เมื่อ AI เข้ามาเปลี่ยนสนามรบ ยูเครนใช้ AI ต่อสู้กับรัสเซียอย่างไร

ความน่าสนใจของสงครามยุคใหม่ที่กำลังบังเกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ คงหลีกหนีไม่พ้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามาบทบาทมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเทคโนโลยีด้าน AI

เราได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเริ่มขึ้นในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อมานาน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การสู้รบในพม่าในตอนนี้ เรากำลังเห็นภาพโลกสงครามในอนาคตว่าผู้ที่มีกำลังทหารที่เยอะกว่าไม่ได้หมายถึงว่าจะชนะในการรบยุคใหม่เสมอไป

มันกลายเป็นว่าจุดชี้ขาดชี้เป็นชี้ตายของสงครามวัดกันด้วยเทคโนโลยีล้วน ๆ ที่ทำให้ทุกอย่างมันมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยใช้กำลังพลหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้องลง

ในช่วงก่อนที่ยูเครนจะโจมตีด้วยจรวดเข้าใส่สะพานอันโตนอฟสกี้ ซึ่งเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเคอร์ซอนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีปโร

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของยูเครนได้ศึกษารายงานพิเศษอย่างรอบคอบ ในช่วงฤดูร้อนของปี 2022 ในขณะที่รัสเซียพึ่งพาสะพานนี้เป็นอย่างมากในการเติมสเบียงและกองหนุนให้กับกำลังทหารฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนีปโร

สะพานอันโตนอฟสกี้ ซึ่งเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเคอร์ซอนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีปโร (CR:Structurae)
สะพานอันโตนอฟสกี้ ซึ่งเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเคอร์ซอนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีปโร (CR:Structurae)

โดยรายงานดังกล่าวนี้ศึกษาถึงสองเรื่องที่สำคัญก็คือ : การทำลายสะพานจะทำให้ทหารรัสเซียขวัญเสียหรือไม่ ? และที่สำคัญกว่านั้นรัฐบาลยูเครนจะทำอย่างไรเพื่อให้แผนการนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อขวัญและกำลังใจของศัตรูอย่างรัสเซีย ?

และนั่นคือวิธีที่ Sviatoslav Hnizdovsky ผู้ก่อตั้ง Open Minds Institute (OMI) ในกรุงเคียฟ อธิบายถึงงานวิจัยที่หน่วยงานของเขาได้ทำมา

พวกเขาใช้การประเมินสิ่งต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งอัลกอริธึมได้ทำการค้นหาข้อมูลจำวนมหาศาลในโลกโซเชียลมีเดียของรัสเซีย หรือแม้กระทั่งข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่การบริโภคแอลกอฮอล์และการเคลื่อนย้ายประชากรไปจนถึงการค้นหาบนโลกออนไลน์

AI จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของชาวรัสเซียต่อความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับทหารแนวหน้าของพวกเขา

ต้องบอกว่างานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญมาก ๆ ต่อยุทธศาสตร์การรบของยูเครน ซึ่งการโจมตีสะพานเคิร์ชที่เป็นเส้นทางลำเลียงทางบกเพียงเส้นทางเดียวระหว่างรัสเซียและไครเมีย

และสิ่งที่น่าสนใจก็คือเทคโนโลยีที่กำลัง hot hit อย่าง ChatGPT เองมันก็กำลังถูกใช้ในแวดวงสงครามแบบเต็มตัวเช่นเดียวกัน

ยูเครนซึ่งถ้าเทียบด้านสรรพกำลังทั้งทางอาวุธและกองกำลังทหารนั้นมีความเสียเปรียบรัสเซียอยู่มาก

พวกเขาจึงมองหาช่องทางการใช้ AI ในรูปแบบต่าง ๆ โดยทหารยูเครนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธได้กล่าวว่า ผู้ออกแบบโดรนมักจะใช้ ChatGPT เป็นจุดเริ่มต้นในการหาแนวคิด เช่น เทคนิคใหม่ ๆ เพื่อลดศักยภาพของทางฝั่งรัสเซีย

การใช้ AI อีกรูปแบบหนึ่งของทหารยูเครนคือการกำหนดเป้าหมาย ในขณะที่เหล่าทหารและบล็อกเกอร์ด้านทหารมีความระมัดระวังมากขึ้นในการโพสต์สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับสงคราม

การใช้ ChatGPT กับโดรนเพื่ออกแบบวิธีใหม่ ๆ (CR:Analytic Insight)
การใช้ ChatGPT กับโดรนเพื่ออกแบบวิธีใหม่ ๆ (CR:Analytic Insight)

และด้วยการที่มีการนำเข้าภาพและข้อความจำนวนมากผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ AI สามารถค้นพบเบาะแสที่อาจเป็นไปได้ และนำมาวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งของระบบอาวุธและกองกำลังของรัสเซีย

Molfar บริษัทด้านข่าวกรอง ซึ่งมีสำนักงานในเมืองดนีโปรและกรุงเคียฟสามารถค้นพบเป้าหมายทางการทหาร 2-3 เป้าหมายต่อวัน และส่งข่าวสารไปให้กองทัพยูเครนอย่างรวดเร็ว ทำให้บางเป้าหมายได้ถูกทำลายลงไป

การระบุเป้าหมายยังได้รับการช่วยเหลือจาก AI ในรูปแบบอื่น ๆ SemanticForce บริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเคียฟและเมืองเทอร์โนพิล พัฒนาแบบจำลองที่สามารถตรวจสอบข้อความและรูปภาพออนไลน์ คล้ายกับบริการด้าน Social Listening

เดิมทีระบบดังกล่าวใช้สำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจเพื่อเฝ้าระวังและคอย monitor ความรู้สึกของสาธารณะชนที่มีต่อแบรนด์ของตน

ในขณะที่ Molfar ใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อกำหนดพื้นที่ที่กำลังทหารของรัสเซียน่าจะมีขวัญและกำลังใจตกต่ำ ซึ่ง AI จะทำการค้นหาเบาะแสต่าง ๆ จากภาพซึ่งรวมถึงจากกล้องของโดรนและจากข้อความของทหารรัสเซียที่ทำการบ่นบนโซเชียลมีเดีย

Molfar ใช้ AI ของ SemanticForce เพื่อคอย monitor เกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัครรัสเซียที่คอยระดมทุนและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับแนวหน้าของสงครามที่กำลังขาดแคลน

บางครั้งทีมวิเคราะห์ก็ใช้ซอฟต์แวร์ที่ปลอมแปลงเสียงเพื่อโทรหากลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ และแสร้งเป็นคนรัสเซียที่ต้องการบริจาค

มีการใช้ AI ของบริษัทจากอเมริกาอย่าง Palantir ของ Peter Thiel ที่เป็นการวิเคราะห์ข่าวกรองเชิงลึก ที่สามารถหาความเชื่อมโยงจากชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น ข้อมูลของชายผู้หย่าร้างที่มีหนี้สิน และเสี่ยงที่จะเสียบ้านและสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร เขาได้เปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ และถูกพบว่าสัญญาณโทรศัพท์อยู่ใกล้แหล่งที่มีการโจมตีด้วยจรวดในภายหลัง

Palantir ของ Peter Thiel นักลงทุนชื่อดังของ silicon valley (CR:WSJ)
Palantir ของ Peter Thiel นักลงทุนชื่อดังของ silicon valley (CR:WSJ)

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ AI จะทำการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม หากชายคนนั้นมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย และเริ่มรับสายจากบุคคลที่มี Profile ที่สูงกว่า AI ก็จะเพิ่มระดับความเสี่ยงให้กับชายคนดังกล่าวทันที

ต้องบอกว่าการใช้เทคโนโลยี AI ของยูเครนนั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง Volodymyr Zelensky ประธานาธิบดีของยูเครนได้สั่งลุยให้มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในด้านความมั่นคงแห่งชาติในเดือนพฤศจิกายน 2019

ผลที่ได้คือ แบบจำลองการรบที่มีกลยุทธ์ ซึ่งถูกสร้างและใช้งานโดยกลุ่มผู้นำทางด้านการทหารตัวจริงเสียงจริงผ่านทางศูนย์ที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการประเมินภัยคุกคามแห่งชาติ (COTA) ซึ่งจะได้รับข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ สถิติ ภาพถ่าย และวีดีโอ ซึ่งข้อมูลบางส่วนอาจจะได้จากการโจรกรรมข้อมูลมา

ผู้ที่ควบคุมศูนย์ COTA จะเรียกแบบจำลองทางข้อมูลเหล่านี้ว่า “constructor” และยังได้รับแบบจำลองจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ซอฟต์แวร์ของ Plantir และ Delta ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในสนามรบที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการเคลื่อนทัพของกองทัพยูเครน

มันทำกองทัพยูเครนมองเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนของสงคราม ซึ่ง ข้อมูลจาก COTA นั้นจะให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในประเด็นที่อาจมีความอ่อนไหว เช่น เรื่องการระดมพลเพิ่มเติม

Zelensky ประธานาธิบดีของยูเครนได้รับคำแนะนำจาก COTA มากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นวันที่รัสเซียบุกโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ

ความพยายามด้าน AI ของยูเครนได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในสังคมที่มีการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการสงคราม เหล่าพลเมืองพร้อมใจกันอัปโหลดภาพที่มีค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศของพวกเขาลงในแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Diia หรือฟากฝั่งธุรกิจเองก็มีการส่งข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปให้กับ Mantis Analytics บริษัทในเมืองลวิฟ

สุดท้ายก็ต้องมาดูผลลัพธ์เมื่อตอนจบสงครามว่าการใช้เทคโนโลยีทั้งหมดเหล่านี้ที่ยูเครนกำลังผลักดันสงครามยุคใหม่ มันจะมีประสิทธิภาพเหนือรูปแบบทางการทหารเก่า ๆ ได้จริงแท้แค่ไหน

เพราะมีข้อโต้แย้งจากบางหน่วยงานเช่น Evan Platt จาก Zero Line องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงเคียฟที่ทำการจัดหายุทโธปกรณ์ให้กับเหล่าทหารเช่นเดียวกัน และใช้เวลาอยู่แนวหน้าเพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการใช้ AI ช่วยเหลือในการรบครั้งนี้

เขาอธิบายการใช้ AI ของยูเครนว่าเหมือนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยจุดประกายความหวังให้กับยูเครนแม้จะดูมีสรรพกำลังที่ห่างชั้นจากรัสเซียก็ตาม แต่ก็มีข้อกังวลบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันเทคโนโลยี AI มากจนเกินไปอาจทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรด้านอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะคุ้มค่ากว่าถูกตัดทิ้งไป

ความเชื่อมั่นมากเกินไปใน AI ก็ถือเป็นความเสี่ยง และแบบจำลองที่ได้จากการประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI บางอย่างนั้นให้ข้อมูลที่หลอกลวงอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะส่งผลในแง่ลบต่อประสิทธิภาพการรบของยูเครนได้เช่นเดียวกัน

References :
https://time.com/6691662/ai-ukraine-war-palantir/
https://www.economist.com/science-and-technology/2024/04/08/how-ukraine-is-using-ai-to-fight-russia
https://www.globalgovernance.eu/publications/how-ukraine-uses-ai-to-fight-russian-information-operations

Zynga ผู้สร้าง Farmville กับเส้นทางที่เจิดจรัสสู่ดาวอับแสงแห่งวงการสตาร์ทอัพ

สำหรับผู้ที่เล่น facebook ตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มโด่งดังนั้นคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักกับ zynga บริษัทที่ทำเกมบน facebook ชื่อดังอย่าง farmville ซึ่งถือว่าเป็นเกมบน social network ที่ดังเอามาก ๆ ในยุคนั้นที่คนติดกันงอมแงมซึ่งเราจะเห็น notification ที่เกี่ยวเกมนี้เด้งมาตลอด

เพียงไม่กี่ปีสถานการณ์นั้นก็กลับพลิกผันไปอย่างสิ้นเชิง บริษัทที่ถูกตีมูลค่ากว่าหลายพันล้านเหรียญอย่าง zynga กลายเป็นแทบจะไม่มีผู้เล่น มันเกิดขึ้นได้อย่างไรเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่ว่ากันว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงและดับแสงลงไปภายในเวลาไม่กี่ปี

Mark Pincus เป็นผู้ก่อตั้งและผู้สร้างบริษัท zynga ให้เป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองของบริษัทเทคโนโลยี โดยในช่วงก่อนหน้านั้น Pincus เรียนจบ MBA จาก harvard business school ซึ่งถือเป็นโรงเรียนธุรกิจชื่อดังระดับโลกที่บ่มเพราะนักธุรกิจและผู้บริหารบริษัทชื่อดังมากมายทั่วโลก

Mark Pincus ผู้ก่อตั้ง Zynga (CR: The Mecury News)
Mark Pincus ผู้ก่อตั้ง Zynga (CR: The Mecury News)

Pincus นั้นจะแตกต่างจาก founder รุ่นใหม่ ๆ พอสมควรเนื่องจากมาดังตอนที่ถือว่าค่อนข้างอายุมากพอสมควร คือผ่านโลกของการทำงานมาระดับสิบปีแล้วถึงจะออกมาทำธุรกิจด้าน computer

โดยเริ่มแรกนั้นเขาได้สร้างเว็บ Freeloader  ซึ่งในยุคนั้นก็ถือว่าเป็น web service ที่ดังมาก ๆ เว็บหนึ่งก่อนที่จะขายออกไปทำเงินได้มากกว่า 30 ล้านเหรียญซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น

แทนที่จะเกษียณตัวเองอย่างสุขสบาย mark pincus ก็ได้ทำการสร้างบริการออนไลน์ใหม่คือ support .com ไว้สำหรับช่วยเหลือด้าน computer สำหรับบุคคลทั่วไปแบบออนไลน์ก่อนที่ social network จะเริ่มเกิดมาในยุคของ friendster หรือ myspace ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ facebook ก็กำลังตั้งไข่พอดี

Pincus นั้นได้สร้าง social network ขึ้นมาตัวหนึ่งชื่อ tribe แต่ไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่เลยทำการขายให้กับบริษัทด้านเน็ตเวิร์กชื่อดังอย่าง cisco

จนเมื่อ facebook ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มมีกระแสที่ร้อนแรง เนื่องจากมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ facebook ในช่วงนั้น ตัว pincus เองนั้นก็ชอบเล่นเกมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงได้เริ่มคิดหาไอเดียในการสร้างเกมบนแพลตฟอร์ม facebook ขึ้นมา

โดยเกมแรกที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม facebook  คือ เกมเล่นไพ่ texas poker ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกมแรก ๆ บน facebook และเนื่องจากมีการสร้างฐานอยู่บนแพลตฟอร์มของ facebook ทำให้มีส่วนประกอบที่สำคัญในเรื่องของ social ทำให้คนสามารถ communicate ในเกมผ่าน facebook กันได้ง่ายขึ้น

Texus Poker เกมส์แรก ๆ บน facebook
Texas Poker เกมส์แรก ๆ บน facebook (CR:Mashable)

ในช่วงแรก ๆ นั้นเกมบน facebook ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฉุดกระแส facebook ให้ยิ่งดังขึ้นไปอีก เนื่องจากการที่จะมาเล่นเกมกับเพื่อนได้ในยุคนั้น ก็ต้องเป็นสมาชิกของ facebook ก่อน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนเสริมกันระหว่าง zynga กับ facebook ที่ทำให้เติบโตไปด้วยกันทั้งคู่

zynga มาโด่งดังที่สุดตอนที่ปล่อยเกมอย่าง farmville ออกมา ทำให้มีผู้เล่นหลักหลายสิบล้านคน และเริ่มเกิด business model ใหม่ในยุคนั้นคือมีการขาย item ภายในเกม โดยก่อนหน้านี้ใช้รูปแบบการขายโฆษณาเพียงเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการเกมในขณะนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเกมส่วนใหญ่นั้นจะแจก free แต่จะไปเน้น in-app purchase แทนซึ่งทำรายได้มากกว่าโมเดลการขายเกมแบบเดิม ๆ เป็นอย่างมาก

เกมส์อย่าง farmville โด่งดังมากในยุคแรก ๆ ของ facebook
เกมอย่าง farmville โด่งดังมากในยุคแรก ๆ ของ facebook (CR:Facebook)

ช่วงที่รุ่งเรื่องก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากเกมของ zynga เป็นเกมที่สามารถทำเลียนแบบได้ง่ายมาก เพราะเป็นเกมที่ไม่มีความซับซ้อนใด ๆ รวมถึงส่วนใหญ่ก็เป็นรูปแบบการพัฒนามาจากเกมในอดีตที่มีอยู่แล้วแทบจะทั้งสิ้น แค่นำมาเปลี่ยนในส่วนของ user interface

ทำให้ zynga เจอคู่แข่งมากมายในขณะนั้นและมีการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ของเกมทำให้สถานการณ์ของ zynga ตกอยู่ในที่นั่งลำบากและสุดท้ายก็ทำให้มูลค่ากิจการของ zynga ตกลงอย่างฮวบฮาบ

เรื่องนี้เป็น case study ที่น่าสนใจสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่โตอย่างรวดเร็ว จนลืมพื้นฐานสำคัญของตัวแพลตฟอร์มซึ่ง zynga นั้นมีการผูกอยู่กับแพลตฟอร์มของ facebook เป็นหลัก ทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำมาก ๆ ซึ่ง facebook จะบีบเมื่อไหร่ก็ได้คล้าย ๆ กับสิ่งที่ Apple ทำกับ App Store ของพวกเขาในทุกวันนี้

แต่มันก็มีเคสที่น่าสนใจที่บริษัทอย่าง LINE Corporation ของญี่ปุ่นนั้นโมเดลธุรกิจแทบจะเหมือนกับ zynga ในอดีต แต่เนื่องจาก LINE นั้นมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองทำให้สามารถต่อยอดและทำรายได้จากส่วนต่าง ๆ ได้มาก ๆ เช่น เกม , sticker , โฆษณา  ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการไม่พึ่งพาคนอื่นมาตั้งแต่แรกของ LINE

Line นั้นสร้าง Platform เกมส์ของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร
Line นั้นสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร (CR:Line)

ทำให้บริษัทขยายการเติบโตได้เรื่อย ๆ บนพื้นฐานของแพลตฟอร์มตัวเอง ต่างจาก zynga ที่ไม่ได้มีแพลตฟอร์มของตัวเองตั้งแต่แรก แต่เพิ่งมาคิดทำตอนหลังซึ่งมันก็สายไปเสียแล้วสำหรับบริษัทหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วงต้นของยุค social network อย่าง zynga

References :
https://successstory.com/people/mark-jonathan-pincus
https://www.wsj.com/articles/SB10001424052970204409004577158744071030040
https://en.wikipedia.org/wiki/Zynga
https://en.wikipedia.org/wiki/Mark_Pincus

Joseph Tsai ชายผู้ยอมทิ้งเงินเดือนหกหลักมารับเงินเพียงไม่กี่ร้อยหยวนเพื่อร่วมงานกับ Jack Ma

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1999 ในบ้านธรรมดาหลังหนึ่งในหมู่บ้านริมทะเลสาบเมืองหังโจวซึ่งเป็นบ้านของ แจ๊ค หม่า เป็นบ้านที่แสนธรรมดามีเนื้อที่เพียง 150 ตารางเมตรมีโต๊ะเก่า ๆ และเก้าอี้อยู่ไม่กี่ตัว

แต่วันนี้สำหรับพนักงานอาลีบาบาแล้วนั้น เป็นวันที่ควรแก่การรำลึก บ้านหลังนี้เป็นที่แห่งแรกที่ใช้ในการบ่มเพาะความฝันแรกเริ่มของอาลีบาบาและที่แห่งนี้ยังเคยเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจแรกของแจ็คอย่างไชน่าเพจเจส

สำหรับผู้ร่วมการประชุมครั้งนี้คือบรรดาผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา จนกลายเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากในภายหลังว่าคือ “เหล่า 18 อรหันต์” ซึ่งในวันนั้นไม่ได้มาทั้งหมดที่ประชุมมีเพียง 16 คน (ส่วนอีก 2 คนร่วมการประชุมผ่านทางโทรศัพท์)

เหล่า 18 อรหันต์ เหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่อายุยังน้อยซึ่งยังมีต้นทุนให้เสียได้ หากอาลีบาบามันไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่แจ็คหวังไว้ พวกเขาเหล่านี้ก็สามารถที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ทันอยู่

แจ็ค หม่ากับเหล่า 18 อรหันต์ ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา (CR : X)
แจ็ค หม่ากับเหล่า 18 อรหันต์ ผู้ร่วมก่อตั้งอาลีบาบา (CR : X)

แต่แจ็คค่อนข้างมั่นใจอย่างมากเพราะแนวโน้มของอินเทอร์เน็ตกำลังมาแรง แจ็คเปรียบเหมือนแม่ทัพที่กระตุ้นคนหนุ่มสาวเหล่านี้ให้สู้พร้อมที่จะบุกและตะลุยกับ อาลีบาบา โปรเจคใหม่ของแจ็ค

แต่ก็ต้องบอกว่าความฝันอันยิ่งใหญ่เพียงอย่างเดียวของแจ็คคงพาอาลีบาบาไปได้ไม่ถึงไหน สิ่งที่อาลีบาบาต้องการอย่างสูงในการพาบริษัทก้าวขึ้นไปอีกระดับให้ได้นั่นก็คือคือพนักงานระดับมืออาชีพและมีฝีมือ

แต่การจะที่จะหาพนักงานระดับ top มาร่วมงานกับอาลีบาบาได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก เพราะหลังจากเริ่มต้นบริษัทมาได้ไม่นานฐานะทางการเงินของอาลีบาบาในตอนตั้งต้นนั้นเงินทุนก็แทบร่อยหรอต้องอยู่กันอย่างประหยัดมากถึงมากที่สุดเพื่อประคองบริษัทให้อยู่ได้แม้เริ่มจะมีฐานลูกค้าเข้ามาบ้างแล้วก็ตาม

แต่แล้ววันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 1999 ชายที่ชื่อ โจเซฟ ไช่ ผู้ที่มีดีกรีเป็นถึงรองประธานและผู้จัดการระดับสูงของบริษัท Investor Asia Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Investor AB อันเป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย

โจเซฟเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากเยล และ MBA จากฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้ที่มากด้วย profile ชนิดที่บริษัทยักษ์ใหญ่แทบจะทั่วทั้งโลกต่างอยากได้ตัวไปร่วมงาน

โจเซฟกำลังทำงานให้บริษัท Investor AB ของสวีเดนซึ่งมีสาขาอยู่ในฮ่องกง ซึ่งเป็นสาขาที่รับผิดชอบกิจการลงทุนความเสี่ยงในเอเชียรวมถึงประเทศจีน ทำให้เขาสนใจเป็นพิเศษกับตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศจีนและมักได้ยินคนพูดถึง แจ็ค หม่า และ อาลีบาบา จากสื่อใหญ่ ๆ อยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้นเขาจึงหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะได้พบกับ แจ็ค หม่า สักครั้ง ซึ่งโอกาสนั้นก็มาถึงเขาอย่างรวดเร็ว ในต้นเดือน พฤษภาคม 1999 โจเซฟบินจากฮ่องกงไปหังโจวในฐานะตัวแทนของ Invest AB เพื่อไปหาช่องทางลงทุนในจีน ซึ่ง บริษัทที่ โจเซฟ นึกถึงแห่งแรกก็ต้องเป็นอาลีบาบาของ แจ็ค หม่า เป็นแน่แท้อยู่แล้ว

แต่ใครจะไปคาดคิดว่าการไปพบแจ็คในครั้งนี้นั้น จะเปลี่ยนแปลงอาชีพของเขาไปตลอดกาล คำพูดของแจ็คนั้นมีสเน่ห์ดึงดูดใจอย่างบอกไม่ถูก แจ็ค พร่ำพรรณนาถึงความฝันในอาลีบาบาของเขาให้ โจเซฟ ฟังเขาพูดถึงกับว่าเขาจะทำ B2B ที่ดีที่สุดในโลกและอาลีบาบาจะเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขาย online ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

หลังจากนั้น แจ็ค ก็พา โจเซฟ ไปตระเวนทัวร์บริษัทซึ่งทำให้ โจเซฟ ทึ่งกับภาพที่เขาเห็น ออฟฟิศที่มีคนนั่งเบียดเสียดกันอยู่ยี่สิบกว่าคนบนพื้นเต็มไปด้วยผ้าปูเตียงเก่า ๆ แต่ โจเซฟ ประทับใจฉากเหล่านี้มาก ๆ โดยเฉพาะบุคลิกและสเน่ห์ของแจ็คที่เปรียบเสมือนลูกพี่ใหญ่ของบริษัทที่หาใครเทียบได้ยาก

หลังจากผ่านการพบเจอกันครั้งแรก อีกราว ๆ ครึ่งเดือน โจเซฟ ก็ต้องกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาพาภรรยามาด้วย แจ๊ค พา โจเซฟ ไปพายเรือในทะเลสาบหังโจวที่ติดกับออฟฟิศหลักของอาลีบาบา

ในระหว่างพายเรือกันอย่างสนุกสนานเมื่อถึงกลางลำน้ำ โจเซฟ หยุดฝีพายลง แล้วหันไปกล่าวกับแจ็คที่อยู่ข้างหลังว่า “แจ็ค งานที่ฮ่องกงผมจะไม่ทำแล้ว ผมจะเข้าร่วมกับอาลีบาบา ทำงานกับคุณดีไหม”

โจเซฟ และ ภรรยา พยายามขอร้องให้แจ็ครับไปทำงานด้วย เพราะนี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ โจเซฟ ได้ร่วมงานกับบริษัทที่มีอนาคตที่สดใสอย่างอาลีบาบา โจเซฟ นั้นเชื่อในวิสัยทัศน์ของแจ็คอย่างแรงกล้ายอมทิ้งเงินเดือนหกหลักที่บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่มารับเงินเพียงไม่กี่ร้อยหยวนเพื่อร่วมงานกับแจ็ค

โจเซฟ ที่ต้องการร่วมงานกับ แจ็ค หม่า (CR:Forbes)
โจเซฟ ที่ต้องการร่วมงานกับ แจ็ค หม่า (CR:Forbes)

และ โจเซฟ นี่เองเป็นคนแรกในบรรดาอีกหลายคนที่จะตามที่ถูกมนต์สเน่ห์ของแจ็คดึงดูให้สยบ และยอมมาทำงานด้วยในอาลีบาบา

