เป็นบทความที่น่าสนใจจาก The Economist นะครับ เกี่ยวกับเรื่องราวของเหตุผลว่าทำไมประเทศเราจึงกลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากค่ายรถยนต์จากประเทศจีนที่วิ่งกันเต็มท้องถนนกันในทุกวันนี้
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว หลังจากที่เหล่าผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้เริ่มกระโจนออกจากตลาดบ้านเกิด ยักษ์ใหญ่ของการผลิตรถยนต์ระดับโลก ทั้ง Toyota , Nissan และ Honda เริ่มเข้ามาขยายการผลิตในประเทศไทย
การที่ไทยเราได้กลายเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นได้ทำให้ประเทศไทยเรากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก แซงหน้าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ
มาถึงวันนี้ประเทศไทย ได้ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับความทะเยอทะยานของผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน
บริษัทจากจีนได้แห่กันมาลงทุนโรงงานในประเทศไทย ในเดือนมีนาคม BYD ซึ่งไตรมาสแรกแซงหน้า Volkswagen ในฐานะบริษัทรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน ได้บุกมาเปิดโรงงานการผลิตในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเดิมอยู่แล้ว
ในเดือนเมษายน Changan ได้เปิดเผยการลงทุน 285 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างรถยนต์พวงมาลัยขวาคันแรกนอกประเทศจีน และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม Hozon บริษัทจีนอีกแห่งจะเข้ามาผลิต Neta V รถยนต์ไฟฟ้าเรือธงในประเทศไทย
ต้องบอกว่าสถานการณ์ของตลาดในบ้านเกิดประเทศจีนกำลังเติบโตอย่างเต็มที่ การแข่งขันภายในประเทศก็เริ่มรุนแรงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เริ่มลดลง ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์สูงขึ้นเป็นอย่างมาก
Tu Le จาก Sino Auto Insights ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในดีทรอยต์ ได้กล่าวว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สงครามราคาได้ปะทุขึ้นในจีนระหว่างค่ายรถยนต์ EV
ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายมองว่าการขยายตัวในต่างประเทศเป็นหนทางสู่การเติบโตที่แน่นอนกว่า จีนส่งออกรถยนต์มูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2023 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 82%
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดทางด้านภูมิศาสตร์และการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและตะวันตก เหล่าผู้ผลิตยานยนต์ชาวจีนจึงได้มองหาพื้นที่ที่เป็นกลางในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก
ประเทศไทยในฐานะพันธมิตรของอเมริกาและเป็นสมาชิกของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) จึงมีแรงดึงดูดใจเป็นพิเศษ
โดยรถยนต์ที่ผลิตในไทยของบริษัทจีนบางส่วนจะขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 23% ในปีที่ผ่านมา เป็น 3.4 ล้านคัน แต่เหล่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนก็มองไปที่ตลาดในประเทศตะวันตกเช่นเดียวกัน
การวิจัยโดย Allianz บริษัทประกันสัญชาติเยอรมันพบว่า บริษัทจีนมีสัดส่วนประมาณ 4% ของยอดขายแบตเตอรี่-EV ในเยอรมนีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่านับจากปีที่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์บางรายรวมถึง BYD กำลังพยายามพิชิตตลาดอเมริกาเหมือนที่บริษัทญี่ปุ่นเคยทำได้มาก่อน
มุมมองที่น่าสนใจจากฝั่งรัฐบาลไทย
ในช่วงเลือกตั้งพอดีได้มีโอกาสฟัง รายการฟัหูไว้หู ที่ออกอากาศในวันที่ 4 พ.ค. 66 ที่ได้สัมภาษณ์ หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นคนที่ดำเนินการนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ EV โดยตรงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน (ก่อนการเลือกตั้ง)
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประเทศเรามีเดิมนั้นเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์น้ำมัน ความน่าสนใจก็คือแล้วจะทำให้ยังไงให้ประเทศเราสามารถรักษาฐานผลิตสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนในการส่งออกสินค้าและสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงมาก ๆ และถือเป็นรายได้หลักอันดับต้น ๆ ของประเทศ
คู่แข่งหลักของประเทศเราคือ อินโดนีเซีย เพราะมีแร่นิกเกิลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก 40% ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
หม่อมหลวงชโยทิต มองว่าหากประเทศเราถูกแย่งตลาดนี้ไปหมด ประเทศเราไม่รอดแน่ ประเทศเราจะกลายเป็น Last Man Standing สำหรับรถยนต์น้ำมัน
จึงได้มีการหารือกับเหล่าสมาคม EV ในประเทศไทยทั้งกลุ่มญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ ว่าประเทศเราจะสู้อินโดนีเซียได้อย่างไร ซึ่งทุกคนมองว่าประเทศไทยมีทั้งองค์ความรู้ มีระบบนิเวศซัพพลายเชนดีกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก
ซึ่งทางกลุ่มผู้ผลิตได้บอกว่าถ้าประเทศเราสามารถทำให้พวกเขาเห็นได้ว่าตลาดในประเทศไทยยอมที่จะเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์น้ำมันไปเป็นรถยนต์ EV คือสร้างอุปทานในประเทศให้หล่าบริษัทผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ได้
นั่นเองเป็นที่มาที่ทางรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการกระตุ้นการใช้รถยนต์ EV ในราคาที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทางรัฐจะมีการ subsidize ราคาให้ 150,000 บาท
ทางฝั่งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ก็ท้าทายว่า หากไทยสามารถสร้างยอดขายได้ 10,000 คันภายในปีแรก (2022) ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว แต่กลายเป็นว่าด้วยกระแส รวมถึงการอุดหนุนจากรัฐบาล ไทยสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 35,000 คัน ในขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัวอย่างอินโดนีเซียทำได้เพียงแค่ 700 คันเท่านั้น
ในขณะที่สามเดือนแรกของปี 2023 สร้างยอดขายได้ 52,000 คัน นั่นทำให้ประเทศเราพลิกกลับมาเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจในการลงทุนแทบจะทันที เพราะยอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกระแสที่ตื่นตัวขนาดนี้ ทำให้ไทยเป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชีย
นั่นทำให้เหล่าบริษัทยานยนต์ทั้งจากฝั่งญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน จีน รวม 17 บริษัท ได้เซ็นสัญญาเพื่อจะเข้ามาลงทุนการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแทบจะทันที
ส่วนของนโยบายนั้นการ subsidize 150,000 ในเฟสแรกเนื่องจากยังไม่มีการผลิตในประเทศ มีการลดภาษีนำเข้าให้ แต่ต้องมีการเข้ามาผลิตภายในสองปีข้างหน้า สำหรับเจ้าใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีโรงงานในประเทศไทยเช่นผู้ผลิตจากจีนที่ต้องเริ่มจากศูนย์ รัฐบาลก็จะมีการ extend ให้มากกว่า 2 ปี แต่ต้องมีการผลิตจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น x1.5 , x2 เท่า
เป้าหมายของรัฐบาลคือ กำลังการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่ตอนนี้ขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคัน และ ส่งออกอีกประมาณ 1 ล้านคัน ต้องกลายเป็นรถยนต์ EV ประมาณ 30% ภายในปี 2030
และนั่นคือสาเหตุที่สำคัญอย่างที่นักวิเคราะห์จาก The Economist ได้กล่าวไว้ว่าทำไมประเทศเราจึงเนื้อหอม โดยเฉพาะจากเหล่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนนั่นเองครับผม
References :
https://www.economist.com/business/2023/05/11/why-chinese-carmakers-are-eyeing-thailand
https://www.youtube.com/watch?v=OaXQCy_NGPM
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-11-01/china-s-byd-great-wall-hozon-eye-thailand-in-next-sales-push
https://www.cmcmarkets.com/en/opto/byd-shares-boosted-by-plans-to-build-first-ev-plant-in-thailand