ประวัติ Michael Bloomberg กับชายที่พร้อมท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก Donald Trump

นักการเมืองชาวอเมริกัน Michael Bloomberg  มีชื่อเสียงในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bloomberg LP ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการข้อมูลทางการเงินชื่อดัง รวมถึงบริษัทสื่อที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

โดย Bloomberg นั้นได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีของนครนิวยอร์กในปี 2001 Buzz Bissinger นักเขียนในสื่อชื่อดังอย่าง Vanity Fair เรียกเขาว่า “เป็นหนึ่งในนายกเทศมนตรีที่น่าสนใจที่สุดในนครนิวยอร์กที่เคยมีมา – ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเป็นมหาเศรษฐีคนแรกที่ดำรงตำแหน่ง แต่เป็นเพราะในนิสัยของเขานั่นเองที่ทำให้เขาน่าสนใจเป็นอย่างมาก”

Michael Bloomberg เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1942 เติบโตขึ้นในครอบครัวชนชั้นกลางในพื้นที่เมืองบอสตัน พ่อของเขา (Bill) เป็นผู้ทำบัญชีและแม่ของเขา ( Charlotte ) เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยของผู้หญิงอเมริกันในยุคนั้น ที่ยังได้รับปริญญาในระดับมหาวิทยาลัย 

พวกเขาเป็นหนึ่งในครอบครัวชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองบอสตัน โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 พ่อแม่ของ Bloomberg ตัดสินใจย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ใกล้กับที่ทำงานของ Bill ในซอเมอร์วิลล์ใกล้กับเมืองเคมบริดจ์ 

Bloomberg เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมเมดฟอร์ดและทำผลการเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins และได้รับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 1964 จากนั้นเขาก็ไปเรียนต่อ MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากจบหลักสูตรการศึกษาที่นั่นเขาได้สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียน Candidate School แห่งกองทัพสหรัฐฯในปี 1966 แต่เขาได้ถูกปฏิเสธเนื่องจากสาเหตุว่ามีเท้าที่แบนแบบผิดรูป

Bloomberg จึงมุ่งตรงไปทำงานด้านการเงินที่ Wall Street แทน โดยเข้าร่วมงานกับธนาคารเพื่อการลงทุนซาโลมอนบราเธอร์ ซึ่งถือเป็นผู้ค้าหลักทรัพย์รายใหญ่ รวมถึงดำเนินการในการซื้อขายพันธบัตรในตลาดสหรัฐอเมริการวมถึงตลาดต่างประเทศ 

ในเวลานั้นซาโลมอนบราเธอร์เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของวัฒนธรรมการทำงานที่ประเมินผลงานจากความสามารถของพนักงานโดยแท้จริง ซึ่งหมายความว่า บริษัท บริษัทจะพิจารณาในการรับพนักงาน รวมถึงเลื่อนตำแหน่งจากความสามารถของพนักงาน โดยไม่ได้สนใจสถาบันการศึกษาที่จบมาอย่าง แม้จะเป็น Ivy League เหมือนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นมักจะทำกันแต่อย่างใด 

Micheal Bloomberg สมัยเพิ่งเริ่มเข้าสู่ Wallstreet ใหม่ ๆ
Micheal Bloomberg สมัยเพิ่งเริ่มเข้าสู่ Wallstreet ใหม่ ๆ

งานแรกของ Bloomberg คือพนักงานในห้องซื้อขาย ได้รับเงินเดือนช่วงแรกเพียงแค่ 9,000 ดอลลาร์ เท่านั้น “มันเป็นการเริ่มต้นที่ค่อนข้างต่ำมาก ๆ สำหรับดีกรีปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างฮาร์วาร์ด” เขาเขียนไว้ในอัตชีวประวัติของเขาในปี 1997

“เราแทบจะใช้ห้องนิรภัยของธนาคารเป็นห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่นั่นไม่มีแม้กระทั่งเครื่องปรับอากาศ  ทุกบ่ายเราต้องมานั่งนับเงินดอลลาร์และพันธบัตรที่มีอยู่ ซึ่งมีมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์เพื่อนำไปใช้กับธนาคารในการเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อในเช้าวันรุ่งขึ้น”

ในที่สุด Bloomberg ก็ได้ไต่เต้าจนกลายมาเป็นผู้ค้าตราสารหนี้และเป็นหุ้นส่วนของบริษัทได้สำเร็จในปี 1972 และเขาได้แต่งงานกับหญิงชาวอังกฤษ Susan Brown ในปี 1976

Bloomberg ได้กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงของบริษัทโดยสามารถทำกำไรได้เกือบทุกครั้งในตลาด แต่ Bloomberg กลับรู้สึกประหลาดใจ เมื่อเขาได้รับสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการลดระดับหน้าที่การงานลง โดยเขาได้รับตำแหน่งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของ บริษัท  ในปี 1979

ต้องบอกว่าการค้าขายหลักทรัพย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ในขณะนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และงานดังกล่าวก็ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่ากับตำแหน่งก่อน ๆ ของเขาที่ได้รับแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเนื่องจากการที่ระบบภายในของซาโลมอนบราเธอร์มีข้อบกพร่องมากมาย เขาจึงได้เริ่มทำการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่เขาได้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจกับระบบใหม่นี้

หลังจากนั้นเขาได้ออกจากซาโลมอนบราเธอร์ เพื่อมาเริ่มสร้างธุรกิจ โดยตั้งบริษัท Innovative Market Systems โดยเขามีลูกค้ารายแรกคือ เมอร์ริลลินช์ซึ่งถือเป็น บริษัท ชั้นนำของวอลล์สตรีทในขณะนั้น

ในช่วงเริ่มต้นนั้นเขาทำงานกับทีมงานเพียงสี่คนเท่านั้น โดย Bloomberg ได้ทำการออกแบบ และสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบสแตนด์อโลนที่ช่วยให้ผู้ค้าของเมอร์ริลลินช์ได้รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ ซึ่งหลังจากนั้น บริษัทได้ขยายบริการโดยเริ่มพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่แสดงข้อมูลราคาพันธบัตรและราคาหุ้นเพิ่มเติม และยังสามารถทำการคำนวณพันธบัตรรัฐบาลที่มีความซับซ้อนสูงได้อย่างรวดเร็ว

ในปี 1986 ระบบของเขาได้พัฒนาจนกลายมาเป็น Bloomberg LP ซึ่งได้กลายเป็นที่แพร่หลายใน Wall Street บริษัท ได้ทำสัญญากับธนาคารเพื่อการลงทุนและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่หลายราย

โดย Bloomberg Terminals ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถเข้าถึงราคาตลาดปัจจุบันและอนุญาตให้ผู้ใช้ดำเนินการซื้อขายได้ทันที ซึ่งมีค่าติดตั้งเริ่มต้นที่สูงมาก แถมยังมีค่าบริการรายเดือนที่คิดราคาต่อเทอร์มินัลอีกต่างหาก ซึ่งโมเดลธุรกิจดังกล่าวนั่นเองที่ทำให้กิจการของ Bloomberg นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว 

Bloomberg Terminal เครื่องจักรทำเงินของ Micheal Bloomberg
Bloomberg Terminal เครื่องจักรทำเงินของ Micheal Bloomberg

ด้วยการที่มีลูกค้าใหม่ ๆ จาก บริษัทใน Wall Street มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่หันมาใช้เครื่องเทอร์มินัลของ Bloomberg รวมถึงรายได้จากค่าธรรมเนียมผู้ใช้รายเดือนสำหรับแต่ละบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,500 ดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้ Bloomberg ได้กลายมาเป็นมหาเศรษฐีในที่สุด หลังจากนั้นเขาได้เริ่มลงทุนในธุรกิจอื่นๆ โดยใช้บางส่วนของผลกำไรมาลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ โดยในช่วงต้นปี 1990 เขาได้เข้าสู่ธุรกิจสื่อ ที่ให้บริการทั้งสถานีวิทยุ รวมถึงสร้างบริการสำนักข่าว Bloomberg  ชื่อดังอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบันนั่นเอง

และจากข่าวล่าสุด เขาได้ประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2020 อย่างเป็นทางการ โดยเขาจะมาในฐานะหนึ่งในผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต เพื่อไปต่อสู้กับประธานาธิบดี Donald Trump ต้องบอกว่าถือเป็นคู่ต่อสู้ที่น่าสนใจมาก ๆ ของนักธุรกิจเสือเฒ่าทั้ง 2 คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจที่ตัวเองทำ และจะต้องมาห้ำหั่นกันเองอีกครั้งในศึกชิงประธานาธิบดีปี 2020 ที่จะถึงนี้นั่นเองครับ

References : https://www.biography.com/political-figure/michael-bloomberg https://www.britannica.com/biography/Michael-Bloomberg https://en.wikipedia.org/wiki/Michael_Bloomberg


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube