Facebook และ Google ให้ทุนกับฟาร์ม clickbait ที่สร้างข้อมูลเท็จไปทั่วโลกอย่างไร

มันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก ๆ ที่โดยพฤตินัยแล้วนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Google กำลังให้การสนับสนุนฟาร์ม Clickbait การพาดหัวข่าวเพื่อล่อให้คนคลิก หรือ ข้อมูลเท็จที่สามารถสร้างกันได้ง่ายมาก ๆในยุคปัจจุบัน และกระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วมาก ๆ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือในประเทศเมียนมาร์บ้านใกล้เรือนเคียงของเรา เมื่อ ตำรวจและทหารเริ่มปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญา และมีการผลักดันให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านชาวมุสลิม

แน่นอนว่าพวกเขาอาศัยแพลตฟอร์มชื่อดังเหล่านี้ในการสร้างข่าวปลอม เพื่อผลประโยชน์ให้เกิดกระแสไวรัล ซึ่งมีการอ้างว่าชาวมุสลิมติดอาวุธที่กำลังรวมตัวกันเป็นกลุ่มก่อการร้าย 1,000 คน พวกเขากำลังจะฆ่าคุณ (ประชาชนชาวเมียนมาร์)

ทุกวันนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข่าวปลอมส่วนใหญ่มาจากผู้มีบทบาททางการเมือง หรือ แรงจูงใจทางด้านการเงินมากกว่ากัน แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ปริมาณข่าวปลอมและ clickbait ส่วนใหญ่เป็นเหมือนเชื้อเพลงที่จุดไฟให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติ การเมือง ศาสนาที่อันตรายเอามาก ๆ อยู่แล้ว

ตัวอย่างที่เมียนมาร์มันชัดเจนมาก ๆ มันเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนและยกระดับความขัดแย้ง ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวโรฮิงญา 10,000 คน และมีชาวโรฮิงญาที่ต้องผลัดถิ่นอีกกว่า 700,000 คน

การถือกำเนิดของฟาร์ม Clickbait

Facebook ได้เปิดตัวโปรแกรม Instant Articles ในปี 2015 ที่ทำให้ประสบการณ์การโหลดที่เร็วขึ้นด้วยรูปสายฟ้าบนบทความ ซึ่งก่อนหน้า Instant Articles ถือกำเนิดนั้น บทความที่โพสต์บน Facebook จะต้องวิ่งต่อไปยัง Browser แต่ Instant Articles จะเปิดขึ้นโดยตรงภายในแอปของ Facebook

ซึ่ง Facebook เองจะเป็นเจ้าของโฆษณาทั้งหมด หากผู้เผยแพร่โฆษณาที่เข้าร่วมเลือกที่จะสร้างรายได้ด้วยเครือข่ายโฆษณาของ Facebook ที่เรียกว่า Audience Network ซึ่ง Facebook สามารถแทรกโฆษณาลงในเรื่องราวของผู้จัดพิมพ์และหักรายได้ 30%

ในปี 2018 Facebook รายงานว่า ได้จ่ายเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์ ให้กับผู้เผยแพร่และนักพัฒนาแอป แต่ Facebook กลับควบคุมคุณภาพเนื้อหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีการสร้างบทความซ้ำ ๆ หรือพาดหัวเรียกให้คลิก ที่เรียกกันว่า Clickbait เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างรายได้อย่างมหาศาล

แน่นอนว่ามันทำให้ ฟาร์ม Clickbait ทั่วโลกมองเห็นช่องโหว่ดังกล่าว ซึ่งพวกเขายังใช้กลยุทธ์จากช่องโหว่เหล่านี้มาจวบจนถึงปัจจุบันเพราะมันยังคงสร้างรายได้ให้กับพวกเขาอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ตัวอย่างฟาร์ม Clickbait ในประเทศเมียนมาร์ สามารถสร้างสูตรการผลิตเนื้อหาที่เหมาะสมน่าสนใจ น่าดึงดูดให้คลิก ทำให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาหลายพันเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน หรือ เป็น 10 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประเทศ โดย Facebook จ่ายให้กับพวกเขาโดยตรง

และนั่นเองมันได้ทำให้เกิดฟาร์มต่าง ๆ ทั่วโลก ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกเคสคือ ฟาร์ม clickbait ในมาซิโดเนียและโคโซโว ที่เข้าถึงชาวอเมริกันเกือบครึ่งล้านหนึ่งปีก่อนการเลือกตั้งในปี 2020

ฟาร์มต่าง ๆ ได้ทำทั้ง Instant Articles และ Ad Breaks ซึ่งเป็นโปรแกรมสร้างรายได้ที่คล้ายกันสำหรับเนื้อหาประเภทวีดีโอ ซึ่งมีข้อมูลว่าจำนวน 60% ของโดเมนที่ลงทะเบียนใน Instant Articles กำลังใช้กลยุทธ์การเขียนแบบสแปมที่ใช้โดยฟาร์ม clickbait

Google ก็มีความผิดเช่นกัน โปรแกรม Adsense เป็นตัวจุดเชื้อไฟให้กับฟาร์มใน มาซิโดเนียและโคโซโว ที่กำหนดเป้าหมายผู้ชมชาวอเมริกันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเท็จและสร้างเพื่อให้เป็นกระแสไวรัล

ปัจจุบันฟาร์ม Clickbait หลายแห่งสร้างรายได้จากทั้ง Instant Articles และ AdSense โดยได้รับเงินจำนวนมหาศาลจากทั้งสองบริษัท และเนื่องจากอัลกอริธึมของ Facebook , Google และ Youtube ช่วยกระจายข้อมูลทุกสิ่งที่ผู้ใช้ยิ่งมีส่วนร่วมมาก

Instant Articles , Ads Break และ Google Adsense แหล่งทำเงินของ ฟาร์ม Clickbait (CR:Abijita Foundation)
Instant Articles , Ads Break และ Google Adsense แหล่งทำเงินของ ฟาร์ม Clickbait (CR:Abijita Foundation)

นั่นเองที่ทำให้พวกเขาได้สร้างระบบนิเวศข้อมูลซึ่งเนื้อหาที่กระจายบนแพลตฟอร์มหนึ่งมักจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเพิ่มการกระจายและสร้างรายได้สูงสุด ซึ่งฟาร์ม clickbait เหล่านี้คงอยู่ไม่ได้แน่ ถ้าไม่ได้รับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ได้รับจากแพล็ตฟอร์มทั้งสองนั่นเอง

บทสรุป

แม้ว่า Facebook ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการกำจัดฟาร์ม clickbait ออกจาก Instant Articles และ Ad Breaks ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ตามรายงานภายในของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เริ่มมีการตรวจสอบผู้จัดพิมพ์เพื่อหาต้นฉบบับจริงของเนื้อหาและทำลายล้างผู้ที่โพสต์เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ต้นฉบับ

แต่การตรวจสอบอัตโนมัติเหล่านี้มีจำกัด โดยเน้นที่การประเมินความสร้างสรรค์ของวิดีโอเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าบทความนั้นถูกลอกเลียนแบบหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้น AI ก็ตรวจสอบได้ยากอยู่ดี

ระบบดังกล่าวจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาษาที่กำหนดเท่านั้น ประเทศที่มีภาษาที่ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญโดยชุมชนการวิจัย AI จะได้รับความสนใจน้อยกว่ามาก ตัวอย่าง ในกรณีของเอธิโอเปีย มีประชากร 100 ล้านคนและหกภาษา Facebook รองรับเพียงสองภาษาเหล่านั้นสำหรับระบบตรวจสอบที่สมบูรณ์

ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นกลยุทธ์ WIN-WIN ที่ได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายแพลตฟอร์มเองที่ได้รายได้จากการชม หรือ คลิกโฆษณา ส่วนเหล่าฟาร์ม clickbait ก็ได้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งที่เกิดขึ้น

หรือแม้ในประเทศเราเองก็ตามผมก็มองว่า ภาษาไทยอาจจะไม่ได้รับการลำดับความสำคัญไว้สูงสุดเช่นกัน ในการทำงานของระบบเหล่านี้ เมื่อเราได้เห็น ฟาร์ม clickbait เกิดขึ้นมากมาย และสร้างรายได้ให้กับพวกเขาอย่างมหาศาลเฉกเช่นเดียวกัน

ความน่ากลัวของเรื่องราวทั้งหมดนี้ คือหากไม่มีการจัดการอย่างชัดเจนจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีทั้งหลาย ซึ่งตอนนี้มันได้สร้างพฤติกรรมที่แตกแยกและสุดโต่งที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งมันอาจจะเป็นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่เราเห็นในเมียนมาร์และตอนนี้กำลังเห็นในเอธิโอเปียเป็นเพียงบทเริ่มต้นของเรื่องเท่านั้น แล้วตอนจบของมันจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครอาจคาดเดาได้นั่นเองครับผม

References : https://screenrant.com/google-facebook-battling-funding-misinformation-report/
https://bit.ly/3E3Vp7D
https://www.wsj.com/articles/facebook-opens-up-instant-articles-to-all-publishers-1455732001