Xi Jinping กำลังทำลายเศรษฐกิจของจีนอย่างไร?

ต้องบอกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาได้รวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ ไม่มีประเทศใดในโลกที่พัฒนาเร็วได้เท่าประเทศจีนอีกแล้ว ลองมองย้อนจีนกลับไปในช่วง 20 ปีที่แล้วกับตอนนี้ มันเหมือนอยู่คนละโลกกันเลยด้วยซ้ำ

แน่นอนว่ารูปแบบการปกครองถือเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้จีนก้าวมาถึงจุดนี้ การผสมผสานระหว่างระบอบทุนนิยมตลาดเสรีเข้ากับการควบคุมของรัฐ มันเป็นมนต์สเน่ห์อย่างนึงที่ยากที่ประเทศอื่น ๆ จะเลียนแบบได้ โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แต่ดูเหมือนปัญหาเรื่องนโยบาย Zero Covid ของประธานาธิบดี Xi Jinping นั้นยังมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เพราะหลังจากผ่านไปสองเดือน การปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ที่เริ่มคลี่คลายลง แต่ดูเหมือนว่าจีนยังห่างไกลกับการเป็นประเทศปลอดโควิด ที่ Xi Jinping ใฝ่ฝันหา

ด้วยการระบาดครั้งใหม่ในกรุงปักกิ่งและเทียนจิน ทำให้มีผู้คนมากกว่า 200 ล้านคนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดและเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเหว ยอดค้าปลีกในเดือนเมษายนลดลง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปีนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ เมื่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกลดลง ตลอดทั้งปีจีนอาจต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้เติบโตเร็วกว่าอเมริกาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990

ซึ่งแน่นอนว่าความรับผิดชอบต้องตกมาอยู่ในมือของ Xi Jinping ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ นโยบายปลอดโควิดของเขา ซึ่งได้บังคับใช้มาเป็นเวลา 28 เดือน ซึ่งเป็นความคิดที่กลัวว่าโควิด จะแพร่กระจายจนฆ่าคนนับล้านได้

ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อดูสถานการณ์ในประเทศอื่น ๆ ที่เกิดขึันในตอนนี้ ที่ระดมฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพอย่าง mRNA แม้กระทั่งประเทศไทยเราเอง กำลังจะก้าวข้ามผ่านการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้สำเร็จแล้ว หรือในตะวันตก ที่คนแทบจะไม่สนใจจะใส่หน้ากากอนามัยกันอีกต่อไปแล้ว

มันทำให้ชาวจีนเสียเวลาอันมีค่าไป การปฏิเสธที่จะนำเข้าวัคซีน mRNA จากตะวันตก ที่มีประสิทธิภาพนั้น ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นกับประเทศจีน เช่น การต้องถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพในเดือนมิถุนายน ปี 2023

เนื่องจากโควิด สายพันธุ์ Omicron สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว นั่นทำให้เกิดการระบาดอย่างหนัก และการล็อกดาวน์ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น แต่มันเป็นคำบัญชาของประธานาธิบดี Xi เองที่ต้องการให้จีนปลอดโควิด การวิจารณ์นโยบายเหล่านี้ในประเทศจีน เปรียบเสมือนการฆ่าตัวตาย

รวมถึงความคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจที่สร้างสิ่งที่ Xi เรียกว่า “แนวคิดการพัฒนาใหม่” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งแยกจีน-อเมริกัน ซึ่งเป้าหมายนั้นมีความน่าสนใจ ก็เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียม ซึ่งถือ เป็นจุดอ่อนอย่างมากในระบอบทุนนิยมเสรีของโลกตะวันตก

นั่นทำให้ผลที่ตามมาได้มีการกวาดล้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อ GDP ที่มีสัดส่วนถึง 8% รวมถึงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ผลที่ตามมาก็คือยอดขายบ้านลดลงถึง 47% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

Xi เชื่อว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับการสนับสนุนจากรัฐมีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นตลาดเสรีที่คาดเดาไม่ได้ เขาอาจคิดว่าบทบาทที่หนักแน่นของรัฐอาจช่วยให้เขามีอำนาจเหนือพรรคและรัฐบาลได้ ท่าทีที่ออกมามันชัดเจนว่าเขาต้องการการควบคุมมากกว่านี้ และเขาคิดว่าการมีภาครัฐขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบของการบรรลุเป้าหมายนั้น

อีกเป้าหมายหนึ่งของ Xi คือการพึ่งพาตนเอง เขาเชื่อว่าจีนควรผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนสำหรับผลิตภัณฑ์หลักที่ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะไมโครชิปและเทคโนโลยีที่สำคัญอื่นๆ เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ จีนต้องการห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระ ควบคุมได้ ปลอดภัย และเชื่อถือได้

ซึ่งก็ต้องบอกว่ารูปแบบเศรษฐกิจเชิงอุดมการณ์ของ Xi Jinping นั้นได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลกของเรา แม้ว่ามาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอาจทำให้อุปสงค์เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการล็อกดาวน์มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับภาวะถดถอย

จุดอ่อนจากการปกครองเพียงคนเดียว

ความน่าสนใจของจีนคือการปกครองที่ขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศล้วน ๆ หากได้คนดี ๆ ฉลาด ๆ ก็จะนำประเทศก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอย่างที่ได้เห็นกันในทุกวันนี้

แต่นั่นก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการต่ออายุในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไป ทำให้ Xi จะกลายเป็นอีกหนึ่งคนที่ครองอำนาจยาวนานมาก ๆ ของประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจมันเป็นสิ่งที่หอมหวลเหมือนสิ่งเสพย์ติด ไม่มีใครที่คิดลงจากอำนาจโดยเฉพาะอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ อย่างการปกครองประเทศจีน

แต่ด้วยผลกระทบจากการล็อกดาวน์และผู้คนเริ่มตกงานมากขึ้น นั่นอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบของประชาชนในประเทศได้ ซึ่งเริ่มมีเสียงบ่นออกมาบ้างแล้วในโลกออนไลน์ผ่านข่าวจากโลกตะวันตกที่เราได้เห็นภาพกัน

ด้วยการเมืองแบบผูกขาดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และตอนนี้ในแวดวงการเมืองชั้นสูงของประเทศจีน แทบจะไม่มีคู่แข่งคนใดที่จะขึ้นมาต่อกรกับ Xi Jinping ซึ่ง Xi มีอายุ 68 แล้ว เขาจะได้รับการสานต่ออำนาจอย่างน้อยไปจนถึงปี 2027 ซึ่งนั่นทำให้ข้อบกพร่องของการปกครองแบบคนเดียวในระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เริ่มที่จะปรากฏให้โลกได้เห็นแล้วนั่นเองครับผม

References : https://www.economist.com/leaders/2022/05/26/how-xi-jinping-is-damaging-chinas-economy
https://www.theatlantic.com/international/archive/2021/01/xi-jinping-china-economy-jack-ma/617552/
https://www.wsj.com/articles/xi-scrambles-as-china-economy-stumbles-beijing-economic-prospects-technology-covid-lockdowns-evergrande-president-for-life-re-election-11652190698