เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งของไทยในปี 2570 อย่างไร

ถ้าวาระการทำงานของรัฐบาลปรกติอยู่ที่ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งถัดไปของประเทศไทยก็จะเกิดขึ้นในปี 2570

ความจริงบทความนี้อ้างอิงจาก The Economist ที่ทำนายว่าเทคโนโลยี AI นั้นจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปของสหรัฐอเมริกาในปี 2567 (2024) อย่างไร แต่ผมลองมาวิเคราะห์ดูกันว่าหากเป็นบริบทในประเทศไทยเราจะพบเจอกับอะไรบ้าง

เป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศมาก ๆ เมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นกำลังมีบทบาทที่สำคัญมาก ๆ ต่อการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นสิ่งชี้เป็นชี้ตายของการก้าวเดินไปข้างหน้าของแต่ละประเทศ

เราผ่านพ้นยุคที่เครือข่ายโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเลือกตั้งมาแล้ว ในอเมริกาที่ถือว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานสูง ก็นยังถูกโจมตีจากข้อมูลบิดเบือนที่เกิดขึ้นตัวอย่างเคสที่เกิดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016

แต่เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดความเป็นกังวัลที่มากกว่าเดิม เพราะเดิมทีนั้น ข้อมูลที่บิดเบือนมักจะถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะ Generative AI นั้น สามารถสร้างข้อมูลบิดเบือนที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่า

ปัจจุบันเราก็แทบจะแยกยากมาก ๆ อยู่แล้วว่าข้อมูลไหนคือจริง ข้อมูลไหนคือเท็จ โดยเฉพาะข้อมูลด้านการเมืองที่แต่ละฝ่ายมักจะเปิดเผยข้อมูลด้านเดียวที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

เทคโนโลยีอย่าง Generative AI จะสร้างชุดข้อมูลบิดเบือนโดยระบบอัตโนมัติ และมีความแนบเนียนยิ่งกว่าที่มันเคยถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์

เทคโนโลยี large-language models (LLMs) นั้น จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแรกก็คือ ปริมาณของข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ลองจินตนาการว่า ข้อมูลเหล่านี้ สามารถสร้างในระดับ 1 ล้านชุดข้อมูลได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน ก็อาจจะทำให้ผู้ลงคะแนนไขว้เขวได้เช่นกัน เมื่อเจอชุดข้อมูลผิด ๆ จำนวนมหาศาลขนาดนี้ และสามารถเสกมันได้เพียงไม่กี่นาที

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนก็คือ ความแนบเนียน และคุณภาพของเหล่าข้อมูลที่ถูกบิดเบือด ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะหลอกได้เพียงแค่คนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่เราจะเจอในอนาคตมันจะสามารถหลอกได้แนบเนียนและแม้แต่คนที่มีความรู้หรือเสพข่าวจากหลากหลายช่องทางอยู่แล้วก็อาจจะตกเป็นเหยื่อมันได้ เพราะมันจะมีความสมจริงที่เกินจินตนาการมากทั้งรูปภาพ เสียง วีดีโอ หรือ ข้อความที่มันพยายามส่งออกมา

และแน่นอนว่าสิ่งสำคัญก็คือมันกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เหล่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะถูกถาโถมไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อที่มีความเป็นส่วนตัวเฉพาะบุคคลมากขึ้น และเครือข่ายของบอทโฆษณาชวนเชื่อจะถูกตรวจจับได้ยาก

ส่วนเครือข่ายโซเชียลมีเดียเอง แม้จะมีระบบควบคุมในระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังมีความเสี่ยงสูง ตัวอย่างเช่น โมเดลโอเพ่นซอร์ส เช่น Meta’s Llama ซึ่งใช้ในการสร้างข้อความ และ Stable Diffusion ซึ่งใช้ในการสร้างรูปภาพ สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องมีการควบคุมดูแล

และไม่ใช่ว่าทุกแพลตฟอร์มนั้นจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน TikTok ซึ่งเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียที่เน้นไปที่วีดีโอสั้นมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน และแอปถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมคลิปไวรัลจากทุกแหล่ง ซึ่งเราได้เห็นกันมาแล้วในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยว่ามันส่งผลกระทบมากเพียงใด

รวมถึง X (Twitter) หลังจากที่ Elon Musk ซื้อกิจการไป และทำให้แพลตฟอร์มดังกล่าวกลายเป็นสวรรค์ของบอท ซึ่งกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือจากทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน และด้วยการถูกผลักดันให้เป็นรูปแบบของ Free Speech เพิ่มมากขึ้นนของ Musk นั้น อานุภาพของมันก็อาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

การเมืองเป็นเรื่องสกปรก

ไม่มีสิ่งโลกสวยสำหรับเรื่องการเมือง เพราะเราได้เห็นจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศต้นแบบยักษ์ใหญ่อย่าง อเมริกาหรืออังกฤษเอง ก็มีความเน่าเฟะไม่แพ้กัน และเหล่านักการเมืองผู้หิวโหยก็พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางที่จะเอาชนะการเลือกตั้ง เพื่อขึ้นสู่อำนาจ

การเข้าสู่เทคโนโลยีเหล่านี้ก่อนนั้นจะเป็นสิ่งได้เปรียบสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างแน่นอน มันอาจจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เราอาจจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2567 ว่าเทคโนโลยีเหล่าจะสร้างผลกระทบได้อย่างไรบ้าง

เป็นเรื่องน่าสนใจที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องตามเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ทันท่วงที เพราะนักการเมืองฝั่งใดใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพกว่า ก็มีโอกาสที่จะคว้าชัยทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่นได้เลยทีเดียวครับผม

References :
https://www.economist.com/leaders/2023/08/31/how-artificial-intelligence-will-affect-the-elections-of-2024
https://www.flickr.com/photos/prachatai/52759824563/
https://moneyandbanking.co.th/2023/36779/