X, The Everything App กับแผนการครั้งใหม่ในการรีแบรนด์ Twitter ของ Elon Musk

ต้องบอกว่า X มันไม่ใช่ชื่อที่เพิ่งเกิดมาเพื่อเตรียมการรีแบรนด์ twitter เพียงเท่านั้น เพราะ X มันคือความฝันของ Elon Musk ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอินเทอร์เน็ตในช่วงแรก ๆ

ตลอดทศวรรษ 1990 Musk จินตนาการถึงการสร้างธนาคารออนไลน์ที่ให้บริการเต็มรูปแบบที่ให้บริการบัญชีเช็คและบัญชีออมทรัพย์ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และประกันภัย

ในเดือนมกราคมปี 1999 Musk ได้เริ่มวางแผนการสร้างธนาคารออนไลน์อย่างเป็นทางการในขณะที่ขาย Zip2 บริษัทเทคโนโลยีแห่งแรกของเขาให้กับ Compaq มูลค่ากว่า 307 ล้านเหรียญ

X.com เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1999 โดยมี Bill Harris อดีต CEO ของ Intuit ดำรงตำแหน่ง CEO คนแรก โดยภายในสองเดือนน X.com สามารถดึงดูดสมาชิกให้เข้ามาใช้งานได้ถึง 200,000 ราย

โดยในเดือนมีนาคมปี 2000 X.com ได้ควบรวมกิจการกับ Confinity ซึ่งตอนนั้นเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดที่สุดที่ก่อตั้งโดย Peter Thiel โดยบริษัทใหม่มีชื่อว่า X.com Musk เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดและได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO

X.com ได้ควบรวมกิจการกับ Confinity ซึ่งตอนนั้นเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดที่สุดที่ก่อตั้งโดย Peter Thiel (CR:The Guardian)
X.com ได้ควบรวมกิจการกับ Confinity ซึ่งตอนนั้นเป็นคู่แข่งที่ดุเดือดที่สุดที่ก่อตั้งโดย Peter Thiel (CR:The Guardian)

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ในเดือนกันยายนปี 2000 เมื่อ Musk เดินทางไปฮันนีมูนในออสเตรเลีย เกิดการกบฎขึ้นภายใน X.com คณะกรรมการ X.com ได้ลงมติให้เปลี่ยน CEO จาก Musk เป็น Peter Thiel และในเดือนมิถุนายนปี 2001 X.com ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Paypal ก่อนที่ท้ายที่สุดจะถูกซื้อโดย eBay ด้วยมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2002

โดย Musk เคยกล่าวไว้ว่า ชื่อ X มีคุณค่าทางจิตใจต่อเขาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX หรือแม้การตั้งชื่อโมเดลของ Tesla ว่า “X”

คำถามที่ได้รับคำตอบเสียที

มันมีคำถามที่น่าสนใจว่า เขาจะซื้อ Twitter ไปทำอะไรกันแน่ แต่ก็ต้องบอกว่าเขาเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่อาศัย Twitter สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้มากที่สุดคนนึงในโลก

แสดงว่าเขาคงเห็นศักยภาพบางอย่างกับ Twitter และเขาก็เคย Tweet ออกมาว่า

“Buying Twitter is an accelarant to creating X, the everything app”

ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดว่า Twitter จะถึงขั้นถูกรีแบรนด์ให้เป็น X เพราะว่าความแข็งแกร่งของ Twitter นั้นถือเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว

แต่การประกาศรีแบรนด์ ครั้งใหญ่ในวันนี้ เปลี่ยนทุกอย่างของ Twitter ให้กลายเป็น X รวมถึง X.com ก็ถูก redirect ให้มายัง Twitter และยังจะเปลี่ยนคำที่ใช้กันมาอย่างยาวนานอย่าง “Tweet” ให้กลายเป็นตัวอักษร “X” เพียงเท่านั้น

เรียกได้ว่า เป็นการเฉลยทุกอย่างในสิ่งที่ Elon Musk ต้องการให้ Twitter เป็น เขามองว่า Twitter นั้นมีศักยภาพสูงที่จะกลายเป็น “Super Apps” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยเฉพาะในประเทศจีนและส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกนั้น เราไม่ค่อยเห็นแพลตฟอร์มใดที่สามารถผลักดันตัวเองให้กลายเป็น Super Apps อย่างที่ในประเทศจีนทำได้

ในโลกตะวันตกเราจะเห็นถึงการแข่งขันในแต่ละธุรกิจกันอย่างดุเดือด Ecommerce ก็ต้องยกให้ Amazon , Social Media ต้องยกให้ Facebook หรือ TikTok ส่วน App บริการทางการเงินนั้น ก็มีหลากหลายบริการมาก ๆ โดยมี Paypal เป็นผู้นำ

มันยากที่จะเห็น Super Apps ที่ควบรวมทุกสิ่งไว้ใน App เดียวอย่างที่เกิดขึ้นกับ Wechat ของ Tencent ที่เรียกได้ว่า บริการตั้งแต่สากเบือยันเรือรบเลยทีเดียว

Super Apps ที่ควบรวมทุกสิ่งไว้ใน App เดียวอย่างที่เกิดขึ้นกับ Wechat ของ Tencent (CR:Business Insider)
Super Apps ที่ควบรวมทุกสิ่งไว้ใน App เดียวอย่างที่เกิดขึ้นกับ Wechat ของ Tencent (CR:Business Insider)

ใน App อย่าง Wechat นั้น ผู้ใช้สามารถส่งข้อความ ทำธุรกรรมด้านธนาคารบนมือถือ ชำระสินค้าออนไลน์ เล่นเกม ชอปปิ้งออนไลน์ เรียกรถ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่งก่อนหน้านี้ Elon Musk เองก็เคยแสดงความชื่นชม Wechat ว่าเป็น App ที่ยอดเยี่ยม และไม่มี App อย่าง Wechat ที่มีความสามารถเทียบเท่านอกประเทศจีนเลย

“ผมคิดว่ามีโอกาสที่เราจะทำสิ่งนั้น” Elon Musk ได้กล่าวกับพนักงาน Twitter

“โดยพื้นฐานแล้วทุกคนที่ใช้ Wechat ในประเทศจีนเพราะมันมีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และผมคิดว่าถ้าเราทำแบบเดียวกันได้ หรือแม้แต่ใกล้เคียง Twitter จะกลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่”

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า Super Apps อย่าง Wechat นั้น ไม่ประสบความสำเร็จนอกตลาดจีนเลย แม้กระทั่งในประเทศไทยเองที่พวกเขาทุ่มทุนมหาศาลตอนเปิดตัวนั้น ก็แป๊ก

ในขณะเดียวกัน Wechat นั้นถูกเซ็นเซอร์หนักจากรัฐบาลจีน ซึ่งแน่นอนว่า Musk คงไม่ทำแบบนั้นกับ Twitter อย่างแน่นอน

เอาจริง ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ นะครับ หาก Elon Musk จะผลักดัน Twitter ไปในแนวทางเดียวกับ Super Apps ของจีน

เรียกได้ว่ายังไม่มี App ไหนของฝั่งตะวันตกสามารถทำได้เทียบเคียงกับสิ่งที่ Wechat ทำได้เลย

หากแผนการของ Elon Musk สำเร็จ ก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่าอาจจะทำให้ Twitter ที่จะกลายมาเป็นแบรนด์ X สามารถที่จะครองความยิ่งใหญ่ในฐานะ Super Apps อันดับหนึ่งของโลกเราได้ในอนาคตนั่นเองครับผม

References :
https://www.forbes.com/sites/brianbushard/2023/07/23/elon-musk-directs-xcom-to-twitter-plans-to-ditch-twitter-bird/?sh=6179978d4542
https://en.wikipedia.org/wiki/X.com
https://www.cnbc.com/2022/10/05/elon-musks-twitter-plans-may-take-inspiration-from-chinese-super-apps.html
https://fortune.com/2022/10/05/what-is-x-app-elon-musk-twitter-takeover-accelerant-for-wechat-rival/
https://www.reuters.com/technology/musk-says-twitter-deal-is-accelerant-creating-everything-app-2022-10-04/

Death of Wikipedia? เมื่อองค์ความรู้ของมนุษย์กำลังจะถูกกลืนกินด้วยเทคโนโลยี AI

“ในอนาคตแบบจำลองทางด้านคอมพิวเตอร์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง ChatGPT จะเข้ามาแทนที่เว็บไซต์ที่ผมรักและเหล่าบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์” Barkeep49 หนึ่งในบรรณาธิการคนสำคัญของ Wikipedia กล่าว

Wikipedia คลังความรู้ที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 22 ปี ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในทุกวันนี้ในหลาย ๆ ส่วนของเว็บไซต์แห่งนี้ยังเป็นเทคโนโลยีเดียวกับยุคยูโทเปียในยุคแรก ๆ ของการก่อกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต

เป้าหมายของ Wikipedia ที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Jimmy Wales อธิบายไว้ในปี 2004 คือการสร้างเว็บไซต์ที่ทุกคนบนโลกนี้สามารถเข้าถึงความรู้ทั้งหมดของมนุษย์ได้แบบฟรี ๆ

ปัจจุบัน Wikipedia มีเวอร์ชันใน 334 ภาษา และมีบทความทั้งหมดมากกว่า 61 ล้านบทความ ติดอันดับหนึ่งใน 10 เว็บไซต์ที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลกอย่างสม่ำเสมอ

Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia (CR:LADbible)
Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia (CR:LADbible)

Wikipedia ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบเดียวกับ Google , Youtube หรือ Facebook เพราะพวกเขาแทบไม่มีโฆษณา ยกเว้นแต่การบริจาคเพียงเท่านั้น เหล่าบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ที่คอยช่วยเหลือในการแก้ไขบทความต่าง ๆ ในเว็บไซต์นั้นแทบไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด

ต้องบอกว่าความสำเร็จของเว็บไซต์แห่งนี้นั้นเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะพวกเขาปฏิเสธระบบทุนนิยม ซึ่งชาว Wikipedia บางคนตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามของพวกเขาได้ผลในทางปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ในทางทฤษฎี

Wikipedia ไม่ใช่สารานุกรมอีกต่อไป เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Wikipedia ได้กลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงโลกดิจิทัลทั้งหมดเข้าด้วยกัน คำตอบที่เราได้รับจากการค้นหาใน Google และ Bing หรือจาก Siri และ Alexa ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลของ Wikipedia ที่ถูกดูดเข้าไปยังคลังข้อมูลของบริการเหล่านี้

เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยี Chatbot ใหม่ก็ได้กลืนกินคลังข้อมูลของ Wikipedia เช่นเดียวกัน ซึ่งต้องบอกว่าข้อมูลใน Wikipedia ที่ฝังลึกอยู่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้นั้น คือองค์ความรู้ที่ได้รับการรวบรวมจากการทำงานอย่างอุตสาหะเป็นเวลาหลายสิบปีโดยบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์

Wikipedia อาจจะเป็นแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวที่มีความสำคัญที่สุดในการฝึกอบรมโมเดล AI

“หากไม่มี Wikipedia เทคโนโลยีอย่าง Generative AI ก็คงไม่มีทางแจ้งเกิดขึ้นมาได้” Nicholas Vincent ผู้ที่ศึกษาว่า Wikipedia ช่วยสนับสนุนการค้นหาโดย Google และเทคโนโลยี Chatbot อื่นได้อย่างไร กล่าว

ในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง Chatgpt ได้รับความนิยมและมีความซับซ้อนขึ้น Vincent และเพื่อนร่วมงานของเขาบางคนสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเทคโนโลยี AI ที่ได้ดูดข้อมูลจาก Wikipedia ทำลายล้างพวกเขา และทำให้ผู้คนต่างทอดทิ้ง Wikipedia ไว้เบื้องหลัง

ซึ่งในอนาคต การล่มสลายของ Wikipedia คงไม่ไกลเกินเอื้อม เนื่องด้วยความฉลาดเป็นกรดของ AI แม้พวกมันจะไม่ดีเท่า Wikipedia แต่พวกมันได้เปรียบกว่ามาก เพราะสามารถสรุปแหล่งข้อมูลและบทความข่าวได้ทันที และดูเหมือนมนุษย์จะชอบรูปแบบการโต้ตอบแบบนี้มากกว่าเสียด้วย

เหล่ากองบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ของ Wikipedia เต็มไปด้วยความวิตกกังวล พวกเขาค่อนข้างมั่นใจว่าในไม่ช้าเครื่องมือ AI ใหม่เหล่านี้จะช่วยขยายบทความของ Wikipedia และการเข้าถึงไปยังทั่วทุกมุมโลกได้อย่างง่ายดายผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Microsoft , Google หรือ Facebook

มันกลายเป็นว่า Wikipedia ที่มีอุดมการณ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ฟรีให้กับผู้คนทั่วโลก และไม่ได้ดำเนินธุรกิจใด ๆ กำลังถูกกลืนกินโดยเหล่าบริษัทหน้าเงินที่มีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน เช่น การเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกของ OpenAI

ซึ่งเมื่อเทียบกับ Google (Search Engine) ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้และให้มีการคลิกไปยังต้นทางที่เป็นเว็บไซต์ของ Wikipedia กลับกันเหล่าเทคโนโลยี AI ใหม่นั้นเป็นการนำข้อมูลมาเขย่า และไม่มีการอ้างอิงว่าข้อมูลนั้นมาจากที่ไหน และข้อมูลบางอย่างก็ค่อนข้างมั่วเอามาก ๆ

Google Search ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ (CR:The Mather Group)
Google Search ที่มีการเสนอลิงก์และการอ้างอิงแก่ผู้ใช้ (CR:The Mather Group)

เทคโนโลยีที่เรียกว่า Large Language Models หรือ LLM ซึ่งเป็นโมเดลที่ขับเคลื่อน AI Chatbot อย่าง ChatGPT และ Bard ของ Google พวกมันเริ่มรับข้อมูลจำนวนมากขึ้น

พวกมันเรียนรู้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไม่ใช่เพียงแค่ Wikipedia แต่ยังรวมถึงฐานข้อมูลสิทธิบัตรของ Google, เอกสารของรัฐบาล,Reddit’s Q&A, หนังสือจากห้องสมุดออนไลนน์ และบทความข่าวมากมายบนเว็บ

แต่เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำการประเมินเครื่องมือ 4 ตัวที่ขับเคลื่อนโดย AI ได้แก่ Bing Chat , NeevaAI , perplexity.ai และ Youchat กลับพบว่ามีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของประโยคที่สร้างโดยเครื่องมือเหล่านี้เท่านั้นที่มีการอ้างอิงข้อเท็จจริง

“เราเชื่อว่าผลลัพธ์เหล่านี้ไม่มีความแม่นยำสำหรับระบบที่อาจทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหลักสำหรับผู้ใช้ในการค้นหาข้อมูล” ทีมนักวิจัยสรุป “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ”

แต่แน่นอนว่าความได้เปรียบของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ที่มีเหนือ Wikipedia นั่นก็คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และมีความแม่นยำสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งข้อมูล input มากขึ้นเท่าไหร่ ระบบก็จะยิ่งมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ท้ายที่สุด มีการศึกษาที่สรุปว่าข้อมูลที่ได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่แท้จริงอย่าง Wikipedia จะมีคุณค่ามากขึ้นสำหรับเทคโนโลยี LLM

มันเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากสำหรับ AI เนื่องจากระบบที่ไม่สอดคล้องกับมนุษย์อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงได้ หาก AI ทำลายระบบความรู้ฟรีที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ของมนุษย์เรา

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่พวกเราต่างเชื่อถือบรรณาธิการของ Wikipedia ที่เป็นมนุษย์ เพราะพวกเขามีแรงจูงใจหรือความกังวลในฐานะมนุษย์ และแรงจูงใจของพวกเขาคือการจัดหาองค์ความรู้ที่น่าเชื่อถือให้สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดนั่นเองครับผม

References :
https://www.nytimes.com/2023/07/18/magazine/wikipedia-ai-chatgpt.html
https://www.nytimes.com/2022/12/05/technology/chatgpt-ai-twitter.html
https://www.nytimes.com/2013/06/30/magazine/jimmy-wales-is-not-an-internet-billionaire.html

Yevgeny Prigozhin ผู้ที่กล้าแอ่นอกยอมรับว่าเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

กลายเป็นบุคคลที่มีคนกล่าวขานถึงไปทั่วทุกมุมโลกซะแล้วนะครับสำหรับ Yevgeny Prigozhin แม้ข่าวการบุกยึดเมือง Rostov-on-Don ทางใต้ของรัสเซีย ท้าทายอำนาจของ Putin แบบเต็มตัวจะดูเหมือนว่าเขาเป็นคนบ้าระห่ำ ไม่เกรงกลัวใด ๆ

แต่สิ่งที่ Prigozhin ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโลกนั้น เขาอาศัยคีย์บอร์ดมากกว่าปืน

หลายปีที่ผ่านมาเขาได้ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เรียกว่า “troll farms” หรือ “โรงงาน bot” ซึ่งใช้บัญชีโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่มุมมองต่าง ๆ ที่สนับสนุนเครมลิน

ความพยายามดังกล่าวนำโดย Internet Research Agency (IRA) ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016

เครมลินถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2016 เมื่อแฮ็กเกอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับรัสเซียประสบความสำเร็จในการแฮ็กอีเมลจากคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครตและ Hillary Clinton

ซึ่งเอกสารที่ถูกแฮ็กมาเหล่านั้นถูกนำมาเผยแพร่ในระหว่างการหาเสียง เพื่อทำให้ Clinton เสื่อมเสียชื่อเสียง

Clinton ที่โดนโจมตีจากข้อมูล fake news ในการเลือกกตั้ง 2016 (CR:BBC)
Clinton ที่โดนโจมตีจากข้อมูล fake news ในการเลือกกตั้ง 2016 (CR:BBC)

Prigozhin ได้ออกมาแอ่นอกยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่าน VK บริการโซเชียลมีเดียของรัสเซีย

“เราได้แทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เรากำลังแทรกแซง และเราจะแทรกแซงต่อไปอย่างระมัดระวัง อย่างที่เรารู้วิธีที่จะทำมัน”

ซึ่งในภายหลัง Robert Muller อดีตผู้อำนวยการ FBI ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ตรวจสอบเรื่องราวการสมรู้ร่วมคิดระหว่างการหาเสียงของ Donald Trump และรัสเซีย ได้มีข้อสรุปได้ว่า IRA ดำเนินการรณรงค์ทางโซเชียลมีเดียที่ถูกออกแบบมาเพื่อยั่วยุและสร้างความบาดหมางทางการเมืองในสังคมสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้พัฒนาเป็นปฏิบัติการเพื่อสนับสนุน Donald Trump และดูหมิ่น Hillary Clinton คู่แข่งในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016

Robert Muller อดีตผู้อำนวยการ FBI ที่ออกมาเปิดเผยผลการสอบสวน (CR:Foreign Policy)
Robert Muller อดีตผู้อำนวยการ FBI ที่ออกมาเปิดเผยผลการสอบสวน (CR:Foreign Policy)

ผลสรุปสุดท้ายทำให้ทางการสหรัฐฯ คว่ำบาตร IRA และ Prigozhin เป็นการส่วนตัวต่อการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 และยังมีความพยายามเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งกลางภาคในปี 2018

ทำไม Prigozhin ถึงมีประโยชน์กับ Putin

สาเหตุที่เครมลินต้องการให้คนอย่าง Prigozhin ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและสร้างกองกำลังทหารรับจ้างไปทั่วทุกมุมโลก ก็เพื่อให้รัฐบาลรัสเซียสามารถปฏิเสธการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการที่มีความละเอียดอ่อนสูงได้

ซึ่งแน่นอนว่า Putin สามารถปฏิเสธได้อย่างเต็มปากว่าไม่เคยแทรกแซงการเมืองของสหรัฐอเมริกา

Prigozhin เป็นคนที่ไม่เคยปฏิเสธที่จะทำสิ่งสกปรก เพราะเขาไม่มีต้นทุนทางสังคม และไม่กลัวที่จะเสียชื่อเสียง

และที่สำคัญ Putin เองไม่ชอบพวกที่มีชื่อเสียง เตะต้องไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้ควบคุมได้ยาก ซึ่งแน่นอนว่า Prigozhin จึงเป็นบุคคลในอุดมคติของ Putin

ความพยายามครั้งต่อไปผ่านสงครามคีย์บอร์ด

กลุ่ม Wagner ของ Prigozhin ได้เปิดศูนย์เทคโนโลยีการป้องกันประเทศในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งถือเป็นก้าวต่อไปของ Prigozhin ในสงครามข้อมูล

Sam Greene ศาสตราจารย์ด้านการเมืองรัสเซียที่คิงส์คอลเลจในลอนดอนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามของ trolls และ bots รัสเซียในการโน้มน้าวการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า เขาคิดว่าเป้าหมายต่อไปคือการพยายามกำหนดวาระเกี่ยวกับยูเครนที่พรรครีพับรีกันจะดำเนินการหลังการเลือกตั้งกลางเทอม

“เป้าหมายคือเพื่อให้ฐานเสียงของพรรครีพับรีกัน แสดงความไม่พอใจต่อการลดการสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ”

ไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ถูกเล่นงานผ่านสงครามคีย์บอร์ด เพราะ Facebook เองได้ลบบัญชีที่เชื่อมโยงกับ Prigozhin ที่ส่งเสริมนโยบายของรัสเซียที่มุ่งเป้าไปที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และในประเทศอย่าง มาดากัสการ์ แคเมอรูน กีนี โมซัมบิก และแอฟริกาใต้ อีกด้วย


อยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามต่อได้ที่

Blog Series : Cyberwar – How Russian Hackers Steal the 2016 Election

–> อ่านตอนที่ 1 : Prologue


References :
https://www.reuters.com/world/us/russias-prigozhin-admits-interfering-us-elections-2022-11-07
https://edition.cnn.com/2022/11/07/europe/yevgeny-prigozhin-russia-us-election-meddling-intl/index.html
https://www.bbc.com/news/world-europe-64976080
https://www.theguardian.com/world/2022/nov/07/yevgeny-prigozhin-russia-us-election-interference-analysis
https://apnews.com/article/russia-ukraine-putin-2cd23245b4bd5251db9c3677fcb49dad

แม่จ๋าอย่าแชร์ภาพหนู เมื่อภาพที่ถูกแม่โพสต์สนุก ๆ ในโลกออนไลน์กลับมาทำร้ายและหลอกหลอนลูกในภายหลัง

ลองจินตนาการถึงความรู้สึกที่ว่า เด็กหนึ่งคนที่มีภาพหรือวีดีโอที่ถูกเผยแพร่บนโลกโซเชียลมาตั้งแต่ยุคก่อกำเนิดของ Facebook ในวันนี้พวกเขาจะกลายเป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้ว และเขาจะรู้สึกอย่างไรกับภาพ Digital Footprint เหล่านี้ที่ถูกพ่อแม่ถ่ายไว้ และเผยแพร่ให้คนนับร้อยนับพันได้รับชม

ถ้านับตั้งแต่วันที่เครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ถือกำเนิดมา จนถึงวันนี้ก็เรียกได้ว่ากลายเป็นวัยรุ่นที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยและเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการทำงาน

แน่นอนว่า ในยุคเริ่มต้นของการขึ้นของโซเชียลมีเดียเอง ด้วยความเห่อของใหม่ เหล่าพ่อแม่ทั้งหลายต่างแชร์กิจกรรมต่าง ๆ ของลูก ตั้งแต่วัยแรกเกิด ซึ่งมันไม่เคยมีปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้มาก่อน

ย้อนกลับไปยุคก่อนหน้าโซเชียลมีเดียจะถือกำเนิดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั้น ส่วนใหญ่การบันทึกก็เพียงแค่การถ่ายภาพ หรือถ่ายวีดีโอ เพื่อเก็บไว้ดูเล่นในครอบครัว หรือเผยแพร่ในกลุ่มเล็ก ๆ กับญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงที่สนิทเพียงเท่านั้น

แต่คงไม่มีพ่อแม่คนไหนได้คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา (เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มแรกที่ได้ใช้) พวกเขากำลังสร้างภาระให้กับลูก ๆ ด้วยข้อมูลทางออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก ๆ

ต้องบอกว่าเด็ก ๆ ในยุค Facebook ซึ่งเริ่มต้นอย่างแท้จริงในช่วงปี 2006 เมื่อแพลตฟอร์มเปิดให้ทุกคนได้เติบโตขึ้น มาถึงวันนี้พวกเขาก็เตรียมเข้าสู่วัยทำงาน และอาจจะต้องเผชิญผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียของพ่อแม่ นั่นเองที่ทำให้หลายคนถูกสวมบทบาทที่เป็นตัวตนทางดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมา และพวกเขาก็ไม่มีทางที่จะลบมันด้วยตัวเองได้

เคสของ TikToker ที่ใช้ชื่อว่า Annemarie (@annemari333) โพสต์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอ

“ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก พ่อแม่ของฉันอัปโหลดรูปภาพของฉันบน Facebook” เธอเขียนผ่านวีดีโอของตัวเองในวัย 18 ปี ซึ่งบันทึกในวัยเด็กของเธอไม่สามารถที่จะลบล้างได้อีกต่อไป

“มันผ่านมา 18 ปีแล้ว และมันยังก็ยังเป็น 5 รูปแรกที่โผล่ขึ้นมาเมื่อคุณ google ชื่อของฉัน และฉันทำอะไรกับมันไม่ได้เลย”

Annemarie โพสต์สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอบน TikTok (CR:yourtango)
Annemarie โพสต์สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอบน TikTok (CR:yourtango)

Annemarie เสริมว่า “สิ่งแรกที่นายจ้างในอนาคตของฉันจะเห็นเมื่อพวกเขามองหาฉันก็คือภาพของฉันตัวอ้วนจ้ำม่ำอยู่บนผ้าห่ม”

หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Caymi Barrett ปัจจุบันอายุ 24 ปี เติบโตมาพร้อมกับแม่ที่โพสต์ช่วงเวลาส่วนตัวของเธอ

ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายขณะเธออาบน้ำ การวินิจฉัยที่ติดเชื้อ MRSA ของเธอ การที่เธอถูกรับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม หรือแม้กระทั่งภาพวีดีโอขณะคนขับที่เมาแล้วขับชนรถที่เธอโดยสาร ที่ถูกแม่ของเธอโพสต์ลงบน Facebook

เมื่อ Google ชื่อของเธอ รูปภาพในวัยเด็กของ Barrett ในชุดบิกินี่จะปรากฎขึ้นเป็นอันดับแรก ๆ ความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นส่งผลให้ Barrett กลายเป็นแกนนำที่สนับสนุนความเป็นส่วนตัวทางอินเทอร์เน็ตของเด็ก

ในสหรัฐอเมริกา อำนาจของผู้ปกครองนั้นมีมากกว่าสิทธิ์ของเด็กในเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งมันได้กลายเป็นเรื่องปรกติทางสังคมแม้กระทั่งในปัจจุบันที่ พ่อแม่ต่างแชร์ข้อมูลรูปภาพของเด็กกันจนกลายเป็นเรื่องปรกติ

เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองต่างคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกขบขันในการแชร์ เรื่องตลก ๆ ในการเปลี่ยนผ้าอ้อม การฝึกถ่าย หรือแม้กระทั่งรายละเอียดเกี่ยวกับประจำเดือนครั้งแรกของเด็กต่อผู้ชมหลายร้อยหรือหลายพันคน

การเสพติดไลค์และคอมเม้นต์ก็เป็นสิ่งหนึ่ง ที่ครอบครัวส่วนใหญ่เลือกที่จะบันทึกชีวิตของเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งบน Youtube หรือ TikTok หรืออาจจะมีปัจจัยเรื่องรายได้ หากมีผู้ชมมากพอ ก็สามารถหารายได้จากโฆษณาหรือสปอนเซอร์

เคสของ Barrett เธอยังรู้สึกถึงผลกระทบจากการแชร์เรื่องราวของเธอมากเกินไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่ออายุ 12 ปี เธอได้เล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเคยถูกชายคนหนึ่งตามกลับบ้าน ซึ่งเธอเชื่อว่ารู้จักเธอจากอินเทอร์เน็ต ต่อมาเธอก็ถูกรังแกโดยเพื่อนร่วมชั้นที่มาคอยสอดส่องเกี่ยวกับรายละเอียดชีวิตของเธอในวัยเด็กที่แม่ของเธอโพสต์ทางออนไลน์ และในที่สุดเธอก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมัธยมในท้ายที่สุด

มันได้กลายเป็นว่ายุคเริ่มต้นของ Facebook นั้น เด็ก ๆ เหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบ ที่อาจจะไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อน เพราะเป็นยุคแรก ๆ ที่พ่อแม่ของพวกเขาเริ่มเล่นเครือข่ายโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง

นั่นทำให้ปัญหาดังกล่าวแพร่หลายมากสำหรับคนหนุ่มสาวที่เกิดในยุคโซเชียลมีเดียถือกำเนิดขึ้นมา จนความกลัวโพสต์เก่า ๆ ของพ่อแม่ที่มีรูปภาพและวีดีโอในวัยเด็กกลับมาหลอกหลอนพวกเขาอีกครั้งโดยไม่ได้รับความยินยอม และกลายเป็นเรื่องตลกในหมู่เพื่อน ๆ บนฟีดโซเชียลมีเดียของตนเอง

แม้ว่าเคสตัวเอย่างดังกล่าวอาจจะเป็นส่วนน้อยของสังคม แต่มันก็ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจของเหล่าผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะโพสต์อะไรลงบนออนไลน์เกี่ยวกับลูก ๆ ของคุณโดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กนั้น ควรที่จะใคร่ครวญถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคตกันด้วยนะครับผม

References :
https://www.theatlantic.com/technology/archive/2023/05/parents-posting-kids-online-tiktok-social-media/674137/
https://www.herfamily.ie/parenting/majority-children-say-wouldnt-share-photo-future-kids-online-334380
https://www.yourtango.com/news/kids-posted-social-media-not-happy-parents-now-theyre-older

ความไม่ balance ของสื่อ กับเรื่อง Fake News ที่ไม่มีใครยอมรับ

ปัญหาโลกแตกของวงการสื่อทั่วทุกมุมโลกแม้กระทั่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเอง ด้วยอัลกอริธึมของแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดีย นั่นเป็นหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญในการรับข้อมูลข่าวสารของมนุษย์เราในยุคปัจจุบัน

ในการสัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์กับสื่อยักษ์ใหญ่ของโลก Elon Musk ได้กล่าวหา BBC ว่าปกปิดผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิดและเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัย

Musk กล่าวว่า: “BBC ถือว่าตัวเองมีส่วนรับผิดชอบต่อข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับการสวมหน้ากากและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนหรือไม่ และไม่รายงานเรื่องนี้เลย?“แล้วข้อเท็จจริงที่ว่า BBC ถูกรัฐบาลอังกฤษกดดันให้เปลี่ยนนโยบายบรรณาธิการล่ะ?”

นี่เป็นตัวอย่างของสื่อในยุคปัจจุบัน แม้จะเป็นสื่อระดับโลก ก็เคยผ่านการปล่อยข้อมูล Fake News มาแล้วทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าคนที่เชียร์ หรือเข้าข้างสื่อ ๆ นั้นจะมีความสนใจหรือไม่ และปริมาณในการเผยแพร่มันมากมายขนาดไหน เมื่อเทียบกับสื่ออื่น ๆ

การ Balance ของสื่อนั้น ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เราจะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของ Social Media โดยเฉพาะจากฝั่ง Silicon Valley นั้น มักจะเอนเอียงให้กับข้อมูลของสื่อจากโลกตะวันตกอย่างชัดเจน

ส่วนตัวผมเป็นคนที่ใช้ profile ของเพจ คอย follow สำนักข่าวต่างๆ จากทั่วโลกที่มีเนื้อหาตรงกันข้ามกันสื่อตะวันตกอยู่บ้าง เช่น สื่อจากรัสเซีย สื่อจากประเทศจีน แม้จะ set ให้มันเป็น Favorite หรือ engage กับสื่อนั้นยังไงก็ตาม แทบจะไม่มีคอนเทนต์จากสื่อเหล่านี้โผล่มาในช่อง Feed ของเครือข่าย Social Media เลยด้วยซ้ำ

มันคือความ Bias ของอัลกอริธึมอย่างชัดเจนมาก ๆ เพราะมีแต่ข่าวจากโลกตะวันตกเท่านั้น ที่เข้ามาสู่หน้าจอของเรา แทบจะไม่มีข่าวจากสื่อฝั่งตรงข้ามโผล่เข้ามาให้รับชมได้เลย การที่จะเข้าถึง ก็ต้องเข้าไปทางเว็บของพวกเขาโดยตรงเพียงเท่านั้น

ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมคนทั่วโลกส่วนใหญ่ในตอนนี้ ก็แทบจะเสพข้อมูลจากสื่อ Social Media แทบจะทั้งสิ้นแล้ว เพราะมันใช้งานง่าย และเลือกสรรค์ สิ่งที่เราชอบมาให้เสพอยู่สม่ำเสมอ

มองมาที่บ้านเรา สื่อ ก็แทบไม่มีความ balance เพราะมีสื่อที่สนับสนุนฝั่งนึงเยอะมาก ๆ โดยเฉพาะสื่อด้านออนไลน์ แต่อีกฝั่งนั้น มีให้เสพน้อยมาก ๆ ทั้งที่ข้อมูลควรจะมีการ balance กันให้มีความสมดุล เพื่อให้ผู้อ่านเป็นคนพิจารณาด้วยตัวเอง

ซึ่ง Elon Musk นั้นเคยกล่าวถึงเรื่องนี้เกี่ยวกับ Free Speech ที่เขาต้องการผลักดัน ให้ทุกคนมีสิทธิ์รับสื่อทุกทาง แต่ต้องมีการวิเคราะห์ด้วยตนเอง ว่าจะเชื่อเนื้อหาจากสื่อเหล่านั้นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ คำว่า Fake News เองนั้น ผมว่ามีสำนักข่าวยักษ์ใหญ่หลายๆ สื่อ ทั้งออนไลน์ ทีวี ต่างก็เคยมีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด หรือ แอบเนียน ๆ ใช้ข้อมูลผิด ๆ โจมตีข้อมูลฝั่งตรงข้ามอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งเรามักจะเห็นว่าพวกเขาก็จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้และไม่ยอมรับว่าพวกเขาเคยปล่อย Fake News คล้าย ๆ กับที่ นักข่าว BBC ตอบคำถาม Musk

เอาจริง ๆ มันก็มองได้สองมุมมองจากเรื่องนี้ การปล่อยให้มีการ Free Speech แบบสุดโต่งอย่างที่ Elon Musk กำลังจะทำ มันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกคนที่เห็นต่างกันควรได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายแบบเท่าเทียมกัน

ซึ่งหากมองแบบ Musk เรื่องของ Fake News ในโลกจริง ๆ ที่เราคุยถกเถียงกันมันก็เกิดขึ้นเป็นปรกติในทุกสังคม อยู่ที่ฐานข้อมูลของคนนั้น ๆ ว่ามีชุดข้อมูลแบบไหน แต่พอมันมาอยู่บนโลกออนไลน์ มันกระจายไปอย่างรวดเร็วสู่คนกลุ่มใหญ่มาก ๆ เพราะมันไม่ได้กระจุกอยู่ในสังคมเล็ก ๆ เหมือนใน Public Square อย่างที่ Elon Musk มักจะนำมาเปรียบเทียบนั่นเองครับผม

References :
https://www.bbc.com/news/av/world-us-canada-65249139