เด็กประถมจะกลายเป็นกองทัพ AI รุ่นใหม่ ศึกชิงอำนาจ AI เริ่มที่ห้องเรียน เมื่อจีนเร่งสปีดเด็กสู่สนามแข่งขัน AI โลก

ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โรงเรียนประถมและมัธยมทั่วปักกิ่งได้นำ AI เข้าไปในหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อปี เด็กเล็กๆ จะได้เรียนทั้งวิธีใช้เครื่องมือเทคโนโลยีล้ำๆ และจริยธรรมด้าน AI

คณะกรรมการการศึกษาเทศบาลนครปักกิ่งประกาศว่า โรงเรียนสามารถเพิ่มหลักสูตร AI เข้าไปในวิชาที่มีอยู่แล้ว หรือแยกเป็นวิชาเฉพาะก็ได้ พร้อมวางแผนพัฒนาหลักสูตรระยะยาวหลายปี

จีนหวังว่าการฝึกเด็กๆ เหล่านี้จะทำให้ประเทศเข้มแข็งในสงคราม AI ระดับโลก โดยเฉพาะหลังจาก DeepSeek สร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยี

เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจีนคัดเลือกโรงเรียน 184 แห่งทั่วประเทศเป็นโรงเรียนนำร่องหลักสูตร AI Huai Jinpeng รัฐมนตรีกระทรวงฯ บอกว่า AI จะเป็นกุญแจสำคัญของระบบการศึกษาจีนในอนาคต

โรงเรียนในปักกิ่งพยายามทำซ้ำตามแบบอย่างของมหาวิทยาลัย Zhejiang ในหางโจว ที่ผลิตยอดฝีมือระดับโครตเทพอย่าง Liang Wenfeng (DeepSeek) และ Wang Xingxing (Unitree) เมืองหลวงของจีนอาจเห็นการพุ่งทะยานของนวัตกรรมสุดล้ำ ถ้าหากสามารถก้าวทันประเทศอื่นที่กำลังเพิ่ม AI เข้าไปในหลักสูตรเหมือนกัน

จีนไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ถวิลหาการครองโลกด้วย AI ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ยอมแพ้ในเรื่องนี้

รัฐบาลเอสโตเนียจับมือกับ OpenAI ด้วยการส่ง ChatGPT Edu เวอร์ชันพิเศษสำหรับการศึกษา ให้นักเรียนมัธยมปลายและครูทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่กันยายนปีนี้ ครอบคลุมทั้งการช่วยเหลือทางเทคนิค งานบริหาร การสอน และการวางแผนบทเรียน

ประธานาธิบดี Alar Karis ของเอสโตเนียกล่าวว่า “เรากำลังเปิดศักราชใหม่ในการพัฒนาระบบการศึกษา AI กำลังเปลี่ยนโลกอย่างถาวรแล้ว และทุกภาคส่วนรวมถึงการศึกษาต้องปรับตัว”

แคนาดาและเกาหลีใต้ก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาอัดเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่การศึกษาระดับ K-12 ใช้ตำราดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI และโปรแกรมให้ครูใช้ AI ในห้องเรียน

โรงเรียนเอกชนในสหราชอาณาจักรไปไกลถึงขั้นเปิดห้องเรียน “ไร้ครู” มีนักเรียนประมาณ 20 คนใช้ชุดหูฟัง Virtual Reality กับแพลตฟอร์ม AI เรียนแทนการฟังจากครูที่เป็นมนุษย์

ส่วน McGraw Hill ยักษ์ใหญ่การศึกษาของอเมริกาไม่ยอมแพ้ เปิดตัวเครื่องมือ genAI สองตัวสำหรับห้องเรียนในปี 2024 ทั้ง AI Reader และ Writing Assistant

แม้ว่า AI จะเนื้อหอมเป็นอย่างมากในวงการการศึกษา บริษัทและหน่วยงานรัฐก็ยังระแวงการพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป

เทคโนโลยีเหล่านี้มีความเทพในการเป็นครูส่วนตัวฟรีๆ ที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็มีด้านมืดที่น่าสะพรึงกลัวเช่นกัน

องค์การสหประชาชาติเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของเด็ก แนะนำให้ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม มีแนวทางชัดเจน ให้ “ความเป็นมนุษย์” เป็นหัวใจของหลักสูตร และจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

Dylan Arena หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูลและ AI ของ McGraw Hill กล่าวในการสัมภาษณ์กับ Fortune ว่า “ความไว้วางใจในแบรนด์เราสูงมาก ความเสี่ยงใหญ่สุดไม่ใช่การเคลื่อนไหวช้าเกินไปในเรื่อง AI แต่เป็นการเคลื่อนไหวเร็วเกินไป”

การนำ AI เข้าสู่ห้องเรียนไม่ใช่แค่การเพิ่มเครื่องมือใหม่ แต่เป็นการปฏิวัติการเรียนรู้ทั้งระบบดังนี้

ข้อที่ 1 : การเรียนรู้เฉพาะบุคคลกำลังกลายเป็นความจริง AI สามารถปรับเนื้อหาและวิธีสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ลดช่องว่างการเรียนรู้ เพิ่มโอกาสให้เด็กทุกคนอย่างทั่วถึง

ข้อที่ 2 : ทักษะที่จำเป็นกำลังเปลี่ยนไป การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการร่วมงานกับ AI กำลังกลายเป็นพื้นฐานสำคัญ แทนที่การท่องจำหรือการคำนวณ

ข้อที่ 3 : บทบาทของครูและห้องเรียนกำลังแปรเปลี่ยน ครูอาจกลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกการเรียนรู้มากกว่าผู้ถ่ายทอดความรู้ ห้องเรียนอาจเป็นพื้นที่ทำโครงงาน แก้ปัญหาร่วมกัน และพัฒนาทักษะสังคมมากกว่าแค่ฟังบรรยาย

การแข่งขัน AI ในห้องเรียนระดับโลกไม่ใช่แค่การเร่งเด็กให้เรียนเทคโนโลยี แต่เป็นการวางรากฐานอนาคตของประเทศและเศรษฐกิจโลก ประเทศใดที่เตรียมเยาวชนให้เข้าใจและทำงานกับ AI ได้ดีก็จะได้เปรียบในระยะยาว

ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดในการเพิ่ม AI เข้าไปในโรงเรียน มีคำถามสำคัญที่ต้องคิดก็คือ เราจะรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?

การศึกษาที่มีคุณภาพไม่ได้หมายถึงแค่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่รวมถึงการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแม้แต่ AI โครตเทพที่สุดก็ยังทดแทนไม่ได้อย่างสมบูรณ์

ในขณะที่จีนกำลังฝึกเด็กประถมให้คุ้นเคยกับ AI แบบจัดเต็ม ประเทศอื่นๆ ก็กำลังหาวิธีเตรียมเยาวชนเข้าสู่โลกที่ AI กำลังขีดชะตาอนาคตของประเทศเช่นเดียวกัน

ความสำเร็จระยะยาวอาจไม่ได้อยู่ที่ใครสอน AI ได้เร็วที่สุดหรือมากที่สุด แต่อยู่ที่ใครผสมผสานมันเข้ากับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ความท้าทายของระบบการศึกษาทั่วโลกคือการใช้พลัง AI ปลดล็อกศักยภาพเยาวชน โดยไม่ทิ้งทักษะความเป็นมนุษย์

มองในมุมนี้ สงคราม AI ในห้องเรียนไม่ควรเป็นแค่การแข่งขันระหว่างประเทศ แต่เป็นความร่วมมือสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน

การตัดสินใจของจีนในการส่ง AI เข้าโรงเรียนประถมอาจเป็นกลยุทธ์ชาญฉลาดในการแข่งขันระดับโลก แต่ความสำเร็จที่แท้จริงจะวัดจากคุณภาพพลเมืองรุ่นใหม่

ไม่ใช่แค่ความสามารถทางเทคโนโลยี แต่รวมถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณและมีจริยธรรมเพื่อแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนของโลกเราในอนาคต

บทเรียนจากประเทศต่างๆ ที่เริ่มผนวก AI เข้ากับการศึกษาจะเป็นประโยชน์มหาศาลในการพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาในอนาคต

ในขณะที่เด็กจีนวัย 6 ขวบกำลังเรียนรู้การใช้แชทบอทและเครื่องมือ AI เด็กไทยส่วนใหญ่ยังห่างไกลจากโอกาสแบบนี้มาก

ระบบการศึกษาไทยยังคงติดกับดักการท่องจำ การสอบวัดผล และหลักสูตรที่ปรับตัวช้า ทำให้เด็กไทยอาจตามหลังในการแข่งขันโลกอนาคต

ถึงเวลาที่ผู้ปกครอง ครู และผู้กำหนดนโยบายต้องตื่นตัวและลงมือทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่เด็กไทยจะตกขบวนรถไฟแห่งอนาคต

เราอาจไม่จำเป็นต้องทำเหมือนจีนทุกอย่าง แต่เราควรถอดบทเรียนและปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทไทย สร้างระบบการศึกษาที่เตรียมเด็กไทยให้พร้อมสำหรับโลกที่ AI กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอย่างรวดเร็ว

หากรัฐบาลไทยและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราอาจเห็นการพัฒนาหลักสูตร AI ที่เข้าถึงได้สำหรับเด็กไทยทุกคน ไม่ใช่แค่โรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนในเมืองใหญ่

นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการตามทันเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการเตรียมเยาวชนไทยให้พร้อมสำหรับการทำงานและใช้ชีวิตในโลกที่ AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกอาชีพและทุกแง่มุมของชีวิต

เด็กไทยไม่ควรเป็นเพียงผู้บริโภคเทคโนโลยี AI จากต่างประเทศ แต่ควรได้รับการเตรียมพร้อมให้เป็นผู้สร้างและกำหนดอนาคตของเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย

ประเทศไทยมีโอกาสเรียนรู้จากตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีของประเทศอื่นๆ เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาไทย

ความท้าทายไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีเข้ามาในห้องเรียน แต่เป็นการปรับทั้งระบบคิด วิธีสอน และเป้าหมายของการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หากเราทำได้สำเร็จ เด็กไทยจะไม่เพียงตามทันเพื่อนร่วมโลก แต่อาจมีโอกาสนำในบางด้านด้วยความคิดสร้างสรรค์และมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยจะต้องร่วมกันผลักดันการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกหลานของเราจะเติบโตขึ้นในโลกที่พวกเขาสามารถควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่ถูกเทคโนโลยีควบคุม

Geek Talk EP75 : สหรัฐฯ แฮกเกอร์ตัวพ่อที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง เมื่อประเทศที่กล่าวหาผู้อื่น กลับถูกจับได้ว่าทำเหมือนกัน

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินข่าวการโจมตีทางไซเบอร์จากประเทศอย่างรัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ หรืออิหร่านอยู่บ่อยครั้ง แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราแทบไม่เคยได้ยินข่าวการโจมตีทางไซเบอร์จากประเทศตะวันตกบ้างเลย?

พอดเคสต์ EP นี้จะพาผู้ฟังทุกท่านไปเจาะลึกถึงความลับที่ซ่อนอยู่ในโลกไซเบอร์ ผ่านเหตุการณ์การโจมตี iPhone ในบริษัทเทคโนโลยีของรัสเซียที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของแฮกเกอร์รัฐบาลสหรัฐฯ

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/4yk7s5rp

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/3tcz4z6p

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/bdhdrzyz

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/JCmdlvCDXww

Geek Story EP321 : ทำไมสหรัฐฯ ถึงกลัวโรงงานแบตเตอรี่จีน? เมื่อจีนควบคุมห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่โลก สหรัฐฯจะรับมืออย่างไร

จีนมั่นใจว่า “ถ้าเราควบคุมการผลิต เราก็จะควบคุมราคาได้” ผลที่ตามมาคือบริษัทจีนควบคุมสัดส่วนที่สำคัญของอุปทานแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ทั่วโลก แต่จุดที่จีนควบคุมห่วงโซ่อุปทานอย่างแท้จริงคือขั้นตอนหลังการทำเหมือง ไม่ว่าใครจะทำเหมืองแร่ธาตุเหล่านี้

จีนทำการกลั่นแร่ส่วนใหญ่ของโลก นี่คือขั้นตอนที่โรงงานบดย่อยวัตถุดิบที่ขุดได้และสกัดแร่ธาตุที่ต้องการออกมา ซึ่งสร้างมลพิษค่อนข้างมาก นั่นคือเหตุผลที่เรามักไม่เห็นการกลั่นแร่มากนักในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากนั้นโรงงานจีนยังผลิตส่วนประกอบทั้งสี่อย่างของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ด้วย: แคโทด แอโนด อิเล็กโทรไลต์ แล้วนำมาประกอบเป็นเซลล์แบตเตอรี่ เพราะมีการผลิตแบตเตอรี่ที่พัฒนามาอย่างดีแล้ว

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify :
https://tinyurl.com/3zmvrm6k 

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/4r93kf2t

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/4hedjkxx

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/v-gnXnQGk_w

ทำไม Steve Jobs ถึงถูกไล่ออก? ตำนานผู้กลับมาแก้แค้น เพื่อเปลี่ยน Apple ให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

Steve Jobs คือหนึ่งในตำนานผู้ก่อตั้ง Apple ที่ใครๆ ก็รู้จัก เขาเป็นผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์สุดเจ๋ง สามารถพลิกโฉมธุรกิจจากห้องใต้ดินให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก

เส้นทางชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย จากเด็กที่ถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรม สู่เศรษฐีเงินล้านตั้งแต่อายุแค่ 22 ปี แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเขามีชื่อเสียงในการเป็นคนที่ทำงานด้วยยากเอามาก ๆ

เขาใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จนหลายคนมองว่าเป็นความบ้าคลั่ง แต่ความพิถีพิถันนี้เองที่ทำให้ผลงานของเขาออกมาสมบูรณ์แบบ

Apple ก่อตั้งโดยชายสองคน คือ Steve Jobs และ Steve Wozniak (หรือที่เรียกกันว่า “Woz”) พวกเขาร่วมกันประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประกอบด้วยมือทั้งหมดชื่อ Apple One

จริงๆ แล้วมีผู้ร่วมก่อตั้งคนที่สามชื่อ Ronald Wayne แต่เขาอยู่แค่ 12 วันเท่านั้น ก่อนจะขายหุ้น 10% ของเขาคืนให้กับ Steve และ Woz ในราคาแค่ 800 ดอลลาร์ ซึ่งหุ้นส่วนนี้ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 200 พันล้านดอลลาร์ พูดได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าเจ็บปวดรวดร้าวมากที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจเลยทีเดียว

Jobs และ Wozniak มีบทบาทต่างกันอย่างชัดเจน Jobs เป็นคนคิดไอเดียใหญ่ๆ ดูแลการตลาดและการขาย ส่วน Woz เป็นอัจฉริยะทางเทคนิค ผู้ดูแลการสร้างและพัฒนาคอมพิวเตอร์ ทั้งคู่มีความทะเยอทะยานไม่ต่างกัน แต่ไม่มีใครมีประสบการณ์จริงในการบริหารบริษัทใหญ่

ยอดขาย Apple One ทำให้พวกเขามีเงินพอที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คือ Apple II ซึ่งเป็นเครื่องที่ดันให้ Apple ก้าวพ้นจากตลาดงานอดิเรกเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไป ความสำเร็จนี้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา และนำไปสู่การจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 1976

Mike Markkula หนึ่งในนักลงทุนรายแรกมองเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของ Apple แต่เขาก็รู้สึกว่า Jobs และ Woz ยังขาดประสบการณ์ในการบริหารบริษัท เขาจึงนำ Michael Scott มาเป็นซีอีโอคนแรกของ Apple ในปี 1977 ซึ่งต่อมา Markkula จะเข้ามารับตำแหน่งแทนในปี 1981

เพื่อให้แน่ใจว่า Apple จะเติบโตอย่างถูกทิศทาง Jobs ต้องการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์มากกว่าการบริหารบริษัท เขาจึงดึงตัว John Sculley ซีอีโอของ Pepsi มาดูแล Apple โดยชักชวนด้วยประโยคอันโด่งดังว่า “คุณต้องการขายน้ำตาลผสมน้ำไปตลอดชีวิตหรือคุณต้องการมากับผมและเปลี่ยนโลก”

ในช่วงนี้ Apple ทำงานหนักกับโปรเจกต์ใหญ่สองโปรเจกต์พร้อมกัน คือ Lisa และ Macintosh ซึ่งพัฒนาโดยทีมที่แตกต่างกัน สิ่งนี้ได้สร้างการแข่งขันภายในบริษัทที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากมาย

Jobs มีชื่อเสียงด้านการบริหารงานแบบโหดเหี้ยม เขามักเรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากทีมงานตลอดเวลา วิธีการบริหารแบบนี้ทำให้เกิดรอยร้าวกับฝ่ายบริหาร จนเขาถูกผลักออกจากโปรเจกต์ Lisa

เขาหันไปมุ่งเน้นที่โปรเจกต์ Macintosh แทน ที่นี่เองที่เขาตั้งกลุ่ม “โจรสลัด Apple” ซึ่งเป็นทีมพัฒนาที่ทำงานอิสระและท้าทายกฎเกณฑ์เดิมๆ

Lisa ไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด มันมีราคาแพงลิบลิ่วถึง 9,995 ดอลลาร์ ส่วน Macintosh แม้จะมีโฆษณาสุดเจ๋งในงาน Super Bowl ที่กำกับโดย Ridley Scott แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้า

ไม่นานก็ชัดเจนว่าวิสัยทัศน์ของ Jobs และ John Sculley แตกต่างกันมาก Jobs มุ่งเน้นที่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เทพๆ ในขณะที่ Sculley ต้องการเน้นกำไรและการเติบโตทางธุรกิจ ความแตกต่างนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มเสื่อมถอย

ในเดือนพฤษภาคม 1985 Sculley วางแผนปรับโครงสร้าง Apple โดยจะถอด Jobs ออกจากกลุ่ม Macintosh ให้ไปดูแลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่แทน ซึ่งจะทำให้ Jobs ไร้อำนาจในบริษัทที่เขาก่อตั้ง

Jobs ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เขาพยายามวางแผนกำจัด Sculley เพื่อควบคุม Apple แต่แผนของเขาถูกแทงข้างหลัง มีคนไปบอกบอร์ดบริหาร เมื่อถูกเผชิญหน้า Jobs บอกว่าจะลาออก แต่บอร์ดปฏิเสธและขอให้เขาทบทวน

อย่างไรก็ตาม Sculley ยืนกรานจะควบคุม Jobs และได้รับการสนับสนุนจากบอร์ด สุดท้ายในวันที่ 17 กันยายน 1985 Jobs ส่งจดหมายลาออกครั้งสุดท้ายจาก Apple

การจากไปของ Jobs เป็นช่วงเวลาเจ็บปวดที่สุด เขาเคยกล่าวว่า “ตอนอายุ 30 ปี ผมถูกไล่ออกจากบริษัทที่ผมก่อตั้ง สิ่งที่เคยเป็นจุดโฟกัสของชีวิตผมหายไปและมันทำลายจิตใจมาก”

หลังจากการลาออกของ Jobs Apple เริ่มดิ่งลงเหว บริษัทสูญเสียตำแหน่งในการแข่งขันในตลาดคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นช่วงที่ Apple เละเทะเป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน Jobs ไม่ได้มัวแต่มานั่งเศร้าซึม เขาไปก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NeXT มุ่งเน้นสร้างคอมพิวเตอร์สำหรับการศึกษาระดับสูง NeXT ไม่ประสบความสำเร็จด้านฮาร์ดแวร์เพราะราคาสูงลิ่วถึง 9,999 ดอลลาร์ แต่ซอฟต์แวร์ที่พัฒนากลับเทพมาก

นอกจากนี้ ในปี 1986 Jobs ยังซื้อแผนกกราฟิกคอมพิวเตอร์จาก Lucasfilm ในราคา 10 ล้านดอลลาร์ และตั้งชื่อว่า Pixar เขาลงทุนเพิ่มอีก 40 ล้านดอลลาร์จากเงินส่วนตัวเพื่อปลุกปั้นบริษัทนี้

Pixar เริ่มต้นด้วยการพัฒนาเครื่องมือแอนิเมชัน 3D สุดล้ำ ต่อมาได้ร่วมมือกับ Disney สร้าง Toy Story ภาพยนตร์แอนิเมชัน CGI 3D เรื่องแรกของโลกที่กวาดรายได้สูงสุดในปี 1995

ปลายปี 1996 Apple กำลังเละไม่เป็นท่า บริษัทขาดทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 1997 มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 4% หุ้นร่วงลงถึงจุดต่ำสุดตลอดกาล หลายคนคาดว่าบริษัทอาจจบเห่ในอีกไม่กี่ปี

การเปลี่ยนแปลงมาในรูปแบบการซื้อ NeXT ในราคา 429 ล้านดอลลาร์ ดีลนี้ไม่เพียงนำระบบปฏิบัติการทันสมัยมาให้ Apple แต่ยังนำ Jobs กลับมาด้วยในฐานะที่ปรึกษาซีอีโอ

ด้วยสถานการณ์ทางการเงินที่แย่ลงเรื่อยๆ Gil Amelio ซีอีโอในขณะนั้นถูกบังคับให้ออก และ Jobs เข้ามาเป็นซีอีโอชั่วคราว แต่เขาไม่รอการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และเริ่มปรับเปลี่ยนองค์กรทันที

Jobs จัดหนักด้วยการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ เขายกเลิกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไรหลายรายการ ลดสายผลิตภัณฑ์จาก 15 สายเหลือแค่ 4 สาย ตัดงบประมาณวิจัยและพัฒนา และลดจำนวนพนักงานลงเกือบหนึ่งในสาม

Jobs ยังทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือร่วมมือกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft เพื่อรับประกันการลงทุน 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งช่วยให้ Apple มีเงินทุนที่จำเป็น

ปี 1998 ผลิตภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนโชคชะตา Apple ได้รับการเปิดตัว นั่นคือ iMac คอมพิวเตอร์ all-in-one ดีไซน์โดดเด่นด้วยรูปทรงกลมมนและตัวเครื่องโปร่งใส iMac ไม่เพียงสวยงามแต่ยังมีประสิทธิภาพสูงและใช้งานง่าย ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น

iMac ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น และเปลี่ยนเส้นทางของ Apple ไปตลอดกาล ในปี 2000 Jobs ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นซีอีโอเต็มตัว

ภายใต้การนำของ Jobs Apple ขยายธุรกิจนอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ ในปี 2001 บริษัทเปิดตัว iPod และ iTunes Store ซึ่งปฏิวัติวงการเพลง iPod กลายเป็นเครื่องเล่นเพลงพกพายอดนิยมที่สุดในโลก ขายได้กว่า 100 ล้านเครื่องภายในหกปี

ความสำเร็จครั้งใหญ่ต่อมาเกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อ Jobs เปิดตัว iPhone โทรศัพท์ที่รวมความสามารถของมือถือ iPod และอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน พร้อมหน้าจอสัมผัสที่ใช้งานง่าย iPhone ปฏิวัติอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถืออย่างสิ้นเชิง

ในปี 2010 Apple ยิ่งพุ่งทะยานด้วยการเปิดตัว iPad แท็บเล็ตที่สร้างหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ระหว่างสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป ขายได้มากกว่า 15 ล้านเครื่องในปีแรกเพียงปีเดียว

ในขณะเดียวกัน Pixar ก็โคตรเทพในฐานะสตูดิโอแอนิเมชัน สร้างภาพยนตร์ฮิตหลายเรื่อง ในปี 2006 Disney ซื้อ Pixar ในราคา 7.4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ Jobs กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน Disney

ปี 2011 Apple กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก แซงหน้า ExxonMobil ความสำเร็จที่ไม่น่าเชื่อสำหรับบริษัทที่เกือบล้มละลายเพียง 15 ปีก่อน

แต่น่าเศร้าที่สุขภาพของ Jobs เริ่มถดถอยลงอย่างรุนแรง เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนในปี 2003 ในเดือนสิงหาคม 2011 เขาลาออกจากตำแหน่งซีอีโอและแต่งตั้ง Tim Cook เป็นผู้สืบทอด

เพียงหกสัปดาห์หลังจากลาออก Steve Jobs เสียชีวิตในวันที่ 5 ตุลาคม 2011 ด้วยวัย 56 ปี การจากไปของเขาสร้างความเศร้าโศกไปทั่วโลก

การกลับมาของ Jobs ที่ Apple เป็นเรื่องราวความสำเร็จทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมที่สุด และเป็นบทเรียนเกี่ยวกับความล้มเหลวและการฟื้นตัว

ในสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ปี 2005 Jobs ได้กล่าวว่าการถูกไล่ออกจาก Apple เป็น “สิ่งที่ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับผม” เพราะปลดปล่อยให้เขาเข้าสู่ “ช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต”

เขากล่าวว่า “ความรู้สึกหนักอึ้งของความสำเร็จถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายของการเริ่มต้นใหม่ ความไม่แน่นอนของทุกสิ่ง ทำให้ผมได้ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต”

บทเรียนสำคัญจากชีวิตของ Jobs คือการไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและการรักษาความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ แม้จะเจออุปสรรคหนักๆ เขาก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ เขาเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้กลายเป็นโอกาสในการเติบโต

Jobs สอนเราเกี่ยวกับความสำคัญของการรักในสิ่งที่ทำ ดังที่เขากล่าวว่า “งานของคุณจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และวิธีเดียวที่จะรู้สึกพอใจอย่างแท้จริงคือการทำสิ่งที่คุณเชื่อว่ายอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่จะทำงานยอดเยี่ยมคือการรักในสิ่งที่คุณทำ”

มรดกของ Jobs ยังคงอยู่ผ่านผลิตภัณฑ์ที่เขาช่วยสร้าง ผ่านวัฒนธรรมของนวัตกรรมที่ไม่ประนีประนอม การให้ความสำคัญกับการออกแบบสวยงาม และการทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่าย

ปัจจุบัน Apple ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก และผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone, iPad และ Mac ยังคงเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรม

เรื่องราวของ Steve Jobs เป็นการเตือนใจว่าแม้ในความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีโอกาสสำหรับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า หากคุณมีความกล้าที่จะยืนหยัดในความเชื่อและไม่ลดละในการไล่ตามวิสัยทัศน์ของคุณ

เขาสอนเราว่าการคิดต่าง ไม่ใช่แค่การท้าทายสถานะเดิม แต่เป็นการมองเห็นความเป็นไปได้ที่คนอื่นอาจมองข้าม และนั่นคือความเทพที่แท้จริงของ Steve Jobs