23andMe จากสตาร์ทอัพสุดร้อนแรงมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ดิ่งลงเหวจนเหลือเกือบ 0

ย้อนกลับไปเมื่อห้าปีที่แล้ว ต้องบอกว่า 23andMe ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพร้อนแรงที่สุดในโลก ผู้คนนับล้านถุยน้ำลายใส่หลอดทดลองเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของเขา

คนดังต่างๆ เข้ามาร่วมชื่นชมกับผลงาน 23andMe แม้กระทั่ง Oprah Winfrey ก็ได้แนะนำอุปกรณ์ของบริษัทแห่งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอชื่นชอบ

23andMe ทำ IPO ขายหุ้นสู่สาธาณะในปี 2021 และมูลค่าบริษัทของพวกเขาก็พุ่งทะยานสูงถึง 6 พันล้านดอลลาร์ และในเวลาเพียงไม่นาน Forbes ได้ถึงกับเชิดชูให้ Anne Wojcicki ผู้บริหารระดับสูงของ 23andMe ให้เป็น “newest self-mand billionaire”

แต่ตัดภาพมา ณ ปัจจุบัน เงินหลายพันล้านดอลลาร์ได้มลายหายสาปสูญไป การประเมินมูลค่าของ 23andMe ตกลงมาจากจุดสูงสุดถึง 98% และ Nasdaq ขู่ว่าจะเพิกถอนหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ออกจากตลาด

Wojcicki ต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานไปกว่า 25% ผ่านการเลิกจ้างสามรอบและขายบริษัทในเครือออกไป ต้องบอกว่าบริษัทของเธอแทบจะไม่เคยทำกำไรได้เลย และกำลังเผาเงินอย่างบ้าคลั่งจนจะหมดลมหายใจภายในปี 2025

ต้องบอกว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจการตรวจ DNA ของ 23andMe คือความท้าทายสองประการ นั่นก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ทำการทดสอบเพียงแค่ครั้งเดียว และมีลูกค้าเพียงไม่กี่รายที่ทดสอบไปแล้วได้รับผลตรวจสุขภาพที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้จริง

เดิมพันอันสูงสุดของ Wojcicki คือการพัฒนายาโดยใช้คลังตัวอย่าง DNA มากกว่า 10 ล้านตัวอย่างที่ 23andMe เก็บไว้ แต่การจะนำยาใหม่ออกสู่ตลาดได้จริงนั้นต้องใช้เงินทุนในการวิจัยมหาศาลและใช้เวลาอีกนานหลายปี

จุดเริ่มต้นจากความรัก

Wojcicki ลูกสาวของอดีตประธานภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเรียกได้ว่าเติบโตมาท่ามกลางกลิ่นอายของซิลิกอนวัลเลย์

เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยล โดยเธอได้มองเห็นความล้มเหลวของบริษัทในด้านการดูแลสุขภาพ และเธอก็มองว่าเหล่านักลงทุนหน้าเลือดมักจะบีบเงินจากนวัตกรรมซะเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้เธอตัดสินใจว่าเธอต้องการช่วยผู้บริโภคในการควบคุมและดูแลสุขภาพของตนได้มากขึ้น

และตัวละครคนสำคัญที่สุดที่ทำให้ 23andMe ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้สำเร็จนั่นก็คือ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ได้ออกเดทกับ Wojcicki

ในปี 1998 Brin และ Larry Page เช่าโรงรถของ Susan Wojcicki ซึ่งเป็นพี่สาวของ Anne Wojcicki เพื่อเป็นสำนักงานแห่งแรกของ Google ก่อนที่ในภายหลัง Susan จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในธุรกิจโฆษณาของ Google และ Youtube

แนวคิดสำหรับธุรกิจตรวจ DNA ที่เน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรงมาจาก Linda Avey ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง 23andMe

Avey เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ และ Sergey Brin แสดงความสนใจในงานของ Avey ดังนั้นในปี 2005 Wojcicki ที่เป็นแฟนสาวของ Brin ก็ได้เข้ามาร่วมประชุมเกี่ยวกับแนวคิดธุรกิจใหม่นี้ ซึ่งหลังจากฟังแนวคิดว่ามันน่าสนใจ เธอก็ต้องการที่จะลุยด้วยทันที

ก็เป็น Brin นี่เองที่เป็นคนให้เงินทุนก้อนแรกแก่บริษัท รวมถึงการช่วยเหลือในการว่าจ้างพนักงานในช่วงแรก ๆ และไม่ใช่เพียงแค่ใช้เงินส่วนตัวเท่านั้น เพราะเขาได้นำ Google เข้ามาร่วมลงทุน โดยประกาศเข้าลงทุนเพียงแค่สองสัปดาห์หลังจากที่ Brin และ Wojcicki แต่งงานกันในปี 2007

Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ให้ทุนก้อนแรกกับบริษัท (CR:Phys.org)
Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ที่ให้ทุนก้อนแรกกับบริษัท (CR:Phys.org)

เรียกได้ว่า Wojcicki ชีวิตเปลี่ยนไปในข้ามคืน เธอเคยเป็นอดีตนักวิเคราะห์ทางการเงินที่แทบไม่มีคนรู้จักที่กลายมาเป็นดาราดังในซิลิกอน วัลเลย์ เธอช่วยสร้างแบรนด์ของ 23andMe โดยจัด “spit parties” โดยแขกจะมอบตัวอย่าง DNA มีการรวบรวมน้ำลายของคนดังที่ World Economic Forum ในเมืองดาวอสในปี 2008 และอีกครั้งที่ New York Fashion Week ในปีเดียวกันนั้น

แม้มันจะเป็นที่จับตามองของสื่อ เพราะเธอเล่นใหญ่มาก แต่ก็แทบไม่ได้ช่วยเหลือธุรกิจของเธอมากนัก เพราะชุดทดสอบ DNA ของ 23andMe มีราคาสูงถึง 399 ดอลลาร์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นราคาที่แพงเกินกว่าจะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคได้

ภายในสำนักงานของ 23andMe นั้นก็ต้องการสร้างวัฒนธรรมเลียนแบบซิลิกอน วัลเลย์ ถึงขั้นที่ว่า Avey เองถึงกับกล่าวว่า Wojcicki ชอบทำตัวให้โดดเด่นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับ Brin ได้ ซึ่ง Wojcicki เคยกล่าวไว้ขนาดที่ว่า 23andMe จะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่กว่า Google

สู่ความเจิดจรัส

ในปี 2012 การระดมทุนรอบใหม่จากมหาเศรษฐีชาวอิสราเอลที่เกิดในรัสเซียอย่าง Yuri Milner ซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อนบ้านของ Wojcicki และ Brin ใน ลอส อัลโตส ฮิลล์ ซึ่งเงินทุนที่ได้ทำให้ 23andMe สามารถลดราคาชุดทดสอบ DNA ให้เหลือราคาเพียงแค่ 99 ดอลลาร์ได้สำเร็จ

สำหรับแคมเปญโฆษณาระดับประเทศครั้งแรกของบริษัทในไม่กี่เดือนถัดมานั้นได้รับความสนใจจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ซึ่งได้สั่งระงับการขายชุดทดสอบ DNA ของ 23andMe โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงที่อุปกรณ์เหล่านี้จะรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ

นั่นเองที่ Wojcicki ต้องใช้เวลาถึงสองปีและเงินอีกหลายล้านดอลลาร์เพื่อให้อุปกรณ์ของเธอผ่านการ approve จาก FDA สหรัฐฯ

มันเป็นช่วเวลาเดียวกันกับที่มรสุมชีวิตกำลังถาโถมเข้าสู่ตัวเธอเองเช่นเดียวกัน เพราะเธอเพิ่งแยกทางกับ Brin ซึ่งไปแอบกิ๊กกับพนักงานรุ่นน้องที่ Google

แต่เธอก็ผ่านมันมาได้ สุดท้ายชุดตรวจ DNA ของ 23andMe ก็ได้ผ่านการทดสอบจาก FDA และเมื่ออุปกรณ์ปล่อยออกไปให้เหล่าผู้บริโภคได้ใช้งานกันจริง ๆ มันก็กลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วทั้งโลกอินเทอร์เน็ต

เพราะเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้คนที่ค้นพบพ่อแม่หรือพี่น้องที่ไม่คาดคิด มันได้กลายเป็นเรื่องดราม่าเป็นอย่างมาก การเดินทางของ 23andMe ต้องใช้เวลา 9 ปีกว่าจะมีลูกค้าหนึ่งล้านคน และสามปีถัดมาเพิ่มมาเป็นแปดล้านคน

รอบ ๆ สำนักงานใหญ่ของ 23andMe เต็มไปด้วยเหล่าเซเลป ดาราชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Bono และ the edge แห่ง U2 , นางแบบชื่อดังอย่าง Karlie Kloss และคนดัง ๆ คนอื่น ๆ ต่างก็ให้ความสนใจกับ 23andMe โดย Wojcicki ได้ไปงานเดินพรมแดง Met Gala กับแฟนหนุ่มคนใหม่ของเธออย่าง Alex Rodriguez นักเบสบอลชื่อดัง

ในปี 2019 Wojcicki ย้าย 23andMe ไปยังอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในซิลิกอน วัลเลย์ ซึ่งมีพื้นที่มากพอในการขยายพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และทำสิ่งที่ไม่น้อยหน้าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่โดยเฉพาะ Google เลย ไม่ว่าจะเป็น คลาสเรียนโยคะ ห้องออกกำลังกาย โรงอาหารสุดหรู ด้วยเชฟระดับมิชลินสตาร์

ในปี 2021 บริษัทได้ทำ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ซึ่งในยุคนั้นรูปแบบของ SPAC กำลังได้รับความนิยม บริษัทหลายร้อยแห่งกล้าที่จะขายหุ้นที่มีราคาสูงให้กับเหล่านักลงทุน

23andMe ที่ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ในปี 2021 (CR:CNBC)
23andMe ที่ IPO ขายหุ้นสู่สาธารณะ ในปี 2021 (CR:CNBC)

Wojcicki ได้รับเงิน 33 ล้านดอลลาร์ในปีนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นหุ้น ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับซีอีโอบริษัทมหาชนขนาดใหญ่รายอื่น ๆ โดยหุ้นของ Wojcicki นั้นก็คล้าย ๆ กับผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังส่วนใหญ่ที่มีสิทธิพิเศษในการลงคะแนนเสียง ทำให้เธอสามารถควบคุมบริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จ

จากดาวรุ่งสู่ดาวร่วง

ด้วยตัวอย่างฐานข้อมูล DNA จำนวนมากที่เก็บไว้ 23andMe จึงได้เร่งการพัฒนายา โดยมีการดีลกับยักษ์ใหญ่ด้านวงการเภสัชกรรมอย่าง GSK (GlaxoSmithKline)

แต่ก็ต้องบอกว่า 23andMe เหมือนหว่านแห ตรวจสอบการรักษาโรคหลายสิบโรคจากผล DNA เหล่านั้น แน่นอนว่ามุมหนึ่งผลตอบแทนอาจะได้สูง แต่การพัฒนายาตัวใดตัวหนึ่งนั้นต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ และใช้เวลาเป็นสิบปีถึงจะผ่านการทดสอบทางคลินิก

แม้จะมียาบางตัวเริ่มมีการทดลองในมนุษย์จริงแล้ว โดยภายในปี 2022 มีผู้ป่วยทดลองกว่า 150 คนในซานฟรานซิสโก โดย Wojcicki คิดว่าจะสามารถระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุนความพยายามในการพัฒนายาของเธอได้

แต่ก็อย่างที่ทราบกันยุคเงินทุนราคาถูกที่ให้เหล่าสตาร์ทอัพมาเผาผลาญมันจบสิ้นลงไปแล้ว จากปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องสงคราม ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ที่สำคัญหุ้นของบริษัทยาก็ไม่เป็นที่โปรดปรานสำหรับเหล่านักลงทุนเช่นกัน เมื่อไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มได้ Wojcicki จึงได้ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานไปกว่าครึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว

และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของ 23andMe เชื่อว่าข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองนั้นอยู่ภายใต้กฎหมาย Hipaa ซึ่งเป็นกฎหมายความเป็นส่วนด้านสุขภาพของชาวอเมริกัน

แน่นอนว่าลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกยินดีที่ข้อมูล DNA ของตนเองจะถูกนำมาใช้เพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง แต่ก็มีอีกหลายคนที่รู้สึกว่าถูกหลอก เพราะพวกเขาจ่ายเงินให้ 23andMe ราว ๆ 299 ดอลลาร์สำหรับชุดทดสอบ DNA แต่ 23andMe ใช้ข้อมูลสุขภาพฟรีของพวกเขาในการหารายได้เข้าบริษัท

และในปีที่แล้วมีโปรไฟล์ลูกค้าเกือบ 7 ล้านรายถูกแฮ็กไปจากระบบ โดยแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ รวมถึงรายงานของผู้ให้บริการ ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลมากถึง 5.5 ล้านคน ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันอย่างหนัก

Wojcicki ต้องแก้เกมโดยการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ โดยพยายามเปลี่ยนไปใช้รูปแบบของการสมัครรับข้อมูลหรือ Subscription เลียนแบบเหล่าบริษัทสื่อชื่อดัง โดยเธอได้เปิดตัว 23andMe+ โดยนำเสนอรายงานสุขภาพส่วนบุคคล คำแนะนำด้านไลฟ์สไตล์ ในราคาเริ่มต้น 299 ดอลลาร์ พร้อมค่าต่ออายุรายปี 69 ดอลลาร์

แต่เมื่อบริษัทได้เปิดเผยจำนวนสมาชิกเมื่อปีที่แล้ว มีสมาชิกเพียง 640,000 รายที่ยอมเสียเงินสมัคร ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่คาดการณ์ไว้ในขณะนั้น

แนวคิดเบื้องหลังระบบ Subscription ของ 23andMe+ ก็คือ มันอาจจะมีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงล็อคอยู่ใน DNA ของลูกค้าซึ่งควรรู้ไว้จะดีกว่า แต่มันเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ๆ ที่ลูกค้าเหล่านี้จะมีรหัสทางพันธุกรรมที่เสียงต่อโรคเช่น มะเร็งเต้านม

23andMe+ ที่เป็นบริการแบบ Subscription (CR:Amazon)
23andMe+ ที่เป็นบริการแบบ Subscription (CR:Amazon)

แน่นอนว่าชุดทดสอบของ 23andMe นั้นเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ และได้รับการ approve จาก FDA ซึ่งอาจนำไปสู่การติดตามผลของแพทย์ที่สามารถช่วยชีวิตได้แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงเช่นมะเร็ง

แต่ก็ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีโรคเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้ 23andMe+ ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าแต่อย่างใด

Bruno Bowden นักลงทุนด้านเทคโนโลยีในซิลิกอน วัลเลย์ ที่เคยออกมาอวย 23andMe ไว้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ถึงกับผิดหวัง และมองว่ารูปแบบโมเดลธุรกิจแบบนี้มันไม่น่าจะมีประโยชน์มากนัก

ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมา 23andMe ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สมัครสมาชิกที่ advance ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งจะรวมถึงการทดสอบทางพันธุกรรมระดับคลินิกที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เช่นเดียวกับการตรวจเลือดและนัดหมายกับแพทย์ของ 23andMe โดยมีค่าใช้จ่าย 1,188 ดอลลาร์ต่อปี

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ถูกเรียกว่า TotalHealth มันเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ของ Wojcicki ที่จะให้บริการการรักษาพยาบาลโดยใช้พื้นฐานทางพันธุกรรม และ 23andMe ได้จ่ายเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท Lemonaid Health บริษัทด้านการดูแลสุขภาพทางไกล

แต่ Lemonaid นั้นไม่ได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และคนรู้จักน้อย ส่วนใหญ่จะให้คำปรึกษาและจ่ายยาทางไกล ด้วยอาการพวกหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ ผมร่วงเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ผลก็คือมีตัวเลขผู้ใช้บริการของ 23andMe น้อยมาก ๆ ที่มาปรึกษาแพทย์ของ Lemonaid จริง ๆ

Roelof Botha คณะกรรมการของ 23andMe และ หุ้นส่วนของ Sequoia Capital ได้ถึงกับออกมากล่าวว่า ตอนนี้ไม่ใช่ยุคของเงินทุนราคาถูกอีกต่อไป และ 23andMe ต้องโฟกัสโปรเจกต์ที่จะทำเงินจริง ๆ ไม่ใช่หว่านแหไปทั่วแบบนี้

Sequoia ซึ่งลงทุน 145 ล้านดอลลาร์ใน 23andMe ยังคงถือหุ้นทั้งหมดอยู่ในตอนนี้ แต่ในวันนี้มูลค่าที่พวกเขาลงทุนลดเหลือเพียงแค่ 18 ล้านดอลลาร์เพียงเท่านั้น แถมบริษัทอาจจะถูกเพิกถอนออกจากตลาด Nasdaq ในไม่ช้าหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินที่กำลังวิกฤติอยู่ในขณะนี้ได้

References :
https://www.wsj.com/health/healthcare/23andme-anne-wojcicki-healthcare-stock-913468f4
https://en.wikipedia.org/wiki/23andMe
https://www.wired.com/story/23andme-genomic-testing-financial-results-earnings-anne-wojcicki/
https://www.theguardian.com/technology/2024/feb/17/23andme-dna-data-security-finance

