ภาษี e-Service x แพลตฟอร์ม กับนโยบายรัฐใหม่ที่กำลังรีดภาษีที่ควรจ่ายจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างชาติ

ต้องบอกว่าเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมซักทีนะครับสำหรับ ภาษี e-Service ใหม่ ที่ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการให้แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีทั้งหลายที่คิดจะดำเนินการในประเทศไทย ต้องมีการเสียภาษีให้ถูกต้อง

ความจริงเรื่องราวเหล่านี้ ต้องบอกว่าควรเป็นสิ่งที่ทำตั้งแต่แรก เพราะมาเก็บทีหลัง ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อหลากหลายวงการ อย่างที่เราได้เห็นล่าสุดกับเหล่าฟรีแลนซ์ที่กำลังมีปัญหากับระบบชำระเงินของ Paypal ซึ่งมันเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาษี e-Service ของรัฐบาล

หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ตอนนี้ก็ต้องมีการเสียภาษี อย่างในแพลตฟอร์ม Social Media ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ก็ต้องเริ่มจ่ายภาษีจากค่า ads ที่ใช้ยิงโฆษณา ซึ่งแน่นอนว่าแพลตฟอร์มก็ผลักภาระมาเก็บกับผู้ลงโฆษณานั่นเอง ทำให้ต้นทุนในการทำการตลาดสูงขึ้น

แล้วการหาทางเลือกอื่นจะรอดหรือไม่?

ซึ่งหลังจากข่าวใหญ่ เราจะเห็นได้ว่ามีข้อมูลมากมาย ที่แนะนำให้เหล่าฟรีแลนซ์ทำ เพื่อหาทางเลือกการชำระเงินออนไลน์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Paypal

ทั้งตัวเลือกอย่าง TransferWise , Payoneer หรือ แม้กระทั่งบริการใหม่ที่กำลังจะมาเปิดในประเทศไทยอย่าง Stripe ซึ่งเป็นบริการยอดนิยมไม่แพ้ Paypal ในโลกตะวันตก

แต่เท่าที่ผมตามข้อมูลจากเรื่องภาษี e-Service ผมมองว่าสุดท้ายทุกแพลตฟอร์มที่ต้องการมาทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น ก็ต้องทำตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งช่วงแรกรัฐคงจัดการที่แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่คนไทยใช้เยอะ ๆ ก่อนอย่างที่เป็นข่าวกัน ทั้ง Facebook หรือ Paypal

สอดคล้องกับนโยบายหลาย ๆ ประเทศนะครับ ที่ตอนนี้เริ่มตามเหล่าบรรดาแพลตฟอร์มทั้งหลายทันเสียที หลังจากใช้ช่องโหว่ของกฏหมายมานานแสนนาน สร้างกำไรให้กับพวกเขาได้อย่างมหาศาล โดยเสียภาษีให้กับประเทศต่างๆ ที่พวกเขาเข้าไปทำธุรกิจเพียงน้อยนิดเท่านั้น

สร้างความเป็นธรรมให้กับแพลตฟอร์มของไทย

ผมว่าข้อดีของการจัดเก็บภาษีเหล่านี้นั้น อย่างแรกคงเป็นเรื่องการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งมันหลุดรอดสายตาไปนานมากแล้ว และเม็ดเงินมันก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากการเติบโตของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มาทำธุรกิจในประเทศไทย

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เหล่า startup หรือแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทยแท้ ๆ ประกอบธุรกิจในไทยมาตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าพวกเขาจ่ายภาษีเหล่านี้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาตั้งแต่แรกตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ

ซึ่งการที่แพลตฟอร์มต่างชาติหลีกเลี่ยงภาษีเหล่านี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างนึงในการทำธุรกิจของพวกเขาอย่างแน่นอน ซึ่งไม่เป็นธรรมเลยกับแพลตฟอร์มของไทยที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง

ตอนนี้ในไทยเองก็เริ่มมีหลากหลายแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นและ เริ่มที่จะสามารถสู้กับต่างชาติได้บ้างแล้ว ตัวอย่างใน Delivery Service เองที่ของไทยเรามีทั้ง Lineman และ Robinhood

หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอีกทางเลือกหนึ่งอย่าง blockdit ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเติบโตจนมีผู้ใช้งานระดับหลักล้านคน ซึ่งก็เป็นฐานขนาดใหญ่เลยทีเดียว หรือ อีกหลากหลาย startup ที่กำลังสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยพวกเขาก็ต้องเสียภาษีถูกต้องตามกฏหมายเช่นเดียวกัน

บทสรุป

ส่วนตัวผมเองค่อนข้างเห็นด้วยกับประเด็นเรื่องการเก็บภาษีที่ถูกต้อง ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ควรจะจ่ายและไม่ควรละเว้นให้กับแพลตฟอร์มใด ๆ ซึ่งเป็นเทรนด์เดียวกันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่หลายๆ รัฐเริ่มร่วมมือกันจัดการกับแพลตฟอร์มโดยเฉพาะแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่ใช้เทคนิคต่าง ๆ นา ๆ เพื่อเลี่ยงภาษีมาอย่างยาวนาน

ซึ่งบางครั้งสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็มักจะหาช่องโหว่จากกฏหมายเหล่านี้ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Airbnb กับธุรกิจเช่าที่พัก ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจคอนโดปล่อยเช่าที่บางคนต้องการซื้อมาเพื่ออยู่อาศัยแต่ต้องเจอเพื่อนบ้านมากหน้าหลายตาจากผู้เช่า Airbnb

Uber เองที่เริ่มต้นด้วยการขนส่งรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งมันก็ไม่ได้ถูกต้องตั้้งแต่แรกเพราะมันมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีการจ่ายภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งบริการสุดฮ็อตในตอนนี้อย่าง Delivery Service

ถ้าคุณมองลงไปในท้องถนนในทุกวันนี้ ที่มี Rider อยู่เต็มไปหมดและขับขี่ด้วยความอันตรายเนื่องจากต้องทำรอบเพื่อสร้างรายได้สูงสุด และในขณะขับขี่ก็ต้องมอง GPS เพื่อหาสถานที่สำหรับส่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนนให้กับผู้ขับขี่อื่น ๆ บนท้องถนน ซึ่งผมมองว่าสุดท้ายก็ต้องมีกฏหมายมาจัดการและควบคุม Rider เหล่านี้ ไม่ให้มีมากจนเกินไปแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำขึ้นมา บางครั้งมันอาจจะไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่ที่ล้ำเลิศอะไรเลย แต่พวกเขาอาศัยช่องโหว่จากกฏหมายเหมือนเรื่องของภาษีที่มันยังล้าหลังและตามไปไม่ถึง และสามารถทำเงินให้กับพวกเขาได้อย่างมหาศาลนั่นเองครับผม


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube