เรื่องราวเริ่มต้นในเดือนกันยายนปี 2003 Andy Jassy ที่ตอนนั้นกำลังนั่งอยู่ด้วยความกังวลใจ ความคิดที่เขาครุ่นคิดมานานกว่าหนึ่งปีกำลังจะถูกนำเสนอต่อทีมผู้บริหารของ Amazon กับไอเดียที่ว่า Amazon ควรสร้างและจำหน่ายโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลให้กับบุคคลภายนอก
เขารู้ดีว่าถ้าโน้มน้าว Jeff Bezos และทีมผู้บริหารไม่สำเร็จ ไม่เพียงแค่อนาคตของเขาจะดับสูญ แต่ Amazon จะพลาดโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุด แต่เมื่อถึงเวลานำเสนอ Bezos กลับอนุมัติแผนทันที
ในตอนนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขากำลังเริ่มต้นธุรกิจที่ภายใน 20 ปีต่อมาจะมีมูลค่าพุ่งทะยานเกินหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ นี่คือเรื่องราวของ AWS หรือ Amazon Web Services ที่กลายเป็นแนวคิดปฏิวัติวงการเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์
AWS เป็นหนึ่งในแนวคิดที่เทพมากในประวัติศาสตร์เทคโนโลยี และเป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามสำหรับ Amazon ปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลกต่างพึ่งพา AWS สำหรับทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล ระบบจ่ายเงินเดือน หรือระบบ CRM สตาร์ทอัพยอดฮิตที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง Uber, Netflix, Airbnb ล้วนเป็นหนี้ AWS ในการก่อตั้งบริษัท แม้แต่ NASA และ CIA ก็ยังใช้บริการของ AWS
มีทฤษฎีผิดๆ ที่ว่า Jeff Bezos และผู้บริหารระดับสูงคิดค้น AWS ขึ้นเพื่อหารายได้เสริมจากเซิร์ฟเวอร์ที่เหลือใช้ จริงอยู่ที่ Bezos ก็ไม่ค่อยพอใจกับค่าใช้จ่ายด้านเซิร์ฟเวอร์ของ Amazon แต่ในยุคนั้น การให้เช่าความจุเซิร์ฟเวอร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการเช่าล็อคเกอร์
ความจริงแล้ว ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่คิดค้น AWS ขึ้นมา มันเป็นผลลัพธ์จากการประชุม บันทึกภายใน และการพูดคุยระหว่างบุคลากรนับร้อย Jeff และ Andy เป็นคีย์แมนที่สำคัญที่มองเห็นภาพรวม คัดกรองไอเดียเจ๋งๆ และรักษาโฟกัสในการทำให้มันเป็นจริง
ย้อนกลับไปปลายยุค 90s Amazon กำลังเผชิญปัญหาที่เกิดจากความสำเร็จของตัวเอง ยอดขายพุ่งกระฉูด 838% ระหว่างปี 1997 และ 1998 บริษัทเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เกือบทุกวันและจ้างวิศวกรมากมาย แต่โครงสร้างภายในกำลังเละเทะ
ในเวลานั้น Amazon ทำงานบนสถาปัตยกรรมแบบ Two Tier มีแอปแบบ monolithic ด้านหนึ่ง และฐานข้อมูลมากมายอีกด้านที่เติบโตตามลูกค้าใหม่ ๆ สถาปัตยกรรมนี้ทำงานได้ดีตอน Amazon เป็นร้านหนังสือเล็กๆ แต่เมื่อบริษัทขยายตัว ระบบนี้เริ่มมีปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ
สถาปัตยกรรมแบบนี้เปรียบเสมือนหอคอย Jenga ที่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหรือเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อาจทำให้ทั้งระบบพังทลาย มันสร้างความซ้ำซ้อนและข้อจำกัดทางธุรกิจมากมาย ซึ่งขัดกับวิสัยทัศน์ของ Bezos ที่ต้องการให้ Amazon เป็นมากกว่าร้านหนังสือออนไลน์
ปัญหานี้มาถึงจุดพีคเมื่อ Amazon ได้รับการว่าจ้างจาก Walmart และ Target ให้สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ การส่งมอบโซลูชั่นให้บริษัทเหล่านี้กลับยากและใช้เวลามากกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
ในปี 1998 ทีมวิศวกรของ Amazon ได้เขียนเอกสารที่เรียกว่า “Distributed Computing Manifesto” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้าง AWS เอกสารนี้ระบุจุดอ่อนในสถาปัตยกรรมเดิม เสนอโมเดลใหม่ และอธิบายการเปลี่ยนกรอบความคิดที่จำเป็น
โมเดลที่เสนอคือสถาปัตยกรรมแบบบริการหรือ Service-Oriented Architecture (SOA) ซึ่ง “Service (บริการ)” หมายถึงส่วนที่ออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะอย่าง บริการช่วยให้ธุรกิจทำงานจากระยะไกลและอิสระ พวกมันแยกส่วนและยืดหยุ่น เหมาะสำหรับบริษัทที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว
การเปลี่ยนไปสู่สถาปัตยกรรมแบบ SOA เหมือนการเปลี่ยนจากการสร้างบนหอคอย Jenga ที่เปราะบางไปสู่การสร้างด้วยบล็อก Lego ที่เข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และแทบจะไม่มีวันแตกหัก
หลังศึกษาอย่างถี่ถ้วน Bezos ตัดสินใจนำ SOA มาใช้ซึ่งเป็นการตัดสินใจสำคัญที่จะขีดชะตาอนาคตของ Amazon ว่าจะเป็นบริษัทล้านล้านหรือเป็นเพียงร้านค้าออนไลน์ธรรมดา ๆ อีกแห่งหนึ่ง
ตามที่ Steve Yegge วิศวกรที่เคยทำงานหลายบริษัทเปิดเผยโดยไม่ตั้งใจใน Google+ Bezos ได้ออกบันทึกภายในที่สั่งการว่า:
“ทุกทีมต้องเปิดเผยข้อมูลและฟังก์ชันผ่าน Service Interface ทีมต้องสื่อสารกันผ่านอินเตอร์เฟซเหล่านี้ อินเตอร์เฟซทั้งหมดต้องออกแบบให้สามารถเปิดเผยสู่ภายนอกได้ ใครไม่ทำจะถูกไล่ออก”
เมื่อ Bezos พูดถึง “Service Interface” เขาหมายถึง API หรืออินเตอร์เฟซการเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นกลไกให้ซอฟต์แวร์สองตัวสื่อสารกัน เช่น เมื่อเปิดแอปพยากรณ์อากาศ มันจะดึงข้อมูลจากกรมอุตุฯ โดยใช้ API
Bezos เชื่อว่า API คือทางรอดของ Amazon เขาสร้างทีมที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อสร้าง API สำหรับนักพัฒนาภายนอก นำไปสู่การรวม API เข้ากับ merchant .com ที่ช่วยให้นักพัฒนาแสดงสินค้าของ Amazon บนเว็บไซต์ของพวกเขาได้
ความก้าวหน้าเหล่านี้ทำให้ Bezos คิดนอกกรอบว่าถ้า Amazon สร้างโซลูชั่นแบบนี้ได้ บริษัทอื่นๆ ก็น่าจะต้องการโซลูชั่นแบบเดียวกัน
ในเดือนกรกฎาคม 2002 Amazon จัดประชุมนักพัฒนาเล็กๆ มีผู้เข้าร่วมแค่แปดคน และประกาศเปิดตัวแผนกใหม่ชื่อ Amazon Web Services แม้ในตอนนั้น AWS จะเป็นเพียงวิธีให้นักพัฒนาเข้าถึงแคตตาล็อกของ amazon แต่มันเป็นสัญญาณว่ากำลังมีอะไรเทพๆ เกิดขึ้น
ในช่วงนี้ Andy Jassy เริ่มเข้ามามีบทบาท ปัจจุบัน Andy เป็น CEO ของ Amazon แต่เขาไม่ใช่วิศวกรซอฟต์แวร์ เขาเป็นผู้ที่จบ MBA จาก Harvard ที่หลงใหลในกีฬามากจนเกือบเลือกเส้นทางอาชีพเป็นผู้บรรยายกีฬา
Andy เข้าร่วมแผนกการตลาดของ Amazon ตั้งแต่ปี 1997 และหลังจากวิกฤต Dot-com Bezos แต่งตั้งเขาเป็น “เงา” หรือผู้ช่วยส่วนตัวที่เป็นทั้งผู้ช่วยทางเทคนิคและเปรียบเสมือนหัวหน้าฝ่ายบริหาร
Andy สังเกตเห็นว่าวิศวกรของ Amazon ใช้เวลามากถึงสองในสามไปกับการสร้างฐานข้อมูล พื้นที่จัดเก็บ และโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผล แทนที่จะโฟกัสกับการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโต
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในการประชุมนอกสถานที่ที่บ้านของ Jeff Bezos ในเมดิน่า เมื่อทีมผู้นำระดับสูงของ Amazon มารวมตัวกันเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวคิดธุรกิจใหม่และจุดแข็งของบริษัท พวกเขาเริ่มเห็นภาพรวมว่าทุกอย่างกำลังชี้ไปในทิศทางเดียวกัน
ภายหลังการประชุมนี้ Andy Jassy ได้รวบรวมทีมเฉพาะกิจของผู้เชี่ยวชาญระดับเทพ 10 คนใน Amazon เพื่อร่วมกันวิเคราะห์บริการเว็บหลักในยุคนั้น ทีมได้คิดค้นรายการที่เป็นบริการพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นสูง เช่น การจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล ฐานข้อมูล
Andy เขียนแถลงการณ์วิสัยทัศน์หกหน้า (Six-Page Memo) สำหรับ AWS ที่ไม่เพียงแนะนำให้ Amazon ให้เช่าเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโมเดลราคา รายละเอียดทางเทคนิค และแผนการที่จะนำไปใช้
ในเวลาไล่เลี่ยกัน Alan Vermeulen ที่ภายหลังกลายเป็น CTO ของ Amazon ได้เขียนข้อเสนอหกหน้าสำหรับสิ่งที่กลายเป็นองค์ประกอบหลักแรกของ AWS นั่นคือ Simple Storage Service (S3) Jeff Bezos มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาจนกระทั่ง Vermeulen เรียกเขาว่า “ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ S3”
ในวันที่ 14 มีนาคม 2006 Amazon เปิดตัว S3 ซึ่งเป็นบริการจัดเก็บข้อมูลที่ช่วยให้ลูกค้าเก็บ “Object” ซึ่งอาจจะเป็นข้อความ ภาพ และสิ่งอื่นๆ ในคลาวด์ เสมือนเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาดยักษ์ออนไลน์
ก่อนมี S3 บริษัทต่างๆ รวมถึง Amazon เองต้องชั่งใจระหว่างการลงทุนมหาศาลในเซิร์ฟเวอร์ล่วงหน้า หรือการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจให้ต่ำลงซึ่งเป็นการจำกัดการเติบโต และ S3 ได้เข้ามาเปลี่ยนเกมโดยสิ้นเชิง ให้ลูกค้าจ่ายเฉพาะสิ่งที่ใช้จริง
ความสำเร็จของ S3 เกินความคาดหมาย ภายในเพียง 2 เดือน จำนวน Object ที่จัดเก็บบน S3 เกินความคาดหวังถึง 100 เท่า 6 ปีหลังจากเปิดตัว S3 มี Object มากกว่าหนึ่งล้านล้านชิ้น และปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านล้านชิ้น
ในเดือนสิงหาคม 2006 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัว S3 Amazon เปิดตัว Elastic Compute Cloud (EC2) ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์เสมือนที่ลูกค้าสามารถสร้าง เปิด และปิด Instance ได้ตามที่ต้องการ
สำหรับสตาร์ทอัพ ประโยชน์ของ AWS ชัดเจนทันที: การจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลต้นทุนต่ำเมื่อต้องการ แต่ในตอนแรกยังมีความกังวลว่าองค์กรขนาดใหญ่จะกล้าใช้ AWS หรือไม่
Netflix เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการนำ AWS มาใช้ในองค์กรใหญ่ Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix กล่าวว่าบริษัทเขาประสบพบเจอกับการเติบโตจากยอดผู้เข้าชมหนึ่งล้านชั่วโมงต่อเดือนในปี 2008 เป็นมากกว่าหนึ่งพันล้านชั่วโมงต่อเดือนในเวลาเพียงสี่ปี
เมื่อ Hastings พูดกับ Andy Jassy ที่การประชุม re:Invent ครั้งแรกในปี 2012 Netflix ได้ย้าย 95% ของการคำนวณและการจัดเก็บข้อมูลไปอยู่บน AWS แล้ว ซึ่งในการประชุมเดียวกันนี้ AWS ได้ประกาศการลดราคาค่าใช้จ่ายการจัดเก็บข้อมูล S3 ลง 28%
นอกจาก Netflix แล้ว สตาร์ทอัพชื่อดังที่หลายแห่งที่เปิดตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ เช่น Airbnb (2008), Uber (2009) และ Stripe (2010) ล้วนกลายเป็นบริษัทมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่เติบโตโดยอาศัย AWS
AWS ยังคงพัฒนาและเพิ่มบริการใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วงปลายปี 2008 พวกเขาเปิดตัว CloudFront, Virtual Private Cloud, บริการฐานข้อมูลแบบไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยผลิตภัณฑ์ AWS ใหม่แต่ละรายการ Amazon ส่งข้อความชัดเจนว่าพวกเขากำลังรับฟังลูกค้าและรังสรรค์บริการที่ตอบโจทย์
S3 เปิดตัวครั้งแรกด้วยไมโครเซอร์วิส 8 รายการ แต่เมื่อ Werner Vogels CTO ของ Amazon ขึ้นพูดที่การประชุม re:Invent 2022 AWS มีบริการมากกว่า 235 รายการแล้ว ที่น่าทึ่งไม่แพ้กันคือ AWS ไม่เคยถูกปิดเพื่อการบำรุงรักษา และแทบไม่เคยออฟไลน์
เรื่องราวความสำเร็จของ AWS ยังรวมถึงการที่คู่แข่งตามไม่ทัน Amazon เอาชนะผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลและฐานข้อมูลเดิมด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าในราคาถูกกว่า และเอาชนะ Microsoft และ Google ด้วยการเป็นผู้บุกเบิกตลาด
Microsoft ล้าหลังในตลาดคลาวด์เพราะความวุ่นวายในยุคของ Steve Ballmer ลำดับความสำคัญของพวกเขาผิดเพี้ยนไปมาก และทีม Windows มีอำนาจมากเกินไป ทำให้แนวคิดที่อาจกระทบรายได้ของ Windows ถูกตัดทิ้งไปแบบไม่ไยดี Ballmer ยังมัวแต่หมกมุ่นกับการแข่งขันกับ iPhone มากเกินไป
Satya Nadella เห็นศักยภาพของคลาวด์ทันที แต่เมื่อ Microsoft ให้ความสำคัญกับ Azure อย่างจริงจัง พวกเขาก็ล้าหลัง AWS ไปมากแล้ว
ส่วน Google เติบโตเป็นธุรกิจโคตรเทพผ่านผลิตภัณฑ์หลักคือการค้นหา ผู้นำของพวกเขาไม่เคยต้องเรียนรู้การขายให้ธุรกิจ หรือวิธีเติบโตภายใต้อัตรากำไรที่ต่ำ ๆ จึงไม่มีเครื่องมือที่จำเป็นในการสร้างแพลตฟอร์มเช่น AWS
ความสำเร็จทางการเงินของ AWS สร้างความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดของ Amazon มาจาก AWS และหากบริษัทปิด amazon .com ลงวันนี้ Amazon ก็ยังจะมีรายได้มากกว่าหนึ่งแสนล้านดอลลาร์จาก AWS
แต่มูลค่าที่แท้จริงของ AWS วัดไม่ได้ด้วยตัวเลขการเงินเท่านั้น Jeff Bezos เปรียบ AWS เหมือนไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทรงพลังสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21
เศรษฐกิจแอป บริษัทซอฟต์แวร์ บริการสตรีมมิ่งสมัยใหม่ และอื่นๆ อีกมากมายล้วนเกิดขึ้นและเติบโตได้เพราะ AWS นอกจากนี้ยังช่วยให้องค์กรดั้งเดิมอย่างโรงเรียน ธนาคาร หน่วยงานรัฐบาล สร้างมูลค่ามหาศาลโดยการมุ่งเน้นไปที่ความเชี่ยวชาญหลักของพวกเขา
ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Amazon ปี 2014 Jeff Bezos เขียนว่า “ผมเชื่อว่าขนาดตลาดของ AWS ไม่มีข้อจำกัด” ทศวรรษที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าเขามองการณ์ไกลได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้น เมื่อ Bezos ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO หลังจากก่อตั้ง Amazon มาเกือบ 27 ปี จึงมีเพียงตัวเลือกเดียวที่กำหนดให้เป็นผู้สืบทอดเขาก็คือ Andy Jassy อดีตเงาของเขา คนที่เกือบจะเป็นผู้บรรยายกีฬาแต่กลับกลายเป็นผู้นำ AWS และปัจจุบันเป็นผู้นำบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Amazon
ประวัติของ AWS เป็นตัวอย่างความเจ๋งของวิสัยทัศน์และการดำเนินการที่กล้าหาญ เริ่มจากปัญหาภายในของ Amazon เองที่ต้องการโครงสร้างที่ดีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโต สู่การสร้างโซลูชั่นที่ไม่เพียงแก้ปัญหาของตัวเอง แต่ยังพลิกโฉมวงการเทคโนโลยีทั่วโลก
Amazon ไม่ได้เป็นเพียงผู้ค้าปลีกออนไลน์อีกต่อไป แต่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่หลายพันธุรกิจทั่วโลกพึ่งพา การตัดสินใจในช่วงต้นทศวรรษ 2000 นำไปสู่การสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์และเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราสร้างและใช้งานเทคโนโลยี
หากประเมินมูลค่าทั้งหมดที่สร้างขึ้นโดยตรงจาก AWS อาจอยู่ในระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแปลเป็นงานหลายล้านตำแหน่ง ธุรกิจหลายพันแห่ง และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นสำหรับผู้คนทั่วโลก AWS ไม่เพียงเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในยุคดิจิทัล
ปัจจุบัน เมื่อเราใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังบน Netflix การเรียกใช้บริการ Uber หรือการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน มีโอกาสสูงที่เราจะกำลังใช้บริการที่ทำงานอยู่บน AWS โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
นี่คือผลกระทบของแนวคิดที่เริ่มต้นจากความพยายามแก้ปัญหาภายในองค์กรและเติบโตกลายเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก เป็นตัวอย่างของวิธีที่บริษัทใหญ่สามารถสร้างนวัตกรรมและปรับตัว แทนที่จะยึดติดกับโมเดลธุรกิจเดิม Amazon กล้าที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่
ความสำเร็จของ AWS ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ความกล้าตัดสินใจ การดำเนินการที่รวดเร็ว และการยึดมั่นในหลักการของการสร้างสรรค์สิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งนี่คือบทเรียนสุดคลาสสิกสำหรับผู้ประกอบการและองค์กรในยุคดิจิทัล