Geek Talk EP70 : เปลี่ยนไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กับบทเรียนจากเอสโตเนียสู่การปฏิวัติการศึกษาด้วย AI

ในโลกของเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีประเทศเล็กๆ ในยุโรปที่ชื่อว่าเอสโตเนียที่สร้างปรากฏการณ์น่าทึ่ง ด้วยการมียูนิคอร์น (สตาร์ทอัพมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์) ต่อประชากรมากที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่เมื่อ 30 ปีก่อน ประเทศนี้เพิ่งได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตและมีระบบเศรษฐกิจที่แทบจะล่มสลาย

แล้วประเทศไทยล่ะ? มีศักยภาพที่จะเดินตามเส้นทางความสำเร็จของเอสโตเนียได้หรือไม่? คำตอบคือ “ได้” แต่ต้องมีการปฏิรูปที่เด็ดขาดและมีวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและเทคโนโลยี AI

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/78z6b6sd

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/3rp7uknt

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/zms566k4

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/RBuuqMnqT9Q

การกลับมาเกิดใหม่ของ HP! ทำไม CEO หญิงระดับเทพคนแรก ถึงพา HP เกือบล่มสลาย

ย้อนกลับไปช่วงปี 1939 HP ก่อร่างสร้างตัวจากบริษัทในโรงรถธรรมดาๆ แล้วค่อยๆ เติบโตจนได้รับการเทิดทูนว่าเป็นบิดาแห่ง Silicon Valley ความเทพของพวกเขาถึงขั้นผลิตอุปกรณ์ให้กับ Walt Disney ในยุค 40s

แต่จู่ๆ ทุกอย่างก็พลิกผัน เมื่อ CEO คนใหม่ก้าวเข้ามาทำลายบริษัท เธอกลายเป็นผู้บริหารที่ถูกเกลียดชังที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจ และทำให้หุ้น HP ดิ่งลงเหว พนักงานกว่า 30,000 คนต้องหางานใหม่

HP มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการเทคโนโลยี เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงการคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์มาอย่างยาวนาน

แต่พอถึงยุค 90s บริษัทเริ่มมีรอยร้าว พวกเขามีหน่วยธุรกิจถึง 83 หน่วย ต่างคนต่างทำงาน ซ้ำซ้อนกันไปหมด วัฒนธรรมองค์กรที่เคยเจ๋งกลับกลายเป็นอุปสรรค

พนักงานหวังโบนัสทั้งที่ผลงานไม่เข้าเป้า HP ที่เคยเป็นลูกพี่ในวงการนวัตกรรมกลับกลายเป็นระบบราชการยักษ์ใหญ่ที่ไม่ยอมปรับตัว และกำลังสูญเสียตลาดให้กับ Dell, IBM และ Apple

คณะกรรมการบริษัทมองหาคนที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อดึง HP กลับมาเทพเหมือนเดิม จุดนี้เองที่ Carly Fiorina เดินเข้ามารับตำแหน่ง CEO

Fiorina ไม่ใช่คนธรรมดา เธอสร้างชื่อที่ AT&T จนได้ฉายาว่าเป็น “นักขายที่โครตเทพที่สุดในวงการ” ผลงานเด็ดของเธอคือการนำบริษัท Lucent (แยกตัวจาก AT&T) ระดมทุนผ่าน IPO ได้มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้คนในวงการอ้าปากค้าง

ปี 1999 เธอได้รับตำแหน่ง CEO ของ HP ทำให้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งเก้าอี้ CEO ในบริษัท Fortune 20 แถมยังได้ค่าตอบแทนแรกเข้าที่สูงลิบลิ่ว

แต่มีจุดน่าสงสัยบางอย่างเพราะ Fiorina ไม่เคยเป็น CEO มาก่อนเลย แต่กลับมาบริหารบริษัทใหญ่ระดับโลก ทุกคนต่างกังวลว่าเธอจะรับมือไหวหรือไม่

ไม่นานหลังจากเข้ารับตำแหน่ง เธอประกาศแผนสุดล้ำ HP จะควบรวมกับ Compaq มูลค่ามหาศาล 25 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในตอนนั้น HP มีพนักงาน 84,400 คน ส่วน Compaq มี 63,700 คน การควบรวมครั้งนี้จึงใหญ่โตมโหฬาร

Fiorina เชื่อมั่นว่านี่คือกลยุทธ์ที่จะทำให้ HP แซงหน้าคู่แข่งในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่แผนนี้ถูกคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจาก Walter Hewlett ลูกชายผู้ก่อตั้ง HP

Walter Hewlett มองว่าการควบรวมจะนำไปสู่หายนะ พนักงานนับหมื่นจะต้องตกงาน แต่ Fiorina กลับเมินเฉย แถมยังดูถูก Hewlett ว่าเป็นแค่ “นักวิชาการและนักดนตรี” ในจดหมายที่ส่งถึงผู้ถือหุ้น

เรื่องราวกลายเป็นฉาวโฉ่เมื่อจดหมายนี้รั่วไหลสู่สื่อ ความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น กรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ท้ายที่สุด ด้วยคะแนนเสียงฉิวเฉียด การควบรวมได้รับการอนุมัติ แม้ Walter Hewlett จะพยายามสู้ในศาล แต่ก็แพ้ราบคาบ การควบรวมระหว่าง HP และ Compaq เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤษภาคม 2002

ช่วงแรก ทุกอย่างดูเข้าท่า HP กลายเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุดในโลก Fiorina ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่ารายได้ของบริษัทพุ่งทะยานจาก 42.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 1999 เป็น 86.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2005

แต่นี่เป็นแค่ภาพลวงตา ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากการรวมรายได้ของ Compaq เท่านั้น ความจริงแล้ว กำไรสุทธิของ HP ลดฮวบจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 1999 เหลือแค่ 2.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2005

Fiorina ไม่ได้รับความชื่นชมจากพนักงานเลย เธอได้รับฉายา “Chainsaw Carly” หลังจากสั่งเลิกจ้างพนักงาน 2,000 คนในช่วงวิกฤตเทค วิธีการสื่อสารของเธอก็น่าปวดหัว

ในการประชุมครั้งแรกกับผู้จัดการระดับสูง เธอกล่าวว่า “คุณต้องทำตามเป้า ไม่มีข้อแก้ตัว ถ้าทำไม่ได้ ฉันจะหาคนอื่นมาแทน”

ผลสำรวจพนักงาน 8,000 คนในปี 2001 แสดงให้เห็นความไม่พอใจที่ล้นหลาม ทั้งเรื่องการสื่อสารและการตัดสินใจ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจ เพราะก่อนหน้านี้ HP เคยได้คะแนนความพึงพอใจของพนักงานสูงลิบในวงการธุรกิจอเมริกา

ก่อนการควบรวม Fiorina บอกว่าพนักงาน HP 15,000 คนอาจต้องตกงาน แต่ตัวเลขจริงพุ่งเกิน 30,000 คน

แม้หลังจากควบรวมเสร็จสิ้น HP ก็ยังอ่วม พวกเขาเสียส่วนแบ่งตลาดในหลายอุตสาหกรรม แม้แต่ตลาดเครื่องพิมพ์ที่เคยเป็นจุดแข็งก็ถูก Dell รุกคืบ

บรรยากาศในบริษัทเละเทะไปหมด พนักงานบางคนถึงขั้นโห่ไล่ Fiorina ในการประชุม HP ต้องปิดกระดานข้อความภายในเพราะกลายเป็นลานประจานเธอ

ปี 2004 เป็นปีสุดท้ายของ Fiorina หุ้น HP สูญเสียมูลค่าไปครึ่งหนึ่ง เธอล้มเหลวในการรวมบริษัทและตัดสินใจผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับวงการเทคโนโลยี เพราะฟองสบู่ดอตคอมเพิ่งแตก แต่วิธีการของเธอก็มีข้อบกพร่องมากมาย

ในปี 2005 Fiorina ถูกไล่ออกจากตำแหน่ง CEO พร้อมเงินชดเชยมูลค่า 42 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงมากจนผู้ถือหุ้นหลายรายฟ้องร้อง

สองเดือนต่อมา Mark Hurd เข้ามารับตำแหน่ง CEO แทน เขาเป็นคนละขั้วกับ Fiorina โดยสิ้นเชิง ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ ไม่ให้สัมภาษณ์ ไม่เข้าร่วมงานใหญ่ๆ

เขาเริ่มต้นด้วยการใช้เวลาหนึ่งวันทำงานที่ร้าน Best Buy เพื่อเข้าใจว่าลูกค้ามองผลิตภัณฑ์ HP อย่างไร

ภายใต้การนำของ Hurd HP เปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดในปี 2006 ด้วยสโลแกน “The computer is personal again” เน้นตลาดคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดถึงปานกลาง

เขาปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ เน้นความรับผิดชอบและผลลัพธ์ แม้จะต้องเลิกจ้างพนักงานอีก 14,500 คน แต่เขาทำด้วยความเห็นอกเห็นใจมากกว่า

Hurd เคยพูดว่า “ผมไม่อยากลืมว่าเราได้บอกพนักงานจำนวนมากให้กลับบ้านไปบอกครอบครัวว่าไม่มีงานทำแล้ว” ความจริงใจนี้ทำให้พนักงานรู้สึกดีขึ้น

ภายในสองปีแรกของการบริหารงาน ราคาหุ้น HP เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า HP กลับมาแข่งขันในตลาดได้อีกครั้ง และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2007 รายได้ของ HP ทะลุ 100 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก

สัญชาตญาณของ Fiorina ในการควบรวมกับ Compaq ไม่ได้ผิดทั้งหมด มันทำให้ HP มีโอกาสครองตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่เธอล้มเหลวในการดำเนินการให้ราบรื่น

จุดอ่อนของเธอคือการไม่สามารถสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจให้พนักงานในการพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Hurd ทำได้ดีกว่ามาก

ปัจจุบัน แม้ HP จะผ่านการปรับโครงสร้างหลายครั้ง รวมถึงการแยกเป็นสองบริษัท แต่พวกเขายังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของอเมริกาด้วยส่วนแบ่งประมาณ 25%

Carly Fiorina เป็น CEO ที่แย่จริงหรือไม่? คำตอบคือใช่ เพราะ HP ไม่ได้สร้างความเป็นผู้นำขึ้นมา แต่ซื้อมันมาด้วยเงินมหาศาล และถ้า HP ยังอยู่ภายใต้การนำของเธอต่อไป ใครจะรู้ว่าทุกอย่างจะพังทลายเร็วแค่ไหน

แต่เธอไม่ได้เป็นคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ คณะกรรมการที่เลือกเธอก็มีส่วน การสัมภาษณ์เธอไม่เคยมีกรรมการครบองค์ประชุม และพอเธอถูกไล่ออก ราคาหุ้นพุ่งขึ้นทันที 6.9% สะท้อนว่าทุกคนต่างโล่งอก

เรื่องราวของ HP สอนเราว่า แม้จะมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง แต่ถ้าขาดทักษะการบริหารและไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็อาจกลายเป็นหายนะที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน

Geek Story EP315 : วิกฤติ Tesla ที่มีโอกาสรอดแค่ 10% 10 ปีแห่งการต่อสู้ของ Elon Musk เมื่อความฝันต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ

ใครจะเชื่อว่าโลกของเราจะเปลี่ยนไปขนาดนี้ จากที่เคยเห็นแต่รถน้ำมันวิ่งกันเกลื่อนถนน วันนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว และบริษัทที่กำลังรังสรรค์การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ Tesla

แต่เส้นทางของ Tesla ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Elon Musk เคยบอกว่าตอนเริ่มต้น Tesla กับ SolarCity เขาคิดว่าทั้งสองบริษัทจะดับสูญ โดยเฉพาะ Tesla ที่มีโอกาสรอดแค่ 10% เท่านั้น

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/yc2f5d6k

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/yvu836sy

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/4f4much2

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/IdqdyIOV18o

เมื่อส่วนลด ‘ฆ่า’ ธุรกิจ บทเรียนธุรกิจจากเว็บไซต์ Groupon เมื่อการเติบโตไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

หากใครยังจำกันได้กับยุคที่ Groupon หรือเว็บในไทยอย่าง Ensogo เคยเป็นเว็บไซต์ที่ฮอตฮิตสุดๆ ที่เสนอดีลส่วนลดสุดเจ๋ง ตั้งแต่ลดร้านอาหาร โรงแรม สปา ฯลฯ ปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่ดังไปทั่วโลกออนไลน์

Groupon ถือกำเนิดขึ้นในปี 2008 ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา และภายในปี 2010 ก็ขยายบริการไปถึง 150 เมืองในอเมริกาเหนือ และอีก 100 เมืองในยุโรป การเติบโตที่รวดเร็วนี้ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจในธุรกิจรูปแบบนี้

ปี 2015 ถือเป็นจุดพีคของ Groupon เมื่อพวกเขาเปิดให้บริการมากกว่า 500 เมืองทั่วโลก และมีลูกค้าประจำที่ใช้งานถึง 48.1 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นยุคทองที่ Groupon เป็นที่เชิดหน้าชูตาในวงการธุรกิจออนไลน์เลยทีเดียว

ย้อนกลับไปในปี 2006 Andrew Mason ซึ่งตอนนั้นเรียนวิชาเอกดนตรีอยู่ ได้ดูแลเว็บไซต์ชื่อ Policy Tree ที่แบ่งปันมุมมองทางการเมืองในประเด็นต่างๆ แต่ชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

มกราคม 2007 Mason เริ่มทำงานในบริษัทที่มีแนวคิดเป็นกิจการเพื่อสังคมของ Eric Lefkofsky ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในวงการธุรกิจ

แนวคิดนี้มีชื่อว่า “The Point” ซึ่งตั้งใจจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้ผู้คนแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่บริษัทที่จะสร้างมูลค่าพันล้าน แต่เป็นเพียงโปรเจกต์ CSR ของบริษัทเท่านั้น

แต่ความคิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง Eric และ Mason สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ “ผู้ใช้บางคนพยายามใช้ประโยชน์จากอำนาจต่อรองแบบกลุ่ม” นี่คือความคิดที่จะพลิกโชคชะตาของพวกเขา

Eric จึงตัดสินใจสั่งให้แยกเพจใหม่และโฟกัสไปที่การซื้อแบบกลุ่ม การปรับแนวคิดนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าสนใจ ผู้ใช้เริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อซื้อของในราคาที่ถูกลง

Eric เห็นโอกาสทองจึงให้เงินทุน 1 ล้านเหรียญแก่ Mason เพื่อพัฒนาแนวคิดการซื้อแบบกลุ่มต่อไป และนี่คือจุดกำเนิดของ Groupon (มาจากคำว่า Group และ Coupon)

บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 16 เดือนเท่านั้น กลายเป็นยูนิคอร์นที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคนั้น ความเจ๋งของแนวคิดนี้ทำให้ในปี 2010 Groupon ถึงกับปฏิเสธข้อเสนอมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์จาก Google

ต้องบอกว่าช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจอเมริกายังบอบช้ำจากวิกฤติ hamburger crisis ในปี 2008 ทำให้โซลูชั่นใหม่ๆ อย่าง Sharing Economy ที่เปิดโอกาสให้คนหารายได้พิเศษอย่าง AirBNB หรือ Uber เป็นเรื่องที่เข้าท่ามากๆ

โมเดลแบบ Daily Deal ที่เปลี่ยนค่าโฆษณามาเป็นส่วนลดให้ลูกค้าอย่าง Groupon สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองได้เป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ความสำเร็จนี้ทำให้บริษัทมุ่งหน้าสู่การทำ IPO ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2011 ซึ่งในช่วงที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานสูงสุด Groupon มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดในยุคนั้น

แต่แล้วเพียงปีเดียวหลังจากนั้น ในปี 2012 มูลค่าของ Groupon หายไปถึง 80% นับตั้งแต่ IPO ปัญหาแรกที่พวกเขาเจอคือเรื่องของบัญชีที่เริ่มถูกจับตามองโดย ก.ล.ต. ของสหรัฐ

มีการใช้เมตริกการบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน คล้ายๆ กับกรณีของ WeWork ที่มีการตบแต่งตัวเลขให้สวยงามเพื่อทำ IPO

โดยพื้นฐานแล้ว Groupon ไม่ได้กำไรมากอย่างที่แสดงในบัญชีงบดุลของบริษัท ซึ่งเดิมรายงานไว้ที่ 60.6 ล้านดอลลาร์ในปี 2010 ก่อนการทำ IPO แต่เมื่อใช้การวัดทางบัญชีที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น กลับเปลี่ยนจากกำไรเป็นขาดทุนจากการดำเนินงาน 420 ล้านดอลลาร์ทันที

ปัญหาใหญ่ที่สุดของ Groupon คือโมเดลธุรกิจของพวกเขานั้นเลียนแบบได้โครตง่าย แม้แต่เด็กจบใหม่ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้างเว็บไซต์คูปองได้แบบสบายๆ ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

ไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ใดๆ ที่เป็นของแท้ พวกเขาเพียงแค่เป็นเจ้าแรกในตลาดเท่านั้น แต่คู่แข่งสามารถก๊อปปี้แล้วเข้ามาตีตลาดได้อย่างรวดเร็ว

อย่าง ensogo ในประเทศไทยก็ใช้แนวคิดเดียวกัน เพียงลอกเลียนจาก Groupon มาแบบง่ายๆ เปิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สุดท้ายก็ต้องขายให้กับ LivingSocial ไปในปี 2011 เพราะการแข่งขันที่รุนแรง

Groupon พยายามหลายครั้งที่จะ pivot ธุรกิจของตัวเอง เช่น การร่วมมือกับผู้จำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตและสร้างบริการที่ชื่อ Groupon Live แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง

หรือบริการอย่าง Groupon Goods ที่พยายามเป็นเวทีสำหรับผู้ขายในการขายสินค้าที่จับต้องได้ คล้ายๆ กับ eBay แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันกับผู้นำตลาดที่มีอยู่แล้วได้

พวกเขายังเข้าไปลุยในธุรกิจบริการจัดส่งอาหารด้วยการซื้อกิจการของ OrderUp ซึ่งในยุคนั้นมองว่าเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใส คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์

แต่ก็เหมือนเดิม เมื่อมีเจ้าใหญ่ในตลาดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Seamless/GrubHub หรือ Delivery.com ไม่มีเหตุผลใดที่ลูกค้าจะเปลี่ยนมาใช้บริการของ Groupon ทำให้พวกเขาต้องเจ็บปวดกับการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเอาซะเลย

เมื่อธุรกิจขยายต่อไปไม่ได้ เนื่องจากพื้นฐานทางธุรกิจที่อ่อนแอ ก็มีความพยายามไล่ Mason ออกในปี 2013 หลังจากไม่สามารถรักษาผลกำไรของบริษัทได้อีกต่อไป

ความสับสนวุ่นวายภายใน ปัญหาทางการเงิน และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ Groupon ไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกเลยในทศวรรษต่อมา

ปัจจุบัน มูลค่าของบริษัทลดลงจากจุดสูงสุดเหลือแค่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับจุดสูงสุดที่ 30,000 ล้านดอลลาร์ เป็นการเดินทางย้อนกลับที่ไกลมากๆ

แม้ว่าบริษัทจะยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็กลายเป็นเพียงธุรกิจธรรมดาที่ไม่มีโอกาสก้าวไปไกลกว่านี้ได้อีกแล้ว เพราะการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงและโมเดลธุรกิจที่ล้าสมัย

Groupon เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากๆ สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ Startup ในยุคถัดไป เมื่อการเติบโตแบบเว่อร์ๆ ในช่วงแรกที่ไม่มีการควบคุม มาบรรจบกับแนวคิดผลิตภัณฑ์ที่ไร้ซึ่งนวัตกรรม

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จาก Groupon คือการที่บริษัทเติบโตเร็วเกินไปโดยไม่มีพื้นฐานที่แข็งแรงรองรับ เหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขาที่สุดท้ายต้องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

การมีโมเดลธุรกิจที่คนอื่นลอกเลียนได้ง่ายโดยไม่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืน ทำให้ไม่สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดได้นาน และต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง

อีกทั้งการฝ่าฝันต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจหลายครั้ง แต่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ Groupon ไม่สามารถหลีกหนีจากการเป็นเพียงแพลตฟอร์มส่วนลดธรรมดาๆ

ในที่สุด Groupon ก็กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะเริ่มต้นด้วยกลีบกุหลาบ แต่หากไม่มีนวัตกรรมและความยั่งยืนทางธุรกิจ ก็อาจจบลงด้วยความล้มเหลว

ทุกวันนี้ หากใครถามว่า Groupon ยังอยู่ไหม คำตอบคือยังอยู่ แต่ไม่ได้เป็นที่น่าจดจำอีกต่อไป เส้นทางของ Groupon จึงเป็นกรณีศึกษาที่ล้ำค่าสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและมีคุณค่าในระยะยาวนั่นเองครับผม

ทำไม BlackBerry ถึงหายไป? จากตำนานสู่ความล่มสลาย เมื่อความมั่นใจทำลายทุกอย่าง

เรื่องราวของ BlackBerry เริ่มต้นในปี 1984 ที่เมืองวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา เมื่อนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าสองคนคือ Mike Lazaridis และ Douglas Fregin ก่อตั้งบริษัท Research In Motion หรือ RIM

ด้วยเงินเพียงหมื่นกว่าดอลลาร์ พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจจากห้องใต้ดินของศูนย์การค้าท้องถิ่น มีความฝันที่จะรังสรรค์เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายให้ดีขึ้น

ในช่วงแรก บริษัทรับจ้างพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป แต่แล้วพวกเขาก็ถูกสะกิดด้วยพลังของการสื่อสารไร้สาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีเพจเจอร์ที่กำลังบูมสุดๆ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ Jim Balsillie เข้ามาเป็นผู้บริหารในปี 1995 พร้อมเงินลงทุนกว่าสองแสนห้าหมื่นดอลลาร์ เขาเสริมความเจ๋งด้านธุรกิจให้กับความโหดด้านเทคโนโลยีของ Mike

ปี 1999 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นยุคทองเมื่อบริษัทเปิดตัว BlackBerry 5810 อุปกรณ์ที่รวมพลังของเพจเจอร์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องรับส่งอีเมลไว้ในเครื่องเดียว ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เทพมาก ๆ ในยุคนั้น

ชื่อ “BlackBerry” มาจากปุ่มกดบนแป้นพิมพ์ QWERTY ที่มีลักษณะคล้ายผลแบล็คเบอร์รี่ แป้นพิมพ์นี้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความนิยมให้กับแบรนด์

BlackBerry มีความเจ๋งทางเทคโนโลยีหลายอย่าง ระบบบีบอัดข้อมูลของพวกเขาโหดมาก ใช้แบนด์วิดธ์น้อยกว่าคู่แข่งถึง 50 เท่า ทำให้ส่งอีเมลได้เร็วแบบกระฉูด

ด้านการตลาด ทีมขายของ BlackBerry ใช้กลยุทธ์แบบกองโจร พวกเขาไปตามงานประชุมธุรกิจและแจก BlackBerry ให้ผู้บริหารทดลองใช้ฟรี 30 วัน ผลคือคนใช้แล้วติดงอมแทบไม่อยากส่งคืน

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 BlackBerry พุ่งแรงแบบฉุดไม่อยู่ รายได้เพิ่มจาก 85 ล้านเป็น 3 พันล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 7 ปี แฟนๆ เพิ่มจาก 2 ล้านเป็น 12 ล้านคน

BlackBerry กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่และความสำเร็จ ถึงขั้นได้ฉายาว่า “CrackBerry” เพราะผู้ใช้ติดงอมจนเหมือนเสพติด แม้แต่ Barack Obama ยังถวิลหาและต่อสู้เพื่อให้ได้ใช้มันต่อหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

แล้ววันที่ 9 มกราคม 2007 ก็มาถึง Steve Jobs ขึ้นเวทีที่ Macworld และเปิดตัว iPhone อุปกรณ์ที่รวมทั้งโทรศัพท์ เครื่องเล่น iPod และอินเทอร์เน็ตไว้ในเครื่องเดียว

Mike Lazaridis ดูการนำเสนอแล้วบอกว่า “มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้บริการเว็บเต็มรูปแบบบนมือถือ เครือข่ายรองรับไม่ไหวหรอก” คำพูดนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพา Blackberry ดำดิ่งลงเหวอย่างไม่รู้ตัว

แม้ Mike จะพูดถูกว่า iPhone รุ่นแรกมีปัญหาเยอะ แต่เขาประเมิน Apple ต่ำเกินไป Apple แก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว และเพียงสองปี iPhone ก็สร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการสมาร์ทโฟน

BlackBerry ตอบสนองช้าและผิดทิศทางแบบสุดๆ ผู้บริหารมองว่า iPhone เป็นแค่แฟชั่นชั่วครู่ Jim Balsillie ถึงกับทะลึ่งประกาศว่า “iPhone อาจมีแอป 300,000 แอป แต่แอปเดียวที่คุณต้องการคือเบราว์เซอร์”

เมื่อสายตาผู้บริหาร BlackBerry เริ่มมองเห็นภัยคุกคาม พวกเขาก็ตอบโต้ด้วยการออกโทรศัพท์ที่มีหน้าจอใหญ่ขึ้น แต่ยังคงยึดติดกับแป้นพิมพ์ QWERTY ที่ยังยึดติดกับแนวคิดเดิม ๆ

BlackBerry Storm ในปี 2008 เป็นความพยายามแรกในการทำโทรศัพท์หน้าจอสัมผัส แต่เละไม่เป็นท่า มีปัญหาทั้งซอฟต์แวร์และการใช้งานที่ห่วยแตกสิ้นดี

ในขณะเดียวกัน Google ก็เปิดตัว Android ในปี 2008 เป็นระบบที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างให้ผู้ผลิตโทรศัพท์ ยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung, HTC และ Motorola เริ่มผลิตโทรศัพท์ Android ท้าชน iPhone ด้วยราคาที่ถูกกว่า

ภายในเวลาเพียงสองปี BlackBerry ร่วงจากตำแหน่งผู้นำตลาดลงมาอยู่อันดับสาม ส่วนแบ่งตลาดลดฮวบจาก 20% เหลือแค่ 5% มีปัญหาใหญ่หลายอย่างที่ทำให้บริษัทพังทลาย

หนึ่งในปัญหาสำคัญคือระบบนิเวศของแอป ในขณะที่ App Store ของ Apple และ Google Play Store มีแอปหลักแสน แต่ฝั่ง BlackBerry App World มีแอปแค่หลักพัน

ผู้ใช้เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม พวกเขาไม่ต้องการแค่ส่งอีเมลได้เท่านั้น แต่ต้องการเล่นเกม ดูวิดีโอ และใช้โซเชียลมีเดียและ BlackBerry ไม่สามารถตอบโจทย์พวกนี้ได้ดีเท่า iPhone และ Android

ในปี 2010 BlackBerry พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการซื้อบริษัท QNX Software Systems เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ BlackBerry 10 เปิดตัวในปี 2013 พร้อมโทรศัพท์รุ่น Z10 ที่มีหน้าจอสัมผัสเต็มรูปแบบ

แต่การเปลี่ยนแปลงนี้มาช้าเกินกว่าจะเยียวยาอะไรได้ นักพัฒนาไม่สนใจพัฒนาแอปสำหรับแพลตฟอร์มใหม่ เพราะฐานผู้ใช้มีน้อยเกินไป เหมือนถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ

ในปี 2015 BlackBerry ยอมแพ้ด้วยการออกโทรศัพท์ Priv ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เป็นครั้งแรก แม้จะพยายามรักษาแป้นพิมพ์ QWERTY ไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ BlackBerry หมดความเป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นเพียงผู้ผลิตโทรศัพท์ Android อีกรายในตลาด

ในปี 2016 BlackBerry ประกาศยุติการผลิตโทรศัพท์มือถือ และหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการด้านความปลอดภัย พวกเขาให้ลิขสิทธิ์การผลิตโทรศัพท์แก่บริษัทอื่น และปลุกปั้นธุรกิจใหม่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

ปัจจุบัน BlackBerry ฟื้นตัวและสร้างความสำเร็จในฐานะบริษัทซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย โดยให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ อุปกรณ์ IoT และองค์กรต่างๆ แม้จะไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคทั่วไปเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็มีกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

เรื่องราวของ BlackBerry เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับธุรกิจยุคดิจิทัล ความสำเร็จอาจทำให้เราหลงระเริงและมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา

BlackBerry ประเมินคู่แข่งต่ำเกินไป ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด และยึดติดกับความสำเร็จในอดีต พวกเขาไม่รับฟังเสียงผู้บริโภคที่ต้องการอะไรมากกว่าแค่อีเมล

นอกจากนี้ ความสำเร็จในอดีตไม่ได้รับประกันอนาคต BlackBerry หยุดสร้างนวัตกรรมเมื่อถึงจุดสูงสุด ในขณะที่คู่แข่งยังเดินหน้าพัฒนาต่อไป

และที่สำคัญ ในโลกสมาร์ทโฟน ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับฮาร์ดแวร์อย่างเดียว แต่ต้องมีระบบนิเวศของแอปและบริการที่แข็งแกร่ง BlackBerry พลาดโอกาสในการสร้างระบบนิเวศที่ดึงดูดนักพัฒนา

เรื่องราวของ BlackBerry ชวนให้คิดว่าแม้แต่ยักษ์ใหญ่ก็ล้มได้ถ้าไม่ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกัน การล้มไม่ใช่จุดจบ BlackBerry สามารถฟื้นตัวและค้นพบโอกาสใหม่ในรูปแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วเหมือนทุกวันนี้ การปรับตัวคือหัวใจสำคัญของการอยู่รอด ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เราต้องมีใจที่เปิดกว้างและพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา