Digital Music War ตอนที่ 2 : The Secret Source

เมื่อจ๊อบส์ ได้เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ของ apple คือ Digital Hub เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ตอนนี้มันก็ถึงเวลาที่ Apple ต้องสร้างอะไรบางอย่าง เพื่อให้ Mac สามารถขายได้มากขึ้น เพราะสถานการณ์ของ Apple กำลังดำดิ่งจากยอดขายของเครื่อง Mac ที่ลดถอยลงไปเรื่อย  ๆ

ในต้นปี 2001 เหล่าผู้บริหารก็ได้ระดมความคิดกันว่า ตอนนี้ต้องทำอะไร ผู้คนต้องการอะไรเพื่อตอบโจทย์ชีวิตเขาในช่วงเวลานั้น และที่สำคัญมันต้องเป็นอุปกรณ์พิเศษ ที่สามารถดึงดูดให้คนมาใช้งาน Mac เพิ่มมากขึ้น โดยต้องติดกับ Platform และต้องไม่ทำงานบน Windows และจะกลายมาเป็น Ecosystem ของ Mac นั่นเอง

ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2001 ในงานแสดง Macworld ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น รูบินสไตน์ผู้บริหารด้าน Hardware ของ Apple ได้พบกับวิศวกรของโตชิบา 

ซึ่ง วิศวกรของโตชิบา ได้นำเอาฮาร์ดไดร์ฟ ขนาดจิ๋ว ให้ รูบินสไตน์ดู ซึ่งเขามองออกทันทีว่าเจ้า ฮาร์ดไดร์ฟ จิ๋ว ตัวนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างเครื่องเล่นเพลงได้ โดยทำการเชื่อมกับ Mac และทำให้ Digital Hub เกิดประโยชน์สูงสุด

ฮาร์ดไดร์ฟขนาดจิ๋วของ โตชิบา
ฮาร์ดไดร์ฟขนาดจิ๋วของ โตชิบา

เขาจึงรีบไปพบจ๊อบส์ เพื่อ ของบในการสร้างอุปกรณ์เสริมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผู้บริโภคที่ยิ่งใหญ่ชิ้นแรกให้กับ Apple 

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคู่แข่งในตลาดในขณะนั้น ในตลาดเครื่องเล่น MP3 แบบพกพานั้น มีแต่คู่แข่งที่ไม่เอาไหน สินค้าที่มีในตลาดในขณะนั้นมันดูน่าเกลียดไปหมด ไม่ใหญ่เทอะทะ ก็รูปร่างประหลาดแบบสุด ๆ รวมถึงข้อจำกัดอีกมากมาในเรื่องของหน่วยความจำ

ความเชื่องช้าของการถ่ายโอนข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญอย่างนึง ซึ่งการที่จะถ่ายโอนข้อมูลขนาด 1 กิกะไบต์ในเวลานั้น ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง และฮาร์ดไดร์ฟ ขนาดใหญ่ก็สูบพลังของแบตเตอรี่จนน่าเกลียด ทำให้แบตหมดภายในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง

Apple หาวิธีแก้ปัญหาความเร็วในการถ่ายโอนโดยใช้เทคโนโลยี FireWire ที่ Apple พัฒนาขึ้นมาเอง 

FireWire เป็นซีเรียลพอร์ต ที่สามารถจะถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ไฟล์ วีดีโอ จากอุปกรณ์หนึ่ง ไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งด้วยความเร็วสูง ซึ่งในตอนนั้น ผู้ผลิตกล้องหลายรายในญี่ปุ่น เลือกจะนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ และ จ๊อบส์ นั้นก็ได้ตัดสินใจที่จะบรรจุ FireWire Port นี้ไปในเครื่อง iMac เวอร์ชั่น ที่จะออกตลาดในเดือน ตุลาคม ปี 1999

ซึ่งเทคโนโลยี FireWire นี่เอง ที่สามารถถ่ายโอนวีดีโอจากกล้องถ่ายภาพยนต์ดิจิตอล แบบมืออาชีพได้ และทำงานเร็วกว่า USB 1.1 ถึง 30 เท่า

FireWire เทคโนโลยีสำคัญในการสร้างเครื่องเล่น MP3 ของ Apple
FireWire เทคโนโลยีสำคัญในการสร้างเครื่องเล่น MP3 ของ Apple

รูบินสไตน์ หัวหน้าโครงการ iPod (อุปกรณ์เล่นเพลงพกพาที่ Apple กำลังจะสร้างขึ้น) ได้ทำงานอย่างเร่งด่วน โดยมีวิศวกรที่ชื่อ โทนี่ ฟาเดลล์ มาช่วย ซึ่งฟาเดลล์ นั้นได้เร่ขายความคิดเกี่ยวกับเครื่องเล่นเพลงแบบมือถือใน Silicon Valley มาทั่วแล้ว

ฟาเดลล์ นั้น เคยตั้งบริษัท ถึง 3 แห่งสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย มิชิแกน พอเรียนจบก็ได้เข้าไปทำงานที่ General Magic ผู้ผลิตอุปกรณ์อเล็กทรอนิกส์แบบพกพา แล้วย้ายข้ามห้วยไปยัง Philips บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้าน อิเล็กทรอนิค ระดับโลก

ฟาเดลล์ นั้นมีไอเดียอย่างแรงกล้า ที่จะทำเครื่องเล่นเพลงที่ดีกว่าเครื่องที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เขาเคยไปนำเสนอ idea ที่ RealNetwork , Sony และ Philips แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

และ Apple ได้ลงนามกับสุดยอดเทคโนโลยีลับ คือ ฮาร์ดไดร์ฟขนาดจิ๋วของโตชิบา เพื่อให้ได้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการใช้ฮาร์ดไดร์ฟดังกล่าว และไม่ให้ใครสามารถเลียนแบบได้นั่นเอง ถึงตอนนี้เราจะเห็นได้ว่า Apple ได้สุดยอดเทคโนโลยีทั้งสองไม่ว่าจะเป็น FireWire ที่ Apple เป็นเจ้าของเอง รวมถึง ฮาร์ดไดร์ฟ ขนาดจิ๋วจากโตชิบา ที่ตอนนั้นก็ยังไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร แต่ตอนนี้ Apple ได้เห็นเส้นทางที่จะกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับ Apple ต่อจากนี้ แล้ว Microsoft ที่ตอนนั้นยังแทบไม่สนใจตลาดด้านนี้เลยด้วยซ้ำ จะมาข้องเกี่ยวกับ ธุรกิจนี้ได้อย่างไร โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 3 : iPod was Born


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube