ช่วงปลายยุค 90 โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อินเทอร์เน็ตเทคโนโลยีใหม่กำลังเข้ามาปฏิวัติทุกอย่าง จากผู้ใช้เพียง 2.6 ล้านคนในปี 1990 พุ่งทะยานเป็น 45 ล้านคนในอีกเพียง 5 ปี
ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปี เร็วยิ่งกว่าการเติบโตของวิทยุหรือทีวีในยุคแรกๆ ของสื่อเหล่านั้นมากมาย ผู้คนเริ่มปลูกฝังให้เชื่อว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคใหม่
ทุกอย่างเริ่มจาก Netscape เบราว์เซอร์ตัวแรกที่แสดงภาพและข้อความในหน้าเดียวกัน เจ๋งมากในยุคนั้น แจกฟรีให้ผู้ไม่ได้ใช้เชิงธุรกิจ แพร่กระจายผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและนิตยสารคอมพิวเตอร์
Frank Quatron นายธนาคารไฟแรงจาก Morgan Stanley นำ Netscape เข้าตลาดหุ้นปี 1995 แม้บริษัทขาดทุนและมีรายได้แค่นิดเดียว แต่เป็นหุ้นที่มีแต่ผู้คนหมายปองกระหายลงทุนสุดๆ
ราคาเสนอขายพุ่งจาก 14 ดอลลาร์เป็น 28 ดอลลาร์ หุ้นเพิ่มจาก 3.5 ล้านเป็น 5 ล้านหุ้น วันแรกราคาพุ่งเป็นสองเท่า ทำให้บริษัทมีมูลค่าพรวดพราดเป็น 3 พันล้านดอลลาร์
นี่คือการปฏิวัติครั้งใหญ่ของตลาดหุ้น Netscape พิสูจน์ว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องมีกำไรก็เข้าตลาดได้ เพียงโตเร็วพอ สักวันก็จะทำกำไรมหาศาล
การค้าออนไลน์เป็นธุรกิจที่ร้อนแรงสุดๆ บริษัทดอทคอมมากมายสัญญาจะสร้างวิธีทำธุรกิจแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า
Priceline.com ตัวอย่างของไอเดียที่โครตเจ๋ง พวกเขาแก้ปัญหาที่นั่งเครื่องบินที่ขายไม่ออกวันละครึ่งล้านที่นั่ง ให้ลูกค้าเสนอราคาที่อยากจ่าย สายการบินขายที่นั่งส่วนเกินได้ คนซื้อได้ตั๋วถูก
Priceline เลียนแบบ Yahoo สร้างแบรนด์ด้วยการตลาดแบบจัดเต็ม ใช้เงิน 20 ล้านดอลลาร์ในการโฆษณาช่วงหกเดือนแรก จ้าง William Shatner ดาราจาก Star Trek มาเป็นพรีเซนเตอร์
เมื่อเข้าตลาดหุ้นปี 1999 มูลค่าบริษัทพุ่งเป็น 10 พันล้านดอลลาร์วันแรก เป็นมูลค่าวันแรกสูงที่สุดของบริษัทอินเทอร์เน็ตในเวลานั้น นักลงทุนไม่แคร์ว่าบริษัทขาดทุนสะสม 143 ล้านดอลลาร์
พวกเขายังไม่รู้ความลับว่า Priceline ต้องซื้อตั๋วจากสายการบินในราคาที่สูงกว่าราคาประมูลของลูกค้า ขาดทุนเฉลี่ย 30 ดอลลาร์ต่อตั๋วทุกใบที่ขาย
TheGlobe.com อีกบริษัทฮอตฮิต เป็นเครือข่ายชุมชนออนไลน์ให้คนสร้างโปรไฟล์ พูดคุยกับคนสนใจเรื่องเดียวกัน แชร์เนื้อหา เหมือน Facebook ยุค 90
IPO ปี 1998 สร้างประวัติศาสตร์ ราคาหุ้นวันแรกพุ่ง 606% บางช่วงสูงถึง 1,000% CEO และผู้ก่อตั้ง Stephen Paternot ถูกจับภาพเต้นบนโต๊ะในไนต์คลับแมนฮัตตัน สวมกางเกงไวนิล
เขาตะโกนใส่กล้องว่า “ผมได้สาว ได้เงิน ตอนนี้พร้อมใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยและไร้สาระ” กลายเป็น “CEO ในกางเกงหนัง” ก่อนหุ้นจะดิ่งลงเหวจาก 97 ดอลลาร์เหลือไม่ถึง 10 เซนต์
ยุคดอทคอมสร้างเรื่องราวของการเป็นผู้ประกอบการในฝัน ปี 1999 ชาวอเมริกัน 1 ใน 12 คนบอกว่ากำลังก่อตั้งธุรกิจใหม่
หุ้นอินเทอร์เน็ต 199 บริษัทที่ Mary Meeker นักวิเคราะห์ดังจาก Morgan Stanley ติดตาม มีมูลค่ารวม 450 พันล้านดอลลาร์ แต่ยอดขายรวมแค่ 21 พันล้านดอลลาร์ และขาดทุนรวม 6.2 พันล้านดอลลาร์
นายธนาคารดังคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ CNBC ว่า “คนมาบอกผมว่าสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาต้องการคือกำไร เพราะถ้ามีกำไรจะไม่ได้การประเมินมูลค่าแบบบริษัทอินเทอร์เน็ต” ทุกคนต่างอึ้งกับความคิดแบบนี้
ก่อนยุคดอทคอม บริษัทส่วนใหญ่เข้าตลาดหลังดำเนินงาน 6-7 ปี แต่ตอนนี้บริษัทร่วมทุนให้เงินก่อน IPO เพียงไม่กี่สัปดาห์ เพียงจ่ายค่าทำหนังสือชี้ชวน
มีเรื่องเล่าว่านายธนาคารติดต่อบริษัทในวันที่เพิ่งย้ายเข้าสำนักงานเพื่อคุยเรื่องเข้าตลาด ผู้ก่อตั้งยังติดตั้งโต๊ะและต่อปลั๊กคอมพิวเตอร์อยู่เลย
ปี 1999 มี IPO 457 ราย ส่วนใหญ่เป็นหุ้นดอทคอม 117 รายราคาเพิ่มเป็นสองเท่าวันแรก บริษัทมากมายไม่มีรายได้ ไม่มีลูกค้า บางทีไม่มีแม้แต่แผนธุรกิจที่เป็นเรื่องเป็นราวเสียด้วยซ้ำ
Pets.com ตัวอย่างของความมั่วซั่ว ขายอาหารสัตว์เลี้ยงออนไลน์ที่คนซื้อง่ายๆ ตามซูเปอร์มาร์เก็ต กำไรต่ำมาก การขายออนไลน์ให้รอหลายวันซึ่งมันไม่ make sense เลย
แต่พวกเขามีมาสคอตเป็นหุ่นถุงเท้าสุดฮิต ปรากฏทั่วทีวี มีบอลลูนยักษ์ในขบวนพาเหรดวันขอบคุณพระเจ้า แต่ไม่นาน หุ่นนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวทั้งหมด
ในเดือนมิถุนายน 1999 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจากสามครั้งในปีนั้นเพื่อลดความร้อนแรงของตลาด แต่ทุกครั้งหุ้นกลับพุ่งมากขึ้น
นักลงทุนเชื่อว่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่มีผลกับบริษัทเหล่านี้เพราะไม่มีหนี้ และไม่มีอะไรหยุดการเติบโตได้ มันช่างเป็นการมโนที่น่าทึ่งจริงๆ ของคนนักลงทุนในยุคนั้น
ยุคดอทคอมเปลี่ยนวงการวิเคราะห์หุ้นอย่างสิ้นเชิง นักวิเคราะห์ขึ้นมามีบทบาทเหมือนนายธนาคาร ช่วยบริษัทเข้าตลาดและทำการตลาดหุ้น
Mary Meeker นักวิเคราะห์อินเทอร์เน็ตชั้นนำของ Morgan Stanley มีอิทธิพลมากถึงขนาดที่ Priceline เลือกบริษัทเธอเพราะเธอทำงานที่นั่น หลังหุ้นเริ่มซื้อขายเธอแนะนำให้ซื้อ และยังคงคำแนะนำนี้จนถึงมีนาคม 2002 แม้ราคาหุ้นจะลดฮวบไป 97%
Henry Blodget นักวิเคราะห์อีกคนที่โด่งดัง ทำนายว่าหุ้น Amazon จะเพิ่มจาก 240 เป็น 400 ดอลลาร์ ทำให้หุ้นพุ่ง 46 ดอลลาร์เป็น 289 ดอลลาร์ในวันเดียว ราคาทะลุเป้าในไม่กี่สัปดาห์
จุดเปลี่ยนมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2000 เมื่อ Ravi Suria นักวิเคราะห์จาก Lehman Brothers วิเคราะห์ Amazon อย่างถี่ถ้วน ชี้ปัญหาสถานะเครดิต ทำหุ้นร่วง 20% วันเดียว
Jeff Bezos เรียกรายงานนี้ว่า “เรื่องไร้สาระล้วนๆ” แต่ปีถัดมา Amazon มูลค่าลดลง 90% เมื่อนักวิเคราะห์อื่นๆ เริ่มกังวลเรื่องเงินสด
10 มีนาคม 2000 ราคาหุ้นดอทคอมถึงจุดพีค แล้วเริ่มดิ่งลง ไม่มีปัจจัยใดที่เป็นปัจจัยเดียวทำให้ฟองสบู่แตก แต่เป็นหลายอย่างรวมกัน ทั้งดอกเบี้ยขึ้น นักวิเคราะห์เปลี่ยนท่าที และคนเริ่มเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ไม่มีทางทำกำไรได้จริง
ภายในเมษายน 2000 Nasdaq สูญเสียมากกว่าหนึ่งในสามของมูลค่า บริษัทฮอตทั้งหลายต่างมูลค่าหุ้นลดสะบั้นหั่นแหลก 80% หรือมากกว่า ความมั่งคั่งหลายล้านล้านดอลลาร์มลายหายไปหมดสิ้น
แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทจะล่มสลาย Amazon, eBay, Craigslist, E-Trade ยังอยู่รอด พวกเขามีผู้นำฉลาด มีโมเดลธุรกิจที่ใช้ได้จริง และไม่ได้ใช้จ่ายเละเทะเหมือนบริษัทที่ล้ม
ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีคิดเป็น 40% ของ S&P 500 เทียบกับ 37% ในปี 1999 Apple เป็นบริษัทแรกที่มีมูลค่าสองล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7% ของดัชนี
แม้หุ้นเทคอาจดูแพง แต่ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนมาก บริษัทเทคปัจจุบันเข้ามาแทนที่ธุรกิจดั้งเดิม แม้แต่ Warren Buffett ที่เคยไม่แตะหุ้นเทค ก็ลงทุนใน Apple
ตอนฟองสบู่แตกปี 2000 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกแค่ 400 ล้านคน ปัจจุบันมี 4.7 พันล้านคน คิดเป็น 59% ของประชากรโลก ฐานผู้ใช้ใหญ่กว่ามากสำหรับบริษัทดิจิทัล
ฟองสบู่ดอทคอมทิ้งมรดกสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล บริษัทโทรคมนาคมระดมทุนได้เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในสหรัฐฯ มีการติดตั้งสายใยแก้วนำแสง 80 ล้านไมล์
การลงทุนมหาศาลนี้รังสรรค์รากฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตในทศวรรษต่อมา ต้นทุนแบนด์วิดท์ลดลง 90% นับตั้งแต่ปี 2004 ทำให้บริการอย่าง YouTube และ Netflix เติบโตได้
ฟองสบู่ดอทคอมไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด แม้สร้างความปั่นป่วนและสูญเสียความมั่งคั่ง แต่มันเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ควรใช้เวลา 20-50 ปี ให้เกิดขึ้นในเพียง 5 ปี
โควิด-19 ยิ่งพิสูจน์ความสำคัญของมรดกนี้ หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ผลกระทบจากการระบาดคงโหดเหี้ยมกว่านี้มาก
ฟองสบู่ดอทคอมจึงเป็น “การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์” ที่แม้เจ็บปวดรวดร้าวในระยะสั้น แต่วางรากฐานการเติบโตระยะยาว บทเรียนคือต้องสร้างธุรกิจบนพื้นฐานที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่กระแสชั่วครู่
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA
Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ
Geek Forever’s Podcast
“Open Your World With Technology“
AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning
Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