกิดจากความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเทคโนโลยีควรเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

Rometty และทีมใช้เวลาอย่างมากในการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานทุกระดับของ Allstate เพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้บริหารระดับสูง

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO ของ IBM เปิดโอกาสให้ Rometty ได้ใช้ “พลังแห่งความดี” ในการสร้างผลกระทบระดับโลก เธอริเริ่มโครงการ “Skills First” ที่ปฏิวัติแนวทางการจ้างงานของบริษัท โดยให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่าวุฒิการศึกษา

แม้จะเผชิญกับความท้าทายและการต่อต้านในช่วงแรก แต่นโยบายนี้ได้เปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถแต่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้เข้าสู่อาชีพด้านเทคโนโลยีที่มีรายได้สูง

โครงการ “Skills First” ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจ้างงาน แต่เป็นการท้าทายความเชื่อดั้งเดิมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี Rometty เชื่อว่าความสามารถที่แท้จริงไม่ได้วัดจากใบปริญญา แต่วัดจากความมุ่งมั่น ความสามารถในการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง

การตัดสินใจครั้งนี้ไม่เพียงช่วยให้ IBM ได้พนักงานที่มีความสามารถหลากหลาย แต่ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย

นอกจากการสร้างโอกาสในการทำงาน Rometty ยังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์กร เธอส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วม สร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานทุกคนรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เธอเชื่อว่าองค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อพนักงานทุกคนได้รับโอกาสในการเติบโตเช่นกัน

หนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นของ Rometty คือการที่เธอสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ได้ขัดแย้งกับการสร้างผลกำไร

ในทางตรงกันข้าม การใช้พลังแห่งความดีในการบริหารองค์กรกลับช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว เพราะนำมาซึ่งความไว้วางใจจากลูกค้า ความจงรักภักดีของพนักงาน และภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของสังคม

แนวคิดเรื่อง Good Power หรือ “พลังแห่งความดี” ของ Rometty ไม่ใช่เพียงทฤษฎีหรือแนวคิดเชิงอุดมคติ หรือเรื่องนามธรรม แต่เป็นหลักการที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและสร้างผลลัพธ์ที่วัดผลได้ เธอแสดงให้เห็นว่าการนำองค์กรด้วยความเมตตา ความเข้าใจ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม สามารถนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนได้

พลังแห่งความดีที่ Rometty นำเสนอมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการ เริ่มจากการรับฟังและเข้าใจความต้องการของผู้อื่นอย่างแท้จริง การคิดค้นทางออกที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ความต้องการนั้น การลงมือทำอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดคือการวัดผลลัพธ์และปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

แก่นแท้ของพลังแห่งความดีอยู่ที่การตระหนักว่าทุกคนมีความสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหรือบทบาทใด การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มักเริ่มต้นจากการกระทำเล็กๆ ที่มาจากความตั้งใจดีและความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น

ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและปัญหาที่ซับซ้อน เราอาจรู้สึกว่าความพยายามของเราเพียงคนเดียวนั้นเล็กน้อยเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่เรื่องราวของ Rometty เตือนใจเราว่า พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่อำนาจหรือตำแหน่ง แต่เป็นความตั้งใจดีและความมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพของเราเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น

เรื่องราวของ Rometty จึงไม่เพียงเป็นบทเรียนสำหรับผู้นำองค์กรเท่านั้น แต่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับทุกคนที่ปรารถนาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในโลกใบนี้ เธอพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังแห่งความดีไม่ใช่แนวคิดที่เป็นนามธรรม แต่เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ทั้งสำหรับตัวเราเองและสังคมโดยรวม

ในท้ายที่สุด บทเรียนสำคัญที่สุดจากเรื่องราวของ Rometty อาจไม่ใช่วิธีการบริหารองค์กรหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจ แต่เป็นการตระหนักว่าทุกคนมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และการใช้พลังนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมคือหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงและยั่งยืนได้ในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Good Power: Leading Positive Change in Our Lives, Work, and World โดย Ginni Rometty

4 ฤดูกาลแห่งชีวิต : เข้าใจตัวเอง เข้าใจโลก เข้าใจความสำเร็จ กับบทเรียนจาก Tony Robbins

ทุกความสำเร็จล้วนมีจุดเริ่มต้น เช่นเดียวกับเรื่องราวของ Tony Robbins ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่เริ่มต้นอาชีพด้วยความกล้าที่จะท้าทายตนเอง และเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สนใจจาก PBD Podcast ที่สัมภาษณ์ Tony Robbins โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก ๆ ในหัวข้อ “Patterns Can Make You UNSTOPPABLE” 

ในปี 1984 ที่ Los Angeles Tony ได้ทำงานกับนักกีฬาโอลิมปิก จนประสบความสำเร็จด้วยการคว้าชัยชนะในการแข่งขันว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ 1,500 เมตร ทั้งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จากนั้นเขาได้ร่วมงานกับบุคคลสำคัญระดับโลกมากมาย ทั้ง Nelson Mandela, Mother Teresa, Gorbachev และ Clinton

ปัจจุบัน Tony กำลังจะมีอายุครบ 65 ปี มีครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมด้วยลูก 5 คนและหลาน 5 คน โดยลูกสาวคนโตอายุ 50 ปี และคนเล็กอายุเพียง 3 ปีครึ่ง เนื่องจากเขารับเด็ก 3 คนมาเลี้ยงดูตั้งแต่อายุ 24-25 ปี

เมื่อมองไปที่อนาคตของลูกหลาน Tony ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่ 40% ของงานจะถูกแทนที่ด้วย AI หุ่นยนต์ สิ่งนี้ทำให้เขาค้นพบว่าทักษะสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในอนาคตประกอบด้วยการจดจำรูปแบบ การใช้รูปแบบ และการสร้างรูปแบบใหม่ ๆ

Tony อธิบายว่าการจดจำรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นจะช่วยขจัดความกลัว เช่น เมื่อเราเข้าใจว่าความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้รุนแรงเท่าในอดีต ซึ่งการใช้รูปแบบสามารถเรียนรู้ได้จากผู้ประสบความสำเร็จ เช่น นักลงทุนระดับโลกอย่าง Ray Dalio, Carl Icahn และ Warren Buffett ส่วนการสร้างรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่เราเรียนรู้และเข้าใจรูปแบบที่มีอยู่อย่างลึกซึ้ง

การพัฒนาของมนุษยชาติมีจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเราเริ่มเข้าใจ “ฤดูกาล” ย้อนไปในยุคโบราณ มนุษย์เราต้องเร่ร่อนเพื่อหาอาหาร แต่เมื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เราจึงสามารถตั้งถิ่นฐาน สร้างชุมชน และพัฒนาอารยธรรมขึ้นมาได้

Tony ชี้ให้เห็นว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนการเพาะปลูกที่ต้องทำในฤดูกาลที่เหมาะสม

ชีวิตมนุษย์ก็เช่นกัน มีฤดูกาลของตัวเอง เริ่มจากฤดูใบไม้ผลิในช่วงอายุ 0-21 ปี เป็นช่วงที่ทุกอย่างเติบโตได้ง่าย ได้รับการปกป้องดูแลและการศึกษา ต่อด้วยฤดูร้อนในช่วงอายุ 22-42 ปี เป็นช่วงแห่งการทดสอบที่ท้าทาย หลายคนเริ่มเข้าใจว่าความฝันและความเป็นจริงอาจแตกต่างกัน จากนั้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในช่วงอายุ 43-63 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จและมีพลังสูงสุด และสุดท้ายคือฤดูหนาวในช่วงอายุ 63 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ได้เก็บเกี่ยวผลแห่งความสำเร็จและพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้อื่น

Tony ยังได้วิเคราะห์วงจรของประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของคนที่เกิดในปี 1910 ซึ่งเริ่มต้นชีวิตในยุคเฟื่องฟู แต่ต้องเผชิญกับ Great Depression ในปี 1929 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 คนรุ่นนี้ถูกเรียกว่า “The Greatest American Generation” เพราะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและกลับมาเป็นวีรบุรุษ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเข้าสู่ยุคแห่งความหวังในช่วงปี 1950 ถึงต้นปี 1960 แต่หลังจากการลอบสังหาร Kennedy, Bobby Kennedy และ Martin Luther King Jr. สังคมก็เปลี่ยนแปลงไป เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ส่งผลให้รูปแบบการเลี้ยงดูลูกเปลี่ยนไป เกิดปรากฏการณ์ “latchkey kids” หรือเด็กที่ต้องดูแลตัวเองที่บ้าน

ค่านิยมในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่เคยให้ความสำคัญกับปรัชญาชีวิตที่ทำให้มีความสุขในช่วงปี 1960-1970 กลับเปลี่ยนมาเน้นทักษะปฏิบัติเพื่อความมั่นคงทางการเงินในช่วงปี 1980-2000

Tony มองว่าปัจจุบันเราอยู่ในช่วงฤดูหนาวของประวัติศาสตร์ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและความขัดแย้งรูปแบบใหม่ แต่เขาเชื่อว่าหลังจากนี้จะเป็นฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials และ Generation Z ที่กำลังผ่านช่วงเวลายากลำบากจะกลายเป็นวีรบุรุษรุ่นต่อไป

ในด้านการทำธุรกิจ Tony เน้นย้ำว่าความสำเร็จประกอบด้วยจิตวิทยาและอารมณ์ 80% และกลยุทธ์ 20% โดยกลยุทธ์ที่ถูกต้องสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 10 ปี

โดยตัวเขาเองบริหารธุรกิจ 114 บริษัทมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ ด้วยการเป็นเจ้าของที่แท้จริงและบริหารโดยตรงเพียง 12 บริษัท ที่เหลือให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ผ่านโปรแกรม Business Mastery ที่รับประกันการเติบโต 30-130% ภายใน 18 เดือน

สาระสำคัญที่ Tony ต้องการสื่อคือ การเข้าใจวัฏจักรของชีวิต ธุรกิจ และประวัติศาสตร์ จะช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์จากทุกสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งมักเป็นโอกาสในการสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ดังที่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า บริษัทชั้นนำถึง 60% ใน Fortune 1000 เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น FedEx และ Disney

ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในฤดูกาลไหน แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจและใช้ประโยชน์จากฤดูกาลนั้นได้ดีเพียงใด การรู้จักจังหวะของชีวิตและประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายและเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์ได้นั่นเองครับผม

References :
“Patterns Can Make You UNSTOPPABLE” – Tony Robbins BREAKS DOWN The Cycles Of Failure & Success
https://youtu.be/_uVm_MykGLk?si=Hqki639sLqXR_Q7y

เปลี่ยนชีวิตด้วยวิธีคิดแบบไคเซ็น : ก้าวเล็กๆ สู่ความสำเร็จครั้งใหญ่ ด้วยวิธีคิดแบบปรัชญาญี่ปุ่น

ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน มีปรัชญาการพัฒนาที่น่าสนใจจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย

เรื่องราวนี้เริ่มต้นจาก Robert Maurer นักจิตวิทยาคลินิกแห่ง UCLA ที่ได้สังเกตเห็นโฆษณารถยนต์ Lexus ซึ่งภาคภูมิใจนำเสนอรางวัลคุณภาพมากมายที่ได้รับตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

สิ่งนี้จุดประกายความสงสัยในใจของเขาว่า อะไรทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นสามารถรักษามาตรฐานคุณภาพระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง

คำตอบของปริศนานี้ย้อนกลับไปในช่วงปลายทศวรรษ 1940 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ Dr. Edward Deming ชาวอเมริกันเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยประสบการณ์จากการมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการผลิตของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงคราม ทำให้ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจแนวคิดของเขาเป็นอย่างมาก

Deming ได้มอบหลักการสำคัญให้กับคนงานในโรงงานญี่ปุ่น นั่นคือการตั้งคำถามกับตัวเองทุกวันว่า “มีขั้นตอนเล็กๆ อะไรบ้างที่ฉันสามารถทำเพื่อพัฒนากระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น”

แนวคิดนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “Kaizen” หรือ “ไคเซ็น” ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวจากความเสียหายของสงครามและก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

จากความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรม Robert Maurer จึงเกิดแนวคิดที่จะนำหลักการ Kaizen มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดทางจิตวิทยา

เขาเริ่มแนะนำให้คนไข้ทำการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย แทนที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทันที เช่น แทนที่จะแนะนำให้ลาออกจากงานที่ไม่พอใจ เขากลับให้คนไข้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีต่อวันในการจินตนาการถึงงานในฝัน หรือแทนที่จะกำหนดให้ออกกำลังกายที่ยิมนาน 30 นาที เขาแนะนำให้เริ่มจากการเดินอยู่หน้าทีวีในช่วงโฆษณาเพียง 1 นาที

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหล่านี้ดูเหมือนไม่มีนัยสำคัญ แต่กลับสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง เพราะสมองของมนุษย์มีกลไกการทำงานที่น่าสนใจ เมื่อเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สมองส่วน amygdala จะถูกกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองแบบ “สู้หรือหนี” ทำให้เราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความท้าทายและหันไปหาความสบายใจชั่วคราวแทน

แต่เมื่อเราใช้หลักการ Kaizen การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยจะช่วยให้เราหลบผ่านระบบเตือนภัยของสมอง ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกกลัวหรือต่อต้าน เราจึงสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

ตัวอย่างความสำเร็จที่น่าประทับใจมาจากกรณีของ Jack St. นักธุรกิจที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อย่างรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการข้ออักเสบกว่า 20 จุด แม้แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายทั้งหมด แต่ Jack เลือกที่จะใช้หลักการ Kaizen ด้วยการเริ่มจากก้าวเล็กๆ และให้รางวัลกับตัวเองในทุกความสำเร็จ

ทุกเช้า Jack จะตั้งเป้าหมายเพียงแค่การลุกจากเตียง เมื่อทำสำเร็จ เขาจะให้กำลังใจตัวเองด้วยคำชมสั้นๆ แต่จริงใจ จากนั้นเขาจึงเดินทางไปยิม โดยตั้งใจเพียงแค่จะพูดคุยกับพนักงานที่นั่น

เมื่อก้าวขึ้นลู่วิ่ง เขาเริ่มต้นด้วยการเดินเพียง 2 นาที พร้อมให้รางวัลตัวเองด้วยคำชมและกำลังใจ ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งคือ เมื่อ Jack อายุ 70 ปี เขาสามารถคว้าแชมป์การแข่งขัน Mr. World bodybuilding ในรุ่นอายุของเขาได้สำเร็จ

การเปลี่ยนแปลงแบบ Kaizen ไม่เพียงใช้ได้ผลในการพัฒนาร่างกาย แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการพัฒนาในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ การพัฒนาอาชีพ หรือแม้แต่การสร้างความสัมพันธ์

Michael Ondaatje ผู้เขียนนวนิยายรางวัลวรรณกรรมเรื่อง “The English Patient” ใช้หลักการคล้ายคลึงกันในการสร้างสรรค์ผลงาน

แทนที่จะตั้งคำถามใหญ่ว่าจะสร้างตัวละครที่น่าประทับใจได้อย่างไร เขาเลือกที่จะเริ่มจากคำถามเล็กๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่ง เช่น “ใครคือชายในเครื่องบินที่ตก” “เขามาที่นี่ได้อย่างไร” “ทำไมถึงเกิดอุบัติเหตุ” คำถามเล็กๆ เหล่านี้ค่อยๆ นำไปสู่การสร้างเรื่องราวและตัวละครที่มีมิติลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนมักถูกกดดันให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว หลักการ Kaizen อาจดูขัดกับกระแสหลัก แต่การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยกลับเป็นวิธีที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะช่วยให้เราสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาไปอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องต่อสู้กับความกลัวหรือแรงต้านจากภายในจิตใจของเราเอง

การนำหลักการ Kaizen มาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้หมายความว่าเราต้องล้มเลิกความฝันหรือเป้าหมายใหญ่ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น ด้วยการแบ่งเป้าหมายใหญ่ออกเป็นก้าวเล็กๆ ที่จับต้องได้ และให้รางวัลกับตัวเองในทุกความสำเร็จ

วิธีการนี้อาจดูเรียบง่ายเกินไปสำหรับบางคน แต่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มักเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ที่มั่นคง

References :
หนังสือ One Small Step Can Change Your Life: The Kaizen Way โดย Robert Maurer Ph.D.

Geek Life EP130 : เลียนแบบอย่างไรให้เป็นตำนานลัดคิว! สู่ความสำเร็จด้วยวิธีคิดที่อัจฉริยะใช้

ในโลกแห่งการพัฒนาตนเอง หนังสือ “Decoding Greatness” โดย Ron Friedman ได้เปิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งแตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Life’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/4zbajd29

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/4ejwup5t

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/UD3F3uefQbk