Geek Story EP318 : ย้อนรอยตำนาน ‘เวิร์ดจุฬาฯ’ ความภาคภูมิใจของวงการ IT ไทย ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยรู้

หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว โลกของเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงเริ่มต้น คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย แต่ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ยังเป็นของต่างประเทศ มีราคาแพง และที่สำคัญคือไม่รองรับภาษาไทย ในสถานการณ์เช่นนี้ นักวิจัยและนักพัฒนาไทยไม่ได้นั่งรอให้บริษัทต่างชาติพัฒนาโปรแกรมมารองรับภาษาของเรา แต่พวกเขาเลือกที่จะลุกขึ้นมาสร้างสรรค์นวัตกรรมของตัวเองขึ้นมา

ในยุคที่โลกยังไม่รู้จัก Microsoft Word หรือ Office Suite อื่นๆ ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจขึ้น นั่นคือการพัฒนา “เวิร์ดจุฬาฯ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ CU Writer หรือ CW (Chula Word) โปรแกรมประมวลผลคำสัญชาติไทยที่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยในด้านเทคโนโลยี

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/5n6k4ezj

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/44wk7zuy

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/4vck7ree

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/gt1V5_jmJKA

ทำไมธุรกิจ PC ในญี่ปุ่นจึงล่มสลาย PC-98 ญี่ปุ่นที่ครองตลาดมา 15 ปี ก่อนพ่ายให้กับ Windows

ผมว่าหลายคนอาจจะเคยสงสัยกันว่าทำไมญี่ปุ่นที่มีความเจ๋งทางด้านเทคโนโลยีมากมาย แต่กลับไม่มีบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลก? ก็ต้องบอกว่าคำตอบส่วนหนึ่งอยู่ที่เรื่องราวของ NEC PC-98 คอมพิวเตอร์ที่ครองตลาดญี่ปุ่นยาวนานถึง 15 ปี ก่อนจะดับสูญไปจากการแข่งขันที่เข้มข้น

ย้อนกลับไปช่วงต้นทศวรรษ 1970 วงการคอมพิวเตอร์ทั่วโลกได้เห็นการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกๆ จาก Intel, Motorola และ Zilog ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้เอง

ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ในสายตาคนทั่วไปยังเป็นเครื่องยักษ์ขนาดเท่าห้องทั้งห้อง อุปกรณ์ของนักประดิษฐ์สมัครเล่นจึงได้ชื่อว่า “ไมโครคอมพิวเตอร์” เพื่อบ่งบอกถึงขนาดที่เล็กลงอย่างมาก

Takayoshi Shiina วัย 26 ปี อดีตพนักงาน DEC ตัดสินใจลาออกมาก่อตั้งบริษัท Sord Computer Corporation ในปี 1970 เริ่มจากเขียนซอฟต์แวร์ให้คอมพิวเตอร์นำเข้า ก่อนจะผลิตคอมพิวเตอร์ของตัวเองในปี 1974 ถือเป็นอีกหนึ่งผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในญี่ปุ่น

ตลาดคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่นมีความท้าทายพิเศษคือเรื่องภาษา บริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าตลาดญี่ปุ่นเพราะต้องจัดการตัวอักษรคันจิที่ซับซ้อน

คันจิแต่ละตัวต้องใช้หน่วยความจำถึง 2 ไบต์ (ภาษาอังกฤษใช้แค่ 1 ไบต์) และต้องรองรับตัวอักษรกว่า 6,000 ตัว เทียบกับภาษาอังกฤษที่มีแค่ 200 ตัว จึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พิเศษ

ขณะที่บริษัทอเมริกันสนใจแต่ตลาดบ้านเกิดที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 4 เท่า สถานการณ์นี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นได้สร้างอาณาจักรของตัวเอง

ตอนนั้นตลาดคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่นถูกครอบงำโดยยักษ์ใหญ่ 4 ราย คือ Fujitsu, Hitachi, NEC และ IBM Japan ซึ่งรวมกันแล้วมีส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์เมนเฟรมถึง 85%

แต่ที่น่าประหลาดใจคือ NEC ซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งน้อยที่สุดในกลุ่มนี้ กลับกลายเป็นผู้จุดชนวนการปฏิวัติคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในญี่ปุ่น

จุดเริ่มต้นมาจากแผนกวงจรรวมของ NEC ที่ทำข้อตกลงกับ Intel เพื่อผลิตชิป 8080 แต่แผนกขายกลับประสบปัญหาเพราะแม้แต่พนักงานขายเองก็ยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีนี้ดีพอ

ทีมขายเล็กๆ จึงคิดโครงการ TK-80 เป็นชุดประกอบคอมพิวเตอร์บอร์ดเดี่ยวเพื่อการศึกษา คล้าย Apple I แต่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม มีแค่ LED 8 ดวงและปุ่มกด 20 ปุ่มติดบนบอร์ดเท่านั้น

แผนก IC เรียกโครงการนี้ว่า “งานอดิเรก” ตอนรายงานผู้บริหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมจากแผนกคอมพิวเตอร์ ที่กลัวว่าการนำผลิตภัณฑ์ดิบๆ ออกมาใช้ชื่อ NEC จะทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสียหาย

ทีม IC คาดว่าจะขาย TK-80 ได้แค่ 200 เครื่อง แต่ผลลัพธ์กลับเหนือความคาดหมาย เมื่อทั้งวิศวกร เจ้าของธุรกิจ และนักประดิษฐ์สมัครเล่นต่างให้ความสนใจ ทำให้ขายได้ถึง 25,000 เครื่องในเวลาเพียง 2 ปี

NEC ตั้งศูนย์สนับสนุนชื่อ “Bit-Inn” บนชั้น 7 ของอาคารในย่านอากิฮาบาระ ซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมของคนรักคอมพิวเตอร์ชาวญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น Hitachi เริ่มผลิตคอมพิวเตอร์ของตัวเองบ้าง

ปี 1978 ตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่นขายได้ประมาณ 9,143 เครื่อง โดยเกือบครึ่งเป็นชุดประกอบสำหรับนักประดิษฐ์สมัครเล่น ทีมพัฒนาของ NEC อุทิศเวลาวันหยุดมาทำงานที่ Bit-Inn ให้คำปรึกษาและเรียนรู้จากลูกค้า

พวกเขาพบว่าผู้ใช้พยายามประยุกต์ใช้ TK-80 ในงานหลากหลาย ทั้งแพทย์อยากใช้บันทึกค่ารักษา เกษตรกรอยากจดบันทึกการขายข้าว และนักดาราศาสตร์อยากคำนวณสุริยุปราคา แต่ TK-80 มีข้อจำกัดมากเกินไป

จากบทเรียนที่ได้รับ แผนก IC ของ NEC ตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ในปี 1978 ด้วยการพัฒนา PC-8001 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเต็มรูปแบบที่มาพร้อมจอสี และไดรฟ์ดิสก์เก็ต ราคาประมาณ 4,160 ดอลลาร์ในมูลค่าปัจจุบัน

PC-8001 ใช้ภาษา Microsoft BASIC ซึ่งเป็นการตัดสินใจกล้าหาญมาก เพราะตอนนั้น Microsoft เป็นแค่บริษัทเล็กๆ มีพนักงานเพียง 10 คน แต่ Kazuya Watanabe หัวหน้าทีมพัฒนายืนยันเพราะเห็นว่า Microsoft BASIC กำลังบูมในตลาดอเมริกา

การเปิดตัว PC-8001 เป็นการเสี่ยงครั้งใหญ่ของ NEC เพราะผู้บริหารหลายคนยังมองว่าเป็นแค่ของเล่นไม่น่าไว้วางใจ แต่เมื่อวางจำหน่ายในเดือนกันยายน 1979 กลับประสบความสำเร็จเกินคาด จนต้องใช้เวลาถึงครึ่งปีในการผลิตให้ทันคำสั่งซื้อ

ระหว่างปี 1980-1982 NEC ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 40-44% ขายได้ประมาณ 250,000 เครื่อง ส่วนใหญ่ผ่านร้าน “NEC Microcomputer Shop” ของตัวเอง การมีจุดขายครอบคลุมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดขายของพวกเขาพุ่งกระฉูด

ในขณะที่ NEC กำลังมาแรงในญี่ปุ่น IBM ก็ไม่นิ่งนอนใจ พวกเขาเห็นความสำเร็จของ Apple II และตระหนักถึงภัยคุกคาม จึงเริ่มโครงการลับพัฒนา IBM PC

Frank Cary ซีอีโอของ IBM ย้ายทีมไปที่ Boca Raton ในฟลอริดา เพื่อหลีกเลี่ยงระบบราชการของบริษัท ทีม IBM PC ใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปจำนวนมาก มีเพียง BIOS เท่านั้นที่เป็นลิขสิทธิ์ของ IBM ส่วนไมโครโปรเซสเซอร์ใช้ของ Intel และระบบปฏิบัติการใช้ของ Microsoft

IBM PC ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดตะวันตก แต่มีข้อจำกัดในญี่ปุ่นเพราะไม่รองรับภาษาคันจิ IBM จึงต้องพัฒนา PC-5550 สำหรับตลาดญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์ร่วมกับ PC ทั่วไปได้

สถานการณ์นี้เปิดโอกาสให้ NEC ต่อยอดความได้เปรียบ ความสำเร็จของ PC-8001 และการเติบโตของตลาด IBM PC ทำให้แผนกคอมพิวเตอร์ของ NEC ตัดสินใจพัฒนา PC 16 บิตของตัวเอง

แผนก IC ของ NEC ไม่พอใจที่ความสำเร็จถูกแย่งชิงไป จึงพัฒนา PC-100 ในเดือนตุลาคม 1983 ซึ่งรัน MS-DOS และมีกราฟิกที่เจ๋งมาก แต่ราคาสูงเกินไปและใช้ซอฟต์แวร์เก่าไม่ได้ จึงล้มเหลวในที่สุด

ในขณะเดียวกัน ทีม NEC ชุดใหม่เริ่มพัฒนา PC 16 บิต โดย Watanabe ต้องการให้ใช้ซอฟต์แวร์ของ PC-8001 ได้ ซึ่งเป็นงานยากมาก แต่คุ้มค่าเพราะช่วยให้ลูกค้าใช้ซอฟต์แวร์เดิมได้ ซึ่งกลายเป็นจุดขายสำคัญ

NEC ติดต่อ Bill Gates เพื่อขอเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นของ MS-DOS แต่ทีม Microsoft ดูเหมือนจะยุ่งเกินไปกับตลาดอเมริกา NEC จึงซื้อลิขสิทธิ์มาพัฒนาเอง แม้จะไม่ต่างจาก MS-DOS มากนัก แต่ก็ไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์ MS-DOS ทั่วไปได้

ในเดือนตุลาคม 1982 NEC เปิดตัว PC-9801 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปีแรกสามารถครองส่วนแบ่งตลาด PC 16 บิตได้ถึง 80%

คู่แข่งที่แข็งแกร่งที่สุดของ NEC คือ Fujitsu ซึ่งมักผลิตเครื่องที่มีสเปคที่ดีกว่า แต่ล้าหลังด้านการตลาด Fujitsu เปิดตัว FM-8 PC ในเดือนพฤษภาคม 1981 แต่ขาดแอปพลิเคชันจาก third party ทำให้ขายไม่ดี

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 1982 Fujitsu เปิดตัว FM-7 และ FM-11 ซึ่งใช้ BASIC เฉพาะของ Fujitsu ที่ไม่สามารถใช้กับโปรแกรมของ FM-8 ได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในองค์กรคล้ายกับที่ NEC เคยประสบ

NEC ตอกย้ำความได้เปรียบด้วยการขยายเครือข่าย Bit-Inn ให้เป็นร้านค้าปลีกที่มีวิศวกรคอยให้คำแนะนำลูกค้าโดยตรง ภายในปี 1985 NEC มีจุดขาย 134 แห่ง เทียบกับ Fujitsu ที่มีเพียง 80 แห่ง

NEC ยังประสบความสำเร็จในการสร้างฐานแอปพลิเคชันที่แข็งแกร่ง ด้วยการเปิดให้บริษัทซอฟต์แวร์ญี่ปุ่นเข้าถึงเอกสารและคอมพิวเตอร์ฟรี ภายในปี 1987 ซอฟต์แวร์สำหรับ PC-98 มีมากกว่าของ Fujitsu ถึง 10 เท่า

ซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือโปรแกรมประมวลผลคำ Ichitaro และโปรแกรมสเปรดชีต Lotus 1-2-3 โดยเฉพาะ Ichitaro ที่มีความสามารถพิเศษในการแปลงตัวอักษรคานะเป็นคันจิ

ผลลัพธ์คือ NEC สามารถครองตลาด PC 16 บิตเกือบทั้งหมดในญี่ปุ่นภายในปี 1983 มาตรฐาน PC-98 แม้จะไม่สามารถใช้งานร่วมกับ IBM ได้ แต่กลับกลายเป็นผู้นำในญี่ปุ่น

ในปี 1985 Toshiba ท้าทาย PC-98 ด้วยแล็ปท็อป T1100 และตามมาด้วย DynaBook J-3100 สำหรับตลาดญี่ปุ่นในปี 1986 NEC ตอบโต้ด้วย PC-98LT ซึ่งเบากว่าและถูกกว่า แต่ใช้ซอฟต์แวร์ PC-98 แบบตั้งโต๊ะไม่ได้ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ

NEC เรียนรู้ว่าผู้ใช้ให้ความสำคัญกับความเข้ากันได้มากกว่าเรื่องของการพกพา จึงเปิดตัว PC-98LV ในปี 1988 และ PC-98Note ในปี 1990 ซึ่งใช้งานร่วมกับ PC-98 ได้เต็มที่ ช่วยให้ต้านทานการรุกคืบของ Toshiba ได้

Seiko Epson ซึ่งเคยเป็นผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่นกับรุ่นอย่าง Seiko 5700 ตั้งแต่ปี 1977 ได้เปลี่ยนกลยุทธ์มาผลิตเครื่องเลียนแบบ PC-98 นำไปสู่การฟ้องร้องจาก NEC แต่ทั้งสองบริษัทตกลงกันนอกศาลได้

เครื่องเลียนแบบของ Epson มีราคาถูกกว่าและช่วยให้พวกเขาแย่งส่วนแบ่งตลาดได้บ้าง ในปี 1991 Epson ขึ้นเป็นผู้ผลิต PC รายใหญ่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 8.5% ในขณะที่ NEC ยังนำตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาด 51% ทำให้มาตรฐาน PC-98 มีส่วนแบ่งรวมเกือบ 60%

แต่มีการพัฒนาสำคัญสองประการที่ได้เปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของ NEC PC-98 ไปอย่างสิ้นเชิง:

ประการแรก Intel พัฒนาโปรเซสเซอร์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับประมวลผลภาษาญี่ปุ่นได้ในที่สุด เริ่มจาก Intel 386 ในปี 1987 และ Intel 486 ในปี 1990

ประการที่สอง IBM Japan พัฒนา DOS/V ซึ่งเป็นเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นของ MS-DOS ที่ใช้กับการ์ด VGA มาตรฐานได้เลย ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถนำ PC เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องดัดแปลงฮาร์ดแวร์อะไรที่มันซับซ้อนอีกต่อไป

ในเดือนตุลาคม 1992 Compaq เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นด้วยคอมพิวเตอร์ราคา 128,000 เยน ซึ่งเป็นราคาเพียงครึ่งหนึ่งของ PC-98 รุ่นถูกที่สุด Dell ตามมาในเดือนมกราคม 1993 สิ่งนี้จุดชนวนสงครามราคาที่ทำให้ตลาด PC ญี่ปุ่นขยายตัวถึง 50% ระหว่างปี 1992-1994

แต่จุดพลิกเกมจริงๆ คือการเปิดตัว Windows 3.1J ที่ทำให้แอปพลิเคชัน Windows ทำงานบนระบบใดๆ ที่ใช้ DOS ได้ ทำให้คู่แข่งมองว่ามาตรฐาน PC-98 ไม่มีข้อได้เปรียบอีกต่อไป

ผู้ผลิคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของญี่ปุ่นเริ่มหันไปใช้ DOS/V ทั้ง Toshiba, Hitachi และที่สำคัญคือ Fujitsu คู่แข่งคู่ปรับของ NEC ในปี 1995 Fujitsu จัดหนักด้วยการลดราคา PC จนขาดทุน 200-500 ดอลลาร์ต่อเครื่อง แต่สามารถขายได้เกือบล้านเครื่อง เพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 17.5% ขณะที่ NEC ลดลงเหลือ 41.2%

NEC พยายามตามให้ทันสงครามราคา ทั้งจ้างผู้ผลิตจากไต้หวัน ย้ายการออกแบบไปฮ่องกง และซื้อกิจการ Packard Bell แต่ก็ไม่สามารถต้านกระแส Windows ได้ ในปี 1997 พวกเขาจึงยอมแพ้:

  • มีนาคม 1997: พวกเขาเริ่มขายเครื่อง DOS/V เป็นของตัวเอง
  • ตุลาคม 1997: พวกเขาเปิดตัว PC-98NX ซึ่งเป็นการยุติสถาปัตยกรรม PC-98 ดั้งเดิม

การที่ญี่ปุ่นแยกตัวออกจากมาตรฐาน PC ของโลกเกือบ 15 ปี ส่งผลกระทบระยะยาวหลายประการ ทั้งทำให้ซอฟต์แวร์ญี่ปุ่นถูกพัฒนาเฉพาะในประเทศ และทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ญี่ปุ่นขยายไปต่างประเทศได้ยาก

ปัจจุบัน PC-98 ยังคงมีชีวิตในรูปแบบของโปรแกรมจำลองสำหรับเล่นเกมวิดีโอเก่าๆ และยังเป็นที่ถวิลหาของกลุ่มผู้ใช้รุ่นแรกๆ

เรื่องราวของ NEC PC-98 เป็นบทเรียนเกี่ยวกับการผูกขาดตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความสำเร็จในการสร้างมาตรฐานเฉพาะกลับกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อต้องปรับตัวตามกระแสโลก

การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตและการพึ่งพารายได้จากการผูกขาดมากเกินไป ทำให้บริษัทปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นี่คือบทเรียนสำคัญสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการเฉพาะของตลาดท้องถิ่น กับการเปิดรับและปรับตัวตามมาตรฐานสากล

ความเทพของ NEC PC-98 ในยุคนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ แต่การยึดติดกับความสำเร็จโดยไม่พร้อมปรับตัว ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการสร้างมาตรฐานระดับโลก

ในยุคที่โลกเชื่อมต่อกันมากขึ้นทุกวัน การปิดกั้นตัวเองไว้ในมุมเล็กๆ ของตลาดไม่ใช่ทางรอด แม้จะเป็นที่หนึ่งในตลาดนั้นก็ตาม เพราะในที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงย่อมมาถึงเสมอ และธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็พร้อมจะดับสูญไปจากความทรงจำของผู้บริโภค

เรื่องราวของ PC-98 จึงเป็นทั้งแรงบันดาลใจในความสำเร็จจากความกล้าคิดนอกกรอบ และสิ่งเตือนใจถึงอันตรายของความสำเร็จที่ทำให้เราประมาทจนถึงขั้นคิดเพ้อฝันว่ามันจะมั่นคงตลอดไปนั่นเองครับผม

นิ้วทั้ง 10 ที่เปลี่ยนโลก กับเส้นทางเทคโนโลยี Multitouch จากเรดาร์สงครามสู่ iPhone

เมื่อ Apple เปิดตัว interface ใหม่แบบ multitouch พร้อมกับ iPhone ในปี 2007 เหมือนโลกของการปฏิสัมพันธ์กับมือถือและคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีสุดเจ๋งนี้ใช้เวลาพัฒนานานถึง 3 ทศวรรษกว่าจะถูกนำเสนอต่อโลกอย่างสมบูรณ์แบบ

ปัจจุบัน interface แบบ multitouch กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนนับพันล้านทั่วโลก ทั้งการเช็คอีเมล เล่นเกม หรือแต่งเพลง แต่หากย้อนกลับไปที่จุดกำเนิด เรื่องราวของมันเรียกได้ว่าน่าทึ่งมาก เพราะมันเกิดจาก แนวคิดในการพัฒนาระบบป้องกันไม่ให้เครื่องบินชนกันในอากาศ

ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 วิศวกรชาวอังกฤษชื่อ Johnson ผู้ทำงานในหน่วยงานเรดาร์ของประเทศอังกฤษได้เริ่มคิดค้นไอเดีย interface รูปแบบใหม่ เพื่อควบคุมการจราจรทางอากาศและจัดการเส้นทางการบินเข้าออกในสนามบินของสหราชอาณาจักร

ช่วงนั้น ยุคของการบินพาณิชย์กำลังเริ่มต้น เส้นทางบินรอบเมืองใหญ่มีความซับซ้อนมากขึ้น เครื่องบินรุ่นใหม่บินเร็วขึ้น ทำให้การควบคุมการจราจรทางอากาศกลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

Johnson สร้างต้นแบบของสิ่งที่เรียกว่า capacitive touch screen ซึ่งมีคุณสมบัติหลักที่เรายังใช้อยู่ในอุปกรณ์หน้าจอสัมผัสแบบ multitouch จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกระจกไม่สามารถนำไฟฟ้าได้ จึงต้องเคลือบหน้าจอด้วยตาข่ายโปร่งแสงของวัสดุนำไฟฟ้า เช่น อินเดียมทินออกไซด์

ไฟฟ้าจะไหลผ่านตาข่ายอยู่ตลอดเวลา เมื่อนิ้วสัมผัสบนหน้าจอ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านผิวหนังแทนตาข่าย ทำให้อุปกรณ์สามารถตรวจจับตำแหน่งของนิ้วบนจอได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี multitouch อย่างแท้จริง

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 นักควบคุมจราจรทางอากาศของอังกฤษได้นำอุปกรณ์ของ Johnson มาใช้ในการทำงาน แต่เทคโนโลยีนี้ไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมากนัก

เรื่องราวมาพลิกโฉมเมื่อนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัย Kentucky ที่ชื่อ Samuel ซึ่งกำลังทำงานกับอุปกรณ์ Van de Graaff accelerator ที่ใช้ในการศึกษาอนุภาคประจุไฟฟ้า เกิดไอเดียที่จะใช้กระดาษนำไฟฟ้าในการบันทึกพิกัดแกน X และแกน Y จากการทดลองโดยอัตโนมัติ

ระหว่างสร้างอุปกรณ์ Samuel เริ่มคิดว่าเทคโนโลยีเดียวกันนี้สามารถประยุกต์ใช้กับพิกัดแกน X และ Y ของจอคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน ไม่นานหลังจากนั้น เขาทิ้งอุปกรณ์ Van de Graaff accelerator และก่อตั้งบริษัทผลิตหน้าจอสัมผัสสำหรับคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มจากห้องใต้ดินในบ้านของเขาเอง

Samuel มองถูกทางว่า interface แบบสัมผัสจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้คอมพิวเตอร์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลองคิดดู เราเพียงแค่มองหน้าจอ จิ้มนิ้ว แล้วได้คำตอบกลับมา Samuel ผู้ล่วงลับในปี 2011 เคยกล่าวกับสื่อมวลชนไว้ว่า “ทุกคนสามารถจิ้มนิ้วได้”

สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อนักวิชาการหลายคน รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการวิจัยในซิลิคอนวัลเลย์หลายแห่ง เริ่มทดลองจัดการบนหน้าจอโดยตรงโดยใช้นิ้วหลายนิ้วพร้อมกัน

บทพิสูจน์แรกของการปฏิวัติที่กำลังจะมาถึงเกิดขึ้นบนเวทีการประชุม TED ในปี 2006 โดยศาสตราจารย์ Jeff Han จากสถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กลุ่มวิจัยของ Han ได้พัฒนาต้นแบบ interface multitouch ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปในทุกวันนี้

เช่น การลากไอคอนด้วยการสัมผัสนิ้วบนหน้าจอและเลื่อนไปตามพื้นผิว การบีบหรือแยก 2 นิ้วเพื่อย่อหรือขยายรูปภาพ Chris Anderson บรรณาธิการจัดงาน TED เล่าว่ามีคนส่งวิดีโอของ Jeff Han ที่แสดงรูปแบบของ interface ดังกล่าวให้เขาดูประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนงาน TED ปี 2006

ตอนนั้นมียอดวิวเพียงไม่กี่พันครั้ง แต่ Anderson รู้สึกตื่นเต้นมากและรีบติดต่อไปที่ Jeff Han ทันที ขอร้องให้ละทิ้งทุกอย่างและมุ่งตรงมายังสถานที่จัดงาน TED

บนเวที Jeff Han พูดว่าเขากำลังจะนำเสนอบางสิ่งที่กำลังออกจากห้องทดลอง และมันจะเปลี่ยนวิธีที่เราปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อุปกรณ์สาธิตของเขาคือจอภาพขนาดใหญ่วางอยู่เหมือนโต๊ะวาดแบบตรงหน้าเขา

ระหว่างพูด Han แสดงการใช้งานอย่างคร่าวๆ เช่น การจัดการรูปภาพ การนำทางแผนที่ และภาพเคลื่อนไหวบางส่วนที่เขาสามารถจัดการด้วยนิ้วมือได้ แต่ไฮไลท์จริงๆ ของการแสดงไม่ใช่เนื้อหาบนหน้าจอ แต่เป็นวิธีที่ interface ของ Jeff Han ช่วยให้เขาสามารถปฏิสัมพันธ์กับมันได้

Chris Anderson เล่าว่ามีช่วงหนึ่งประมาณ 2 นาทีหลังจากเริ่มการนำเสนอของ Jeff Han ผู้ชมเริ่มตระหนักทันทีว่าอนาคตของ interface บนคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนั้น Han กำลังแสดงรูปภาพโดยใช้ 2 นิ้วยืดรูปภาพให้เต็มหน้าจอ และทุกคนที่กำลังจ้องมองอยู่รู้สึกตื่นเต้นตามกันไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที

ในขณะที่ Jeff Han กำลังทำงานกับต้นแบบหน้าจอแบบ multitouch มีบริษัท startup ชื่อ FingerWorks ซึ่งกำลังทดลองระบบคล้ายๆ กันอยู่ ได้ถูก Apple เข้าซื้อกิจการไปแบบเงียบๆ เพื่อช่วยพัฒนาโปรเจค “Purple” ซึ่งก็คือ iPhone รุ่นแรกนั่นเอง

ตอนนั้น Ken Kocienda ได้เข้าร่วมงานกับ Apple ก่อนที่โปรเจค Purple จะเริ่มต้นได้ไม่นาน โดยแรกเริ่มทำงานกับเว็บเบราว์เซอร์ Safari ซึ่งเปิดตัวในปี 2003 Kocienda กล่าวถึงการสาธิต interface โปรเจค Purple เวอร์ชั่นแรกโดย Bas Ording นักออกแบบระดับตำนานของ Apple

โดยที่ผู้ใช้สามารถปัดหน้าจอเพื่อเลื่อนรายการที่ยาวๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่จะมีรูปแบบการกระดอนขึ้นมาเพื่อบอกว่ามันไปถึงจุดสิ้นสุดของหน้าจอนั้นๆ แล้ว

แม้ว่า interface ของ Project Purple จะดูว้าวเป็นอย่างมาก แต่มันก็มีข้อบกพร่องบางประการ โดยเฉพาะการใช้งานแป้นพิมพ์เสมือนบนหน้าจอขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากมากในยุคนั้น

ตอนนั้น BlackBerry กำลังเรืองอำนาจ มันเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการสื่อสารแบบพกพาด้วยรูปแบบของคีย์บอร์ดแบบกายภาพ (physical keyboard) การเสนอแนวคิดสุดล้ำของโปรเจค Purple เป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับแป้นพิมพ์เสมือน

หากต้องการพิมพ์ แป้นพิมพ์เสมือนจะเด้งขึ้นมาและผู้ใช้ต้องป้อนข้อความโดยแตะบนหน้าจอ แม้จะดูล้ำมากในตอนนั้น แต่ในทางปฏิบัติเรียกได้ว่าเป็นเรื่องหายนะ เนื่องจากขนาดของโทรศัพท์ หากผู้ใช้ต้องการแป้นพิมพ์เต็มรูปแบบด้วยตัวอักษร 26 ตัว แป้นพิมพ์เสมือนก็ต้องมีขนาดเล็กมาก ซึ่งเล็กจนนิ้วมนุษย์ไม่สามารถพิมพ์ได้อย่างแม่นยำ

ในช่วงแรกๆ Apple ได้มอบหมายให้ทีมงานเล็กๆ ทำงานกับแป้นพิมพ์เสมือนสำหรับโปรเจค Purple แต่เมื่อผ่านไปสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า Scott Forstall ผู้บริหารที่ดูแลโปรเจค Purple ในตอนนั้นก็จะเข้ามาทดสอบและลองใช้งานรุ่นล่าสุด พยายามพิมพ์ชื่อของตนเองด้วยแป้นพิมพ์เสมือน แต่ผ่านไปแต่ละสัปดาห์ มันก็ดูเหมือนยังไม่เวิร์ค

Kocienda กลายเป็นคนสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาของแป้นพิมพ์เสมือน เขาได้ค้นพบวิธีสุดเจ๋งในขณะที่กำลังเดินรอบๆ สำนักงานใหญ่ของ Apple เขาตระหนักว่าทุกครั้งที่ผู้ใช้พิมพ์คำบนแป้นพิมพ์เสมือน จะมีรูปแบบคำที่ต้องการอยู่แล้ว

Kocienda ได้แปลงคำในพจนานุกรม หลังจากนั้นก็ได้ปรับเป็นรูปร่างแบบเฉพาะตัวตามการจัดเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ เมื่อผู้ใช้พิมพ์ 3 ตัวอักษร ซอฟต์แวร์ก็จะดูตำแหน่งและจุด และทำการคาดเดาว่าตัวอักษรใดมีรูปร่างคล้ายคลึงกันมากที่สุด

หลังจากการประชุมมาราธอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ Apple ก็ได้จัดให้มีการรวมตัวของทีมงาน Project Purple ในห้องประชุมและทำการพรีเซนต์สิ่งสุดท้ายที่เรียกว่า “keyboard derby” ซึ่ง Scott Forstall จะทำการสาธิตให้ Steve Jobs ดู ด้วยการพิมพ์บนแป้นพิมพ์เสมือน

เบื้องหลังของซอฟต์แวร์ที่ Forstall พิมพ์มีการบันทึกการกดปุ่มหลายปุ่มพร้อมกัน ซึ่งหลังจากการแปลงตัวอักษรที่ดูสับสนวุ่นวายให้กลายเป็นแพทเทิร์น ข้อความบนหน้าจอก็เสกออกมาเป็น “Scott is my name” Kocienda สามารถเอาชนะความท้าทายนี้ได้สำเร็จ และผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะกลายเป็น iPhone ก็พร้อมที่จะเปิดเผยสู่สายตาโลก

แนวคิดของนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่างเป็นผลมาจากความร่วมมือกันในรูปแบบที่หลากหลาย เทคโนโลยี multitouch เริ่มต้นจากความก้าวหน้าทางกลไกไฟฟ้า การใช้คุณสมบัตินำไฟฟ้าของนิ้วมือมนุษย์ในการโต้ตอบกับพิกเซลบนหน้าจอ

หลังจากนั้นก็ใช้แนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบรูปแบบการใช้งานเพื่อจินตนาการถึงวิธีการต่างๆ ที่นิ้วมือของเราสามารถจัดการกับพิกเซลเหล่านี้ได้แบบเรียลไทม์ ความมหัศจรรย์ของการเลื่อนไปตามพื้นผิว การบีบหรือการแยก 2 นิ้วเพื่อย่อหรือขยายรูปภาพ ได้กลายเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลากหลายองค์กร

ตั้งแต่หน่วยงานรัฐบาลเช่นองค์การเรดาร์ของประเทศอังกฤษ สถาบันการศึกษาเช่น University of Kentucky และ New York University รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple

เมื่อ Steve Jobs เดินขึ้นบนเวทีในเดือนมกราคมปี 2007 และทำการสาธิตรูปแบบการใช้งานที่ราวกับถูกเสกขึ้นมาของ iPhone เป็นครั้งแรก ดูเหมือนว่ามันกลายเป็นหนึ่งในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยี

เบื้องหลังความเรียบง่ายที่ Steve Jobs ได้แสดงให้โลกเห็น ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม มันต้องใช้เวลาสร้างสรรค์มานานกว่า 50 ปีก่อนที่มันจะเสร็จสมบูรณ์บนฝ่ามือของ Steve Jobs

เทคโนโลยี multitouch ที่เราใช้กันทุกวันนี้ไม่ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เป็นการพุ่งทะยานของความคิดและนวัตกรรมที่ใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวอย่างช้าๆ ผ่านการทดลอง ล้มเหลว และความพยายามของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรมากมายจากทั่วโลก ก่อนจะมาอยู่ในมือของเราทุกคนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

References :
หนังสือ The One Device: The Secret History of the iPhone โดย Brian Merchant

Geek Daily EP276 : เด็กประถมจะกลายเป็นกองทัพ AI รุ่นใหม่ เมื่อจีนเร่งสปีดเด็กสู่สนามแข่งขัน AI โลก

จีนกำลังวางรากฐานอนาคตด้านเทคโนโลยีของประเทศผ่านการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มต้นที่โรงเรียนประถมศึกษา หรือกล่าวได้ว่า จีนกำลังสร้างผู้นำด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ตั้งแต่พวกเขายังวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น

ตั้งแต่ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โรงเรียนประถมและมัธยมทั่วปักกิ่งได้เริ่มบรรจุวิชาเอไอเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยจัดให้มีการเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา นี่หมายความว่าเด็กอายุเพียง 6 ขวบจะได้เรียนรู้วิธีการใช้แชทบอท เครื่องมือพื้นฐานทางเทคโนโลยี รวมถึงหลักจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/ye6vkcdx

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/55t5f9da

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/OBTbrjqz9hI

“ลีโอ” ตอกย้ำความสำเร็จการสื่อสารช่องทางออนไลน์ คว้ารางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยม Thailand Social Awards 3 ปีซ้อน

“ลีโอ” คว้ารางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมบนโซเชียลมีเดีย (Finalist Best Brand Performance on Social Media) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จากเวที Thailand Social Awards การันตีความสำเร็จของแบรนด์ที่สร้างการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เชื่อมโยงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

คุณวาระ โชตน์ธเนส ผู้จัดการฝ่าย Brand Management LEO บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียถือเป็นช่องทางเปิดรับข่าวสารหลักของคนรุ่นใหม่

ที่ผ่านมา “ลีโอ” ได้ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมโยงแบรนด์กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการสร้างแคมเปญและผลิต เนื้อหา (Content) ต่างๆบนสื่อโซเชียลมีเดียที่ตรงใจ โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นช่องทางการสื่อสารสำคัญในการเข้าถึง (Reach) และสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ของแบรนด์

พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ผ่านการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตในรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะเชื่อมโยงแบรนด์กับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้ปีนี้ลีโอสามารถคว้ารางวัลจากเวที Thailand Social Awards มาได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันในหมวดของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม

โดยในอีกมิติ ลีโอยังเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ หรือผู้สร้างสรรค์เนื้อหารายการต่างๆ เพื่อสื่อสารอย่างมี ประสิทธิภาพถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็น Official Account หรือเพจทางการของ แบรนด์ เช่น Facebook Official Page และ Youtube Leo Thailand ที่มีผู้ติดตามรวมกว่า 1 ล้านบัญชี

เพิ่มการรับรู้และทำแคมเปญสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค สร้างประสบการณ์ และการมี Engagement ร่วมกับแบรนด์ โดยเป็นการทำคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมดนตรีและกีฬา รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้ปล่อยของและแสดงออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ แบรนด์ด้วย เช่น แคมเปญ Leo Cover Club ที่นำศิลปินชื่อดังมาร้องเพลง Cover รวมถึงการประกวดทางดนตรี เป็นต้น

สำหรับ Thailand Social Awards เป็นงานประกาศรางวัลโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดของไทย จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 13 โดย บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเทคโนโลยีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลตลาด

มีการมอบรางวัลให้แก่แบรนด์และครีเอเตอร์ผู้ใช้โซเชียลมีเดียยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ รวมกว่า 300 รางวัล ใน 3 กลุ่มสาขาได้แก่ Best Brand Performance on Social Media, Best Content Performance on Social Media และ Best Creator Performance on Social Media โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแวดวงร่วมให้คะแนนตัดสินในเวทีนี้