3 อุปสรรคของธุรกิจสตาร์ทอัพ สู่การพังทลายลงอย่างช้า ๆ ของบริษัทอย่าง Netflix และ Uber

แนวความคิดด้านโมเดลธุรกิจของเหล่าสตาร์ทอัพที่กลายเป็น playbook ให้หลาย ๆ บริษัทประสบความสำเร็จนั้น มาถึงตอนนี้ต้องบอกว่ากำลังอยู่ในสภาวะสั่นคลอน

โมเดลธุรกิจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจาก dot com crash ในช่วงปี 2000 ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง สตรีมมิ่ง การขายโฆษณาออนไลน์ กำลังสูญเสียความน่าสนใจจากเหล่านักลงทุน

ซึ่งธุรกิจชื่อดังที่ใช้โมเดลดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็น Uber , Netflix หรือ Snap นั้นตอนนี้มูลค่าบริษัทของพวกเขากำลังลดดิ่งลงเหว

แม้จะเป็นผู้นำระดับโลกในด้านบริการเรียกรถแต่ Uber ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสร้างกำไรได้ ในช่วงเวลา 13 ปี Uber ได้ผลาญเงินนักลงทุนไปกว่า 25 พันล้านดอลลาร์แล้ว DoorDash ผู้นำด้านการจัดส่งอาหารก็ยังขาดทุนอยู่หรือแม้แต่ Spotify ก็เช่นกัน ทั้งที่รายได้พวกเขาเหล่านี้เติบโตพอสมควรก็ตามที

Netflix บริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ยุค 1990 เปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้กลายบริการสตรีมมิ่งในปี 2007 แม้จะทำกำไรได้ แต่การเติบโตของรายได้ลดลงเหลือ 6% ในไตรมาสที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่มีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 20%

แม้ดูคร่าว ๆ แต่ละธุรกิจจะประสบปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดแทบจะเจออุปสรรคหลักเดียวกันสามอย่าง นั่นก็คือ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ Network Effect , Barriers to entry ที่ต่ำมาก ๆ และการพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากเกินไป

เริ่มต้นด้วย Network Effect ที่กลายเป็นคำโก้สวยหรูที่เรามักจะเห็นในแวดวงสตาร์ทอัพ กับแนวคิดที่ว่าคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อผู้ใช้นั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน มันอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าเหตุใดสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จึงแสวงหาการเติบโตด้วยการผลาญเงินนักลงทุนแแทบจะทั้งหมด โดยใช้เงินหลายล้านในการหาลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดพลังของ Network Effect

แม้พลังของ Network Effect นั้นจะมีอยู่จริง แต่มันก็มีขีดจำกัดเช่นเดียวกัน Uber เชื่อว่าเมื่อมีผู้โดยสารและคนขับจำนวนมากขึ้นจะหมายถึงที่ว่างที่น้อยลงสำหรับทั้งสองฝ่าย และจะดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามามากขึ้น

แต่กลายเป็นว่าเมื่อพวกเขาทำให้การเวลาการรอโดยเฉลี่ยลดลงจากสองนาทีเหลือหนึ่งนาที กลับต้องใช้คนขับเพิ่มมากขึ้นถึงสองเท่า แม้ว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะแทบไม่สังเกตเห็นความแตกต่างก็ตาม

Spotify และ Netflix เองยังพยายามใช้ประโยชน์จากพลังของ Network Effect เนื่องจากข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับพฤติกรรมการฟังและการรับชมของผู้ใช้ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งพวกเขามองว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไม่มีใครสามารถเข้ามาแข่งได้

ความเชื่อที่ว่าข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาลของ Netflix จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการสร้างเนื้อหาได้ถูกทำลายลงตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ original ของ Netflix อย่าง True Memoirs of an International Assassin โดนดูถูกจากเว็บไซต์วิจารณ์ชื่อดังอย่าง Rotten Tomatoes โดยให้ Rating ในระดับ 0%

ปัญหาที่สองในเรื่องของ Barriers to entry หรือ อุปสรรคในการเข้ามาของคู่แข่ง ในตอนนี้เรียกได้ว่าแทบไม่มีอุปสรรคใด ๆ ในการสร้างบริการเลียนแบบต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มีนวัตกรรมใหม่ใด ๆ เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าบริการใดที่คิดว่าเทพแค่ไหน เหล่าคนลอกเลียนแบบก็จะปรากฎตัวขึ้นในไม่ช้า

ตัวอย่าง Uber แม้จะเจอคู่แข่งเรียกรถเพียงรายเดียวคือ Lyft ในตลาดบ้านเกิด แต่การขยายไปทั่วโลกพวกเขาเจอคู่ต่อสู้ในท้องถิ่นในทุกที่ เช่น Didi ในจีน หรือ Grab และ Gojek ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หรือในธุรกิจสตรีมมิ่ง แม้จะมีอุปสรรคในการเข้ามามากกว่า Netflix และ Spotify ใช้เงินมหาศาลในการสร้างเนื้อหาและเรื่องลิขสิทธิ์ แต่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่โดดเข้ามาเล่นในตลาดเดียวกัน

เมื่อ Disney ลงมาแข่งด้วยส่งผลอย่างชัดเจนต่อ Netflix เพราะ Disney มีคอนเทนต์มากมายมหาศาลและมีทุนในการต่อสู้กับ Netflix ได้แบบสบายๆ

Disney ใช้เงินไปกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญต่อปีในเรื่องคอนเทนต์ Netflix สามารถทุ่มได้เพียงแค่ 17 พันล้านเหรียญต่อปี ต้นทุนด้านเนื้อหาได้กัดกินไปที่ผลกำไรของบริการสตรีมมิ่ง แต่ Disneyไม่ได้สนใจพวกเขาเป็นบริษัทยักษ์มีทุนหนา ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อ Netflix ที่ทำให้มูลค่าบริษัทของพวกเขาลดลงไปแทบจะทันที

และสิ่งสุดท้ายที่กำลังสั่นคลอนธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่คือการพึ่งพาแพลตฟอร์มในการจัดจำหน่ายที่ไม่ใช่ของตนเอง

Uber และ DoorDash ยอมจ่ายค่าโฆษณาบนแอพสโตร์ของ Apple และ Android ของ Alphabet บริการอย่าง Spotify โดนหักค่าคอมมิชชั่นมากกว่า 15% สำหรับการสมัครสมาชิกบน iPhone แม้พวกเขาจะพยายามบังคับให้ผู้ใช้จ่ายเงินผ่านเว็บเบราว์เซอร์ แต่การผูกตัวเองกับแพลตฟอร์มอื่นแบบนี้ในระยะยาว ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดในการพึ่งพิงอาศัยบนแพลตฟอร์มของผู้อื่นนั้น ต้องบอกว่าภัยคุกคามนั้นมีอยู่จริงเมื่อเจ้าของแพลตฟอร์มเกิดเปลี่ยนนโยบาย หรือ อยากจะรีดไถเงินเพิ่ม

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้นกับ Facebook การปรับเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่เพียงแค่เรื่องเดียว ทำให้ Meta สูญเสียรายได้ประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์

Parler ซึ่งเป็นแอปเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนทรัมป์ ถูกระงับชั่วคราวโดยทั้ง Apple และ Android และหากผู้มีอำนาจในสภาของอเมริกากังวลเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของโดยจีนของแอปอย่าง TikTok และบังคับให้ Apple และ Alphabet นำมันออกจาไปจากแอพสโตร์ ดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการโซเชียลมีเดียวก็อาจถึงคราวต้องดับสูญได้เช่นกัน

แม้โมเดลธุรกิจต่าง ๆ อาจจะเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกันไป จะเห็นได้ว่าหากปัญหาเกิดขึ้นกับเสาเหลักเพียงเสาเดียว อย่างเรื่อง Network Effect , Barriers to entry หรือ การพึ่งพาแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากเกินไป นั้นก็สามารถสั่นคลอนธุรกิจที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงไม่มีใครคาดคิดว่าจะล้มได้ แต่หากทั้งสามเสาหลักสร้างปัญหาพร้อมกันเมื่อไหร่ล่ะก็ ความหายนะมันก็จะเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นแทบจะทันทีนั่นเองครับผม

References :
https://www.economist.com/business/2022/10/31/what-went-wrong-with-snap-netflix-and-uber
https://www.channelnews.com.au/netflix-wobbles-shares-crash-18/
https://www.cnbc.com/2022/04/20/netflix-plunges-trading-subscriber-loss.html
https://www.forbes.com/sites/greatspeculations/2022/06/07/is-uber-stock-too-cheap-to-ignore


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube