ความน่าสนใจในการรีดศักยภาพองค์กร Twitter แบบฉบับ Elon Musk

Elon Musk มักจะขึ้นชื่อลือชาเรื่องการรีดศักยภาพองค์กรที่เขาเคยทำงานมา ไมว่าจะเป็น SpaceX , Tesla หรือล่าสุด Twitter ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในนักนวัตกรรมที่มีวิธีในการจัดการองค์กรที่ไม่ยึดติดกับ playbook ใด ๆ ที่องค์กรส่วนใหญ่นิยมทำกัน

Musk เองผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง แต่เขาก็สามารถพลิกวิกฤติกลับมาได้แทบทุกครั้งตั้งแต่ยุค x.com และ paypal ที่โดนหักหลังจากทีมงานของ Peter Thiel หรือ Tesla ที่เรียกได้ว่าเคยระส่ำระส่ายขนาดถึงขั้นใกล้ล้มละลายเต็มทนก็เคยผ่านมือ Elon Musk มาหมดแล้ว

ความน่าสนใจคือ การที่สื่อกระพือข่าวการเข้ามาของ Elon Musk ที่เข้ามา take over Twitter ได้สำเร็จ Musk เป็นผู้ประกอบการที่มีเส้นบาง ๆ แบ่งระหว่างความอัจฉริยะขั้นสุดกับคำว่าบ้า

มาถึงตอนนี้ Twitter ได้เลิกจ้างพนักงานประมาณ 80% นับตั้งแต่ Musk เข้ามารับตำแหน่ง และจำนวนพนักงานในปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 1,300 คนเท่านั้น จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 7,500 คนก่อนที่ Musk จะเข้ามา

เรื่องนี้ต้องเรียกได้ว่ามันสามารถมองได้สองมุม หนึ่งคือความโหดเหี้ยมของ Elon Musk เองในการจัดการกับพนักงาน ปลดออกเป็นว่าเล่น แม้กระทั่งวิศวกรยอดอัจฉริยะที่อยู่กับ Twitter มานานก็ตามที ดูเหมือนเขาจะไม่สนใจใด ๆ กับเหล่าพนักงานที่ช่วยสร้างองค์กรมาเลยด้วยซ้ำ

อีกมุมหนึ่ง มันคือสุดยอดการรีดศักยภาพองค์กรที่น่าสนใจมาก ๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าองค์กรธุรกิจยุคเก่า ๆ หลาย ๆ องค์กรประสบกับปัญหาการเติบโตจนองค์กรบวม ไม่คล่องตัว การขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าในภาวะการแข่งขันของธุรกิจยุคนี้ทำได้ยากมาก ๆ

การลีนองค์กรนั้น มีตำรามากมาย ที่บอกวิธีที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีใครสามารถทำได้อย่างที่ Elon Musk ทำกับ Twitter อย่างแน่นอน

การตัดพนักงานจำนวนมหาศาลออกไปแต่ยังทำให้แพลตฟอร์ม Twitter ขับเคลื่อนต่อไปได้ และหาทางสร้างกำไรในช่องทางใหม่ ๆ นั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง

แม้จะมีการสะดุดบ้างในช่วงแรก ๆ ที่เราจะเห็นข่าวระบบล่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป Musk เองก็สามารถประคองแพลตฟอร์มให้เดินหน้าต่อไปได้สำเร็จ

แม้จะมีคำบอกเล่าจากเหล่าอดีตวิศวกรที่ได้ออกมากล่าวถึงการปลดพนักงานจำนวนมหาศาลขนาดนี้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะรักษาบริการให้มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงการสร้างคุณสมบัติใหม่ที่อาจจะทำได้ยากขึ้น

แต่ถ้าในระยะยาว Elon Musk สามารถพิสูจน์แนวคิดที่เขาทำกับ Twitter ว่ามัน Work จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับในธุรกิจเทคโนโลยีโดยเฉพาะการสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ

จะเห็นได้ว่าต้นทุนในการพัฒนาหลักจะเป็นช่วงแรก ๆ เสมอ เพราะต้องเริ่มจากศูนย์ ต้องอาศัยวิศวกรจำนวนมากในการผลักดันให้แพลตฟอร์มประสบความสำเร็จ แต่เมื่อระบบต่างๆ มันเริ่มนิ่ง ความต้องการของพนักงานโดยเฉพาะกลุ่มวิศวกรต่าง ๆ จะลดน้อยลงไป (ไม่เท่าตอนเริ่มสร้างระบบใหม่ ๆ )

และยิ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มาช่วยเหลือในการพัฒนาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และลดจำนวนคนไปได้อีกมากมายมหาศาลในอนาคต ซึ่งสุดท้ายรูปแบบที่ Elon Musk ทำอาจจะกลายเป็น Playbook ใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีที่ต้องการลีนองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็เป็นได้นั่นเองครับผม

References :
https://www.cnbc.com/2023/01/20/twitter-is-down-to-fewer-than-550-full-time-engineers.html
https://www.elespanol.com/elandroidelibre/20221226/razones-deberias-ignorar-nuevo-contador-visualizaciones-twitter/728927128_0.html