Gill Pratt กับชายผู้เบรก Toyota ไม่ให้รีบเข้าร่วมสงครามรถยนต์ EV

เราได้เห็นการป่าวประกาศออกมาหลายๆ ครั้งของ CEO ของ Toyota อย่าง Akio Toyoda ว่าเขาไม่เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจะถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็วอย่างที่ผู้ควบคุมนโยบายและเหล่าคู่แข่งคิด ด้วยเหตุผลหลายประการ เขาอ้างถึงการขาดโครงสร้างพื้นฐาน ราคา และวิธีที่ลูกค้าเลือกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคเป็นตัวอย่างของอุปสรรคที่เป็นไปได้

มันมีความน่าสนใจว่าใครเป็นคนฝังแนวคิดเหล่านี้ ให้กับ CEO ของ Toyota ซึ่งสุดท้ายก็ต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองในภายหลัง

ชายที่มีชื่อว่า Gill Pratt ถือว่าเป็นบุคคลทรงอิทธิพลมาก ๆ แต่แนวคิดนี้ของ Toyoda ที่นำโดย Pratt ซึ่งเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์และการวิจัยของ Toyota  โดยเขามักให้เหตุผลว่าลิเธียมที่มีปริมาณจำกัดควรนำมาใช้กับรถไฮบริดหลายๆ คันจะดีกว่า เมื่อเทียบกับการใส่ทั้งหมดลงในแบตเตอรีไฟฟ้าเต็มรูปแบบเพียงก้อนเดียว

ถึงขนาดที่ว่า Pratt ถึงกับประณามพวกหัวรุนแรงที่ฝังหัวด้วยแนวคิดการใช้แต่ EV เท่านั้น

ในการปราศรัยที่ World Economic Forum เมื่อเร็วๆ นี้ Pratt พยายามชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนลิเธียม และการขาดแคลนเหล่านั้นส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ไฮบริดมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า

ข้อโต้แย้งของ Pratt เริ่มต้นด้วยการสันนิษฐานว่าลิเธียมเป็นทรัพยากรที่หายากและเป็นการดีกว่ามากที่แบ่งปันลิเธียมให้กับยานพาหนะจำนวนมาก (เช่นในรถยนต์ไฮบริด) แทนที่จะรวมไว้ในยานพาหนะคันเดียวเหมือนในรถยนต์ EV

Pratt เสนอแบบจำลองโดยตั้งสมมติฐานว่ายานพาหนะแบบสันดาปใน 100 คันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 250 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตรที่วิ่ง

หากใช้ลิเธียมกับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมงเพียงคันเดียว ในยานพาหนะทั้งหมด 100 คันจะประกอบไปด้วยรถยนต์สันดาป 99 คันและรถยนต์ไฟฟ้าเพียงหนึ่งคัน ซึ่งจะส่งผลให้ปล่อยมลพิษเฉลี่ย 248.5 กรัม/กม. 

แต่ถ้าใช้ลิเธียมในปริมาณที่เท่ากันเพื่อผลิตชุดแบตเตอรี่ขนาด 1.1 กิโลวัตต์ชั่วโมง จะได้รถไฮบริดถึง 90 คัน และลดการปล่อยมลพิษโดยรวมลงเหลือ 205 กรัม/กม. ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมกว่ามาก

แบบจำลองของ Pratt ที่เสนอใน ที่ World Economic Forum (CR:thedriven.io)
แบบจำลองของ Pratt ที่เสนอใน ที่ World Economic Forum (CR:thedriven.io)

สิ่งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ Toyota ก่อนหน้านี้ ซึ่งเน้นย้ำถึงการผสมผสานระบบไฮบริด หรือแม้แต่เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งจะเข้ากับโซลูชันในการลดการปล่อยมลพิษโดยรวม แทนที่จะพึ่งพา EV เพียงอย่างเดียว

ในขณะที่โรงงานแบตเตอรี่สามารถสร้างได้ภายในสองหรือสามปี Pratt ให้เหตุผลว่า การเพิ่มเหมืองลิเธียมใหม่อาจใช้เวลานานกว่า 15 ปี

“เดิมพันของวิกฤตสภาพอากาศนั้นใหญ่เกินกว่าจะผิดพลาดได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ EV เพียงอย่างเดียว” เขากล่าว

แต่ Auke Hoekstra นักวิเคราะห์ด้านพลังงานชาวดัตช์ที่ได้ออกมาตอบโต้คำกล่าวอ้างของ Toyota โดย Hoekstra ชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานพื้นฐานของ Pratt ที่อ้างว่าลิเธียมจะขาดแคลนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

Hoekstra ได้โพสต์ภาพจากการทบทวนสถิติพลังงานโลกปี 2022 ของ BP ซึ่งแสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างมากของการผลิตลิเธียมทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าลิเธียมจะหายาก แต่ก็มีวัสดุอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้

สถิติพลังงานโลกปี 2022 ของ BP (CR:thedriven.io)
สถิติพลังงานโลกปี 2022 ของ BP (CR:thedriven.io)

Hoekstra ได้หักล้างความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการขุดลิเธียมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าบริสุทธิ์นั้นแย่กว่าแร่ธาตุอื่นๆ และแม้กระทั่งน้ำมัน 

เขาได้กล่าวว่า เรื่องเล่าที่อุตสาหกรรมน้ำมันมักใช้เพื่อเผยแพร่ FUD (ความกลัว ความไม่แน่นอน และความสงสัย) เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักต่ออุตสาหกรรมน้ำมันมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ

แต่ในงาน World Economic Forum การบรรยายของหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Toyota จบลงด้วยการที่ Pratt บอกว่าแม้ว่าเขาจะมีคำเตือนทั้งหมดเกี่ยวกับ EV แต่ Toyota ก็ยังคงวางแผนที่จะผลิตพวกมันในอนาคต

“เราจะผลิต (รถยนต์ไฟฟ้า) 3.5 ล้านคันต่อปีภายในปี 2030” Pratt กล่าวปิดท้าย

References :
https://thedriven.io/2023/02/03/utter-bollocks-energy-analyst-debunks-toyotas-scarce-lithium-hybrid-myth/
https://www.cnbc.com/2022/10/02/toyota-ceo-akio-toyoda-electric-vehicles-happy-dance.html
https://global.toyota/en/company/profile/executives/fellow/gill_a_pratt.html
https://www.greencarreports.com/news/1138627_does-toyota-ceo-change-signal-it-s-going-all-in-on-evs