Cheeky Chunk กับการทิ้งปริญญา MBA สู่เส้นทางมหาเศรษฐีค้าร่มออนไลน์

ร่ม อย่างที่เราได้รู้จักกันดีว่ามันถูกใช้เพื่อปกป้องเราจากฝน หรือ แสงแดด หลายคนมองร่มเป็นสินค้าที่มีคู่แข่งมากมาย และเป็นธุรกิจที่ไม่น่าสนใจ แต่ชายที่มีนามว่า Pratik Doshi มองเห็นโอกาสที่ต่างออกไป

Pratik เติบโตขึ้นในเมือง Wadala ทางมุมไบตอนใต้ ประเทศอินเดีย พ่อของ Pratik เป็นนักธุรกิจธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยแต่อย่างใด แต่เขาไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้เงาพ่อเขาเขา ต้องการสร้างความสำเร็จด้วยตัวของเขาเอง

Pratik ได้เริ่มต้นธุรกิจ Cheeky Chunk ในปี 2014 ในตอนแรกนั้นเขาได้วางจำหน่ายร่มสุดแหวกแนวของเขาไม่กี่แห่งในตลาดเล็ก ๆ ของประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ดี เขาจึงได้เริ่มมาเอาจริงเอาจัง และเริ่มต้นสร้างบริษัทขายร่มที่มีดีไซน์และเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

แล้วคำถามว่าทำไมต้องเป็นร่ม? คำตอบของ Pratik คือ “ทุกคนใช้ร่ม และผมก็คิดว่าทำไมไม่ออกแบบมันในลักษณะที่ผู้คนจะรู้สึกผูกพันกับมัน แล้วจึงต้องพกมันไปเพราะความรักสิ่ง ๆ นี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ใช้สอยเท่านั้น และนั่นคือวิธีที่ Cheeky Chunk ถูกสร้างขึ้น”

Pratik ที่เรียนจบ MBA จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอินเดีย ต้องทนให้เพื่อนหัวเราะเยาะเขาอยู่ตลอดเวลาในช่วงแรก ๆ ของการตั้งบริษัทค้าร่มของเขา ซึ่งในขณะที่เพื่อน ๆ MBA ได้รับเงินเดือนมหาศาล และนั่งโต๊ะทำงานสบาย ๆ ในห้องแอร์ แต่ชีวิตของ Pratik นั้นแตกต่างออกไป

Pratik คิดอย่างเดียวว่า ต้องสร้างตัวให้ทัดเทียมเพื่อน ๆ ให้ได้เร็วที่สุด เขาก็พยายามขยายตลาดร่มของเขาไปทั่วเมือง โดยการเริ่มต้นจาก 0 เพราะเขาเองก็แทบจะไม่มีเงินทุนในการขยายกิจการมากนัก

Pratik เริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับนักเรียนศิลปะที่ดูมีแวว เขาได้นำร่ม 500 คันที่ทำการผลิตและจำหน่ายผ่านทางเพื่อน ๆ และครอบครัวของเขา โดยใช้เงินทุนตั้งต้นราว ๆ 135,000 รูปี หรือราว ๆ ห้าหมื่นบาทไทย เพื่อนำมาเป็นทุนในการออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาเว็บไซต์ โดยเป็นเงินที่เขาได้รับจากการสอนพิเศษในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย

ร่มที่ดีไซต์เป็นเอกลักษณ์ของ Cheeky Chunk
ร่มที่ดีไซต์เป็นเอกลักษณ์ของ Cheeky Chunk (CR:yourstory)

แต่ครึ่งปีแรกผ่านไปอย่างทุลักทะเล เพราะแทบจะไม่มีลูกค้านอกจากจากเพื่อนและครอบครัวของเขา ซึ่งแทบจะไม่สร้างกำไรจากธุรกิจขายร่มของเขาได้เลย ตอนนั้นเขาคิดว่าตัวเองต้องไปหางานที่เหมาะสมจริง ๆ ที่ดีกว่าการมาขายร่ม และทำตัวให้เหมือนกับเพื่อน ๆ ที่นั่งตากแอร์ทำงานสบาย ๆ

มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ๆ และเต็มไปด้วยความเครียดและความผิดหวัง ที่เมื่อเขามองเพื่อน ๆ ที่ได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า เขาจึงต้องเลือกทางเดินของชีวิต โดยตัดสินใจที่จะลองพยายามอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้ายหากไม่ work ก็จะกลับไปทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนเพื่อน ๆ คนอื่น

เขาจึงต้องทำร่มที่สมบูรณ์แบบที่ดีที่สุดในตลาด โดยปรับกระบวนการผลิต Pratik ได้ทำการจัดหาเฟรมร่มคุณภาพสูงจากซัพพลายเออร์ในประเทศ และจ้างผู้รับเหมามืออาชีพในเรื่องการพิมพ์และเย็บร่ม

เขาต้องทำหลาย ๆ อย่างด้วยตัวคนเดียวไม่ว่าจะเป็นการซ่อมเครื่องพิมพ์ลายเพื่อให้มันกลับมาทำงานได้อีกครั้ง หรือ การแบกผ้า 10 กก. ไว้บนบ่าเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อให้แน่ใจว่าร่มของเขาจะได้รับการผลิตที่ตรงตามเวลา

หลังจากมาโฟกัสเรื่องคุณภาพ คำสั่งซื้อก็เพิ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งสูงถึง 400 คันต่อวัน จึงเป็นเรื่องยากที่เขาจะสามารถแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการแพ็คสินค้า ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การออกใบแจ้งหนี้ หรือ ดูแลงานอื่น ๆ

เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น Pratik ก็ต้องการทีมงานเพื่อขยายกิจการ
เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น Pratik ก็ต้องการทีมงานเพื่อขยายกิจการ (CR:yourstory.com)

ในปี 2015 เขาจึงได้เพิ่มทีมงานระดับท็อป 6 คน ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาฝึกงาน MBA 2 คน นักบัญชี และ เจ้าหน้าที่บรรจุร่มอีกตำแหน่งละ 2 คน เพื่อมาขยายกิจการร่มของเขา

เมื่อฝนตกหนัก

แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของกิจการร่มของเขาก็คือ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่ฝนในอินเดียตกหนักมาก ๆ และร่มของ Pratik ก็เริ่มขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

และการที่ Pratik ได้นำร่มเข้าสู่ตลาด Ecommerce เขาใช้เทคนิควิธีในการอัปโหลดรายชื่อผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และใส่คำค้นหามากกว่า 100 คำ เพื่อให้ผู้คนสามารถค้นพบผลิตภัณฑ์ของเขาได้

ซึ่งเป็นการทำตลาดแบบ SEO (Search Engine Optimization) เมื่อเขาวางขายร่มคันแรกในเว๊บไซต์อย่าง amzon ตอนแรกคำค้นหาของเขาอยู่หน้า 20 แต่เพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์มันก็ได้พุ่งขึ้นไปอยู่หน้าแรก และกลายเป็นร่มที่ขายดีที่สุดใน amazon.in ทันที

ปัจจุบัน Cheek Chunk ขายผ่านเว๊บไซต์ของพวกเขาเอง รวมถึงในแพล็ตฟอร์ม Ecommerce ต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป้น Flipkart , Amazon , Snapdeal และร้านค้าปลีกอีก 2-3 แห่งในเมืองมุมไบ

ยอดขายส่วนใหญ่มาจาก Ecommerce แทบจะทั้งสิ้น ทำให้บริษัทร่มของเขากลายเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดใน แพล็ตฟอร์ม Ecommerce ของอินเดีย

Pratik ยังตัดสินใจที่เพิ่มสีสันให้กับร่มของเขาด้วย เขาตัดสินใจผลิตร่มที่มีสีต่าง ๆ กัน ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเขากลายเป็นที่นิยมเพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการเป็นเพียงแค่ร่มกันฝนเพียงเท่านั้น

เป้าหมายของ Cheeky Chunk ไม่ใช่เรื่องความเชี่ยวชาญในการผลิตร่ม เพราะคงมีคนทำได้จำนวนมากในอินเดีย แต่ Pratik เลือกที่จะผลิตร่มที่มีธีมและการออกแบบที่สร้างสรรค์เพื่อเชื่อมโยงความทรงจำของสายฝนกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ร่ม

แนวคิดที่น่าสนใจจาก Pratik กับธุรกิจขายร่มอย่าง Cheek Chunk เขาได้กล่าวว่า การถ่ายภาพที่สวยงามนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจของเขา เขาเชื่อว่า 50 % ของการตลาดของผลิตภัณฑ์ของเขา มันได้ถูกสร้างการบอกต่อโดยตัวผลิตภัณฑ์และลูกค้าของเขาเอง

เขาแนะนำสิ่งที่สำคัญว่า อย่าจ่ายเงินให้ใครเด็ดขาด เพื่อมาอวยผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ปล่อยให้การรีวิวแบบธรรมชาติจากลูกค้าเป็นการบอกต่อสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ของตัวคุณเองจะดีกว่า

มีคำพูดที่น่าสนใจจาก Pratik ที่กล่าวว่า “คุณจะไม่มีทางเห็นพวกเราขาย แก้วกาแฟธรรมดา ๆ หรือ เสื้อยืดธรรมดา ๆ ที่มีหลายคนทำมัน และเราไม่อยากเสียเวลาในการทำแบบเดียวกันกับคนอื่น คุณจะเห็นเราแก้ปัญหาที่แท้จริงด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเราเท่านั้น”

“คุณอาจจะเห็นคนสิบคนที่ถือร่มสีดำที่ดูซ้ำซากจำเจน่าเบื่อ แต่คุณต้องยิ้มเมื่อเห็นคนที่สิบเอ็ดถือร่ม Cheeky Chunk สีเหลืองที่ออกแบบมาโดยความคิดสร้างสรรค์ของเรา นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำเพื่อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเรา”

References : https://yourstory.com/2015/07/cheeky-chunk-pratik-doshi
https://medium.com/the-innovation/the-man-whose-startup-made-millions-just-by-selling-umbrellas-2ab1d802a7
https://www.theweekendleader.com/Success/2693/happy-rainy-days.html
https://www.hfumbrella.com/umbrella-manufacturer-story

Zip2 กับการเริ่มต้นอันสวยหรู สู่การสานฝันที่จะเปลี่ยนโลกของ Elon Musk

ผมว่านักธุรกิจหลายรายที่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องเจออุปสรรคกับชีวิตมากมาย กว่าจะเจอธุรกิจที่ปังจริง ๆ และพลิกชีวิตได้นั้นคงต้องผ่านอะไรมาไม่น้อย ซึ่งการเริ่มต้นธุรกิจแรกอย่างสวยหรูนั้นคงเป็นฝันของใครหลายๆ คนที่อยากจะคว้ามัน

แม้ว่าในตอนแรกนั้น อีลอน มัสก์ ยังไม่มั่นใจนักว่าจะได้ทำงานในเรื่องที่สนใจ อย่าง อินเทอร์เน็ต , พลังงานที่ยั่งยืน หรือ เรื่องการสำรวจอวกาศ ซึ่งล้วนจะมีอิทธิพลอย่างสูงต่ออนาคตของมนุษยชาติ ซึ่งตัวเขาเชื่อว่าทั้งสามสิ่งเหล่านี้ จะทำให้โลกมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หากเขาได้ทำงาน หรือ สร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทั้งสามหัวข้อดังกล่าว

ในช่วงที่เขากำลังศึกษาในระดับ มหาลัยนั้น มัสก์ เริ่มที่จะสนใจ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้า ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาพลังงานที่กำลังจะหมดโลกอย่างน้ำมัน ความสนใจของเขามุ่งไปที่การที่จะสร้างแบตเตอรี่ เพื่อใช้ขับเคลื่อนยานพาหนะเหล่านี้

ในปี 1995 มัสก์ได้ทุนการศึกษาเข้าเรียนระดับ PhD ในสาขา materials science & applied physics ที่ Stanford University งานธีสิส ของเขานั้นเป็นไอเดียเกี่ยวกับการสร้างแหล่งพลังงานแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ให้กับเหล่ายานพาหนะที่ถูกขับเคลื่อนโดยไฟฟ้านั่นเอง

สำหรับดีกรี PhD ที่จะได้มาหลังเรียนจบนั้นมัสก์ไม่ได้สนใจมันนัก แต่เขาสนใจผลจากงานวิจัยชิ้นนี้มากกว่า เป้าหมายของเขาต้องการที่จะทดแทนแบตเตอรี่รูปแบบเดิมๆ  ด้วยแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ที่เขาได้วิจัยขึ้น ซึ่งจะทำให้มันสามารถที่จะชาร์จได้อย่างรวดเร็วที่สุดแบบที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน

และมันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ อินเทอร์เน็ต กำลังเติบโตแบบสุดขีด มันทำให้มัสก์ ต้องเลือกทางเดินของชีวิตอีกครั้ง ว่าจะอยู่เรียนระดับ PhD เพื่อทำงานวิจัยให้สำเร็จ และเฝ้ามองอินเทอร์เน็ตที่กำลังจะเปลี่ยนโลกใบนี้อยู่เฉย ๆ หรือ ออกมาทำความฝันอีกอย่างหนึ่งของเขาในโลกอินเทอร์เน็ตแล้วค่อยกลับมาเรียนต่อที่ Stanford

และเมื่อเขาได้วิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วนั้น เขาก็เลือกอินเทอร์เน็ตก่อน เขาลาออกจากการเรียน PhD ที่ Stanford เพราะดูเหมือนว่าการทำความฝันทางด้านอินเทอร์เน็ตนั้นน่าจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าต้องเรียน PhD ที่อีกหลายปีกว่าจะเรียนจบ

ซึ่งตอนนั้นหลาย ๆ คนมองว่าความคิดของเขาเป็นความคิดที่บ้าน่าดู เพราะเขาได้รับทุนที่ Stanford และมีเส้นทางที่สดใสสำหรับการเรียนที่ทุกคนต่างอิจฉา 

เขาต้องเริ่มหางานที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตทันที แต่ปัญหาใหญ่ คือ เขาแทบจะไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ที่เป็นรูปธรรมมาก่อนเลย แม้เขาจะเป็นอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์คนหนึ่ง ที่เคยสร้างเกมส์ที่ประสบความสำเร็จมามากมายแล้วก็ตามที

ในขณะนั้น Web Browser ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่คือ NetScape ซึ่งครองส่วนแบ่งได้ถึง 90% แต่เพียงแค่ปีให้หลัง ก็ถูก Microsoft แย่งชิงตลาดไปจนเกือบหมด ด้วยกลยุทธ์ขายพ่วง Windows และแจก Internet Explorer ให้ใช้กันฟรี ๆ 

มัสก์นั้นเคยสมัครไปทำงานกับ NetScape แต่ก็ถูกปฏิเสธ เขาต้องการทำงานกับบริษัทที่สร้างเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก และ เมื่อเขาไม่สามารถเข้าไปทำงานกับบริษัทอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ได้ อีกทางเลือกหนึ่งคือเขาต้องสร้างบริษัทขึ้นมาเอง

มัสก์ นั้นฉุกคิดถึงเรื่องธุรกิจอินเทอร์เน็ตได้จาก ในวันหนึ่งเขาได้พบกับพนักงานขายของเยลโลว์เพจเจส ซึ่งพนักงานขายคนนั้นได้นำเสนอเรื่องการทำบัญชีรายชื่อออนไลน์ที่ปรกติก็คือสมุดหน้าเหลือเล่มหนาเต๊อะ ให้มาอยู่ในอินเทอร์เน็ต

และ ไอเดียนี้ นี่เองที่ทำให้มัสก์นั้นได้ไปคุยกับ คิมบัล น้องชายของเขา และได้พูดถึงไอเดียแนวคิดที่จะช่วยธุรกิจต่าง ๆ ให้สามารถก้าวสู่โลกออนไลน์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งในปี 1995 สองพี่น้องก็ได้เริ่มก่อตั้ง Global Link Information Network บริษัทสตาร์ทอัพ ที่สุดท้ายได้กลายร่างมาเป็นบริษัท Zip2 

อีลอน มัสก์ และ คิมบัล น้องชายของเขา (CR:Sutori)
อีลอน มัสก์ และ คิมบัล น้องชายของเขา (CR:Sutori)

ในตอนนั้น มีธุรกิจขนาดเล็กเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่เข้าใจอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อธุรกิจพวกเขาเหล่านี้ ยังมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร มัสก์ กับน้องชาย มีแนวคิดที่จะโน้มน้าว ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านทำผม และร้านที่เป็นธุรกิจขนาดย่อมอื่น ๆ และพาพวกเขาเหล่านี้ขึ้นสู่ระบบอินเทอร์เน็ต

สองพี่น้องมัสก์ และ คิมบัล ได้ให้กำเนิด Zip2 ขึ้นใน พาโล อัลโต พวกเขาได้เช่าสำนักงานขนาดเล็กเท่าอพาร์ตเมนต์แบบสตูดิโอ ขนาด กว้าง 20 ฟุต คูณ 30 ฟุต มันเป็น ออฟฟิศขนาดเล็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาได้เริ่มธุรกิจกันได้เท่านั้น

ช่วงแรกนั้น มัสก์ ที่มีพื้นฐานด้านโปรแกรมมิ่งมาจากการเขียนเกมมาก่อน เป็นคนเขียนโค้ดหลักทั้งหมดด้วยตัวเขาเอง เขาได้ซื้อฐานข้อมูลธุรกิจในเขตเบย์แอเรียมาได้ ในราคาไม่แพงนัก ซึ่งจะมีการรวบรวมรายชื่อที่อยู่และธุรกิจต่าง ๆ เพื่อมาเป็นฐานข้อมูลตั้งต้นของ Zip2

ส่วนเรื่องของแผนที่นั้น มัสก์ ได้ไปเจรจากับ บริษัท Navteq บริษัทด้านแผนที่ในอุปกรณ์นำทางแบบจีพีเอสในยุคแรก ๆ มัสก์ได้ใช้เทคนิคเจรจาจนได้เทคโนโลยีมาใช้แบบฟรี ๆ ซึ่งเหล่าวิศวกรของ Zip2 ก็ได้เพิ่มข้อมูลฐานข้อมูลและเชื่อมกับแผนที่ที่ได้จาก Navteq ให้กลายเป็นระบบพื้นฐานและเปิดใช้งานให้ได้อย่างเร็วที่สุด

Navteq บริษัทด้านแผนที่ในอุปกรณ์นำทางแบบจีพีเอสในยุคแรก ๆ (CR:Omelette Inn)
Navteq บริษัทด้านแผนที่ในอุปกรณ์นำทางแบบจีพีเอสในยุคแรก ๆ (CR:Omelette Inn)

แม้ Zip2 นั้นจะเป็นกิจการอินเทอร์เน็ตที่น่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในยุคบูมสุดขีดของ อินเทอร์เน็ต แต่การที่จะจูงใจให้เหล่าธุรกิจต่าง ๆ มาเข้าร่วมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว มัสก์ ต้องทำการจ้างทีมเซลล์ เพื่อไปเคาะประตูขายไอเดียดังกล่าวให้ธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นลูกค้าเป้าหมายของเขาถึงหน้าบ้าน

มัสก์ ทำงานอย่างหนักจนแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยด้วยซ้ำ  เขาแทบจะใช้ชีวิตอยู่ในออฟฟิส นอน กิน ทำงาน ทุกอย่างอยู่ภายในออฟฟิส มันทำให้ Zip2 พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเปลี่ยนจากแค่การพิสูจน์แนวคิด มาเป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ  ที่ใช้และสาธิตให้ลูกค้าเห็นภาพได้

นั่นทำให้เหล่านักลงทุนต่างเชื่อในความทุ่มเทถวายชีวิตให้บริษัทของมัสก์ ตอนนี้มัสก์ได้แขวนชีวิตไว้กับการสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา เขาจะพลาดไม่ได้ เขาทุ่มสุดตัวกับโปรเจกต์นี้เป็นอย่างมาก 

หนึ่งในนักลงทุนคนสำคัญ คนแรก ๆ คือ เกรก โครี นักธุรกิจชาวแคนาดา ซึ่งเจอพี่น้องมัสก์ ในเมืองโตรอนโต และร่วมสนับสนุนการระดมความคิดของ Zip2 ยุคแรก ๆ เขาได้ลงทุนกว่า 6,000 เหรียญ จนในปี 1996 เขาย้ายไปยังแคลิฟอร์เนียและร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง Zip2

ซึ่งเกรก นี่เองเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ อีลอน มัสก์ ฟัง และมีวิธีอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้มัสก์เข้าใจได้ ซึ่งการที่มัสก์เป็นคนที่ฉลาดมาก ๆ ทำให้บางทีหลาย ๆ คนไม่เข้าใจว่ามัสก์กำลังคิดอะไรอยู่ และจะสื่อสารกับเขาได้อย่างไร

ในตอนต้นปี 1996 Zip2 ก็ได้รับการลงทุนจาก  Mohr Davidow Ventures โดยได้รับเงินทุนกว่า 3 ล้านเหรียญ และได้เริ่มว่าจ้างวิศวกรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจใหม่ให้กลายเป็นระบบบอกทางที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์  และได้เริ่มขยายธุรกิจไปทั่วประเทศ

แม้ภายหลังมัสก์ นั้นจะถูกบีบให้ขึ้นไปเป็นประธานฝ่ายเทคโนโลยี และ ให้ ริช ซอร์คิน มาเป็น CEO ของบริษัทแทนก็ตาม เพื่อให้บริษัทเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมัสก์ ก็ยอมแต่โดยดี แม้จะขมขื่นกับการที่ต้องวางมือจากบริษัทที่เขาสร้างมาเองก็ตาม แต่มันก็แลกกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่เขาได้รับ

ริช ซอร์คิน ที่ผลักดันให้ Zip2 กลายเป็นบริษัทมืออาชีพมากขึ้น (CR:Global Supply Chain Excellence Summit)
ริช ซอร์คิน ที่ผลักดันให้ Zip2 กลายเป็นบริษัทมืออาชีพมากขึ้น (CR:Global Supply Chain Excellence Summit)

ซึ่งการสร้าง Zip2 ของมัสก์นั้น มันได้เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเขาเป็นอย่างมาก เขาควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น และเริ่มรู้ตัวและจัดการกับนิสัยเสีย ๆ บางอย่างของตัวเองเช่น การชอบไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแบบแรง ๆ 

มัสก์นั้นก็ยังเป็นขุมกำลังหลักในบริษัทเหมือนเดิม เขาเป็นผู้นำปลุกใจเหล่าพนักงานของเขาได้อย่างดี ตอนนี้ภาวะผู้นำของเขานั้นได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และ Zip2 ก็เริ่มที่เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากบริษัทสื่อใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ไนท์รีดเดอร์ หรือ เฮิร์สท์คอร์เปอเรชั่น และสื่อใหญ่ ๆ อื่น ๆ อีกมากมายต่างลงทะเบียนมาใช้บริการ

บางแห่งก็ได้ทำการลงทุนเพิ่มใน Zip2 เลยด้วยซ้ำ บางรายให้สูงถึง 50 ล้านเหรียญ ตอนนั้นบริการอย่าง Craigslist นั้นเพิ่งเริ่มจะก่อตั้งขึ้นยังไม่ได้เป็นคู่แข่งกับ Zip2 เสียทีเดียว 

Zip2 ก็เป็นที่กล่าวขวัญในวงกว้างเนื่องจากสื่อยักษ์ใหญ่เหล่านี้อยากได้โฆษณาย่อย และรายชื่อสำหรับหน้าอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และข่าวบันเทิง และมันทำให้เงินไหลเทมาที่ Zip2 อย่างต่อเนื่อง และทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว 

เพียงแค่ 2 ปีหลังจากนั้น Zip2 ได้รับข้อเสนอในการรวมกิจการกับคู่แข่งอย่าง CitySearch ซึ่งข้อตกลงมีมูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญ ทำให้ทั้งสองแข็งแกร่งยิ่งขึ้นทั้งทางด้านการตลาดจาก CitySearch และเหล่าวิศวกรอัจฉริยะจาก Zip2

แต่การรวมกันของสององค์กรที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งสองมีการทำงานที่ซับซ้อนกันอยู่หลายส่วน ต้องมีการตัดบางส่วนออกไปหรือผู้บริหารบางคนของ Zip2 ก็ถูกลดความสำคัญลงไป มัสก์นั้นแม้ตอนแรกจะสนับสนุนการควบรวม ก็ได้เปลี่ยนเป็นมาต่อต้านแทนในท้ายที่สุด

แต่ข้อตกลงต่าง ๆ มันได้คุยกันไปไกลมากแล้ว สถานการณ์ของ Zip2 เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก แถมยังมีคู่แข่งรายใหญ่อย่าง ไมโครซอฟต์ กำลังเข้ามาสู่ตลาดนี้ รวมถึงสตาร์ทอัพรายอื่น ๆ ก็กำลังสนใจตลาดนี้เช่นกัน มันทำให้คู่แข่งเริ่มเข้ามาเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

แต่แล้ว ในปี 1999 เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อบริษัทคอมแพคที่ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ของโลกในขณะนั้น ได้เสนอขอซื้อ Zip2 ด้วยเงินสดถึง 307 ล้านเหรียญ มันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสวรรค์มาโปรดสำหรับผู้ลงทุนใน Zip2 ที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ และพวกเขาแทบจะไม่ต้องคิดอะไรเลยในการตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว

ข้อเสนอของคอมแพคดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ มัสก์ และ คิมบัล สองพี่น้อง กลายเป็นเศรษฐีย่อม ๆ มัสก์ ได้ส่วนแบ่งถึง 22 ล้านเหรียญ ส่วน คิมบัล นั้นได้ไป 15 ล้านเหรียญ มันเป็นเงินมากมายที่พวกเขาแทบไม่เคยได้จับมาก่อน มันเป็นความสำเร็จครั้งแรกของมัสก์เลยก็ว่าได้ในเรื่องของการทำธุรกิจ และที่สำคัญมันเพิ่งจะเป็นธุรกิจแรกของเขาเท่านั้น

และแน่นอนว่าเงินจำนวนนี้ที่มัสก์ได้มานั้นเขาต้องการลงมือในโปรเจคต่อไปทันที มัสก์ยอมรับว่าการสร้างบริษัทแรกอย่าง Zip2 นั้น มันมีข้อผิดพลาดหลายอย่างซึ่งเขาแทบจะไม่เคยบริหารบริษัทมาก่อนเลยด้วยซ้ำ

การดูและลูกน้องก็ทำได้ไม่ดีนักเพราะมัสก์มักจะไปแก้งานของพวกเขาโดยไม่คุยกันก่อน เขามองว่าตัวเองเป็นอัจฉริยะ ที่พวกลูกน้องต้องทำตามให้ได้ สไตล์การเผชิญหน้ากับลูกน้องของมัสก์ ก็ไม่ใช่แนวทางของผู้บริหารบริษัทที่ดีเลย มักจะมีแต่เสียกับเสียเสมอ เวลามัสก์ต้องเผชิญหน้ากับลูกน้องพร้อมกับปัญหา

มัสก์ ผู้ซึ่งดิ้นรนต่อสู้ในยุคดอทคอม ต้องเรียกได้ว่า มีทั้งความสามารถและมีดวงผสมอยู่ด้วย เขามีไอเดียเหมาะเจาะที่มาทำ Zip2 ได้ถูกที่ถูกเวลา และทำให้มันกลายเป็นบริการได้จริง ๆ แถมสามารถก้าวออกมาพร้อมเงินทุนที่จะนำไปสร้างธุรกิจใหม่ที่เขาใฝ่ฝันไว้ ฝันที่จะทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้นั่นเองครับผม

การดีลกับปีศาจ สู่ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของ Bill Gates ในศึกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ในช่วงฤดูร้อนปี 1980 ตัวแทนจาก IBM สองคนได้เดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ของ Microsoft เพื่อหารือเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ IBM กำลังตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะสร้างมันดีหรือไม่?

แม้ในยุคนั้น IBM จะเป็นเจ้าตลาด Hardware ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมถึงกว่า 80% เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดครองตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จสำหรับ IBM

แต่ดูเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กนั้นจะเป็นปัญหาสำหรับ IBM เพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการขายคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมาในราคาแพง และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกในขณะนั้น

ซึ่งการเข้ามาคุยกับ Microsoft เนื่องจาก ฝ่ายผู้บริหารระดับสูงเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาช่วยเหลือในตลาดใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นการขายให้กับผู้บริโภครายย่อยซึ่งเป็นสิ่งที่ IBM นั้นไม่ถนัดเป็นอย่างยิ่ง

Microsoft เพิ่งเปิดบริษัทมาได้ไม่นานรายได้หลักช่วงแรก ๆ ของ Microsoft มาจากการเขียน Software ให้บริษัท MITS ที่ผลิตเครื่อง Altair 8800 โดย MITS นั้นจะให้ค่าลิขสิทธิ์ Software กับ Microsoft ที่ขายไปพร้อมกับเครื่อง Altair 8800

ซึ่งเป้าหมายหลักของ Microsoft ที่ Gates วางไว้นั้นอยู่ที่การเขียน Software ป้อนให้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ โดยจะไม่ไปเข้าร่วมในส่วนของการสร้างหรือขาย Hardware Computer โดย Gates นั้นยึดนโยบายการขายลิขสิทธิ์ให้ใช้ Software ของเขาในราคาที่ต่ำที่สุด และมองถึงปริมาณยอดขายในจำนวนมาก ๆ

ซึ่งกลยุทธ์ของ Gates นั้นได้ผลอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยุคแรก ๆ ในตลาดเกือบทุกรายในขณะนั้นซื้อลิขสิทธิ์ภาษา Basic ที่ใช้เขียนโปรแกรมจาก Microsoft แทบจะทั้งสิ้น

ทางฝั่ง IBM ก็ต้องการเข็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกตลาดให้ได้ภายในปีนั้น โดย IBM ได้ตัดสินใจสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด และทำสิ่งที่เซอร์ไพรส์เป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างระบบแบบเปิดและง่ายต่อการเลียนแบบ

แม้ว่าในเครื่องเมนเฟรมขนาดใหญ่นั้น IBM จะออกแบบ Microprocessor เองทั้งหมด แต่ในตลาดใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล IBM ได้ตัดสินใจใช้ Microprocessor ของ intel และที่สำคัญที่สุด คือ IBM ได้ตัดสินใจที่จะให้คนอื่นเขียนระบบปฏิบัติการขึ้นมาซึ่งแน่นอนว่านี่คือโอกาสทองครั้งสำคัญของ Microsoft

และแน่นอนว่าคนอย่าง Bill Gates ไม่มีทางที่จะพลาดโอกาสทองครั้งยิ่งใหญ่แบบนี้ที่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสแบบที่ Gates ได้รับจาก IBM ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องท้าทายครั้งสำคัญของ Gates และ Microsoft แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ต้องการมีส่วนร่วมกับธุรกิจยักษ์ใหญ่นี้

โดย Gates ได้ไปซื้อโปรแกรมที่เคยพัฒนามาแล้วจากบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองซีแอตเติล และได้จ้าง Tim Paterson หัวหน้าวิศวกรจากบริษัทดังกล่าวมาร่วมงานกับ Microsoft และนำโปรแกรมดังกล่าวมาปรับแต่งให้กับ Hardware ของ IBM

Tim Paterson ชายผู้อยู่เบื้องระบบปฏิบัติการ MS-DOS (CR:Alchetron)
Tim Paterson ชายผู้อยู่เบื้องระบบปฏิบัติการ MS-DOS (CR:Alchetron)

ซึ่งผลที่ได้มันก็คือ MS-DOS (Microsoft Disk Operating System) และ IBM นี่เองที่เป็นลูกค้ารายแรกของ Microsoft ที่ซื้อลิขสิทธิ์ MS-DOS ไป และเปลี่ยนชื่อมันให้กลายเป็น PC-DOS และทำการออกวางขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ในปี 1981

หลังจากวางขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น สามารถทำยอดขายได้ดีมาก ๆ เป็นการเริ่มต้นตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบจริง ๆ จัง ๆ ครั้งแรกของ IBM ทำให้ชื่อ PC (Personal Computer) นั้นกลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว

กลยุทธ์ของ Gates สำหรับการ Deal กับ IBM ในครั้งนี้นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เป็น Case Study ที่น่าสนใจของวงการธุรกิจโลก เพราะ Microsoft ยื่นข้อเสนอที่ดีมาก ๆ ให้กับ IBM โดยเปิดให้เต็มที่กับ IBM นำลิขสิทธิ์ MS-DOS ไปใช้กี่เครื่องก็ได้ที่ IBM ต้องการขาย

IBM PC ที่เปิดตัวและประสบความสำเร็จแทบจะทันที (CR:Wikipedia)
IBM PC ที่เปิดตัวและประสบความสำเร็จแทบจะทันที (CR:Wikipedia)

Gates นั้นมองเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การสร้าง MS-DOS ให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในขณะนั้นอย่าง UCSD Pascal P-System และ CP/M-86 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่เสนอขายให้ IBM เช่นเดียวกัน

Gates ต้องการให้ MS-DOS กลายเป็นระบบปฏิบัติการหลักของ PC และกระตุ้นให้บริษัทเขียน Software รายอื่น ๆ เขียนโปรแกรมโดยใช้พื้นฐานของ MS-DOS ของ Microsoft

ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอของ Gates นั้นดีกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัดทำให้ราคา PC ที่มีระบบปฏิบัติการ MS-DOS ราคาถูกกว่าใครและทำให้ IBM ผลักดัน MS-DOS แบบเต็มที่

เป้าหมายของ Gates และ Microsoft นั้นไม่ได้อยู่ที่รายรับที่ได้จาก IBM แต่จะเป็นกำไรในการขายลิขสิทธิ์ MS-DOS ให้กับบริษัทคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้ MS-DOS เพราะตอนนั้นมันได้กลายเป็นระบบเปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทุกรายสามารถใช้ MS-DOS ได้ทั้งหมด และเมื่อ MS-DOS กลายเป็นมาตรฐานกำไรก็หลั่งไหลมาที่ Microsoft แทนนั่นเอง

และแน่นอนว่าหลังจากออกวางจำหน่ายได้ไม่นานดูเหมือน IBM PC มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานของตลาดในอุตสาหกรรมใหม่นี้ ดูเหมือน IBM จะประสบความสำเร็จแล้วแถมยังเป็นระยะเวลาอันสั้นมาก ๆ ด้วย

แต่หารู้ไม่ว่าผู้ที่ชนะจริง ๆ ในการสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมนี้คือ Microsoft ต่างหากที่ทุกคนต้องใช้ MS-DOS เป็นระบบปฏิบัติการหลัก เหล่าบริษัท Software รายเล็กใหญ่ต่างพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาบนพื้นฐานของ MS-DOS ไม่ใช่บนพื้นฐานของ IBM-PC

ไม่นานหลังจากนั้น Software คุณภาพเยี่ยมตัวใหม่ ๆ อย่าง Lotus 1-2-3 โปรแกรมที่ปฏิวัติรูปแบบของการสร้างสเปรดชีทก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้รันบนระบบปฏิบัติการของ MS-DOS และตลาด Software การใช้งานนับพัน ๆ โปรแกรม ก็ได้เกิดขึ้นมาใน Ecosystem ของ MS-DOS โดยใช้มาตรฐานทาง Hardware ของ IBM-PC นั่นเอง

Lotus 1-2-3 โปรแกรมที่ปฏิวัติรูปแบบของการสร้างสเปรดชีทที่เริ่มต้นบน DOS (CR:facebook)
Lotus 1-2-3 โปรแกรมที่ปฏิวัติรูปแบบของการสร้างสเปรดชีทที่เริ่มต้นบน DOS (CR:facebook)

ซึ่งแม้ IBM จะสร้างมาตรฐาน PC ขึ้นมาก็จริง แต่เป็นมาตรฐานให้ทุกคนเลียนแบบได้ง่าย และบริษัทอื่นก็สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบที่ IBM ทำได้เช่นกัน และแน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน บริษัทอื่นก็อาจจะมาครองตลาดแทน IBM

และนี่เองเป็นสิ่งที่ IBM พลาดครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ พวกเขาพลาดที่ไปร่วมมือกับ Microsoft และ intel ในการสร้าง PC ขึ้นมาให้กลายเป็นมาตรฐานทางด้าน Hardware เพียงเท่านั้น

มันคือจุดผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีโลกอย่าง IBM ที่ไปดีลกับปีศาจอย่าง Bill Gates ที่สุดท้าย Microsoft ก็สามารถครอบครองทุกอย่างได้สำเร็จและผลักดันให้ Gates กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกได้สำเร็จในภายหลังนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ The Road Ahead
ผู้เขียน : บิล เกตส์
ผู้แปล : น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ
https://www.1000bit.it/storia/perso/tim_paterson_e.asp
https://www.cnbc.com/2020/08/05/how-bill-gates-mother-influenced-the-success-of-microsoft.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Lotus_1-2-3
https://omnilogos.com/inside-disaster-at-ibm-day-bill-gates-overthrew-big-blue/

Free for All กับการปรับแนวคิดโมเดลทางธุรกิจที่ถูกที่ถูกเวลาที่สุดของ Google

ยักษ์ใหญ่ทางด้านการค้นหาอย่าง Google นั้นเรียกได้ว่ามีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีได้เร็วที่สุดบริษัทหนึ่งใน Silicon Valley และการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการเห็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านการค้นหาจาก PC/Desktop ไปสู่มือถือ Smartphone

ในเดือนกันยายนปี 2005 ข่าวใหญ่ในวงการมือถือโลกคงจะหนีไม่พ้นการประกาศรวมตัวของ Microsoft และ Palm ซึ่งหวังจะพิชิตตลาดมือถื อSmartphone ที่อีกเพียงไม่กี่ก้าวพวกเขาก็จะยึดครองได้เบ็ดเสร็จเหมือนที่ทำกับตลาด PC ได้แล้วแท้ ๆ

เหตุการณ์การประกาศรวมตัวที่สั่นสะเทือนวงการที่เกิดขึ้น ทำให้พนักงาน Google คนหนึ่งเกิดความสนใจขึ้นมา เขาคือ Andy Rubin ผู้เป็นอดีตพนักงาน Apple และเพิ่งได้ทำการขายบริษัทที่สองของเขาคือ Android ไปให้กับ Google ได้ไม่นาน

Andy Rubin เป็นชาวยิวอเมริกัน ที่เติบโตในนิวยอร์ก เป็นลูกของนักจิตวิทยาที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเอง และพ่อของเขาก็ทำงานเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย เขาสามารถสร้างกระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองขณะที่ยังเด็ก

โดยเขาเรียนจบจากวิทยาลัยอูตีกา ในอูตีกา นิวยอร์ก ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขามีประวัติการทำงานอันน่าทึ่ง เพราะเริ่มทำงานที่บริษัท คาร์ล ไซซ์ ในตำแหน่ง วิศวกรหุ่นยนต์  ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่บริษัทแอปเปิล ในฐานะวิศวกรควบคุมฝ่ายการผลิต

หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมงานกับ Artemis Research ที่ก่อตั้งโดย Steve Perlman ซึ่งเป็นผู้สร้าง WebTV ที่สุดท้ายได้ถูก Microsoft ซื้อไปในที่สุด

หลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมา Rubin ก็ได้ออกมาตั้งบริษัทเองชื่อ Danger Inc. ซึ่งบริษัท Danger นี่เองที่เป็นผลงานโดดเด่นมากของ Rubin ในการทำระบบ OS บนมือถือ

ซึ่งได้กลายเป็นสินค้ายอดฮิตของวัยรุ่นอเมริกานั่นคือ Danger Hiptop (T-Mobile SideKick) ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่มีความสามารถคล้าย ๆ กับ PDA โดยมีการบอกความเป็น Entertainment ให้ดูมีความสนุกสนานเหมาะกับวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งต่อมา Microsoft ก็ได้เข้าไปซื้อกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008 

สำหรับ Android นั้น ดูเหมือนว่าในตอนแรก Google จะดูไม่มีท่าทีจะสนใจโดยเฉพาะ CEO ในขณะนั้นอย่าง เอริก ชมิตต์ ดูจะส่ายหัวกับไอเดียในการสร้างระบบปฏิบัติการมือถือของ Google ขึ้นมา

แต่สองผู้ก่อตั้งของ Google อย่าง แลร์รี่ เพจ และ เซอร์เกย์ บริน นั้นได้มองเห็นโทรศัพท์มือถือว่าเป็นอนาคตที่สำคัญ จึงได้ทำการไปแอบซื้อ Android มาโดยไม่ปรึกษา CEO ในขณะนั้นอย่าง ชมิตต์ แต่อย่างใด

แน่นอนว่าพวกเขาทั้งสองได้เล็งเห็นถึงอนาคตของวงการมือถือ เพราะผลิตภัณฑ์หลักอย่าง Search Engine ของ Google นั้น ในอนาคตเหล่าผู้คนต้องใช้งานผ่านมือถือโดยเฉพาะ Smartphone อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการตัดสินใจซื้อบริษัทครั้งสำคัญครั้งนึงเลยของ Google ที่มีต่อแผนธุรกิจระยะยาวของพวกเขา

ทั้ง เพจ,บริน และ รูบิน นั้น มองเห็นอนาคตของ อินเทอร์เน็ตที่จะเคลื่อนไปสู่มือถือ และเมื่อถึงตอนนั้นผู้คนก็จะค้นหาผ่านมือถือมากกว่า PC และ Smartphone จะกลายเป็นอุปกรณ์ประจำกายของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างแน่นอน

ทั้ง เพจ,บริน และ รูบิน นั้น มองเห็นอนาคตของ อินเทอร์เน็ตที่จะเคลื่อนไปสู่มือถือ (CR:lemondeinformatique.fr)
ทั้ง เพจ,บริน และ รูบิน นั้น มองเห็นอนาคตของ อินเทอร์เน็ตที่จะเคลื่อนไปสู่มือถือ (CR:lemondeinformatique.fr)

เพราะคนสามารถใช้ Smartphone เคลื่อนที่ไปไหนก็ได้อย่างอิสระเสรี ไม่ต้องมาอยู่กับที่เหมือนกับการเล่นอินเทอร์เน็ตบน PC หรือ Desktop และจะเกิดข้อมูลขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อเหล่าผู้ใช้งานเคลื่อนที่ไปแต่ละแห่งอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าการค้นหาก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และที่สำคัญเมื่อมีข้อมูลจากเหล่าผู้ใช้งานมากขึ้น ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการค้นหาของ Google นั้นดียิ่งขึ้นไปอีก และยากที่ใครจะมาโค่นล้ม Google ในธุรกิจการค้นหาได้

ซึ่งเมื่อมือถือกลายเป็นตลาดที่เติบโตมหาศาล ในที่สุดผู้ผลิตก็จะเรียกร้องเงินจำนวนมหาศาล เพื่อนำบริการการค้นหาใด ๆ เป็นค่าเริ่มต้นของมือถือของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า Google คงไม่อยากเสียเงินแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ อย่างแน่นอน หลังจากเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อให้เป็นการค้นหาเริ่มต้นใน Browser อย่าง Firefox และ Safari ในยุค PC ก่อนหน้า

ซึ่งวิธีเดียวที่จะรับประกันอนาคตของ Google ให้มีที่ยืนในโปรแกรมค้นหาบนมือถือได้ ณ ขณะนั้นก็คือ Android และต้องมีแรงจูงใจพิเศษที่เหล่าผู้ผลิตมือถือได้รับแล้วไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอได้

หลังจากการเปิดตัวอย่างสวยงามของ iPhone ในต้นปี 2007 Google จึงได้เริ่มเห็นสัญญาณอะไรบางอย่างของวงการโทรศัพท์มือถือโลก ว่าโลกของมือถือในอนาคตนั้นจะขับเคลื่อนไปในรูปแบบมือถือจอสัมผัส อย่างที่ iPhone สร้างขึ้นมาอย่างแน่นอน

มันเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจที่ชาญฉลาดที่สุดครั้งนึงในการเปลี่ยน Android จากเดิมนั้นต้องมีคีย์บอร์ด QWERTY แบบเดียวกับที่ Blackberry ทำให้กลายร่างมาเป็นมือถือแบบจอสัมผัสอย่างที่ Apple ทำกับ iPhone

และ Google ก็เริ่มลุยทันทีโดยไม่ปล่อยให้ช้าเกินไป โดยในปี 2007 google ได้เปิดตัว OHA (Open Hanset Alliance) โดย Google จะเสนอตัวในการสร้างระบบปฏิบัติการมือถือให้ฟรีสำหรับผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ ๆ ทุกราย

ซึ่งแน่นอนการได้ของฟรีแบบนี้ ใครจะไม่ชอบล่ะ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านมือถือจากทั่วโลกต่างตบเท้าเข้าร่วมกับ Google ใน OHA ไม่ว่าจะเป็น HTC , Motorola , T-Mobile , หรือ Qualcom 

OHA (Open Hanset Alliance) ที่บริษัทยักษ์ใหญ่มือถือทั่วโลกต่างเข้าร่วม (CR:androidwidgeteg)
OHA (Open Hanset Alliance) ที่บริษัทยักษ์ใหญ่มือถือทั่วโลกต่างเข้าร่วม (CR:androidwidgeteg)

และที่สำคัญ เครือข่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง China Mobile นั้นก็ตอบรับในข้อเสนอดังกล่าวของ Google เพราะมองว่าจีนจะกลายเป็นตลาดใหญ่ของ Smartphone ในอนาคตได้อย่างแน่นอน

ด้วยการที่จีนเติบโตอย่างรวดเร็วและจำนวนชนชั้นกลางเริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนั้น การใช้ระบบปฏิบัติการที่ฟรีอย่างที่ Google เสนอนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศจีน

ซึ่งแนวคิดหลักของ OHA นั้น Google จะเป็นแกนหลักของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหา รวมถึงบริการต่าง ๆ ของ Google ที่จะติดมากับระบบปฏิบัติการใหม่ตัวนี้ โดยระบบจะเปิดให้มากที่สุด ซึ่งผู้ผลิตสามารถเข้าถึง Sourcecode ของระบบปฏิบัติการได้ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ Apple กับ Microsoft ทำ ที่ปกป้อง Sourcecode ของตัวเองดั่งไข่ในหิน

แน่นอนว่าสิ่งนี้มันไม่ดีต่อทั้ง Apple และ Microsoft อย่างแน่นอน Google ได้พยายามทำสิ่งที่  Microsoft ทำในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่พวกเขากำลังทำทุกอย่างให้ใช้กันแบบฟรี ๆ ให้เหล่าผู้ผลิตมือถือเอาไปใช้ได้อย่างสบายใจ เพียงแค่ต้องมีบริการของ Google ติดตั้งค่ามาตั้งแต่โรงงานเพียงเท่านั้น

และที่สำคัญเหล่าผู้ผลิตมือถือเริ่มที่จะระแวง Microsoft ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกลัวจะซ้ำรอยเดิมกับตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่สุดท้ายคนที่รวยจริง ๆ ก็คือ Microsoft แต่เพียงผู้เดียว

และท่ามกลางความไม่ไว้วางใจนี้เองที่ Android ได้แทรกตัวเข้ามา ทำให้รูปแบบของโมเดลธุรกิจของ Google นั้นน่าสนใจขึ้นมาทันทีสำหรับเหล่าบริษัทผู้ผลิตมือถือทั่วโลก เพื่อสร้างความแตกต่างกับตลาด Google ได้แปลงสิ่งที่ Microsoft เก็บค่าบริการมาเปิดให้บริการฟรี

แม้ในขณะนั้น Microsoft ยังดูมั่นใจในตลาดมือถือของตัวเองเป็นอย่างมาก โดยปี 2008 ในงาน Mobile World Congress ที่เมืองบาร์เซโลนาประเทศสเปน Microsoft ยังแถลงตัวเลขของ Windows Mobile ที่ดูสวยหรู

โดยสามารถขายสิทธิ์การใช้งาน Windows Mobile ไปได้กว่า 14.3 ล้านชุด ซึ่งในขณะนั้นทำให้ Microsoft กลายเป็นผู้นำในตลาด Smartphone แซงหน้าทั้ง RIM ที่ผลิต Blackberry และ ไม่ต้องพูดถึง iPhone ที่เพิ่งตั้งไข่ในตลาดโทรศัพท์มือถือ

Microsoft ที่เกือบจะพิชิตตลาดมือถือสมาร์ทโฟนด้วย Windows Mobile ได้แล้ว (CR:Techrepublic)
Microsoft ที่เกือบจะพิชิตตลาดมือถือสมาร์ทโฟนด้วย Windows Mobile ได้แล้ว (CR:Techrepublic)

แต่เหมือน Microsoft นั้นย่ามใจในตลาดโทรศัพท์มือถือ โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารชุดใหม่เกือบทั้งหมด และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เหล่าผู้ผลิตโทรศัพท์ เริ่มรู้สึกว่า Microsoft นั้นยังขาดทิศทางที่ชัดเจน

และไม่ใช่การเกิดขึ้นของ iPhone แต่เป็นการมาถึงของ Android ของ Google ต่างหากที่เป็นตัวเร่งในการกำจัด Windows Mobile ของ Microsoft ออกไปจากตลาด

Google ทำให้ Microsoft เหนื่อยอีกครั้ง เพราะจะไปสู้กับโมเดลธุรกิจแบบแจกฟรีของ Google ได้อย่างไร

แม้ปีที่รุ่งเรืองที่สุดของ Windows Mobile ตั้งแต่เดือน กรกฏาคมปี 2007 ถึง มิถุนายน ปี 2008 Apple ขาย iPhone ได้ 5.41 ล้านเครื่อง และในปีต่อมาในช่วงเวลาเดียวกัน Apple สามารถจำหน่าย iPhone ไปได้ถึง 20.25 ล้านเครื่อง ซึ่งมันได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญแล้ว ที่สามารถขายได้มากกว่าลิขสิทธิ์ของ Windows Mobile ถึง 2 ล้านหน่วย

บรรดาสื่อ รวมถึง นักวิเคราะห์ตามสำนักข่าวใหญ่ ๆ เริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์เพราะพวกเขาสามารถดูจากสถิติการเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสำนักข่าวใหญ่ ๆ เหล่านี้ได้ว่ามาจากอุปกรณ์ใด 

ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เป็นสาวก iPhone นั้นเป็นพวกชอบใช้เว็บไซต์บนมือถือมาก เพราะมันได้ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจาก Smartphone อื่น ๆ ที่เคยมีมาอย่างชัดเจน และยุคของ อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ มันได้เริ่มต้นแล้วอย่างแท้จริง

และข้อตกลงครั้งสำคัญที่ให้ Google เป็น Search Engine เริ่มต้นใน Browser Safari ของ Apple ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดอีกครั้ง เพราะตอนนั้นโลกของ Mobile กับ อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

โลกของการท่องอินเทอร์เน็ตได้ถูกขับเคลื่อนใหม่ด้วยมือถือแบบจอสัมผัส แบบที่ iPhone ทำแล้วนั่นเอง ซึ่งผู้ใช้งานเข้าสู่โปรแกรมการค้นหาผ่าน iPhone โดย Safari มากกกว่าอุปกรณ์ใด ๆ อย่างชัดเจนขึ้นหลังเทศกาลคริสต์มาสปี 2007

ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ยืนยันถึงโลกธุรกิจมือถือยุคใหม่ที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว และดูเหมือน Microsoft แทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล และข้อมูลที่ google ได้เห็นนั้น มันได้ทำให้โครงการ Android ของ Google ที่นำโดย Andy Rubin เปลี่ยนธุรกิจของ Google ไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากวันนั้นเป็นต้นมานั่นเองครับผม

ศึกช่วงชิง Data? เมื่อบริการด้าน AI กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการแย่งชิงเค้กข้อมูลครั้งใหญ่ทั่วโลก

ผมว่าหลายคนคงรู้สึกเอ๊ะกันไม่มากก็น้อย จากการเปิดตัว Sora ของ OpenAI ที่ทำให้พวกเราได้สร้างวีดีโอระดับ professional ได้เพียงแค่ปลายนิ้ว ว่า Video Footages ที่ออกมานั้นมันมีความคุ้นมาก ๆ เหมือนมาจากหนังดัง หรือ animation เรื่องดัง ๆ แต่ถูกดัดแปลงผ่านเทคโนโลยี AI ให้กลายเป็นสิ่งใหม่

เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับว่าเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะนำไปสู่จุดจบของบางธุรกิจหรือไม่ ตัวอย่างเช่น Adobe เองที่เป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่กำลังโดนถาโถมอย่างหนักทั้งการสร้างภาพและวีดีโอผ่าน AI

เครื่องมือใหม่ ๆ อย่าง DALL-E , Midjourney หรือแม้กระทั่งตัวใหม่ล่าสุดอย่าง Sora ซึ่งสามารถที่จะเสกรูปหรือวีดีโออะไรก็ได้จากข้อความ มันทำให้ดูเหมือนคนจะเลิกใช้แอปพลิเคชั่นอย่าง Adobe หรือไม่?

แต่กลับกันด้วยการที่ Adobe ได้สั่งสมภาพถ่ายสต็อกหลายร้อยล้านภาพมานาน พวกเขาสามารถนำมันมาใช้เพื่อสร้างเครื่องมือ AI ของตัวเองที่มีชื่อว่า Firefly โดยนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนมีนาคม เครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพมากกว่า 1 พันล้านภาพแล้ว

ชัยชนะของ Adobe เหนือเทคโนโลยีที่คิดว่าจะมา disrupted ในหลายธุรกิจอย่าง AI นั้น แสดงให้เห็นวิธีการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและเกาะกระแสไปกับเทคโนโลยีดังกล่าวนี้

คลื่นลูกล่าสุดของเทคโนโลยี AI อย่าง “Generative AI” ได้อาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งล้วนแล้วมาจากอินเทอร์เน็ต และบางส่วนก็เป็นข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต ตอนนี้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีกำลังมองหาแหล่งข้อมูลใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของมัน

ส่วนประกอบที่สำคัญสองประการสำหรับโมเดล AI คือ ชุดข้อมูลที่ได้รับการฝึกอบรม และพลังการประมวลผล ซึ่งโมเดลจะมีการตรวจจับความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลเหล่านี้ โดยโมเดลสามารถปรับปรุงได้โดยการนำเข้าข้อมูลมากขึ้นหรือเพิ่มพลังการประมวลผลให้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนชิปที่เกิดขึ้น ทำให้ประเด็นในเรื่องการเพิ่มพลังการประมวลผลเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกฝ่ายมุ่งไปที่การเพิ่มคลังข้อมูลเป็นหลัก

AI สูบข้อมูลเร็วกว่าที่มันจะถูกสร้าง

หลายคนอาจจะคิดว่า โห โลกเรามีข้อมูลล้นเหลือและมีการสร้างขึ้นทุกวันในโลกออนไลน์ทั้งผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรือ แพลตฟอร์มวีดีโอสตรีมมิ่งต่าง ๆ

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ AI มันสูบข้อมูลจนจะหมดโลกแล้วและทำด้วยอัตราเร่งที่มีความเร็วสูงมาก ๆ เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น ความต้องการข้อมูลที่เติบโตเร็วมาก ๆ จนสต็อกข้อความคุณภาพสูงสำหรับการฝึกอบรมอาจหมดลงภายในปี 2026

ซึ่งเชื่อกันว่าโมเดล AI ล่าสุดจาก Google และ Meta สองยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีได้รับการฝึกฝนโดยใช้ศัพท์มากกว่า 1 ล้านล้านคำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผลรวมของคำภาษาอังกฤษใน wikipedia สารานุกรมออนไลน์ อยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านคำเพียงเท่านั้น

ไม่ใช่เพียงแค่ขนาดของข้อมูลเท่านั้นที่มีความสำคัญ ยิ่งข้อมูลดี โมเดลก็ยิ่งดีขึ้น โมเดลที่ใช้ข้อความที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีในเรื่องรูปแบบข้อความยาว ๆ มักจะตอบได้ดี และจะตอบได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

ในทำนองเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับ Chatbot AI จะให้คำตอบที่ดีกว่าเมื่อถูกขอให้อธิบายการทำงานทีละขั้นตอน ส่งผลให้มีความต้องการข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเฉพาะทาง เนื่องจากช่วยให้โมเดลปรับแต่งให้ใช้งานสำหรับงานเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น การซื้อ GitHub ของ Microsoft ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับการเขียนโค้ดทางด้านซอฟต์แวร์ด้วยมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 ช่วยให้บริษัทพัฒนาเครื่องมือ AI ในการเขียนโค้ดได้

Microsoft ได้พัฒนาเครื่องมือ AI ในการเขียนโค้ดได้ (CR:Open AI Master)
Microsoft ได้พัฒนาเครื่องมือ AI ในการเขียนโค้ดได้ (CR:Open AI Master)

การขโมยผลงานแบบหน้าด้าน ๆ ของ AI

เมื่อความต้องการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลก็ยิ่งยุ่งยากมากขึ้น โดยเหล่าครีเอเตอร์ในปัจจุบันได้มีการเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับเนื้อหาที่ติดเข้าไปในโมเดล AI เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดคดีละเมิดลิขสิทธิ์หลายคดีเกิดขึ้นกับผู้สร้างโมเดล AI ในอเมริกา

ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักเขียน รวมถึง Sarah Silverman นักแสดงตลกกำลังฟ้องร้อง Open AI ผู้สร้าง Chat GPT และ Meta หรือศิลปินกลุ่มหนึ่งกำลังฟ้องร้อง Stability AI ซึ่งสร้างเครื่องมือแปลงข้อความเป็นรูปภาพและ Midjourney ก็โดนฟ้องในกรณีเดียวกัน

หรือเคสของตำนานนักแสดงตลกอย่าง George Carlin ที่ครอบครัวได้ยื่นฟ้องผู้ที่สร้างวีดีโอโดยใช้ตัวตนของเขาผ่านเทคโนโลยี AI ซึ่งตัวของ Carlin ได้เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในปี 2008

วีดีโอดังกล่าวปรากฎในช่อง Youtube ที่มีชื่อว่า Dudesy โดยใช้ชื่อวีดีโอว่า “George Carlin: I’m glad I’m dead,” ซึ่งทางครอบครัวของ Carlin ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางแคลิฟอร์เนีย โดยกล่าวหาว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่สู่สาธารณะสำหรับภาพลักษณ์ของนักแสดงตลกผู้ล่วงลับ

George Carlin นักแสดงตลกผู้ล่วงลับ (CR:nbcnews)
George Carlin นักแสดงตลกผู้ล่วงลับ (CR:nbcnews)

แม้ว่าจะไม่มีการแสดงภาพของ Carlin แบบชัดเจน ซึ่งในวีดีโอดังกล่าวจะแสดงรูปภาพที่สร้างโดย AI แทน แต่เสียงพูดนั้นเป็นเสียงของ Carlin ที่ทุกคนคุ้นเคย ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ศาสนาและการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงการเสียชีวิตของนักแสดงตลกด้วย

การดำเนินการทางกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่า AI ที่เรากำลังตกตะลึงกับความสามารถของมันเช่น Sora ของ OpenAI ได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในวงการบันเทิง และมีการประท้วงของนักเขียนในฮอลลีวูดเป็นเวลาหลายเดือนในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการใช้ AI ของสตูดิโอในการสร้างสคริปต์

ศึกช่วงชิง Data

เนื่องจากบริษัท AI ต่างแข่งขันกันเพื่อรักษาความปลอดภัยของแหล่งข้อมูล ในเดือนกรกฎาคม Open AI ลงนามข้อตกลงกับ Associated Press ซึ่งเป็นสำนักข่าว เพื่อเข้าถึงคลังเนื้อหา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ Meta ได้ขยายข้อตกลงกับ Shutterstoock ซึ่งเป็นผู้ให้บริการภาพสต็อกชั้นนำของโลก

หรือ Google เองกำลังหารือกับ Universal Music ซึ่งเป็นค่ายเพลงดัง เพื่ออนุญาตให้ใช้เสียงของศิลปินเพื่อป้อนเครื่องมือ AI ในการแต่งเพลง Fidelity ซึ่งเป็นบริษัทด้านจัดการสินทรัพย์กล่าวว่าได้รับการทาบทามจากบริษัทเทคโนโลยีเพื่อขอให้เข้าถึงข้อมูลทางการเงินของตน

มีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการ AI ที่อยู่ใกล้กับ BBC ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะของสหราชอาณาจักรสำหรับการเข้าถึงคลังภาพและภาพยนตร์ เป้าหมายอีกแห่งหนึ่งคือ JSTOR ซึ่งเป็นห้องสมุดดิจิทัลสำหรับวารสารทางวิชาการ

ผู้ที่ถือครองข้อมูลที่เปรียบเสมือนทองคำในขณะนี้กำลังใช้ประโยชน์จากอำนาจต่อรองมากขึ้น Reddit ฟอรัมสนทนาชื่อดังและ Stack Overflow ซึ่งเป็นเว็บไซต์ถามตอบที่ได้รับความนิยมของกลุ่มผู้เขียนโค้ด ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับบริการใด ๆ ที่ต้องการมาดูดข้อมูลจากเขา

Reddit ที่มีคลังข้อมูลที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับ AI (CR:Reddit)
Reddit ที่มีคลังข้อมูลที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับ AI (CR:Reddit)

ตรงนี้ค่อนข้างน่าสนใจเพราะประเทศไทยเราเองก็มีแหล่งข้อมูลทั้งในฟอรัมต่าง ๆ เช่น pantip เองที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ๆ ในการค้นหาลำดับต้น ๆ ของคนไทยเรา หรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ อย่าง blockdit เอง ที่สุดท้ายแล้วข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เก็บไว้จะกลับมาสร้างรายได้มากมายให้กับพวกเขาในอนาคต

ขยายขอบเขตสู่คลังข้อมูลทางธุรกิจ

ความน่าสนใจก็คือ มีแหล่งข้อมูลอีกแห่งที่ใหญ่มาก ๆ ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน นั่นก็คือข้อมูลที่อยู่ภายใต้กำแพงขององค์กรธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก

ธรุกิจจำนวนมากมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมหาศาลโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่บันทึกในการโทรศัพท์ของศูนย์บริการไปจนถึงบันทึกค่าใช้จ่ายของลูกค้า ข้อมูลดังกล่าวมีคุณค่าอย่างยิ่งเนื่องจากสามารถใช้เพื่อปรับแต่งโมเดลเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงได้ เช่น ช่วยให้พนักงานคอลเซ็นเตอร์ตอบคำถามของลูกค้า หรือนักวิเคราะห์ธุรกิจที่มองเห็นวิธีในการเพิ่มยอดขายได้

แต่ก็ต้องบอกว่ามีธุรกิจไม่มากนักที่สนใจกับโครงสร้างข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการจัดเก็บแบบไร้โครงสร้างซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับ AI และบ่อยครั้งที่มีการกระจายอยู่หลายระบบ โดยฝังอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทมากกว่าในระบบคลาวด์

ซึ่งท้ายที่สุดการปลดล็อกข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ปรับแต่งเครื่องมือ AI เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของตนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ดำเนินการแบบเฉพาะของตนเองไม่ได้ต้องดำเนินการตามมาตรฐานสากล ซึ่งมันจะกลายเป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญในอนาคต

เพราะฉะนั้นในตอนนี้ก็ยังไม่สายไปที่จะเริ่มมาจัดข้อมูลเหล่านี้ให้มีโครงสร้างที่พร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะหากเริ่มก่อนก็จะเป็นการชิงความได้เปรียบก่อน และอาจจะส่งผลให้เอาชนะเกมธุรกิจได้ในยุคของเทคโนโลยี AI First ในวันข้างหน้าได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2023/08/13/ai-is-setting-off-a-great-scramble-for-data
https://seekingalpha.com/article/4597241-is-ai-the-adobe-killer
https://myshingle.com/2023/03/articles/start-a-law-firm-101/faqs-on-chat-gpt-for-solo-and-small-law-firms/
https://www.nbcnews.com/news/us-news/george-carlins-estate-sues-ai-generated-stand-special-titled-glad-dead-rcna135808