Carmob Rider กับข้อคิดสำคัญสำหรับ Rider ที่จะยึด Platform เป็นช่องทางทำมาหากินหลัก

พอดีผมได้มีโอกาสนั่งอ่าน ข่าวเกี่ยวกับ การรวมตัวประท้วงของกลุ่มคนขับรถบริการส่งพัสดุ ของบริษัท ลาลามูฟ ที่มีการนัดหมายจัดการชุมนุม คาร์ม็อบหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่อาคารสาทรธานี เพื่อประท้วงหลังบริษัทปรับลดค่ารอบวิ่งโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

โดยเนื้อหาข่าวน่าสนใจ และมันเกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว กับการปรับแบบนี้ของแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ ที่ต้องปรับธุรกิจให้เข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง ที่ไม่ใช่มามัวแต่ เผาเงินจากนักลงทุนอีกต่อไป

ซึ่งจากเคสของ ลาลามูฟ คุณ อนุกูล ราชกุณา เลขาธิการสหภาพไรเดอร์ ให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ทำการปรับลดค่ารอบโดยไม่แจ้งไรเดอร์มา 5 ครั้ง ซึ่งมีไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบกว่า 20,000 คน

ตัวอย่างเช่น รถยนต์ 4 ประตู เดิมได้ค่ารอบกิโลเมตรแรก 99 บาท กิโลเมตรถัดไป 12 บาท แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ค่ารอบกิโลเมตรแรก 79 บาท และ กิโลเมตรถัดไปเหลือ 9 บาท

การรวมตัวประท้วง(อีกครั้ง)ของไรเดอร์ที่ถูกลดรายได้จากแพล็ตฟอร์ม (CR:brickinfotv)
การรวมตัวประท้วง(อีกครั้ง)ของไรเดอร์ที่ถูกลดรายได้จากแพล็ตฟอร์ม (CR:brickinfotv)

ซึ่งเมื่อหักค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทหักไรเดอร์ 15% และ ค่าภาษี 3% แทบจะไม่เหลือรายได้เลยด้วยซ้ำ เพราะยังมีต้นทุน ทั้งค่าน้ำมันและค่าเสื่อมสภาพรถ

Case Study ไรเดอร์ชาวสก็อตแลนด์ เกือบครึ่งที่มีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

มีข้อมูลที่น่าสนใจที่ได้รับการวิเคราะห์จาก Bureau Local และ The Ferret ที่พบว่าเกือบหนึ่งในสามของไรเดอร์ในเมืองต่าง ๆ ของสก็อตแลนด์ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ

แม้จะมีการอ้างจากเหล่าแพล็ตฟอร์มว่า ไรเดอร์ที่ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้ ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยมากกว่า 10 ปอนด์ต่อชั่วโมง และกล่าวถึงความพึงพอใจของไรเดอร์ที่อ้างว่าสูงเป็นประวัติการณ์

แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นคำพูดลอย ๆ สวยหรูของแพล็ตฟอร์ม ที่สวนทางกับข้อมูลความเป็นจริง

โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวอย่างไรเดอร์หลายพันคนจากใบแจ้งหนี้ที่อัปโหลดโดยไรเดอร์ทั่วสหราชอาณาจักรชี้ให้เห็นว่า ไรเดอร์ร้อยละ 41 ได้รับรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ 8.72 ปอนด์ต่อชั่วโมง

ไรเดอร์ร้อยละ 41 ของชาวสก็อตแลนด์มีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ (CR:Theferret.scot)
ไรเดอร์ร้อยละ 41 ของชาวสก็อตแลนด์มีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ (CR:Theferret.scot)

โดยมากกว่าครึ่งของไรเดอร์ ราว ๆ ร้อยละ 56 มีรายได้น้อยกว่า 10 ปอนด์ต่อชั่วโมง และบางคนน้อยกว่านั้นมาก โดยหนึ่งในหก ได้รับน้อยกว่า 6.45 ปอนด์ต่อชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามแพล็ตฟอร์มแทบไม่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้กับไรเดอร์ เนื่องจากถือว่าเป็นการประกอบอาชีพอิสระ

เปลี่ยนจากการเผาเงินสู่การทำธุรกิจจริง ๆ

ผมได้ลองหาข้อมูลจากเรื่องราวดังกล่าวเกี่ยวกับการประท้วงของไรเดอร์ ก็พบว่าปัญหานี้มีอยู่ทั่วโลกจริง ๆ ที่จะเริ่มตัดรายได้ลงไปเรื่อย ๆ จนสู่จุดคุ้มทุนทางด้านธุรกิจจริง ๆ ไม่ได้สปอยเงินให้กับไรเดอร์เหมือนช่วงเปิดแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ

ซึ่งต้องมองตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่บริษัทพวกนี้โดยเฉพาะบริการที่แข่งกันหนักอย่าง Delivery Service หรือ แม้กระทั่ง Platform Ecommerce อย่าง Shopee , Lazada ยอมขาดทุนมหาศาลทุก ๆ ปี

แน่นอนอยู่แล้วว่าพวกเขาต้องการ Data จากพฤติกรรมผู้บริโภคของเรา ว่าชอบสั่งอาหารแบบไหน มูลค่าเท่าไหร่ หรือช่วงเวลาใด และสุดท้ายพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมที่เราเคยชิน เหมือนที่เราเห็นใน platform Ecommerce อย่าง Lazada , Shopee ที่คนไทยเริ่มเสพติดกันหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยการอัดโปรโมชั่นมากมายที่ดูเหมือนเป็นการสปอยเหล่าไรเดอร์ที่เข้ามาร่วมในระบบ ทำให้มีคนเข้าไป join ใน platform เหล่านี้ แน่นอนว่า รายได้ในช่วงแรก ๆ ต้องกระฉูด เพราะเป็นช่วงเผาเงินที่ได้รับจากนักลงทุน

เพราะแน่นอนว่ามันไม่ใช่เงินจากการทำธุรกิจจริง ๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในการอัดเงินให้ไรเดอร์มากมายขนาดนี้ ถ้าพวกเขาคิดจะใช้ Model นี้แบบเพื่อทำธุรกิจแบบยั่งยืนจริง ๆ

แต่บริษัทเหล่านี้ ไม่ใช่นักบุญแน่นอน มาหว่านเงินแจกเล่น เหมือนช่วงแรก ๆ พวกเขาเอาข้อมูลไปวิเคราะห์อยู่แล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้วนั้น ธุรกิจ มันก็คือ ธุรกิจ ที่ต้องทำเงินสร้างผลกำไรออกมา

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย ในโมเดลก่อนหน้าที่เราได้เห็นกันอยู่ มันเป็นคณิตศาสตร์ตัวเลขง่าย ๆ ว่าทำยังไงก็ขาดทุน สอดคล้องกับข่าวที่ออกมาช่วง COVID-19 ที่บริการพวกนี้ขาดทุนกันเป็นว่าเล่น เรียกได้ว่า ยิ่งโตยิ่งขาดทุน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พี่ ๆ ไรเดอร์ ควรทำกับ platform กับเหล่านี้ คือ รีบโกยมาให้มากที่สุด ให้เร็วที่สุด และควรหาทางเลือกสำรองไว้ ที่เราสามารถ control ทุกอย่างได้บ้าง (ตัวอย่างกรณี Ecommerce เช่น การสร้างเว๊บไซต์ของตัวเองขึ้นมาแทน) เพราะยังไงหากเป็นบ้านของตัวเองก็ไม่มีใครสามารถมาเปลี่ยนอะไรเราได้อยู่แล้ว

แล้วเปลี่ยนมุมมองกับพวก platform ต่าง ๆ เหล่านี้ ที่เรากำลังพึ่งพานั้นเป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการหารายได้เพียงเท่านั้น อย่ามองเป็นช่องทางทำรายได้หลักเด็ดขาด เพราะวันนึง เค้าจะเปลี่ยนนโยบายอะไรก็ได้ เราไม่สามารถที่จะ control ได้เลย

ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายแล้วที่อยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยน policy ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสุดท้ายเราก็อยู่ไม่ได้ อย่างเช่นใน platform ใหญ่ ๆ อย่าง facebook , shopee , lazada หรือ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสุดท้ายพวกนี้เค้าก็ต้องสร้างกำไรให้กับพวกเขาในท้ายที่สุดนั่นเองครับผม

References : https://thestandard.co/lalamove-delivery-drivers-carmob-140964/
https://www.brickinfotv.com/news/119078/
https://www.theguardian.com/australia-news/2018/may/16/food-delivery-riders-protest-against-wage-theft-by-deliveroo-foodora-and-ubereats
https://theferret.scot/deliveroo-riders-earning-less-than-minimum-wage/
http://davaotoday.com/main/headline/foodpanda-davao-riders-protest-low-earnings-harsh-policies/


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube