เมื่อ Apple เปิดตัว interface ใหม่แบบ multitouch พร้อมกับ iPhone ในปี 2007 เหมือนโลกของการปฏิสัมพันธ์กับมือถือและคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีสุดเจ๋งนี้ใช้เวลาพัฒนานานถึง 3 ทศวรรษกว่าจะถูกนำเสนอต่อโลกอย่างสมบูรณ์แบบ
ปัจจุบัน interface แบบ multitouch กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนนับพันล้านทั่วโลก ทั้งการเช็คอีเมล เล่นเกม หรือแต่งเพลง แต่หากย้อนกลับไปที่จุดกำเนิด เรื่องราวของมันเรียกได้ว่าน่าทึ่งมาก เพราะมันเกิดจาก แนวคิดในการพัฒนาระบบป้องกันไม่ให้เครื่องบินชนกันในอากาศ
ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 วิศวกรชาวอังกฤษชื่อ Johnson ผู้ทำงานในหน่วยงานเรดาร์ของประเทศอังกฤษได้เริ่มคิดค้นไอเดีย interface รูปแบบใหม่ เพื่อควบคุมการจราจรทางอากาศและจัดการเส้นทางการบินเข้าออกในสนามบินของสหราชอาณาจักร
ช่วงนั้น ยุคของการบินพาณิชย์กำลังเริ่มต้น เส้นทางบินรอบเมืองใหญ่มีความซับซ้อนมากขึ้น เครื่องบินรุ่นใหม่บินเร็วขึ้น ทำให้การควบคุมการจราจรทางอากาศกลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
Johnson สร้างต้นแบบของสิ่งที่เรียกว่า capacitive touch screen ซึ่งมีคุณสมบัติหลักที่เรายังใช้อยู่ในอุปกรณ์หน้าจอสัมผัสแบบ multitouch จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกระจกไม่สามารถนำไฟฟ้าได้ จึงต้องเคลือบหน้าจอด้วยตาข่ายโปร่งแสงของวัสดุนำไฟฟ้า เช่น อินเดียมทินออกไซด์
ไฟฟ้าจะไหลผ่านตาข่ายอยู่ตลอดเวลา เมื่อนิ้วสัมผัสบนหน้าจอ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านผิวหนังแทนตาข่าย ทำให้อุปกรณ์สามารถตรวจจับตำแหน่งของนิ้วบนจอได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี multitouch อย่างแท้จริง
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 นักควบคุมจราจรทางอากาศของอังกฤษได้นำอุปกรณ์ของ Johnson มาใช้ในการทำงาน แต่เทคโนโลยีนี้ไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมากนัก
เรื่องราวมาพลิกโฉมเมื่อนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัย Kentucky ที่ชื่อ Samuel ซึ่งกำลังทำงานกับอุปกรณ์ Van de Graaff accelerator ที่ใช้ในการศึกษาอนุภาคประจุไฟฟ้า เกิดไอเดียที่จะใช้กระดาษนำไฟฟ้าในการบันทึกพิกัดแกน X และแกน Y จากการทดลองโดยอัตโนมัติ
ระหว่างสร้างอุปกรณ์ Samuel เริ่มคิดว่าเทคโนโลยีเดียวกันนี้สามารถประยุกต์ใช้กับพิกัดแกน X และ Y ของจอคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน ไม่นานหลังจากนั้น เขาทิ้งอุปกรณ์ Van de Graaff accelerator และก่อตั้งบริษัทผลิตหน้าจอสัมผัสสำหรับคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มจากห้องใต้ดินในบ้านของเขาเอง
Samuel มองถูกทางว่า interface แบบสัมผัสจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้คอมพิวเตอร์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลองคิดดู เราเพียงแค่มองหน้าจอ จิ้มนิ้ว แล้วได้คำตอบกลับมา Samuel ผู้ล่วงลับในปี 2011 เคยกล่าวกับสื่อมวลชนไว้ว่า “ทุกคนสามารถจิ้มนิ้วได้”
สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อนักวิชาการหลายคน รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการวิจัยในซิลิคอนวัลเลย์หลายแห่ง เริ่มทดลองจัดการบนหน้าจอโดยตรงโดยใช้นิ้วหลายนิ้วพร้อมกัน
บทพิสูจน์แรกของการปฏิวัติที่กำลังจะมาถึงเกิดขึ้นบนเวทีการประชุม TED ในปี 2006 โดยศาสตราจารย์ Jeff Han จากสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กลุ่มวิจัยของ Han ได้พัฒนาต้นแบบ interface multitouch ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปในทุกวันนี้
เช่น การลากไอคอนด้วยการสัมผัสนิ้วบนหน้าจอและเลื่อนไปตามพื้นผิว การบีบหรือแยก 2 นิ้วเพื่อย่อหรือขยายรูปภาพ Chris Anderson บรรณาธิการจัดงาน TED เล่าว่ามีคนส่งวิดีโอของ Jeff Han ที่แสดงรูปแบบของ interface ดังกล่าวให้เขาดูประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนงาน TED ปี 2006
ตอนนั้นมียอดวิวเพียงไม่กี่พันครั้ง แต่ Anderson รู้สึกตื่นเต้นมากและรีบติดต่อไปที่ Jeff Han ทันที ขอร้องให้ละทิ้งทุกอย่างและมุ่งตรงมายังสถานที่จัดงาน TED
บนเวที Jeff Han พูดว่าเขากำลังจะนำเสนอบางสิ่งที่กำลังออกจากห้องทดลอง และมันจะเปลี่ยนวิธีที่เราปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อุปกรณ์สาธิตของเขาคือจอภาพขนาดใหญ่วางอยู่เหมือนโต๊ะวาดแบบตรงหน้าเขา
ระหว่างพูด Han แสดงการใช้งานอย่างคร่าวๆ เช่น การจัดการรูปภาพ การนำทางแผนที่ และภาพเคลื่อนไหวบางส่วนที่เขาสามารถจัดการด้วยนิ้วมือได้ แต่ไฮไลท์จริงๆ ของการแสดงไม่ใช่เนื้อหาบนหน้าจอ แต่เป็นวิธีที่ interface ของ Jeff Han ช่วยให้เขาสามารถปฏิสัมพันธ์กับมันได้
Chris Anderson เล่าว่ามีช่วงหนึ่งประมาณ 2 นาทีหลังจากเริ่มการนำเสนอของ Jeff Han ผู้ชมเริ่มตระหนักทันทีว่าอนาคตของ interface บนคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนั้น Han กำลังแสดงรูปภาพโดยใช้ 2 นิ้วยืดรูปภาพให้เต็มหน้าจอ และทุกคนที่กำลังจ้องมองอยู่รู้สึกตื่นเต้นตามกันไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที
ในขณะที่ Jeff Han กำลังทำงานกับต้นแบบหน้าจอแบบ multitouch มีบริษัท startup ชื่อ FingerWorks ซึ่งกำลังทดลองระบบคล้ายๆ กันอยู่ ได้ถูก Apple เข้าซื้อกิจการไปแบบเงียบๆ เพื่อช่วยพัฒนาโปรเจค “Purple” ซึ่งก็คือ iPhone รุ่นแรกนั่นเอง
ตอนนั้น Ken Kocienda ได้เข้าร่วมงานกับ Apple ก่อนที่โปรเจค Purple จะเริ่มต้นได้ไม่นาน โดยแรกเริ่มทำงานกับเว็บเบราว์เซอร์ Safari ซึ่งเปิดตัวในปี 2003 Kocienda กล่าวถึงการสาธิต interface โปรเจค Purple เวอร์ชั่นแรกโดย Bas Ording นักออกแบบระดับตำนานของ Apple
โดยที่ผู้ใช้สามารถปัดหน้าจอเพื่อเลื่อนรายการที่ยาวๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่จะมีรูปแบบการกระดอนขึ้นมาเพื่อบอกว่ามันไปถึงจุดสิ้นสุดของหน้าจอนั้นๆ แล้ว
แม้ว่า interface ของ Project Purple จะดูว้าวเป็นอย่างมาก แต่มันก็มีข้อบกพร่องบางประการ โดยเฉพาะการใช้งานแป้นพิมพ์เสมือนบนหน้าจอขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากมากในยุคนั้น
ตอนนั้น BlackBerry กำลังเรืองอำนาจ มันเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการสื่อสารแบบพกพาด้วยรูปแบบของคีย์บอร์ดแบบกายภาพ (physical keyboard) การเสนอแนวคิดสุดล้ำของโปรเจค Purple เป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับแป้นพิมพ์เสมือน
หากต้องการพิมพ์ แป้นพิมพ์เสมือนจะเด้งขึ้นมาและผู้ใช้ต้องป้อนข้อความโดยแตะบนหน้าจอ แม้จะดูล้ำมากในตอนนั้น แต่ในทางปฏิบัติเรียกได้ว่าเป็นเรื่องหายนะ เนื่องจากขนาดของโทรศัพท์ หากผู้ใช้ต้องการแป้นพิมพ์เต็มรูปแบบด้วยตัวอักษร 26 ตัว แป้นพิมพ์เสมือนก็ต้องมีขนาดเล็กมาก ซึ่งเล็กจนนิ้วมนุษย์ไม่สามารถพิมพ์ได้อย่างแม่นยำ
ในช่วงแรกๆ Apple ได้มอบหมายให้ทีมงานเล็กๆ ทำงานกับแป้นพิมพ์เสมือนสำหรับโปรเจค Purple แต่เมื่อผ่านไปสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า Scott Forstall ผู้บริหารที่ดูแลโปรเจค Purple ในตอนนั้นก็จะเข้ามาทดสอบและลองใช้งานรุ่นล่าสุด พยายามพิมพ์ชื่อของตนเองด้วยแป้นพิมพ์เสมือน แต่ผ่านไปแต่ละสัปดาห์ มันก็ดูเหมือนยังไม่เวิร์ค
Kocienda กลายเป็นคนสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาของแป้นพิมพ์เสมือน เขาได้ค้นพบวิธีสุดเจ๋งในขณะที่กำลังเดินรอบๆ สำนักงานใหญ่ของ Apple เขาตระหนักว่าทุกครั้งที่ผู้ใช้พิมพ์คำบนแป้นพิมพ์เสมือน จะมีรูปแบบคำที่ต้องการอยู่แล้ว
Kocienda ได้แปลงคำในพจนานุกรม หลังจากนั้นก็ได้ปรับเป็นรูปร่างแบบเฉพาะตัวตามการจัดเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ เมื่อผู้ใช้พิมพ์ 3 ตัวอักษร ซอฟต์แวร์ก็จะดูตำแหน่งและจุด และทำการคาดเดาว่าตัวอักษรใดมีรูปร่างคล้ายคลึงกันมากที่สุด
หลังจากการประชุมมาราธอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ Apple ก็ได้จัดให้มีการรวมตัวของทีมงาน Project Purple ในห้องประชุมและทำการพรีเซนต์สิ่งสุดท้ายที่เรียกว่า “keyboard derby” ซึ่ง Scott Forstall จะทำการสาธิตให้ Steve Jobs ดู ด้วยการพิมพ์บนแป้นพิมพ์เสมือน
เบื้องหลังของซอฟต์แวร์ที่ Forstall พิมพ์มีการบันทึกการกดปุ่มหลายปุ่มพร้อมกัน ซึ่งหลังจากการแปลงตัวอักษรที่ดูสับสนวุ่นวายให้กลายเป็นแพทเทิร์น ข้อความบนหน้าจอก็เสกออกมาเป็น “Scott is my name” Kocienda สามารถเอาชนะความท้าทายนี้ได้สำเร็จ และผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะกลายเป็น iPhone ก็พร้อมที่จะเปิดเผยสู่สายตาโลก
แนวคิดของนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่างเป็นผลมาจากความร่วมมือกันในรูปแบบที่หลากหลาย เทคโนโลยี multitouch เริ่มต้นจากความก้าวหน้าทางกลไกไฟฟ้า การใช้คุณสมบัตินำไฟฟ้าของนิ้วมือมนุษย์ในการโต้ตอบกับพิกเซลบนหน้าจอ
หลังจากนั้นก็ใช้แนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบรูปแบบการใช้งานเพื่อจินตนาการถึงวิธีการต่างๆ ที่นิ้วมือของเราสามารถจัดการกับพิกเซลเหล่านี้ได้แบบเรียลไทม์ ความมหัศจรรย์ของการเลื่อนไปตามพื้นผิว การบีบหรือการแยก 2 นิ้วเพื่อย่อหรือขยายรูปภาพ ได้กลายเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลากหลายองค์กร
ตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาลเช่นองค์การเรดาร์ของประเทศอังกฤษ สถาบันการศึกษาเช่น University of Kentucky และ New York University รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple
เมื่อ Steve Jobs เดินขึ้นบนเวทีในเดือนมกราคมปี 2007 และทำการสาธิตรูปแบบการใช้งานที่ราวกับถูกเสกขึ้นมาของ iPhone เป็นครั้งแรก ดูเหมือนว่ามันกลายเป็นหนึ่งในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยี
เบื้องหลังความเรียบง่ายที่ Steve Jobs ได้แสดงให้โลกเห็น ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม มันต้องใช้เวลาสร้างสรรค์มานานกว่า 50 ปีก่อนที่มันจะเสร็จสมบูรณ์บนฝ่ามือของ Steve Jobs
เทคโนโลยี multitouch ที่เราใช้กันทุกวันนี้ไม่ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เป็นการพุ่งทะยานของความคิดและนวัตกรรมที่ใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวอย่างช้าๆ ผ่านการทดลอง ล้มเหลว และความพยายามของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรมากมายจากทั่วโลก ก่อนจะมาอยู่ในมือของเราทุกคนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
References :
หนังสือ The One Device: The Secret History of the iPhone โดย Brian Merchant