Robinhood Travel เมื่อแพลตฟอร์มไทยเตรียมท้ารบในตลาด Online Travel Agency

ต้องบอกว่าแพลตฟอร์ม Online Travel Agency (OTA) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นธุรกิจนึงที่แทบจะไม่มีการแข่งขันมานานมากแล้ว ด้วยตัวแพลตฟอร์มที่แทบจะคล้ายคลึงกันทั้งหมด และแทบจะไม่มีนวัตกรรมใหม่อะไรออกมาเลย สำหรับธุรกิจนี้ หากคุณลองไปที่แพลตฟอร์มดัง ๆ ทั้ง Agoda , Booking , Expedia , Hotels.com .. หรืออีกมากมายในวันนี้ คุณเห็นอะไรที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญบ้าง

แม้ว่าอาจจะมีการแข่งขันกันในเรื่องเรทราคาที่แตกต่างกันบ้าง แต่ถ้าเข้าไปดูหน้าจอเว็บไซต์ หรือ แอป ของพวกเขาเหล่านี้ พบว่าแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน เหมือนโคลนนิ่งกันมายังไงยังงั้น

แม้ดูเหมือนว่ามันจะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ผมมองว่า มันก็แทบจะไม่มีอะไรใหม่ เมื่อเทียบกับธุรกิจอย่าง Ecommerce ที่อัดใส่นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการ Shopping กันอย่างดุเดือด ใครพลาดพลั้ง อาจจะโดนแย่งฐานลูกค้าขนาดใหญ่ไปได้เลย เหมือนที่ Shopee , Lazada , JD.com แข่งขันกันอย่างหนักหน่วง

เมื่อ Robinhood เปิดตัว Robinhood Travel

ผมเชื่ออย่างนึงว่าถ้าเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยี ถ้าเทียบกันในอาเซียน ไทยเองก็มีคนเก่ง ๆ ที่ไม่เป็นสองรองใคร แต่จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีแพลตฟอร์มของไทยที่ลุกขึ้นสู้แอปต่างชาติได้เลย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ตัวอย่าง Grab หรือ Shopee

แต่ความน่าสนใจของ Robinhood นั่นก็คือก้าวข้ามความเป็นบริษัท startup มีเงินทุนขนาดใหญ่จากบริษัทแม่อย่าง SCB ที่ช่วยให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายกว่า startup ขนาดเล็ก ๆ ที่ยากจะไปต่อกรกับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ

ซึ่งจากโปรแกรม CSR ส่งฟรีไม่เก็บค่า GP ของ Robinhood กับบริการ Delivery Service ในช่วง COVID ระบาดหนัก ทำให้ Robinhood สามารถแจ้งเกิดเข้ามาสอดแทรกในตลาด Delivery Service ได้แบบเต็มตัว

ก้าวใหม่ของ Robinhood ถือว่าน่าสนใจมาก ๆ ในการเข้าสู่ตลาด Travel Agency ซึ่งใช้กลยุทธ์เดิมคือการ ค่าคอมมิชชั่น 0% ซึ่งผู้ประกอบการแทบไม่ต้องเสียค่าบริการซักบาท จากเดิมที่ถูกชาร์จอยู่ที่ราว ๆ 15-30% จากแพลตฟอร์มต่างชาติ

มันเป็นการเข้ามาได้ถูกที่ถูกเวลาอีกครั้งสำหรับ Robinhood ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่แบบรับภาระมานานแสนนาน โดยเฉพาะจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมหาศาล แต่สถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งแน่นอนว่าโปรโมชั่นดังกล่าวคงเป็นการใช้งานในช่วงเวลาระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในธุรกิจนี้เลยก็ว่าได้ เมื่อแพลตฟอร์มไทย จะมาลุยสู้กับแพลตฟอร์มต่างชาติแบบเต็มตัว ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ ๆ จากฝั่งตะวันตกทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น Booking.com , Agoda , Expedia หรือ Hotels.com

มันก็คงเหลือแค่แพลตฟอร์ม Travel Agency ที่ตอนนี้กลายเป็นของตะวันตกไปหมดแล้ว ตัวอย่าง Agoda หรือ Booking เองก็เป็นของ Priceline Group ของอเมริกา ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มนั้น เป็นแพทเทิร์นทางตะวันตกเสียมากกว่า ทั้ง UX/UI ที่ดูแข็ง ๆ ดูสไตล์คล้าย ๆ Amazon หรือ Ebay

ซึ่งมันใช้ง่าย เหมาะกับสไตล์ตะวันตก แต่ผมยังมองว่าตลาดนี้ ยังมีช่องว่างให้รายใหม่เข้ามาได้อีกมากหากมีการปรับให้เข้ากับท้องถิ่นจริง ๆ หรือมีนวัตกรรมใหม่ ๆ จริง ๆ ออกมา ซึ่งคิดว่า Robinhood ก็คงคิด วิเคราะห์ และมองเห็นช่องว่างในจุดนี้มาอย่างดีแล้วจึงมาลุยในตลาดนี้แบบเต็มตัว

ก็ต้องมาดูกันต่อไปนะครับว่า การเดินเกมของ Robinhood ในการเข้าสู่ตลาดนี้ จะเป็นเพียงแค่การ PR ชั่วคราว หรือ มีเป้าหมายใหญ่กว่านั้นคือการสร้างแพลตฟอร์ม Travel ใหม่ขึ้นมาจริง ๆ ที่่ตอบโจทย์กับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้ครับผม