Geek Talk EP76 : เมื่อจีนประกาศสงครามกับเกม บทเรียนจากประเทศที่ควบคุมวิดีโอเกมเข้มงวดที่สุดในโลก

“เฮโรอีนดิจิทัล” “ฝิ่นทางจิตวิญญาณ” “ความเสียหายต่อสมองทางสังคม” “การปนเปื้อนของอารยธรรมทางจิตวิญญาณ” คำเหล่านี้ไม่ได้มาจากนวนิยายไซไฟที่ว่าด้วยโลกอนาคตแต่อย่างใด แต่เป็นคำที่รัฐบาลจีนและหน่วยงานต่างๆ ใช้อธิบายถึงวิดีโอเกมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ความไม่ไว้วางใจต่อสื่อเกมของจีนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การเผชิญหน้าครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อเครื่องเล่นเกมนำเข้าจากญี่ปุ่นเริ่มปรากฏในประเทศ ผู้นำประเทศตอบสนองด้วยความเป็นปฏิปักษ์ทันที โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 130% เพื่อกีดกันไม่ให้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ความเน่าเปื่อยจากต่างประเทศที่แพร่กระจายเข้ามาทำลายจิตใจของพลเมืองจีน” เข้ามาในประเทศ

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/5atraedv

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/222umcad

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/3sdwk2bj

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/QFtVLIpd-0o

วันที่ eBay สูญสิ้นทุกสิ่ง เมื่อซีอีโอลาออก เงิน 2 พันล้านหายไป สู่การเกิดใหม่ของเจ้าพ่อ Marketplace

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2014 ห้องประชุมของ eBay เต็มไปด้วยความตึงเครียด คณะกรรมการกำลังตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะขีดชะตาชีวิตของบริษัท: eBay และ PayPal ควรแยกจากกันหรือไม่?

สงครามภายในบริษัทดำเนินมาตลอดปี นักลงทุนนำโดยผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal ต้องการที่จะแยกตัว ขณะที่ John Donahoe ซีอีโอของ eBay และพนักงานคนอื่นๆ ฝ่าฝันต่อสู้เพื่อให้อยู่ร่วมชายคาเดียวกันต่อไป

หลังจากการถกเถียงอันยาวนาน ผลออกมาชัดเจน: ทั้งสองบริษัทต้องแยกทาง นี่คือชัยชนะของนักลงทุนและ PayPal แต่สำหรับ eBay มันคือจุดเริ่มต้นของหายนะ

ชั่วข้ามคืน รายได้กว่า 2 พันล้านดอลลาร์มลายหายไปหมดสิ้น กำไรดิ่งลงเหวสามไตรมาสติดต่อกัน ลดฮวบ 44%, 48% และ 51% ตามลำดับ eBay ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว ถูก Amazon แซงหน้าไปไกล หลายคนมองว่าเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่กำลังจะตาย

แต่เบื้องหลังของหายนะครั้งนี้ มีเรื่องราวที่น่าทึ่งเพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน eBay กำลังฟื้นตัวอย่างเงียบๆ รายได้ค่อยๆ เพิ่ม และราคาหุ้นเริ่มพุ่งทะยาน และนี่คือเรื่องที่ไม่เคยถูกเล่าของการกลับมาของ eBay

ก่อนหน้านี้ eBay ขยายอาณาจักรด้วยการซื้อกิจการมากมาย ทั้ง Skype, Shopping.com, Stubhub และอีกหลายสิบบริษัท แต่การเข้าซื้อที่ดูเข้าท่าที่สุดคือ PayPal

เมื่อ PayPal แยกตัวออกไป eBay สูญสิ้นทุกสิ่ง ทั้งรายได้เกือบครึ่ง และวันถัดมา John Donahoe ก็ฉวยโอกาสลาออก โดยรับเงินชดเชยมูลค่า 23 ล้านดอลลาร์ไปแบบสบายๆ

eBay สูญเสียทรัพย์สินที่ดีที่สุด รายได้ครึ่งหนึ่ง และซีอีโอ คำถามคือแล้วพวกเขาจะทำยังไงต่อ?

บัลลังก์ว่างถูกแทนที่โดย Devin Wenig อดีตประธานตลาดโลกของ eBay ภารกิจเร่งด่วนคือหาวิธีทดแทนรายได้ที่หายไป

eBay มีรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมการลงประกาศและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม แต่ไม่มี PayPal แล้ว พวกเขาได้เงินน้อยลงจากทุกการซื้อขาย

Devin รู้ว่าการเพิ่มค่าธรรมเนียมจะทำให้ผู้ขายเจ็บปวด ทางเลือกที่ดีกว่าคือเพิ่มปริมาณการขาย eBay ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ขณะที่ Amazon เติบโตอย่างบ้าคลั่ง eBay กลับมีปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางการเติบโต นั่นคือข้อมูลที่เละเทะไร้ระเบียบ

ข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจนสำคัญมากสำหรับ Google แต่ข้อมูลของ eBay กลับกระจัดกระจาย เพราะผู้ขายแต่ละคนใส่ข้อมูลคนละแบบ ทำให้หน้าประมูลทำงานร่วมกับ Google ได้ไม่ดี ส่งผลให้คนใหม่ๆ หาของใน eBay ยากมาก

eBay จึงเริ่มโครงการ “structured data initiative” บังคับให้ผู้ขายต้องเพิ่มข้อมูลมาตรฐานสำหรับสินค้าใหม่ เช่น รหัสชิ้นส่วน รหัสผลิตภัณฑ์สากล และหมายเลขสินค้าการค้าโลก

การเพิ่มข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ eBay จัดกลุ่มและจัดหมวดหมู่รายการสินค้าได้ดีขึ้น ปรับปรุงการค้นหาและทำ SEO ได้เข้าท่ามากขึ้น

Devin ประกาศวิสัยทัศน์อย่างมั่นใจว่า “ด้วยการเข้าใจสินค้าของเรา เราจะแสดงผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเห็นได้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกคนค้นพบความสมบูรณ์แบบของสินค้า”

ทุกอย่างดูจะไปได้สวย แต่ความจริงแล้ว มีปัญหาซ่อนอยู่เบื้องหลัง แม้ Devin และทีมจะมองโลกในแง่ดี แต่สิ่งต่างๆ กลับไม่เป็นไปตามที่พวกเขาคิด ความจริงแล้ว สถานการณ์กำลังแย่ลงกว่าที่คาดคิด

ในพฤษภาคม 2016 eBay เปิดตัว eBay 5.0 เป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่ช่วยให้ผู้ใช้ค้นพบสินค้าได้ง่ายขึ้น ผลลัพธ์เริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่พอ

eBay จึงก้าวไปอีกขั้นด้วย “product-based shopping experience” หรือ “PBSE” ข้อกำหนดสำหรับผู้ขายเข้มงวดขึ้น ทุกรายการสินค้าต้องมี “product identifier” เพื่อจัดกลุ่มรายการต่างๆ ภายใต้ “สินค้า” เดียวกัน

ตัวอย่างเช่น หากคุณค้นหาชิ้นส่วนไมโครเวฟ PBSE จะจัดกลุ่มทุกรายการไว้ด้วยกัน แยกเป็นของใหม่ ของใช้แล้ว หรือที่มีสภาพต่างกัน ดูเหมือนจะเจ๋งมากๆ แต่มีบางอย่างแปลกๆ

ในคู่มือภายใน eBay ระบุว่า “เป้าหมายสุดท้ายคือให้ทุกรายการสินค้าเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ในแคตตาล็อกของ eBay” พวกเขายังเรียกหน้าผลิตภัณฑ์ว่า “buy box” นี่คือสิ่งที่ Amazon ทำพอดี

แต่มีปัญหาใหญ่ ผู้ใช้ใหม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ผู้ใช้เก่าไม่ชอบเลย เพราะมันทำลายแนวคิดดั้งเดิมของ eBay ไปหมดสิ้น

Devin และทีมตระหนักถึงความผิดพลาดนี้ช้าไป การปรับปรุงครั้งนี้ถูกลิขิตให้ล้มเหลวตั้งแต่แรก เพราะ eBay โดยแก่นแท้เป็นตลาดที่หลากหลายและไร้ระเบียบ มีสินค้าเฉพาะตัวนับล้านจากผู้ขายนับล้าน

พวกเขาพยายามบังคับให้ความอลหม่านของ eBay อยู่ในโครงสร้างแบบ Amazon เปลี่ยนจากตลาดอิสระให้เป็นร้านค้าปลีกแบบมีระบบ

ปัญหายิ่งหนักเพราะข้อมูลของ eBay มันมั่วซั่วโดยธรรมชาติ แม้จะเพิ่มหมวดหมู่มากขึ้น แต่กลับยิ่งสับสนและให้ผลลัพธ์แย่ลง หมวดหมู่แสดงสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้อง หน้าผลิตภัณฑ์ข้อมูลผิด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างผิดหวัง นอกจากนี้ SEO ก็ไม่ดีขึ้นตามที่หวัง

ตุลาคม 2018 ในการประชุมกับนักลงทุน Devin พยายามอธิบายว่าทำไมแผนการถึงเละเทะไม่เป็นท่า เขายืนยันว่า “มันจะดีขึ้น” แต่นักลงทุนไม่เชื่อและเริ่มขายหุ้น ราคาหุ้น eBay ร่วงจาก 44 ดอลลาร์ในกุมภาพันธ์ เหลือแค่ 28 ดอลลาร์

ในที่สุดผู้บริหารก็ยอมรับว่าแผนล้มเหลว eBay ไม่ใช่ Amazon ไม่ว่า Devin จะพยายามแค่ไหน

สามเดือนต่อมา eBay ยกเลิกโครงการ “product-based shopping” ทั้งหมด ส่งข้อความแจ้งผู้ขายว่าโครงการจบแล้ว eBay กลับมาจุดเริ่มต้น แต่สถานการณ์แย่กว่าเดิม ทั้งยังทำให้ผู้ใช้และผู้ถือหุ้นรำคาญ

และสถานการณ์มันยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อ Facebook เปิดตัว Marketplace ที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นได้ดีกว่า เรียกได้ว่า eBay กำลังหมดเวลาเต็มที

แม้ปี 2017-2018 จะเต็มไปด้วยความผิดพลาด แต่ก็มีความหวังที่ซ่อนอยู่ ขณะที่ผู้บริหารพยายามทำให้ eBay ให้เหมือน Amazon แผนกอื่นๆ กลับสร้างทางรอดโดยไม่ได้ตั้งใจ

ทางออกแรกมาจากสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด: กระเป๋าถือแบรนด์หรู การซื้อของหรูมือสองออนไลน์มีความเสี่ยงสูง ผู้ซื้อไม่มั่นใจว่าเป็นของแท้หรือของปลอม

เพื่อแก้ปัญหานี้ eBay จึงเปิดตัว “Authenticate” ให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าผู้ขายน่าเชื่อถือ พร้อม “การรับประกันคืนเงิน 200%” หากเป็นของปลอม

เริ่มจากกระเป๋าถือหรูก่อน แต่ประสบความสำเร็จมากจนขยายไปยังสินค้าแฟชั่นอื่นๆ เช่น นาฬิกาและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าสะสมมูลค่าสูงอย่างบัตรเบสบอล บัตร Pokemon ที่หายากซึ่งขายได้หลายหมื่นดอลลาร์

eBay ยังเปิดตัว “Money Back Guarantee” คืนเงินให้ผู้ซื้อหากสินค้าเสียหาย ไม่ตรงตามที่ประกาศ หรือไม่ส่งมา และ “Managed Payments” ระบบที่ทดแทน PayPal โดยรวมการชำระเงินไว้ใน eBay

เงินจะโอนเข้าบัญชีธนาคารผู้ขายโดยตรง ผู้ซื้อใช้ Apple Pay, Google Pay หรือบัตรเครดิตได้ตามต้องการ และที่สำคัญคือ eBay ได้รายได้กลับคืนมาส่วนหนึ่งที่เสียไปกับ PayPal

แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ทำลายตัวเองด้วยการพยายามเป็น Amazon ผู้ใช้เริ่มเชื่อถือความปลอดภัยของ eBay แต่ประสบการณ์การค้นหาและการขายยังไม่ดี

25 มิถุนายน 2019 Scot Hamilton รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ eBay ขึ้นเวทีสัมมนาภายในบริษัท บรรยากาศไม่ดีเอาเสียเลยด้วยขวัญกำลังใจที่ตกต่ำของพนักงานภายในบริษัท

แต่แล้ว Hamilton ก็เปลี่ยนไปยังสไลด์ที่ทำให้ทุกคนอ้าปากค้าง: “เราผิด – ผิดมาก” เขาอธิบายว่า “การสร้างแคตตาล็อกไม่จำเป็นต้องได้รับแง่มุมที่ถูกต้องทั้งหมด”

จุดประสงค์ของสัมมนาคือ: การเสริมพลังให้ผู้ขาย “ภายในผู้ขาย eBay ทุกคนคือซูเปอร์ฮีโร่ และเป็นงานของเราที่จะปลดปล่อยพลังนี้ออกมา”

นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้บริหาร eBay ตระหนักว่าพวกเขามีสิ่งที่ Amazon ไม่มี หากลูกค้าต้องการอะไหล่ไมโครเวฟ เกมเก่าที่ไม่มีขายแล้ว หรือรองเท้า Jordan รุ่นที่หายาก ต้องไปที่ eBay

ปรัชญาของ eBay พลิกกลับ 180 องศา พวกเขาจะไม่ลอกเลียน Amazon อีกต่อไป แต่จะเน้นความเป็นตัวเอง

แต่ยังมีปัญหา Facebook Marketplace กำลังเติบโตเร็วมาก พวกเขามีข้อได้เปรียบคือการขายในท้องถิ่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าในแง่ความปลอดภัย โอกาสโดนหลอกมีมากกว่า

eBay ปลอดภัยกว่ามาก เพราะลูกค้าสมารถมองเห็นคะแนนความน่าเชื่อถือของผู้ขาย แต่ Facebook ก็ยังแย่งส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ

eBay จึงเริ่มจัดหนัก อันดับแรกพวกเขาขายบริษัทที่เคยซื้อมา ในพฤศจิกายน 2019 ขาย Stubhub ไป 4 พันล้านดอลลาร์ ต่อมาขาย Classified Group ไป 9.2 พันล้านดอลลาร์ในกรกฎาคม 2020

ในช่วงนี้ eBay มี CEO คนใหม่: Jamie Iannone มาพร้อมวิสัยทัศน์กล้าหาญแต่เรียบง่าย: เสริมพลังให้ผู้ขายและรองรับกลุ่มลูกค้าที่หลงใหลใน eฺBay

eBay ยอมรับว่าเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายระหว่างบุคคล และมีกลุ่มเฉพาะที่ไม่มีใครแข่งได้ดีเท่า

พวกเขาปรับปรุงหน้าร้านเพื่อให้ผู้ขายทำงานได้สะดวกขึ้น ปรับปรุงระบบข้อความ ขยาย “managed payments” ไประดับนานาชาติ

การลงวิดีโอรายการสินค้าถูกเพิ่มให้ผู้ขาย และจำนวนรูปภาพก็เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังแนะนำ “lightning gauge” เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ขายเพิ่มรายละเอียดได้มากตามต้องการ และแสดงสถิติคนค้นหาในหมวดหมู่นั้นๆ

มีนาคม 2022 ระหว่างงาน eBay Open, Stefanie Jay หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงเปิดเผยแผนการ “The eBay Multiplier Effect”

เธอเปิดเผยว่าจากผู้ซื้อ 147 ล้านคน มีประมาณ 28 ล้านคนเป็น “ผู้ซื้อมูลค่าสูง” หรือ “ผู้ที่หลงใหล” ซึ่งเธอเรียกว่า “กลุ่มที่ดีที่สุดและมีคุณค่ามากที่สุด” ของ eBay

eBay นำหลักการพาเรโตมาใช้ แนวคิดที่ว่ากลุ่มคนเล็กๆ สร้างผลกระทบใหญ่ได้ ในหลายธุรกิจ ลูกค้า 20% สร้างรายได้ 80% และ eBay พบแนวโน้มเดียวกัน

“ผู้ที่หลงใหล” เหล่านี้สร้างยอดขาย 71% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด พวกเขาซื้อมากกว่าผู้ซื้อทั่วไป 9 เท่า และใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000 ดอลลาร์ต่อปี

ผู้ซื้อกลุ่มนี้คือกุญแจสู่ความสำเร็จของ eBay พวกเขาจึงพัฒนาบริการที่ตอบสนองกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

หนึ่งในบริการใหม่คือ “PSA Vault” ห้องเก็บของปลอดภัยสูงขนาด 31,000 ตารางฟุต สำหรับเก็บการ์ดสะสมมูลค่าสูง ช่วยให้การซื้อขายของสะสมหายากมีความปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเปิดตัว eBay International Shipping เพิ่มตัวเลือกการจัดส่งและนำเข้า รับผิดชอบการคืนสินค้าเอง และขยาย “Authenticity Guarantee” ไปยังหมวดหมู่อื่นๆ

เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าในโปรแกรมนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ eBay จะตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งถึงมือพวกเขา เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นของแท้

ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ eBay สามารถสร้างความแตกต่างจาก Facebook Marketplace และครองตลาดได้สำเร็จ ไม่เพียงเหมาะสำหรับผู้ขายที่ทุ่มเท แต่ยังสนับสนุนกลุ่ม “ผู้ที่หลงใหล” ซึ่งนำรายได้หลักมาให้กับบริษัท

ความเสี่ยงในการใช้ eBay ลดลงมาก โดยเฉพาะสำหรับสินค้ามีค่าที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าซื้อบน Facebook Marketplace และหาไม่ได้บน Amazon

ปัจจุบัน eBay กำลังเติบโตมั่นคง ทั้งรายได้และปริมาณสินค้ารวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการเติบโตปีต่อปี 3% ในไตรมาส 3 ปี 2024

8 มกราคม 2025 ราคาหุ้น eBay พุ่งทะยานประมาณ 10% ไปอยู่ที่ 69 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดพีคในรอบหลายปี สาเหตุคือ Meta เสนอความร่วมมือให้ผู้ใช้ Facebook Marketplace ดูรายการสินค้าจาก eBay ได้

นี่จะทำให้ eBay เข้าถึงผู้ใช้กว่าหนึ่งพันล้านคนต่อเดือน โดยทุกธุรกรรมเกิดบนแพลตฟอร์ม eBay ทำให้พวกเขาได้รายได้เต็มจำนวน

eBay เติบโตอย่างน่าทึ่ง แม้มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3.5% ของอีคอมเมิร์ซค้าปลีก แต่รายได้เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นพุ่งสูง และด้วยพันธมิตรใหม่นี้ อนาคตดูจะสดใสกว่าที่เคย

พวกเขาประสบความสำเร็จไม่ใช่ด้วยการเลียนแบบคู่แข่ง แต่ด้วยการเน้นจุดแข็งของตัวเอง หาตลาดเฉพาะที่ไม่มีใครสามารถเข้ามาแข่งขันได้ และพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าหลักอย่างแท้จริง

ความรู้เครื่องยนต์สันดาปที่ไร้ค่า! จากเบอร์ 1 สู่ผู้ไล่ตาม กับวิกฤต Volkswagen ในสงครามรถไฟฟ้าจีน

จีนในปี 1983 เป็นประเทศที่แทบไม่มีใครหมายปองในฐานะตลาดรถยนต์ ให้ลองจินตนาการดูว่าสถานการณ์ในตอนนั้น GDP ต่อหัวของพวกเขาแค่เพียง 32 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับ 161 ของโลก แย่กว่าแอฟริกากลางกับยูกันดาเสียอีก

เศรษฐกิจจีนแบบปิดและควบคุมจากส่วนกลางทำให้บริษัทตะวันตกเข้าไม่ถึง แม้จะมีประชากรมหาศาล แต่ใครจะอยากเสี่ยงลงทุน

แต่ทุกอย่างเปลี่ยนเมื่อ เติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นสู่อำนาจและปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดประตูให้ผู้ผลิตรถตะวันตกเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทจีน

Volkswagen (VW) คว้าโอกาสทองนี้ รถรุ่นแรกออกจากสายการผลิตที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1983 การจับมือกับ Shanghai Automotive Industry Corporation (SAIC) เกิดขึ้นในจังหวะที่ perfect สุด ๆ

การปฏิรูปที่ทำให้ VW เข้าตลาดได้นี่แหละที่พลิกโฉมจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจ รายได้คนจีนพุ่งกระฉูด ชนชั้นกลางขยายตัว ยอดขายรถก็บูมตาม

VW เนื้อหอมในจีนมากกว่าบริษัทรถตะวันตกคู่แข่งทั้งหมด ช่วงต้นทศวรรษ 2000 จีนสร้างกำไรให้ VW ครึ่งหนึ่งของกำไรทั่วโลก ต้นทุนผลิตต่ำ ยอดขายสูง อัตรากำไรโครตโหด

ความสำเร็จนี้มาจากการเป็นเจ้าแรกที่เข้าตลาด ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งและได้รับการเทิดทูนจากผู้บริโภคชาวจีน

หลายทศวรรษผ่านไป ยอดขายในจีนเติบโตต่อเนื่อง ส่วนแบ่งตลาดของ VW คงที่ ปี 2019 ยอดขายทะลุเกือบ 4 ล้านคัน แต่หลังจากนั้น…ดิ่งลงเหวแบบฉุดไม่อยู่

แม้โควิดจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่มันไม่สามารถอธิบายการตกฮวบอย่างต่อเนื่อง ช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2024 ยอดขายแค่ 2 ล้านคัน จาก 39 โรงงานในจีน กำไรลดลงเกือบ 50% จากจุดพีคในปี 2015

Skoda ที่ VW เป็นเจ้าของก็เจ๊งยับไม่แพ้กัน ยอดขายร่วงหนักตลอดทศวรรษ 2020 ทั้งที่เคยปลุกปั้นรุ่นพิเศษเพื่อตลาดจีนโดยเฉพาะ

สิ่งที่ทำให้ทุกคนอ้าปากค้างคือการเติบโตของ BYD บริษัทรถใหม่ของจีน จากส่วนแบ่งตลาด 1.8% ในปี 2020 พุ่งเป็น 11% ตอนนี้ ไม่ใช่แค่เบอร์หนึ่งในจีน แต่เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงแม้แต่ Tesla

ความเจ๋งของ BYD มาจากการผสมผสานระหว่างการวางแผนจากรัฐบาลและตลาดเสรี รัฐบาลจีนทุกระดับอัดฉีดเงินสนับสนุนรถไฟฟ้ากว่า 230 พันล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2009-2023

ความท้าทายสุดโหดของ VW คือการปรับตัวเข้าสู่ยุครถไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องซอฟต์แวร์ ช่วงต้นทศวรรษ 2010 การผลิตรถเป็นแค่การโชว์ความเทพด้านอุตสาหกรรม

แต่พอ Tesla เข้ามาพลิกเกมด้วยนวัตกรรมสุดล้ำ ทั้งระบบช่วยขับ จอแสดงผลที่กระจกด้านหน้า รถต้องมีความสามารถในการประมวลผลที่ซับซ้อนขึ้น

ปี 2019 VW ตัดสินใจจัดหนักด้วยการตั้ง CARIAD บริษัทซอฟต์แวร์ของตัวเอง แทนที่จะพึ่งซัพพลายเออร์ภายนอกแบบผู้ผลิตรถรายอื่น แต่มันกลายเป็นการติดสินใจที่ผิดพลาด!

ทั้งความล่าช้า ปัญหาคุณภาพ การขาดประสบการณ์พัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้การเปิดตัวรถหลายรุ่นล่าช้าต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ และซอฟต์แวร์ก็ยังตามหลัง BYD กับ Tesla อยู่มาก

วิกฤตนี้ลุกลามไปทั่วโลก โรงงานในบรัสเซลส์ ที่ผลิต Volkswagen มาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 กำลังจะปิดตัวในกุมภาพันธ์ 2025 เพราะยอดขาย Audi Q8 e-tron ตกต่ำหนัก

ไม่หยุดแค่นั้น VW ยังประกาศปิดโรงงานอีกสามแห่งในเยอรมนี นี่คือการปรับโครงสร้างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศบ้านเกิดของพวกเขา

VW รับมือวิกฤตด้วยการปรับโครงสร้างและลดค่าใช้จ่าย โดยลดค่าจ้าง 10% ทั่วองค์กร โดยเฉพาะกับผู้จัดการผ่านการลดโบนัส

พวกเขาเริ่มหันไปมองตลาดเกิดใหม่อย่างบราซิล ที่ VW มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่เปิดโรงงานต่างประเทศแห่งแรกในทศวรรษ 1950 ปัจจุบันมีโรงงาน 4 แห่ง

VW ตั้งเป้าเติบโต 40% ในบราซิลภายในปี 2027 ด้วยการรังสรรค์รถไฟฟ้าและรถ hybrid 15 รุ่นใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญคือการฟื้นฟูตลาดจีน

VW ยอมเข้าสู่สงครามราคากับผู้ผลิตจีน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะไม่ทำ พร้อมกับแนะนำ ID.Code รถไฟฟ้าที่ขับอัตโนมัติได้ ออกแบบเฉพาะสำหรับจีน

รถรุ่นนี้มาพร้อมฟีเจอร์ล้ำๆ แบบเดียวกับที่ช่วยผลักดันการเติบโตของ BYD เช่น โหมดทำความสะอาดตัวเองด้วยแสง UV และหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในตัว

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน VW ซื้อหุ้น 4.99% ใน Xpeng สตาร์ทอัพรถไฟฟ้าจีน การร่วมมือนี้จะช่วยลดเวลาผลิต 30% และลดต้นทุน 40% สำหรับรถสองรุ่นที่จะเปิดตัวในปี 2026

การพัฒนาซอฟต์แวร์ยังเป็นกุญแจสำคัญ VW ประกาศร่วมทุนกับ Rivian ดาวรุ่งรถไฟฟ้าอเมริกา ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยอีก 4.8 พันล้านในปีต่อไป

Rivian พัฒนาสถาปัตยกรรมแบบใหม่ ช่วยลดความซับซ้อนในการเดินสายไฟและฮาร์ดแวร์ VW จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับ Porsche และ Audi ก่อน แล้วค่อยขยายสู่รถ VW รุ่นอื่น

การเปลี่ยนสู่ยุครถไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ผลิตรายเก่า ความรู้และประสบการณ์กว่าศตวรรษในการผลิตรถเครื่องยนต์แบบดั้งเดิมแทบจะไม่มีประโยชน์เลย สิ่งเดียวที่ยังมีค่าคือความแข็งแกร่งของแบรนด์

ผู้ผลิตรถจีนกำลังสยายปีกสู่ตลาดโลก แม้จะเจอภาษีนำเข้าที่สูงในยุโรปและอเมริกา แต่พวกเขาปรับกลยุทธ์ได้เจ๋ง เช่น BYD หันมาเน้นไฮบริดในยุโรปแทนรถไฟฟ้าล้วน

บทเรียนของ VW มีค่ามากโข ไม่ใช่แค่สำหรับพวกเขา แต่สำหรับผู้ผลิตรถทุกรายที่กำลังฝ่าฝันต่อสู้กับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้

อนาคตของ VW จะเป็นอย่างไร? จะกลับมาเป็นพี่ใหญ่อีกครั้งหรือจะกู่ไม่กลับ? ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมของพวกเขา

การแข่งขันในวงการยานยนต์มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันได้กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีที่ต้องใช้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ชั้นเทพ VW มีโอกาส แต่ต้องลืมไปซะว่าชื่อเสียงในอดีตจะช่วยพวกเขาได้

ฟ้าลิขิตให้บริษัทอย่าง VW ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ายังเป็นของแท้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นเพียงตำนานแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คอยถวิลหาความรุ่งโรจน์ในอดีต

วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นบทเรียนสำหรับบริษัทที่เคยนอนนิ่งบนความสำเร็จ เพราะสนามแข่งใหม่ต้องการทั้งความเร็วและความยืดหยุ่น ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงและประวัติศาสตร์

BYD กับผู้ผลิตจีนรายอื่นไม่ได้เกิดมาพร้อมกับภาระจากอดีต พวกเขาสร้างตัวขึ้นมาใหม่จากศูนย์ในยุคดิจิทัล เข้าใจว่าความสำเร็จของรถไฟฟ้าอยู่ที่ชิป ไม่ใช่เครื่องยนต์อีกต่อไป

ในขณะที่ VW พยายามปรับตัว การร่วมทุนกับ Rivian และ Xpeng คือความหวังที่จะเร่งกระบวนการเรียนรู้ แต่คำถามคือ มันเร็วพอหรือไม่?

ราคาหุ้น VW ในตอนนี้มันเริ่มส่งสัญญาณอย่างชัดเจน นักลงทุนเริ่มสั่นคลอนความเชื่อมั่น หลายคนมองว่าการรับมือกับวิกฤตของผู้บริหารยังมั่วซั่วและไร้ทิศทาง

ที่น่าตะหงิดใจคือบริษัทที่เคยเป็นเชิดหน้าชูตาของวิศวกรรมเยอรมัน ตอนนี้ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ คือพึ่งเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพที่เพิ่งเกิดได้ไม่กี่ปี

ถ้ามองในแง่ดี VW ยังมีเงินทุนมากโข มีฐานลูกค้าทั่วโลก และมีความโชกโชนในการฟันฝ่าวิกฤต การที่พวกเขายอมจับมือกับคู่แข่งแสดงว่าเริ่มลดอีโก้ของตัวเองลงไปบ้างแล้ว

ซอฟต์แวร์อาจเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา VW คิดว่าแค่ตั้งบริษัทใหม่ก็จะได้ซอฟต์แวร์เทพ แต่ความจริงคือต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรทั้งหมด จากฮาร์ดแวร์สู่ซอฟต์แวร์

แนวคิดของ Rivian อาจช่วยให้ VW พลิกเกมได้ แต่การนำไปใช้จริงต้องผ่านระบบราชการภายในที่ลึกลับซับซ้อน ซึ่งอาจทำให้นวัตกรรมถอยหลังเข้าคลอง

ประวัติศาสตร์บอกเราเสมอว่า ยักษ์ใหญ่มักปรับตัวช้า แต่บางครั้งก็สามารถพลิกสถานการณ์ได้ เหมือน Apple ที่เกือบล้มละลายในยุค 90 ก่อนกลับมา จนกลายเป็นบริษัทล้านล้าน

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น VW กำลังขีดชะตาชีวิตตัวเองในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม ถ้าพวกเขาทำสำเร็จ นี่จะเป็นการกลับมาที่ยิ่งใหญ่

แต่ถ้าล้มเหลว นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสิ้นสุดของอดีตยักษ์ใหญ่ และเป็นบทเรียนสำคัญว่าไม่มีบริษัทไหนใหญ่เกินล้ม ไม่ว่าจะเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานแค่ไหน

ด้วยความท้าทายรอบด้าน VW อาจต้องระทมทุกข์อีกพักใหญ่ก่อนจะเห็นแสงสว่าง หรืออาจพบหนทางใหม่ที่พลิกโฉมบริษัทให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ทุกสายตาจับจ้องว่ายักษ์เยอรมันจะลุกขึ้นสู้หรือยอมจบเห่ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ได้นั่งรอความตายอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น แม้จะสายไปหน่อยก็ตาม