การก่อกำเนิดของเกม Pong กับการสร้างวัฒนธรรมแหกกฏครั้งแรกใน Silicon Valley

ในวันที่ Atari ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปี 1972 Nolan Bushnell ได้ว่าจ้างวิศวกรคนแรกของเขา Al Alcorn ซึ่งเป็นนักฟุตบอลระดับมัธยมปลายจากซานฟรานซิสโกที่เรียนรู้การซ่อมโทรทัศน์ด้วยตัวเองผ่านหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์

ในเวลานั้น Bushnell มีสัญญาที่จะสร้างวีดีโอเกมใหม่ให้กับบริษัท Bally Midway ในเมืองชิคาโก ซึ่งแผนการคือการทำเกมแข่งรถซึ่งดูเหมือนจะมีความน่าสนใจมากกว่าเกมยานอวกาศสุดฮิตอย่าง Spacewar ในสมัยนั้น

แต่ Bushnell ได้ไปค้นพบไอเดียบางอย่างในงานแสดงสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องเกมปิงปองรุ่นหนึ่ง ที่ห่วยแตกมาก ๆ ลูกบอลเป็นสี่เหลี่ยมแถมยังไม่มีแถบคะแนนแสดงแต่เขากลับพบว่ามีหลายคนที่สนุกกับเครื่องเล่นเกมดังกล่าว

และเมื่อเขากลับมาที่สำนักงานเช่าเล็ก ๆ ของ Atari ใน ซานตาคลารา เขาได้บรรยายเกมดังกล่าวให้ Alcorn ฟัง และให้ Alcorn ทำการร่างวงจร และขอให้สร้างมันเป็นเกม arcade ขึ้นมา

เขาได้โน้นมน้าว Alcorn ว่าตัวเขาเองนั้นได้ไปทำการเซ็นสัญญากับ GE เพื่อสร้างเกมดังกล่าวไว้แล้ว แต่มันไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการใน Silicon Valley หลายรายในยุคนั้น Bushnell ไม่มีความละอายใจที่จะบิดเบือนความจริงเพื่อจูงใจเหล่าทีมงานของเขา

Alcorn ได้ใช้เวลาไม่นานในการสร้างต้นแบบเครื่องดังกล่าวออกมา และด้วยความรู้สึกสนุกสนานแบบเด็ก ๆ เขาจึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงความซ้ำซากจำเจที่มีการตีกลับไปมาระหว่างไม้พายให้กลายเป็นเรื่องน่าสนุกยิ่งขึ้น

โดยเขาได้เพิ่มส่วนของไม้ตีให้มีเหลี่ยมมุมมากขึ้นถึง 8 ตำแหน่ง มันทำให้เมื่อลูกบอลโดนตีตรงกลางไม้พายมันจะกระเด้งกลับมาตรง ๆ แต่เมื่อตีเข้าไปใกล้ขอบไม้พายมันจะเปลี่ยนการกระเด้งออกไปที่มุมนั่นทำให้เกมมีความท้าทาย และมียุทธวิธีมากขึ้น

เขายังได้เพิ่มส่วนของคะแนนและเพิ่มเสียง “thonk” ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสบการณ์การเล่นให้กับผู้เล่น โดย Alcorn ใช้ชุดทีวีขาวดำของ Hitachi มูลค่า 75 เหรียญ ต่อสายส่วนประกอบเข้าด้วยกันภายในตู้ไม้สูงสี่ฟุต

โดยเกมในยุคนั้นต้องบอกว่าไม่ได้ใช้ Microprocessor แต่อย่างใด ทั้งหมดนี้สร้างโดย Hardware ผ่านการออกแบบ Logic ที่เหล่าวิศวกรซ่อมโทรทัศน์ใช้เพียงเท่านั้น และนั่นคือวันที่เกมยิ่งใหญ่ในตำนานอย่าง Pong ได้ถือกำเนิดขึ้น

Pong เกมที่จะเปลี่ยน Atari ไปตลอดกาล
Pong เกมที่จะเปลี่ยน Atari ไปตลอดกาล

ต้องบอกว่า Bushnell เองนั้นพอใจกับผลงานของ Alcorn เป็นอย่างมาก เพราะขนาดตัวเขาเองนั้นก็พบว่าต้องเล่นมันเป็นเวลาหนึ่งถึงสองชั่วโมงหลังเลิกงานแทบจะทุกวัน เรียกได้ว่า Bushnell เองก็ติดหนึบกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นอย่างมาก

เขาจึงได้บินไปที่ชิคาโกเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ Bally Midway ยอมรับ Pong แทนที่จะผลักดันให้ไปทำเกมแข่งรถตามในสัญญา แต่บริษัทเองก็ได้ปฏิเสธมันไปและไม่อยากได้เกมที่ต้องใช้ผู้เล่นถึง 2 คน

และมันได้กลายเป็นโชคดีสำหรับตัว Bushnell และ Atari เพราะ Pong กำลังจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับบริษัทของพวกเขาในเวลาอีกไม่นาน

และเพื่อทดสอบแนวคิดพวกเขาจึงได้ลองติดตั้งเครื่องต้นแบบที่ Andy Capp’s ซึ่งเป็นบาร์เบียร์ในเมือง Sunnyvale มันเป็นบาร์ของเหล่าชนชั้นแรงงานที่มีโต๊ะ pinball อยู่ด้านหลัง

ซึ่งหลังจากนั้นเพียงแค่ 1 วัน Alcorn ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้จัดการของบาร์ โดยบ่นว่าเครื่องได้หยุดทำงาน เขาควรมาแก้ไขทันทีเพราะมันได้รับความนิยมอย่างน่าประหลาดใจ ดังนั้น Alcorn จึงรีบไปที่ร้านทันที

และสิ่งที่เขาได้พบเจอนั้นทำให้เขาอึ้งไปชั่วขณะ ทันทีที่เขาเปิดเครื่องเขาก็พบปัญหาทันที เมื่อกล่องเหรียญมีเหรียญเต็มไปหมด ทำให้ระบบเกิดขัดข้องเพราะมีเหรียญมากเกินไป ซึ่งทันทีที่เปิดกล่องเก็บเงินออกมาเหรียญก็แทบจะพุ่งออกมาแบบทันที

Al Alcorn ผู้สร้างเกม Pong

นั่นเองที่ทำให้ Bushnell พิสูจน์ได้ว่า เครื่องจักรทำเงินของเขาได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว และได้เริ่มการผลิตโดยใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสขึ้นเป็นโครงของเครื่องรุ่นใหม่ โดยจ้างผู้ผลิตเรือในแถบนั้นในการสร้าง Pong ขึ้นมาเพื่อจำหน่าย

และใช้เวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ในการสร้างเกมจนเสร็จสมบูรณ์ โดยขายที่ราคา 900 ดอลลาร์ และได้กำไรสูงถึงเครื่องละ 620 ดอลลาร์ เขาจึงมีกระแสเงินสดเพื่อมาผลิตเครื่องเกมได้ทันทีหลังจากวางขายได้ไม่นาน

เงินส่วนนึงถูกใช้ไปในการทำ Marketing ที่แหกกฏ การสร้างโบรชัวร์ เป็นภาพหญิงสาวสวยในชุดนอนที่โปร่งสบาย พาดแขนของเธอเหนือเครื่องเกมนั่นทำให้เกมฮิตติดตลาดเป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่าในยุคนั้นยังเป็นยุคเริ่มต้นของ Venture Capital ใน Silicon Valley ซึ่งยังไม่มีช่องว่างสำหรับบริษัทเกมเกิดใหม่อย่าง Atari และ Bushnell ต้องการเงินเพื่อขยายกิจการโดยด่วน แต่ตอนนั้นมีเพียงแค่ธนาคาร Well Fargo เท่านั้นที่ให้วงเงินเครดิตเพียงแค่ 50,000 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าที่ Bushnell ต้องการ

แต่ด้วยเงินดังกล่าว ก็สามารถทำให้ Bushnell สร้างสายการผลิตของเกม Pong ได้อย่างเป็นทางการ เขาได้รวบรวมหนุ่มสาวที่ตกงานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงให้มาร่วมกันสร้าง Pong ทำให้การผลิตเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ตอนแรกพวกเขาสามารถผลิตได้เพียงแค่ 10 เครื่องต่อวัน แต่ภายในสองเดือนพวกเขาสามารถทำได้เกือบร้อยเครื่องต่อวัน แม้ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้น 300 ดอลลาร์ต่อเครื่อง แต่ราคาขายก็ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ดอลลาร์เช่นเดียวกันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยมของอเมริกาในยุคนั้น

สิ่งหนึ่งที่ Bushnell ปฏิวัติวงการคือ บรรยากาศการทำงานที่สบาย ๆ ทั้ง Bushnell และ Alcorn เป็นผู้รักความสนุกสนาน ทั้งคู่ยังอยู่ในวัยยี่สิบและได้พวกเขากำลังยกระดับของการทำธุรกิจไปอีกขั้น

Atari ได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเช่นทุกวันศุกร์จะมีปาร์ตี้เบียร์ โดยเฉพาะหากทำตัวเลขได้ดีในสัปดาห์นั้น ๆ ก็จะมีการเฉลิมฉลองปาร์ตี้ใหญ่ภายในบริษัท ทุกคนในทีมได้มาผ่อนคลายและสนุกสนานกัน เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นใน Silicon Valley มาก่อนเลยก็ว่าได้

และที่ Atari นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานหลาย ๆ อย่าง ทั้งการจ้างคน ลำดับชั้นของการทำงานที่เป็นแนวราบ ชั่วโมงการทำงาน รวมถึง เรื่องของการแต่งกายที่เรียกได้ว่าเป็นการแหกขนบธรรมเนียมของโลกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งบริษัทในยุคหลังก็ดำเนินตามรอยของ Atari ไม่ว่าจะเป็น Apple , Google หรือ Facebook ที่มีวัฒนธรรมการทำงานใกล้เคียงกัน

ซึ่งถ้าเทียบกันในยุคเดียวกันนั้นเหล่าพนักงานของ IBM ต้องใส่เสื้อเชิ๊ตสีขาว กางเกงขายาวสีเข้ม และเน็คไทสีดำ ที่มีตราของ IBM เย็บติดกับไหล่ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลาย ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ทำในขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องตลกในสายตาของพนักงาน Atari เป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่า ตำนานการเกิดขึ้นของเกม Pong และ Atari ได้เปลี่ยน Silicon Valley ไปตลอดกาล การเกิดขึ้นของนวัตกรรมที่ Atari สร้างขึ้นมา บทเรียนที่เห็นได้ชัดจากเกม Pong ก็คือ ความคิดที่ยอดเยี่ยม ความสามารถด้านวิศวกรรมในการดำเนินการและความเข้าใจในธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนความคิด ไอเดีย ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างที่ Atari ทำกับเกม Pong ได้สำเร็จนั่นเองครับ

References : https://techland.time.com/2012/06/27/atari-at-40-catching-up-with-founder-nolan-bushnell/
https://apuntesdellibrostevejobs.wordpress.com/2015/05/16/04-1-atari-y-la-india-atari/
หนังสือ The Innovators How a Group of Hackers, Geniuses, and Geeks Created the Digital Revolution โดย Walter Isaacson


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube