การผูกขาดของ Google กำลังสิ้นสุดลง อนาคตการค้นหาข้อมูล AI จะเข้ามาแทนที่ ได้จริงหรือ

ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมว่าสักวันหนึ่ง Google อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของคนเราในการค้นหาข้อมูล ซึ่งเมื่อก่อนถ้าเราต้องการหาข้อมูลอะไร สิ่งแรกที่เราทำคือ “Google หาให้หน่อย” ใช่ไหม

Google กลายเป็นกริยาไปเสียแล้ว มันไม่ใช่แค่ชื่อบริษัท แต่เป็นวิธีการดำเนินชีวิตของเรา แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีได้เกิดขึ้นแล้ว

Google เริ่มสูญเสียการควบคุมตลาดค้นหา ส่วนแบ่งตลาดของพวกเขาลดลงจาก 90% มาเป็น 89.34% ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ใช่ไหม แค่ 0.66% เท่านั้นเอง

แต่สำหรับ Google แล้ว นี่เป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ การลดลงแค่ 1% หมายถึงผู้ใช้หลายสิบล้านคนที่เลือกใช้บริการอื่นแทน และที่สำคัญกว่านั้น นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 เมื่อ Apple ประกาศว่าพวกเขากำลังพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องเครื่องมือค้นหาที่ขับเคลื่อนด้วย AI

ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ Google เป็นตัวเลือกมาตรฐานบน iPhone และอุปกรณ์อื่นๆ ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา หุ้น Google ดิ่งลงเหวลงไป 7.5% ในวันเดียว ทำให้บริษัทสูญเสียมูลค่าตลาดไปถึง 150 พันล้านดอลลาร์ เอาเป็นว่าเงินมากกว่า GDP ของประเทศไทยในหนึ่งเดือน

แต่เกิดอะไรขึ้นกันแน่ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้หลายล้านคนเริ่มหันไปจาก Google หลังจากที่เราใช้มันมากว่า 25 ปี

เรื่องราวเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2015 เมื่อ Google ในที่สุดก็เข้าถึงส่วนแบ่งตลาด 90% และรักษาตัวเลขนี้มาอย่างยาวนานตลอด 10 ปี Bing, Yahoo และเครื่องมือค้นหาอื่นๆ ต้องมาแย่งกันส่วนที่เหลือไม่ถึง 10%

ในยุคนั้น ทุกคนใช้แต่ Google โดยส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเครื่องมือค้นหาตัวอื่นอยู่ เมื่อเราต้องการหาข้อมูลอะไร สิ่งแรกที่นึกถึงคือ “Google ดู” ไม่ใช่ “ค้นหาดู”

แต่เมื่อบริษัทใดมีการผูกขาดในระดับนี้ สิ่งต่างๆ มักจะไปในทิศทางที่ไม่คาดคิด เมื่อไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่มีแรงผลักดันให้สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น

มีแต่การหาวิธีทำเงินให้มากขึ้น Google Search ค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว นักวิจัยพบว่าผลลัพธ์ของ Google เต็มไปด้วยเนื้อหาคุณภาพต่ำ

ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหลอก Algorithm มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของ Google และการเล่นกับ Algorithm กลายเป็นจุดสนใจหลัก

นั่นเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นสูตรอาหารที่เป็นบล็อกโพสต์ยาว 3,000 คำเพื่อตอบคำถาม “วิธีต้มไข่” มันไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแค่เก่งในการหลอก Google เท่านั้น คุณต้องเลื่อนผ่านเรื่องราวชีวิตของคนเขียน ประวัติของไข่ในโลก และโฆษณา 15 ตัว ก่อนจะได้เห็นขั้นตอนการต้มไข่จริงๆ

สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้นเมื่อ Google เริ่มถูกแรงกดดันจาก Wall Street Google เป็นบริษัทมหาชน แม้ว่าพวกเขาจะควบคุมตลาดได้ แต่นักลงทุนไม่ต้องการความมั่นคง

พวกเขาถวิลหาการเติบโต นักลงทุนต้องการกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อไป ไม่ใช่กำไรที่คงที่ มีความขัดแย้งภายในที่รุนแรงระหว่างทีมผลิตภัณฑ์และทีมโฆษณา

ฝ่ายหนึ่งต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น แต่อีกฝ่ายต้องการเงินมากขึ้น และแน่นอนว่าเราทุกคนรู้ว่าใครเป็นฝ่ายชนะ Ben Gomes อดีตหัวหน้าแผนก Search ของ Google เขียนในอีเมลภายในว่า “ผมคิดว่าเรากำลังหิวเงินมากเกินไป ผมคิดว่าการที่เราปรารถนาการเติบโตของการค้นหาและผู้ใช้มากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าเราโฟกัสไปที่การหาเงินจากโฆษณามากเกินไป”

ในขณะเดียวกัน Google ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการรักษาอำนาจผูกขาด พวกเขาจ่ายเงินให้กับเบราว์เซอร์ต่างๆ เพื่อให้ Google เป็นตัวเลือกมาตรฐาน

ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาจ่ายถึง 20 พันล้านดอลลาร์เพื่อเป็นเครื่องมือค้นหามาตรฐานบน iPhone กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ไม่พอใจเรื่องนี้ พวกเขาฟ้องร้อง Google ในศาล

ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ กล่าวว่า Google ตั้งใจเข้าร่วมในการกระทำต่อต้านการแข่งขันหลายอย่างเพื่อได้มาและรักษาอำนาจผูกขาด

แต่ในขณะที่ Google มุ่งเน้นการรักษาการผูกขาดแทนที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น สิ่งใหม่มันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เมื่อปลายปี 2024 ChatGPT ได้ทำการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่จะปฏิวัติวงการ การเปิดตัวฟีเจอร์การค้นหา หากคุณเปิด ChatGPT ใต้ช่องข้อความจะมี “ปุ่มค้นหา”

การพิมพ์จากตรงนั้นจะแสดงผลลัพธ์การค้นหา พร้อมข้อมูลและบทความที่คุณสามารถเข้าไปอ่านได้ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในการสำรวจผู้บริโภคสหรัฐฯ 5,000 คน พบว่า 39% ใช้ AI สำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ 43% สำหรับแนะนำอาหารท้องถิ่น 47% สำหรับแนะนำผลิตภัณฑ์ และ 55% สำหรับการทำวิจัย

ตัวเลขเหล่านี้กำลังพุ่งทะยานอย่างน่าตกใจ ในเดือนกุมภาพันธ์ การรับชมจากแหล่ง AI เพิ่มขึ้น 1,200% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2024

แล้วทำไมถึงเป็น AI ทำไม AI ถึงดีกว่าการค้นหาใน Google เริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ชัด AI กำจัดผลลัพธ์ที่น่ารำคาญและยุ่งเหยิงของ Google

คุณไม่ต้องเลื่อนผ่านโฆษณา 4-5 ตัวข้างบนเพื่อหาสิ่งที่ต้องการ มันอาจไม่เร็วเท่า Google แต่ช่วยประหยัดเวลาโดยให้เฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจ่ายเงินให้คุณเห็น

แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ความแตกต่างใหญ่ระหว่างเครื่องมือค้นหาและแพลตฟอร์ม AI อย่าง ChatGPT และ Perplexity คือเรื่องของบริบท

Google ถูกออกแบบมาสำหรับการค้นหาแบบคำหลัก เพราะมันถูกสร้างมาเพื่อความเร็วและการ scale สำหรับการค้นหาหลายพันล้านครั้ง

จากผลลัพธ์หลายพันล้านรายการ ในการหาเนื้อหา คุณต้องจับคู่คำหลักและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องจากการค้นหา

ในทางกลับกัน AI เป็นโมเดลภาษา ดังนั้นมันจึงเข้าใจบริบทได้ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถถามว่า “จอภาพตัวที่สองของฉันกระพริบสุ่มๆ มันเพิ่งเริ่มเป็นหลังจากที่ฉันเปลี่ยนเป็นสาย DisplayPort ฉันอัปเดตไดรเวอร์ GPU และตรวจสอบการตั้งค่า refresh rate แล้ว” จากนั้น AI จะจำได้ว่าคุณลองอะไรไปแล้วบ้าง กรองผลลัพธ์ที่ไม่มีประโยชน์ออกไป

และสามารถถามคำถามติดตาม รวมถึงระบุปัญหาที่ทราบกันดีในส่วนต่างๆ ของปัญหาของคุณโดยเฉพาะ ซึ่งกับ Google มันไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้

และอาจแค่แสดงผลลัพธ์เพิ่มเติมอย่าง “แก้หน้าจอกระพริบ” หมายความว่าคุณต้องดูผลลัพธ์เดิมๆ มากขึ้นก่อนจะเจอสิ่งใหม่และมีประโยชน์อย่างแท้จริง

สถิติแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ผู้ใช้ที่มาจาก AI search ใช้เวลาบนเว็บไซต์มากขึ้น 8% ดูหน้าเว็บมากขึ้น 12% และมี bounce rate (สัดส่วนของผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่ออกจากเว็บไซต์หลังจากดูหน้าเดียวเท่านั้น หรือในเวลาที่สั้นมาก) ต่ำกว่า 23% เมื่อเทียบกับผู้ที่มาจากการค้นหาแบบดั้งเดิม นี่เป็นเพราะแหล่งข้อมูลที่คุณได้จาก AI เกี่ยวข้องมากกว่า

ดังนั้นคุณจึงหาสิ่งที่ต้องการได้เร็วกว่าและอยู่นานกว่า แทนที่จะเปิดผลลัพธ์การค้นหาใน Google แล้วออกไป ลองอันอื่น แล้วออกอีก

Google เริ่มตื่นตระหนกจริงๆ Scott Jenson พนักงานมากประสบการณ์ 16 ปีและอดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ที่ Google อธิบายว่า

“โครงการ AI ที่ผมทำงานด้วยมีแรงจูงใจที่แย่และถูกขับเคลื่อนด้วยความตื่นตระหนกแบบไร้สมองที่ว่าตราบใดที่มี ‘AI’ อยู่ในนั้น มันก็จะยอดเยี่ยม”

“มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ มันเป็นความตื่นตระหนกที่ว่าพวกเขากำลังตกขบวน” Google ตอบสนองด้วยการเร่งพัฒนา AI

แต่การพยายามนี้ไม่ค่อยราบรื่น มีความล้มเหลวกับ Bard ซึ่งให้ข้อมูลผิด จากนั้นก็มีการปล่อย Gemini ออกมาแต่ก็ล้มเหลวตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรก

เมื่อพวกเขารีบรวม Gemini เข้ากับการค้นหา ซึ่งจะให้คำตอบทันทีที่ด้านบนของการค้นหา ผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ผิดเพี้ยน

Gemini แนะนำให้เติมกาวลงในพิซซ่า หรือแนะนำให้ผู้ใช้ควรกินหินเล็กๆ วันละก้อน เพราะ “หินเป็นแหล่งแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญ”

หลังจากนั้น Google ถอน Gemini ออกชั่วคราว และ มูลค่าหุ้นของ Alphabet ลดฮวบลงไป 70 พันล้านดอลลาร์ในวันเดียว Google เริ่มเพิ่มการใช้จ่าย AI มากขึ้น

ในการประชุมผลประกอบการไตรมาส 1 ของ Alphabet พวกเขาประกาศเพิ่มการใช้จ่าย AI 43% เป็น 17 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ไปที่เซิร์ฟเวอร์และศูนย์ข้อมูล

พวกเขายังลงทุนรวม 75 พันล้านดอลลาร์ตลอดปี 2025 แต่ยังมีปัญหาใหญ่ที่ Google ต้องเผชิญ ไม่ชัดเจนว่า Google และ AI จะทำงานร่วมกันได้จริงๆ หรือไม่

สาเหตุสำคัญก็คือรายได้ส่วนใหญ่ของ Google มาจากโฆษณา ในปี 2023 โฆษณาคิดเป็นกว่า 76% ของรายได้ Google ซึ่งมากกว่า 230 พันล้านดอลลาร์

ส่วนใหญ่มาจากการค้นหา แต่หาก Google ผลักดัน Gemini หมายความว่าผู้คนจะไม่คลิกโฆษณา และตอนนี้ผู้ลงโฆษณาเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นใน Google ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Raptive ซึ่งช่วยขายโฆษณาดิจิทัลให้กับเว็บไซต์ของครีเอเตอร์อิสระ 5,000 คน ประเมินว่า AI Overviews อาจทำให้การเข้าชมลดลงถึง 25% และทำให้อุตสาหกรรมสูญเสียรายได้จากโฆษณา 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ที่น่าขันคือ Google เป็นผู้เริ่มต้นการแข่งขัน AI ตั้งแต่แรก วันที่ 12 มิถุนายน 2017 นักวิจัย Google เผยแพร่บทความที่เปลี่ยนโลก

“Attention Is All You Need” บทความนี้ถูกอ้างอิงมากกว่า 173,000 ครั้ง และอยู่ในอันดับสิบของบทความที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในศตวรรษที่ 21

นี่คือรากฐานสำคัญของ Generative AI เช่น ChatGPT แต่ ChatGPT ไม่ได้เปิดตัวจนกระทั่งปลายปี 2022 ในขณะที่ Google มีเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยอยู่ในมือแล้วในตอนนั้น

และพวกเขามีมันก่อนใครๆ แต่ Google ไม่สนใจ เพราะเมื่อ Sundar Pichai ได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ในปี 2015 เขาโฟกัสในการลดขนาดลงการลงทุนใหญ่ๆ ของพวกเขาในเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Google Glass, Project Loon, Google Fiber, Google Wave

เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ไห้ผลตอบแทน Google จึงกลับไปมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการค้นหาเป็นหลัก

Aidan Gomez ผู้ร่วมเขียนบทความที่เปลี่ยนโลกนั้นรู้ว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่ไปไหนที่ Google “ในบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Google คุณไม่สามารถสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ได้อย่างอิสระจริงๆ โดยพื้นฐานแล้ว โครงสร้างองค์กรไม่สนับสนุนมัน ดังนั้นคุณต้องไปสร้างมันเอง” ดังนั้นเขาจึงลาออก แต่ไม่ใช่แค่เขาคนเดียว

จากผู้ร่วมเขียนทั้งแปดคน เจ็ดคนออกจาก Google หกคนก่อตั้งสตาร์ทอัพ และหนึ่งคนเข้าร่วม OpenAI ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจาก Sundar Pichai เข้ามาและกล่าวว่า Google “จะเปลี่ยนจากโลกที่มือถือเป็นหลักไปสู่โลกที่ AI เป็นหลัก” ดูเหมือนว่าพวกเขาทำแบบนี้เมื่อถูกบังคับเท่านั้น

การโฟกัสของ Google ในการรักษาการผูกขาดกลับกลายเป็นสิ่งที่กัดกร่อนการผูกขาดนั้นเอง ตอนนี้พวกเขาเริ่มสูญเสียการผูกขาด

สถานการณ์ในวันนี้อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหญ่ คำถามคือ Google จะปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตนเองได้โดยไม่ทำร้ายรายได้ของตนเองหรือไม่

Google อยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันซึ่งหลายบริษัทเคยเผชิญมาก่อน และโดยทั่วไปแล้ว มันไม่จบลงด้วยดี

สิ่งที่เราเห็นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 การที่เทคโนโลยี AI เข้ามาท้าทายอำนาจของ Google

ไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขันทางธุรกิจธรรมดา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของวิธีที่เราเข้าถึงข้อมูล เราอาจกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

จากยุคของการค้นหาไปสู่ยุคของการสนทนากับข้อมูล จากการพิมพ์คำหลักไปสู่การถามคำถามที่ซับซ้อน จากการได้รับลิงก์หลายร้อยอันไปสู่การได้รับคำตอบที่ตรงจุด

Google ยังคงเป็นผู้นำในตลาดค้นหาอยู่ แต่นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี พวกเขาต้องเผชิญกับการแข่งขันจริงจัง และการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มาจากเครื่องมือค้นหาตัวใหม่ แต่มาจากแนวคิดใหม่ทั้งหมดในการเข้าถึงข้อมูล

อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ วิธีที่เราค้นหาและเข้าถึงข้อมูลกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจขีดชะตาการใช้อินเทอร์เน็ตของเราในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

ตอนนี้ Perplexity AI กำลังพุ่งแรงขึ้นมาอย่างน่าตกใจ มีผู้ใช้งานมากกว่า 15 ล้านคนต่อเดือนและเติบโต 50% ในช่วงสามเดือน

บริษัทมีมูลค่าถึง 9 พันล้านดอลลาร์แล้ว และได้รับเงินลงทุน 915 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนดังอย่าง NVIDIA, Jeff Bezos และ SoftBank

สิ่งที่น่าสนใจคือ Perplexity ไม่ได้แค่ทำการค้นหาธรรมดา แต่ยังสามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนได้อย่างเข้าท่า พร้อมอ้างอิงแหล่งที่มาที่ชัดเจน ผู้ใช้ใช้เวลาเฉลี่ย 6 นาที 26 วินาทีต่อครั้ง ซึ่งยาวกว่าการใช้ Google มาก แสดงว่าผู้คนพอใจกับคำตอบที่ได้รับ

ChatGPT ก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาได้เปิดตัว Search feature ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านข้อความต่อวัน และมีผู้ใช้งาน 400 ล้านคนต่อสัปดาห์

แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ Apple ที่ Eddy Cue บอกว่าการค้นหาใน Safari ลดลงครั้งแรกในรอบ 22 ปี เพราะผู้คนเริ่มใช้ AI แทน “นั่นไม่เคยเกิดขึ้นมาใน 22 ปี” Cue กล่าวในศาล “ผู้คนกำลังใช้ AI”

Apple กำลังพิจารณาเพิ่ม AI search engines อย่าง OpenAI, Perplexity และ Anthropic เข้าไปใน Safari แม้ว่าจะยังไม่เป็น default ก็ตาม

การที่ Apple พูดแบบนี้หมายความว่าอะไร หมายความว่าผู้ใช้ iPhone หลายร้อยล้านคนอาจจะได้ลองใช้ AI search โดยตรง

และเมื่อพวกเขาลองแล้วและชอบ พวกเขาอาจจะไม่กลับไปใช้ Google อีกเลย สำหรับ Google นี่เป็นฝันร้ายที่สุด

เพราะพวกเขาจ่ายเงิน 20 พันล้านดอลลาร์ต่อปีให้ Apple เพื่อให้ Google เป็น default search engine บน iPhone ถ้า Apple เปลี่ยนใจ Google ก็จบเห่

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ Google กำลังติดกับดักของตัวเอง พวกเขาต้องใช้ AI เพื่อแข่งขัน แต่ AI กลับทำลายโมเดลธุรกิจหลักของพวกเขา

เมื่อ AI ตอบคำถามได้เลย ผู้คนจะไม่คลิกโฆษณา และโฆษณาคือเครื่องจักรทำเงินของ Google ถึง 76% ของรายได้

นี่เป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า “Innovator’s Dilemma” เทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่ากลับทำลายธุรกิจเดิม และ Google ไม่รู้จะทำยังไง

บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งเคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อน Kodak กับกล้องดิจิทัล Nokia กับ smartphone Blockbuster กับ Netflix

พวกเขาทุกคนมีเทคโนโลยีใหม่ในมือ แต่กลัวว่าจะทำลายธุรกิจเดิม จนในที่สุดคู่แข่งมาทำแทน และสุดท้ายพวกเขาก็ถูกทำลายจนสิ้นซาก

Google จะเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ นั่นคือคำถามที่ทุกคนในวงการเทคกำลังถาม

ข้อดีของ AI search ก็มีเยอะ คุณไม่ต้องเสียเวลากับโฆษณาและ SEO spam คุณได้คำตอบที่ตรงจุดและมีการอ้างอิงแหล่งที่มาที่ชัดเจน

สามารถถามคำถามติดต่อกันได้ และ AI จะจำบริบทของคำถามก่อนหน้า ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง

แต่ AI search ก็มีจุดอ่อน บางครั้งให้ข้อมูลผิดหรือล้าสมัย อาจจะมี bias จากข้อมูลที่ใช้ในการเทรน และยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบ real-time ได้ดีเท่า Google

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ AI tools เหล่านี้กำลังเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว ทุกๆ เดือนมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมา

ขณะที่ Google ค่อนข้างหยุดนิ่งในด้านนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้ใช้

คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z เริ่มใช้ TikTok และ Instagram ในการค้นหาข้อมูลมากขึ้น พวกเขาชินกับการได้รับข้อมูลในรูปแบบที่สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย

นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงว่าการค้นหาแบบเก่าอาจจะไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้ว สำหรับนักการตลาดและเจ้าของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนี้หมายถึงการปรับกลยุทธ์ใหม่

การพึ่งพา Google SEO อย่างเดียวอาจจะไม่พอแล้ว ต้องเริ่มคิดถึงการทำ content ที่เหมาะกับ AI search และ platform อื่นๆ ด้วย

การที่ AI สามารถสรุปข้อมูลจากหลายแหล่งและตอบคำถามได้เลย อาจจะทำให้การเข้าชมเว็บไซต์ลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ เช่น การเป็น authoritative source ที่ AI ชอบอ้างอิง หรือการสร้าง content ที่ตอบคำถามเฉพาะเจาะจงและมีคุณภาพสูง

สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ และยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบแบบไหน Google อาจจะปรับตัวได้และยังคงเป็นผู้นำ หรือเราอาจจะเห็นการกระจายอำนาจในตลาดค้นหา ที่มีหลาย platform แข่งขันกัน ซึ่งอาจจะดีสำหรับผู้ใช้ในระยะยาว

ที่สำคัญคือเราต้องเรียนรู้และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือใหม่ๆ หรือการปรับวิธีคิดเรื่องการหาข้อมูล

อนาคตของการค้นหาข้อมูลอาจจะไม่ใช่การพิมพ์คำหลักในกล่องค้นหา แต่เป็นการสนทนากับ AI ที่เข้าใจบริบทและให้คำตอบที่เป็นประโยชน์

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในข้ามคืน แต่เมื่อมันเกิดขึ้น และมันจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราใช้อินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล

References: [searchengineland, contentgrip, visualcapitalist, pymnts, sparktoro, tuta, reuters, bloomberg, cnbc, firstpagesage, businessofapps, demandsage, wikipedia]


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube