ต้องบอกว่าตัวเลข 3.63 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง คือค่าแรงของคนงานที่ประกอบ iPhone ในจีนปัจจุบัน เปรียบเทียบกับอเมริกาที่ได้เกือบ 17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าเกือบห้าเท่าเลยทีเดียว
แต่การประกอบ iPhone รุ่นใหม่ใช้เวลาแค่ 11 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้นทุนแรงงานทั้งหมดสำหรับ iPhone 16 Pro คือแค่ 40 ดอลลาร์ หรือแค่ 4% ของราคาขายปลีก
ตัวเลขนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ถ้า Apple จ่ายค่าแรงระดับอเมริกันแล้วผลักดันต้นทุนให้กับผู้บริโภค ราคา iPhone จะเพิ่มขึ้นแค่ 146 ดอลลาร์เท่านั้น น้อยกว่าค่าอัพเกรด storage ของหลายคนเสียอีก
แล้วทำไม Apple ถึงยังคงติดอยู่ในจีน ทำไมไม่ย้ายออกมาเมื่อได้รับประโยชน์จากการเป็นอิสระขนาดนั้น
เหตุการณ์ในเดือน พฤศจิกายน ปี 2022 แสดงให้เห็นความเสี่ยงที่ชัดเจน Apple สูญเสียเงินหนึ่งพันล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ หลังจากนโยบาย COVID-0 ของจีนทำให้เกิดการประท้วงที่โรงงานสำคัญ
หากแต่ตัวเลข 146 ดอลลาร์ไม่ใช่ตัวเลขที่สำคัญ เพราะต้นทุนแรงงานไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ Apple พึ่งพาจีนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่คำว่า “ขนาด” และ “ความยืดหยุ่น” Apple ไม่ต้องการแค่ผลิต iPhone เพียงหนึ่งเครื่อง พวกเขาต้องการผลิต 590 เครื่องต่อนาที หรือ 35,000 เครื่องต่อชั่วโมง การผลิต 849,000 เครื่องต่อวัน และ 5.9 ล้านเครื่องต่อสัปดาห์ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
เพราะจากประเทศ 200 ประเทศบนโลก มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถผลิต iPhone ได้ในราคา ขนาด และมาตรฐานที่เข้มงวดแบบนี้
แม้ว่า Apple จะเริ่มผลิต iPhone ในอินเดียตั้งแต่ปี 2017 และภายในปี 2024 ผลิตได้ประมาณ 25 ล้านเครื่อง แต่การกระจายการผลิตไปยังอินเดียเกิดขึ้นช้ากว่าในจีนถึงสิบเท่า
ปัญหาแรกที่ทำให้เป็นเรื่องที่ยากที่จะย้ายจากจีนก็คือความต้องการที่ผันผวน เพราะ iPhone ขายได้เกือบสองเท่าระหว่าง เดือนกันยายน ถึงช่วง Christmas เมื่อเทียบกับช่วงอื่น ๆ เช่น ในเดือน เมษายน, พฤษภาคม และ มิถุนายน
CEO Tim Cook เกลียดการถือสินค้าคงคลัง เขาเรียกมันว่า “ความชั่วร้ายโดยพื้นฐาน” เปรียบเทียบกับธุรกิจนม หากผ่านวันหมดอายุ ก็จะมีปัญหาทันที
ในปี 2012 บริษัทวิจัย Gartner ประเมินว่าผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone เฉลี่ยอยู่ในการครอบครองของบริษัท Apple เพียงแค่ห้าวันเท่านั้น ซึ่งนับจากเวลาที่บินออกจากเครื่องบิน 747 ในจีนกลางจนถึงเวลาที่ขายให้กับลูกค้าใน Pittsburgh ใช้เวลาแค่ห้าวัน และตัวเลขนี้น่าจะดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การนำของ Cook
เพื่อรองรับความต้องการที่แปรผันสูงโดยไม่ถือสินค้าคงคลัง พันธมิตรการผลิตอย่าง Foxconn ต้องเพิ่มแรงงานเป็นสองเท่า จ้างคนงานเพิ่มถึงหนึ่งล้านคนในช่วงเตรียมตัวก่อนเดือนกันยายน แล้วปลดพวกเขาอย่างรวดเร็วหลังปีใหม่
ตามข้อมูลของ Patrick McGee ในหนังสือ “Apple and China” Foxconn เคยจ้างงานคนถึง 1.7 ล้านคน ในขณะที่ Walmart นายจ้างเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมี 2.1 ล้านคน
ลองจินตนาการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหาก Walmart ปลดพนักงานครึ่งหนึ่งทุกเดือนธันวาคม โดยไม่มีเงินชดเชย สำนักงานว่างงานจะล้นไปด้วยคนตกงาน
ครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเหล่านี้จะตกอยู่ในสภาพความยากจนอย่างกะทันหันทุกปี แต่นั่นไม่ใช่ในจีน นี่คือจุดที่ทำให้จีนพิเศษแบบสุดๆ
พลเมืองจีนถูกผูกติดทางกฎหมายกับภูมิภาคเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 ทางการจีนผ่อนปรนข้อกำหนดเหล่านี้ อนุญาตให้คนเดินทางไปทั่วประเทศได้อย่างอิสระ
แต่มีเงื่อนไขก็คือ คุณสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ แต่คุณยังคงได้รับบริการของรัฐเฉพาะที่ครอบครัวของคุณลงทะเบียนอย่างเป็นทางการเท่านั้นซึ่งก็คือที่บ้านเกินของตนนั่นเอง
หากคุณเกิดในพื้นที่ชนบทของมณฑล Gansu ซึ่งมี GDP ต่อหัวเพียง 7,000 ดอลลาร์ ประมาณเท่ากับ Libya รัฐบาลอนุญาติให้คุณไปทำงานในโรงงานนอกปักกิ่งที่มี GDP ต่อหัวสูงกว่าสี่เท่า
แต่จะไม่อนุญาตให้คุณใช้โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียน ความแตกต่างของค่าจ้างอันมากโขระหว่างพื้นที่ชนบทและเมืองได้ผลักดันแรงงานย้ายไปยังโรงงานในเมืองใหญ่ ๆ
สิ่งที่สำคัญกว่ามากสำหรับ Apple คือความยืดหยุ่นอย่างมหาศาล ชนชั้นล่างของจีนประมาณ 300 ล้านคนหรือมากกว่านั้นของแรงงานเหล่านี้มีความพร้อมอยู่เสมอ
ทำให้ง่ายต่อการจ้างและง่ายต่อการไล่ออก สำหรับ Foxconn งานส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานที่น่าเบื่อ กิจวัตรที่โหดร้าย กะ 12 ชั่วโมง และสภาพแวดล้อมที่น่าเศร้า
Foxconn ไม่ต้องการให้คนงานพึงพอใจเพราะไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่นาน ๆ งานเหล่านี้ถูกออกแบบให้ตัดทิ้งได้แบบทันที พนักงานเฉลี่ยลาออกหลังจากทำงานได้เพียง 68 วัน
ไม่ช้าก็เร็ว พวกเขาก็ต้องการเจอลูก ซึ่งฝากไว้กับปู่ย่าตายายในบ้านเกิดเกือบตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงว่าในที่สุดพวกเขาก็จะต้องการการดูแลทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วย
แหล่งของแรงงานราคาถูกอีกแหล่งหนึ่งคือนักเรียน เมื่อ Foxconn ต้องการคนเพิ่ม รัฐบาลท้องถิ่นจะขนนักเรียนจากโรงเรียนอาชีวศึกษามาฝึกงาน 2-6 เดือน ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการจบการศึกษา
แล้วทำไมจีนถึงช่วยบริษัทเอกชนอเมริกัน คำตอบเกี่ยวข้องกับตัวเลขตั๋วเครื่องบิน 50 ที่นั่งชั้นธุรกิจเส้นทางระหว่าง San Francisco สู่ Shanghai ที่ Apple จองจาก United Airlines
ที่นั่ง 50 ที่รายวันนั้น แต่ละที่มีมูลค่าประมาณ 4,000 ดอลลาร์แสดงให้เห็นระดับการมีส่วนร่วมและการลงทุนของบริษัท ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ให้บริษัทอื่นในจีนผลิต แล้วแทบไม่มาสนใจใยดี
แต่ Apple ปฏิเสธที่จะปล่อยให้ชะตากรรมของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดอยู่ในมือของคนอื่น เพื่อรักษาการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด และตรงกับกำหนดเวลาที่เข้มงวด
Apple ได้ส่งวิศวกรเดินทางประมาณ 20,000 ครั้งต่อปีไปยัง Shanghai เพียงแห่งเดียว ณ ปี 2019 Apple เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ United Airline โดยใช้จ่ายเงินไปกว่า 150 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ปกติ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทที่เก็บความลับมากที่สุดบนโลก แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ Apple ซีเรียสมาก เพราะไม่ต้องการให้ Foxconn มีอำนาจมากจนเกินไป
ระหว่างปี 2007 ถึง 2012 อัตรากำไรของ Apple เติบโตจากประมาณ 20% เป็นเกือบ 35% ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ต้องขอบคุณ Foxconn แต่แม้จะเป็นผู้ทำให้ Apple กำไรพุ่งกระฉูด แต่อัตรากำไรของ Foxconn กลับลดลง
โดยหลังจากความสำเร็จอันน่าทึ่งของ iPhone ในปี 2007 Foxconn เริ่มหาสถานที่ใหม่เพื่อเสริมโรงงานใน Shenzhen ในเวลานั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะเลือกเมื่องที่ยากจน ชนบท และห่างไกลของจีนอย่างเจิ้งโจว
เมืองที่มีสนามบินรันเวย์เดียวที่ล้อมรอบด้วยฟาร์มครอบครัวและหมู่บ้านเล็กๆ คำถามก็คือ ภูมิภาคเล็กๆ แห่งนี้สามารถรองรับการมาถึงอย่างกะทันหันของคนงาน 300,000 คนได้อย่างไร
Foxconn ลงนามสัญญากับรัฐบาลเจิ้งโจว ในเดือนกรกฎาคม 2010 รัฐบาลท้องถิ่นจ้างคนงาน 2,000 คนทันทีเพื่อทำงานสามกะ 24-7 เพื่อสร้างโรงงานของ Apple ให้เสร็จ
ข้าราชการท้องถิ่นรีบรื้อถอนบริษัทที่ขวางเส้นทางการก่อสร้างโรงงาน Apple และแม้กระทั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟใต้ดินของเมืองเพื่อย้ายอุปกรณ์ไปยังโรงงาน ภายในเดือนสิงหาคม เพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น Foxconn เริ่มดำเนินการได้แทบจะทันที
แต่ความช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น พวกเขายังสรรหาคนงาน ยกเลิกภาษีองค์กร และกำหนดให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตพิเศษที่ปลอดจากภาษีศุลกากร แถมรัฐบาลเจิ้งโจวได้สร้างสนามบินใหม่ที่ทันสมัยขนาดยักษ์ไว้ข้างๆ โรงงาน Apple อีกด้วย
ดังที่ Tim Cook เคยกล่าวไว้ “จีนหยุดเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำมาหลายปีแล้ว” สิ่งที่ทำให้ Apple อยู่ในจีนไม่ใช่เรื่องต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการทางธุรกิจของ Apple และเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีน
อินเดียสามารถเสนอแรงงานจำนวนมากกว่าและถูกกว่า อเมริกาสามารถเสนอเครดิตภาษี แต่มีเพียงจีนเท่านั้น ที่ตั้งแต่บุคคลระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงข้าราชการท้องถิ่นระดับล่างสุด สามารถช่วยเหลือบริษัท Apple ได้ในทุกขั้นตอน
แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ว่า Apple จะพยายามกระจายการผลิตไปยังอินเดียและเวียดนาม และในปี 2024 อินเดียผลิต iPhone ได้ประมาณ 25 ล้านเครื่อง แต่ก็ยังคิดเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เมื่อเทียบกับจีน
ในช่วงที่ผ่านมา Apple พยายามส่งสัญญาณว่ากำลังลดการพึ่งพาจีน การส่งออก iPhone ที่ผลิตในอินเดียเพิ่มขึ้นหนึ่งในสามเป็นเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์
แต่ตามที่ Patrick McGee ผู้เขียนหนังสือ “Apple in China” ระบุไว้ว่า หาก iPhone รุ่นต่อไปที่คุณซื้อมีป้าย “Made in India” บนกล่อง โทรศัพท์เครื่องนั้นก็ไม่ได้พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่มีจีนเป็นศูนย์กลางน้อยไปกว่า iPhone เครื่องอื่นๆ เลย
หากมีปัญหาเกิดขึ้นในจีน iPhone ก็ไม่สามารถที่จะผลิตที่อินเดียได้ เพราะการประกอบชิ้นส่วนย่อย ๆ ล้วนเกิดขึ้นในจีนแทบจะทั้งสิ้น
สถานการณ์ในปัจจุบันยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อ iPhone City ในเจิ้งโจว เริ่มเงียบลง เนื่องจาก Apple สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนให้กับแบรนด์จีนอย่าง Huawei และ Xiaomi และ Foxconn ย้ายการผลิตไปต่างประเทศ
ภายในโรงงาน Foxconn ที่เจิ้งโจว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5.6 ตารางกิโลเมตร ประมาณหนึ่งในสิบของ Manhattan และจ้างงานคนถึง 200,000 คน
พวกเขาต้องทำงานในห้องที่ไม่มีหน้าต่างที่มีกลิ่นคลอรีน สวมชุดป้องกันไฟฟ้าสถิตและหน้ากาก หากต้องการไปห้องน้ำ ต้องชดเชยเวลาที่เสียไป สภาพการทำงานที่โหดเหี้ยมแต่ต้องทน
สภาพการทำงานที่หนักหน่วงเป็นสิ่งที่ตั้งใจออกแบบมา เพื่อให้คนงานไม่อยากอยู่นาน และสามารถเปลี่ยนแรงงานได้ตามต้องการ เป็นระบบที่โครตโหดแต่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง
ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวของ Apple และจีนไม่ใช่เพียงเรื่องของต้นทุนแรงงานหรือการเมือง แต่เป็นเรื่องของระบบที่ซับซ้อนที่สร้างขึ้นมาในช่วงสองทศวรรษ ระบบที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์และต่างก็พึ่งพาซึ่งกันและกัน
จีนได้เทคโนโลยี การจ้างงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะที่ Apple ได้ความสามารถในการผลิตที่ไม่มีใครเทียบได้ ความยืดหยุ่นที่จำเป็น และต้นทุนที่แข่งขันได้
การที่ Apple จะสามารถหลุดออกจากการพึ่งพาจีนได้อย่างสมบูรณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องของเวลาเพียงแค่สองสามปี แต่อาจต้องใช้เวลาทั้งทศวรรษ และต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยี นโยบายรัฐบาล และพฤติกรรมผู้บริโภค
สำหรับตอนนี้ แม้จะมีความตึงเครียดทางการเมือง ภาษีที่เพิ่มขึ้น และความพยายามกระจายการผลิต Apple และจีนยังคงผูกพันกันอย่างแนบแน่น เพราะทั้งสองฝ่ายรู้ดีว่า การแยกทางอย่างกะทันหันจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งคู่
นี่คือความจริงเบื้องหลังที่ซับซ้อนกว่าตัวเลข 146 ดอลลาร์ มันไม่ใช่เพียงเรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของระบบ ความสัมพันธ์ และการพึ่งพาซึ่งกันและกันที่สร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน
ความเจ็บปวดของการแยกทางจะไม่ใช่แค่ตัวเลขในงบการเงิน แต่จะเป็นการสั่นคลอนทั้งระบบเศรษฐกิจโลก ทั้ง Apple และจีนต่างก็รู้ดีว่าพวกเขาต้องการกันและกันมากแค่ไหน
ในโลกที่การเมืองและเศรษฐกิจผสมผสานกันอย่างซับซ้อน ความสัมพันธ์แบบนี้แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังคงมีพลังที่แข็งแกร่งพอที่จะผูกมัดสองมหาอำนาจเข้าด้วยกัน
เรื่องราวของ Apple และจีนจึงเป็นมากกว่าการผลิต iPhone เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับพลังของการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ และความท้าทายในการแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง
References: [restofworld.org, cnbc, 9to5mac,PolyMatter]