Geek Daily EP233 : Apple All-Time High กับความเทพในการตัดสินใจอีกครั้งของ Tim Cook

หุ้นของบริษัท Apple พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหลังงาน WWDC 2024 เนื่องจากนักลงทุนวอลล์สตรีทต้อนรับการประกาศแผนงาน AI ที่รอคอยมานานของผู้ผลิต iPhone รายนี้ด้วยความตื่นเต้น

ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นนี้เพิ่มมูลค่าตลาดของ Apple ประมาณ 125 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่ Apple เปิดตัวคุณสมบัติ AI หลากหลายประเภทสำหรับ iPhone และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะวางจำหน่ายในปลายปีนี้ โดยที่โดดเด่นที่สุดคือการนำแชทบอท AI แบบชื่อดัง ChatGPT ของ OpenAI มาผนวกรวมในแอปพลิเคชันของ iPhone โดยตรง

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://tinyurl.com/bdepjk2k

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://tinyurl.com/2x46z8db

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://tinyurl.com/3dwn6w53

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
https://tinyurl.com/2fsdve8h

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/sIw6t_T5920

เกิดอะไรขึ้นกับ Skype กับยุครุ่งเรืองสู่ยุคตกต่ำของอดีตเบอร์หนึ่งแห่งแอปวีดีโอคอล

หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้นเร็วกว่านี้ซัก 10 ปี ทุกคนคงหันมาใช้งาน Skype กันทั้งหมดแล้วนะครับ แต่ดูเหมือนว่าภาพจำของ Skype ในยุครุ่งเรืองนั้นกำลังจางหายไปตามกาลเวลา

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ก่อนที่เหล่าแอปเครือข่ายโซเชียลมีเดียจะเกิดขึ้น Skype เป็นแอปยอดนิยมสำหรับทั้งการโทรด้วยเสียงและวีดีโอคอล

Skype ที่ก่อตั้งโดย Niklas Zennstorm และ Janus Friis เปิดตัวในปี 2003 และหนึ่งเดือนหลังจาการเปิดตัว ก็มียอดดาวน์โหลดสูงถึงหนึ่งล้านครั้ง มันเป็นการเปิดตัวที่น่าประทับจากมากที่สุดแอปหนึ่งของบริษัทเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้

Niklas Zennstorm และ Janus Friis สองผู้ก่อตั้ง Skype (CR:Atomico)
Niklas Zennstorm และ Janus Friis สองผู้ก่อตั้ง Skype (CR:Atomico)

ผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี Skype มียอดผู้ใช้งานสูงถึง 115 ล้านคนทั่วโลกและได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่อุปสรรคที่สำคัญของพวกเขาก็คือ ด้วยความเทพของเทคโนโลยีของ Skype นั่นทำให้บางประเทศถึงขั้นแบน เพราะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทางด้านโทรคมนาคมภายในประเทศ

ในปี 2008 eBay ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทที่มีอายุได้เพียง 2 ปี ด้วยมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ แม้มันจะเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่เหตุผลที่ eBay ซื้อ Skype ก็เพื่อช่วยเหลือในการสื่อสารระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อในธุรกิจ ecommerce

แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้ผลตามที่ eBay คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเหล่าผู้ใช้ใน eBay แทบไม่ได้ใช้มันก่อนที่จะซื้อและขายกันด้วยซ้ำ ดังนั้นมันจึงกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เหล่าผู้คนนิยมใช้การ chat มากกว่า

เมื่อ eBay ซื้อกิจการ Skype ก็มีผู้ใช้งาน 50 ล้านคนแล้วและมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี แต่ eBay ประสบปัญหาในการใช้งาน Skype มาเป็นส่วนเสริมของธุรกิจตนเอง

eBay ซื้อ Skype ก็เพื่อช่วยเหลือในการสื่อสารระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อในธุรกิจ ecommerce  (CR:The New York Times)
eBay ซื้อ Skype ก็เพื่อช่วยเหลือในการสื่อสารระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อในธุรกิจ ecommerce (CR:The New York Times)

eBay ได้จ้าง CEO คนใหม่ชื่อ Josh Silverman ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2008 เขาได้มุ่งไปที่การโทรผ่านวีดีโอ ปรับปรุงโปรแกรมการสมัครสมาชิกใหม่ และสร้างบัญชีพรีเมี่ยม นอกจากนั้นเขายังสร้างแอปสำหรับอุปกรณ์ iOS ซึ่งกลายเป็นการเดินเกมครั้งสำคัญ เนื่องจากยอดดาวน์โหลดแอปบนอุปกรณ์ iOS ทะลุล้านภายในเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น

นั่นทำให้ภายในปี 2009 Skype มีผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นถึง 380,000 คนต่อวันและมีรายได้ 740 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภายในปี 2009 eBay ได้ขายหุ้น 70% ของ Skype ให้กลุ่มการลงทุนที่นำโดย Silvershake ในราคา 1.9 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2010 จำนวนการดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านครั้ง

Skype แทบจะผูกขาดการสนทนาทางวีดีโอ 25% ของวีดีโอคอลทั่วโลกใช้งาน Skype นั่นทำให้ดึงดูดให้ Google และ Microsoft ต้องการที่จะเข้ามาซื้อกิจการของ Skype จาก eBay ทันที

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2011 Microsoft ได้ประกาศซื้อกิจการ Skype ด้วยมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ มันทำให้กลายเป็นแอปที่ได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องมูลค่าของมันที่สูงกว่าราคาประเมินไว้ถึง 3 เท่า

นิตยสารไทม์ ได้พาดหัวข่าว “อีกไม่กี่ปีข้างหน้า การซื้อ Skype ของ Microsoft มูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ จะดูเป็นเรื่องบ้าบอคอแตก และไม่ใช่ความคิดที่ดีอย่างแน่นอน”

การซื้อกิจการดังกล่าวนำไปสู่การรวมระบบระหว่าง Skype และ Microsoft Teams แม้ว่าสถานการณ์ในตอนนั้น Skype จะมีจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลและแทบไร้ซึ่งคู่ต่อกร แต่ดูเหมือนว่า Microsoft เองก็ยังไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนผู้ใช้เหล่านี้ให้เป็นกำไรได้อย่างไร

Microsoft เลือกที่จะผลักดัน Teams โดยใช้คุณลักษณะหลายอย่างจาก Skype และปรับปรุงจุดอ่อนทั้งหมดเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด และดึงดูดผู้ใช้งานราว ๆ 100 ล้านคนต่อวันภายในปี 2020

นอกจากนี้ในปี 2016 Microsoft ยังได้เข้าซื้อกิจการของ Linkedin ดังนั้นเมื่อพวกเขาต้องการสร้างแพลตฟอร์มวีดีโอแชท Microsoft เลือกการผสานรวมระหว่าง Teams กับแอปภายนอกอย่าง Zoom และ BlueJeans ซึ่งแทบจะไม่ชายตามอง Skype ของบริษัทตัวเองเลยด้วยซ้ำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของ Skype แทบจะทันที

หลังจากนั้นตลาดวีดีโอคอลก็แข่งขันกันอย่างบ้าคลั่ง Apple ก็มี Facetime ของตนเองที่ทำงานได้ดีในระบบนิเวศของ Apple รวมถึงการเกิดขึ้นของ Whatsapp หรือ Zoom ทำให้ Skype ได้รับความนิยมน้อยลงไปเรื่อย ๆ

แม้ในช่วงการแพร่ระบาดผู้ใช้งานของ Skype จะเพิ่มขึ้นจาก 24 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็น 40 ล้านคนในเดือนมีนาคม 2020 แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับผู้ใช้รายวันของ Zoom ที่แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีผู้ใช้งาน 300 ล้านคน

Zoom ที่แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีผู้ใช้งาน 300 ล้านคน (CR:Zoom Blog)
Zoom ที่แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีผู้ใช้งาน 300 ล้านคน (CR:Zoom Blog)

เหล่าผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มธุรกิจหันมาใช้เครื่องมืออย่าง Zoom หรือ Whatsapp ของ Meta แทน และยังมีตัวเลือกอีกมากมายในการติดต่อกับกลุ่มเพื่อนและเพื่อนร่วมงานผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็ว

หรือแม้กระทั่ง Teams ที่ Microsoft ผลักดันแบบเต็มตัว ก็ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โดยมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้เกือบ 250 ล้านคนในเดือนกรกฎาคม 2021 พุ่งขึ้นสูงเป็นมากกว่า 300 ล้านคนในไตรมาสแรกของปี 2022

บทสรุป

ต้องบอกว่า Microsoft ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม เพราะตอนที่เข้าซื้อกิจการ Skype มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 40% ของการโทรและวีดีโอคอลทั่วโลก

แต่สิ่งที่ทำให้ Skype ยอดเยี่ยมคือเบื้องหลังเทคโนโลยี เพียร์ทูเพียร์ (P2P) ซึ่งถ้าสังเกตุดี ๆ Skype จะทำงานได้ดีบนแล็ปท็อปและเดสก์ท็อป ในขณะที่การทำงานบนอุปกรณ์พกพานั้นพวกเขาทำได้แย่มาก ๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีอยู่มากมายในตลาด

นั่นเป็นเพราะ Skype ถูกสร้างขึ้นมาบนเทคโนโลยีเก่าบนฟังก์ชั่นเพียร์ทูเพียร์ ซึ่งในปี 2013 Microsoft ได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเบื้องหลังของ Skype จาก P2P ไปยังเซิร์ฟเวอร์คลาวด์แทน หลังจากวันนั้น Skype ก็ทิ้งไว้แค่ชื่อ และกลายเป็นจุดจบของ Skype อย่างแท้จริงนั่นเองครับผม

References :
https://www.cnbc.com/2023/07/02/the-rise-and-fall-of-skype.html
https://medium.com/@startup_gist/the-rise-and-fall-of-skype-bca7bbdb6327
https://www.taskade.com/blog/skype-history/
https://www.yoozoom.co.uk/what-happened-to-skype

สรุปเนื้อหา บทเรียนผู้นำจากการทำ IPO สตาร์ทอัพสามหมื่นล้าน โดย Mike Scarpelli

Mike Scarpelli ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Snowflake บริษัทที่ให้บริการ Cloud Computing ชื่อดังได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับภาวะผู้นำและการบริหารทีมจากการผลักดันให้บริษัทสตาร์ทอัพที่เขาดูแลสามารถ Exit ได้ถึงสามบริษัท

Mike ได้กล่าวถึงคุณค่าของความขยันหมั่นเพียรที่เขาได้ยึดถือมาตลอด 3 ทศวรรษ ความสำคัญของความไว้วางใจ การทำงานอย่างหนัก ทักษะการเจรจาต่อรอง และการหลีกเลี่ยงการควบคุมอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เขาย้ำถึงความจำเป็นในการสื่อสารอย่างชัดเจน ภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ การทำตัวให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และการทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ในสภาพแวดล้อมของสตาร์ทอัพ

Highlights

⏱️ Mike Scarpelli เน้นย้ำถึงความสำคัญของความไว้วางใจ และสนับสนุนให้คนแสดงความคิดเห็นอย่างรอบคอบ ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจภายในองค์กร

⏱️ จากการเติบโตมาพร้อมกับการทำงานอย่างหนัก Scarpelli ได้เรียนรู้คุณค่าของการทุ่มเทเวลาทำงานอย่างหนัก และอุทิศตนเพื่อให้งานสำเร็จ

⏱️ Scarpelli ย้ำถึงความสำคัญของการทำงานหนัก และยอมเสียสละความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อประสบความสำเร็จในบทบาทที่ท้าทายอย่างตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน

⏱️ จากประสบการณ์ที่ HPL Technologies Scarpelli ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเจรจาต่อรอง และการมุ่งหาผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

⏱️ Scarpelli กล่าวถึงวิวัฒนาการของบทบาทผู้นำจากการเป็นผู้ปฏิบัติงาน สู่การเป็นโค้ช เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสอนและการเสริมสร้างพลังให้กับผู้อื่น

⏱️ โบนัสรายไตรมาสตามผลงานถือเป็น feedback mechanism ที่ดีที่สุดในแนวทางการเป็นผู้นำของ Scarpelli ซึ่งให้แรงจูงใจอย่างชัดเจนแก่พนักงาน

Key Insights

💡 ความไว้วางใจและการสื่อสารแบบเปิดเผย: Scarpelli เน้นย้ำความสำคัญของความไว้วางใจ และสนับสนุนให้มีการสื่อสารภายในองค์กรอย่างเปิดเผย การสร้างความไว้วางใจผ่านความคิดเห็นที่มีการถกเถียงอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันและการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

💡 จริยธรรมในการทำงานและการเสียสละ: จากการเติบโตมาพร้อมกับการทำงานอย่างหนัก Scarpelli เชื่อว่าการทุ่มเทเวลาและความพยายามเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เขาแนะนำให้ผู้ที่ต้องการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงอย่างประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ให้ความสำคัญกับงานเป็นอันดับแรกมากกว่าเรื่องของ Work-life balance เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จในบทบาทที่ท้าทายดังกล่าว

💡 การเจรจาต่อรองและผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน: ประสบการณ์ด้านการเจรจาต่อรองของ Scarpelli ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมุ่งหาผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากกว่าการมุ่งเน้นแค่การได้ราคาที่ต่ำที่สุด การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ

💡 การตัดสินใจอย่างกล้าหาญ: Scarpelli แบ่งปันตัวอย่างของการตัดสินใจอย่างกล้าหาญ โดยการยืนยันให้มีชื่อของ Berkshire Hathaway บนหน้าปกของแบบฟอร์ม S-1 ในการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกของ Snowflake แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการยืนหยัดในหลักการของเขา

💡 วิวัฒนาการของบทบาทความเป็นผู้นำ: เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น Scarpelli เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้ปฏิบัติงานไปสู่การเป็นโค้ช การเสริมสร้างพลังให้กับลูกทีมและการสอนผู้อื่นจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้นำสามารถมุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์แทนการควบคุมการทำงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด

💡 feedback mechanism ด้วยแรงจูงใจทางการเงิน: โบนัสรายไตรมาสตามผลงานถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับพนักงาน ซึ่งมันจะให้ความชัดเจนเกี่ยวกับความคาดหวังของพนักงาน และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานทำงานอย่างเต็มที่ ส่งเสริมการเติบโตและความก้าวหน้าภายในองค์กร

💡 ภาวะตำแหน่งงานเฟ้อและความเป็นผู้นำที่เข้าถึงได้ง่าย: Scarpelli เตือนเกี่ยวกับภาวะตำแหน่งงานเฟ้อภายในองค์กรสตาร์ทอัพ การนำเสนอตําแหน่งงานที่สูงเกินจริง ซึ่งอาจไม่สะท้อนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบจริง และแนะนำให้จ้างบุคลากรในระดับที่เหมาะสม เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้นำที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และการทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ในสภาพแวดล้อมของสตาร์ทอัพ เพื่อการเรียนรู้และการเติบโตที่มีประสิทธิภาพ

Opinion

ส่วนตัวผมมองว่าการทำสิ่งเดียวกันและประสบความสำเร็จแบบเดียวกันถึงสามครั้งโดยเฉพาะกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยของ Mike Scarpelli เป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง ซึ่งหลาย ๆ เรื่องอาจจะดูขัดใจเช่นเรื่องของ Work-Life Balance แต่เราจะเห็นได้ว่าเหล่าผู้นำธุรกิจหลาย ๆ รายมองเหมือนกันในเรื่องนี้ว่ามันยากที่จะเกิดขึ้นจริงหากต้องการให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

โดยสรุปแล้วบทเรียนสำคัญจากประสบการณ์ของ Scarpelli ในการนำพาสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จ คือ การสร้างความไว้วางใจและส่งเสริมการสื่อสารแบบเปิดเผยในองค์กร การทำงานอย่างหนัก ปรับบทบาทจากงาน Operation เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น ให้รางวัลกับพนักงานอย่างเป็นธรรม และพยายามทำตัวให้เข้าถึงง่าย เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะพาองค์กรโดยเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

มาสด้าทรานส์ฟอร์มองค์กร เสริมทัพผู้บริหาร ดันคนเก่งเสริมแกร่ง เร่งเครื่องสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นสร้างประสบการณ์ลูกค้า

มาสด้าผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ระดับพรีเมียมสัญชาติญี่ปุ่น ประกาศเสริมทัพครั้งสำคัญเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต Competitive Advantage ดันผู้นำรุ่นใหม่เสริมความแข็งแกร่งการบริหารงานองค์กรแบบ 360 องศา นำแนวความคิดและเทคนิควิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่เชิงสร้างสรรค์

ภายใต้กลยุทธ์ Retention Business Model ให้ความสำคัญด้านการขาย การบริการ การดูแลลูกค้า โดยเฉพาะการสร้างความพึงพอใจสูงสุดกับแฟนมาสด้าในประเทศไทยให้เกิดความประทับใจ ด้วยพันธสัญญาเร่งด่วนคือส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้าสัมผัสได้

ยึดมั่นสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตอกย้ำแบรนด์คือหัวใจสำคัญ การสร้างแบรนด์คือแนวทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน สร้างความมั่นใจและยกระดับประสบการณ์ลูกค้าในทุกมิติ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเสริพทัพนับจากปีนี้เป็นต้นไป

มร. ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ มีภารกิจหลักร่วมกัน คือการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนภายใต้นโยบาย Retention Business Model ผ่านการสร้างประสบการณ์ลูกค้าให้ดีที่สุด

ขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรด้วยการทำงานเป็นทีม “One Mazda” รองรับ New Business Landscape ในอนาคต ตลอดจนการ Empowerment ดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วมทีม และดันผู้บริหารรุ่นใหม่ขององค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ AGILE ให้เกิดความคล่องตัว เป็นมืออาชีพ และไร้รอยต่อ จากพนักงานภายในองค์กรสู่ผู้แทนจำหน่ายถ่ายทอดถึงลูกค้า

ผ่านคุณค่าหลัก 3 แกน คือ ให้ความสำคัญกับมนุษย์อย่างแท้จริง มีสปิริตของนักสู้ แบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น Omotenashi มอบประสบการณ์ความประทับใจด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร ตามวิสัยทัศน์การมุ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่จะสร้างความสุขที่มากกว่าแค่ความสุขในการขับรถ สร้างคุณค่าและเติมเต็มชีวิตให้กับผู้คนที่ได้สัมผัสแบรนด์มาสด้าในทุกประสบการณ์และทุกช่วงเวลาของชีวิต

การปรับโครงสร้างการบริหารงานองค์กรใหม่ในครั้งนี้ ครอบคลุมการบริหารงานภายในองค์กรครบทุกฟังก์ชัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567

  • สายงานกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ นำทัพโดย นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหาร หรือ Executive Vice President กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจมาสด้าแบบครบวงจร ขับเคลื่อนองค์กรและผลักดันความสำเร็จของ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ให้เป็นแบรนด์ที่สร้างความรักความผูกพันอย่างเหนียวแน่นในใจของลูกค้าตลอดไป
  • สายงานวางแผนกลยุทธ์และปฏิบัติการ นำโดย มร. ทาเคชิ มิคามิ รองประธานบริหารส่วนวางแผนกลยุทธ์และปฏิบัติการ ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร CFT Operations หรือ Vice President  ผ่านวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติงาน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมถึงทำงานร่วมกันด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างวัฒนธรรมญี่ปุ่นผนวกกับความแข็งแกร่งของบุคลากรคนไทย
  • สายงานขาย นำโดย นายพิเชษฐ์ ปุณณารักษ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย หรือ General Manager กำกับดูแลส่วนงานขายทั่วประเทศ ประสานงานกับผู้จำหน่ายแบบไร้รอยต่อ เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการดำเนินธุรกิจรถยนต์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปและมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
  • สายงานบริการหลังการขาย ดึง นายศราวุฒิ บรรยงค์กุล เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการหลังการขาย หรือ General Manager กำกับดูแลส่วนงานบริการหลังการขายทั่วประเทศ การวางระบบหลังบ้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้า เพราะการบริการคือหัวใจสำคัญของการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า
  • สายงานการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ นำทีมโดย นายวัชระ เจียรบุญ ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไปแผนกการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ กำกับดูแลส่วนงานวางแผนกลยุทธ์การตลาด การสื่อสารแบรนด์ การวางแผนผลิตภัณฑ์ และสร้างสรรค์ประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงติดต่อประสานงานกับภาครัฐ

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับภาวะตลาดรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาธุรกิจให้สามารถเดินหน้าและเติบโตมั่นคงได้นั้น การเตรียมพร้อมตั้งแต่กระบวนการในการจัดการบริหารองค์กร และการพัฒนาองค์กรยุคใหม่ให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่หลาย ๆ องค์กรหันมาใส่ใจกันมากขึ้น

การปรับทัพผู้บริหารมาสด้าในจังหวะที่ตลาดรถยนต์มีการแข่งขันที่รุนแรงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดที่มาสด้ากำลังก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต

โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่และรถยนต์รุ่นใหม่ที่กำลังจ่อคิวลงตลาดในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นตลาดรถยนต์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งผู้บริหารทั้งหมดจะนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญ ความสามารถอันเต็มเปี่ยม และประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมายาวนานมาบริหารองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของบริษัทร่วมกัน โดยเฉพาะการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นเลิศให้ลูกค้า นำพาให้มาสด้าก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืน

บุคคลในภาพ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (จากซ้ายไปขวา)

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานกรรมการบริหาร, นายพิเชษฐ์ ปุณณารักษ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย, มร. ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร, นายวัชระ เจียรบุญ ผู้จัดการทั่วไปแผนกการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์, นายศราวุฒิ บรรยงค์กุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการหลังการขาย, มร. ทาเคชิ มิคามิ รองประธานบริหารส่วนวางแผนกลยุทธ์และปฏิบัติการ

สรุปหนังสือ Power and Progress ประวัติศาสตร์ 1,000 ปี ของเทคโนโลยีและความรุ่งเรืองของมนุษย์

เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่าตอนนี้เรากำลังเดินหน้าสู่สังคมที่ดีขึ้นและมีชีวิตที่แสนสะดวกสบาย เราได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ เช่น สมาร์ทโฟน รถยนต์ EV โซเชียลมีเดีย หรือ เทคโนโลยีสุดฮ็อตอย่าง AI

หนังสือเล่มนี้ผู้แต่งคือ Daren Acemoglu และ Simon Johnson ที่เป็นศาสตราจารย์ระดับท็อปจาก MIT โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในกำหนดทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มากขึ้น โดยกล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจ และบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องข้อคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่น การปรับระบบภาษีให้เท่าเทียมกันสำหรับการทำงานอัตโนมัติ การควบคุมกำกับดูแล การบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่แตกบริษัทลูกออกมา การสร้างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง

เพราะไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย เทคโนโลยีแม้จะบันดาลให้ชีวิตคนดีขึ้นได้ก็จริง แต่มันก็ทิ้งบาดแผลไว้เช่นกัน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน มลพิษ เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องสร้างความเจริญนั้นขึ้นมาเอง ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางได้ตามอำเภอใจ

Highlights

📝 เปิดด้วย quotes ที่เป็น message หลักของหนังสือเล่มนี้ได้ดีมาก ๆ “ความเจริญไม่เคยเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ความเจริญในปัจจุบันนี้ยังคงกระจายอยู่แค่ในกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุน ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงอับจนไร้หนทาง”

🏭 การยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีมีทั้งการปรับปรุงและเป็นอุปสรรคต่อชีวิตของคนงาน เช่น การใช้กังหันลมในยุคกลาง และการประดิษฐ์เครื่องปั่นฝ้ายในศตวรรษที่ 18

🔎 มีการอธิบายถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ด้านอำนาจและธรรมชาติของเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยใช้ตัวอย่างจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษและสภาพปัจจุบันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

💡 มีการเน้นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องและช่วยเหลือมนุษย์มากยิ่งขึ้น และเสนอมาตรการด้านนโยบาย เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบภาษี การกำกับดูแลจากรัฐบาล การบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่แตกบริษัทลูกออกมา และการสร้างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง

🌍 หัวข้อในเรื่องบทบาทของการกระจายอำนาจ และโอกาสในการสร้างโครงสร้างองค์กรใหม่ เช่น สหกรณ์ เพื่อสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

🎙️ มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพิจารณามุมมองและแนวทางต่างๆ ต่อเทคโนโลยี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อมนุษยชาติ

Key Insights

🔑 ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีความสำคัญต่ออนาคตของมนุษย์เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ AI และระบบอัตโนมัติทั้งหลาย การเลือกระหว่างการให้ความสำคัญกับการทำงานแบบอัตโนมัติหรือการสร้างงานใหม่ให้กับแรงงานมีผลกระทบอย่างมากต่อเรื่องของการเพิ่มผลผลิต ความเหลื่อมล้ำ และบทบาทการมีส่วนร่วมของมนุษย์

🔑 การย้อนประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของความสัมพันธ์ด้านอำนาจต่อผลลัพธ์ของเทคโนโลยี พลังอำนาจมีอิทธิพลต่อประโยชน์ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งในยุคกลางและยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งในตัวอย่างที่กล่าวในหนังสือเล่มนี้ เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต แต่ประโยชน์กลับตกอยู่กับชนชั้นสูง ในขณะที่คนงานไม่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตมากนัก

🔑 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสร้างผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การแสวงประโยชน์จากแรงงาน ภัยคุกคามต่อสาธารณสุข ในขณะที่ผู้ที่ได้รับประโยชน์กลับเป็นเพียงแค่ชนชั้นสูงแคบๆ ที่ควบคุมเทคโนโลยีในยุคนั้นๆ

🔑 วิสัยทัศน์หลักของวงการเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์และแวดวงวิชาการส่งเสริมแนวคิดที่ว่า AI และระบบอัตโนมัติทั้งหลายคืออนาคต ทำให้เป็นการละเลยโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ เพิ่มผลิตภาพ และการให้ความสำคัญกับบทบาทของมนุษย์ที่น้อยลงไป

🔑 จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี มีการนำเสนอมาตรการด้านนโยบายหลายประการ เช่น ปรับระบบภาษีให้จูงใจการใช้แรงงานมนุษย์มากกว่าระบบอัตโนมัติ จัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำหนดการใช้ AI ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ภาษีโฆษณาดิจิทัลเพื่อส่งเสริมรูปแบบธุรกิจทางเลือก

🔑 การมีส่วนร่วมและบทบาทของมนุษย์ยังคงมีความสำคัญแม้จะมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นการหักล้างแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยี AGI (Artificial General Intelligence) จะทำให้มนุษย์ล้าสมัย โดยเน้นว่ามนุษย์จะยังคงมีบทบาทสำคัญในงานต่างๆ และการนำระบบอัตโนมัติมาใช้มากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลิตภาพและการพัฒนาของมนุษย์

🔑 บทเรียนจากภาคธุรกิจพลังงานสร้างความหวังในการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมีการชี้ให้เห็นความสำเร็จของนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้รับการผลักดันจากการกำกับดูแลของรัฐบาล การอุดหนุนจากภาครัฐ และการมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าความพยายามอย่างจริงจังสามารถเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้

🔑 ความสำคัญของการเปลี่ยนแนวความคิดซะใหม่ โดยไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องหันมาโฟกัสกับนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีอำนาจ และให้กระบวนการประชาธิปไตยมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต

บทสรุป

ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับแวดวงเทคโนโลยีที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่งเลยทีเดียว ที่ชี้ให้เห็นว่าทิศทางการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี (โดยเฉพาะ AI) ให้เป็นมิตรกับมนุษย์มากยิ่งขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

เนื่องจากมันจะส่งผลให้เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาในทิศทางที่ตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เราอย่างแท้จริง ทำให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ แทนที่จะเป็นภัยคุกคามหรือมาแย่งชิงตำแหน่งงานของมนุษย์ไป

เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมของมนุษย์เราในการกำหนดทิศทางเทคโนโลยีเหล่านี้ และที่สำคัญต้องเป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันมักจะถูกกำหนดโดยบริษัทเทคโนโลยีหน้าเลือดขนาดใหญ่ ที่มองแต่กำไรเป็นที่ตั้ง ซึ่งทำให้ขาดมุมมองที่เทคโนโลยีเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

โดยสรุปแล้วแนวคิดหลักของหนังสือเล่มนี้คือ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ให้เอื้อต่อประโยชน์ของมนุษย์มากขึ้น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการมีส่วนร่วม

โดยเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแล ภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และประชาชนคนทั่วไปในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางเพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ และมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

หนังสือเล่มนี้จะช่วยเตือนสติพวกเราว่าความไม่เป็นกลางของเทคโนโลยี และความจำเป็นที่ต้องมีกลไกลทางการเมืองเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีจะกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่เราทุกคนควรตระหนักเป็นอย่างมาก ในยุคแห่งความก้าวหน้าทางดิจิทัลที่ครอบงำโดยจักรวรรดิบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างที่เราได้เห็นกันทุกวันนี้นั่นเองครับผม


สุดท้ายก็ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ bingo นะครับที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้อ่าน ถ้าใครสนใจหนังสือเล่มนี้ก็ไปจัดกันได้เลยที่ -> https://bingobook.co/product/power-and-progress/