จาก Nokia สู่ Volkswagen จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมันถึงคราล่มสลาย?

ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่คล้ายคลึงกันมากกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมมือถือในยุคเปลี่ยนผ่านจากการถือกำเนิดขึ้นของ iPhone ในปี 2007

ทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่แบรนด์รถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นที่กำลังประสบพบเจอกับปัญหา เพราะแม้แต่แบรนด์ที่แข็งแกร่งจากเยอรมันอย่าง Volkswagen (VW) ก็เจอศึกหนักไม่แพ้กัน

Thomas Schäfer CEO คนใหม่ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมันอย่าง Volkswagen ได้สะท้อนถึงหนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่มีคนพูดถึงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจรอบล่าสุด จาก Stephen Elop ในปี 2011 ที่ตอนนี้ผู้คนต่างเปรียบเทียบบริษัทของเขา (VW) กับอดีตผู้ผลิตมือถือรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Nokia

ในกรณีของ Nokia ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี บริษัทถูกทำลายล้างอย่างย่อยยับและธุรกิจโทรศัพท์มือถือก็ถูกขายทิ้งให้กับ Microsoft และถูกปิดตัวลงในภายหลังหลงเหลือไว้เพียงแค่ชื่อ

Volkswagen หนึ่งในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์อื่น ๆ อีก 9 แบรนด์ และยังเป็นฐานหลักของอุตสาหกรรมที่ทรงพลังที่สุดของเยอรมนีจะประสบชะตากรรมเดียวกันหรือไม่? แล้วถ้ามันเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป?

ในปี 2022 Volkswagen เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม มีรายงานยอดขายเพิ่มขึ้น 18% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 156 พันล้านยูโร (174 พันล้านดอลลาร์)

แต่หายนะก็ไม่อาจคาดเดาได้อีกต่อไป นักอุตสาหกรรมชาวเยอรมันรู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคต ในเดือนกรกฎาคม ดัชนี้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจจากสถาบัน Ifo ซึ่งเป็น think-tank ที่สำคัญร่วงลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

มันสะท้อนถึงข้อกังวลของ Schäfer และข้อข้องใจอื่น ๆ ตั้งแต่ระบบการจัดการแบบราชการที่ดูยุ่งเหยิงไปจนถึงเรื่องการเมืองที่มีความละเอียดอ่อนที่ส่งผลต่อการค้าขายกับประเทศจีน

ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเผชิญความท้าทายเหล่านี้มากว่ากว่าอุตสาหกรรมอื่นส่วนใหญ่ เนื่องจากพวกเขาต้องประสบพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างพร้อมกัน พวกเขาต้องขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้า ตัวอย่าเช่น ต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์

คนในวงการต่างยอมรับว่าโรงงานต่าง ๆ จะต้องลดขนาดลงหรือแม้กระทั่งปิดตัวลง เช่นเดียวกับบริษัทซัพพลายเออร์หลายราย โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน

อุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีต้องจัดการกับปัญหาของจีนที่กำลังเติบโตเช่นกัน หลังจากได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่สามแห่งของเยอรมนีทำรายได้ประมาณ 40% ในประเทศจีน แต่ในขณะนี้ชะตากรรมของพวกเขาในประเทศจีนกำลังอยู่ในสถานการณ์พลิกผัน

Volkswagen เพิ่งปรับลดการคาดการณ์การส่งมอบรถยนต์ทั่วโลกเนื่องจากยอดขายในจีนเริ่มชะลอตัวลง ปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า มีแนวโน้มที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลง และคู่แข่งจากประเทศจีนก็เริ่มขยายตัวในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการยานยนต์โลกที่จีนส่งออกรถยนต์มากกว่าเยอรมนีซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านและ 2.6 ล้านคันตามลำดับ

คู่แข่งจากประเทศจีนก็เริ่มขยายตัวในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป (CR:NextBigFuture)
คู่แข่งจากประเทศจีนก็เริ่มขยายตัวในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป (CR:NextBigFuture)

Volkswagen กำลังจะสูญพันธุ์?

ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้กำลังก่อตัวอย่างเงียบ ๆ ใน Wolfsburg ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Volkswagen และตามการคาดการณ์ของ Schafer คำสั่งซื้อสำหรับรถยนต์ EV ของกลุ่ม Volkswagen อยู่ระหว่าง 30% ถึง 70% ซึ่งต่ำกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้

บริษัทยังคงต้องจัดการกับปัญหาซอฟต์แวร์ เนื่องจากไม่มีความถนัดในเรื่องดังกล่าว ในเดือนพฤษภาคม ทีมผู้บริหารของ Cariad ซึ่งเป็นหน่วยดิจิทัลของบริษัทต้องสั่นคลอนอีกครั้ง เนื่องจากในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างประเทศจีนแบรนด์ Volkswagen ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้เพียงแค่ 2% เท่านั้น

อุตสาหกรรมรถยนต์นั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างเยอรมนี การผลิตรถยนต์มีพนักงานโดยตรงในเยอรมนีประมาณ 900,000 คน โดย 2 ใน 3 ทำงานกับบริษัทรถยนต์และส่วนที่เหลืออยู่ที่บริษัทซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของแรงงานในเยอรมนีทั้งหมด

เกือบสามในสี่ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขายภายใต้แบรนด์เยอรมันนั้นล้วนแล้วผลิตในต่างประเทศ ปีที่แล้วมีรถเพียง 3.5 ล้านคันออกจากโรงงานในท้องถิ่น ซึ่งพอ ๆ กับช่วงกลางทศวรรษ 1970

แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตรถยนต์ของสหภาพยุโรปล้วนแล้วแต่ผลิตในเยอรมนี รถยนต์คิดเป็น 16% ของสินค้าส่งออกของเยอรมัน และสร้าง GDP ราว ๆ 3.8% ให้กับประเทศเยอรมนีในปี 2020 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

แน่นอนว่าซัพพลายเออร์โดยตรงไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มบริษัทเดียวที่ต้องพึ่งพา Volkswagen จากการศึกษาในปี 2020 โดย Thomas Puls จาก IW ซึ่งเป็นหน่วยงาน think-tank อีกแห่ง ความต้องการทั่วโลกสำหรับแบรนด์รถยนต์เยอรมนีมีสัดส่วนมากกว่า 16% ซึ่งอุปสงค์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแรงงานทางอ้อมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมโลหะและพลาสติกอีกกว่า 1.6 ล้านตำแหน่ง ทำให้จำนวนคนทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 5% ของแรงงานเยอรมันทั้งหมด

รวมถึงเรื่องการลงทุนและนวัตกรรมของเยอรมันนั้นเชื่อมโยงกับผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศ อุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็น 35% ของการลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรม ซึ่งภาคส่วนนี้เป็นแหล่งที่มาของการวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตมากกว่า 42% และเป็นสัดส่วนสูงถึง 64% ของงบการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของประเทศ จากข้อมูลของ IW ผู้ผลิตรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการยื่นจดสิทธิบัตรของบริษัทในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับปี 2005

อุตสาหกรรมรถยนต์ยังเป็นศูนย์กลางของรูปแบบทางสังคมของเยอรมนี ซึ่งโรงงานผลิตรถยนต์มักจะสร้างขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความอ่อนแอ ซึ่งเมือง Wolfsburg เป็นตัวอย่างที่สำคัญ และยังครอบคลุมภูมิภาคอีกหลายแห่ง

Wolfsburg ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Volkswagen (CR:in.thptnganamst.edu.vn)
Wolfsburg ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Volkswagen (CR:in.thptnganamst.edu.vn)

จากการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ 48 เมืองจาก 400 เมืองและเทศมณฑลของเยอรมนีต้องพึ่งพางานในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอย่างมากโดย Wolfsburg เป็นผู้นำที่ 47% ของคนงานในเมืองทำงานหนักในอุตสาหกรรมนี้ หากภาคการผลิตรถยนต์ประสบปัญหา เยอรมนีจะประสบปัญหากับวิกฤตการณ์ในท้องถิ่นอีกมากมาย

และหากไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข็งแกร่ง ผู้นำสหภาพแรงงาน เช่น Roman Zitzelsberger ซึ่งเป็นหัวหน้า IG Metall ใน Baden-Wurttemberg รัฐที่เป็นที่ตั้งของ Mercedes-Benz , Porsche และ Bosch ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ต่างยอมรับว่าพวกเขาเป็นกระดูกสันหลังขององค์กร

สมาชิก 2 ล้านคนของ IG Metall ทำให้เป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณหนึ่งในสามทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ การเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานและด้วยความแข็งแกร่งของ IG Metall ช่วยให้พวกเขาเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้างที่เหมาะสม

ซึ่งหากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนีไม่ได้รับการแก้ไข มันจะเปลี่ยนสมดุลของตลาดแรงงานของเยอรมนีทันทีซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

Sebastian Dullien นักเศรษฐศาสตร์จาก Hans-Böckler-Stiftung ซึ่งเป็น think-tank ของสหภาพแรงงาน กล่าวว่า “มันคงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงอีกต่อไป หาก Volkswagen จะถูกแทนที่ด้วย Tesla”

ผู้รุกรานชาวอเมริกันอย่าง Tesla ซึ่งเพิ่งประกาศว่าจะขยายโรงงานใกล้กรุงเบอร์ลิน ซึ่งจะกลายเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป Dullien มองว่างานด้านการผลิตในเยอรมนีจะไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ดีเป็นพิเศษอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ชื่อเสียงของอุตสาหกรรมเยอรมันและความสามารถด้านวิศวกรรมถูกกลบด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการโกงการปล่อยมลพิษของ Volkswagen ในปี 2015 ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายแบรนด์เยอรมันอื่น ๆในอเมริกาลดลง 166,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 7.7 พันล้านดอลลาร์ที่สูญหายไป ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสี่ของรายรับของปี 2014

ถึงเวลาก้าวข้ามอุตสาหกรรมรถยนต์?

เหล่านักการเมืองเยอรมันเริ่มมองว่าการช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อาจก่อใก้เกิดผลเสียในระยะยาวได้ เยอรมันจำเป็นต้องเชื่อมั่นในกลไกตลาดมากขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางเศรษฐกิจที่อาจจะเปิดขึ้นในขณะที่การผลิตรถยนต์ของเยอรมันอยู่ในช่วงขาลง

อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดใหญ่ของเยอรมัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดแข็ง ตอนนี้กลับเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไม่โดดเด่นอีกต่อไป จะมีพื้นที่มากขึ้นสำหรับทางเลือกอื่น ๆ เงินอุดหนุนจะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้น้อยลงไป คนหนุ่มสาวชาวเยอรมันจะเรียนวิศวกรรมเครื่องกลน้อยลงและเลือกเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์แทน เหล่านักวิจัยจะพยายามมากขึ้นในการพัฒนาบริการด้านอื่น ๆ แทนที่การมัวแต่ยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับรถยนต์

ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับเมืองอย่าง Eindhoven ของประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกครอบงำโดย Philips ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เฉกเช่นเดียวกันที่ Wolfsburg อยู่ภายใต้การครองงำของ Volkswagen

แต่ปัจจุบัน Eindhoven เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาปรับตัวได้สำเร็จ เปลี่ยนจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ดูเหมือนจะพ่ายแพ้ต่อเกาหลีใต้ มาผลิตชิปขั้นสูงผ่าน ASML ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุโรป หรือเมือง Espoo ในฟินแลนด์ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของ Nokia ปัจจุบันได้กลายแหล่งผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม และตอนนี้ก็เริ่มกลับมาเฟื่องฟูเช่นเดียวกัน

Eindhoven ผลิตชิปขั้นสูงผ่าน ASML ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุโรป (CR:Eindhoven news)
Eindhoven ผลิตชิปขั้นสูงผ่าน ASML ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุโรป (CR:Eindhoven news)

แต่การผลิตรถยนต์นั้นมีรากฐานที่หยั่งลึกกว่าการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ภาคธุรกิจจะปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซัพพลายเออร์รายใหญ่ เช่น Bosch หรือ Continental จะทำงานให้กับผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติเช่น Tesla มากขึ้น

ซึ่งสุดท้ายแล้วเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะหยุดผลิตรถยนต์ราคาถูกและมุ่งเน้นที่การผลิตรถหรูที่มีกำไรสูงในจำนวนที่น้อยลงแทน

Volkswagen อาจผันตัวเองไปเป็นบริษัท OEM โดยประกอบรถยนต์ไฟฟ้าให้กับแบรนด์อื่น เช่นเดียวกับที่ Foxconn ผลิต iPhone ให้กับ Apple

มีแนวคิดที่น่าสนใจจาก Andreas Boes จาก ISF Munich ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอีกแห่งกล่าวว่า “ต้องหยุดสร้างกลยุทธ์รอบ ๆ ตัวรถเพียงเท่านั้น”

Boes เป็นผู้นำกลุ่มผู้บริหารและผู้เชียวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งเพิ่งเผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับการขับเคลื่อน (Mobilistic Manifesto) ซึ่งมองว่าแทนที่จะทำให้รถยนต์มีความสะดวกสบายมากขึ้นเพื่อให้ผู้คนใช้เวลากับรถยนต์มากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ควรมุ่งในการจัดระเบียบความสามารถด้านอื่นๆ ในการเคลื่อนที่จากจุด A ไป B แทน

เขามองว่า Volkswagen และผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายอื่น ๆ ได้ช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกให้เดินทางได้อยู่เสมอ และไม่มีเหตุผลใดที่พวกเขาจะไม่ลองคิดหาวิธีใหม่ ๆ ที่ชาญฉลาดกว่าการคิดเพียงแค่การเคลื่อนที่ไปด้วยรถยนต์

References :
https://www.economist.com/business/2023/07/31/what-if-germany-stopped-making-cars
https://www.economist.com/briefing/2015/09/26/a-mucky-business
https://www.economist.com/business/2023/06/08/german-bosses-are-depressed
https://www.thetimes.co.uk/article/vws-new-boss-thomas-schafer-our-model-line-up-is-not-good-enough-ggj3cdtwb
https://judaengelmayer.org/2015/12/09/negative-press-volkswagen-car/

เมื่อประเทศไทยเนื้อหอม กับเหตุผลว่าทำไมค่ายรถยนต์ EV จากจีนต่างแห่กันมาบุกประเทศไทย

เป็นบทความที่น่าสนใจจาก The Economist นะครับ เกี่ยวกับเรื่องราวของเหตุผลว่าทำไมประเทศเราจึงกลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากค่ายรถยนต์จากประเทศจีนที่วิ่งกันเต็มท้องถนนกันในทุกวันนี้

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว หลังจากที่เหล่าผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้เริ่มกระโจนออกจากตลาดบ้านเกิด ยักษ์ใหญ่ของการผลิตรถยนต์ระดับโลก ทั้ง Toyota , Nissan และ Honda เริ่มเข้ามาขยายการผลิตในประเทศไทย

การที่ไทยเราได้กลายเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นได้ทำให้ประเทศไทยเรากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก แซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ

มาถึงวันนี้ประเทศไทย ได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับความทะเยอทะยานของผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน

บริษัทจากจีนได้แห่กันมาลงทุนโรงงานในประเทศไทย ในเดือนมีนาคม BYD ซึ่งไตรมาสแรกแซงหน้า Volkswagen ในฐานะบริษัทรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน ได้บุกมาเปิดโรงงานการผลิตในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเดิมอยู่แล้ว

ในเดือนเมษายน Changan ได้เปิดเผยการลงทุน 285 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างรถยนต์พวงมาลัยขวาคันแรกนอกประเทศจีน และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม Hozon บริษัทจีนอีกแห่งจะเข้ามาผลิต Neta V รถยนต์ไฟฟ้าเรือธงในประเทศไทย

 Hozon บริษัทจีนอีกแห่งจะเข้ามาผลิต Neta V รถยนต์ไฟฟ้าเรือธงในประเทศไทย (Kapook.com)
Hozon บริษัทจีนอีกแห่งจะเข้ามาผลิต Neta V รถยนต์ไฟฟ้าเรือธงในประเทศไทย (Kapook.com)

ต้องบอกว่าสถานการณ์ของตลาดในบ้านเกิดประเทศจีนกำลังเติบโตอย่างเต็มที่ การแข่งขันภายในประเทศก็เริ่มรุนแรงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เริ่มลดลง ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์สูงขึ้นเป็นอย่างมาก

Tu Le จาก Sino Auto Insights ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในดีทรอยต์ ได้กล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สงครามราคาได้ปะทุขึ้นในจีนระหว่างค่ายรถยนต์ EV

ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายมองว่าการขยายตัวในต่างประเทศเป็นหนทางสู่การเติบโตที่แน่นอนกว่า จีนส่งออกรถยนต์มูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2023 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 82%

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดทางด้านภูมิศาสตร์และการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและตะวันตก เหล่าผู้ผลิตยานยนต์ชาวจีนจึงได้มองหาพื้นที่ที่เป็นกลางในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก

ประเทศไทยในฐานะพันธมิตรของอเมริกาและเป็นสมาชิกของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) จึงมีแรงดึงดูดใจเป็นพิเศษ

โดยรถยนต์ที่ผลิตในไทยของบริษัทจีนบางส่วนจะขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 23% ในปีที่ผ่านมา เป็น 3.4 ล้านคัน แต่เหล่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนก็มองไปที่ตลาดในประเทศตะวันตกเช่นเดียวกัน

การวิจัยโดย Allianz บริษัทประกันสัญชาติเยอรมันพบว่า บริษัทจีนมีสัดส่วนประมาณ 4% ของยอดขายแบตเตอรี่-EV ในเยอรมนีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่านับจากปีที่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์บางรายรวมถึง BYD กำลังพยายามพิชิตตลาดอเมริกาเหมือนที่บริษัทญี่ปุ่นเคยทำได้มาก่อน

มุมมองที่น่าสนใจจากฝั่งรัฐบาลไทย

ในช่วงเลือกตั้งพอดีได้มีโอกาสฟัง รายการฟัหูไว้หู ที่ออกอากาศในวันที่ 4 พ.ค. 66 ที่ได้สัมภาษณ์ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นคนที่ดำเนินการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ EV โดยตรงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน (ก่อนการเลือกตั้ง)

 หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ (CR:Bluechipthai)
หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ (CR:Bluechipthai)

อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประเทศเรามีเดิมนั้นเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์น้ำมัน ความน่าสนใจก็คือแล้วจะทำให้ยังไงให้ประเทศเราสามารถรักษาฐานผลิตสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนในการส่งออกสินค้าและสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงมาก ๆ และถือเป็นรายได้หลักอันดับต้น ๆ ของประเทศ

คู่แข่งหลักของประเทศเราคือ อินโดนีเซีย เพราะมีแร่นิกเกิลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก 40% ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

หม่อมหลวงชโยทิต มองว่าหากประเทศเราถูกแย่งตลาดนี้ไปหมด ประเทศเราไม่รอดแน่ ประเทศเราจะกลายเป็น Last Man Standing สำหรับรถยนต์น้ำมัน

จึงได้มีการหารือกับเหล่าสมาคม EV ในประเทศไทยทั้งกลุ่มญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ ว่าประเทศเราจะสู้อินโดนีเซียได้อย่างไร ซึ่งทุกคนมองว่าประเทศไทยมีทั้งองค์ความรู้ มีระบบนิเวศซัพพลายเชนดีกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก

ซึ่งทางกลุ่มผู้ผลิตได้บอกว่าถ้าประเทศเราสามารถทำให้พวกเขาเห็นได้ว่าตลาดในประเทศไทยยอมที่จะเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์น้ำมันไปเป็นรถยนต์ EV คือสร้างอุปทานในประเทศให้หล่าบริษัทผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ได้

นั่นเองเป็นที่มาที่ทางรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นการใช้รถยนต์ EV ในราคาที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทางรัฐจะมีการ subsidize ราคาให้ 150,000 บาท

ทางฝั่งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ก็ท้าทายว่า หากไทยสามารถสร้างยอดขายได้ 10,000 คันภายในปีแรก (2022) ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แต่กลายเป็นว่าด้วยกระแส รวมถึงการอุดหนุนจากรัฐบาล ไทยสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 35,000 คัน ในขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัวอย่างอินโดนีเซียทำได้เพียงแค่ 700 คันเท่านั้น

ไทยสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 35,000 คัน ในขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัวอย่างอินโดนีเซียทำได้เพียงแค่ 700 คันเท่านั้น (TorqueThailand)
ไทยสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 35,000 คัน ในขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัวอย่างอินโดนีเซียทำได้เพียงแค่ 700 คันเท่านั้น (TorqueThailand)

ในขณะที่สามเดือนแรกของปี 2023 สร้างยอดขายได้ 52,000 คัน นั่นทำให้ประเทศเราพลิกกลับมาเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจในการลงทุนแทบจะทันที เพราะยอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกระแสที่ตื่นตัวขนาดนี้ ทำให้ไทยเป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชีย

นั่นทำให้เหล่าบริษัทยานยนต์ทั้งจากฝั่งญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน จีน รวม 17 บริษัท ได้เซ็นสัญญาเพื่อจะเข้ามาลงทุนการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแทบจะทันที

ส่วนของนโยบายนั้นการ subsidize 150,000 ในเฟสแรกเนื่องจากยังไม่มีการผลิตในประเทศ มีการลดภาษีนำเข้าให้ แต่ต้องมีการเข้ามาผลิตภายในสองปีข้างหน้า สำหรับเจ้าใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีโรงงานในประเทศไทยเช่นผู้ผลิตจากจีนที่ต้องเริ่มจากศูนย์ รัฐบาลก็จะมีการ extend ให้มากกว่า 2 ปี แต่ต้องมีการผลิตจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น x1.5 , x2 เท่า

เป้าหมายของรัฐบาลคือ กำลังการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ตอนนี้ขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคัน และ ส่งออกอีกประมาณ 1 ล้านคัน ต้องกลายเป็นรถยนต์ EV ประมาณ 30% ภายในปี 2030

และนั่นคือสาเหตุที่สำคัญอย่างที่นักวิเคราะห์จาก The Economist ได้กล่าวไว้ว่าทำไมประเทศเราจึงเนื้อหอม โดยเฉพาะจากเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2023/05/11/why-chinese-carmakers-are-eyeing-thailand
https://www.youtube.com/watch?v=OaXQCy_NGPM
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-11-01/china-s-byd-great-wall-hozon-eye-thailand-in-next-sales-push
https://www.cmcmarkets.com/en/opto/byd-shares-boosted-by-plans-to-build-first-ev-plant-in-thailand

BYD (The New Toyota) กับแนวทางการเป็น Toyota ในแบบฉบับรถยนต์ EV

Tesla อาจเป็นผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และตามที่ Elon Musk ได้คุยโวไว้ว่าพวกเขาล้ำหน้ากว่าคู่แข่งมากจนแทบมองไม่เห็นใครที่จะมาต่อกรพวกเขา

ในขณะที่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ยุคเครื่องยนต์สันดาปอย่าง Toyota ก็ไม่ได้สนใจภัยร้ายที่ย่องมาเงียบ ๆ จากผู้ผลิตชาวจีนอย่าง BYD ซึ่งในปีนี้อาจแซงหน้า Tesla ในฐานะผู้ขายรถยนต์ EV รายใหญ่ที่สุดของโลก (ไม่รวมถึงรถไฮบริดซึ่งพวกเขาก็ผลิตด้วยเช่นกัน)

ความน่าสนใจก็คือ BYD และ Toyota พวกเขาเป็นพันธมิตรกันในประเทศจีน ที่สำคัญกว่านั้น BYD ได้เลียนแบบคุณลักษณะหลายอย่างของ Toyota ที่ได้กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกมานานหลายทศวรรษ

บริษัททั้งสองมีความคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ พวกเขาไม่ได้เริ่มต้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ Toyota เริ่มต้นธุรกิจด้วยการผลิตเครื่องทอผ้าแบบอัตโนมัติ

ผลิตภัณฑ์แรกของ BYD คือแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเมื่อมองจากจุดเริ่มต้นพวกเขาตามหลังคู่แข่งด้านการผลิตรถยนต์ระดับโลกในยุคของตัวเองเป็นอย่างมาก

BYD ใช้ความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่และมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าและรถปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นที่รู้จักในจีนว่าเป็นรถยนต์พลังงานใหม่ ( NEV ) ทั้ง Toyota และ BYD ฝึกปรือฝีมือด้วยตลาดภายในประเทศและเมื่อพวกเขาเริ่มออกไปตีตลาดต่างประเทศก็เริ่มต้นในตลาดรถยนต์ในประเทศที่ค่อนข้างด้อยพัฒนา

แต่จุดเริ่มต้นในการผลิตรถยนต์ได้ยกระดับธุรกิจของพวกเขาอย่างรวดเร็ว ในช่วงหกปีตั้งแต่ปี 1955 ถึง 1961 การส่งออกของ Toyota เติบโตมากกว่า 40 เท่า และนั่นคือจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของ Toyota

ฟากฝั่ง BYD ต้องใช้เวลา 13 ปีในการผลิตรถยนต์ NEV หนึ่งล้านคันแรก ใช้เวลาอีกหนึ่งปีกว่าจะได้ล้านที่สอง หกเดือนต่อมาก็สามารถผลิตได้ถึงสามล้านคัน พวกเขามีฐานการผลิตหลายแห่งตั้งแต่จีนไปจนถึงบราซิล ฮังการี อินเดีย และอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลก

ปัจจุบัน BYD เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจาก CATL ของจีน เป็นผู้ผลิตยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกและแท็กซี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งเหล่านี้ทำให้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวไปยังทั่วโลก

ปัญหาที่พวกเขาพบเจอก็คล้ายคลึงกัน Toyota ได้ตกเป็นเหยื่อของ สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐฯและญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ฟากฝั่ง BYD ก็ต้องประสบพบเจอกับสงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกันที่ใกล้จะถึงจุดเดือดอยู่ในตอนนี้

Tu Le จาก Sino Auto Insights ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านยานยนต์ EV ได้ขนานนาม BYD ว่าเป็น “The New Toyota” ซึ่ง Toyota นั้นถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะด้านการผลิตของอุตสาหกรรมมานานหลายทศวรรษ “วิถีแห่งโตโยต้า” คือการรวมกันของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือไคเซ็น การผลิตแบบลีน และการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่เหนือชั้น

BYD ทำสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการบูรณาการในแนวดิ่งมากที่สุดในโลก ทำทุกอย่างตั้งแต่ที่นั่งของตัวเองไปจนถึงแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทาง Le ได้ใช้คำว่า Get shit done (GSD) เพื่ออธิบายความสามารถในการผลิตของ BYD

“มีเพียงมนุษย์ไม่กี่คนที่ทำการตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้าย หุ่นยนต์ของ BYD ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับการผลิตรถยนต์เช่นเดียวกับที่ Toyota เคยทำได้สำเร็จ” Warren Buffett ไอคอนด้านการลงทุนของอเมริกาเป็นแฟนตัวยงของ BYD รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

BYD ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่น่าตกใจ แต่ในวันที่ 30 มกราคม บริษัทได้ประมาณการกำไรสุทธิเบื้องต้นในปี 2022 ที่ 2.4-2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าปี 2021 มากกว่าห้าเท่า

จากข้อมูลนี้ บริษัทบ่งบอกเป็นนัยว่าในไตรมาสที่ผ่านมา อัตรากำไรของธุรกิจรถยนต์ของ BYD นั้นได้แซงหน้า Tesla ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ทำกำไรได้มากที่สุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า BYD ที่เติบโตมาจากการสร้างรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดสำหรับตลาด mass กำลังขายรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมที่มีกำไรสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างจาก Tesla ตรงที่พวกเขามีรุ่นและสไตล์ที่หลากหลายและมีการออกรถรุ่นใหม่เป็นประจำ

บุกตลาดอเมริกา

ยังมีโอกาสใหญ่มาก ๆ สำหรับ BYD ในตลาดอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังไม่ได้บุกไปยังตลาดนี้มากนัก แต่อุปสรรคใหญ่ในการเข้าสู่ตลาดอเมริกาคือภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นนโยบายสมัยประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีปัญหาอย่างหนักกับประเทศจีน และมีการกีดกันการค้าโดยเฉพาะส่วนประกอบ EV ที่ผลิตในจีน เช่น แบตเตอรี่

ในที่สุดการเปิดตัวในอเมริกาของ BYD คงเกิดขึ้นแน่ ๆ เหล่าผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันก็ต้องพึ่งพายอดขายในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกเขาไม่สามารถกีดกันให้ BYD บุกเข้ามาในประเทศเขาได้เช่นเดียวกัน

BYD อาจนำเสนอรถยนต์ EV ที่ราคาต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์ ที่จะกระตุ้นตลาด mass ในสหรัฐอเมริกา และหากพวกเขาล้มเหลว BYD ก็สามารถที่จะขอความช่วยเหลือผ่านองค์ความรู้ของ Toyota ในการเจาะตลาดอเมริกา เพราะพวกเขามีความร่วมมือกันอยู่แล้วในประเทศจีน

สำหรับตอนนี้ Toyota ได้เริ่มตระหนักถึงความท้าทายจาก BYD ซึ่งก็มาก พอๆ กับโอกาสที่เกิดขึ้น พวกเขาทั้งสองมีคุณลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันมาก Toyota และ BYD ไม่ได้คุยโม้โอ้อวดถึงจุดแข็งของตัวเองอย่างที่ Elon Musk ทำกับ Tesla แต่ให้ตัวเลขเป็นบทพิสูจน์ทางธุรกิจให้โลกได้เห็นนั่นเอง

References :
https://nepaldrives.com/byd-and-toyota-launch-joint-venture-to-conduct-battery-electric-vehicle-rd/
https://www.economist.com/business/2023/02/02/chinas-byd-is-overtaking-tesla-as-the-carmaker-extraordinaire

Gill Pratt กับชายผู้เบรก Toyota ไม่ให้รีบเข้าร่วมสงครามรถยนต์ EV

เราได้เห็นการป่าวประกาศออกมาหลายๆ ครั้งของ CEO ของ Toyota อย่าง Akio Toyoda ว่าเขาไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจะถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็วอย่างที่ผู้ควบคุมนโยบายและเหล่าคู่แข่งคิด ด้วยเหตุผลหลายประการ เขาอ้างถึงการขาดโครงสร้างพื้นฐาน ราคา และวิธีที่ลูกค้าเลือกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคเป็นตัวอย่างของอุปสรรคที่เป็นไปได้

มันมีความน่าสนใจว่าใครเป็นคนฝังแนวคิดเหล่านี้ ให้กับ CEO ของ Toyota ซึ่งสุดท้ายก็ต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองในภายหลัง

ชายที่มีชื่อว่า Gill Pratt ถือว่าเป็นบุคคลทรงอิทธิพลมาก ๆ แต่แนวคิดนี้ของ Toyoda ที่นำโดย Pratt ซึ่งเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์และการวิจัยของ Toyota  โดยเขามักให้เหตุผลว่าลิเธียมที่มีปริมาณจำกัดควรนำมาใช้กับรถไฮบริดหลายๆ คันจะดีกว่า เมื่อเทียบกับการใส่ทั้งหมดลงในแบตเตอรีไฟฟ้าเต็มรูปแบบเพียงก้อนเดียว

ถึงขนาดที่ว่า Pratt ถึงกับประณามพวกหัวรุนแรงที่ฝังหัวด้วยแนวคิดการใช้แต่ EV เท่านั้น

ในการปราศรัยที่ World Economic Forum เมื่อเร็วๆ นี้ Pratt พยายามชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนลิเธียม และการขาดแคลนเหล่านั้นส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ไฮบริดมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า

ข้อโต้แย้งของ Pratt เริ่มต้นด้วยการสันนิษฐานว่าลิเธียมเป็นทรัพยากรที่หายากและเป็นการดีกว่ามากที่แบ่งปันลิเธียมให้กับยานพาหนะจำนวนมาก (เช่นในรถยนต์ไฮบริด) แทนที่จะรวมไว้ในยานพาหนะคันเดียวเหมือนในรถยนต์ EV

Pratt เสนอแบบจำลองโดยตั้งสมมติฐานว่ายานพาหนะแบบสันดาปใน 100 คันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 250 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตรที่วิ่ง

หากใช้ลิเธียมกับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมงเพียงคันเดียว ในยานพาหนะทั้งหมด 100 คันจะประกอบไปด้วยรถยนต์สันดาป 99 คันและรถยนต์ไฟฟ้าเพียงหนึ่งคัน ซึ่งจะส่งผลให้ปล่อยมลพิษเฉลี่ย 248.5 กรัม/กม. 

แต่ถ้าใช้ลิเธียมในปริมาณที่เท่ากันเพื่อผลิตชุดแบตเตอรี่ขนาด 1.1 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รถไฮบริดถึง 90 คัน และลดการปล่อยมลพิษโดยรวมลงเหลือ 205 กรัม/กม. ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมกว่ามาก

แบบจำลองของ Pratt ที่เสนอใน ที่ World Economic Forum (CR:thedriven.io)
แบบจำลองของ Pratt ที่เสนอใน ที่ World Economic Forum (CR:thedriven.io)

สิ่งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ Toyota ก่อนหน้านี้ ซึ่งเน้นย้ำถึงการผสมผสานระบบไฮบริด หรือแม้แต่เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งจะเข้ากับโซลูชันในการลดการปล่อยมลพิษโดยรวม แทนที่จะพึ่งพา EV เพียงอย่างเดียว

ในขณะที่โรงงานแบตเตอรี่สามารถสร้างได้ภายในสองหรือสามปี Pratt ให้เหตุผลว่า การเพิ่มเหมืองลิเธียมใหม่อาจใช้เวลานานกว่า 15 ปี

“เดิมพันของวิกฤตสภาพอากาศนั้นใหญ่เกินกว่าจะผิดพลาดได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ EV เพียงอย่างเดียว” เขากล่าว

แต่ Auke Hoekstra นักวิเคราะห์ด้านพลังงานชาวดัตช์ที่ได้ออกมาตอบโต้คำกล่าวอ้างของ Toyota โดย Hoekstra ชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานพื้นฐานของ Pratt ที่อ้างว่าลิเธียมจะขาดแคลนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

Hoekstra ได้โพสต์ภาพจากการทบทวนสถิติพลังงานโลกปี 2022 ของ BP ซึ่งแสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างมากของการผลิตลิเธียมทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าลิเธียมจะหายาก แต่ก็มีวัสดุอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้

สถิติพลังงานโลกปี 2022 ของ BP (CR:thedriven.io)
สถิติพลังงานโลกปี 2022 ของ BP (CR:thedriven.io)

Hoekstra ได้หักล้างความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการขุดลิเธียมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์นั้นแย่กว่าแร่ธาตุอื่นๆ และแม้กระทั่งน้ำมัน 

เขาได้กล่าวว่า เรื่องเล่าที่อุตสาหกรรมน้ำมันมักใช้เพื่อเผยแพร่ FUD (ความกลัว ความไม่แน่นอน และความสงสัย) เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักต่ออุตสาหกรรมน้ำมันมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ

แต่ในงาน World Economic Forum การบรรยายของหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Toyota จบลงด้วยการที่ Pratt บอกว่าแม้ว่าเขาจะมีคำเตือนทั้งหมดเกี่ยวกับ EV แต่ Toyota ก็ยังคงวางแผนที่จะผลิตพวกมันในอนาคต

“เราจะผลิต (รถยนต์ไฟฟ้า) 3.5 ล้านคันต่อปีภายในปี 2030” Pratt กล่าวปิดท้าย

References :
https://thedriven.io/2023/02/03/utter-bollocks-energy-analyst-debunks-toyotas-scarce-lithium-hybrid-myth/
https://www.cnbc.com/2022/10/02/toyota-ceo-akio-toyoda-electric-vehicles-happy-dance.html
https://global.toyota/en/company/profile/executives/fellow/gill_a_pratt.html
https://www.greencarreports.com/news/1138627_does-toyota-ceo-change-signal-it-s-going-all-in-on-evs

ปัญหาของ Tesla เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเพียงแค่ Elon Musk

การแข่งขัน EV กำลังอยู่ในตลาดที่แดงเดือดมาก ๆ Tesla ผู้ปฏิวัติวงการกำลังประสบกับปัญหาหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีนที่กำลังโดนคู่แข่งบดขยี้อย่างหนัก และหุ้นของบริษัทก็ยังคงดำดิ่งลงสู่เหว 

แต่ดูเหมือนว่า Elon Musk จะไม่ได้สนใจมากนัก ในขณะที่เวลาส่วนใหญ่ของเขากำลังโฟกัสกับ Twitter อยู่

ความยากลำบากของ Tesla เป็นเพียงภาพลวงตาที่ซ่อนภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นและร้ายแรงกว่านั้นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เติบโตมาหลายปี

ส่วนหนึ่ง เราเห็นผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่แทบจะไม่สนใจซื้อรถยนต์อีกต่อไป การยัดอุปกรณ์เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อเข้าไปในรถยนต์เพื่อให้ดึงดูดกลุ่มผู้ซื้ออายุน้อยนั้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์มันดีขึ้นมากนัก

การเปลี่ยนแปลงทางประชากรครั้งใหญ่ไปสู่การใช้ชีวิตในเมือง ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความจำเป็นที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเมืองที่มีความหนาแน่นมากขึ้น

ในปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลมีความสิ้นเปลืองสำหรับที่จอดรถมาก ๆ หรือกระแม้กระทั่งบนท้องถนนและนอกบ้าน นอกจากนี้ยังมีการลดลงอย่างต่อเนื่องของการขอใบอนุญาตสำหรับขับขี่รถยนต์

การยอมรับที่เพิ่มขึ้นของการขนส่งขั้นพื้นฐานในฐานะบริการที่ใช้ร่วมกัน เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า และการเติบโตอย่างมากของการขี่จักรยานในเมืองชั้นในหรือแม้แต่กระทั่งการเดิน 

ทางเลือกในการเดินทางเหล่านี้กำลังรวมกันเพื่อสร้างแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าชัยชนะทางกฎหมายครั้งล่าสุดของสมาชิกรัฐสภา แรงจูงใจด้านภาษีของรัฐบาลกลางใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเพิกเฉยต่อจักรยานไฟฟ้า สกูตเตอร์ และวิธีการขนส่งอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง

ไม่มีการถกเถียงกันมากนักเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมแม้แต่รถยนต์ที่เจ๋งที่สุดก็ไม่ได้กระตุ้นสร้างความตื่นเต้นแบบเดียวกับที่เคยทำในรุ่นยนต์ก่อนๆ ไม่มีความสัมพันธ์ทางอารมณ์และความเชื่อมโยงทางจิตใจที่เรามีกับรถยนต์เหมือนในอดีตอีกต่อไป 

คน Gen Z ไม่มีความเชื่อมโยงหรือเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาต้องเป็นเจ้าของรถยนต์  พวกเขาแทบไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์หรือเรื่องทางเทคนิคเกี่ยวกับรถ 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ไม่สามารถเปลี่ยนยางได้หากชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับยาง

และนอกเหนือจากรถยนต์ EV แล้วนั้น รถที่เหลือบนท้องถนนยังเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง ก่อมลพิษ และเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลายเป็นต้นทุน ความรับผิดชอบ และหนี้สินที่ไร้สาระจำนวนมากสำหรับความคิดของคนรุ่นใหม่

ในที่สุด ด้วยประสบการณ์กว่าทศวรรษของ Uber และ Lyft ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเชื่อว่าสำหรับพวกเขาแล้ว ประโยชน์ใช้สอยและความคุ้มค่าของการแชร์รถและการเข้าถึงแบบออนดีมานด์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด การขนส่งในฐานะบริการเป็นส่วนหนึ่งของ DNA การขับขี่ของคนรุ่นใหม่

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กจำนวนน้อยลงที่มีใบขับขี่ โดยเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 19 ปี ที่ตอนนี้แทบจะไม่สนใจในการทำใบขับขี่เลยด้วยซ้ำ

ความกังวลที่มีอยู่มากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเกี่ยวข้องกับความตั้งใจของเขตเมืองหลักส่วนใหญ่ทั่วโลกที่จะลดการขับรถส่วนตัวในตัวเมืองและย่านศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อยึดคืนพื้นที่นับล้านตารางฟุตซึ่งปัจจุบันครอบครองโดยสถานที่จอดรถแนวราบและที่จอดรถริมถนนยาวหลายล้านไมล์ (เฉพาะในนิวยอร์กซิตี้เพียงแห่งเดียวมีที่จอดรถมากถึงสี่ล้านแห่ง)

และเพื่อทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างอัตโนมัติและคล่องตัวภายใน Hub ของเมืองที่จำกัดและจัดระเบียบใหม่เหล่านั้น ด้วยการเปลี่ยนไปใช้รถรับส่งไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ RoboTaxi รถโดยสารประจำทาง และระบบทางเดินอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

เป้าหมายคือทำให้เมืองของพวกเขาสะอาดขึ้น แออัดน้อยลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่ดีขึ้น

ยานพาหนะส่วนบุคคลจะถูกกันออกจากพื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมด และจำเป็นต้องจอดไว้ที่โรงจอดรถที่ตั้งอยู่รอบนอกของเขตเมือง

เมืองต่างๆ กำลังยกเลิกข้อจำกัดและกฎระเบียบที่กำหนดให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องสร้างที่จอดรถขั้นต่ำสำหรับอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ภายในทศวรรษหน้า ขณะที่ประชากรโลกจำนวนมากย้ายเข้ามาในเขตเมือง สถานที่ทำงานของคนส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้เมืองกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การซื้อรถยนต์ใหม่จะลดลงอีกมาก

การทำงานแบบ hybrid มากยิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่รถยนต์จะถูกจอดไว้เฉย ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะจอดอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมดของรถยนต์ ซึ่งนั่นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่กับไม่ใช่เพียงแค่ Tesla เท่านั้น แต่จะรวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมดเลยทีเดียวนั่นเองครับผม   

References :
https://www.inc.com/howard-tullman/elon-needs-to-focus.html
https://www.inc.com/howard-tullman/tesla-has-a-bigger-problem-than-elon-musk.html
https://www.inc.com/howard-tullman/why-gen-y-doesnt-care-about-cars.html