หลอดสุญญากาศยักษ์สู่นาโนเมตร จากลอจิกเกตสู่พลังงานขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI

เราคงจำภาพหลอดสุญญากาศยักษ์ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยุคโบราณกันได้ แต่น่าสนใจว่าเวลามันได้แปรเปลี่ยนเพียงไม่กี่สิบปี แต่ขนาดของชิปมันเข้าสู่ระดับนาโนเมตรกันแล้ว และยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาให้มันเล็กลงไปอีก

ในช่วงทศวรรษ 1940 มีพื้นที่ลับสุดยอดของสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษคือ Bletchley Park ที่นั่นเหล่านักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงคอมพิวเตอร์ที่แท้จริงเป็นครั้งแรก

ในการแข่งขันเพื่อทำการ Crack รหัสลับที่เยอรมนีประกาศกร้าวว่าไม่มีใครในโลกที่จะแก้สุดยอดโค้ดลับของพวกเขาได้นั่นก็คือเครื่อง “Enigma”

ทีมงานที่ Bletchley Park ที่นำโดย Alan Turing ได้คิดค้นเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อช่วยในการถอดรหัสเครื่อง Enigma ได้สำเร็จ และพัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่อง Colossus ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แบบดิจิทัลที่สามารถตั้งโปรแกรมได้เครื่องแรกของโลก

ภายในปี 1945 อุปกรณ์ที่เป็นรากฐานสำคัญของคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ENIAC ที่ออกแบบโดย John Mauchly และ J.Presper Eckert โดยเป็นเครื่องจักรขนาดยักษ์สูง 8 ฟุต ประกอบด้วยหลอดสุญญากาศ 17,500 หลอด ไดโอด 7,200 หลอด และสายไฟยาวหลายไมล์ ใช้พื้นที่กว่า 1,8000 ตารางฟุต สามารถทำการคำนวณได้ 300 คำสั่งต่อวินาทีได้รับการพัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

Bell Labs ได้ทำสิ่งที่เรียกได้ว่าก้าวไปอีกขั้นในปี 1947 สิ่ง ๆ นั้นคือทราสซิสเตอร์ ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำที่สร้าง “Logic Gates” เพื่อใช้ในการคำนวณซึ่งเป็นรากฐานให้กับยุคดิจิทัล

เหล่าผู้สังเกตการณ์ในยุคนั้นไม่คิดว่าการคำนวณมันจะแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ยังมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นบนโลก

ในช่วงต้นทศวรรษนั้น Thomas J. Watson ประธานของ IBM ได้กล่าวไว้ว่า “ผมคิดว่าคงมีตลาดคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเพียงประมาณ 5 เครื่อง”

นิตยสาร Popular Mechanics ได้คาดการณ์ในปี 1949 ไว้ว่า “ในอนาคต คอมพิวเตอร์อาจมีหลอดสุญญากาศเพียง 1,000 หลอด และ น่าจะมีน้ำหนักเพียงประมาณ 1.5 ตัน” ซึ่งราว ๆ หนึ่งทศวรรษหลังจากนั้นยังคงมีคอมพิวเตอร์เพียงหลักร้อยเครื่องทั่วโลก

แต่การคำนวณได้เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรวดเร็วเกิดกว่าที่ใครจะคาดเดา และแพร่กระจายเกินกว่าที่สิ่งประดิษฐ์ใดในประวัติศาสตร์มนุษย์จะทำได้

Robert Noyce ได้คิดค้นแผงวงจรรวมในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และในช่วงทศวรรษ 1960 ที่ Fairchild Semiconductor มีการสร้างแผงวงจรที่มีทราสซิสเตอร์จำนวนมากบนแผ่นซิลิกอน เพื่อผลิตสิ่งที่เรียกว่า “ชิป”

หลังจากนั้นไม่นาน Gordon Moore ได้ได้นำเสนอ “Moore Law” ว่า ในทุก ๆ 24 เดือน จำนวนทราสซิสเตอร์บนชิปจะเพิ่มเป็นสองเท่า นั่นหมายความว่าโลกของเทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณจะได้เติบโตแบบ Exponential

ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 จำนวนทราสซิสเตอร์ต่อชิปได้เพิ่มขึ้นสิบล้านเท่าและให้พลังการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น 17,000 ล้านเท่า ในปี 1958 Fairchild Semiconductor ขายทรานซิสเตอร์ 100 ตัวในราคา 150 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันทรานซิสเตอร์ถูกผลิตขึ้นมานับพันล้านตัวต่อทุกวินาที ในราคาเพียงแค่เศษสตางค์

แน่นอนว่าความก้าวหน้าในพลังการคำนวณเช่นนี้มาจากการเกิดขึ้นของอุปกรณ์ใหม่ ๆ แอปพลิเคชันใหม่ ๆ และจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีคอมพิวเตอร์ทั่วโลกประมาณห้าแสนเครื่อง และในปี 1983 มีคอมพิวเตอร์เพียง 562 เครื่องทั่วโลกเท่านั้นที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

ปัจจุบันจำนวนคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ มีอยู่ 14 พันล้านเครื่อง ซึ่งสมาร์ทโฟนใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ สำหรับเหล่านักธุรกิจไปสู่สิ่งของจำเป็นสำหรับประชากรสองในสามของโลก

มันได้เกิดอีเมล โซเชียลมีเดีย วีดีโอสตรีมมิ่ง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นประสบการณ์ใหม่ของมนุษย์โลกแทบจะทั้งสิ้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตมาพร้อมกับข้อมูล ที่เพิ่มขึ้น 20 เท่าในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 ในยุคก่อนหน้านั้นเพียงไม่นานมนุษย์จัดเก็บข้อมูลจำกัดอยู่แค่ในหนังสือและหอจดหมายเหตุเพียงเท่านั้น

แต่ตอนนี้มนุษย์สร้างอีเมล ข้อความ รูปภาพและวีดีโอนับหมื่นล้านชิ้นในทุก ๆ วัน และจัดเก็บไว้ในคลาวด์ โดยทุก ๆ นาทีของทุกวันจะมีข้อมูล 18 ล้านกิกะไบต์ถูกเสกขึ้นบนโลก

มนุษย์ใช้เวลานับพันล้านชั่วโมงในการบริโภคเทคโนโลยีเหล่านี้ และพวกมันได้เข้ามาครอบงำทั้งเรื่องงาน ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งเวลาพักผ่อนของเรา โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งแรกที่เราเห็นในตอนเช้าและเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะสัมผัสมันก่อนนอน

หากย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หากมีคนในยุคนั้นมาเห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเขาคงตกตะลึงกับความบ้าคลั่งในการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ที่คนในยุคนั้นอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงเทคโนโลยีสำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

โลกเราได้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจริง ๆ ก็ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง ที่ยุคก่อนหน้านับพันนับหมื่นปีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างที่เราเห็นในยุคหลังสงครามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งเหล่านี้มันกำลังจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมกับเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่อย่าง AI ซึ่งเราคงไม่สามารถจินตนาการภาพโลกในอนาคตในอีกเพียงแค่ 20-30 ปีที่จะถึง มันคงนึกภาพไม่ออกเลยจริง ๆ

References :
หนังสือ The Coming Wave :  Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma โดย Mustafa Suleyman
https://en.wikipedia.org/wiki/Bletchley_Park
https://simple.wikipedia.org/wiki/ENIAC
https://en.wikipedia.org/wiki/Bell_Labs
https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Noyce

เมื่อ Rider สู้กลับ AI กับฮีโร่ผู้กอบกู้ Rider ที่ทำงานภายใต้การถูกชักใยจากอัลกอริธึม

บนเนินเขาลาดชันสูงที่สุดแห่งหนึ่งในพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ในวันที่ 12 สิงหาคม 2020 เป็นวันที่ชายอย่าง Armin Samii นักกีฬาจักรยานวัย 32 ปี ตัดสินใจครั้งสำคัญในการต่อสู้กับอัลกอริธึมของ Uber Eats

Samii ตื่นนอนก่อนเวลาปรกติ เขาแต่งตัว ชงกาแฟ และนั่งลงบนคอมพิวเตอร์ และใช้เวลากว่า 16 ชั่วโมงต่อมาในการเขียนโปรแกรมสร้างเว็บแอปพลิเคชัน และถ่ายวีดีโอเพื่อแสดงวิธีการใช้งานให้กับกลุ่ม Rider คนอื่น ๆ

เขาตั้งชื่อแอปว่า UberCheats โดยเปิดระบบให้ออนไลน์ในช่วงเที่ยงคืนวันเดียวกัน และให้ทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนมาใช้งานกันแบบฟรี ๆ

UberCheats เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบอัลกอริธึมของ Uber โดย Samii ซึ่งทำงานเป็น Rider ให้กับแพลตฟอร์ม Uber ในพิตส์เบิร์กในเวลานั้น รู้สึกหมดความอดทนกับการโกงของอัลกอริธึมเบื้องหลังหยาดเหงื่อแรงกายของเพื่อน ๆ เหล่า Rider

Samii มั่นใจอย่างยิ่งว่าแอป Uber Eats มีข้อผิดพลาดและจ่ายค่าจ้างให้กับเขาต่ำเกินไป หลังจากพยายามอย่างหนักที่จะแจ้งไปยังแพลตฟอร์ม แต่ไร้ซึ่งการเหลียวแล เขารู้สึกไม่มีทางเลือก นอกจากต้องลงมือจัดการด้วยตัวเขาเอง

แอป UberCheats ของ Samii ทำหน้าที่สำคัญอย่างง่าย ๆ นั่นก็คือ แสดงพิกัดจีพีเอสจากใบเสร็จรับเงินและคำนวณระยะทางที่ Rider ขับไปจริง ๆ เปรียบเทียบกับระยะทางที่แสดงในแพลตฟอร์มของ Uber

Samii ที่หลงรักในการปั่นจักรยานและต้องการคืนความเป็นธรรมให้กับเหล่า Rider (CR:PublicSource)
Samii ที่หลงรักในการปั่นจักรยานและต้องการคืนความเป็นธรรมให้กับเหล่า Rider (CR:PublicSource)

โดยพื้นฐานแล้วนั้นแพลตฟอร์ม Delivery เหล่านี้ไม่มีอัตราค่าจ้างที่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุก ๆ ชั่วโมง ในแต่ละพื้นที่ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงไปตาม Rider แต่ละคนที่แทบไม่เท่ากันเลย

ซึ่ง Uber จะทำการคำนวณจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ หรือ demand ของปริมาณลูกค้าในขณะนั้น เนื่องจาก Uber ได้ทำการปกปิดสถานที่จัดส่งจริงจาก Rider หลังจากที่พวกเขาส่งของเสร็จแล้ว

มันเป็นเรื่องยากที่เหล่า Rider จะทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะในใบเสร็จรับเงินที่เหล่า Rider ได้รับนั้นจะเห็นเพียงแค่เส้นทางจากจุด A ไปยังจุด B พร้อมกับระยะทางเป็นไมล์และเงินที่พวกเขาได้รับ

หลังจากปล่อย Ubercheats ออกไปได้ไม่นาน Samii ก็เริ่มได้รับข้อมูลจากเหล่า Rider ของ Uber Eats จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งที่ประเทศญี่ปุ่น บราซิล ออสเตรเลีย อินเดีย และไต้หวัน

มีการบันทึกการส่งอาหาร 6,000 ครั้งลงใน Ubercheats โดยมี 17% ที่ดูเหมือนค่าจ้างมันจะไม่แฟร์ และไม่ว่าจะอยู่ในเมืองไหน ข้อมูลที่บันทึกลงใน Ubercheats แสดงให้เห็นว่า Rider ถูกตัดค่าจ้างเป็นระยะทางเฉลี่ย 1.35 ไมล์ต่อการส่งหนึ่งครั้ง

ต้องบอกว่า Ubercheats ของ Samii เปรียบเสมือนฮีโร่ที่ช่วยมากอบกู้โลกแห่ง Delivery ซึ่งทำงานภายใต้การถูกชักใยจากอัลกอริธึม

Ubercheats ของ Samii เปรียบเสมือนฮีโร่ที่ช่วยมากอบกู้โลกแห่ง Delivery ( Twitter)
Ubercheats ของ Samii เปรียบเสมือนฮีโร่ที่ช่วยมากอบกู้โลกแห่ง Delivery ( Twitter)

ปัจจุบันมีแรงงานในกลุ่มนี้มากกว่าหนึ่งพันล้านคนในรูปแบบต่าง ๆ แอปพลิเคชันใช้เทคโนโลยี AI ได้ทำการออกคำสั่งให้แรงงานทาสเหล่านี้โดยส่งตรงไปยังโทรศัพท์มือถือของพวกเขา

ซอฟต์แวร์ที่ใช้เทคโนโลยี Machine Learning จะเป็นตัวกำหนดงานให้กับ Rider ยืนยันตัวตนของพวกเขา กำหนดอัตราค่าจ้าง มอบโบนัส ตรวจจับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจว่าจ้างหรือปลดพนักงานเลยทีเดียว

Samii มองว่า นายจ้าง AI เหล่านี้แทบไม่มีความเป็นมนุษย์ พวกมันไม่มีความรู้สึก แถมเวลาคุยกับพวกมันก็โครตน่าหงุดหงิด

ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคมปี 2020 เมื่อ Samii พยายามที่จะลงทะเบียนเพื่อสมัครเป็น Rider กับ Uber Eats แอปพลิเคชันต้องการตรวจสอบรูปภาพเพื่อพิสูจน์ตัวตน โดยใช้เทคโนโลยี Face Recognition

แต่สำหรับ Samii มันกลับไม่ได้ผล เขาพยายามถ่ายรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถูก AI แสนบื้อปฏิเสธกลับมาแทบทุกครั้ง

นั่นทำให้ Samii รู้ว่านี่คือปัญหาใหญ่สำหรับคนผิวสี เพราะเหุตการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเขา 3-4 ครั้ง โดยในครั้งที่ 4 เขาอาบน้ำ สระผม ดัดผมให้เรียบ แล้วอ้าปาก เพื่อให้เจ้าอัลกอริธึมตรวจจับใบหน้าของเขา สุดท้ายก็สำเร็จ

แม้เขาจะสามารถเริ่มทำงานได้ แต่เขายังคงมีความรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปรกติ

ความรำคาญของ Samii เริ่มสะสมขึ้นเรื่อย ๆ โดยในวันแรกของการทำงาน เขาได้รับคำสั่งซ้ำ ๆ ให้ไปรับอาหารจากร้าน McDonald สาขาหนึ่งที่ปิดไปแล้วเป็นเวลาหลายเดือน ลูกค้าแทบไม่รู้เลยว่า Uber ไม่ได้ลบสาขานั้นออกจากฐานข้อมูล

Samii พยายามที่จะโน้มน้าวให้ Uber ลบสาขานี้ออกจากระบบ แต่กลับได้รับคำตอบกลับมาว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบได้ แต่เราสามารถจ่ายเงิน 2 ดอลลาร์ให้กับคุณได้เพราะคุณได้ไปที่นั่นมาแล้ว”

Samii ที่ใช้เวลา 20 นาทีขี่จักรยานคู่ใจของเขาไปที่นั่น และอีก 45 นาทีเพื่อคุยโทรศัพท์กับฝ่าย support ของ Uber แต่สุดท้ายได้เงินมาเพียงแค่ 2 ดอลลาร์

Samii รับไม่ได้ที่ไม่มีมนุษย์คนใดที่เขาสามารถพูดคุยด้วยและมีอำนาจในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานแบบนี้ได้

พื้นฐานของ Samii เองพอมีความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรมอยู่บ้าง และรู้ด้วยว่ามันเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับนักพัฒนาในการแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้

Samii อายุ 32 ปี เป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวชาวอิหร่านที่อพยพมายังแคลิฟอร์เนียในปี 1960 โดยพ่อแม่ของเขาทั้งคู่เป็นวิศวกรโยธา แม่ของเขาทำงานในหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นคอยคำนวณทราฟฟิกของจราจรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนน ส่วนพ่อของเขาเป็นวิศวกรที่สร้างสะพานและรางรถไฟให้กับเมืองซานดิเอโก

สำหรับสิ่งที่เขารักมาก ๆ ก็คือการปั่นจักรยาน เขามีจักรยานอยู่ 5 คัน และงานในฝันของเขาก็คืองานที่ต้องขี่จักรยานตลอดทั้งวัน

เมื่อย้ายจากเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนียมายังพิตส์เบิร์กในปี 2019 เขาได้เข้าร่วมการประชุมกับผู้แทนในท้องถิ่นโดยมีความพยายามที่จะทำให้เมืองนี้ปลอดภัยสำหรับนักปั่นจักรยานมากขึ้น

ปัจจุบันเขาก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Dashcam For Your Bike ซึ่งช่วยให้นักปั่นจักรยานในเมืองสามารถบันทึกภาพวีดีโอเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเรียกได้ว่าเขาเป็นนักกิจกรรมตัวยง

Samii ยังเคยทำงานให้กับบริษัท Argo.ai ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติที่ได้รับเงินทุนจาก Ford และ Volkswagen

เขาเป็นผู้นำทีมออกแบบระบบให้รองรับการสื่อสารระหว่างผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์กับยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเขาตระหนักอย่างยิ่งว่าเขากำลังเขียนโปรแกรมที่หากผิดพลาดอาจนำไปสู่การสังหารชีวิตมนุษย์ได้

ในช่วงฤดูร้อนปี 2020 เขาได้ลาออกจากงาน เพราะมองว่ารถยนต์ไร้คนขับแม้มันจะทำให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น

ในช่วงที่เขาหยุดพักเพื่อคิดว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิต Samii รู้ว่าเขาอยากสำรวจเมืองพิตส์เบิร์กด้วยการปั่นจักรยาน นั่นจึงเป็นที่มาของความคิดที่จะเป็นพนักงานส่งอาหารของ Uber Eats

จุดหมายปลายทางแรกของเขาคือบนยอดเนินพิกฮิลล์ ซึ่งเป็นเนินเขาที่สูงชันที่สุดแห่งหนึ่งในพิตส์เบิร์ก Samii ใช้เวลา 50 นาทีในการปั่นจักรยานขึ้นไปส่งอาหารจานแรก

ในขณะที่ยังไม่หายเหนื่อย งานที่สองก็เด้งเข้ามา เขาต้องใช้เวลาอีก 40 นาที ในการจัดส่งจนงานที่สองสำเร็จ ทำให้ลูกค้ารายที่สองของเขาต้องรอนานถึงชั่วโมงครึ่ง แถมยังถูกบ่นใส่อีกต่างหาก แต่ก็ยังอุตส่าห์มอบทิปราว ๆ 1 ดอลลาร์ให้กับ Samii

สิ่งที่ประหลาดคืออัลกอริธึมบอกว่างานทั้งหมดนี้จะใช้เวลาเพียงแค่ 6 นาที แต่กลับใช้เวลาทำงานจริง ๆ ถึง 90 นาที ในตอนแรกเขาคิดว่านี่เป็นเพียงแค่ความผิดพลาดธรรมดา ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

แต่เขาก็คิดขึ้นมาได้ว่าแม้กระทั่งการขับรถยนต์ก็ไม่สามารถที่จะเดินทางในระยะทางดังกล่าวนี้ได้ในเวลาเพียงแค่ 6 นาที “นี่ไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างการปั่นจักรยานและการขับรถ” เขากล่าว “นี่คือ Bug จริง ๆ”

ในสัปดาห์ต่อมา Samii ส่งข้อความถึง Uber มากกว่าสิบสองข้อความ เขาได้รับคำแนะนำอัตโนมัติจากระบบไม่ว่าจะเป็นการให้ออกจากระบบ , เริ่มแอปใหม่ , รีสตาร์ทอุปกรณ์ , ลบและติดตั้งแอปใหม่ , อัปเดทแอป , รีเซ็ตการตั้งค่าเน็ตเวิร์ก หากรอนานเกิน 10 นาทีให้ยกเลิกคำสั่งซื้อ แต่ก็ต้องบอกว่าที่ไล่ยาวมาทั้งหมดมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้เลย

เข้าได้สร้างสเปรดชีตขึ้นมาเพื่อบันทึกการติดต่อกับฝ่ายบริการลูกค้าของ Uber อย่างละเอียด เขาบันทึกไว้ 14 รายการและการสนทนาทางศัพท์นาน 126 นาที

“สุดท้ายผมก็ได้คุยกับคนที่สามารถเปิด Google Maps และบอกว่า ‘นี่คือจุดบกพร่องจริง ๆ'”

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียที่แว๊บเข้ามาในสมองของเขาว่า เขาสามารถที่จะหาพิกัดจากใบเสร็จรับเงินแล้วนำไปค้นใน Google ด้วยตัวเองเพื่อตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่

ต้องบอกว่าแอปส่งอาหารส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดค่าจ้างมาตรฐานแบบตายตัว แต่อัลกอริธึมจะกำหนดราคาแต่ละงานโดยใช้สูตรคำนวณที่คำนึงถึงตัวแปรต่าง ๆ อาจมีปัจจัยใดก็ได้ที่ส่งผลต่อราคา ตั้งแต่คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อ Rider ไปจนถึงสัดส่วนของงานที่พวกเขาปฏิเสธ

การคิดคำนวณโดยอัลกอริธึมแบบเพี้ยน ๆ ของ Uber (CR:Reddit)
การคิดคำนวณโดยอัลกอริธึมแบบเพี้ยน ๆ ของ Uber (CR:Reddit)

Samii รู้ว่าเขาได้รับค่าจ้างที่ต่ำเกินไป แต่ยังมีคำถามอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น แล้วเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน? Rider คนอื่น ๆ ในระบบได้รับค่าจ้างที่ไม่แฟร์แบบนี้ด้วยหรือไม่? และมันต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเท่าไหร่กันแน่?

ระบบทำให้สับสนเพราะบางครั้งจำนวนเงินที่น้อยนั้นไม่ได้เกี่ยวกับระยะทางเลย แต่มันเกี่ยวกับอัลกอริธึม Machine Learning ที่ตัดสินว่าพวกเขาจะจ่ายให้ Rider น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ต่างหาก

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 หลังจาก UberCheats เปิดตัวไปไม่นาน ทนายความของ Uber ก็ทำการร้องเรียนและขอให้ Google บล็อกแอปนี้บนเบราว์เซอร์ Chrome โดยอ้างว่าผู้คนอาจสับสนว่าเป็นผลิตภัณฑ์จริงของ Uber

เมื่อ Google ปฏิบัติตามคำร้องจาก Uber ทาง Samii ก็ส่งอีเมลอุทรณ์ถึง Google อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดการบล็อกก็ถูกยกเลิก แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 เขาติดสินใจปิด UberCheats แม้ว่ามันจะมีประโยชน์กับเหล่า Rider แต่มันกลายเป็นภาระที่มากเกินไปสำหรับเขา เพราะเมื่อ Uber ทำการปรับเปลี่ยนอัลกอริธึม เขาก็ต้องคอยมานั่งแก้ซึ่งมันไม่สนุกเลย

Samii ไม่มีทรัพยากรหรือแรงจูงใจมากพอที่จะฟ้อง Uber เขาสร้างเครื่องมือนี้เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพราะเรื่องราวเหล่านี้ในที่สุดมันก็ขึ้นสู่ชั้นศาล ในปี 2021 ศาลในเมืองอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Uber ในยุโรป ตัดสินว่า Uber ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมดในการหักเงินรายได้ของคนขับคนหนึ่ง เป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งต้องมีการพิจารณาทบทวนอัลกอริธึมโดยมนุษย์

นอกจากนั้นยังสั่งให้ Uber เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายในคดีนี้ และสั่งให้ Uber คิดคำนวณคะแนนของ Rider อย่างเป็นกลาง

อย่างไรก็ตามศาลสนับสนุน Uber ในการกล่าวอ้างเรื่องความโปร่งใสของอัลกอริธึม และไม่ได้สั่งให้ Uber เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการคำนวณราคา หรือวิธีที่ Rider ถูกตัดสินว่าฉ้อโกง

และที่สำคัญยังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของเหล่า Rider ที่ว่า Uber ไม่มีการควบคุมและดูแลโดยมนุษย์ในกระบวนการแจกจ่ายงานและการลงโทษพักงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการตีความกฎหมายครั้งแรกเกี่ยวกับพื้นที่ที่ซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับการตัดสินใจโดย AI

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 มีคำตัดสินครั้งสำคัญโดยศาลฎีกาของสหราชอาณาจักรได้กล่าวว่า Rider ของแพลตฟอร์ม Uber ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนแรงงานทั่วไปที่มีสิทธิได้ค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิ์ในการลาป่วย และเงินบำนาญ ซึ่งต่างจากบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ

นับเป็นครั้งแรกที่เหล่า Rider สามารถเรียกร้องสิทธิแรงงานที่บังคับใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่วนใหญ่ รวมถึงการลาป่วยและวันหยุด และคำตัดสินคล้าย ๆ กันนี้ก็เกิดขึ้นในแคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน

ในช่วงบ่ายฝนตกในฤดูร้อนปี 2022 ของพิตส์เบิร์ก Samii คว้าหมวกกันน็อคและจักรยานของเขา และได้เปิดใช้งานบัญชี Uber Eats อีกครั้งในช่วงสั้น ๆ เพื่อเช็คข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างที่เหล่าเพื่อน ๆ Rider จะได้รับนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19

Samii กล่าวว่าเหล่า Rider ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่มากขึ้นนับตั้งแต่เขาสร้าง UberCheats ในปี 2020 มันเปรียบเสมือนการลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นครั้งแรกโดย Samii ในฐานะ Rider ที่โดนเหล่าแพลตฟอร์มเอาเปรียบมานานแสนนาน

ก็ต้องบอกว่ามันกลายเป็นเคสตัวอย่างอย่างที่น่าสนใจที่โลกของเราตอนนี้ ไม่เพียงแต่แพลตฟอร์มในด้านการจัดส่งอาหารเพียงเท่านั้น เพราะแทบจะทุกแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีนั้นกำลังถูกควบคุมโดย AI แทบจะทั้งสิ้น

ซึ่งบางครั้งเรื่องโง่ ๆ บางอย่าง AI มันก็ยังไม่สามารถแก้ไขให้ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายดายก็ตามที แม้มันจะเป็นชัยชนะเล็ก ๆ ของเหล่า Rider แต่ท้ายที่สุดแล้วอัลกอริธึมที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี AI มันก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ยังพัฒนาต่อไป เพื่อขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/5c72d938-5d17-4600-a2e4-1cc20d3f9de1
https://www.wired.com/story/gig-workers-gather-data-check-algorithm-math/
https://www.vice.com/en/article/wx8yvm/uber-shuts-down-app-that-lets-users-know-how-badly-theyve-been-cheated
https://barkanmeizlish.com/uber-eats-and-the-pandemic-economy/

AI x Biotechnology เมื่อสองเทคโนโลยีผสานเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมายาวนานของมนุษยชาติ

เป็นพาร์ทหนึ่งที่น่าสนใจมากจากหนังสือ The Coming Wave :  Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma โดย Mustafa Suleyman ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความก้าวหน้าที่สำคัญมาก ๆ เมื่อโลกของเทคโนโลยี AI มาบรรจบกับเทคโนโลยีด้านชีวภาพ

โปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต กล้ามเนื้อ เลือด ฮอร์โมน หรือแม้กระทั่งเส้นผมของมนุษย์เรา โดยเป็นสัดส่วนถึง 75% ของน้ำหนักของมนุษย์โดยส่วนใหญ่

เรียกได้ว่าโปรตีนอยู่ในทุกอณูของชีวิตมนุษย์เรา ทำหน้าที่สำคัญมากมาย และมนุษย์เราก็มีคำถามที่สำคัญกับเรื่องโปรตีนมานานแล้ว

แต่ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับองค์ความรู้ของมนุษย์เราที่ผ่านมาก็คือ การรู้เพียงแค่ลำดับ DNA เพียงอย่างเดียวนั้นมันยังไม่เพียงพอที่จะรู้ว่าโปรตีนทำงานอย่างไร

เราต้องทำความเข้าใจว่าการม้วนพับของโปรตีนนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมันเป็นปัญหาคลาสสิกที่มนุษย์เราต้องการที่จะเรียนรู้มันมานานแล้ว

แต่เดิมเราใช้วิธีการคำนวณแบบ brute-force ซึ่งก็คือการพยายามหาความเป็นไปได้ทั้งหมดที่สามารถเกิดขึ้นได้ ใช้ความถึกล้วน ๆ ซึ่งมันอาจจะใช้เวลานานกว่าอายุของเอกภพที่เรารู้จักกันเสียอีกกว่าจะได้เรียนรู้มันแบบจริง ๆ จัง ๆ

การค้นหาว่าการม้วนพับของโปรตีนมันทำได้อย่างไรจึงเป็นกระบวนการที่มีความท้าทายสูงมาก ๆ ซึ่งใช้เวลานานหลายทศวรรษแล้วที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาวิธีว่ามันมีวิธีที่ดีกว่าเดิมหรือไม่

ในปี 1993 พวกเขาได้ตัดสินใจจัดการแข่งขันปีละ 2 ครั้งที่เรียกว่า Critical Assessment for Structure Prediction (CASP) เพื่อดูว่าใครที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการม้วนพับของโปรตีนได้

ใครก็ตามในโลกใบนี้ที่สามารถคาดการณ์ได้ดีที่สุดว่าโปรตีนพับได้อย่างไรจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งในไม่ช้า CASP ก็กลายเป็นมาตรฐานในสนามที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

และการแข่งขัน CASP13 ในปี 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่รีสอร์ตที่มีต้นปาล์มรายล้อมในแคนคูน ประเทศเม็กซิโก มีทีมม้ามืดทีมหนึ่งได้เข้ามาร่วมแข่งขันโดยที่ประสบการณ์ในแวดวงนี้ของพวกเขาแทบจะเป็นศูนย์

ทีมม้ามืดทีมนี้สามารถเอาชนะทีมอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นนักวิจัยที่เก่งกาจในสาขานี้รวมถึงทั้งสิ้น 98 ทีมไปได้อย่างง่ายดาย

และทีมม้ามืดทีมนั้นก็คือทีม DeepMind ซึ่งได้สร้างโปรเจกต์ลับที่มีชื่อว่า AlphaFold โดยเป็นโครงการแฮ็กกาธอนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายในบริษัทเมื่อปี 2016

โปรเจกต์ดังกล่าวทำให้นักวิจัยในแขนงดังกล่าวทั่วโลกต่างอึ้งกับผลลัพท์ที่ทีม ๆ นี้ทำได้ มันเป็นการผสมผสานระหว่างชีววิทยาและคอมพิวเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งมันชี้ชัดให้เห็นว่าทั้ง AI และเทคโนโลยีชีวภาพจะมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร

ทีมอันดับสองในเวลานั้นสามารถทำนายโครงสร้างโปรตีนได้เพียงสามโครงสร้างจาก 43 โครงสร้างเป้าหมายที่ยากที่สุด แต่ผลงานที่ชนะของ AlphaFold นั้นสามารถทำนายได้สูงถึง 25 โครงสร้าง และที่สำคัญมันฉีกหนีคู่แข่งเป็นชิ้น ๆ ด้วยการทำเวลาที่เร็วกว่ามาก ๆ ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพียงเท่านั้น

ในการแข่งขันปีนั้นซึ่งเต็มไปด้วยยอดอัจฉริยะด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากทั่วโลกที่ฉลาดเป็นกรด แต่ผลงานของ AlphaFold ทำให้ทุกคนต่างตกตะลึงและได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของ AI ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

Mohammed AlQuraishi นักวิจัยที่มีชื่อเสียงในสาขาดังกล่าวนี้ ถึงกับกล่าวว่า “มันเกิดอะไรขึ้น!!!”

ทีมงานของ DeepMind ใช้เทคโนโลยี Neural Network เพื่อทำนายว่าโปรตีนจะพับตัวอย่างไรตาม DNA ของพวกมัน ทำการฝึกฝนชุดของโปรตีนที่รูัจัก โดยแทบจะลืมสิ่งที่นักวิจัยเก่า ๆ ทำมาทั้งหมด

พวกเขาไม่ใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเภสัชกรรม หรือ เทคนิคดั้งเดิมแต่มีความล้าหลัง เช่น กล้องจุลทรรศน์ไครโออิเล็กตรอน หรือแม้แต่วิธีการใช้อัลกอริธึมแบบเดิม ๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่สิ่งสำคัญที่ AlphaFold ใช้ก็คือความเชี่ยวชาญและความสามารถด้าน Machine Learning ที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยี AI โดยนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาผสานรวมกับชีววิทยาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สองปีต่อมามีการพาดหัวข่าวใหญ่ในวารสาร Scientific American “ในที่สุดปัญหาใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในด้านชีววิทยาก็ได้รับการแก้ไขแล้ว”

ต้องบอกว่าจักรวาลโปรตีนที่ซ่อนอยู่ก่อนหน้านี้ได้ถูกเปิดเผยด้วยความเร็วอันน่าตกใจเอามาก ๆ AlphaFold ทำให้เทคโนโลยีโบราณก่อนหน้านั้นถูกเลิกใช้อย่างถาวร

มันเป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษที่การม้วนพับของโปรตีนเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ และทันใดนั้น มันก็ถูกทำลายโดย AlphaFold

ในปี 2022 AlphaFold2 เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ มันเป็นเครื่องมือด้าน Machine Learning ที่มีความล้ำหน้ามากที่สุดในโลกซึ่งถูกใช้งานทั้งในการวิจัยทางชีววิทยาขั้นพื้นฐานและประยุกต์

นักวิจัยมากกว่าหนึ่งล้านคนที่เคยงมเข็มในมหาสมุทรโปรตีนสามารถเข้าถึงเครื่องมือนี้ภายในสิบแปดเดือนหลังจากเปิดตัวรวมถึงห้องปฏิบัติการด้านชีววิทยาชั้นนำของโลกแทบจะทุกแห่ง

โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถตอบคำถามตั้งแต่การดื้อยาปฏิชีวนะไปจนถึงการรักษาโรคยาก ๆ หรือแม้กระทั่งคำถามในเรื่องต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

การทดลองในยุคโบราณก่อนหน้านี้มีการส่งโครงสร้างของโปรตีนได้ประมาณแค่ 190,000 ชนิดไปยังฐานข้อมูลของสถาบันชีวสารสนเทศของยุโรป หรือประมาณเพียงแค่ 0.1% ของโปรตีนที่มีอยู่

DeepMind ได้อัปโหลดโครงสร้างโปรตีนประมาณ 200 ล้านโครงสร้างได้ในครั้งเดียว ซึ่งเป็นตัวแทนของโปรตีนที่รู้จักเกือบทั้งหมด ในขณะที่เหล่านักวิจัยอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนเพื่อตรวจสอบรูปร่างและหน้าที่ของโปรตีน แต่กระบวนการดังกล่าวของ DeepMind นั้นสามารถทำได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการมาบรรจบกันของเทคโนโลยีทั้งสองนี้ การปฏิวัติทางชีวภาพกำลังพัฒนาร่วมกับความก้าวหน้าของ AI และเราจะได้เห็นปัญหาอีกหลายอย่างที่ไม่เคยแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะการรักษาโรคยาก ๆ เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ หรืออีกหลากหลายโรคที่พรากชีวิตคนที่เรารักไปแบบไม่รู้ตัว ซึ่งผมเชื่อว่าสุดท้ายโรคเหล่านี้มันจะจบลงในรุ่นของเราได้อย่างแน่นอนครับผม

References :
หนังสือ The Coming Wave :  Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma โดย Mustafa Suleyman
https://th.wikipedia.org/wiki/การม้วนพับโปรตีน
https://cs60052016.blogspot.com/2016/10/brute-force-algorithm.html

Compaq Computer ผู้ปฏิวัติวงการ PC ตัวจริงที่ถูกลืม

ถ้ากล่าวถึงแบรนด์อย่าง Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามีแบรนด์ นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Compaq เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

ต้องบอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลยทีเดียวสำหรับการเริ่มธุรกิจ ซึ่ง Rod Canion นั้นถนัดทางด้านบริหารธุรกิจ Murto ถนัดทางด้านการตลาด ส่วน Harris นั้น จะถนัดทางด้าน Engineer แต่ต้องบอกว่า การที่ทั้งสามออกจากบริษัทยักษ์ และมั่นคงอย่าง Texus Intrument แล้วมาเริ่มธุรกิจนั้น มีแต่คนหาว่าพวกเขาบ้าแม้กระทั่งครอบครัวของพวกเขาเองก็ตาม

เริ่มต้นจากงานอดิเรก และความคิดบ้า ๆ

มันเป็นการเริ่มต้นจากงานอดิเรกพร้อมกับความคิดบ้า ๆ ของทั้งสามคน ที่ต้องการจะก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าทั้งสามไม่ได้มีเงินมากมายรวมถึงไม่ได้มีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายอย่าง Startup ในปัจจุบัน ทั้งสามต้องจำนองบ้าน รวมถึงขายรถเพื่อมาเป็นทุนในการเริ่มต้นเปิดบริษัท

ในยุคนั้นต้องบอกว่า IBM นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่มาก ๆ ของวงการธุรกิจของอเมริกาควบคุมทุกอย่างอย่างเบ็ดเสร็จในโลกเทคโนโลยี ทำทุกอย่างตั้งแต่ computer mainframe สำหรับองค์กร ไปจนถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การที่จะมาสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM นั้นถือว่าไม่ใ่ช่เรื่องที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดีเหล่า 3 ผู้ก่อตั้งแห่ง Compaq นั้นได้เห็นช่องว่างทางการตลาดบางอย่าง ที่ IBM ยังครอบครองแบบไม่เบ็ดเสร็จนั่นก็คือตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สามารถพกพาได้ หรือ ตลาด notebook ในปัจจุบันนั่นเอง

ถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น ต้องบอกว่าแม้จะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถพกพาได้ แต่ขนาดเครื่องก็มีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีรูปร่างไม่สวยรวมถึงไม่ได้มีแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งานแบบไม่ต้องเสียบปลั๊กเหมือนในยุคปัจจุบัน

การเริ่มหาทุนในการตั้งบริษัทนั้น ในขณะที่ทั้งสามมีแต่ไอเดียและร่างแบบคร่าว ๆ ของคอมพิวเตอร์แบบพกพา ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหาทุนเริ่มต้นในสมัยนั้น

ทาง Rod Canion จึงได้เขียนแผนธุรกิจคร่าว ๆ ขึ้นมา และได้มีโอกาสไปพบกับ Ben Rosen โดยเริ่มลงทุนให้ 750,000 เหรียญเป็นทุนตั้งต้นในการเริ่มธุรกิจ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในยุคนั้น Silicon Valley ยังคงเป็นเพียงแค่ทุ่งและ สวนผลไม้

ทั้งสามคนก็ได้เริ่มว่าจ้างทีมงานจากเงินลงทุนเริ่มต้น และเริ่มทำการผลิตตัว Compaq Portable ตัวแรกออกมา โดยใช้วิธีการ Reverse Engineer หรือ วิศวกรรมย้อนกลับจาก IBM PC  เนื่องจาก IBM ขณะนั้นประสบความสำเร็จ และขายได้ติดตลาดไปแล้ว ต้องทำทุกอย่างให้สามารถ Run Software ของ IBM ได้ทั้งหมด ก็จะเข้าถึงตลาดขนาดมหาศาลที่ IBM ได้เริ่มเปิดตลาดไว้แล้ว

การเริ่มต้นคือต้องทำการลอก Code ของ IBM ที่เป็นตัว Chip หลักที่ใช้ Control PC เพราะส่วนประกอบอื่น ๆ ของ PC นั้นสามารถหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป สิ่งที่เป็นจุดต่างคือ Chip ที่มีรหัสพิเศษของ IBM เท่านั้น เครื่องก็จะสามารถทำงานกับ Software และ Hardware ต่าง ๆ ของ IBM ได้

ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC
ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Compaq Portable PC

ในทีุ่สดพวกเขาก็ทำสำเร็จ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง Compaq Portable PC ออกมาได้ และสามารถใช้งานได้กับ Software ของ IBM ได้ทุกอย่าง โดยมีขนาดเบากว่าและราคาที่ถูกกว่า บริษัทได้เชิญสื่อมามากมายในวันเปิดตัวปี 1982 ใน นิวยอร์ก

จากการเปิดตัวทำให้บริษัทเริ่มมีชื่อเสียงผู้คนเริ่มชอบในผลิตภัณฑ์ของ Compaq ซึ่งต้องบอกว่าพวกเขาได้สร้างผลิตภัณฑ์ตัวแรกมาได้อย่างดีมาก พนักงานที่ขายผลิตภัณฑ์ของ IBM อยู่แล้วก็ไม่ยากเลยที่จะขายผลิตภัณฑ์ของ Compaq เพราะมันสามารถทำงานได้เหมือนกัน ต้องบอกว่าสินค้าขายดีมากและผลิตแทบจะไม่ทันกันเลยทีเดียวในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย

แค่ปีแรกเพียงปีเดียว Compaq สามารถขาย Portable PC ของตัวเองไปได้ถึง 53,000 เครื่อง สื่อถึงกับยกให้บริษัท Compaq นั้นเป็นบริษัทที่เติบโตได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

สู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง IBM

หลังจากนั้น IBM ก็ได้ออก Portable PC เพื่อมาตอบโต้กลับในปี 1984  โดยออกมาเพื่อจะฆ่า Compaq โดยเฉพาะ แต่สิ่งที่พวกเขาพลาดไปและมั่นใจเกินไปนั่นคือ Portable PC ของ IBM นั้นไม่สามารถรัน Software บางส่วนของ IBM PC เดิมได้

และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรม PC เลยก็ว่าได้  Compaq แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะ Portable PC นั้นสามารถ run ทุกอย่างของ IBM PC ได้ ทำให้ยอดขายยิ่งกระฉูดขึ้นไปอีก มีการขยายโรงงานการผลิต รวมถึงรับพนักงานมากจนถึงกว่า 1000 คนภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น

สร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับ Silicon Valley

ถ้าถามว่าวัฒนธรรมการแจกอาหารฟรี รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานได้อย่างเต็มที่ของบริษัท Startup ในปัจจุบันนั้นใครเป็นคนริเริ่ม ก็ต้องบอกว่า Compaq นี่แหละเป็นผู้ที่สร้างวัฒนธรรมนี้ให้กับ Silicon Valley

เพราะ Compaq เป็นบริษัทแรกที่มีการแจกอาหารและเครื่องดื่ม ให้พนักงานได้รับประทานกันแบบฟรี ๆ ในยุคนั้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แปลกใหม่พอสมควร ทำให้คนสนใจที่จะมาทำงานกับ Compaq มากยิ่งขึ้น และสามารถ Focus กับงานที่ทำได้อย่างเต็มที่

แล้วบริษัทอย่าง Apple หายไปไหนในช่วงนั้น

ช่วงปีต้น ๆ ของ Compaq นั้น Apple ก็ได้ออกวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ขนาดตลาดของ Apple เมื่อเทียบกับขนาดตลาดของ PC ที่ IBM เป็นคนเปิดตลาดมีความแตกต่างกันอย่างมาก ถ้าเทียบตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งหมดนั้น Apple สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพียงแค่ 4-5% เท่านั้น


และการที่ Apple เป็บระบบปิดไม่สามารถเชื่อมต่อกับใครได้ software ก็รันของตัวเอง ก็ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดได้น้อยมาก ๆ แม้จะวางจำหน่ายแมคอินทอชพร้อมระบบ Inteface ใหม่ พร้อม mouse ที่เป็นการปฏิวัติวงการในขณะนั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว Apple เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ไปเลยเมื่อเทียบกับตลาด PC ที่ IBM ครองตลาดอยู่ในตอนนั้น ซึ่ง Compaq มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ IBM ซึ่งใหญ่มาก ๆ ทำให้ Compaq แทบจะเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทของประเทศอเมริกา

การเติบโตแบบก้าวกระโดด

ด้วยความผิดพลาดของ IBM รวมถึง Apple ก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้กับแมคอินทอชรวมถึงลิซ่า ทำให้ Steve Jobs ก็ต้องถูกบีบให้ออกจาก apple ไปในที่สุด เมื่อถึงตอนนั้น ก็ไม่มีใครจะมาขัดขวางการเติบโตของ compaq ได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องของเทคโนโลยีรวมถึงการตลาด ที่เริ่มนำเอาผู้มีเชื่อเสียงมาช่วยในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำให้ยอดขายของ Compaq เติบโตขึ้นเกินกว่าปีละ 100% ตลอดในช่วงแรกเริ่มและพุ่งไปถึงกว่า 500 ล้านเหรียญในปี 1985

จุดเปลี่ยนที่สำคัญกับการเข้ามาของ Intel Chipset 386

IBM นั้นมักจะได้สิทธิ์ Exclusive กับ Chip ของบริษัทชื่อดังอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ IBM ถูกปฏิเสธโดย Intel ซึ่ง Chipset 386 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ รวมถึงเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของ Chip ที่ทำให้การทำงานของ PC ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

เมื่อ Intel ไม่ได้ Exclusive ตัว Chip 386 กับ IBM แล้ว  Compaq ก็เร่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ Chipset 386 เพื่อออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด

ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ
ผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ขายดีสุด ๆ

ไม่เพียงแค่ Chipset Intel 386 เท่านั้น เมื่อ Compaq ออกผลิตภัณฑ์อย่าง Desktop386 ก็ได้มีการร่วมมือกับ Microsoft ของ Bill Gate ที่ยอมให้ระบบปฏิบัติการของ Windows สามารถรันได้บน Compaq ได้แบบที่ว่าไม่ต้องไปทำการ Copy Chip Code ใด ๆ จาก IBM อีกต่อไป  เป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างสิ้นเชิงและปลดแอกจาก IBM ในที่สุด

ความสุดยอดของ Chipset 386 ทำให้ Compaq เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเริ่มฉีกหนี IBM ออกไป และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก IBM ไปได้อย่างมาก

แม้ตลาดองค์กร IBM จะเป็นเจ้าตลาดอยู่ก็ตามแต่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นต้องบอกว่า Compaq ได้ทำยอดขายแซง IBM ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Compaq ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็เข้าสู่ทำเนียบ Fortune 500 ได้สำเร็จ

สามผู้ก่อตั้งต่างร่ำรวยจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่พนักงานกลุ่มแรก ๆ ที่ได้หุ้น ก็ทยอยกลายเป็นเศรษฐีกันไปด้วย ต้องบอกว่า Compaq เป็นบริษัทที่ใช้เวลาสร้างกิจการได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา และสามารถทำยอดขายแตะ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้เร็วที่สุดอีกด้วย

ความผิดพลาดซ้ำสองของ IBM

การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของ IBM ถือเป็นครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับบริษัทที่เพิงเกิดใหม่เพียงไม่กี่ปีอย่าง Compaq

IBM ต้องเริ่มใช้การฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรของ Compaq โดยใช้การ Reverse Engineer ที่ Compaq ทำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงเหมือนกันที่ Compaq จะถูกฟ้องร้องจนอาจต้องถูกปิดบริษัทไปเลย แต่สุดท้าย Rod Canion ก็ใช้วิธีการเจรจาและชดใช้ค่าเสียหายจนตกลงกันได้ที่ประมาณ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ

IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM
IBM PS2 ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยของ IBM

ความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดของ IBM คือการต้องการออกแบบระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ Compaq สามารถลอกเลียนแบบได้ โดยออกระบบปฏิบัติการใหม่คือ PS/2 ที่ยากที่คู่แข่งจะเลียนแบบ ซึ่งต้องบอกว่า IBM ต้องการฆ่าทุกคนในธุรกิจนี้เลยก็ว่าได้

แต่หารู้ไม่การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ที่ไม่สามารถเข้ากับผลิตภัณฑ์ตัวเดิมของ IBM ได้เลยนั้นถือเป็นการฆ่าตัวตายของ IBM เอง เพราะองค์กรใหญ่หลาย ๆ องค์กรในสหรัฐได้สั่งซื้อเครื่อง computer ของ IBM ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนต้องมีการเปลี่ยนแบบยกองค์กรและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ทำให้องค์กรหลาย ๆ องค์กรไม่ต้องการซื้อ PS/2 ของ IBM เพราะต้องมาเริ่มเรียนรู้กันใหม่หมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาลมาก ๆ

เหมือนยื่นดาบให้ศัตรูมาฆ่าตัวเองเลยก็ว่าได้สำหรับ IBM ชัดเจนว่าต่อจากนี้ ตลาด PC นั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว IBM ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตลาดอีกต่อไป มีการรวมตัวของผู้ผลิต PC ขนาดใหญ่จำนวน 9 ราย รวมถึงมีการเจรจากับ Bill Gate จาก Microsoft และพัฒนามาตรฐานของพวกเค้าเองในชื่อ EISA (Extended Industry Standard Architecture) โดยที่ไม่เกี่ยวข้องใด  ๆ กับ IBM อีกต่อไปเป็นการถีบ IBM ออกจากตลาด PC แบบถาวรเลยก็ว่าได้

เมื่อ Compaq เข้าสู่ยุคตกต่ำ

แม้การรวมตัวจะเป็นผลดีและทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นและที่สำคัญสามารถกำจัด IBM ออกจากตลาดได้สำเร็จ แต่ขนาดองค์กรของ Compaq ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มยากที่จะบริหารให้ได้เหมือนตอนเริ่มต้นกิจการ

Compaq เริ่มมีการขยายตลาดไปยังยุโรป ทำให้ได้เจอกับ Eckhard Pfeiffer ที่ถนัดในเรื่องการผลิตในปริมาณมาก ๆ แต่ตัว Rod Canion เองนั้นอยากให้ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพเหมือนเดิมต่อไป รวมถึงผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างโตชิบ้าก็สามารถผลิตในราคาที่ถูกกว่าซึ่งเป็นการเข้ามากำจัดจุดเด่นของ Compaq ในยุคแรก ๆ ไปเลยก็ว่าได้

ปัญหาต่าง ๆ เริ่มรุมเร้าตัว Rod Canion เองและไม่สามารถแก้ปัญหาได้เริ่มมีการตีตลาดจากแบรนด์นอก รวมถึงดาวรุ่งที่พุ่งแรงขึ้นมาอย่าง Dell ที่สามารถผลิตสินค้าในราคาถูกกว่า Compaq

ทำให้ยอดขายของ Compaq เริ่มตก บริษัทเริ่มปลดพนักงานออกไป Rod Canion เริ่มถูกกดดันจากกรรมการบริษัทคล้าย ๆ กรณีของ Steve Jobs ที่ถูกกดดันให้ออกจาก Apple

Rod Canion เริ่มทนกระแสกดดันไม่ไหวจนต้องยอมถอนตัวออกไป เป็นการสิ้นสุด Compaq ของยุคผู้ก่อตั้งทั้งสามและให้ Eckhard Pfeiffer เข้ามาเป็น CEO แทน

ซึ่งสุดท้ายก็มีการควบรวมกิจการกับ HP เพื่อกลายเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2002 เป็นการสิ้นสุดแบรนด์ Compaq ไปในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.wikipedia.org
https://history-computer.com/the-real-reason-compaq-failed-spectacularly/
https://www.pcmag.com/news/the-golden-age-of-compaq-computers
https://www.wnyc.org/story/unlikely-pioneers-who-founded-compaq-and-transformed-tech/