โดย โจเซฟ เข้าร่วมงานในตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer) ในเดือนมิถุนายน 1999 ซึ่งเพราะการเข้าร่วมของ โจเซฟ นี่เองที่เปลี่ยนแปลงอาลีบาบาให้กลายเป็นบริษัทที่มีระบบและ Go Inter ได้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน

และบทบาทสำคัญคือ โจเซฟ ทำหน้าที่ตั้งสำนักงานใหญ่อาลีบาบาที่ฮ่องกง รับผิดชอบด้านตลาดระหว่างประเทศ การขยายกิจการ และ การเงินของบริษัท ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก ๆ ที่ได้อดีตนักลงทุนมืออาชีพมาในช่วงเวลาเช่นนี้เพราะตอนนี้แจ็คกับอาลีบาบาก็ห่างจากเงินทุนไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

ตอนที่โจเซฟ เข้าร่วมงานกับอาลีบาบา ต้องบอกว่าตอนนั้นเงินทุนของอาลีบาบาแทบจะไม่เหลือหลอแล้ว อาลีบาบาต้องการเงินหมุนเวียนมาคลี่คลายสถานการณ์เช่นนี้ โจเซฟ ต้องทำหน้าที่เฟ้นหานักลงทุนให้มาลงทุนกับอาลีบาบา โดยเฉพาะที่ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอย่างที่ฮ่องกง

และด้วย connection ของ โจเซฟ นี่เองที่นำพา อาลีบาบา ไปพบกับโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งในสามยักษ์ใหญ่แห่งวงการลงทุนของโลก ซึ่งทิศทางการลงทุนของโกลด์แมน แซคส์นั้นจะมุ่งที่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเป็นหลัก แต่เมื่อถึงปี 1999 กระแสดอทคอมกำลังร้อนแรงบริษัทลงทุนเก่าแก่แห่งนี้จึงเกิดความอยากเข้ามาเสี่ยงมากขึ้นบ้าง 

ซึ่งเมื่อว่ากันอย่างเป็นธรรมแล้วนั้น เมื่อเทียบกับบริษัทการลงทุนอื่น ๆ ที่แจ็คกับ โจเซฟ กำลังเจรจาอยู่นั้น เงื่อนไขของโกลด์แมน แซคส์โหดกว่ามาก ๆ แต่ในฐานะภูมิหลังความเป็นอินเตอร์ของโกลด์แมน แซคส์ การที่สามารถดึงมาเป็นผู้ถือหุ้นได้นั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในระยะยาวของอาลีบาบามากกว่าบริษัทลงทุนอื่น ๆ 

ซึ่งกองทุน Angel Fund ของโกลด์แมน แซคส์ หลักการสำคัญหนึ่งที่บรรดาผู้ลงทุนต้องเคารพคือ การที่จะไม่ก้าวก่ายการบริหารของอาลีบาบา นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แจ็คต้องการ ทำให้แจ็คสามารถนำพาทีมงานของเขาได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ถูกแทรกแซงจากนักลงทุนทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับเงื่อนไขและยินดีร่วมมือกันในที่สุด

โกลด์แมน แซคส์ ที่เป็นกลุ่มทุนแรก ๆ ให้กับอาลีบาบา (CR:Fx News Group)
โกลด์แมน แซคส์ ที่เป็นกลุ่มทุนแรก ๆ ให้กับอาลีบาบา (CR:Fx News Group)

ในเดือนตุลาคม 1999 กลุ่มทุนซึ่งนำโดยโกลด์แมน แซคส์ ร่วมด้วย Fidelity Investment Group , Invest AB ตลอดจนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงค์โปร์ ก็ร่วมกันลงทุนในอาลีบาบาด้วยเงินก้อนแรกเป็นจำนวนห้าล้านเหรียญสหรัฐซึ่งนี่ถือเป็นกองทุน Angle Fund ก้อนแรกในประวัติศาสตร์ของอาลีบาบา

การที่อาลีบาบาได้ขุนพลระดับพระกาฬอย่าง โจเซฟ ไช่ ผู้ซึ่งมากดีกรีความสามารถที่ยอมสวามิภักดิ์ให้กับแจ็คแต่โดยดี ด้วยมนต์สเน่ห์ทางคำพูดของแจ็ค

แม่ทัพใหญ่เมื่อได้ขุนพลชั้นดี ก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายทางอุโมงค์กับอาลีบาบา โดยเฉพาะเงินทุนก้อนแรกที่สำคัญที่สุดที่จะพาอาลีบาบาก้าวข้ามจากบริษัทเล็ก ๆ ในหังโจว ให้ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีโลกได้สำเร็จอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Alibaba : The House That Jack Ma Built by Duncan Clark
หนังสือ ชีวประวัติ แจ็ค หม่า มีชีวิตอยู่เพื่อสะท้านโลก
ผู้เขียน หลิวซื่ออิง
ผู้แปล ชาญ ธนประกอบ
https://en.wikipedia.org/wiki/Joseph_Tsai

The PodFather กับวลี “อีก 10 ปีจากนี้ไป Apple จะกลายเป็นบริษัทเพลง ไม่ใช่บริษัทคอมพิวเตอร์”

ถ้าโลกนี้ไม่มีคนที่ชื่อ โทนี่ ฟาเดลล์ มันก็ไม่อาจจะทำให้ สตีฟ จ็อบส์ สามารถพลิกฟื้น Apple กลับมาได้สำเร็จ โปรแกรมเมอร์หนุ่มมาดกร่าง หน้าตาและการแต่งตัวออกไปทางแนวไซเบอร์พังค์ เป็นคนมีเสน่ห์ที่รอยยิ้ม และมีหัวคิดแบบเจ้าของกิจการ และที่สำคัญมีความเชี่ยวชาญทางด้านฮาร์ดแวร์โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการฟังเพลง

และเป็น จอห์น รูบินสไตน์ ผู้บริหารที่ดูแลด้านฮาร์ดแวร์ของ Apple ในยุคนั้นที่เป็นคนไปค้นพบโทนี่ ฟาเดลล์ เข้า

ฟาเดลล์ เคยตั้งบริษัทถึง 3 แห่งสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยมิชิแกน พอเรียนจบก็ได้เข้าไปทำงานที่ General Magic ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา แล้วย้ายข้ามห้วยไปยัง Philips บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก

ฟาเดลล์ มีไอเดียอย่างแรงกล้าที่จะทำเครื่องเล่นเพลงที่ดีกว่าเครื่องที่มีขายอยู่ในท้องตลาด เขาเคยไปนำเสนอไอเดียที่ RealNetwork , Sony และ Philips แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

และในวันหนึ่งที่ฟาเดลล์ ในขณะที่เขากำลังเล่นสกีอยู่กับลุงที่เมืองเวลรัฐโคโลราโด ระหว่างที่นั่งลิฟต์ขึ้นเขา เพื่อไปเล่นสกีเหมือนอย่างที่เคยทำมาเป็นประจำเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น

ปลายสายคือ รูบินสไตน์ ที่เป็นผู้อำนวยด้านด้านฮาร์ดแวร์ ของ Apple ซึ่งได้แจ้งเขาว่ากำลังหาคนที่จะมาช่วยทำ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก” ซึ่งคนระดับฟาเดลล์นั้นมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว เขาทำอุปกรณ์พวกนี้เก่งในระดับที่หาตัวจับยาก รูบินสไตน์ จึงได้เชิญ ฟาเดลล์ เข้าไปพบที่ office ของ Apple ในคูเปอร์ติโน่

ฟาเดลล์ เข้าใจว่า Apple นั้นจะจ้างไปทำเครื่อง PDA แต่เมื่อได้พบกับ รูบินสไตน์ การสนทนาก็เปลี่ยนเป็นเรื่องเกี่ยวกับ iTunes ที่ Apple เพิ่งได้ทำเสร็จก่อนหน้านั้นไม่นาน

ปัญหาในตอนนั้นคือทาง Apple พยายามที่จะใช้เครื่องเล่น mp3 ที่มีในตลาดเพื่อใช้งานกับ iTunes ซึ่งพบว่า ไม่มีอุปกรณ์ไหนที่สามารถตอบโจทย์ของ Apple ได้เลย ตอนนั้นมีแต่อุปกรณ์เล่น mp3 ห่วย ๆ อยู่เต็มตลาดไปหมด Apple อยากที่จะสร้างเวอร์ชั่นของตัวเองขึ้นมา

ฟาเดลล์ ที่ถูกชักชวนมาสร้างเครื่องเล่น MP3 ให้กับ Apple (CR: Apple Wiki)
ฟาเดลล์ ที่ถูกชักชวนมาสร้างเครื่องเล่น MP3 ให้กับ Apple (CR: Apple Wiki)

และมันทำให้ ฟาเดลล์ รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ เพราะเขาเป็นคนที่รักในเสียงดนตรี และเคยพยายามนำไอเดียที่เขาคิดไปเสนอที่ RealNetworks เหมือนกัน ตอนที่ RealNetworks กำลังนำเสนอเครื่องเล่น mp3 ให้กับบริษัท Palm แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ ฟาเดลล์ เป็นคนที่รักอิสระเขาไม่อยากที่จะเป็นพนักงานเต็มตัวของ Apple เขาแค่อยากร่วมงานในฐานะที่ปรึกษาเพียงเท่านั้น

รูบินสไตน์ ได้พยายามบีบบังคับให้ ฟาเดลล์ ทิ้งไพ่ในมือด้วยการมัดมือชก และยืนกรานว่าหาก ฟาเดลล์ ต้องการที่จะเป็นหัวหน้าทีมก็ต้องเข้ามาเป็นพนักงานเต็มตัวของ Apple เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

และมีการเรียกทีมงานทั้งหมดที่จะทำโปรเจกต์นี้กว่า 20 คนเข้ามารวมตัวแล้วยื่นคำขาดกับ ฟาเดลล์ ว่าต้องให้ตัดสินใจโอกาสที่ทาง Apple มอบให้เดี๋ยวนั้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธ แม้ตัว ฟาเดลล์ จะไม่ค่อยเต็มใจนักแต่ก็ได้เสนอตอบรับมาร่วมทีมในท้ายที่สุด

และสุดท้าย Apple ก็ได้ว่าจ้าง ฟาเดลล์ ในปี 2001 และได้สร้างทีมพัฒนาขนาด 30 คนให้ที่มีทั้ง Designer , Programmers รวมถึง Hardware Engineers เพื่อทำโครงการนี้ 

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากฟาเดลล์ เข้ามาร่วมทีมทุกคนต่างยุ่งจนแทบจะไม่มีเวลาทะเลาะกัน จ็อบส์อยากให้ iPod (ชื่อที่เรียกแทนเจ้าอุปกรณ์ตัวใหม่นี้) ออกวางตลาดให้ทันช่วงคริสต์มาส์ ซึ่งมันแปลว่าต้องทำเสร็จพร้อมเปิดตัวในเดือนตุลาคมซึ่งมันมีระยะเวลาเพียงแค่ 8 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่บีบคั้นมาก ๆ สำหรับทุก ๆ คนภายในทีม

ตอนนั้นทีมงานต่างมองหาดูว่ามีบริษัทไหนออกแบบเครื่องเล่น MP3 ที่พอจะใช้เป็นพื้นฐานการทำงานของ Apple ได้บ้าง และได้ตัดสินใจเลือกบริษัทเล็ก ๆ ที่ชื่อ PortalPlayer ให้มาทำเป็นเครื่องต้นแบบ Mp3 Player ของ Apple

PortalPlayer นั้นมีเครื่องต้นแบบอยู่ตัวหนึ่งที่มีขนาดเท่าซองบุหรี่ ซึ่งว่ากันว่ามันมีหน้าตาที่ดูน่าเกลียดมาก ๆ ดูเหมือนวิทยุราคาถูก ที่มีปุ่มเยอะ ๆ ซึ่งมันเป็นที่เข้าใจได้ เพราะว่าบริษัท PortalPlayer เป็นบริษัทฮาร์ดแวร์ ผลิตภัณฑ์ทุกตัวจึงถูกออกแบบโดย Hardware Engineer

แต่ ฟาเดลล์ เห็นตรงกันข้ามเมื่อเขาได้เห็นเจ้าเครื่องตัวนี้ เขารู้สึกทึ่งมากและคิดว่านี่แหละจะเป็นตัวต้นแบบของ iPod ที่ apple จะสร้างขึ้นมา

โดยขณะนั้น PortalPlayer นั้นมีลูกค้าอยู่ถึง 12 ราย และหนึ่งในนั้นคือ IBM ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งร่วมวงการกับ Apple โดย IBM กำลังแอบซุ่มทำเครื่องเล่น MP3 ที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็กของ IBM อยู่

ฟาเดลล์ ได้บีบให้ PortalPlayer ทิ้งลูกค้า 12 รายที่เหลือไป และให้มาร่วมงานกับ Apple เพียงบริษัทเดียว ด้วยข้อเสนอ ที่ PortalPlayer มิอาจปฏิเสธได้ลง และเพิ่มทีมงานจนกลายเป็นทีมขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนคนถึง 200 คนที่อยู่ในอเมริกา และเหล่า Engineer อีก 80 คนในอินเดียเพื่อเร่งทำให้มันเสร็จก่อนคริสมาสต์

ตอนนี้เรียกได้ว่า iPod หรือ อุปกรณ์เครื่องเล่น MP3 ตัวใหม่ของ apple ได้ทีมงานที่เพียบพร้อมแล้ว โดย PortalPlayer นั้นจะดูแลเรื่อง Hardware , จ๊อบส์ และ ไอฟฟ์ นั้นจะมาดูแลเรื่อง “User Experience” โดยมี ฟาเดลล์ เป็นหัวเรือหลักในการคุมโปรเจ็คนี้

แต่ทุกอย่างมันก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด มันมีข้อบกพร่องมากมายกับเจ้าเครื่อง PortalPlayer ไม่ว่าจะเป็น User Interface ที่ดูซับซ้อน หรือข้อจำกัดในการทำ Playlist ที่ได้ไม่เกิน 10 เพลงเท่านั้น

ฟาเดลล์พบจ็อบส์ ครั้งแรกที่งานเลี้ยงวันเกิดที่บ้านของ แอนดี้ เฮิร์ตซเฟลด์ เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น และเคยได้ยินกิตติศัพท์ของจ็อบส์มามาก ซึ่งหลายเรื่องนั้นฟังแล้วน่าขนลุก แต่เพราะเขายังไม่รู้จักจ็อบส์ดีพอเขาจึงรู้สึกหวั่นใจพอสมควรเมื่อต้องมาประจันหน้ากับจ็อบส์ จริง ๆ ในการประชุมงานเรื่อง iPod

เดือนเมษายน 2001 มีการประชุมนัดสำคัญ วันนั้นจ็อบส์ต้องตัดสินใจเลือกองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับเครื่อง iPod ซึ่ง ฟาเดลล์ เป็นคนนำเสนอโดยมี รูบินสไตน์ ,ฟิล ชิลเลอร์ , เจฟฟ์ ร็อบบิน และ สแตน อึง ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดของ Apple เข้าร่วมฟังด้วย

การประชุมเริ่มด้วยการนำเสนอเรื่องของศักยภาพของตลาด และเนื้อหาทางการตลาดอื่น ๆ ที่เหล่านักการตลาดมักจะทำกัน แต่จ็อบส์เป็นคนที่มีความอดทนต่ำ สไลด์ชุดไหนที่มีความยาวเกินหนึ่งนาทีเขาจะไม่สนใจทันที และเมื่อถึงฟาเดลล์ที่ต้องกล่าวถึงเรื่องคู่แข่งในตลาดที่ขณะนั้นมีทั้ง Sony  , Creative หรือ Rio  ที่อยู่ในตลาดเครื่องเล่น MP3 เหมือนกัน

แต่จ็อบส์นั้นโบกมืออย่างไม่แยแส จ็อบส์แทบไม่เคยสนใจคู่แข่งเลยด้วยซ้ำ ตอนนี้โปรเจค iPod ยังเป็นความลับอยู่ เหล่าคู่แข่งยังไม่รู้ว่า Apple กำลังทำอะไร

จ็อบส์ ชอบให้เอาสิ่งที่จับต้องได้มาโชว์ เพื่อเขาจะได้สัมผัส ลูบคลำ สำรวจ ฟาเดลล์ จึงได้นำโมเดล 3 แบบเข้ามาในห้องประชุมด้วย รูบินสไตน์ ได้สอนเทคนิคให้จ็อบส์ดูเรียงตามลำดับเพื่อให้ชิ้นที่เขาชอบที่สุดเป็นชิ้นที่เด่นที่สุดทีมงานจึงซ่อนโมเดลที่ชอบไว้ใต้โต๊ะประชุม

จากนั้น ฟาเดลล์ เริ่มเอาโมเดลออกมาโชว์ซึ่งโมเดลเหล่านี้ทำจากโฟมแบบเดียวกับที่ใช้ทำกล่องอาหาร ยัดไส้ตะกั่วเพื่อให้ได้น้ำหนักที่เหมาะสม ตัวอย่างแรกมีช่องใส่เมมโมรี่การ์ดสำหรับบันทึกเพลงแบบถอดได้ จ็อบส์ตัดตัวอย่างนี้ออกทันทีมันดูซับซ้อนไป

ตัวอย่างที่สองนั้นใช้เมมโมรี่แบบ dynamic RAM ซึ่งราคาถูกกว่า แต่เพลงทั้งหมดจะถูก delete ทิ้งทันที หากแบตเตอรี่หมดซึ่งแน่นอนว่าจ๊อบส์ไม่ปลื้มอย่างแน่นอน

จากนั้นแบบที่สามคือ ฟาเดลล์ ได้ทำการจับชิ้นส่วนต่อกันเหมือนเลโก้ เพื่อให้ดูว่าเครื่องเล่นบรรจุฮาร์ดไดร์ฟขนาด 1.8 นิ้วจะมีหน้าตาอย่างไรซึ่งโมเดลนี้ จ็อบส์ดูสนใจมาก ๆ  ซึ่งสุดท้าย จ็อบส์ ก็เลือกแบบดังกล่าว ซึ่งทำให้ ฟาเดลล์ ถึงกับทึ่งมาก เพราะปรกติการประชุมแบบนี้ที่บริษัทอื่น จะต้องตัดสินใจแล้ว ตัดสินใจอีก แต่กับ Apple จ็อบส์ ถือเป็นสิทธิ์ เด็ดขาดสามารถฟันธงได้ทันทีทำให้ทุกอย่างสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างโมเดลต้นแบบของ iPod (CR:Wired)
ตัวอย่างโมเดลต้นแบบของ iPod (CR:Wired)

ต่อจากนั้นเป็นคิวของ ฟิล ชิลเลอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท มันเป็นไอเดียที่สำคัญที่สุดของ iPod ที่ทำให้แตกต่างจากเครื่องเล่น MP3 อื่น ๆ ในตลาด ชิลเลอร์ ได้นำเสนอล้อกลม ๆ สำหรับใช้เลือกเพลง ( trackwheel ) แค่ใช้นิ้วโป้งหมุนวงล้อ ผู้ใช้จะสามารถเลือกเพลงใน Playlist ได้ ยิ่งหมุนนานก็ยิ่งไล่เพลงได้เร็วขึ้นถึงจะมีเพลงเป็นร้อยเป็นพันเพลงก็สามารถไล่ดูได้ง่ายซึ่งไอเดียนี้ จ็อบส์ร้องอุทาน “นั่นแหละใช่เลย!!!” แล้วสั่งให้ฟาเดลล์กับทีมวิศวกรลงมือทำทันที

โดยหลังจากเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการ จ็อบส์ ก็เข้ามาคลุกคลีด้วยทุกวัน จ็อบส์ให้ concept หลักของ iPod คือ “ทำให้ง่ายเข้าไว้!” ทุกฟังก์ชันต้องทำได้ภายใน 3 click ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบางครั้งทีมงานต้องพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนของ User Interface แบบไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลยทีเดียว

แต่จ็อบส์ก็พยายามหาจุดอ่อน ไปเรื่อย ๆ และให้ทีมงานไปคิดหาวิธีแก้มา ซึ่งบางครั้งทีมงานก็คิดไม่ออกว่าจะไปถึงสิ่งที่จ็อบส์ต้องการได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่บ้ามาก ๆ ในหลายเรื่องที่ทีมงานต้องมานั่งแก้ไขเพื่อให้จ็อบส์นั้นพอใจ จนตอนนั้นมันทำให้ปัญหาเล็ก ๆ ต่าง ๆ แทบมลายหายไปเลยทีเดียว เพราะจ็อบส์จะเห็นรายละเอียดในทุก ๆ จุด และสั่งให้แก้ไขมันทันที

แนวคิดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จ็อบส์ได้กำหนดไว้ คือ ควรให้ซอฟท์แวร์ iTunes ในคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือจัดการกับฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้มากที่สุดแทนที่จะทำในเครื่อง iPod

และมีคำสั่งอย่างนึงจากจ็อบส์ที่ทำให้ทีมงานต่างอึ้งกันไปเลยทีเดียวกับความเรียบง่ายตามความต้องการของจ็อบส์  โดยจ็อบส์ไม่ต้องการให้ iPod มีปุ่ม เปิด-ปิด และเราจะสังเกตได้ว่าอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน คือไม่มีปุ่มสวิตช์ เปิด-ปิด โดยจะเข้าสู่โหมดพักทันทีเมื่อไม่ได้ใช้งานและจะตื่นเมื่อแตะแป้นใด  ๆ ก็ได้

แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เริ่มเข้าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นชิปที่เก็บเพลงได้เป็นพันเพลง ส่วนของ User Interface และวงล้อที่ช่วยนำทางไปหาเพลงต่าง ๆ การเชื่อมต่อผ่าน FireWire ที่ช่วยให้ดาวน์โหลดเพลงทั้ง 1,000 เพลง ได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที และแบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานได้ถึง 1,000 เพลงเช่นกัน

ตอนนี้จ็อบส์ เริ่มรู้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้มันเจ๋งแค่ไหน ด้วยคอนเซ็ปต์ของเครื่องที่เรียบง่ายและงดงามมันคือ “หนึ่งพันเพลงในกระเป๋าคุณ” 

จ็อบส์ได้เผยโฉมเครื่อง iPod ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2001 ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจนเป็นแบบฉบับของตัวเอง ในบัตรเชิญที่ส่งไปยังสื่อนั้นมีข้อความยั่วยวนว่า “คำใบ้: คราวนี้ไม่ใช่ Mac” 

และเมื่อถึงเวลาเผยโฉมผลิตภัณฑ์หลังจากบรรยายสมรรถนะทางเทคนิคแล้วจ็อบส์ไม่ได้เดินไปเปิดผ้าคลุมกำมะหยี่บนโต๊ะอย่างที่เคยทำในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ Apple แต่เขาแค่พูดขึ้นว่า “ผมบังเอิญมีเจ้านี่อยู่ในกระเป๋า”

เขาล้วงเอาอุปกรณ์สีขาววาววับออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์ “เจ้าเครื่องเล็ก ๆ น่าทึ่งนี่จุเพลงได้ 1,000 เพลง และใส่กระเป๋าผมได้พอดี” เขาใส่มันกลับเข้าไปในกระเป๋าแล้วเดินลงจากเวทีท่ามกลางเสียงปรบมือเกรียวกราวจากเหล่าสาวก

นาทีภาพประวัติศาสตร์ที่จ็อบส์ล้วงเอาอุปกรณ์สีขาววาววับออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์ (CR:Catalign Innovation)
นาทีภาพประวัติศาสตร์ที่จ็อบส์ล้วงเอาอุปกรณ์สีขาววาววับออกจากกระเป๋ากางเกงยีนส์ (CR:Catalign Innovation)

ซึ่งในตอนแรกนั้นบรรดาสาวกแฟนพันธุ์แท้ทางเทคโนโลยีไม่ค่อยเชื่อราคาคุยของจ็อบส์สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะการตั้งราคาไว้สูงถึง 399 เหรียญ ทำให้ชาวบล็อกเกอร์ต่างพากันไปเขียนล้อเลียนชื่อ iPod ย่อมาจาก “idiots price our devices” หรือแปลเป็นไทยว่า “คนปัญญาอ่อนเป็นคนตั้งราคาเครื่องให้เรา”

โดยที่วันวางจำหน่ายจริง ๆ ของ iPod ที่ออกสู่ตลาดคือ วันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นหลังเหตุการณ์ 9-11 เพียงหนึ่งเดือน ช่างเป็นลางที่ไม่ดีเลยสำหรับ iPod และไม่เพียงแต่เป็นการออกสู่ตลาดหลังเหตุการณ์เศร้าโศกครั้งยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกาเท่านั้นแต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเทคโนโลยีร่วงตกต่ำแบบสุด ๆ อีกต่างหาก

ไม่เพียงแค่ราคาที่แพงสุดกู่ มันยังต้องใช้คู่กับเครื่อง Macintosh เท่านั้นด้วยซึ่งขณะนั้น Windows แทบจะครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

โจนี่ ไอฟฟ์ ได้กล่าวหลังจากเปิดตัว iPod ไว้ว่า  “Apple นำปรัชญาด้านการออกแบบมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่เรายังไม่มี และ iPod ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการมาก ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลง Apple เข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง” ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือพนักงานของ Apple นั้นบ้าดนตรีอยู่เป็นจำนวนมากพนักงานส่วนใหญ่ต่างคลั่งไคล้ในเสียงดนตรี

แม้ว่าสุดท้ายแล้วบทสรุป คือ การสร้างเครื่องเล่น mp3 ตัวใหม่ขึ้นมา แต่เป้าหมายสำคัญของ Apple ไม่ใช่การหาเงิน เป้าหมายอยู่ที่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่โครตเจ๋งออกสู่ตลาด เพื่อให้สามารถทำเงินมหาศาลจากมันได้มากกว่า

นอกเหนือจากนั้น iPod ยังกลายเป็นแก่นสำคัญของทุกอย่างที่ Apple ถูกชะตากำหนดมาแล้ว ทั้งบทกวีที่เชื่อมโยงกับวิศวกรรม ศิลปะ และ ความคิดสร้างสรรค์ มาบรรจบกับเทคโนโลยี การออกแบบที่กล้าแต่เรียบง่ายการใช้งานที่ง่ายมาก ๆ ซึ่งมันเป็นผลจากการทำงานอย่างหนักและทำอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นจนจบ

ตั้งแต่ FireWire ถึงตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์ และการจัดการคอนเทนต์ เมื่อลูกค้าหยิบเครื่อง iPod ออกจากกล่อง มันสวยจนดูคล้ายเรืองแสงได้เทียบกันแล้วดูเหมือนเครื่องเล่นเพลงยี่ห้ออื่น ๆ ถูกออกแบบและผลิตในดินแดนที่ล้าหลังเลยทีเดียว

ต้องยอมรับว่าตอนนั้น iPod โครตที่จะสมบูรณ์แบบเลย มันแทบจะสุดยอดนวัตกรรมใหม่ที่คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นกับเจ้า iPod เครื่องนี้ และเพียงไม่นานผู้บริโภคก็ทำให้มันกลายเป็นสินค้าขายดี 

และมันส่งผลชัดเจนในเรื่องตัวเลขยอดขายในไตรมาสแรก หลังจากวางตลาดนั้นสูงถึง 250,000 เครื่อง และอีกสิบแปดเดือนต่อมายอดขายก็ทะยานเพิ่มขึ้นมากกว่า 800,000 เครื่อง ส่งผลให้ iPod เป็นเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกทันที

iPod มันกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ยิ่งพวกที่คลั่งเรื่องดีไซน์และเหล่าสาวกของ Apple ต่างหลงรัก iPod กันทั้งนั้น และ มันเริ่มแพร่ขยายลัทธิของ iPod กระจายไปทั่วโลก

มันทำให้ iPod เป็นไอคอนแห่งการฉีกกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมาทั้งในเรื่องวิศวกรรมรวมถึงศิลปะด้านการดีไซน์ และเพียงไม่นานก็กระโดดเข้าไปกินเรียบส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% ของเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาทั่วโลก

มีคนเปรียบเทียบ iPod ว่าเป็น walkman แห่งศตวรรษที่ 21 เป็น walkman แห่งยุคดิจิทัลเป็น walkman ที่ Sony นั้นลืมนึกถึงและเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

ในตลาดเครื่องเล่น MP3 แบบพกพานั้น หลังจากการมาของ iPod ทำให้คู่แข่งต่างๆ เริ่มล้มลุกคลุกคลาน ไม่สามารถที่จะมาต่อกรกับ iPod ของ Apple ได้เลย

โดย Apple ยังคงเดินหน้าสร้างนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้งมีการออก iPod รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ iPod Shuffle , iPod Nano , iPod Video ไปจนถึง iPod Touch  และธุรกิจเพลงกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ Apple มากขึ้นในท้ายที่สุด

ในเดือนมกราคม 2007 ยอดขาย iPod ทำรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้รวมบริษัทและยังทำให้แบรนด์ Apple เปล่งรัศมีและมีอนาคตที่สดใสมากยิ่งขึ้น

แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ iTunes Store ซึ่งขายเพลงได้ถึง 1 ล้านเพลงหลังเปิดตัวได้เพียง 6 วัน ในช่วงเดือนเมษายน 2003 และมียอดขายในปีแรกสูงถึง 70 ล้านเพลง เดือนกุมภาพันธ์ 2006 iTunes Store ขายเพลงที่ 1,000 ล้านส่วนเพลงที่ 10,000 ล้านนั้นขายออกไปในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010

และสุดท้ายมันก็เป็นไปอย่างที่ ฟาเดลล์ เคยทำนายไว้ว่า “โครงการนี้ (iPod) จะปั้น Apple ขึ้นใหม่ และอีก 10 ปีจากนี้ไป Apple จะกลายเป็นบริษัทเพลงไม่ใช่บริษัทคอมพิวเตอร์”

References :

หนังสือ สตีฟ จ๊อบส์ : Steve Jobs
ผู้เขียน : Walter Isaacson (วอลเตอร์ ไอแซคสัน)
ผู้แปล : ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ

หนังสือ IPOD…แบรนด์ นวัตกรรมและจักรกลบันเทิง
ผู้เขียน : Dylan Jones
ผู้แปล : กรกฎ พงศ์พีระ

https://en.wikipedia.org/wiki/IPod
https://www.cnet.com/pictures/the-complete-history-of-apples-ipod/
https://www.lifewire.com/history-ipod-classic-original-2000732
https://www.nytimes.com/topic/subject/ipod
https://www.businessinsider.com/apple-ipod-oral-history-tony-fadell-2020-1

1 พันล้านกับพนักงาน 13 คน สู่ดีลการซื้อกิจการที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Mark Zuckerberg

ในขณะที่ Facebok เตรียมพร้อมสำหรับการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะหรือการทำ IPO ในปี 2012 ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์บริษัททางด้านอินเทอร์เน็ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

Mark Zuckerberg ก็ต้องเริ่มมองความเป็นจริงในเรื่องระยะยาวของธุรกิจของเขา มันคงเป็นโปรเจกต์แบบหอหักนักศึกษาเหมือนเดิมแล้วพุ่งแรงขึ้นมาแบบปากต่อปากไม่ได้อีกต่อไป

ในตอนนั้นผู้ใช้งานเริ่มเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์พกพาอย่างรวดเร็ว Facebook แม้จะมีแอปอยู่แล้ว แต่ก็ต่างจาก Google และ Apple ตรงที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์

นั่นหมายความว่าถ้า Facebook เดินกลยุทธ์ที่ผิดพลาด สุดท้าย Zuckerberg จะสร้างบริษัทของเขาให้อยู่ในวงล้อมของบริษัทอื่นที่เขาเองไม่ได้เป็นเจ้าของในท้ายที่สุด

ดูเหมือนว่าจะมีเพียงสองวิธีในการชนะธุรกิจในเกมระยะยาว หนึ่งคือ วิศวกรของ Facebook ต้องทำให้ Facebook มีประโยชน์จนสามารถที่จะทำให้ผู้คนใช้เวลาบนโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และอีกวิธีก็คือ เขาต้องฆ่าแอปที่คิดจะมาเป็นคู่แข่งของเขาให้ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทอื่น ๆ จะไม่มารุกล้ำอาณาเขตของ Facebook

และในช่วงเวลาเดียวกันของ 2012 ต้องบอกว่า Instagram กลายเป็นหนึ่งดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก ผู้ใช้งานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ แบบที่ไม่เคยมีแพลตฟอร์มใดสามารถทำได้มาก่อน

Instagram ที่กลายเป็นแอปดาวรุ่งพุ่งแรงในตอนนั้น (CR:TechCrunch)
Instagram ที่กลายเป็นแอปดาวรุ่งพุ่งแรงในตอนนั้น (CR:TechCrunch)

Instagram ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ตุลาคม 2010 และมันได้กลายเป็นไวรัลทันที เพราะได้ Jack Dorsey จาก Twitter ที่ซี้กับ Systrom ช่วยโปรโมตผ่านแพล็ตฟอร์ม Twitter

โดยภายในวันแรกมีผู้คนมากกว่า 25,000 คนเข้าใช้งาน Instagram หลังการเปิดตัว ภายในสัปดาห์แรกผู้ใช้งานก็ทะลุ 100,000 เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดในปี 2010 ผู้ใช้งานทะลุ 1 ล้านคน และ อีกหกสัปดาห์หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 2 ล้านคน

เรียกได้ว่า มันเป็นจังหวะเวลาที่สมบูรณ์แบบที่สุดในช่วงการแจ้งเกิดของ Instagram เพราะตอนนั้นเครือข่ายมือถือก็มีความพร้อมในเรื่องของเร็วในการอัพโหลดภาพ รวมถึง smartphone เองก็เริ่มมีกล้องหน้า ซึ่งเป็น key สำคัญมาก ๆ ในการแจ้งเกิดของ Instagram ได้ถูกช่วงเวลาพอดิบพอดี

ตัว Zuckerberg ได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับการระดมทุนรอบล่าสุดมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ของ Instagram และเขาก็เริ่มที่จะตระหนักว่าคู่แข่งที่สดใหม่ วัยรุ่นชอบใจอย่าง Instagram อาจกลายเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องทำคือ “ซื้อ”

Zuckerberg คิดว่าเขารู้วิธีที่จะพูดคุยกับ Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram เพราะตัวเขาเองก็เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อนในการถูกล่อซื้อจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอดีต

กลุ่มผู้นำบริษัทสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต้องการความอิสระ และรักษารูปแบบของบริษัทของพวกเขาไว้ และแน่นอนว่าหากได้เครือข่ายของ Facebook ที่เป็นมืออาชีพเต็มตัวแล้ว จะช่วยให้ Instagram เติบโตได้

และในที่สุดก็มีการเจรจาอย่างจริงจังกันที่บ้านหลังใหม่ของ Zuckerberg ในย่าน Crescent Park ในแถบพาโล อัลโต และ Systrom เริ่มต้นด้วยการเรียกตัวเลขที่ 2 พันล้านดอลลาร์

Zuckerberg มองว่ามันเป็นราคาที่สูงเกินไป และเริ่มที่จะประชุมกับเหล่าฝ่ายผู้บริหารคนสำคัญ ๆ ของ Facebook เช่น Sheryl Sandberg และ David Ebersman ที่ดำรงตำแหน่ง CFO ของ Facebook ในตอนนั้น

ผู้บริหารต่างถกเถียงกันว่าดีลนี้ควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ ส่วนตัว Zuckerberg เองนั้นค่อนข้างเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง

มีการถกเถียงกันว่า Instagram ไม่ใช่แค่แอปสำหรับให้ผู้คนโพสต์รูปอาหารแต่มันน่าจะเป็นธุรกิจที่เป็นไปได้ ระบบ hashtag สำหรับจัดระเบียบโพสต์ตามหัวข้อก็คล้าย ๆ กับ Twitter แต่เป็นภาพแทน ดังนั้นผู้คนจึงสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเพียงแค่คลิกที่ hashtag ที่สนใจ

แม้แอปจะมีผู้ใช้งานเพียงแค่ 25 ล้านคน เมื่อเทียบกับหลายร้อยล้านคนของ Facebook ในขณะนั้น แต่ธุรกิจต่าง ๆ ก็ใช้ Instagram เพื่อโพสต์รูปถ่ายผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ติดตามก็โต้ตอบและแสดงความเห็นกันจริง ๆ

Instagram แม้ยังไม่ได้ทำเงิน แต่รูปแบบของฟีดก็คล้าย ๆ กับ Facebook ที่สามารถเลื่อนดูโพสต์ต่าง ๆ ได้ไม่รู้จบ สุดท้ายก็สามารถที่จะพัฒนาความสามารถในการโฆษณาแบบเดียวกันได้ในที่สุด และใช้โครงสร้างพื้นฐานของ Facebook เพื่อให้เติบโตได้เร็วขึ้น อย่างที่ Youtube ทำที่ Google

Zuckerberg ต้องการปิดดีลนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ต้องบอกว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นหมากรุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของซิลิกอน วัลเลย์ โดยมักจะคิดไปไกลหลายก้าว

หาก Facebook ใช้เวลาเจรจานานเกินไป Systrom ก็จะเริ่มโทรหาเพื่อนและที่ปรึกษาของเขา ซึ่ง Systrom สนิทกับ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเขาทำข้อตกลงได้เร็วเท่าไหร่ Systrom ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะโทรหาใครสักคนที่จะให้คำแนะนำที่จะไม่เป็นประโยชน์กับ Facebook

Systrom ที่สนิทกับ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (CR:Expansion)
Systrom ที่สนิทกับ Jack Dorsey หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter (CR:Expansion)

ฝั่ง Facebook เองก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องของดีลการเข้าซื้อว่าจะใช้เงินสดหรือหุ้น ซึ่งการใช้เงินสดคงเป็นเรื่องยากในสถานการณ์ ณ ตอนนั้น

Zuckerberg พยายามโน้มน้าว Systrom ด้วยมูลค่าหุ้น ซึ่งเขามองว่าราคามันจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และต้องการให้ราคาที่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของมูลค่า Facebook

Facebook มีมูลค่าการประเมินในตอนนั้นราว ๆ หนึ่งแสนล้านเหรียญเพราะฉะนั้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของดีลนี้คือ หนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่า Facebook กำลังอยู่ในช่วงการเติบโต ที่ Systrom ต้องการสองพันล้านดอลลาร์นั้น สุดท้ายอาจจะได้มูลค่าที่สูงกว่านั้นในอนาคต

ฝั่ง Systrom เองก็ต้องคิดหนัก Steve Anderson ที่เป็นนักลงทุนและบอร์ดบริหารของ Instagram พยายามคัดค้านการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ของ Facebook

Anderson คิดว่า Facebook ประเมินราคาต่อหุ้นต่ำเกินไป มันเหมือนเป็นเกมที่ Facebook ต้องการฆ่า Instagram ออกไปจากการแข่งขันกับ Facebook ซึ่งสิ่งนี้มันอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์

แต่ Systrom ก็ให้เหตุผลไว้สี่ประการ อันดับแรก มูลค่าของ Facebook มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นมูลค่าการซื้อกิจการจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ประการที่สอง มันเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่ต้องไปแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ซึ่งหาก Facebook คิดจะคัดลอกฟีเจอร์แล้วสร้างแอปของพวกเขาเองขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ Instagram เติบโตได้ยากขึ้น

ประการที่สาม Instagram จะได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของ Facebook ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการทุกอย่างที่ Instagram ต้องเรียนรู้ในอนาคต ส่วนประการสุดท้ายคือ ตัวเขาและ Mike Krieger ผู้ร่วมก่อตั้ง จะยังมีความอิสระในการบริหารงาน Instagram

ย้อนกลับไปที่พาโล อัลโต เงื่อนไขต่าง ๆ ค่อนข้างลงตัวหมดแล้ว Zuckerberg ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เล็ก ๆ เพื่อฉายซีรีส์ดังอย่าง “Game of Thrones” ในคืนนั้น Systrom ไม่ได้อยู่ดูด้วย เขาเซ็นสัญญาเสร็จสิ้นในช่วงเย็นวันนั้นในห้องนั่งเล่นของ Zuckerberg

ต้องบอกว่าโครงสร้างการเข้าซื้อกิจการของ Instagram ถือเป็นมิติใหม่ในวงการ ซึ่งเป็นบริษัทที่ซื้อมาแต่ไม่ได้นำมาถูกรวมเข้าด้วยกัน และได้กลายเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการ M&A ของแวดวงเทคโนโลยีในภายหลัง

ซึ่งในอีกไม่กี่ปีถัดมา Twitter ได้เข้าซื้อ Vine และ Periscope โดยแยกแอปให้เป็นอิสระและโยนให้ผู้ก่อตั้งเป็นผู้รับผิดชอบโดยไม่ก้าวก่าย หรือ Google ที่ซื้อ Nest โดยแยกให้บริหารแบบอิสระ และเกิดเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ Amazon ซื้อ Whole Foods

และสุดท้ายดีลข้อตกลงของ Instagram จะทำให้ Zuckerberg และ Facebook มีความได้เปรียบในสงครามการแข่งขันไปอีกนานแสนนานก่อนจะมาเจอคู่แข่งที่โหดหินอย่าง TikTok ในภายหลัง

ผู้บริหาร Facebook คนหนึ่งถึงกับพูดถึงดีลนี้ในภายหลังว่า “ลองนึกภาพถึงการที่ Microsoft เข้าซื้อ Apple ในขณะที่ Apple ยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ อยู่ นั่นคงจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ Microsoft แต่นั่นคือสิ่งที่ Facebook ได้รับจาก Instagram”

Systrom และพนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ของเขา (CR:The New York Times)
Systrom และพนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ของเขา (CR:The New York Times)

หลังจากดีลเสร็จสิ้นมีการเล่นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

“พนักงาน 13 คนของบริการแชร์รูปภาพ Instagram กำลังเฉลิมฉลองในวันนี้ หลังจากรู้ตัวว่าพวกเขาจะกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านกัน” Daily Mail เขียน

“ตอนนี้ Instagram มีมูลค่า 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อพนักงานหนึ่งคน” The Atlantic รายงาน

Business Insider ได้เผยแพร่รายชื่อพนักงานทั้งหมดที่พวกเขาสามารถหาได้ พร้อมด้วยรูปถ่ายและข้อมูลที่ทำการคัดลอกมาจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับโรงเรียนที่พวกเขาเคยเรียนงานที่พวกเขาเคยทำ ทีมงานของ Instagram ได้รับโทรศัพท์และแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลามบน Facebook จากเพื่อนและครอบครัว พวกเขาได้รับการแสดงความยินดีที่ประสบความสำเร็จในชีวิต”

ภายใต้การนำของ Systrom ในฐานะซีอีโอหลังจากการเข้าซื้อกิจการ Instagram กลายเป็นแอปที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้งาน 800 ล้านคนต่อเดือน ณ เดือนกันยายนปี 2017 และเขาได้ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Instagram เมื่อวันที่ 24 กันยายน ปี 2018

Facebook ที่ซื้อ Instagram ในราคาหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในปี 2012 ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลในขณะนั้นสำหรับบริษัทที่มีพนักงานเพียง 13 คน ปัจจุบัน Instagram มีผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งพันล้านคนและสร้างรายได้มากกว่าสองหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับ Meta Platforms

และสุดท้าย Systrom ก็ได้ถูกรวมอยู่ในรายชื่อผู้ประกอบการอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาในปี 2016

References :
หนังสือ No Filter : The Inside Story of Instagram โดย Sarah Frier
https://en.wikipedia.org/wiki/Kevin_Systrom
https://www.forbes.com/sites/katevinton/2016/08/01/instagram-ceo-kevin-systrom-joins-billionaire-ranks-as-facebook-stock-soars/
https://www.cnet.com/tech/services-and-software/facebooks-sliding-stock-takes-instagram-below-1b-price-tag/