Geek Talk EP68 : อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะพัง? ราคาพุ่ง ภาษีแพง เครดิตหาย ฝันร้ายของชาวอเมริกัน

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางการพัฒนาในทศวรรษหน้า โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายภาษี สิ่งจูงใจทางการเงิน หรือแม้แต่การแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ

เมื่อมองในระดับโลก ตัวเลขการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้านั้นน่าประทับใจอย่างยิ่ง ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 18% ในปีที่ผ่านมาตามรายงานล่าสุดของอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การคมนาคมด้วยพลังงานไฟฟ้านั้นไม่ใช่เพียงกระแสชั่วครู่ แต่เป็นแนวโน้มที่มีความยั่งยืน

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/ycy2ubd7

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/2s4huxm2

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/uum2z362

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/PyKF9LwqmkA

เมื่อ Hybrid แซง EV ครองแชมป์ในจีน! เทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง จับตาการพลิกเกมอุตสาหกรรมรถยนต์อีกครั้ง

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนกำลังเปลี่ยนไป! จากข้อมูลตลอดปี 2024 พบว่ารถไฮบริดได้รับความนิยมสูงกว่ารถไฟฟ้าล้วนอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าผู้บริโภคจีนจะหันมาใช้รถที่ไม่ใช้น้ำมันล้วนกันมากขึ้นก็ตาม

BYD พี่ใหญ่ในวงการยานยนต์พลังงานสะอาดของจีนรายงานยอดขายที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะจากยอดขายรถนั่งส่วนบุคคลทั้งหมด 4.3 ล้านคันในปี 2024 มากกว่าครึ่งเป็นรถไฮบริด ซึ่งเป็นการพลิกสถานการณ์จากปี 2023 ที่รถยนต์ไฟฟ้านำมาแบบสิ้นเชิง

ในขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพรถไฟฟ้าของจีนที่ผลิตเฉพาะรถไฟฟ้าล้วนกลับมียอดส่งมอบรถในปีที่ผ่านมาน้อยกว่าบริษัทที่จำหน่ายรถไฮบริดเสียอีก ความโหดของตลาดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคกำลังต้องการอะไร

BYD เปิดเผยในรายงานว่าบริษัทขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้ 4.3 ล้านคันในปี 2024 โดยเกือบ 2.5 ล้านคันเป็นรถไฮบริด ต่างจากปี 2023 ที่ BYD มียอดขายรถไฮบริดน้อยกว่ารถไฟฟ้าล้วน ถือว่าเป็นการพุ่งทะยานอย่างไม่น่าเชื่อของรถยนต์ไฮบริด

Tesla ที่ขายเฉพาะรถไฟฟ้าล้วนมีแนวโน้มขายรถในจีนได้มากกว่า 600,000 คันเป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามการคำนวณของ CNBC ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดา แต่ก็ยังห่างจาก BYD อยู่มาก

Joe McCabe ประธานและซีอีโอของ AutoForecast Solutions กล่าวว่า “เรายังเห็นการเติบโตในตลาดรถไฟฟ้าล้วนของจีน แต่มันกำลังถึงจุดอิ่มตัว” เขาคาดว่าจนถึงปี 2031 จะยังมีความต้องการรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปรวมถึงรถไฮบริดอยู่ ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าล้วนเท่านั้น

Li Auto บริษัทสตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนได้ขึ้นมาท้าชิง Tesla ด้วยยอดส่งมอบทำสถิติสูงสุดที่ 500,508 คันในปีที่ผ่านมา โดยรถยนต์ส่วนใหญ่ของบริษัทมาพร้อมถังน้ำมันสำหรับขยายระยะทางขับขี่ของแบตเตอรี่ ซึ่งมันตรงความต้องการของผู้บริโภคในตลาด mass มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนอย่างเห็นได้ชัด

Leapmotor พันธมิตรจีนของ Stellantis ที่ขายทั้งรถไฟฟ้าล้วนและรถไฮบริด รายงานส่งมอบรถเกือบ 300,000 คันในปี 2024 และตั้งเป้าทะลุ 500,000 คันในปีถัดไป โดยมีแผนการที่จะรุกตลาดด้วยรถทั้งสองประเภท

สตาร์ทอัพรถไฟฟ้าของจีนที่ผลิตเฉพาะรถไฟฟ้าล้วนกลับมียอดส่งมอบต่ำกว่า โดย Zeekr ขายได้ 222,123 คัน Nio ขายได้ 221,970 คัน และ Xpeng ขายได้ 190,068 คัน ซึ่งรวมตัวเลขจากแบรนด์ลูกที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2024 แล้ว

น่าสนใจว่า Xpeng เปิดตัวระบบไฮบริดในเดือนพฤศจิกายน ส่วน Zeekr ก็ประกาศแผนเปิดตัวรถไฮบริดรุ่นแรกในปี 2025 นี่คือการปรับตัวครั้งใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่าตลาดกำลังชี้นำผู้ผลิตให้หันมาทำรถไฮบริดมากขึ้น

แบรนด์รถไฟฟ้าในจีนเผชิญการแข่งขันที่โหดเหี้ยมมากขึ้นในปีที่ผ่านมา เมื่อบริษัทสมาร์ทโฟน Xiaomi เปิดตัวรถไฟฟ้าซีดาน SU7 ในเดือนมีนาคม ณ สิ้นเดือนธันวาคม Xiaomi อ้างว่าส่งมอบรถแล้วกว่า 135,000 คัน และตั้งเป้าทะลุ 300,000 คันในปี 2025

Zeekr ตั้งเป้าส่งมอบรถ 320,000 คันในปี 2025 หลังจากพลาดเป้าเล็กน้อยจากที่วางไว้ 230,000 คันในปี 2024 ถือว่าเป็นความท้าทายที่ต้องฝ่าฝันต่อสู้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

การเติบโตของรถพลังงานใหม่ในจีนถึงจุดพีคในเดือนกรกฎาคม 2024 เมื่อส่วนแบ่งของยานยนต์พลังงานใหม่ (รวมรถไฟฟ้าและไฮบริด) ทะลุครึ่งหนึ่งของรถยนต์นั่งทั้งหมดในเดือนนั้น ตามข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจีน

แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ด้วยอัตราการเข้าถึงตลาดที่ 52.3% ซึ่งเติบโตจาก 36% ในเดือนกรกฎาคม 2023 ถือว่าเป็นการเติบโตแบบพุ่งทะยานเป็นอย่างมาก

McCabe ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือจีนยังมีสิ่งจูงใจมากมายสำหรับคนท้องถิ่นในการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ การผลักดันตลาดเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างผู้เล่นในประเทศแทนที่จะพึ่งพาแบรนด์ต่างชาติ

เมืองใหญ่ในจีนอย่างปักกิ่งกำลังทำให้การขอป้ายทะเบียนสำหรับยานยนต์พลังงานใหม่ง่ายขึ้นกว่ารถน้ำมัน ส่วนหนึ่งของการกระตุ้นการบริโภคของจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่การอุดหนุนการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่

รถไฮบริดยังขับเคลื่อนยอดขายรถเชิงพาณิชย์ขนาดเล็กในสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สอง ทำให้อัตราการเข้าถึงตลาดรวมของรถไฮบริดและรถไฟฟ้าอยู่ที่ 18.7% ตามข้อมูลของ Wards Intelligence ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ

ในภาพรวม จีนเป็นเหมือนสนามทดลองสำหรับโลกยานยนต์พลังงานสะอาด และตอนนี้ตลาดกำลังบอกว่ารถไฮบริดคือตัวเลือกที่ make sense ที่สุดสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้รถไฟฟ้าล้วนจะเป็นความฝันระยะยาว แต่ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานก็ยังมีปัญหาอยู่แม้กระทั่งในประเทศจีนเองก็ตาม

BYD ที่เข้าใจความต้องการนี้จึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดเหนือ Tesla อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน บทเรียนนี้ทำให้แม้แต่บริษัทรถไฟฟ้าล้วนอย่าง Xpeng และ Zeekr ยังต้องปรับตัวรับเทรนด์ไฮบริด เมื่อตลาดยานยนต์พลังงานสะอาดกำลังถึงจุดเปลี่ยน

การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่ยังช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต โดยการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฮบริดในจีนอาจเป็นต้นแบบสำหรับตลาดยานยนต์ทั่วโลกในการวางแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนนั่นเองครับผม

References :
https://www.cnbc.com/2025/01/02/chinas-electric-car-boom-is-increasingly-more-about-hybrids.html

จาก ‘ทุนนิยม’ สู่ ‘ศักดินาเทคโนโลยี’ เมื่อโลกเปลี่ยนจากการล้อมรั้วที่ดินไปสู่การล้อมรั้วดิจิทัล

ไม่รู้ว่าใครสังเกตเห็นกันบ้างหรือเปล่านะครับ กับระบบศักดินาเทคโนโลยี (Technofeudalism)… ที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคนในทุกวันนี้ มันคือการที่เศรษฐกิจของเราที่กำลังถดถอยกลับไปสู่ยุคกลาง ที่ซึ่งเราทุกคนกำลังกลายเป็นทาสที่ไถพื้นที่บนโลกดิจิทัลซึ่งเป็นของเจ้าขุนมูลนายสมัยใหม่แห่ง Silicon Valley

แล้วถามว่าใครที่กำลังทำให้วิสัยทัศน์สุดบ้าคลั่งนี้เป็นจริง? ก็ต้องว่าไม่ใช่ใครที่ไหน ชายผู้นั้นก็คือ Elon Musk นั่นเอง! ชายที่รวยที่สุดในโลกที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ในยุคหลังทุนนิยมให้มันเกิดขึ้นจริง

เราเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาที่แสดงออกอย่างชัดเจน ทั้งการสนับสนุนพรรคขวาจัดในเยอรมนี กล่าวหาผู้นำพรรคแรงงานอังกฤษ และยังทำตัวเสมือนเป็นลูกพี่ของ Trump โดยพักอยู่ใน Mar-a-Lago รีสอร์ทสุดหรู คืนละ 2,000 ดอลลาร์ ที่โหดกว่านั้นคือการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตัวเองเผยแพร่ความเกลียดชัง

บางคนอาจคิดว่านี่เป็นแค่พฤติกรรมประหลาด ๆ ของมหาเศรษฐี ที่อยากหันมาเอาดีทางด้านการเมือง แต่ถ้ามองให้ลึกจริง ๆ การกระทำทั้งหมดของเขาเชื่อมโยงกับโครงการที่ใหญ่กว่านั่นคือการใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อทำให้รัฐบาลอ่อนแอลงและควบคุมชีวิตของเราเพิ่มขึ้น

ระบบศักดินาเทคโนโลยีคืออะไร? เรามาย้อนดูระบบศักดินาดั้งเดิมกันก่อน ซึ่งเป็นระบบก่อนยุคอุตสาหกรรมที่มนุษย์เราเกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย (คือเป็นเจ้าของที่ดิน) หรือเป็นทาส (คือทำงานบนที่ดิน) และเพราะที่ดินเป็นมรดกตกทอด ทำให้ไม่มีทางปีนบันไดทางสังคมเปลี่ยนจากทาสขึ้นไปเป็นชนชั้นสูงได้เลย

ในศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ดินกลายเป็นสินค้าในตลาด เจ้าของที่ดินจึงไล่ทาสออกแล้วจ้างกลับมาเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างแรงงานกับเงิน ทำให้เกิด “การล้อมรั้ว” ที่ชาวนาถูกขับออกจากที่ดินที่ครอบครัวทำมาหลายชั่วอายุ และนี่คือจุดเริ่มต้นระบบทุนนิยม

ปัจจุบัน แม้เราไม่ได้ย้ายกลับไปอยู่บนที่ดินของเจ้าขุนมูลนาย แต่ชีวิตเราส่วนใหญ่ใช้เวลาบนแอปและพื้นที่ดิจิทัลที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ เราสร้างมูลค่าให้เจ้าของพื้นที่เหล่านี้ทุกครั้งที่คลิก อ่านข่าว ติดต่อเพื่อน หรือสั่งอาหาร

ระบบศักดินาเทคโนโลยีอธิบายชีวิตบนคลาวด์นี้ ที่เรากลายเป็นทาสอาศัยอยู่บนดินแดนดิจิทัลของมหาเศรษฐี Silicon Valley และเหมือนทาสสมัยก่อน เราไม่มีทางเลือกจริงๆ เพราะการมีชีวิตในโลกสมัยใหม่ต้องพึ่งพาพื้นที่ดิจิทัลเหล่านี้ ลองคิดดูว่าถ้าคุณทิ้งโทรศัพท์ ออกจากอินเทอร์เน็ต ไม่ใช้แอป ชีวิตคุณจะเป็นยังไง?

ตามทฤษฎีของนักวิชาการอย่าง McMahan, Stratch และ Inferno ระบบศักดินาเทคโนโลยีมันเลวร้ายถึงขนาดที่ว่าแม้แต่ความชอบของเราก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป มันถูกสร้างโดยเครือข่ายอัลกอริทึม เราฝึกให้อัลกอริทึมหาสิ่งที่เราชอบ แล้วอัลกอริทึมก็ฝึกเราให้ชอบสิ่งที่มันนำเสนอ

เราไม่เพียงต้องพึ่งพาเครือข่ายแอปพลิเคชั่นที่อยู่บนคลาวด์เหล่านี้เพียงเท่านั้น แต่ยิ่งเรามีส่วนร่วมมากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องการมันมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งพวกมันเป็นเจ้าของเรามากขึ้น เหล่าเจ้าขุนมูลนายทางด้านเทคโนโลยีก็จะร่ำรวยบนกองเงินกองทองที่มากขึ้น

กิจกรรมทางการเมืองล่าสุดของ Musk อาจดูเหมือนต้องการใช้ระบบรัฐบาลแบบดั้งเดิมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่ความจริงตรงกันข้าม เขากำลังใช้รัฐบาลเพื่อทำลายอำนาจของรัฐบาลเอง

Trump ถึงกับประเคนหน่วยงานรัฐบาลอย่าง DOGE หรือ Department of Government Efficiency ให้ Musk มาดูแล โดยมีเป้าหมายกำจัดการใช้จ่ายของรัฐบาลที่สิ้นเปลือง

สิ่งเหล่านี้มันสอดคล้องกับแนวโน้มที่รัฐบาลกำลังยอมแพ้ทางอำนาจให้กับบริษัทบิ๊กเทค เพราะถ้ามองกันตามความเป็นจริง บริการสาธารณะตั้งแต่การขนส่ง ไปรษณีย์ ห้องสมุด การศึกษา กำลังถูกยึดครองโดยบริษัทเอกชน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือ นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาโดยเฉพาะ คนที่นำพาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้มาเข้าร่วมกับรัฐบาลคือ Barack Obama ที่หวังจะเปลี่ยนอเมริกาเป็นศูนย์กลาง Silicon Valley

มีเหล่าพนักงานที่มีการหมุนเวียนทำงานระหว่างรัฐบาล Obama และบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี เจ้าหน้าที่ Obama จำนวนมากไปทำงานให้ Lyft และบริษัทอื่นๆ บางคนช่วยร่างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินดิจิทัลและริดรอนสิทธิแรงงาน

Yanis Varoufakis ผู้เขียนหนังสือ Technofeudalism: What Killed Capitalism ระบุว่าเหมือนการล้อมรั้วในยุคศักดินาเดิม ต้องมีรั้วบางอย่างเพื่อกันมวลชนออกจากทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งในศตวรรษที่ 18 คือที่ดิน แต่ในศตวรรษที่ 21 คือการเข้าถึงอัตลักษณ์ของเราเอง เพื่อมีส่วนร่วมในการใช้แพลตฟอร์ม เราต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวเพื่อการเข้าถึง

Musk กำลังเข้ามาปิดจ๊อบโครงการที่ริเริ่มโดย Obama และนักการเมืองเสรีนิยมให้เสร็จสิ้น และเขาไม่ได้หยุดแค่อเมริกา แต่พยายามขยายโครงการนี้ไประดับโลก ไม่ต่างจากการยึดครองที่ดินก่อนยุคอุตสาหกรรมเพื่อขยายอาณาเขตของเจ้าขุนมูลนายศักดินา

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “10 ปีที่แล้วใครจะจินตนาการได้ว่าเจ้าของเครือข่ายสังคมใหญ่ที่สุดจะสนับสนุนขบวนการระหว่างประเทศและแทรกแซงการเลือกตั้งได้โดยตรง รวมถึงในเยอรมนี” และคำพูดดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากนายกฯ นอร์เวย์ด้วย

Musk มีบทบาทสำคัญในสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านดาวเทียม Starlink ที่ยูเครนต้องพึ่งพา และเมื่อเร็วๆ นี้เขาสนับสนุนพรรคขวาจัด Alternative for Germany (AfD) และเตือนชาวเยอรมันว่า “มีเพียง AfD เท่านั้นที่จะช่วยเยอรมนีได้”

ผู้นำพรรค AfD, Alice Weidel ใช้การสนทนากับ Musk เปรียบเทียบ Hitler กับคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมร่วมสมัย เธอบอกว่า “Hitler เป็นพวกสังคมนิยมที่ต่อต้านชาวยิว แต่พวกเรา (AfD) เป็นสิ่งตรงกันข้าม”

นี่ไม่ใช่แค่ Elon ที่ใกล้ชิดกับนาซีอีกครั้ง แต่เป็นการดำเนินโครงการระบบศักดินาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ผู้สมัครพรรค Green ของเยอรมนีกล่าวว่า “ด้วยเงินหลายพันล้านและอำนาจสื่อไร้ขีดจำกัด การสนับสนุน AfD ของ Elon Musk มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่มันกำลังทำให้ยุโรปอ่อนแอลงได้จริง ๆ”

แฟนคลับ Musk อาจมองว่าเขาแค่พยายามส่งเสริมแนวคิดเสรีนิยมและการพูดอย่างเสรี แต่ตามที่นักปรัชญาการเมือง Guillaume David Blunt ได้ออกมาวิจารณ์ว่า Musk ไม่ใช่เสรีนิยม แต่เป็นเผด็จการที่สนใจเฉพาะการปกป้องตัวเองจากกฎระเบียบ พวกเขาคือเจ้าขุนมูลนายที่ต้องการเป็นอิสระจากข้อจำกัด

มีเหตุผลที่ Musk ต้องการทำลายยุโรป เพราะยุโรปรู้ทันบริษัทบิ๊กเทคจาก Silicon Valley และควบคุมบริษัทเทคโนโลยีเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงกฎหมายตลาดดิจิทัลล่าสุดที่ห้ามบริษัทแสวงหาผลกำไรจากข้อมูลบนแอปมือถือ ซึ่ง Musk เปรียบเสมือนตัวแทนบิ๊กเทคเพื่อเข้ามาทลายสิ่งนี้โดยเฉพาะ

หลายคนอาจสงสัยว่าสิ่งนี้จะทำให้ระบบทุนนิยมล่มสลายได้อย่างไร ลองคิดถึงการเปลี่ยนผ่านจากระบบศักดินาเป็นอุตสาหกรรมเมื่อการล้อมรั้วที่ดินเปลี่ยนทุกอย่างเป็นความสัมพันธ์ในตลาด เหมือนที่อินเทอร์เน็ตแบบเปิดถูกขายเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าในทศวรรษ 90 และถูกล้อมรั้วโดยบริษัทเทคโนโลยี

แต่การเปลี่ยนไปสู่ระบบศักดินาเทคโนโลยีมันโหดกว่านั้นเพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของอำนาจและการควบคุมมากกว่าแค่เรื่องของกลไกตลาด ตามที่ Varoufakis เขียนไว้ในหนังสือของเขา ระบบศักดินาเทคโนโลยีมีความแตกต่างในเชิงคุณภาพจากระบบทุนนิยม มันแยกออกจากตรรกะของกลไกตลาดที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีส่วนใหญ่

การใช้และสนับสนุนคำพูดแสดงความเกลียดชังของ Musk ก็เข้าใจได้เช่นกัน Varoufakis กล่าวว่า “อัลกอริทึมของระบบศักดินาเทคโนโลยีมักจะโฟกัสในเรื่อง ผู้ชายเป็นใหญ่ ภาพเหมารวม และการกดขี่ ผู้เปราะบางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง ผู้ป่วยทางจิต ผู้ด้อยโอกาส และคนจน จะทนทุกข์มากที่สุด”

เราเห็นเรื่องนี้เมื่อเร็วๆ นี้กับ Mark Zuckerberg ที่ดึงโปรแกรมความหลากหลายออกจาก Meta พร้อมโปรแกรมการกำกับดูแลเนื้อหาที่ได้ปิดไปแล้ว ที่ตอนนี้อนุญาตให้มีการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังในแพลตฟอร์มของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ และยิ่งเนื้อหาเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ engagement จะมากขึ้นเท่านั้น และพวกเขาก็จะรับทรัพย์มากขึ้นไปอีก

Varoufakis กล่าวว่า “ความเกลียดชังเป็นการชดเชยทางอารมณ์ของระบบศักดินาเทคโนโลยีสำหรับความคับข้องใจในความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์” และแม้การกำกับดูแลเนื้อหาที่เข้มที่สุดก็ไม่สามารถยับยั้งความเกลียดชังทั้งหมดได้

Varoufakis ยังชี้ให้เห็นว่าอีกผลกระทบคือในท้ายที่สุดเราก็จะไม่ได้เป็นเจ้าของจิตใจของเราเองอีกต่อไป ในชั่วโมงทำงาน เรานำตัวเองเข้าไปในระบบดิจิทัลต่างๆ เมื่อกลับบ้าน เรากลายเป็นทาสคลาวด์ที่หล่อเลี้ยงการเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเรา วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นวัน เดือน ปี และตลอดไป

Varoufakis ยังกล่าวอีกว่า ในยุคอดีตที่เราเคยทั้งอาศัยและทำงานบนที่ดินของเจ้าขุนมูลนายศักดินา แต่ความเป็นทาสแบบใหม่เกิดขึ้นในคลาวด์ที่ควบคุมโดยเจ้าขุนมูลนายเทคโนโลยีแทน

ในยุคที่ Trump กลับเข้ามาพร้อมกับคนที่มีวาระเพื่อสร้างระบบศักดินาเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เช่น Elon Musk และ J.D.Vance รองประธานาธิบดีที่มาจากสายเทคโดยตรง

เพราะฉะนั้นทุกคนต้องฉุกคิดกันได้แล้ว ต้องต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้ และรวมตัวกันผ่านพื้นที่ดิจิทัลของเจ้าขุนมูลนายทางเทคโนโลยีทั้งหลายนี่แหละ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรียกร้องการกำกับดูแลที่ดีขึ้น และสนับสนุนทางเลือกที่มีความรับผิดชอบมากกว่านี้

การต่อสู้กับระบบศักดินาเทคโนโลยีไม่ใช่การต่อต้านความก้าวหน้า แต่เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีของมนุษย์ในยุคดิจิทัล เป็นการยืนยันว่าเทคโนโลยีควรรับใช้มนุษยชาติ ไม่ใช่ทำในสิ่งตรงกันข้ามเหมือนที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพลวัตของอำนาจในโลกดิจิทัล และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของเรา อนาคตที่เทคโนโลยีอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่เหนือมันนั่นเองครับผม

References :
หนังสือ Technofeudalism: What Killed Capitalism โดย Yanis Varoufakis

Geek Story EP302 : ChatGPT ทำลายล้าง IBM อย่างไร? จากผู้นำสู่ผู้ตาม อะไรทำให้ยักษ์ใหญ่สะดุดในยุค AI

ย้อนกลับไปปี 1997 นับเป็นเวลา 12 ปีที่ IBM ได้ทุ่มเททรัพยากรกว่าพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วงเวลาอันสำคัญนี้ – ช่วงเวลาแห่งการถือกำเนิดของกลยุทธ์ที่เรียกว่า “การโจมตีแบบ overload” เมื่อ Gary Kasparov หนึ่งในนักเล่นหมากรุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลกำลังเผชิญหน้ากับ Deep Blue เครื่องจักรอัจฉริยะที่มนุษย์สร้างขึ้น ในการแข่งขันหมากรุกชุด 6 เกม ใบหน้าของ Kasparov ฉายแววไม่พอใจ

ในตอนนั้น สถานการณ์ของเกมคือ ฝ่ายขาว (Deep Blue) กำลังบุกเบี้ยที่ตำแหน่ง E7 ของฝ่ายดำ และวางแผนจะบุกต่อด้วยเรือ (Rook) Kasparov กำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียควีนของเขา และนี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เครื่องจักรเอาชนะปรมาจารย์หมากรุกได้

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/53kkbux4

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/2wjtrx3p

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/3c9my4cu

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/Yz-xO8lgXwk

Amazon รอดวิกฤติดอทคอมอย่างไร? รู้จัก Cash Conversion Cycle กลยุทธ์ที่ทำให้ Jeff Bezos รอดตาย

ย้อนกลับไปช่วงปลายยุค 90s ตลาดธุรกิจอินเทอร์เน็ตบูมมากจนแทบจะเรียกได้ว่าบ้าคลั่ง! บริษัทสตาร์ทอัพออนไลน์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ใครๆ ก็อยากเข้ามาเสี่ยงดวงในโลกดิจิทัล หวังจะพลิกโฉมวงการแล้วกอบโกยเงินทองกัน

แต่แล้วฝันอันงดงามของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีก็มลายหายไปหมดสิ้น เมื่อฟองสบู่ดอทคอมแตกกระจาย บริษัทต่างๆ ดับสูญไปแทบจะชั่วข้ามคืน แต่ท่ามกลางเถ้าถ่านของความหายนะ กลับมีบริษัทหนึ่งที่ไม่เพียงอยู่รอดแต่ยังพุ่งทะยานอย่างน่าทึ่ง นั่นคือ Amazon

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งเล่าว่าตอนนั้นหุ้นดิ่งลงเหวจาก 113 ดอลลาร์เหลือแค่ 6 ดอลลาร์ วอลล์สตรีทต่างเรียกร้อง “กำไรอยู่ไหน!? กำไรอยู่ไหน!?” แต่ Bezos กลับไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขาเชื่อมั่นในตัวชี้วัดภายในธุรกิจที่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวย

ความเจ๋งของ Amazon คือการให้ความสำคัญกับลูกค้ามากกว่าคู่แข่งอย่างถึงที่สุด ในขณะที่ CEO คนอื่นๆ แม้จะพูดถึงลูกค้า แต่ลับหลังกลับหมกมุ่นกับคู่แข่ง Amazon กลับยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางของทุกการตัดสินใจ

Amazon Prime เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ของแนวคิดนี้ เริ่มต้นจากไอเดียของวิศวกรจูเนียร์คนหนึ่งที่เสนอให้มีบริการจัดส่งแบบไม่จำกัด แม้ว่าตอนแรกมันจะทำให้บริษัทเสียเงินมากโข เพราะคนที่เข้ามาใช้บริการแรกๆ คือพวก “กินจุ” หรือสั่งของบ่อยมาก

แม้จะดูเหมือนขาดทุน แต่ Amazon มองเห็นแนวโน้มที่ดีและความพึงพอใจของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน Amazon Prime กลายเป็นบริการสมาชิกสุดฮิตและทำกำไรมหาศาล

Bezos ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาลูกค้าแบบถึงรากถึงโคน เขายังคงใช้อีเมล Jeff@amazon.com เพื่อรับฟังปัญหาโดยตรง แล้วสั่งทีมไปหาสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไขให้ครบถ้วน

ความสำเร็จของ Amazon ไม่ได้อยู่แค่ในวงการค้าปลีกออนไลน์ การรังสรรค์ Amazon Web Services (AWS) เมื่อ 15 ปีก่อนได้พลิกโฉมวงการเทคโนโลยีไปอย่างสิ้นเชิง โดยที่ไม่มีคู่แข่งที่เทียบชั้นได้ถึง 7 ปีเต็ม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในโลกธุรกิจเทคโนโลยี

ปกติแล้วเมื่อคุณสร้างนวัตกรรมใหม่ คู่แข่งมักจะตามมาใน 2 ปี เช่น amazon.com เปิดปี 1995 barnesandnoble.com ตามมาปี 1997 หรือ Amazon เปิดตัว Kindle ก็มี Nook ตามมาในสองปี แต่ AWS กลับครองความเป็นลูกพี่ในตลาดถึง 7 ปี

กลยุทธ์สุดเทพที่ทำให้ Amazon รอดจากวิกฤตดอทคอมคือ Cash Conversion Cycle หรือวงจรการแปลงเงินสดที่ติดลบ ซึ่งถือเป็นของแท้ที่น้อยบริษัทจะทำได้

ลองนึกภาพง่ายๆ คือ Amazon ได้เงินจากลูกค้าเกือบจะทันทีผ่านบัตรเครดิต ขณะที่เก็บสินค้าไว้แค่ช่วงสั้นๆ ด้วยระบบคลังสินค้าสุดล้ำ แถมยังได้เครดิตจากซัพพลายเออร์ประมาณ 30 วัน

นั่นหมายความว่า Amazon มีเงินสดหมุนเวียนก่อนที่จะต้องจ่ายค่าสินค้า! ยิ่งธุรกิจเติบโต เงินสดที่ได้จากวงจรนี้ก็ยิ่งมากขึ้น แถมยังมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดวงจรสร้างความแข็งแกร่งไม่รู้จบ

วัฒนธรรมองค์กรของ Amazon ก็โครตเจ๋ง Bezos สร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้พนักงานคิดนอกกรอบและทดลองสิ่งใหม่ๆ โดยไม่กลัวล้มเหลว พนักงานทุกระดับสามารถเสนอไอเดียและมีส่วนร่วมในการพัฒนา

Amazon มีแนวคิด “Day 1” หมายถึงการรักษาความคล่องตัวและความกระตือรือร้นเหมือนวันแรกของการทำธุรกิจ แม้จะเติบโตเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ Bezos เชื่อว่าเมื่อใดที่องค์กรเข้าสู่ “Day 2” นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเสื่อม

บทเรียนสำคัญจาก Amazon คือการมองการณ์ไกลและกล้าลงทุนเพื่ออนาคต แม้จะต้องเจอแรงกดดันจากนักลงทุนในระยะสั้น การที่พวกเขายังคงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมใหม่ๆ แม้ในช่วงที่ราคาหุ้นลดฮวบ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล

แม้ปัจจุบัน Amazon จะเผชิญความท้าทายทั้งการแข่งขันที่ดุเดือด การถูกตรวจสอบเรื่องการผูกขาด และข้อกังวลเกี่ยวกับสภาพการทำงานของพนักงาน แต่หลักการที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จก็ยังคงเป็นเข็มทิศนำทางบริษัทให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

การเปลี่ยนผ่านจาก Jeff Bezos ไปสู่ Andy Jassy ในตำแหน่ง CEO เมื่อปี 2021 เป็นบททดสอบสำคัญ แต่ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน Amazon ยังคงเดินหน้าสร้างนวัตกรรมและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ความสำเร็จของ Amazon สอนให้เรารู้ว่าการยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน การใส่ใจลูกค้าอย่างจริงจัง การบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไม่เพียงแค่อยู่รอดแต่ยังเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกสภาวะเศรษฐกิจ