PSG vs Manchester City มหาศึก Gulf Derby ที่เป็นมากกว่าแค่เรื่องของฟุตบอล

กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเจ้าของสโมสรระดับยักษ์ในยุโรป พวกเขาไม่เพียงแค่แข่งขันกันในการชิงความเป็นหนึ่งของกีฬาที่นิยมมากที่สุดในโลกอย่างฟุตบอล แต่ความขัดแย้งเรื่องการเมืองของทั้งคู่ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน

ต้องบอกว่า ในเชิงภูมิศาสตร์นั้น กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เหมือนกัน

ทั้งสองต้องห้ำหั่นกันในเวทีการเมืองโลก ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการทหาร เรื่องของความเป็นประชาธิปไตย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเคยดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการปิดล้อมเศรษฐกิจของกาตาร์เป็นเวลากว่าสี่ปี

ในปี 2008 sheikh Mansour bin Al Nahyan ซึ่งเป็นราชวงศ์ของอาบูดาบี และเป็นหนึ่งในสมาชิกของรัฐบาลเอมิเรตส์ ตัดสินใจซื้อทีมฟุตบอลที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเมืองแมนเชสเตอร์อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้

สามปีต่อมากองทุนความมั่งคั่งแห่งกาตาร์ซึ่งก่อตั้งและดำเนินการโดยครอบครัว Al-Thani ที่ปกครองประเทศได้ซื้อทีมฟุตบอลในฝรั่งเศส Paris Saint-Germain (PSG)

ผ่านไปกว่า 10 ปี ทั้งสองรัฐ ได้ทุ่มเงินกว่าพันล้านดอลลาร์ให้กับสโมสรของพวกเขา ทำให้ทั้งสองทีมกลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอังกฤษและฝรั่งเศส

แต่ดูเหมือนเป้าหมายใหญ่ของทั้งสองคือถ้วยใบใหญ่ของฟุตบอลยุโรปอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก ซึ่งเป็นถ้วยที่ทั้งสองยังไม่สามารถก้าวไปถึงฝันอันสูงสุดของพวกเขาได้

การเมืองในมุ้ง Uefa

แม้จะเล่นอยู่ในลีกคนละประเทศ แต่ทั้งคู่ต้องโคจรมาพบกันในที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้วในรอบรองชนะเลิศ

เป็นฝั่งเอมิเรตส์ ที่เอาชนะไปได้ในสนามฟุตบอล แต่สุดท้าย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ sheikh Mansour ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ในการคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ครั้งแรกของสโมสรหลังจากต้องไปพ่ายแพ้ให้กับ เชลซีในรอบชิงชนะเลิศ

และแน่นอน ว่ามันไม่ใช่แค่เพียงเรื่องฟุตบอลเท่านั้น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งใน 12 ทีม ที่จะแยกออกไปตั้งการแข่งขันใหม่ที่มีชื่อว่า ซูเปอร์ลีก

นั่นทำให้สร้างความเดือดดาลมาก ๆ กับ Uefa ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการฟุตบอลยุโรป ซึ่งต่อต้าน “ผู้ทรยศ” ที่คิดจะล้มล้าง แชมเปี้ยนลีก ที่เป็นแหล่งขุมทรัพย์มหาศาลของ Uefa

อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่า กล่าวถึงแผนการสำหรับการก่อตั้งซูเปอร์ลีก ว่า ” เป็นการกระทำที่น่าขายหน้าและเห็นแก่ตัว… ขับเคลื่อนด้วยความโลภเหนือสิ่งอื่นใด”

ต่างจาก PSG ที่นิ่งเงียบ ไม่ได้สนใจที่จะเข้าร่วม จึงได้รับการยกย่องจาก Uefa เป็นอย่างมาก

มันเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ล่าสุดที่ PSG นั้นมีกับ Uefa

ซึ่งต้องบอกว่า PSG และ Uefa นั้นมีความปรองดองกันอย่างมาก Al Khelaifi นักธุรกิจชาวกาตาร์ของสโมสร PSG นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของ Uefa และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิตของเซเฟริน

แน่นอนว่ามันเป็นผลประโยชน์ในเรื่องการเงิน ที่ PSG นั้นเป็นเป้าหมายของ Uefa โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่อง Financial Fair Play (FFP)

ก่อนหน้านี้ มีการตรวจสอบข้อตกลงในเรื่องของสปอนเซอร์ให้กับ PSG ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และการซื้อตัวผู้เล่น ที่ใช้เงินกว่า 450 ล้านดอลลาร์กับผู้เล่นเพียงแค่สองคน ทั้ง เนย์มาร์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้

รวมถึงปีนี้ จากข่าวล่าสุดในการกว้านผู้เล่นฟรี จำนวนมาก ที่ต้องจ่ายค่าเหนื่อยมหาศาล ทั้ง ลีโอเนล เมสซี่ หรือ เซอร์คิโอ รามอส

Deal ใหญ่ที่สุดกับการได้ตัวเมสซี่ มาแบบฟรี ๆ จากบาเซโลน่า (CR:AS English - Diario AS)
Deal ใหญ่ที่สุดกับการได้ตัวเมสซี่ มาแบบฟรี ๆ จากบาเซโลน่า (CR:AS English – Diario AS)

แต่แนวทางที่ Uefa มีต่อ PSG ดูเหมือนจะโอนอ่อนลงไป ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันมาจากการเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับ Uefa ของ Khelaifi

และมันเป็นผลประโยชน์โดยตรงในเรื่องซูเปอร์ลีกที่มีผลกระทบต่อ Khelaifi เพราะเขาเป็นประธานของ BeIN Media Group ซึ่งเป็นเครือข่ายโทรทัศน์ในกาตาร์ ที่ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อรักษาสิทธิ์จาก Uefa ในการออกอากาศ ฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก

ส่วนฟากฝั่งของเอมิเรตส์ ดูเหมือนความสัมพันธ์ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ Uefa จะไม่ค่อยลงรอยกันมากนัก ปีที่แล้ว สโมสรได้รับโทษปรับ 360 ล้านดอลลาร์ และโดนสั่งแบนจากการแข่งขันระดับสโมสรยุโรปเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจาก ละเมิดอย่างร้ายแรงของระเบียบ Financial Fair Play

การสอบสวนถูกจุดประกายขึ้นหลังจากเอกสารที่รั่วไหลออกมา ที่ชี้ให้เห็นว่า Sheikh Mansour เจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้ทุนสนับสนุนประจำปีกับทีม 85 ล้านเหรียญในฤดูกาล 2015-2016

แต่ในที่สุดการแบนถูกยกเลิก หลังจากการต่อสู้ทางกฏหมายอย่างยาวนาน

เจมส์ มอนตากิว ผู้เขียน The Billionaire Club ซึ่งตรวจสอบความเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในยุคมหาเศรษฐี กล่าวว่า “แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก้าวร้าวอย่างมากกับ Uefa และปลูกฝังความรู้สึกในหมู่แฟนบอลว่า Uefa พร้อมที่จะทำลายพวกเขา”

ซึ่งเป็นสิ่งไม่แปลกใจเลยว่า เจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างซูเปอร์ลีก เพื่อสร้างลีกคู่แข่งกับการแข่งขันของ Uefa นั่นเอง

การต่อสู้กันที่ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอล

เช้าตรู่ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2017 ได้มีคำแถลงที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ จากประธานาธิบดีกาตาร์ ผ่านสำนักข่าวกาตาร์ (QNA)

สื่อระดับภูมิภาคในอาหรับ และที่อื่น ๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการรับข่าวดังกล่าว และได้ทำการเผยแพร่ให้ขยายวงกว้าง เพื่อให้ผู้คนนับล้านได้เห็นแถลงการณ์ครั้งนี้

“อิหร่านเป็นตัวแทนของอำนาใจในภูมิภาค และอิสลามไม่สามารถละเลยได้ และไม่ฉลาดที่จะเผชิญหน้ากับพวกเขา” ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัลธานี ผู้ปกครองกาตาร์กล่าวในพิธีสำเร็จการศึกษาทางทหารเป็นภาษาอาหรับ

ราชวงศ์กาตาร์ รู้ตัวทันทีว่าระบบรัฐบาลของพวกเขากำลังถูกรุกราน และพวกเขามั่นใจว่ามันเป็นแผนการของ ซาอุดิอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ทำเรื่องชั่ว ๆ ดังกล่าวนี้

ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าระบบของพวกเขาถูก hack โดยกลุ่มนับรบไซเบอร์ของรัสเซียที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานดังกล่าว

พวกเขาไม่เคยเห็นการลอบโจมตีในลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาก่อน สถานการณ์ที่มีความตึงเครียดมานานหลายปี กำลังจะถึงจุดแตกหัก

ภายในสิบสามวัน ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของพวกเขารวมถึงอียิปต์และหมู่เกาะโคโมโรเล็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการปิดกั้น เพื่อคว่ำบาตรกาตาร์แบบเต็มรูปแบบ

พวกเขาขับไล่ชาวกาตาร์ออกจากประเทศตัวเอง ตัดความสัมพันธ์ทางการเงิน และปฏิเสธที่จะให้เครื่องบินของกาตาร์ใช้น่านฟ้าของพวกเขา เหล่าร้านค้าในกาตาร์ต่างขาดแคลนอาหาร เนื่องจากประเทศนี้พึ่งพาการค้าทางบกกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก

ปัญหาใหญ่น่าจะเกิดจากกาตาร์ได้ทำการผูกมิตรกับศัตรูของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิม

ซึ่ง ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ต่างนำทูตของพวกเขาออกจากกาตาร์ในปี 2014 เนื่องจากกาตาร์ได้ไปสนับสนุนการประท้วงอาหรับสปริง

การประกาศคว่ำบาตรสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวกาตาร์จำนวนมาก ครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศบางครอบครัวเริ่มสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนตัวไว้ในบ้านพักตากอากาศและพระราชวังเพื่อเตรียมพร้อมหากมีการรุกรานขึ้นมาจริง ๆ

กาตาร์ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กถูกปิดล้อม (CR:Daily News)
กาตาร์ที่มีพื้นที่ขนาดเล็กถูกปิดล้อม (CR:Daily News)

ต้องบอกว่าสงครามเย็นกับกาตาร์นั้นมีเวลานานมาหลายปีแล้ว แต่กาตาร์เริ่มตีตัวออกห่างจากเพื่อนบ้านอย่างรวดเร็วเมื่อ ฮาหมัด บิน คาลิฟา โค่นล้มบิดาของตัวเองในการรัฐประหารที่ไร้การนองเลือดในปี 1995

ด้วยความที่ฮาหมัดเติบโตมาในโลกที่มีความสากล และด้วยความมั่งคั่งของประเทศในยุคนั้น ความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับสหราชอาณาจักร เขาจึงเข้าเรียนที่ Royal Military Academy , Sandhurst ก่อนที่จะกลับไปโดฮาเพื่อเป็นนายทหารและในที่สุดก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เขาได้เข้ามายึดอำนาจโดยความเห็นชอบของสมาชิกคนสำคัญในครอบครัว ฮาหมัดได้เข้ามาเปลี่ยนนโยบายกาตาร์ใหม่ แม้กระทั่งการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล

เขาได้พัฒนาแหล่งก๊าซของประเทศซึ่งเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติยังไม่ได้เป็นวัตถุดิบที่ทำกำไรได้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งการเดิมพันครั้งนี้ทำให้กาตาร์ร่ำรวยมหาศาล ด้วยความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น ฮาหมัด ได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นไปที่บทบาทของกาตาร์ในส่วนที่เหลือของโลก ไม่ใช่แค่เหล่าประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเท่านั้น

หนึ่งในปัจจัยใหญ่ที่สุดคือการสร้าง Al Jazeera ช่องข่าวที่ใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยในการสรรหานักข่าวต่างประเทศ และนำเสนอให้ครอบคลุมตะวันออกกลางมากที่สุด

โดยเป็นการแสดงให้เห็นว่ากาตาร์เป็นกลาง แต่ภายในช่อง Al Jazeera เองก็แทบจะไม่มีการรายงานประเด็นทางสังคมหรือการโต้เถียงภายในกาตาร์เองแต่อย่างใด

เพื่อนบ้านของกาตาร์มองว่า Al Jazeera ไม่เป็นกลาง และเมื่อเกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อเยาวชนชาวอียิปต์ประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคที่ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเตส์หนุนหลัง

แต่หลังจากมูบารัคลงจากอำนาจ กาตาร์ก็ได้แต่งตั้งโมฮาเหม็ด มอร์ซี จากกลุ่มมุสลิมภราดรภาพให้กลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์ และนั่นเองที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียและยูเออีโมโห และสนับสนุนนายพลในการโค่น มอร์ซี และปราบปรามกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ

กาตาร์มีความเชี่ยวชาญมากกว่าซาอุฯ หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการล็อบบี้และสื่อสารกับโลกภายนอก พวกเขาเปรียบเสมือนสวิตเซอร์แลนด์แห่งตะวันออกกลางที่รักษาการติดต่อกับทุกกลุ่มเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาและนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาค

อีกปัจจัยหนึ่งที่ได้สร้างความขุ่นเคืองมายาวนานหลายปี คือ กาตาร์มีนิสัยขี้อิจฉาเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่า ด้วยความมั่งคั่งมหาศาล กองทุนความมั่งคั่งของกาตาร์ ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทในโลกตะวันตกที่มีชื่อเสียงมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมันอย่าง Volkswagen Group หรือ Royal Dutch Shell รวมถึงการกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก โครงการพัฒนาสนามบิน Heathrow ย่านธุรกิจ Canary Wharf และสร้าง Shard ซึ่งเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในสหราชอาณาจักร

แถมกาตาร์ยังได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup) ในปี 2022 ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดรองจากโอลิมปิก

และสำหรับเหล่าเศรษฐีผู้ร่ำรวยของกาตาร์ การซื้อห้างสรรพสินค้า Harrods ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังบนถนน Old Brompton Road ในลอนดอนมูลค่า 1,500 ล้านปอนด์ในปี 2010 ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ภาษาอาหรับได้กลายเป็นภาษาที่สองของห้างดังเหล่านี้ เนื่องจากบรรดาลูกค้าผู้ร่ำรวยจากดูไบ ริยาด หรือ คูเวตซิตี้ จะมาช็อปปิ้งในช่วงวันหยุด

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็รู้สึกว่า การกระทำต่าง ๆ ของกาตาร์เกิดจากความหยิ่งผยองของพวกเขา กาตาร์มีฐานทัพ Al Udeid การสื่อสารกับชาติตะวันตกก็ดูราบรื่น แถมยังมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าประเทศอื่น ๆ

นั่นเป็นเหตุให้เหล่าชีคที่เขี้ยวลากดินของเอมิเรตส์พร้อมกับเหล่าพันธมิตร มองหาข้ออ้างที่จะตัดกาตาร์ออกไป และถือเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้

แต่ดูเหมือนกาตาร์จะไม่แคร์ เพราะด้วยความมั่งคั่งของพวกเขา ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดที่รองรับประชากรในประเทศจึงได้รับการออกแบบใหม่ โดยไม่แคร์เพื่อนบ้านชาวอาหรับอีกต่อไปนั่นเอง

แล้วใครจะเป็นเบอร์หนึ่งของสโมสรฟุตบอลยุโรปก่อนกัน

ปีนี้ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่การแข่งขันในถ้วยใบใหญ่ของยุโรปอย่าง ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก เป็นการแข่งขันที่มีความดุเดือดมากกว่าทุกปี

การพ่ายแพ้ในนัดชิงชนะเลิศปีที่แล้วของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สร้างความผิดหวังให้กับพวกเขามากพอสมควร เห็นได้ถึงการทุ่มซื้อนักเตะในปีนี้ ทั้ง แจ็ค กลีลิช ที่มูลค่าสูงถึง 100 ล้านปอนด์

หรือเป้าหมายใหญ่ของพวกเขาอย่าง แฮรี่ เคน ที่มูลค่ามากกว่า 100 ล้านปอนด์ ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายใหญ่อย่างถ้วยยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ที่ทุนจากอาหรับทั้งสองสโมสร นั้นมีเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียวกันในปีนี้

รวมถึงการเสริมทัพของ PSG ที่เรียกได้ว่าจัดหนักจัดเต็ม ได้ตัวฟรีดี ๆ มาเพียบ ทั้ง ไวจ์นัลดุม รามอส หรือ ล่าสุด ลีโอเนล เมสซี่ เรียกได้ว่าพร้อมจะไล่ล่าแชมป์ถ้วยใบนี้แบบเต็มที่ในปีนี้เช่นเดียวกัน

คงจะเป็นเรื่องที่สนุกมาก หากทั้งสองสามารถฟันฝ่า เข้าไปชิงดำกันได้ในถ้วยใบใหญ่ของยุโรปปีนี้ ที่ดูเหมือน สรรพกำลังของทั้งคู่นั้น ไม่เป็นสองรองใครในยุโรปสำหรับปีนี้

และเมื่อถึงวันนั้น มันก็อาจจะถึงวันตัดสินว่า ใครคือเบอร์หนึ่งตัวจริง ในศึก Gulf Derby แห่งยุโรป เพราะศักดิ์ศรีที่ค้ำคอของทั้งสองทีมนั้น ไม่ใช่แค่มีเพียงแค่เรื่องของฟุตบอลอีกต่อไปนั่นเองครับผม

References : https://www.middleeasteye.net/big-story/qatar-uae-psg-manchester-city-european-super-league
https://www.forbes.com/sites/andrewbrennan/2016/04/18/el-cashico-the-man-city-psg-match-was-much-more-than-just-bought-teams


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube