Geek Monday EP275 : ม้าโทรจันหรือผู้กอบกู้ Nokia? เบื้องหลัง Stephen Elop กับการล่มสลายของพี่ใหญ่วงการมือถือ

เสียงปรบมือดังก้องในสำนักงานใหญ่ของ Nokia ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2010 ในวันนั้น Steven Elop ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรศัพท์มือถือ เขาเป็นอดีตผู้บริหารจาก Microsoft และเป็น CEO คนแรกในประวัติศาสตร์ของ Nokia ที่ไม่ใช่ชาวฟินแลนด์

ไม่มีใครคาดคิดว่าภายในเวลาเพียง 3 ปีหลังจากนั้น อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองจะต้องขายธุรกิจโทรศัพท์ให้กับ Microsoft ในราคาเพียง 7.2 พันล้านดอลลาร์ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ Nokia ภายใต้การนำของคนที่มาจาก Microsoft เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft และไม่ประสบความสำเร็จ การที่ Nokia ผูกมัดตัวเองกับซอฟต์แวร์ของ Microsoft กลายเป็นการตัดสินใจที่พลิกชะตากรรมของบริษัท

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/38hd6sz9

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/5n6ddv3k

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/3eaptkkb

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/k3reXZm8B4c

ไทย x มณฑลไท่กั๋ว เมื่อจีนรุกฆาตในขณะที่ชนชั้นสูงของไทยยังคงหลับใหล

ต้องบอกว่าในทุกวันนี้ทุนจากจีนกำลังรุกหนักประเทศไทยแบบสุดโหด เริ่มต้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถล่มตลาดด้วยสินค้าราคาถูก ทำลายเศรษฐกิจรากหญ้าของไทยมาหลายปี

ปีนี้เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อร้านค้าออฟไลน์ของจีนเริ่มบุกเข้ามาถล่มซ้ำ แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือแทบไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปจัดการได้เลย

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ผมตั้งชื่อบทความนี้โดยเลียนแบบมาจากหนังสือ “Stealth War: How China Took Over While America’s Elite Slept” โดย Robert Spalding

เพราะมันฉายภาพซ้ำกับที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาแล้ว กว่าพวกเขาจะรู้ตัว ก็มาถึงยุค Donald Trump ที่เริ่มสร้างสงครามการค้าแบบโครตโหด แบนทุกอย่าง กีดกันจีนเต็มที่

มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มองไปที่เพื่อนบ้านอย่างลาวหรือกัมพูชา พวกเขาแทบกลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีนไปแล้ว สิ้นซากอธิปไตยทางเศรษฐกิจ

หนังสือ Stealth War มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากๆ ที่พูดถึงยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับรูปแบบของ Unrestricted Warfare ยุคนี้การพิชิตประเทศไม่จำเป็นต้องใช้กองทัพใหญ่เหมือนในอดีต

กำลังทหารเป็นเพียงหนึ่งในการแสดงความก้าวร้าว สไตล์จีนเลือกใช้อำนาจทางเศรษฐกิจแทน มันสร้างอิทธิพลและโน้มน้าวผู้นำการเมืองได้ ปิดปากคนได้ ซื้อหรือขโมยเทคโนโลยีได้

และที่เทพสุดๆ คือการผลิตสินค้าราคาถูกแล้วขับไล่คู่แข่งออกจากธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อ่อนแอลง

นี่คือสิ่งที่จีนพยายามแทรกซึมอเมริกาผ่านวิธีการต่างๆ การถล่มด้วยสินค้าราคาถูกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมียุทธศาสตร์ที่คิดมาอย่างดี เช่น การเจรจากับไปรษณีย์อเมริกาให้สินค้าที่สั่งในปริมาณไม่มากแทบไม่ต้องเสียภาษี

เคสคลาสสิกในอเมริกาคือเรื่องของ AJ Khubani ชายผู้มีความฝันแบบอเมริกันดรีม เขาสร้างธุรกิจด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย มุมานะทำงานหนัก

Khubani เก็บหอมรอมริบเริ่มต้นธุรกิจด้วยทุนเพียง 20,000 ดอลลาร์ พัฒนาและจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ในนาม “As Seen on TV” จนสร้างยอดขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

แต่แล้วในปี 1990 Khubani สังเกตเห็นว่าบริษัทของเขากลายเป็นเป้าของเหล่านักลอกเลียนแบบชาวจีน ความฝันของเขาเริ่มดิ่งลงเหว

“ถ้าคุณไปที่ supermarket คุณจะพบสินค้าเราเป็นของปลอม ทุกอย่างเหมือนกันหมด แพ็คเกจเหมือนกัน ยี่ห้อเดียวกัน” Khubani กล่าวอย่างระทมทุกข์

และเมื่อ ecommerce บูมขึ้น การปลอมแปลงเหล่านี้ก็ทวีคูณ สินค้าเลียนแบบของเขาถูกขายผ่าน Amazon เต็มไปหมด

“พวกเขาใช้เครื่องหมายการค้าของเรา ผลิตภัณฑ์ที่จดสิทธิบัตรของเรา ใช้รูปถ่ายของเรา ใช้วีดีโอของเรา ใช้ทุกอย่างของเรา” เขาเล่าถึงความแสบของพวกนั้น

เมื่อ Khubani แจ้งไปทาง Amazon คำตอบที่ได้ยิ่งทำให้เจ็บปวดรวดร้าว Amazon ตอบว่าพวกเขาไม่สามารถระบุได้ว่าสินค้าชิ้นไหนเป็นของปลอม

เบื้องหลังคือ Amazon ทำเงินมหาศาลจากสินค้าลอกเลียนแบบเหล่านี้ ยังแอบสนับสนุนการขายของปลอมเพราะมันทำให้พวกเขารวยขึ้น

Amazon ไม่ใช่ตัวร้ายเพียงเจ้าเดียว ไปรษณีย์สหรัฐฯ ก็ทำข้อตกลงกับจีนเสนอส่วนลดมากมายสำหรับพัสดุจากจีนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การส่งพัสดุหนัก 1.3 กิโลกรัมระยะทาง 3.7 กิโลเมตรในวอชิงตัน มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการส่งของประเภทเดียวกันจากปักกิ่งมาทำเนียบขาวระยะ 11,000 กิโลเมตร

ภาพนี้ดูคุ้นตาใช่ไหม? เหมือนกับที่ประเทศไทยเรา ที่ยุคนึงสินค้าจีนราคาไม่เกิน 1,500 บาทแทบไม่ต้องเสียภาษี

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟความเร็วสูงหรือถนนหนทางเพื่อจัดส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียที่สินค้าจีนกินเรียบตั้งแต่สากเบือยันรถไฟฟ้า EV

ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือการโจมตีด้วยอาวุธออนไลน์ที่ทั้งเร็วและแรง ถีบพ่อค้าแม่ค้าไทยล้มระเนระนาด บังคับให้ขายของราคาถูกที่สุด ใครขายแพงก็โดนปิดการมองเห็น

และสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือคำค้นหายอดฮิตในแพลตฟอร์ม ecommerce จีนที่ยึดครองอาเซียนแบบเบ็ดเสร็จ คือคำว่า “สินค้า xxx ราคา 1 บาท” แล้วใครจะไปสู้ราคากับพวกพี่ ๆ เขาได้

มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อสุดๆ ที่ขายของราคาต่ำขนาดนี้แล้วยังอยู่ได้ คนไทยไม่มีทางสู้พี่จีนได้ถ้าขายราคาแบบนี้ แถมส่งไวเหมือนมีโกดังล้อมรอบประเทศไทยไปแล้ว

การบุกรุกยังไม่จบ เราเห็นเฟรนไชส์น้ำมะนาว ไอศครีม ไก่ทอด แพร่พันธุ์ไวยิ่งกว่าไฮดร้า ร้านอาหารจีนรุมถล่มกระจายทั่วทุกมุมเมือง

คำว่า “มณฑลไท่กั๋ว” แปลว่าไทยเป็นมณฑลหนึ่งของจีน กลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ไม่ควรมองข้าม ในวันที่การรุกคืบของทุนจีนมาในทุกรูปแบบ

แน่นอนว่านี่จะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคตอย่างรุนแรง ถ้าเหล่าผู้นำชนชั้นสูงของไทยยังคงหลับใหลอยู่เหมือนตอนนี้ ในขณะที่ชะตาของประเทศกำลังถูกขีดเขียนขึ้นโดยคนอื่น

References :
หนังสือ Stealth War: How China Took Over While America’s Elite Slept  โดย Robert Spalding

Geek Story EP365 : ทำไม Compaq ถึงหายไปจากตลาด? จากผู้ท้าชิง สู่ผู้นำ และการล่มสลาย

ถ้ากล่าวถึงแบรนด์อย่าง Compaq คิดว่าหลายคนคงจะลืมกันไปแล้วว่ามีแบรนด์ นี้อยู่ในโลกด้วยหรือ แต่ถ้าย้อนไปในยุคเริ่มต้นของการกำหนดของ PC หรือ ยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้น ต้องถือว่า Compaq เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่กล้ามาต่อกรกับยักใหญ่อย่าง IBM ในสมัยนั้นได้

ต้องบอกว่า Compaq นั้นมีประวัติที่น่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันนัก ซึ่ง Campaq นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1982 ซึ่งเป็นยุคตั้งไข่ของ PC พอดิบพอดี ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Texus Intrument ซึ่งเหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนประกอบไปด้วย Rod Canion , Jim Harris และ Bill Murto

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify :
https://tinyurl.com/bddhtumn

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/3tv4s4mw

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/4vpzexmc

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/smsU_lzFr3s

วาติกันวอลล์สตรีท : ศรัทธาหรือเงินตรา? กับขุมทรัพย์ลับแห่งนครรัฐวาติกัน

ย้อนกลับไปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ วาติกันไม่ได้เป็นแค่ศูนย์กลางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างมากในยุโรปด้วย พวกเขาปกครองดินแดนขนาดใหญ่ในอิตาลีตอนกลาง ที่เรียกว่ารัฐของสันตะปาปา

เพื่อรักษาอำนาจ วาติกันต้องการเงินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจึงรังสรรค์วิธีระดมทุนมากมาย หนึ่งในนั้นคือการขายใบไถ่บาป ซึ่งเป็นเอกสารที่รับรองว่าพระเจ้าจะยกเว้นโทษบาปให้ผู้ซื้อ โดยตั้งราคาตามความร้ายแรงของบาป

วิธีนี้สร้างรายได้มหาศาลให้วาติกัน แต่ก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนกลายเป็นชนวนให้ Martin Luther ก่อการปฏิรูปศาสนาขึ้นมา เรียกได้ว่าความโลภนำมาซึ่งรอยร้าวครั้งใหญ่ในวงการศาสนาเลยทีเดียว

แต่ปัญหาทางการเงินที่หนักสุดๆ ของวาติกันเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อกองกำลังฝรั่งเศสภายใต้การนำของ Napoleon Bonaparte บุกยึดกรุงโรม และยุติการปกครองของสันตะปาปา

สมเด็จพระสันตะปาปา Pius VI ถูกจับกุมและเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง เหตุการณ์นี้เกือบทำให้คริสตจักรคาทอลิกล่มสลาย

หลังจากสงคราม Napoleonic จบลง วาติกันได้อำนาจการปกครองรัฐของสันตะปาปาคืนมา แต่สถานการณ์การเงินยังเละเทะมาก ด้วยความสิ้นไร้ไม้ตอก คริสตจักรจึงหันไปพึ่งพาตระกูล Rothschild ราชวงศ์ธนาคารผู้ทรงอิทธิพลในยุโรป

ในปี 1831 สมเด็จพระสันตะปาปา Gregory XVI ทรงตัดสินใจยืมเงินจากตระกูล Rothschild เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคริสตจักร James de Rothschild หัวหน้าสำนักงานใหญ่ในปารีส ได้รับแต่งตั้งเป็นนายธนาคารของสันตะปาปา

การตัดสินใจนี้ทำให้เจ้าหน้าที่คริสตจักรสายอนุรักษ์ทั้งหลายไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง พวกเขารู้สึกว่าเป็นความอัปยศที่ต้องพึ่งพาคนในตระกูลนี้เพื่อความช่วยเหลือทางการเงิน

ตระกูล Rothschild ให้วาติกันกู้ 40 ล้านยูโรในมูลค่าปัจจุบัน และด้วยอิทธิพลของตระกูลนี้ คริสตจักรจึงเริ่มการปฏิรูปทางการเงินครั้งใหญ่

พวกเขาเริ่มขายพันธบัตรให้กับผู้ศรัทธาคาทอลิก และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และหุ้นของธนาคารแห่งโรม ซึ่งทำกำไรได้มากมาย แผนการนี้ทำให้วาติกันก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดการเงิน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 วาติกันเผชิญกับความตึงเครียดทางการเงินอีกรอบ เพราะรายได้จากการบริจาคดิ่งลงเหว เยอรมนีเห็นความสำคัญของการมีวาติกันเป็นพันธมิตรจึงส่งเงินลับๆ ให้ผ่านธนาคารสวิส

พวกเขาติดฉลากว่าเป็น Peter’s Pence หรือเงินถวายนักบุญเปโตร นอกจากนี้ ออสเตรียก็อัดฉีดเงินลับๆ ให้ด้วย

จุดพีคของประวัติศาสตร์การเงินวาติกันเกิดขึ้นในปี 1929 เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาลาเตรันระหว่างอิตาลีและวาติกัน ซึ่งทำให้นครรัฐวาติกันเป็นประเทศอธิปไตย

รัฐบาลอิตาลีจ่ายเงินชดเชยให้วาติกันเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้คริสตจักรต้องการผู้เชี่ยวชาญมาจัดการเงินก้อนโตนี้ Bernardino Nogara ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้

Nogara เป็นนักการเงินมากความสามารถและมีเครือข่ายที่แน่น ภายใต้การนำของเขา วาติกันรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้อย่างน่าทึ่ง

เขาใช้กลยุทธ์สุดเทพ ทั้งลงทุนในทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และทำ arbitrage ในพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ยังจัดตั้งเครือข่ายบริษัทโฮลดิ้งเพื่อจัดการการลงทุนอย่างรอบคอบและลึกลับซับซ้อน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วาติกันก่อตั้ง Istituto per le Opere di Religione หรือธนาคารวาติกัน ซึ่งดำเนินการอย่างลับๆ ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลการเงิน ไม่ต้องเสียภาษี และสามารถทำลายเอกสารได้ทุก 10 ปี

ธนาคารนี้กลายเป็นช่องทางสำหรับการซ่อนและฟอกเงิน มีข่าวฉาวโฉ่ว่าช่วยย้ายเงินของนาซีและช่วยผู้ลี้ภัยนาซีหลบหนีไปอเมริกาใต้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วาติกันใช้ประโยชน์จากการฟื้นฟูของยุโรปโดยลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและธนาคาร ในช่วงนี้ Michele Sindona นักการเงินสุดแสบแต่ไร้จริยธรรม เข้ามามีบทบาทสำคัญ

Sindona มีความสัมพันธ์กับมาเฟียและช่วยคนรวยหลบเลี่ยงภาษี เขาร่วมมือกับ Roberto Calvi ผู้บริหารของ Banco Ambrosiano สร้างเครือข่ายธนาคารและบริษัท Offshore Holding เพื่อย้ายเงินวาติกันอย่างลับๆ

Paul Marcinkus ประธานธนาคารวาติกันขณะนั้น สนับสนุนกิจกรรมของ Sindona และ Calvi โดยหวังขยายธุรกิจของธนาคารวาติกันไปทั่วโลก แต่แผนการเงินของพวกเขาเริ่มพังพินาศในช่วงต้นทศวรรษ 1970

ธนาคาร Franklin National ของ Sindona ในสหรัฐอเมริกาล้มละลาย และการลงทุนของเขาในอิตาลีก็มีปัญหาหนัก Calvi พยายามเข้าควบคุมสินทรัพย์ของ Sindona แต่ก็เผชิญกับปัญหาทางกฎหมาย

ในปี 1982 Roberto Calvi ถูกพบเสียชีวิตในลอนดอน โดยถูกแขวนคอใต้สะพาน Blackfriars ซึ่งสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาเฟีย

วาติกันยอมรับความผิดพลาดในการทำงานร่วมกับ Calvi และจ่ายเงิน 244 ล้านดอลลาร์ในการตกลงทางกฎหมายเกี่ยวกับ Banco Ambrosiano เรื่องอื้อฉาวนี้ทำให้การบริจาคให้วาติกันลดฮวบ จนคริสตจักรขาดดุลงบประมาณเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

Michele Sindona ถูกส่งตัวกลับไปอิตาลีในปี 1985 และเสียชีวิตในคุกจากการได้รับพิษไซยาไนด์ ซึ่งสงสัยว่าเป็นการลงโทษอย่างสาสมจากมาเฟีย Paul Marcinkus ถูกออกหมายจับโดยเจ้าหน้าที่อิตาลี แต่วาติกันปฏิเสธที่จะส่งตัวเขา

ในทศวรรษ 1990 ธนาคารวาติกันเผชิญกับการตรวจสอบและเรื่องอื้อฉาวที่ไม่เคยมีมาก่อน นำไปสู่การแต่งตั้ง Angelo Caloia เป็นประธานคนใหม่ของธนาคารวาติกัน โดยหวังว่าจะฟื้นฟูความไว้วางใจในสถาบัน

แต่ปัญหาใหญ่กว่ารออยู่ข้างหน้า ในปี 2002 เกิดเรื่องฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์และการเงินของคริสตจักร มณฑลหลายแห่งต้องประกาศล้มละลายหรือขายทรัพย์สินเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับเหยื่อ

ในปี 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสขึ้นครองตำแหน่ง นำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่คริสตจักรคาทอลิก พระองค์ทรงนำเสนอแนวทางที่ถ่อมตนและเป็นประชานิยมมากขึ้น แตกต่างจากพระสันตะปาปาองค์ก่อนอย่างสิ้นเชิง

พระองค์ทรงละทิ้งความหรูหราแบบดั้งเดิมของตำแหน่งสันตะปาปาและมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงคนยากจนและคนชายขอบในสังคม แนวทางของพระองค์ต่อประเด็นที่มีการถกเถียง มีความครอบคลุมและเห็นอกเห็นใจมากขึ้น

ในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของคริสตจักร ดึงดูดทั้งชาวคาทอลิกและผู้ที่ไม่ใช่คาทอลิกทั่วโลกได้มากมาย

ผลกระทบเชิงบวกนี้ยังส่งผลดีต่อธนาคารวาติกันด้วย เนื่องจากการเข้าร่วมมิสซาที่เพิ่มขึ้นและการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครในองค์กรการกุศลคาทอลิก ทำให้ธนาคารวาติกันได้รับเงินบริจาคอีกครั้งในจำนวนที่ไม่เคยมีมาก่อน

ภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ธนาคารวาติกันได้เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเริ่มเผยแพร่รายงานทางการเงินประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มของจำนวนบาทหลวงทั่วโลก แม้ว่าจำนวนบาทหลวงในยุโรปและอเมริกาจะลดลง แต่กลับมีการเพิ่มขึ้นในแอฟริกาและเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของการเติบโตภายในคริสตจักร

แม้จะมีวิกฤตการเงินและภาพลักษณ์ที่ปั่นป่วนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คริสตจักรคาทอลิกดูเหมือนจะเริ่มพบจุดยืนที่มั่นคงอีกครั้ง แต่เราต้องไม่ลืมว่าวาติกันยังคงเป็นองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ

ในท้ายที่สุด เหล่าผู้นำและสมาชิกของคริสตจักรก็เป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีความอ่อนแอและข้อบกพร่อง ตลอดประวัติศาสตร์ คริสตจักรได้มีส่วนร่วมในแนวปฏิบัติทางการเงินหลายอย่างที่อาจขัดแย้งกับหลักความเชื่อของคาทอลิก

ปัจจุบัน ประชากรคาทอลิกทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนถึง 1.406 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2023 เพิ่มขึ้น 1.15% จากปีก่อนหน้า นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าแม้จะมีความท้าทายและวิกฤตมากมายในอดีต คริสตจักรคาทอลิกยังคงเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพล

การเดินทางทางการเงินของวาติกันตลอดหลายศตวรรษ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและความอยู่รอดขององค์กรศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แม้จะมีช่วงเวลาที่มืดมนและการตัดสินใจผิดพลาด แต่คริสตจักรก็ฟื้นตัวและปรับเปลี่ยนตัวเองได้หลายครั้ง

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เรื่องราวทางการเงินของวาติกันจะยังคงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา การเงิน และอำนาจในโลกสมัยใหม่ การดูว่าคริสตจักรจะฝ่าฟันความท้าทายเหล่านี้อย่างไรจะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับเราทุกคน

References: [vaticannews, catholicnewsagency, americamagazine, theatlantic, economist]