ONDC กับการป้องกันการผูกขาดธุรกิจ Ecommerce แบบ Duopoly ของอินเดีย

ต้องบอกว่าสถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยกำลังเข้าสู่วงจรการผูกขาดแบบ Duopoly หลังจากการถอนตัวของ JD.com ที่ตอนนี้เหลือคู่แข่งเพียงแค่สองรายนั่นก็คือ Lazada กับ Shopee ซึ่งเราจะเห็นได้จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นว่าตอนนี้ทั้งสองแทบจะไม่แข่งขันกันแล้ว

ถ้าไปดูตารางค่าคอมมิชชั่นต่าง ๆ เปรียบเทียบกับทั้งสองแพลตฟอร์ม ทั้งค่าขนส่ง ค่าคอมมิชชั่นในการขายสินค้าที่มีการปรับตัวขึ้นคล้าย ๆ กันด้วยตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาก

ซึ่งสถานการณ์รูปแบบเดียวกันนี้มันเกิดขึ้นแล้วในประเทศอินเดียเมื่อมีผู้ผูกขาดสองรายนั่นก็คือ Flipkart กับ Amazon ทางรัฐบาลอินเดียเห็นปัญหานี้ จึงได้หาวิธีในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ในบ้างเราเองทั้ง Lazada และ Shopee มีการอัดเม็ดเงินลงทุนมาหลายปีมีการยอมขาดทุนเป็นหมื่นล้าน สุดท้ายพวกเขาก็เริ่มที่จะมาทำกำไรกันแล้ว แม้ว่าอาจจะไม่ใช่จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยตรงแต่มันก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจขนส่ง หรือบริการด้านการค้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสร้างกำไรได้

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่นักบุญมันก็เป็นเรื่องแฟร์ที่พวกเขาต้องเอาสิ่งที่พวกเขาได้ลงทุนไปกลับคืนมา ซึ่งการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเรามีผู้ที่เข้ามาพยายามต่อสู้มากมาย เช่น 11Street จากเกาหลี หรือ Rakuten ที่จับมือกับ tarad.com หรือว่า JD.com เองก็ตาม แม้จะมีทุนใหญ่จากประเทศจีนหนุนหลังแต่ว่าสุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันในตลาดนี้ได้ เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างแข่งขันกันสูงมาก ๆ ถ้าทุนไม่หนาพอก็เป็นเรื่องยากที่จะขึ้นมาต่อกรกับสองยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada

11Street จากเกาหลี ที่เปิดตัวปูพรมทั่วกทม. แต่ก็ม้วนเสื่อกลับไปอย่างรวดเร็ว (CR:Korea Time)
11Street จากเกาหลี ที่เปิดตัวปูพรมทั่วกทม. แต่ก็ม้วนเสื่อกลับไปอย่างรวดเร็ว (CR:Korea Time)

ในอนาคตรูปแบบของ Duopoly มันก็คือรูปแบบการผูกขาดอย่างหนึ่ง ในหลาย ๆ ธุรกิจเราจะเห็นได้ว่าโมเดล Duopoly เองไม่เป็นผลดีกับผู้บริโภค เพราะพวกเขาสามารถจับมือกันตกลงกันได้ในการผลักดันอะไรต่าง ๆ การคิดค่าบริการหรือการอัดโปรโมชั่นต่างๆ ที่เริ่มจะลดน้อยลงไป

แน่นอนว่าที่ผ่านมาทั้ง Shopee และ Lazada ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเสพติดการช็อปปิ้งออนไลน์ไปแล้ว ตอนนี้ส่วนตัวผมเองก็เป็นคนนึงเลยที่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกซื้อสินค้าจากสองแพลตฟอร์มนี้ ทำการเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งก็มีหลากหลายร้านค้าให้เลือกสรรค์

โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนเองตอนนี้พ่อค้าคนกลางก็ยากที่จะยืนหยัดอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพราะว่าทางฝั่งจีนเองก็มีการมาตั้งโกดัง หรือแม้กระทั่งการส่งจากประเทศจีนเองหลายผลิตภัณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องรีบใช้ เราสามารถรอได้แต่ว่าได้มาในราคาที่ถูกมาก ๆ สินค้าบางชิ้น ราคาเพียงแค่หลัก 10 บาท หรือแม่กระทั่งหนึ่งบาทก็ยังมีขายในแพลตฟอร์มเหล่านี้

มันได้กลายเป็นสิ่งเสพติดให้กับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกต่าง ๆ เปลี่ยนมาช็อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือการผูกขาดทางด้านธุรกิจที่สุดท้ายเหลือคู่แข่งขันเพียงแค่สองรายกลายเป็นรูปแบบ Duopoly

ธุรกิจโทรศัพท์มือถือตอนนี้เราก็กำลังจะก้าวสู่จุดนั้นหรือธุรกิจบัตรเครดิตมี Visa กับ Mastercard ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดแทบจะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็คล้าย ๆ กัน สุดท้ายอีคอมเมิร์ซก็จะก้าวไปในจุด ๆ นั้น การแข่งขันก็จะลดลงไปผู้บริโภคก็อาจจะได้รับโปรโมชั่นต่าง ๆ น้อยลง

แต่ปัญหาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมันใหญ่มากเพราะว่ามันส่งผลต่อธุรกิจภายในประเทศเราหลายส่วน เมื่อทุนจากจีน สามารถบุกเข้ามาได้โดยตรงขายสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วก็ส่งข้ามประเทศกันมา โดยเฉพาะการมีนโยบายที่ปลอดภาษีสั่งสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทก็แทบจะไม่ต้องเสียภาษี

นั่นทำให้สินค้าหลาย ๆ อย่างบุกเข้ามา เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หลาย ๆ ธุรกิจตอนนี้คนที่เปิดโรงงานในประเทศไทยก็เริ่มจะลำบากเพราะโรงงานจากประเทศจีนสามารถส่งสินค้าขายโดยตรงมายังประเทศไทยได้สั่งเพียงหนึ่งชิ้นเขาก็ส่งมาได้

มันค่อนข้างเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะไปแข่งขันโดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนปัญหานี้ในอินเดียมันก็เกิดขึ้นที่ก่อนหน้านี้ก็มีการแข่งขันกันหลายรายสุดท้ายมันก็มีการแข่งขันกันจนเหลือเพียงแค่สองรายนั่นก็คือ Amazon กับ Flipkart ที่มีเจ้าของคือ Walmart 

 Amazon กับ Flipkart ที่มีเจ้าของคือ Walmart  ที่ชิงส่วนแบ่งการตลาดแทบจะทั้งหมดของอินเดีย (CR:Business Insider India)
Amazon กับ Flipkart ที่มีเจ้าของคือ Walmart  ที่ชิงส่วนแบ่งการตลาดแทบจะทั้งหมดของอินเดีย (CR:Business Insider India)

อีคอมเมิร์ซในประเทศอินเดียถือว่าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เนื่องจากจำนวนประชากรอีกไม่นานก็คงจะแซงจำนวนประชากรในประเทศจีน อินเดียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากๆ รัฐบาลก็มองเห็นในส่วนนี้ว่าหากปล่อยให้มีการผูกขาดเกิด Duopoly มันไม่ได้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค

รวมถึงธุรกิจรายย่อย ๆ ในอินเดียเองสุดท้ายก็จะถูกขูดรีดจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ เราสามารถจินตนาการได้เลยว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์ของอีคอมเมิร์ซในบ้านเรามันจะเป็นอย่างไร ค่าคอมมิชชันในการขายสินค้ามันจะสูงขึ้นไปถึงขนาดไหน สามารถดูที่อินเดียเป็นตัวอย่าง เพราะมีการปรับค่าคอมมิชชั่นต่าง ๆ ไปสูงถึง 15 ถึง 20%

ซึ่งส่วนตัวผมก็มองว่าในประเทศไทยเองหากเหลือเพียงแค่สองรายทั้ง Shopee และ Lazada มันมีโอกาสสูงมาก ๆ ที่ตัวเลขอาจจะถีบตัวไปสูงถึง 15 ถึง 20% ได้ ซึ่งจะทำให้พ่อค้าชาวไทยลำบากมากยิ่งขึ้น

การถือกำเนิดของ Open Network for Digital Commerce

อินเดียเห็นปัญหานี้ก็พยายามแก้ปัญหา พวกเขาได้เปิดตัวระบบที่มีชื่อว่า Open Network for Digital Commerce (ONDC) ที่ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เป็นโอเพ่นซอร์สเป็นเครือข่ายแบบเปิดสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายดิจิตอล พวกเขาจะสร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่โดยจะเป็นแบบเปิดไม่ขึ้นกับแพลตฟอร์มใด ๆ

ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ได้โดยจะอยู่ใน ecosystem ทั้งหมดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มันคล้ายกับโปรโตคอลอย่าง http ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านอินเทอร์เน็ต แต่ ONDC จะเกิดขึ้นกับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

มันเป็นแนวคิดที่ถือว่าน่าสนใจมากๆ อินเดียเห็นปัญหาแล้วพยายามที่จะเข้ามาแก้ไข ผู้ให้บริการรวมถึงผู้บริโภคจะสามารถใช้แอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ทำงานร่วมกันได้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและจัดการธุรกรรมผ่านระบบ ONDC ที่จัดการโดยรัฐ

อินเดียจึงมองไปไกลมากกว่ารูปแบบการค้าแบบอีคอมเมิร์ซที่เน้นเป็นแพลตฟอร์มในปัจจุบัน ซึ่ง ONDC สามารถที่จะทำได้หลายอย่าง เช่น จัดการรายการสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคำสั่งซื้อ หรือรูปแบบการชำระเงิน

นั่นทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก สามารถใช้แอปพลิเคชันที่เข้ากันได้กับ ONDC แทนที่จะถูกควบคุมจากแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ

ส่งผลให้ผู้บริโภค ธุรกิจขนาดเล็ก สามารถถูกค้นพบได้ผ่านเครือข่าย สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สามารถรองรับการชำระเงินแบบดิจิตอลได้ง่ายมากยิ่งขึ้นเพราะ ONDC จะทำให้อีคอมเมิร์ซครอบคลุมและเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับกลุ่มผู้บริโภค

ผู้บริโภคสามารถค้นหาผู้ค้า สินค้า หรือบริการใด ๆ โดยใช้แอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มที่ต้องมาเชื่อมต่อกับ ONDC ซึ่งหากรัฐบาลเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์เหล่านี้เอง ทำให้สามารถบังคับให้แพลตฟอร์มทุกแพลตฟอร์มที่อยู่ในประเทศให้ต้องผ่านมาตรฐานนี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอิสระในการเลือกให้กับผู้บริโภคในท้ายที่สุด

ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่เหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด สามารถเลือกสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่นพวกเขาที่ต้องการได้ มีการส่งเสริมซัพพลายเออร์ที่อยู่ในท้องถิ่น มีการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านโลจิสติกส์ของตนเอง

สุดท้ายผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์หากเป็นการดำเนินการโดยรัฐเอง แม้อาจจะต้องอัดงบประมาณไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจในประเทศของพวกเขาเอง รวมถึงผู้บริโภคที่แม้ก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะถูกสปอยล์มาจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่สุดท้ายเมื่อรัฐลงมาดำเนินการมันก็ทำให้การแข่งขันต่าง ๆ เกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตนั้นเองครับผม

References :
https://ondc.org/
https://www.reuters.com/world/india/india-govts-open-e-commerce-network-ondc-expands-into-mobility-2023-03-23/
https://en.wikipedia.org/wiki/Open_Network_for_Digital_Commerce
https://techcrunch.com/2023/03/23/india-government-backed-open-e-commerce-network-expands-to-mobility/

Geek Monday EP171 : Nike E-Commerce กลยุทธ์ D2C ของ Nike สร้างยอดขาย 50% จากตลาดดิจิทัลได้อย่างไร

Nike แบรนด์รองเท้าและเครื่องแต่งกายกีฬารายใหญ่ที่สุดในโลก ปรับกลยุทธ์ให้มีการขายสินค้าโดยส่งตรงถึงผู้บริโภค (D2C) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Nike ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลด้วยการขยายห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และทำการลงทุนครั้งใหญ่ในเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซ D2C

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน D2C Nike ตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัลให้ได้ 30%ภายในปี 2023 ซึ่งหมายความว่า 30% ของยอดขายทั้งหมดจะเป็นรายได้จากอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม Nike ทะลุเป้าหมายนั้นเร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี ซึ่งตอนนี้ธุรกิจของพวกเขาสามารถสร้างรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัลได้ 50% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
http://bit.ly/3K70P7w

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
http://bit.ly/3lOvrkH

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/3JMqz7J

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
http://bit.ly/3lJlxAV

🎧 ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/Qxy7PwH9Nq4

CHIP WAR อเมริกาและพันธมิตร vs จีน รัสเซีย เมื่อชิปกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสงคราม

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมชิปนั่นก็คือการปะทะกันของมหาอำนาจของโลกเรา ทั้งจีนสหรัฐฯหรือแม้กระทั่งรัสเซียที่ต่อสู้กันเพื่ออำนาจสูงสุด โดยทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่จ้องไปที่อนาคตของวงการคอมพิวเตอร์เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบโดยเฉพาะในเรื่องการทหาร

มันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อที่เซมิคอนดักเตอร์มันกำหนดสถานการณ์หลายอย่างที่โลกเราอาศัยอยู่ กำหนดรูปแบบทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจของโลก และดุลอำนาจทางทหาร

การพัฒนาชิปไม่ได้ถูกกำหนดโดยเฉพาะบริษัทเอกชนหรือว่าเหล่าผู้บริโภคเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาลที่มีความทะเยอทะยานและความจำเป็นในเรื่องของสงคราม เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ที่เรื่องของชิปเข้าไปมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเป็นปัจจัยชี้ขาดของสงครามหลายๆ ครั้ง

ต้องบอกว่าโลกเราผ่านสงครามที่เน้นใช้จำนวนกำลังพลหรือว่าอาวุธยุทโธปกรณ์มาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าใครมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความได้เปรียบกว่าก็มีโอกาสที่จะชนะสงครามได้มากกว่าไล่มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง , สอง มาจนถึงสงครามใหญ่อย่างในเวียดนาม

ตอนนั้นยังไม่ได้เกิดการปฏิวัติของซิลิกอนวัลเลย์ทำให้เหล่าอาวุธหลายอย่างของสหรัฐอเมริกาเป็นอาวุธที่มีเทคโนโลยีที่แม้จะมีความล้ำหน้ามากที่สุดมากกว่าใครในยุคนั้น แต่เมื่อต้องเจอสงครามแบบกองโจรของทหารเวียดนาม ก็ไม่ สามารถที่จะจัดการได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ดูเหมือนว่าใกล้จะชนะแต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่สามารถเอาชนะทางฝั่งเวียดนามได้จึงต้องถอนกำลังออกไปในท้ายที่สุด

สงครามแบบกองโจรของทหารเวียดนาม ที่เทคโนโลยีอาวุธที่ไม่มีควาแม่นยำ ยากที่จะเอาชนะได้ (CR: Military-history.org)
สงครามแบบกองโจรของทหารเวียดนาม ที่เทคโนโลยีอาวุธที่ไม่มีควาแม่นยำ ยากที่จะเอาชนะได้ (CR: Military-history.org)

ซึ่งทางอเมริกาเองก็ได้มีการวางระเบิดปูพรมมากมายใช้งบประมาณประมาณศาล แต่ว่าด้วยความเก่าของเทคโนโลยีตอนนั้นซึ่งเป็นรูปแบบของหลอดสุญญากาศที่ใช้ในการนำทาง ทำให้อาวุธที่เดินทางไปถึงศัตรูมันก็ไม่ได้มีความแม่นยำมากเพียงพอ

แต่หลังจากการปฏิวัติของซิลิคอนวัลเลย์มีการผลิตชิปคุณภาพสูงขนาดเล็กเพิ่มขึ้นมามันส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายทางด้านการทหารโดยเฉพาะอาวุธสงคราม เพราะว่าบริษัทชิปในซิลิคอนวัลเลย์มีลูกค้ากลุ่มหลักๆ ของพวกเขาก็คือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเป็นกลุ่มแรก ๆ

พวกเขาต้องการปรับปรุงยุทธวิธีรวมถึงอาวุธให้มีความทันสมัยมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีชิปชั้นสูงเพื่อนำทางอาวุธเหล่านี้ให้มีความแม่นยำ สร้างระบบป้องกันต่างๆ ที่มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งในช่วงนั้นก็เข้าสู่ยุคท้าย ๆ ของสงครามเย็น ทางสหภาพโซเวียตเองก็เริ่มเห็นภัยคุกคามที่น่าตกใจมากจากอาวุธของสหรัฐฯ ที่เริ่มพัฒนาโดยมีชิปที่ทันสมัยเข้าไปเกี่ยวข้อง

สหภาพโซเวียตเองก็เริ่มหันมาสร้างอุตสาหกรรมชิปในประเทศตนเอง มีการใช้การสายลับเพื่อทำการขโมยและลอกเลียนแบบเทคโนโลยีชิปของสหรัฐ

แต่ด้วยการที่การสร้างชิปมันไม่ง่ายเหมือนพวกแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีอย่าง AI ที่มันสามารถเลียนแบบได้ง่ายๆแต่การผลิตชิปมันต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างมากๆ ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา

ต้องเรียกได้ว่ามันเป็นการวางยุทธศาสตร์ของอเมริกาไว้แล้ว ถึงแม้พวกเขาจะไม่ชนะในสงครามชิป ในอุปกรณ์ของผู้บริโภคที่โดนญี่ปุ่น,เกาหลีใต้รวมถึงไต้หวันเอาชนะไปได้ แต่ในเรื่องการทหารพวกเขาไม่ปล่อยให้ศัตรูของตนเองได้รับเทคโนโลยีเหล่านี้ไปง่ายๆ อย่างแน่นอน

เทคโนโลยีชิปมันส่งผลต่อเรื่องภูมิศาสตร์ทางการเมือง ความมั่นคง และอำนาจของอเมริกา การมีพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ ,เนเธอร์แลนด์หรือสิงคโปร์ ทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพมากกว่าในการกระจายต้นทุน R&D และการผลิตในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่กว่าสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก

สหภาพโซเวียตเองมีพันธมิตรไม่กี่รายส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เยอรมันตะวันออกที่ตอนนั้นปกครองโดยโซเวียตก็มีอุตสาหกรรมชิปที่ก้าวหน้าพอๆ กับสิ่งที่โซเวียตมี ความพยายามหลายๆอย่างของโซเวียดก็ทำให้ได้ชิปที่มีคุณภาพต่ำ ความก้าวหน้ายังน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำในราคาต้นทุนที่สูงกว่าเป็น 10 เท่า

อุปกรณ์ในการผลิตขั้นสูงของโลกตะวันตกโดยพันธมิตรของอเมริกาก็สามารถเข้าถึงได้ยาก ในขณะที่เยอรมันตะวันออกไม่มีแรงงานราคาถูก ทว่าบริษัทในซิลิกอนวัลเลย์สามารถจ้างงานไปทั่วเอเชียได้และกลายมาเป็นพันธมิตรที่สำคัญของพวกเขา

ความพยายามของโซเวียตในการฟื้นฟูผู้ผลิตชิปเรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งโซเวียตและพันธมิตรสังคมนิยมไม่สามารถไล่ตามทันโลกตะวันตกได้แม้จะมีหน่วยสืบราชการลับจำนวนมาก เงินจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในศูนย์ วิจัยในมอสโควเองก็ตาม

และสุดท้ายพวกเขาก็ได้เห็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวมากๆ กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมชิปของอเมริกาเมื่อมันถูกแสดงให้โลกเห็นในสมรภูมิรบของอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อรัสเซียต้องช็อคกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอ่าว

ในวันที่ 17 มกราคมปี 1991 เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน F-117 ของอเมริการะลอกแรกได้ออกจากฐานทัพอากาศของพวกเขาในซาอุดิอาระเบีย เครื่องบินสีดำของพวกเขาหายไปอย่างรวดเร็วในท้องฟ้าทะเลทรายอันมืดมิดเป้าหมายของพวกเขาคือกรุงแบกแดด

สหรัฐอเมริกาไม่เคยสู้รบในสงครามใหญ่มาตั้งแต่สงครามเวียดนาม แผนทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของอิรัก มีการส่งเครื่องบินสองลำบินเข้าหาเป้าหมายปล่อยระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway หนัก 2,000 ปอนด์ ทำลายโรงงานและทุกอย่างแทบจะราบเป็นหน้ากลองทันที

ภายในปี 1991 บริษัท Texas Instruments ได้ปรับปรุงระเบิด Paveway หลายครั้งโดยแต่ละเวอร์ชั่นใหม่จะแทนที่วงจรที่มีอยู่ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ลดจำนวนส่วนประกอบเพิ่มความแม่นยำและเพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้กับมันอย่างต่อเนื่อง

ระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway ที่ติดชิปชั้นสูง (CR:Wikipedia)
ระเบิดนำวิถีเลเซอร์ Paveway ที่ติดชิปชั้นสูง (CR:Wikipedia)

พวกมันสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายไม่จำเป็นต้องเลือกเป้าหมายล่วงหน้า แต่สามารถเลือกได้ในสนามรบ ในขณะเดียวกันอัตราความแม่นยำก็สูงมาก ๆ

เครื่องบินที่ใช้เลเซอร์นำวิถีในการโจมตีด้วยระเบิดเป้าหมาย สามารถทำลายล้างได้มากกว่าถึง 30 เท่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ไม่มีอาวุธนำวิถี

ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์เป็นหนึ่งในระบบทางการทหารหลายสิบระบบที่ได้รับปฏิวัติโดยซิลิกอนวัลเลย์ทำให้สามารถเฝ้าระวังการสื่อสารและประมวลผลได้ดีขึ้น

สงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นการทดสอบครั้งใหญ่ครั้งแรกของการปฏิวัติครั้งนี้ มันมีความแม่นยำมากกว่าในสงครามเวียดนามถึง 6 เท่า

นักวิเคราะห์ทางทหารคนนึงได้อธิบายกับสื่อถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามอ่าวเปอร์เซียว่า “มันเป็นชัยชนะของซิลิกอนเหนือเหล็ก”

เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมากๆ เมื่อทางรัสเซียได้เห็นศักยภาพที่สุดยอดมากๆ ของอาวุธใหม่จากอเมริกาทำให้พวกเขาเริ่มกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศของตนเอง นั่นเองไม่แปลกใจที่หลังจากนั้นไม่นานรัสเซียก็รู้ตัวว่าพวกเขาไม่สามารถสู้อเมริกาได้อีกต่อไป

ซึ่งมันส่งผลมาถึงยุคปัจจุบันอย่างสงครามยูเครนที่เราเห็นในปัจจุบันก็ต้องบอกว่าตอนนี้มันไม่ใช่โลกของสงครามที่การที่มีจำนวนกำลังพลที่มากกว่าจะสามารถเอาชนะได้อีกต่อไปแล้ว

การปฏิวัติซิลิกอนวัลเลย์ได้ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของสงครามไปอย่างสิ้นเชิง การมีอาวุธด้วยชิปที่มีนวัตกรรมที่สูงกว่า สามารถเอาชนะกองทัพที่มีจำนวนกำลังพลมากกว่าได้อย่างง่ายดายแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและรวดเร็วมากๆ

ยูเครนก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรของอเมริกาในตอนนี้พวกเขาก็ได้รับอาวุธจากนาโตหรืออเมริกาซึ่งมีชิปที่มีคุณภาพสูงที่ สามารถต่อกรกับรัสเซียได้มาจวบจนถึงปัจจุบัน

รัสเซียแม้จะมีกำลังมากมายมหาศาลแต่พวกเขาก็ไม่สามารถเอาชนะยูเครนได้อย่างง่ายดาย แน่นอนว่าอุตสาหกรรมชิปคือส่วนสำคัญและเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่ชี้ขาดสงครามยูเครนได้

เรื่องชิปไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศจีน

เช่นเดียวกันในประเทศจีนที่นำโดย สีจิ้นผิง แม้พวกเขาจะมีนวัตกรรมมากมายทางแอพพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีด้าน AI ระดับสูง

แต่ว่าเรื่องของการผลิตชิปมันเป็นอีกเรื่องนึง มันเป็นคนละโลกกันเลย ในประเทศจีนแม้จะมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีความสามารถสูงมากๆ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะผลิตชิปคุณภาพสูงออกมาได้ด้วยตนเอง

สิ่งที่สำคัญมากๆในความคิดของ สีจิ้นผิง ก็คือชิปที่ขับเคลื่อนเหล่าคอมพิวเตอร์สมาร์ทโฟน และ ศูนย์ข้อมูลของจีน เพราะว่าตอนนี้แม้พวกเขาจะมีแอพพลิเคชั่นมากมายที่ใช้ภายในประเทศ แต่ว่าสุดท้ายสิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกขับเคลื่อนด้วยชิปที่มาจากอเมริกาล้วนๆ

ช่วงปี 2000 และปี 2010 จีนได้ใช้จ่ายในการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์มากกว่าน้ำมัน ชิปพลังงานสูงมีความสำคัญเทียบเท่าน้ำมันในการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน แต่มันต่างจากน้ำมันตรงที่อุปทานของชิปถูกผูกขาดโดยคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนแทบจะทั้งสิ้นโดยเฉพาะเหล่าพันธมิตรของอเมริกา

เรียกได้ว่าปัญหาของจีนไม่ได้อยู่ที่การผลิตชิปเท่านั้นแต่ว่ามันอยู่ในเกือบทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จีนพึ่งพาเทคโนโลยีดังกล่าวจากต่างประเทศซึ่งเกือบทั้งหมดถูกควบคุมโดยคู่แข่งทางภูมิศาสตร์ของจีนไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนเองผลักดันในเรื่องอื่นๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะไร้คนขับ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

บริษัทเทคโนโลยีของจีนเองผลักดันในเรื่องอื่นๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะไร้คนขับ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (CR:Cloud Employee)
บริษัทเทคโนโลยีของจีนเองผลักดันในเรื่องอื่นๆ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะไร้คนขับ หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (CR:Cloud Employee)

แต่ความต้องการของพวกเขาในชิปเซิร์ฟเวอร์ x86 ที่ต้องใช้ในศูนย์ข้อมูลสมัยส่วนใหญ่ก็ยังถูกครอบงำโดย AMD และ Intel ไม่มีบริษัทจีนที่สามารถผลิต GPU ที่สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ พวกเขาจึงต้องพึ่งพาทั้ง Nvidia และ AMD เป็นหลัก

จีนที่ต้องการกลายเป็นมหาอำนาจด้าน AI ก็ต้องยิ่งพึ่งพาชิปจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เว้นแต่ว่าจีนจะค้นพบวิธีการออกแบบและผลิตมันได้เอง

รัฐบาลที่ได้กำหนดแผนการที่เรียกว่า Made in China 2025 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะลดส่วนแบ่งการนำเข้าของจีนในการผลิตชิปจาก 85% ในปี 2015 ให้เหลือเพียง 30% ภายในปี 2025

แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินฝันมากๆ สำหรับจีนเอง เนื่องจากพวกเขาเสียเปรียบเป็นอย่างมาก เพราะว่าประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวันเข้ามามีอำนาจเหนือขั้นตอนสำคัญของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยมีการบูรณาการอย่างลึกซึ้งกับอุตสาหกรรมชิปของสหรัฐ

ซึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดมันแสดงให้เห็นถึงความยากในเรื่องอุตสาหกรรมชิปและการวางแผนกลยุทธ์ไว้อย่างดีของสหรัฐอเมริกา เพราะชิปเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกของสหรัฐอเมริกามาจวบจนถึงทุกวันนี้นั่นเองครับผม

References :

เรียบเรียงจากหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology โดย Chris Miller
https://www.theatlantic.com/international/archive/2022/10/biden-export-control-microchips-china/671848/

Geek Daily EP170 : วีดีโอสั้นของ TikTok ทำลายล้างเครื่องจักรทำเงินของ Big Tech ได้อย่างไร

ชะตากรรมของ TikTok แขวนอยู่บนเส้นด้าย ผู้ใช้กว่า 100 ล้านคนของ TikTok ในอเมริการู้สึกไม่สบายใจที่รัฐบาลของพวกเขากำลังเตรียมแบนแพลตฟอร์มที่เป็นของจีนเนื่องจากความกลัวด้านความปลอดภัย แต่สิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วก็คือ TikTok เป็น Game Changer ของธุรกิจโซเชียลมีเดีย

ในเวลาไม่ถึงหกปี TikTok ทำให้โลกนี้เลิกใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กแบบเก่าและเสพติดวิดีโอสั้นที่คัดสรรโดยอัลกอริทึม เหล่าผู้ใช้รักมัน แต่ปัญหาสำหรับแอปโซเชียลคือรุ่นใหม่คือมันทำเงินได้น้อยกว่ารุ่นเก่ามาก ซึ่งโมเดลเก่า ๆ นั้นถือเป็นเครื่องจักรทำเงินของธุรกิจ Big Tech อย่าง Facebook , Snap หรือ Pinterest

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
http://bit.ly/3FMdv0T

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
http://bit.ly/42D0lNy

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/3JyXxIG

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
http://bit.ly/3TBRnw6

🎧 ฟังผ่าน Youtube : 
https://youtu.be/Fv8zCsNTPJQ

เพศสภาพ x หุ่นยนต์ เมื่อการศึกษาพบว่ามนุษย์มีความรู้สึกผูกพันกับหุ่นยนต์มากขึ้นเมื่อทราบเพศของมัน

เป็นสิ่งที่น่าสนใจนะครับ ที่เราได้เห็นเหล่าผู้ช่วยดิจิทัลของบริษัทยักษ์ใหญ่ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Alexa หรือ Siri มักจะได้รับชื่อและเสียงที่ฟังดูเป็นผู้หญิงก่อนเสมอ

สิ่งเหล่านี้มันก็ได้เกิดข้อถกเถียงขึ้น ทำไมต้องให้ผู้ช่วยดิจิทัลเหล่านี้ เป็นเพศหญิง ซึ่งมันอาจจะสื่อมุมมองแบบเหมารวมว่าเพศหญิงเป็นเพศที่ต่ำต้อย หรือ อยู่ในภาวะจำยอมหรือเปล่า

แต่การศึกษาใหม่จาก Journal of Experimental Social Phychology ได้กล่าวถึงข้อดีอย่างน้อยหนึ่งประการในการระบุเพศให้กับเทคโนโลยี AI เหล่านี้ นั่นก็คือ จะทำให้ผู้คนผูกพันกับมันมากขึ้น

มันไม่ได้สำคัญว่าหุ่นยนต์จะเป็นชายหรือหญิง แต่นักวิจัยพบว่า ผู้คนจะมองว่าผลิตภัณฑ์นี้ดูเหมือนมนุษย์มากขึ้นหากมีเพศ ซึ่งจะเพิ่มความรู้สึกผูกพันกับผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ตามมาก็คือผู้คนมีแนวโน้มที่จะชอบเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นและมีโอกาสซื้อหรือใช้บริการสูงกว่าการไม่ระบุเพศสภาพให้กับมัน

มีการทดลองหนึ่ง ที่นักวิจัยได้วิเคราะห์ความคิดเห็นในส่วน Review สินค้าในเว็บไซต์อย่าง Amazon เกี่ยวกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น 6 ตัว

พวกเขาพบว่าผู้ใช้ที่เรียกเครื่องดูฝุ่นของตนเองว่า “เขา” หรือ “เธอ” ใน Review นั้นจะฟังดูมีความใกล้ชิดกับเครื่องดูดฝุ่นมากกว่าและที่สำคัญยังให้คะแนนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ในการศึกษาอื่น นักวิจัยได้ถามคำถามหลายชุดกับเจ้าของเครื่องดูดฝุ่น รวมถึงวิธีที่พวกเขาจะให้คะแนนความเป็นมนุษย์ของเครื่องดูดฝุ่นของพวกเขา และพวกเขารู้สึกอย่างไรก็ข้อความเช่น “ฉันรู้สึกผูกพันกับเครื่องดูดฝุ่นของฉัน” และ “ฉันรักเครื่องดูดฝุ่นของฉัน”

ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีการกำหนดเพศสภาพให้กับเครื่องดูดฝุ่นนั้นจะมองว่าวัตถุนั้นมีความเป็นมนุษย์มากกว่าและผูกพันกับสิ่ง ๆ นั้น (เครื่องดูดฝุ่น) มากกว่า

นักวิจัยยังได้ทำการศึกษา อีกสองเรื่อง โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมได้อธิบายเกี่ยวกับยานพาหนะไร้คนขับแบบใหม่ที่มีการสมมติขึ้น พวกเขาพบว่าเมื่ออธิบายรถโดยใช้สรรพนามระบุเพศหรือชื่อตามเพศ เช่น Jasper, Iris ผู้คนมักจะมองว่ารถเป็นมนุษย์และผูกพันกับรถมากกว่าผู้เข้าร่วมวิจัยที่อธิบายรถโดยที่ไม่มีการระบุเพศ

เมื่อ ChatGPT ไม่ได้มีการระบุเพศ

เทคโนโลยีสุดล้ำใหม่ล่าสุดอย่าง ChatGPT นั้น เมื่อไม่ได้มีการระบุเพศมันอย่างชัดเจน ทำให้คนที่รู้สึกกับมันเหมือนหุ่นยนต์ ที่ไร้ความรู้สึกมากกว่าอย่างเห็นได้ชันน

ใน forum อย่าง Reddit ที่มีการมาโหวตกันว่า ChatGPT ควรจะมีเพศใด ผลที่ออกมาคือ 60 คนให้เป็นเพศชาย , 37 ให้เป็นเพศหญิง ส่วนอีก 138 คน ไม่ได้ระบุเพศ

ความเห็นที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นใน forum เช่น มันน่าจะเป็นผู้หญิงเพราะ ChatGPT เปรียบเสมือนบรรณารักษ์สาวใส่แว่นที่มีเสน่ห์ ใจดีและเข้าอกเข้าใจ หรือ บางคนที่คิดว่ามันควรเป็นผู้ชาย เพราะชุดข้อมูลที่มันเรียนรู้ส่วนใหญ่มาจากผู้ชาย

ส่วนตัวเท่าที่ผมลองใช้ ChatGPT ก็มองว่าการไม่ระบุเพศให้กับมันอย่างชัดเจน มันก็ส่งผลจริง ๆ เราะไม่ได้มีความผูกพันกับมันเหมือนกับ Siri หรือ Alexa ที่มีการระบุเพศมันอย่างชัดเจน

แล้วคุณล่ะ มีความคิดเห็นอย่างไร กับเพศสภาพของหุ่นยนต์ อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ?

References :
https://www.wired.com/story/robot-gender-stereotypes/
https://www.wsj.com/amp/articles/benefits-drawbacks-of-giving-ai-gender-4f1b2a2b
https://www.reddit.com/r/OpenAI/comments/10ga2u1/what_gender_do_you_give_chatgpt/