มนุษย์เราต่างภาคภูมิใจในความสามารถที่จะควบคุมความคิดและการตัดสินใจของตนเอง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า แท้จริงแล้วการตัดสินใจของเราถูกชี้นำโดยกลไกที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ซึ่งส่งผลต่อมุมมองและการรับรู้โลกรอบตัวของเราอย่างลึกซึ้ง
บทความนี้จะพาท่านสำรวจกับดักทางความคิดที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อมูลจาก Daniel Kahneman นักจิตวิทยาผู้ได้รับรางวัล Nobel Prize และผู้แต่งหนังสือชื่อดังอย่าง “Thinking Fast and Slow”
เมื่อความคิดขัดแย้งกันเอง: Cognitive Dissonance
เคยได้ยินนิทานอีสปเรื่องสุนัขจิ้งจอกกับองุ่นไหม? สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งพยายามกระโดดคว้าองุ่นสุกฉ่ำที่ห้อยอยู่สูง แต่ไม่ว่าจะพยายามกี่ครั้งก็ไม่สามารถเอื้อมถึง สุดท้ายมันจึงปลอบใจตัวเองว่า “เป็นแค่องุ่นเปรี้ยว ไม่น่ากินอยู่แล้ว” แล้วเดินจากไป
นิทานเรื่องนี้เป็นที่มาของสำนวน “องุ่นเปรี้ยว (Sour grapes)” และสะท้อนให้เห็นภาวะที่เรียกว่า Cognitive Dissonance หรือภาวะความไม่ลงรอยกันของความคิด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเรามีความเชื่อหรือความคิดสองอย่างที่ขัดแย้งกัน เช่น อยากได้องุ่นแต่เอื้อมไม่ถึง แทนที่จะยอมรับว่าตนเองไม่มีความสามารถมากพอ กลับเลือกที่จะสร้างความเชื่อใหม่ว่าองุ่นไม่น่ากิน
ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน แทนที่จะยอมรับว่าตนเองอาจยังไม่พร้อม กลับคิดว่างานนั้นไม่ดีพออยู่แล้ว หรือกรรมการสัมภาษณ์อคติ ซึ่งความขัดแย้งภายในจิตใจเช่นนี้อาจนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวลได้
เมื่อทุกสายตาจับจ้องมาที่เรา: The Spotlight Effect
คุณเคยรู้สึกอึดอัดเมื่อมาทำงานสายเพียงไม่กี่นาที ราวกับว่าทุกคนในออฟฟิศกำลังจับตามองและตัดสินคุณไหม? หรือรู้สึกประหม่าเมื่อเริ่มออกกำลังกายที่ฟิตเนส คิดว่าทุกคนกำลังมองดูท่วงท่าการออกกำลังกายที่ยังไม่คล่องแคล่วของคุณ? นี่คือตัวอย่างของ The Spotlight Effect หรือผลกระทบจากการเป็นจุดสนใจ
ความจริงก็คือ คนอื่นแทบไม่ได้สังเกตหรือใส่ใจการกระทำของเราเท่าที่เราคิด พวกเขามักยุ่งอยู่กับความคิดและกิจกรรมของตัวเอง การตระหนักถึงความจริงข้อนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลและทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างผ่อนคลายมากขึ้น
The Anchoring Effect
เมื่อต้องคาดเดาหรือประเมินค่าอะไรสักอย่าง สมองของเราจะยึดโยงกับตัวเลขหรือข้อมูลแรกที่ได้รับ แม้ว่าข้อมูลนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม
งานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งได้ทดลองกับผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ในเยอรมนี โดยให้พวกเขาทอยลูกเต๋าที่ถูกดัดแปลงให้ออกแค่เลข 3 หรือ 9 ก่อนที่จะตัดสินคดีลักทรัพย์ ผลปรากฏว่าผู้พิพากษาที่ทอยได้เลข 9 มีแนวโน้มจะตัดสินจำคุกนานกว่าผู้ที่ทอยได้เลข 3 อย่างมีนัยสำคัญ
ในชีวิตประจำวัน เราพบเห็นการใช้ประโยชน์จากผลกระทบนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในการขายและการเจรจาต่อรอง เช่น การติดป้ายราคาสูงไว้ก่อนแล้วค่อยลดราคา ทำให้ราคาที่ลดแล้วดูคุ้มค่ากว่าความเป็นจริง แม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลของ The Anchoring Effect ได้ แต่การตระหนักรู้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้รอบคอบขึ้น
The Halo Effect
ลองจินตนาการว่าคุณกำลังอ่านประวัติของคนสองคน คนแรกถูกอธิบายว่าเป็นคนฉลาด ขยัน หุนหันพลันแล่น ชอบวิจารณ์ ดื้อรั้น และอิจฉา ส่วนคนที่สองถูกอธิบายว่าเป็นคนอิจฉา ดื้อรั้น ชอบวิจารณ์ หุนหันพลันแล่น ขยัน และฉลาด แม้คุณลักษณะทั้งหมดจะเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่มักมองคนแรกในแง่ดีกว่า นี่คือตัวอย่างของ The Halo Effect ที่ข้อมูลแรกที่เราได้รับจะมีอิทธิพลต่อการตีความข้อมูลที่ตามมาทั้งหมด
ปรากฏการณ์นี้มีผลกระทบอย่างมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์และการทำงาน เช่น ในช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ เรามักมองข้ามข้อบกพร่องของอีกฝ่ายเพราะถูกบดบังด้วย The Halo Effect ของคุณสมบัติดีๆ ที่เราประทับใจตั้งแต่แรก หรือในการสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครที่จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงมักได้รับการประเมินว่ามีความสามารถสูงในด้านอื่นๆ ด้วย แม้จะยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเลยก็ตาม
Gambler’s Fallacy
เคยสงสัยไหมว่าทำไมนักพนันถึงเชื่อว่าหลังจากที่ลูกเต๋าออกเลข 6 มาหลายครั้งติดกัน ครั้งต่อไปต้องออกเลขอื่นแน่ๆ? นี่คือความเชื่อผิดที่เรียกว่า Gambler’s Fallacy ที่คนมักคิดว่าต้องมีแรงสมดุลบางอย่างในธรรมชาติ แต่ความจริงแล้ว เหตุการณ์แต่ละครั้งเป็นอิสระต่อกัน ลูกเต๋าไม่มีความทรงจำว่าครั้งที่แล้วออกเลขอะไร
ความเชื่อผิดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคาสิโน แต่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจสำคัญในชีวิตจริง เช่น จากการศึกษาพบว่า ผู้พิพากษาคดีลี้ภัยมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธคำร้องขอลี้ภัยมากขึ้น หากก่อนหน้านี้พวกเขาเพิ่งอนุมัติคำร้องติดต่อกันหลายคำร้อง เพราะเชื่อว่าต้องมีการปฏิเสธบ้างเพื่อความสมดุล
เมื่อความแตกต่างบิดเบือนการตัดสินใจ: The Contrast Effect
จินตนาการว่าคุณกำลังเลือกซื้อรถยนต์ราคา 2 ล้านบาท และมีตัวเลือกเบาะหนังราคา 100,000 บาท หลายคนอาจรู้สึกว่าค่าเบาะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับราคารถ แต่ถ้าเป็นการซื้อเก้าอี้ทำงาน เบาะหนังราคาเดียวกันนี้อาจดูแพงเกินไป นี่คือผลกระทบความแตกต่างที่ทำให้เรามองคุณค่าของสิ่งต่างๆ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม
อคติที่ยืนยันความเชื่อเดิม: Confirmation Bias
มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะเลือกรับข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม และมองข้ามข้อมูลที่ขัดแย้ง ยิ่งในยุคดิจิทัลที่อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียคอยนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของเรา ยิ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ “echo chambers” ที่เราได้ยินแต่ความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกัน จนอาจนำไปสู่ความเชื่อที่สุดโต่งได้
ปรากฏการณ์ที่เห็นบ่อยขึ้นอย่างประหลาด: Baader-Meinhof Phenomenon
เคยสังเกตไหมว่าหลังจากซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง จู่ๆ คุณก็เริ่มเห็นรถยี่ห้อนี้บนท้องถนนบ่อยขึ้น? หรือหลังจากเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ คุณก็เริ่มได้ยินคำนี้ทุกที่? นี่คือปรากฏการณ์ Baader-Meinhof ที่เกิดจากการที่สมองของเราให้ความสนใจกับสิ่งที่เพิ่งรับรู้มากเป็นพิเศษ ทำให้รู้สึกว่าพบเห็นบ่อยขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วความถี่ในการพบเห็นอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลง
Zeigarnik Effect
เคยรู้สึกหงุดหงิดกับงานที่ยังทำไม่เสร็จจนนอนไม่หลับไหม? นั่นเป็นเพราะสมองของเราจดจำงานที่ยังไม่เสร็จได้ดีกว่างานที่เสร็จแล้ว ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Zeigarnik Effect งานวิจัยพบว่าเพียงแค่การวางแผนว่าจะจัดการกับงานค้างอย่างไร ก็สามารถช่วยบรรเทาความกังวลนี้ได้แล้ว
ความย้อนแย้งของการมีตัวเลือกมากเกินไป: The Paradox of Choice
ในโลกปัจจุบันที่เรามีตัวเลือกมากมาย เราอาจคิดว่านี่คือสิ่งที่ดี แต่งานวิจัยกลับชี้ให้เห็นว่า การมีตัวเลือกมากเกินไปอาจทำให้เราตัดสินใจได้ยากขึ้น และอาจนำไปสู่ความไม่พอใจในสิ่งที่เลือกในที่สุด เช่น การทดลองที่ซูเปอร์มาร์เก็ตพบว่า เมื่อวางแยมให้เลือก 24 ชนิด แม้จะดึงดูดลูกค้าได้มาก แต่กลับขายได้น้อยกว่าการวางแยมเพียง 6 ชนิด
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นในหลายแง่มุมของชีวิตสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อสินค้า การหาคู่ผ่านแอพพลิเคชันออนไลน์ หรือแม้แต่การเลือกเส้นทางอาชีพ การมีตัวเลือกมากเกินไปอาจทำให้เกิดความเครียดและความกังวลว่าจะเลือกผิด จนบางครั้งอาจนำไปสู่การไม่เลือกอะไรเลย
สุดท้ายแล้ว การเข้าใจกับดักความคิดเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถกำจัดมันได้ทั้งหมด แต่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ เพราะบางครั้ง การรู้ว่าเรากำลังตกอยู่ในกับดักความคิดแบบไหน ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาการคิดและการตัดสินใจของเราให้ดีขึ้นได้นั่นเองครับผม
References :
21 Mind Traps : The Ultimate Guide to your most common Thinking errors
https://youtu.be/nYYkRaU0xh8?si=95vbLX_oorvNVJPG