Digital Disruption นวัตกรรมหรือการแค่ทำในสิ่งที่กฏหมายยังตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไป

วันนี้อยากจะมาชวนคุยเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมได้สังเกตเห็นมาเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งแล้ว กับ นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่วงการเทคโนโลยีได้สรรค์สร้างขึ้นมา คำถามคือ หลาย ๆ สิ่งมันคือนวัตกรรมใหม่จริง ๆ หรือ ทำสิ่งที่กฎหมายยังตามไปไม่ทันกันแน่?

แม้หลาย ๆ ธุรกิจจะเกิดมาเพื่อเป็นการ Disrupt จริง ๆ แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจในยุคหลัง ๆ ที่อาศัยข้อกฎหมายที่ยังปรับตัวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น uber หรือ airbnb เอง เรียกได้ว่ากลายเป็นปัญหาให้กับธุรกิจดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือ เครือข่าย taxi ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก พวกเขาสร้างสรรค์นวัตกรรมมา disrupt ธุรกิจเก่า ๆ เหล่านี้จริงหรือ

ทั้งที่ กลุ่มธุรกิจเก่า ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เสียภาษีตามรูปแบบธุรกิจที่ถูกต้อง แต่ ธุรกิจแพล็ตฟอร์ม เหล่านี้กลับอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายที่ยังตามไม่ทัน เข้ามาแทรกแซง คนทั่วไปที่มาขับรถส่งผู้โดยสาร โดยเสียภาษีในรูปแบบรถบุคคลธรรมดา หรือ บ้าน อพาร์ทเมนต์ คอนโด ของคนทั่วไปที่ปล่อยให้ใครที่ไหนไม่รู้มาเช่า สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย

มันล้วนเป็นธุรกิจ เทา ๆ ตั้งแต่แรกเริ่มแทบจะทั้งสิ้น ถามว่าธุรกิจเหล่านี้ถูกกฎหมาย 100% หรือไม่ คงไม่ใช่อย่างแน่นอน เพราะพวกเขายังมีปัญหากับหน่วยงานรัฐในหลายๆ เมือง ที่เข้าไปทำธุรกิจ เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามกฏหมายให้ถูกต้อง 100%

หรือในตอนนี้ แอปอย่าง Delivery Service ที่กำลังล้นตามท้องถนนไปหมด แทบจะไม่มีการลิมิตจำนวน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมากกับประชาชนคนขับขี่ทั่วไป เพราะพฤติกรรมติดจอมือถือของเหล่า Rider ที่ต้องดูเส้นทาง ดูออเดอร์ อยู่แทบจะตลอดเวลา ทำให้เพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างผมเองเนื่องจากผมก็มีประสบการณ์ในการขับรถในกทม. มาเป็นสิบปี และแทบจะไม่เคยประสบอุบัติเหตุเลย (อาจจะเป็นเพราะดวงด้วย) แต่หลังจากเกิดการบูมของ Delivery Service ผมเจออุบัติเหตุ เฉี่ยว ชน บ่อยมาก ๆ (โดยเฉพาะการโดนชนกระจกข้างรถ) จากเหล่า Rider ขาซิ่ง ทำรอบ เหล่านี้

และมันไม่ใช่แค่ปัญหาในประเทศไทยเท่านั้น ผมลองค้นหาข้อมูลดูปัญหาเดียวกันดังกล่าว ก็พบว่าเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากแพล็ตฟอร์ม Delivery & Rider ที่กำลังเติบโตขึ้น (ข้อมูลเพิ่มเติมใน References)

ซึ่งเมื่อ COVID-19 เริ่มซาลงไป การจราจรบนท้องถนน จะกลับมาเริ่มคับคั่งเหมือนเดิม ส่วนพฤติกรรมการสั่งอาหารของเราก็คงไม่เปลี่ยนมากนัก ซึ่งอาจจะน้อยลงแต่คงไม่มาก เพราะมันได้กลายเป็นความเคยชินไปแล้วนั่นเอง

หรือแม้กระทั่งกระแสเทรนด์ใหม่ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมากอย่าง play2earn หรือ GameFI ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นเทรนด์การลงทุนสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่

แต่ดูเหมือนว่าโมเดลการทำเงินของ GameFI เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ ponzi หรือ แชร์ลูกโซ่เสียมากกว่า ใครเข้าก่อนก็ได้เปรียบ ส่วนคนที่เข้ามาทีหลังก็พบกับความสูญเสียมากมาย ตามที่เป็นข่าวกัน ซึ่ง มันมีเพียงไม่กี่เกมจริง ๆ ที่จะยืนระยะได้ยาว ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ผลตอบแทนมันก็ไม่ได้ดึงดูดเว่อร์ ๆ เหมือนอย่าง โมเดล play2earn ที่ออกแบบมาเป็นแชร์ลูกโซ่

จะเห็นได้ว่า เหล่านวัตกรรมในระยะหลังๆ มานี้ เริ่มหมิ่นเหม่ในเรื่องกฎหมายเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัย คำว่า นวัตกรรม disruption ต่าง ๆ นา ๆ แต่ความจริงแล้ว พวกมันกลับไม่ใช่นวัตกรรมที่ล้ำเลิศอะไรเลย เพียงแค่กฎหมายในยุคปัจจุบัน มันยังปรับตามไม่ทันโมเดลเหล่านี้นั่นเองครับผม

References : 
https://crosleylaw.com/blog/delivery-truck-accidents-serious-growing-problem/
https://www.thehartmanlawfirm.com/increased-deliveries-causing-a-surge-in-traffic-accidents
https://www.reuters.com/article/us-china-delivery-accidents-insight-idUSKCN1C30J3
https://www.malaysianow.com/news/2021/06/24/over-150-accidents-involving-food-delivery-riders-from-march-to-june-2020/
https://www.straitstimes.com/singapore/delivery-riders-seem-to-be-getting-into-more-accidents-st-poll-finds
https://www.mhlnews.com/transportation-distribution/article/21139954/injury-rates-climb-for-delivery-drivers
https://www.unilad.co.uk/technology/tech-startup-wants-to-enable-people-to-bet-on-court-cases-with-crypto