Geek Talk EP66 : เมื่อสหรัฐฯ เตรียมเทยูเครน การหย่าร้างครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนชะตาโลกตะวันตก

การแยกทางไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อความสัมพันธ์นั้นเติบโตมาจากความร่วมมือที่ลึกซึ้งและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เหตุการณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าการแยกทางระหว่างสหรัฐอเมริกากับยูเครนกำลังดำเนินไปอย่างเจ็บปวดและยากลำบากเป็นพิเศษ

การประชุมความมั่นคงมิวนิก (Munich Security Conference) ครั้งที่ 61 ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ณ ประเทศเยอรมนี เป็นเวทีที่ผู้นำโลกและนักการทูตระดับสูงมารวมตัวกันประจำปีเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงระดับโลกที่สำคัญ แต่ปีนี้ ไม่ใช่สงครามใหม่หรือภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มีการพูดคุยกันในการประชุม แต่เป็นเรื่องของสหรัฐอเมริกาและทิศทางนโยบายใหม่ของพวกเขา

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/3wxv2v3t

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/yc29vuab

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/3sjuudxy

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/WCh4SdOBD4k

ค่าเปลี่ยนแบต EV จะถูกกว่าซ่อม ICE กับเหตุว่าทำไมรถยนต์ EV จะกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ราคาแบตเตอรี่ที่แพงลิบลิ่วเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่บูมเต็มที่ในบ้านเรา ทั้งราคารถที่ตกเร็วเอามาก ๆ และความกังวลเรื่องค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถมือสองที่หมดประกันไปแล้ว แต่ถึงเวลาวางใจได้แล้ว เพราะยุคที่ต้องกลัวเรื่องค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่สุดโหดกำลังจะสิ้นสุดลง

Goldman Sachs ได้ออกรายงานล่าสุดระบุว่า ภายในปี 2026 ราคาแบตเตอรี่จะลดฮวบเหลือเพียง 80 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (KW-h) ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีมาก ๆ เพราะเป็นราคาแค่ครึ่งเดียวของราคาในปี 2023 และนี่คือการลดราคาลงเกือบครึ่งในเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น

ข่าวดีนี้ไม่ได้ส่งผลดีแค่เรื่องความสามารถซื้อรถ EV ได้ง่ายขึ้น แต่ยังดีต่อโครงการด้านพลังงานและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนด้วย ด้วยราคาแบตที่ลดลงอย่างมหาศาล ราคารถ EV ใหม่จะเทียบเท่ารถยนต์น้ำมันภายในปี 2026 ( *** ข้อมูลเป็นในตลาดสหรัฐอเมริกา เพราะในไทยตอนนี้เหมือน EV จะราคาถูกกว่ารถน้ำมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว)

แต่ความเจ๋งจริง ๆ อยู่ที่ตลาดรถ EV มือสองและการเปลี่ยนแบตเตอรี่ต่างหาก ข้อเท็จจริงที่คนมักลืมคือ คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อรถใหม่

ทั้งรถน้ำมันหรือรถไฟฟ้า ราคาขายปลีกที่แนะนำ (MSRP) นั้นสูงปรี๊ดเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่อยากควักเงินจ่าย ทำให้ประมาณ 75% ของผู้ซื้อต้องหันไปหารถมือสองแทน

ความกังวลใหญ่สุดของคนซื้อรถ EV มือสองคือสุขภาพแบตเตอรี่ และความกลัวค่าเปลี่ยนแบตฯ ที่อาจทำให้กระเป๋าฉีก (แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยก็ตาม)

แต่สถานการณ์กำลังจะถึงจุดเปลี่ยน เมื่อราคาแบตถีบตัวลง การเปลี่ยนชุดแบตเตอรี่จะกลายเป็นเรื่องจับต้องได้ ซึ่งอีกไม่นานการเปลี่ยนชุดแบตเตอรี่จะมีราคาถูกกว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปซะอีก

ยิ่งไปกว่านั้น ต่างจากรถยนต์น้ำมันที่มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่เป็นร้อย ซึ่งมักก่อปัญหาเมื่อใช้งานไปนาน ๆ รถ EV มีชิ้นส่วนเคลื่อนที่น้อยกว่ามาก ทำให้สึกหรอช้ากว่าด้วย

อีกอย่างที่ต้องย้ำคือ การเปลี่ยนแบตเตอรี่เกิดขึ้นน้อยมาก และส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การรับประกันพิเศษที่คุ้มครอง 8 ปีหรือระยะทาง 100,000 ไมล์ (ประมาณ 160,000 กิโลเมตร) หรือมากกว่า อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนโดยทั่วไปยาวนานถึง 200,000 ไมล์ (ประมาณ 322,000 กิโลเมตร) หรือมากกว่าเลยทีเดียว

รายงานล่าสุดของ Goldman Sachs เมื่อตุลาคม 2024 ประเมินว่าราคาชุดแบตเตอรี่ในปี 2030 จะอยู่ที่ 64 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการคาดการณ์อื่น ๆ ตัวเลขนี้ถือว่าสูงไปหน่อย

ย้อนไปเมื่อมกราคม 2024 RMI ผู้นำในวงการนี้ประเมินราคาเซลล์แบตเตอรี่ในปี 2030 ไว้ที่ 32-54 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือ 45-65 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงสำหรับชุดแบตเตอรี่ครบชุด

แต่เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2024 ที่ผ่านมานี้เอง CATL เริ่มเสนอขายเซลล์แบตเตอรี่ LFP ในราคาต่ำเพียงแค่ 56 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ BYD ก็ตามมาติด ๆ

Clean Energy Associate ยังคาดการณ์ว่าตลาดโลกสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีอุปทานล้นตลาดไปจนถึงปี 2028 นั่นหมายถึงราคาจะดิ่งลงยิ่งกว่าที่คาดการณ์ไว้อีก

Daan Walter ผู้เชี่ยวชาญในวงการและผู้เขียนรายงานของ RMI บอกว่าราคา 35 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่ดู make sense แม้จะเป็นการมองโลกในแง่ดีสำหรับราคาเซลล์ในปี 2030

นั่นทำให้ราคาชุดแบตเตอรี่ครบชุดจะอยู่ที่หรือต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง สำหรับชุดแบตขนาดยักษ์ 100 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ค่าเปลี่ยนอาจอยู่ที่ 4,500-5,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 150,000 – 167,000 บาท) หรือ 3,375 ดอลลาร์ (ประมาณ 113,000 บาท) สำหรับชุดแบตมาตรฐาน 75 กิโลวัตต์-ชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2030 ผู้บริโภคจะสามารถชดเชยค่าเปลี่ยนชุดแบตเตอรี่ได้ด้วยการขายแบตเตอรี่เก่าในตลาดมือสองที่จะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในปัจจุบัน เวลาที่คนขับรถ EV ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ (ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก) ศูนย์บริการมักจะยึดชุดแบตเตอรี่เก่าไว้เลย พวกเขาจะเอาไปปรับปรุงและขายต่อ หรือขายให้บริษัทที่นำแบตเตอรี่เก่าไปใช้ซ้ำสำหรับเก็บพลังงานหรือเป็นแหล่งพลังงานสำรอง

แต่ด้วยจำนวนแบตเตอรี่รถ EV ที่เก่าขึ้นบวกกับตลาดแบตมือสองที่กำลังบูม นั่นหมายความว่าภายในปี 2030 ลูกค้าจะสามารถต่อรองขายชุดแบตเตอรี่ของตัวเองได้ ซึ่งช่วยลดราคาแบตใหม่ลงได้ถึง 10-20 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทเคมี, การจัดวาง และคุณภาพ

สรุปง่าย ๆ คือ: รถ EV ที่อายุมากกว่า 10 ปีจะไม่กลายเป็นเศษเหล็กไร้ค่าอีกต่อไป ใครที่อยากได้รถ EV แต่ยังไม่มีเงินมากพอ จะสามารถซื้อรถ EV ราคาไม่แพงและเปลี่ยนชุดแบตเตอรี่ได้ด้วยเงินแค่ไม่กี่พันดอลลาร์เท่านั้น

ถ้าเปรียบเทียบราคาแบตเตอรี่ลิเธียมที่ดิ่งลงกับราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดสหรัฐฯ ที่คงที่ คุณจะเข้าใจว่าทำไมรถ EV จะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ

ราคาชุดแบตเตอรี่กำลังร่วงลงด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น โดยแบ่งได้เป็นสามส่วนหลักตามที่ RMI อธิบาย:

  1. เคมีภัณฑ์ที่ถูกลง เช่น LFP
  2. ชุดแบตเตอรี่ที่มีความหนาแน่นพลังงานสูงขึ้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากขึ้น
  3. การรีไซเคิลและการนำวัสดุที่ขุดมาใช้ซ้ำ ซึ่งประหยัดกว่าการขุดแร่ใหม่อย่างเทียบไม่ติด

รายงานของ Goldman ยังเสริมอีกว่าราคาจะดิ่งลงอย่างต่อเนื่องเพราะ:
“การลดลงของราคาโลหะที่ใช้ในแบตเตอรี่ ซึ่งรวมถึงลิเธียมและโคบอลต์ โดยเกือบ 60% ของต้นทุนแบตเตอรี่มาจากโลหะ ประมาณ 40% ของการลดลงมาจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต่ำลง”

เมื่อเรามองไปถึงปลายทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่รถ EV ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะหมดระยะประกัน การเปลี่ยนแบตเตอรี่ไม่ควรจะทำให้เจ้าของรถต้องสะพรึงกลัวอีกต่อไป

ความจริงคือ ไม่เพียงแต่แบตเตอรี่จะทนทานและมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าที่คนกลุ่ม anti EV มักจะมโนกันไว้ แต่ยังจะมีราคาถูกในการเปลี่ยน และสามารถนำแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพเล็กน้อยไปใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีกด้วย

สำหรับคนไทยที่กำลังมองหารถ EV ราคาที่ลดลงของแบตเตอรี่นี้เป็นข่าวดี เพราะหมายความว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานของรถ EV จะถูกกว่ารถน้ำมันอย่างแน่นอน

ตลาดรถ EV มือสองก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะความกังวลเรื่องค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับคนที่กำลังมองหารถ EV ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่หรือรถมือสอง เพราะอย่างที่บอกไป ราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนตลอดอายุการใช้งานของรถ EV คุ้มค่ากว่าที่เคยเป็นมา

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถ EV อยู่แล้ว หรือกำลังจะเป็น หรือแม้แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลนี้ล้วนเป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจในอนาคต การลดลงของราคาแบตเตอรี่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง

Geek Talk EP65 : ทำไม Warren Buffett ถึงขายหุ้น BYD? สัญญาณเตือนหรือโอกาสทองของนักลงทุน

ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังหาทางรับมือกับความผันผวนของตลาด มีนักลงทุนคนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสท่ามกลางความวุ่นวาย นั่นคือ Warren Buffett ราชาแห่งการลงทุนที่มีชื่อเสียงในการมองการณ์ไกลและการตัดสินใจที่แม่นยำ

ในขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังสั่นคลอน Buffett กลับมองเห็นโอกาสในที่ที่คนอื่นมองข้าม เขาให้ความสนใจกับบริษัทจีนที่ในตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จัก นั่นคือ BYD บริษัทที่เริ่มต้นจากการผลิตแบตเตอรี่และกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า การตัดสินใจของ Buffett ที่จะลงทุน 232 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหุ้น 10% ในบริษัทที่หลายคนยังไม่รู้จักนั้น สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของเขา

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/37fe3x3b

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/52c24ud4

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/3jt5hcta

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/IL_2zid_CCA

The RAZR Effect เมื่อความสำเร็จกลายเป็นจุดเริ่มต้นความล่มสลายของ Motorola

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยปีก่อน มีธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ที่ก่อร่างสร้างตัวจากการผลิตวิทยุติดรถยนต์ กลายมาเป็นพี่ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมระดับโลก นั่นคือ Motorola ที่สร้างประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งวิทยุสื่อสารในสงครามโลกครั้งที่ 2 และส่งคำพูดแรกจากดวงจันทร์มายังโลก

ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 1928 เมื่อ Paul Galvin และน้องชายตั้งบริษัท Galvin Manufacturing ด้วยความฝันที่จะสร้างอุปกรณ์กำจัดแบตเตอรี่ แต่เมื่อธุรกิจที่หวังไว้ไม่เป็นไปตามที่คิด พวกเขาเห็นโอกาสในตลาดวิทยุติดรถยนต์ที่กำลังบูมสุดๆ

ปัญหาคือวิทยุในยุคนั้นมีสัญญาณรบกวนที่น่ารำคาญเวลาขับรถ Galvin จึงส่งทีมวิศวกรลุยแก้ปัญหานี้ จนในปี 1930 พวกเขารังสรรค์วิทยุติดรถยนต์รุ่นแรกที่ใช้งานได้จริง ตั้งชื่อว่า “Motorola” ตามเทรนด์การตั้งชื่อเครื่องเสียงที่ลงท้ายด้วย “ola” ในยุคนั้น

ความเจ๋งของ Motorola พุ่งทะยานในปี 1989 เมื่อพวกเขาปล่อยโทรศัพท์มือถือ MicroTAC ที่มีหน้าจอแสดงตัวเลข ซึ่งเป็นสิ่งที่โครตเทพสำหรับยุคนั้น แม้จะราคาโหดถึง 3,500 ดอลลาร์ แต่ก็กลายเป็นต้นแบบของโทรศัพท์พับทั้งหมดในอนาคต

ยุค 90s คือจุดพีคของ Motorola พวกเขาครองตลาดเพจเจอร์ 85% ทั่วโลก เงินทุนไหลเข้าบริษัทมากมาย แต่การแข่งขันก็เริ่มรุมเร้า Nokia จากฟินแลนด์เริ่มสยายปีก และอุปกรณ์ PDA ก็เริ่มกลายเป็นที่นิยม

แทนที่จะรีบพัฒนาโทรศัพท์ดิจิทัล Motorola กลับมโนว่าตัวเองจะเป็น StarLink ยุค 90s ด้วยโครงการ Iridium วางดาวเทียม 77 ดวงในวงโคจรต่ำ ลงทุนมหาศาลกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายมีคนใช้แค่ 20,000 ราย กลายเป็นธุรกิจที่เละเทะไม่เป็นท่า

การพังของ Iridium เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่แสงสว่างก็มาถึงในปี 2004 เมื่อทีมวิศวกรสุดเทพของ Motorola รังสรรค์ RAZR V3 โทรศัพท์พับที่บางเฉียบราวกับใบมีด ด้วยความหนาแค่ 13.9 มิลลิเมตร จัดว่าบางมาก ๆ ในยุคนั้น

สิ่งที่น่าตลกก็คือตอนแรกผู้บริหารไม่เชื่อมั่นใน RAZR V3 เลยด้วยซ้ำ มีการวางแผนจะขายแค่ 750,000 เครื่อง แต่พอวางขายที่ราคา 550 ดอลลาร์ กลับดังกระฉูดจนยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านเครื่อง แถมขายได้ยาวถึง 4 ปี ซึ่งโหดมากเพราะปกติโทรศัพท์รุ่นอื่นขายได้แค่ปีเดียวก็เยอะมากพอแล้ว

แต่ความสำเร็จของ RAZR V3 กลับกลายเป็นดาบสองคม ผู้บริหารลิงโลดกับกำไรจนละเลยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซ้ำร้ายยังไปจับมือกับ Apple สร้าง ROKR E1 โทรศัพท์เล่นเพลงที่ถูกจำกัดให้เก็บเพลงได้แค่ 100 เพลง สุดท้ายก็พังไม่เป็นท่า

ปี 2007 เป็นปีแห่งความเจ็บปวดรวดร้าวของบรรดาแบรนด์ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือดั้งเดิม iPhone เปิดตัวและกวาดยอดขายถล่มทลาย ขณะที่ Motorola ขาดทุน 149 ล้านดอลลาร์ใน 9 เดือน Samsung ถีบส่งพวกเขาร่วงจากอันดับ 2 ลงไปอันดับ 3 ของตลาดโลก

จุดพลิกผันที่ทำให้ Motorola ดิ่งลงเหวคือการเข้ามาของ Carl Icahn นักลงทุนฉายา “เพชฌฆาตบริษัท” ที่มีความแสบในการเข้าครอบงำกิจการแบบโหดเหี้ยม เขาซื้อหุ้น 5% แล้วบีบให้แยกบริษัท จนปี 2008 Motorola ขาดทุนทุบสถิติ 4.16 พันล้านดอลลาร์

สุดท้าย Motorola ถูกแบ่งเป็น Mobility และ Solutions ก่อนที่ Google จะซื้อ Motorola Mobility ไปในราคา 12.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ความจริงแล้ว Google แค่หมายปองเพียงแค่สิทธิบัตรของ Motorola เท่านั้น

ปัจจุบัน Motorola Mobility อยู่ภายใต้ชายคาของ Lenovo บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน ส่วน Motorola Solutions ยังคงทำธุรกิจด้านการสื่อสารและความปลอดภัย แต่ Motorola ในตำนานที่เรารู้จักกันนั้นได้มลายหายไปหมดสิ้นแล้ว

บทเรียนจากการล่มสลายของ Motorola มันชัดเจน ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีอนาคต พวกเขาพลาดท่าตั้งแต่โครงการ Iridium ที่เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ เสียเงินทุนมหาศาล จนไม่มีเงินสำรองพอที่จะฝ่าฟันวิกฤต

CEO Chris Galvin ที่สืบทอดธุรกิจจากครอบครัวก็มีส่วน ด้วยแนวคิดที่ว่า “โทรศัพท์มีไว้โทรอย่างเดียว” ทำให้พลาดโอกาสพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แถมยังยกยอปอปั้นตัวเองว่าทำนายความสำเร็จของ RAZR V3 ได้ ทั้งที่ตอนแรกไม่เชื่อมั่นในตัวมันเลย

RAZR V3 เองก็เปรียบเหมือนไก่ที่ออกไข่เป็นทองคำ แต่ผู้บริหารกลับตาลุกวาวกับกำไรระยะสั้น จนละเลยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น พอ iPhone มา ก็เหมือนถูกน็อค แทบไม่มีอาวุธอะไรจะสู้กับ Apple อีกต่อไปแล้ว

สุดท้าย การเข้ามาของ Carl Icahn ก็เหมือนชักศึกเข้าบ้าน เข้ามาทำการบีบให้มีการแยกบริษัท จนทำให้ Motorola ที่เคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงการต้องถึงคราล่มสลาย

วันนี้ แม้ชื่อ Motorola จะยังมีอยู่ แต่ความรุ่งเรืองในอดีตได้หายไปแทบจะหมดสิ้นแล้ว เหลือไว้แต่บทเรียนราคาแพงที่เตือนใจว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ล้มได้ หากไม่รู้จักปรับตัวและปล่อยให้ความสำเร็จบดบังวิสัยทัศน์ในอนาคต

ใครจะคิดว่าบริษัทที่ส่งเสียงมนุษย์คนแรกจากดวงจันทร์ จะจบลงด้วยการถูกกลืนกินโดยบริษัทเทคโนโลยีรุ่นใหม่จากประเทศจีน นี่คือตำนานของ Motorola ที่พิสูจน์ว่าในโลกธุรกิจ ไม่มีใครยิ่งใหญ่ตลอดกาล

ทำไมจีนถึงพ่ายแพ้สงครามชิป จากมิตรสู่ศัตรู ไขปริศนาความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ศึกชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยี

เรื่องราวที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ลึกลับซับซ้อนในอุตสาหกรรมชิป ที่กำลังขีดเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกเทคโนโลยี

ทุกอย่างเริ่มต้นในปี 2012 เมื่อ Zongchang Yu วิศวกรจีนที่ทำงานให้กับบริษัท ASML ผู้ผลิตเครื่องจักรสุดเทพสำหรับผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายเดียวของโลก ตัดสินใจลาออกเพื่อก่อตั้งบริษัทของตัวเองสองแห่งในสหรัฐฯ และจีน

แต่เรื่องกลับไม่จบแค่นั้น เมื่อทนายความของสหรัฐฯ และ ASML กล่าวหาว่า Yu แอบขโมยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเครื่องจักรติดตัวไปด้วย พร้อมกับชักชวนวิศวกรคนอื่นๆ มาร่วมงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนแบบลับๆ

ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1950 เมื่อวิศวกรอเมริกันรังสรรค์ชิปเซมิคอนดักเตอร์ชิ้นแรกที่มีทรานซิสเตอร์แค่ 4 ตัว นับจากนั้นการพัฒนาก็พุ่งทะยานแบบก้าวกระโดด Gordon Moore ผู้ก่อตั้ง Intel ถึงกับทำนายได้อย่างแม่นยำว่าพลังการประมวลผลของชิปจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปี

ในยุคแรก บริษัทผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ มีลูกค้าหลักคือรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น โดยนำไปใช้ในระบบนำทางยานอวกาศของ NASA และระบบขีปนาวุธ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์มาก เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการถอดรหัสลับและติดตามเรือดำน้ำโซเวียตในช่วงสงครามเย็น

แต่เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1960 บริษัทผู้ผลิตชิปเริ่มได้กลิ่นเงินจากตลาดผู้บริโภคทั่วไป จึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะประเทศเหล่านี้เป็นพันธมิตร

ตามกฎของ Moore ชิปรุ่นใหม่จะมีความเจ๋งกว่ารุ่นเก่าอย่างเห็นได้ชัด การล้าหลัง 5-10 ปีจึงหมายถึงการเสียเปรียบอย่างมโหฬาร ไม่นานประเทศพันธมิตรก็เริ่มพัฒนาบริษัทผู้ผลิตชิปของตัวเอง อย่าง Toshiba และ Samsung ที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากสหรัฐฯ ได้

จุดพีคเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990 เมื่อ TSMC ของไต้หวันกลายเป็นผู้เล่นระดับโครตเทพในการผลิตชิป จนบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่งต้องยกเลิกการผลิตเอง นี่หมายความว่าอุตสาหกรรมชิปต้องพึ่งพากันและกันมากขึ้นในทุกด้าน

แต่ในขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังผลักดันขีดจำกัดของเทคโนโลยีชิป จีนกลับดิ่งลงเหว นอกจากถูกสหรัฐฯ กีดกันแล้ว นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเก่งๆ ของจีนยังถูก เหมา เจ๋อตง ถีบส่งออกนอกประเทศในช่วงทศวรรษ 60-70 อีกด้วย

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงในทศวรรษ 1990 ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็เริ่มที่จะกลับมาเข้ารูปเข้ารอย สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกส่วนใหญ่ ทำให้จีนสามารถดึงดูดบริษัทผู้ผลิตชิปมาตั้งฐานการประกอบได้ จนกลายเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดการประกอบชิป

แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้กลับทำให้จีนต้องนำเข้าชิปมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจีนเริ่มตะหงิดใจเมื่อพบว่าพวกเขาต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดยพึ่งพาการนำเข้าชิปจากคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ด้วยความที่ต้องการจะพึ่งพาตนเอง รัฐบาลจีนจึงทุ่มเงินทุนมหาศาลให้กับบริษัทออกแบบและผลิตชิปในประเทศ พร้อมผลักดันให้ร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ ไม่นานจีนก็สามารถผลิตชิปรุ่นเก่าได้เองเกือบทั้งหมด แต่ก็ยังห่างไกลจากการผลิตชิปรุ่นใหม่อยู่หลายปี

ปัญหาคือมีเพียงไม่กี่บริษัทในโลกที่มีความสามารถผลิตชิปขั้นสูง และไม่มีบริษัทใดอยู่ในจีน เริ่มจากซอฟต์แวร์ออกแบบชิปที่มีแค่ 3 บริษัทจากสหรัฐฯ ตามด้วยเครื่องจักรที่ผลิตโดย ASML เพียงรายเดียว และสุดท้ายคือการผลิตชิปที่มีแค่บริษัทในไต้หวันและเกาหลีใต้เท่านั้น

นี่คือที่มาของกรณี Zongchang Yu ในปี 2019 แม้ตำรวจสหรัฐฯ จะพยายามจับกุมแต่ก็ไม่ทัน Yu หนีกลับจีนและกลายร่างมาเป็น CEO บริษัทที่ผลิตซอฟต์แวร์แข่งกับ ASML ได้ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน บริษัทของเขาก็โตแบบฉุดไม่อยู่

รัฐบาลจีนถูกมองว่าแอบให้การสนับสนุนการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เพราะรู้ดีว่าบริษัทของตนเสียเปรียบ แต่แผนการนี้กลับเป็นการชักศึกเข้าบ้าน

ความโกรธแค้นของสหรัฐฯ และพันธมิตรพุ่งสูงขึ้น พวกเขาเริ่มมองการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปของจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็เริ่มแตกหักมากขึ้น

ในปี 2018 รัฐบาล Trump ประกาศห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายส่วนประกอบให้ ZTE บริษัทเทคโนโลยีจีน ตามด้วยการแบนยักษ์ใหญ่อย่าง Huawei และบริษัทในเครือในปี 2019 ทำให้ ZTE เกือบล้มละลาย ส่วน Huawei ก็เละเทะไม่เป็นท่า

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก เมื่อในปี 2022 เมื่อประธานาธิบดี Joe Biden ลงโทษอุตสาหกรรมชิปจีนอย่างสาสม ด้วยการห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายชิปขั้นสูง รวมถึงห้ามบริษัทจีนใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์การผลิตจากสหรัฐฯ

มาตรการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจีนอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยมองว่าการค้าขายกันเป็นเรื่องดี กลายเป็นการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่ต้องเอาชนะให้ได้

สหรัฐฯ ยังอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าบริษัทผลิตชิปของตน และดึง TSMC ผู้ผลิตรายใหญ่จากไต้หวันมาสร้างโรงงานในประเทศ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างมองว่าอุตสาหกรรมชิปจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ

สถานการณ์ยิ่งรุมเร้าเมื่อพิจารณาความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 1949 จีนมองว่าไต้หวันเป็นจังหวัดที่แยกตัวออกไปและพร้อมจะใช้กำลังทหารเพื่อรวมชาติ ในขณะที่สหรัฐฯ ประกาศจะปกป้องไต้หวัน ที่บังเอิญเป็นจุดคอขวดสำคัญในห่วงโซ่อุปทานชิปโลก

ไต้หวันครองการผลิตชิปถึง 63% ของตลาดโลก และที่โหดสุดคือครองการผลิตชิปขั้นสูงถึง 92% การที่บริษัทไต้หวันสำคัญต่อทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้พวกเขามีไพ่ในมือ แต่การควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ก็บีบให้ต้องเลือกข้าง

จนถึงตอนนี้ บริษัทไต้หวันส่งสัญญาณว่าจะเชื่อฟังสหรัฐฯ และตัดการขายชิปให้จีน แต่ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจทวีความรุนแรง การตัดสินใจเช่นนี้จะกดดันให้ประเทศและบริษัทต่างๆ ทั่วโลกต้องเลือกข้างในสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกเทคโนโลยี

ดูเหมือนว่าสงครามชิปครั้งนี้จะยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็พร้อมที่จะฝ่าฟันเพื่อความเป็นผู้นำในโลกเทคโนโลยี ที่ทำให้พวกเขาไม่อาจถอยหลังกลับไปได้อีกต่อไปแล้ว