คุณเคยจินตนาการไหมว่าชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร หากคุณสามารถเรียนรู้ทักษะใดก็ได้ที่คุณปรารถนาได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง
ลองนึกภาพว่าถ้าเราสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่ว หรือก้าวขึ้นเป็นนักพูดในที่สาธารณะระดับโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน หรือแม้กระทั่งได้รับความรู้เทียบเท่าการศึกษาจาก MIT ในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่ออาชีพการงานของเราอย่างไรบ้าง
เป็นข้อมูลจากหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่ม Ultralearning : Accelerate Your Career, Master Hard Skills and Outsmart the Competition โดย Scott H. Young
ในหนังสือเล่มนี้ Scott ได้ไปพบเจอบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งเหล่านี้ และจากการศึกษาอย่างละเอียดกับพวกเขา Scott ได้เริ่มค้นพบรูปแบบวิธีการเรียนรู้ จากนั้นเขาก็ได้ทำการผสมผสานรูปแบบเหล่านี้กับประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง
ในหนังสือเล่มนี้ Scott ได้นำเสนอหลักการ 9 ประการของสิ่งที่เรียกว่า “Ultra Learning” พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ได้ใช้หลักการเหล่านี้อย่างไรเพื่อก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จขั้นสูง ไล่ตั้งแต่จิตรกรระดับโลกไปจนถึงแชมป์หมากรุก นอกจากนี้ Scott ยังได้ให้กลยุทธ์ที่เราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อฝึกฝนแต่ละหลักการในโครงการของตนเอง
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เพียงแค่พูดถึงทฤษฎีหรือการวิจัยเพียงอย่างเดียวเพราะตัวของ Scott เองได้นำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในโครงการเรียนรู้ของเขาและประสบความสำเร็จมาแล้ว ไล่มาตั้งแต่การเรียนหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ของ MIT ในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ไปจนถึงการวาดภาพเหมือนที่สมจริงภายใน 30 วัน
หลักการที่ 1: Meta Learning หรือการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้
ยิ่งคุณเก่งในการเรียนรู้มากเท่าไร ทุกชั่วโมงที่คุณใช้ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มโครงการเรียนรู้ใด ๆ คุณจำเป็นต้องทำการวิจัยและสร้างแผนการเรียนรู้ที่ชัดเจน Scott แนะนำให้ใช้กรอบแนวคิด Why-What-How ดังนี้
- ระบุว่าทำไมเราต้องการเรียนรู้ทักษะหรือหัวข้อนั้น เพื่อที่เราจะได้ปรับการเรียนรู้ให้เข้ากับส่วนที่สำคัญสำหรับตัวเราเอง
- แยกแยะว่าเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- เลือกอย่างรอบคอบว่าเราจะเรียนรู้อย่างไร รวมถึงทรัพยากร สภาพแวดล้อม และวิธีการที่เราจะต้องใช้
การวิจัยและสร้างแผนการเรียนรู้ข้างต้นควรใช้เวลาประมาณ 10% ของเวลาของโครงการทั้งหมด
หลักการที่ 2: Focus หรือการโฟกัส
การมีสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นความท้าทายที่แท้จริงสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่เราสามารถพัฒนามันได้เมื่อเวลาผ่านไป วิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มพัฒนามันคือการลดสิ่งรบกวนสามประเภท:
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของเราโดยนำโทรศัพท์และสิ่งรบกวนอื่น ๆ ออกไป
- พิจารณาว่างานประเภทใดที่เราสามารถโฟกัสได้ง่ายโดยธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ถ้าการดูวิดีโอง่ายกว่าการอ่านสำหรับคุณก็จงใช้มันให้เป็นประโยชน์ซะ
- จิตใจของคุณเองก็สามารถเป็นแหล่งที่มาของสิ่งรบกวนได้ พยายามเรียนรู้ต่อไปแม้ว่าคุณจะโกรธ เครียด หรือไม่สบายใจ ยิ่งคุณทำบ่อยเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น
หลักการที่ 3: Directness
หลักการข้อนี้พยายามแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายโอนความรู้ ซึ่งงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นไม่เก่งในการถ่ายโอนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากบริบทหนึ่งไปสู่อีกบริบทหนึ่ง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการเก่งในบางสิ่งในห้องเรียนจึงไม่ได้แปลว่าจะมีความสามารถในโลกแห่งความเป็นจริง
เพื่อต่อสู้กับสิ่งนี้ เราสามารถใช้หนึ่งในสี่เทคนิคเหล่านี้กับโครงการเรียนรู้ของเรา:
- สร้างโครงการที่มีเป้าหมาย เช่น การเรียนรู้การเขียนโค้ดเพื่อให้สร้างโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริง ๆ
- การจำลอง (Immersion) ให้ตัวคุณเองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถฝึกฝนทักษะได้โดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ย้ายไปอยู่ในประเทศที่พูดภาษาที่คุณกำลังเรียนรู้
- หากโครงการหรือการจำลองไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เราสามารถใช้การจำลองสถานการณ์ (Simulation) ได้ ตัวอย่างเช่น พูดคุยกับใครสักคนในภาษาอื่นผ่าน Vdo Call อย่างสม่ำเสมอ
หลักการที่ 4: Drills หรือการฝึกซ้อม
การฝึกซ้อมให้โฟกัสเพียงแค่หนึ่งด้านของทักษะที่จำกัดความก้าวหน้าโดยรวมของเรา ซึ่งมีห้าวิธีในการสร้างรูปแบบการฝึกซ้อม:
- Time slicing (การแบ่งเวลา): โฟกัสเพียงส่วนเดียวของกระบวนการทั้งหมด ตัวอย่างเช่น โฟกัสเฉพาะส่วนที่ยากที่สุดของเพลงที่เรากำลังเรียนรู้ที่จะเล่น
- Cognitive components : โฟกัสเพียงหนึ่งด้านของทักษะ เช่น โทนเสียงถ้าคุณกำลังเรียนภาษาจีนกลาง
- Copycat (การเลียนแบบ): คัดลอกงานของคนอื่น เปลี่ยนแปลงเพียงส่วนเดียวของมันเพื่อให้เราสามารถโฟกัสไปที่ส่วนนั้น
- Magnifying glass : ให้ใช้เวลามากขึ้นในการโฟกัสไปที่หนึ่งด้านของทักษะที่เราต้องการเรียนรู้มันจริง ๆ
- Just start too early (เริ่มต้นเร็วเกินไป): คุณสามารถเริ่มต้นทักษะที่คุณยังไม่พร้อม และเมื่อคุณพบปัญหา ให้กลับไปเรียนรู้พื้นฐานด้วยบริบทอื่น ๆ เพิ่มเติม
หลักการที่ 5: Retrieval หรือการดึงข้อมูล
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการพยายามจดจำข้อมูลที่เราได้เรียนรู้มาก่อนหน้านี้โดยไม่มีตัวช่วยเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการจดจำในระยะยาว ซึ่งมีวิธีมากมายในการนำหลักการนี้ไปปฏิบัติ:
- ใช้บัตรคำ (Flash cards) ซึ่งอาจเป็นบัตรกระดาษหรือใช้รูปแบบของซอฟต์แวร์
- Free retrieval : หลังจากเรียนรู้บางสิ่ง ลองเขียนทุกอย่างที่คุณจำได้ลงบนกระดาษเปล่า
- Question book (สมุดคำถาม) และ Challenges (ความท้าทาย): ขณะที่คุณกำลังเรียนรู้ ให้เขียนคำถามทดสอบเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนเพื่อมาตอบในภายหลัง หรือสำหรับงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ให้สร้างเป็นรูปแบบของ Challenges แทน
- Closed book learning (การเรียนรู้แบบไม่เปิดหนังสือ): สร้างแผนผังแนวคิดของสิ่งที่คุณได้เรียนรู้โดยไม่ต้องดูเอกสารอ้างอิง
หลักการที่ 6: Feedback หรือข้อเสนอแนะ
ยิ่งเราได้รับข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์มากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถปรับปรุงวิธีการและพัฒนาการเรียนรู้ของเราได้เร็วขึ้นเท่านั้น มีข้อมูล feedback สามประเภท:
- Outcome feedback : เป็นข้อเสนอแนะเพียงแค่ว่าคุณทำได้ดีแค่ไหนโดยภาพรวม
- Informational feedback (ข้อเสนอแนะเชิงข้อมูล): มีประโยชน์มากกว่าและครอบคลุมถึงสิ่งที่คุณทำผิด แม้ว่าจะไม่ได้เสนอวิธีแก้ไขก็ตาม
- Corrective feedback (ข้อเสนอแนะเชิงแก้ไข): มีประโยชน์มากที่สุดในสามประเภทนี้ และอธิบายข้อผิดพลาดของคุณและวิธีการปรับปรุง
หลักการที่ 7: Retention หรือการรักษาความจำ
แม้ว่าเราจะพัฒนาความสามารถในการจดจำสิ่งที่เราได้เรียนรู้ แต่น่าเสียดายที่สมองของเรายังคงลืมสิ่งต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป เราสามารถต่อสู้กับสิ่งนี้ด้วยสามวิธี:
- Spacing (การเว้นระยะ): งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้แบบสั้น ๆ แต่สม่ำเสมอนั้นดีกว่าการเรียนรู้แบบยาว ๆ เป็นครั้งคราว
- Proceduralization : ทักษะบางอย่างสามารถกลายเป็นสัญชาตญาณได้หลังจากผ่านการฝึกฝนไประยะหนึ่ง เพื่อให้บรรลุสิ่งนี้สำหรับทักษะที่เราต้องการ ให้ฝึกฝนในด้านที่เราต้องการรักษาไว้มากกว่าส่วนที่เหลือ
- Overlearning (การเรียนรู้เกินพอดี): เราสามารถฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมแม้หลังจากที่เราเชี่ยวชาญแล้วเพื่อฝังมันลงในความทรงจำให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
หลักการที่ 8: Intuition หรือสัญชาตญาณ
ยิ่งความรู้ของเราลึกซึ้งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งง่ายขึ้นในการรวมแนวคิดต่าง ๆ เพื่อสร้างวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนใคร Scott แนะนำเทคนิค Feynman ซึ่งมีชื่อตามนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลที่มีชื่อเสียงในด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ วิธีการทำงานมีดังนี้:
- เขียนแนวคิดหรือปัญหาที่ต้องการแก้ไว้ที่ด้านบนของกระดาษ
- อธิบายมันเหมือนกับว่าเรากำลังสอนคนอื่น สำหรับแนวคิด ให้อธิบายมันให้กับคนที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และสำหรับปัญหา ให้อธิบายวิธีแก้ปัญหาและทำไมวิธีนั้นจึงมีเหตุผลสำหรับเรา
- เมื่อเราติดขัด นั่นหมายความว่าความเข้าใจของเรายังไม่สมบูรณ์ในด้านนั้น ๆ ดังนั้นให้กลับไปที่เอกสารการเรียนรู้ของเราและหาคำตอบจากมัน
หลักการที่ 9: Experimentation หรือการทดลอง
คุณจำเป็นต้องทดสอบวิธีการเรียนรู้ ข้อเสนอแนะ และวิธีการฝึกซ้อมที่แตกต่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
ตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับหลักการนี้คือจิตรกร Vincent van Gogh ซึ่งไม่มีพรสวรรค์มากพอที่จะได้รับการยอมรับเข้าสู่การศึกษาด้านศิลปะอย่างเป็นทางการ แต่ผ่านกระบวนการทดลองอย่างจริงจังของเขา เขาได้สร้างสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์มากจนเขากลายเป็นหนึ่งในจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล
วิธีที่แนะนำในการเพิ่มการทดลองในการเรียนรู้:
- ลองใช้ทักษะที่เราเรียนรู้โดยใช้เทคนิคที่แตกต่างกันและเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้
- ใช้ข้อจำกัดเพื่อเรียนรู้ทักษะนั้นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพิ่มข้อจำกัดให้กับงานของเราหรือบังคับตัวเองให้ทำงานเฉพาะในส่วนที่มันสุดโต่งของทักษะนั้น ๆ
การสร้างโครงการ Ultra Learning ของตัวคุณเอง
1.วิจัย: ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน
- สิ่งที่คุณจะเรียนรู้: พยายามระบุให้เฉพาะเจาะจงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ทรัพยากรที่เราจะใช้: เลือกหนังสือ หลักสูตร หรือผู้สอน
- เกณฑ์มาตรฐานของเรา: หาว่าคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้สิ่งนี้ในอดีตอย่างไร
- การฝึกปฏิบัติ: วางแผนว่าจะฝึกฝนในสภาพแวดล้อมจริงอย่างไร
- วิธีสำรอง: เตรียมแผนสำรองหากวิธีแรกไม่ได้ผล
2. สร้างตารางเวลาการเรียนรู้ที่สม่ำเสมอ: กำหนดความยาวของแต่ละช่วงเวลา เวลาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ และระยะเวลาของโครงการที่เราจะเรียนรู้
3. ดำเนินการตามแผน: เมื่อเริ่มเรียนรู้ เราอาจพบปัญหากับแผนของเรา ให้ทบทวนหลักการของ Ultra Learning อย่างสม่ำเสมอและปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น
4. ทบทวนและวางแผนต่อไป: เมื่อเสร็จสิ้นโครงการเรียนรู้ ให้ทบทวนว่าอะไรใช้ได้ผลและอะไรใช้ไม่ได้ผล จากนั้นตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับทักษะของเรา:
- รักษาไว้: ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอแต่น้อยลง
- เรียนรู้ใหม่: ปล่อยให้ทักษะเสื่อมลงแล้วรื้อฟื้นเมื่อต้องการ
- Mastery (ความเชี่ยวชาญ): เรียนรู้ทักษะหรือหัวข้อต่อไป สร้างความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นให้กลายเป็นเทพในด้านนี้ไปเลย
การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่รู้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเราเริ่มเปิดประตูสู่โลกแห่งความรู้ ก็จะพบว่ามีสิ่งที่น่าเรียนรู้มากกว่าที่เราจินตนาการไว้มากมายนัก การเรียนรู้แบบ Ultra Learning ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองอีกด้วย
References :
หนังสือ Ultralearning : Accelerate Your Career, Master Hard Skills and Outsmart the Competition โดย Scott H. Young