แม้ว่าโลกของเทคโนโลยีจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วแค่ไหน แต่ต้องบอกว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับแวดวงนี้
มันได้กลายเป็นเรื่องดราม่าซ้ำซ้อนของ Sam Altman ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ที่ถูกกรรมการของบริษัทถีบตกเก้าอี้อย่างกะทันหัน และอีกวันถัดมาเหล่านักลงทุนและพนักงานของบริษัทบางส่วนพยายามที่จะดึงตัว Sam Altman กลับมา ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยเมื่อเช้านี้ที่ Satya Nadell ซีอีโอของ Microsoft กระชากตัว Sam มาร่วมชายคาพร้อมตำแหน่งผู้นำทีมวิจัย AI ขั้นสูงสุด ซึ่งเป็นภารกิจที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของ Microsoft ในตอนนี้
ทุกอย่างเหมือนบทละครดราม่าที่เกิดขึ้นบนทางแยกที่สำคัญของวงการเทคโนโลยีโลก และมีความสำคัญมาก ๆ ต่ออนาคตของมนุษยชาติเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ OpenAI ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดของความแตกแยกใน Silicon Valley ด้านหนึ่งเรียกว่ากลุ่ม Doomers ซึ่งเชื่อว่าหากปล่อยให้ AI ก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษยชาติ และด้วยเหตุนี้จึงสนับสนุนให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
อีกฟากฝั่งเรียกตัวว่า Boomers ที่เน้นย้ำถึงการผลักดันศักยภาพของเทคโนโลยี AI ขัดขวางกฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะเข้ามาจัดการหรือควบคุม AI และผลักดันให้ใช้เชิงพาณิชย์และสร้างกำไรจากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด
โครงสร้างองค์กรของ OpenAI ถูกออกแบบไว้เพื่อรอบรับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่แรก บริษัทก่อตั้งขึ้นโดยเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในปี 2015 และก่อตั้งบริษัทในเครือที่แสวงหาผลกำไรในอีกสามปีต่อมา
เนื่องจากการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดังกล่าวให้ก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วนั้น เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญเพราะ AI สูบกิน Data และพลังการประมวลผลอย่างบ้างคลั่ง และทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย
กลุ่ม Boomers ใช้แนวคิดที่เรียกว่า “effective accelerationism” ซึ่งไม่เพียงแต่ผลักดันให้ AI พัฒนาต่อไปโดยไม่มีอุปสรรคเพียงเท่านั้น แต่ยังควรเร่งความเร็วมันอีกด้วย ผู้นำในเรื่องนี้คือ Marc Andreessen ผู้ก่อตั้ง Andreessen Horowitz บริษัทร่วมลงทุนผู้หิวกระหายเงิน
ดูเหมือนว่า Sam เองจะมีความเห็นอกเห็นใจทั้งสองกลุ่ม โดยเรียกร้องให้มีการสร้างแนวป้องกันเพื่อให้ทำให้ AI ปลอดภัยขึ้น ในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ OpenAI พัฒนาโมเดลที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น
การเปิดตัวเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น App Store สำหรับผู้ใช้เพื่อสร้างแชทบอทของตนเอง ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของบริษัทอย่าง Microsoft ซึ่งทุ่มเงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่ OpenAI ด้วยสัดส่วน 49% โดยไม่ได้รับที่นั่งในบอร์ดแม้แต่เพียงเก้าอี้เดียว
เพราะฉะนั้นหลังจากที่ Sam ถูกบีบให้ออกทำให้ Microsoft ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลให้พวกเขาเสนอทางออกให้ Sam และเพื่อนร่วมงานของเขามาร่วมงานกับ Microsoft
กลุ่ม Doomers ถือเป็นผู้บุกเบิกการแข่งขัน AI ในยุคแรกมีทุนหนา ในขณะที่ฝั่ง Boomers ขยับจี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็กกว่าและชอบรูปแบบของการเป็นโอเพ่นซอร์สมากกว่า
เริ่มต้นด้วยผู้ชนะในช่วงต้น ChatGPT ของ OpenAI สามารถสร้างฐานผู้ใช้งานได้ 100 ล้านคนในเวลาเพียงแค่สองเดือนหลังการเปิดตัว และการไล่ตามมาแบบหายใจรดต้นคอโดย Anthropic ซึ่งก่อตั้งโดย Dario Amodei ผู้แปรพักตร์จาก OpenAI ที่ปัจจุบันมูลค่ากิจการพุ่งแตะ 25 พันล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย
หรือฝั่งของนักวิจัยจาก Google เองซึ่งถือได้ว่าสะสมบุคลากรระดับเทพในวงการไว้มากมาย กำลังซุ่มพัฒนา AI ที่ได้รับการฝึกอบรมด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะจาก Google เอง พวกเขากำลังสร้างโมเดลที่ใหญ่กว่าและชาญฉลาดกว่าอย่าง Bard
ในขณะเดียวกัน ความเป็นผู้นำของ Microsoft นั้นมาจากการเดิมพันครั้งใหญ่ใน OpenAI ฟากฝั่งของ Amazon เองก็ไม่น้อยหน้าวางแผนที่จะลงทุนสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐใน Anthropic
แต่ก็ต้องบอกว่าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมันมีบทเรียนมากมายว่า เทคโนโลยีสุดล้ำไม่ได้รับประกันความสำเร็จเสมอไป อยู่ที่ว่าใครจะนำเสนอสู่ผู้บริโภคได้ดีกว่า และในตลาดที่ทั้งเทคโนโลยีรวมถึง demand ความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ผู้เข้ามาใหม่ก็มีโอกาสมากมายที่จะเอาชนะผู้นำได้อยู่เสมอ
และความแตกแยกระหว่างทั้งสองกลุ่มถูกกั้นกลางด้วยอนาคตของ AI แบบโอเพ่นซอร์ส การเปิดตัว LLAMA ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างโดย Meta ได้กระตุ้นกิจกรรมให้เกิดขึ้นในแวดวง AI แบบโอเพ่นซอร์สแบบคึกคักเป็นอย่างมาก
เหล่าผู้สนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็ก มอง Meta เหมือนฮีโร่ และพวกเขาก็สนับสนุนแนวคิดของ Meta เพราะมองว่าโมเดลโอเพ่นซอร์สนั้นปลอดภัยกว่าเนื่องจากเปิดให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยคนหมู่มาก
แต่อย่างไรก็ตามโลกคงไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น เนื่องจากนายทุนใหญ่คือ Meta บางทีการสนับสนุนโอเพ่นซอร์ส Mark Zuckerberg อาจจะพยายามหาทางสอดแนมหนทางในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้จากเหล่าสตาร์ทอัพเพื่อมาไล่ล่าให้ตามทันยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley เจ้าอื่น ๆ
มีบันทึกที่เขียนโดยคนวงในของ Google ซึ่งรั่วไหลออกมาในเดือนพฤษภาคมได้ยอมรับว่าโมเดลโอเพ่นซอร์สกำลังบรรลุผลงานในบางอย่างที่เทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ของเทคโนโลยีนี้ แต่มีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามากในการสร้างสรรค์มันขึ้นมา
ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทุกแห่งจะตกอยู่ในวงวันแห่งความแตกแยกนี้ Meta เลือกทางเดินสายกลางสนับสนุนสตาร์ทอัพแล้วปล่อยให้โลกของโอเพ่นซอร์สดำเนินการไป ซึ่งท้ายที่สุดพวกเขาจะเข้าถึงโมเดลอันทรงพลังสำหรับสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้
Meta กำลังเดิมพันจากนวัตกรรมของกลุ่มโอเพ่นซอร์ส ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะช่วยให้แพลตฟอร์มของตนเองสามารถสร้างเนื้อหารูปแบบใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้ติดใจและผู้ลงโฆษณามีความสุขกับการจ่ายเงินเพื่อกด Boost
ฟากฝั่ง Apple เรียกได้ว่านิ่งเงียบแบบผิดปรกติ บริษัทเทคโนโลยีที่ร่ำรวยและใหญ่ที่สุดในโลกปิดปากเงียบเกี่ยวกับ AI แทบจะไม่พูดถึงคำ ๆ ดังกล่าวนี้ตามยักษ์ใหญ่ Silicon Valley เจ้าอื่น ๆ
ในการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทได้นำเสนอฟีเจอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI มากมาย แต่หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “AI” แต่กลับใช้ศัพท์อื่นเช่น “Machine Learning (ML)” แทน
ต้องบอกว่าการล่มสลายของ OpenAI ที่กำลังเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าสงครามอุดมการณ์เหนือเทคโนโลยี AI สามารถสร้างความเสียหายได้มากมายเพียงใด แต่สงครามเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร จะมีการควบคุมอย่างไร และใครจะเป็นผู้ครอบครองเครื่องจักรทำเงินยุคใหม่จากเทคโนโลยีนี้ในอนาคตนั่นเองครับผม
References :
https://www.washingtonpost.com/technology/2023/11/18/sam-altman-ilya-sutskever-openai/
https://www.calcalistech.com/ctechnews/article/v50hawnv9
https://www.economist.com/business/2023/11/19/the-sam-altman-drama-points-to-a-deeper-split-in-the-tech-world
https://www.nytimes.com/2023/11/18/technology/open-ai-sam-altman-what-happened.html