10 ปีผ่านไป ฉันยังสงสัยว่าฉันคิดผิดหรือเปล่าที่ให้สมาร์ทโฟนกับลูกสาว

เมื่อเวลาเป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีกับการเติบโตของเด็ก ๆ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเหล่าผู้ปกครองว่าควรที่จะมอบสมาร์ทโฟนแก่ลูก ๆ ดีหรือไม่

มันมีข้ออ้างมากมายว่าเด็ก ๆ ควรจะได้รับสมาร์ทโฟน เพราะพวกเขาจะกลายเป็นคนนอกสังคมที่ไม่มีโทรศัพท์ใช้ เพราะคนอื่น ๆ ต่างมีโทรศัพท์

ผู้ปกครองหลายคนก็คิดว่าโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ทำให้เด็กที่เกิดปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าสามารถที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองได้

กลุ่มที่มีชื่อว่า Sapien Labs ซึ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตของเด็ก ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี เกือบ 28,000 คน

Sapien ซึ่งได้ทำการวิจัยกับกลุ่มคน Gen Z อธิบายว่าคนกลุ่มนี้เป็น “กลุ่มคนรุ่นแรกที่ผ่านวัยรุ่นด้วยเทคโนโลยีนี้”

ไม่แปลกใจเลยที่การวิจัยของกลุ่มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสภาพจิตใจของคน Gen Z นั้นแย่กว่าคนรุ่นก่อน ๆ

สุขภาพจิตของวัยรุ่นแย่ลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นกระแสหลัก และปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ Sapien ติดตามช่วงอายุผู้ที่ตอบแบบสอบถามในการมีโทรศัพท์มือถือเป็นครั้้งแรกและเปรียบเทียบสิ่งนี้กับผลสุขภาพจิตที่รายงานออกมา

มันแสดงให้เห็นรูปแบบที่ชัดเจน เด็กที่รับโทรศัพท์ตั้งแต่อายุยังน้อยมีสุขภาพจิตที่แย่ลง โดยสัดส่วนของเด็กผู้หญิงที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตมีตั้งแต่ 74% สำหรับผู้ที่ได้รับสมาร์ทโฟนเครื่องแรกเมื่ออายุ 6 ขวบ จนถึง 46% ของผู้ที่ได้รับสมาร์ทโฟนเมื่ออายุ 18 ปี ส่วนของเด็กผู้ชายนั้นตัวเลขอยู่ที่ 42% และ 36% ตามลำดับ

รูปแบบดังกล่าวมีความสำคัญอย่างหนึ่งในประเภทของสุขภาพจิตที่เรียกว่า “social self” ซึ่งจะติดตามว่าเรามองตนเองอย่างไรและเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างไร

Sapien ระบุว่ารูปแบบดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่มีแนวโน้มในการเสพติดการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ลดลงด้วย

จากสถิติการใช้เวลา 5-8 ชั่วโมงต่อวันทางออนไลน์ในช่วงวัยเด็ก มีการคาดการณ์ว่าสิ่งนี้หากนับเป็นจำนวนชั่วโมงจะมากถึง 1,000 – 2,000 ชั่วโมงต่อปี แทนที่จะใช้เวลาไปปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบเห็นหน้าเห็นตากับผู้อื่นในสังคม

ก่อนที่เราจะพิจารณาผลกระทบอื่น ๆ ของเทคโนโลยี ตั้งแต่เรื่องของเนื้อหาที่เด็กสามารถดูได้ทางออนไลน์ ไปจนถึงการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต และความกดดันที่ต้องโต้ตอบกับโลกของโซเชียลมีเดียตลอดเวลา

Jonathan Haidt ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า “โทรศัพท์โดยตัวมันเองนั้นไม่ได้เป็นอันตราย แต่สมาร์ทโฟนที่เต็มไปด้วยแอปเปรียบดั่งคำสาปของซาตาน”

Jonathan Haidt ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (CR:The Chronicle of Higher Education)
Jonathan Haidt ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (CR:The Chronicle of Higher Education)

เมื่อเด็กมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองและใช้งานได้ตามต้องการ พวกเขาจะประสบปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับการอดนอนและการเสพติดไปกับมัน

ทางออกคืออะไร?

ในปัจจุบันมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเนื้อหาจากบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการควบคุมเนื้อหาบางอย่าง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Youtube ได้ร่วมมือกับสมาคมโรคการกินผิดปรกติแห่งชาติของอเมริกาเพื่อจำกัดเนื้อหาที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้มีอิทธิพลทางโซเชียลมีเดียรุ่นใหม่ เช่น Linda Sun และ Natacha Oceane ส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อร่างกายและรณรงค์ต่อต้านในเรื่องการทรมานตัวเองด้วยการอดอาหาร

Linda Sun Youtuber คนดังต้องช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง (CR:Youtube)
Linda Sun Youtuber คนดังต้องช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง (CR:Youtube)

แต่ก็ยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับคำถามที่ว่า เราควรห้ามเด็กเล็กไม่ให้ใช้สมาร์ทโฟนหรือไม่? หรืออย่างน้อยก็ระงับอุปกรณ์ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ซึ่งก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องยากมาก ๆ สำหรับเหล่าผู้ปกครองหรือโรงเรียนในยุคปัจจุบันที่จะควบคุมหรือจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือ

ในขณะที่มีความเห็นว่าโรงเรียนควรขอให้เด็ก ๆ ทิ้งโทรศัพท์ไว้ในล็อกเกอร์ขณะอยู่ในชั้นเรียน แต่ผู้ปกครองอาจคัดค้านเนื่องจากพวกเขาต่างกังวลว่าจะติดต่อลูก ๆ ไม่ได้หากเกิดอะไรขึ้น เช่น เหตุกราดยิงในโรงเรียน

มีสัญญาณแห่งความหวังเล็ก ๆ ได้เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัส มีการเคลื่อนไหวให้กำหนดว่าเด็ก ๆ ควรจะรอจนกว่าจะถึงเกรด 8 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2) ถึงจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ โดยมีครอบครัวมากกว่า 45,000 คนที่ลงทะเบียนสนับสนุน

แน่นอนว่าหากใครมีลูกเล็ก ๆ ก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการต่อสู้ในเรื่องนี้ในอนาคตข้างหน้า เพราะอย่าไปหวังพึ่งเหล่าผู้ประกอบการที่หิวโหยเงินตรา ที่จะหวังว่าพวกเขาจะสร้างโทรศัพท์มือถือโง่ๆ ที่ปราศจากสิ่งล่อตาล่อใจจากอินเทอร์เน็ต เพราะท้ายที่สุดแล้วเด็กคือกลุ่มเป้าหมายหลักเป้าหมายแรกที่พวกเขาต้องการที่จะล่อลวงมาเสพติดเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.ft.com/content/da7bd5c6-1d29-4c40-8578-05966b84346b
https://www.todaysparent.com/family/parenting/yes-your-smartphone-habit-is-affecting-your-kid-heres-how/
https://www.nytimes.com/2016/07/21/technology/personaltech/whats-the-right-age-to-give-a-child-a-smartphone.html
https://www.theatlantic.com/family/archive/2019/09/i-wont-buy-my-teenagers-smartphones/597805/