ภาษี e-Service x แพลตฟอร์ม กับนโยบายรัฐใหม่ที่กำลังรีดภาษีที่ควรจ่ายจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างชาติ

ต้องบอกว่าเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมซักทีนะครับสำหรับ ภาษี e-Service ใหม่ ที่ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการให้แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีทั้งหลายที่คิดจะดำเนินการในประเทศไทย ต้องมีการเสียภาษีให้ถูกต้อง

ความจริงเรื่องราวเหล่านี้ ต้องบอกว่าควรเป็นสิ่งที่ทำตั้งแต่แรก เพราะมาเก็บทีหลัง ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อหลากหลายวงการ อย่างที่เราได้เห็นล่าสุดกับเหล่าฟรีแลนซ์ที่กำลังมีปัญหากับระบบชำระเงินของ Paypal ซึ่งมันเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาษี e-Service ของรัฐบาล

หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ตอนนี้ก็ต้องมีการเสียภาษี อย่างในแพลตฟอร์ม Social Media ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ก็ต้องเริ่มจ่ายภาษีจากค่า ads ที่ใช้ยิงโฆษณา ซึ่งแน่นอนว่าแพลตฟอร์มก็ผลักภาระมาเก็บกับผู้ลงโฆษณานั่นเอง ทำให้ต้นทุนในการทำการตลาดสูงขึ้น

แล้วการหาทางเลือกอื่นจะรอดหรือไม่?

ซึ่งหลังจากข่าวใหญ่ เราจะเห็นได้ว่ามีข้อมูลมากมาย ที่แนะนำให้เหล่าฟรีแลนซ์ทำ เพื่อหาทางเลือกการชำระเงินออนไลน์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Paypal

ทั้งตัวเลือกอย่าง TransferWise , Payoneer หรือ แม้กระทั่งบริการใหม่ที่กำลังจะมาเปิดในประเทศไทยอย่าง Stripe ซึ่งเป็นบริการยอดนิยมไม่แพ้ Paypal ในโลกตะวันตก

แต่เท่าที่ผมตามข้อมูลจากเรื่องภาษี e-Service ผมมองว่าสุดท้ายทุกแพลตฟอร์มที่ต้องการมาทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น ก็ต้องทำตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งช่วงแรกรัฐคงจัดการที่แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่คนไทยใช้เยอะ ๆ ก่อนอย่างที่เป็นข่าวกัน ทั้ง Facebook หรือ Paypal

สอดคล้องกับนโยบายหลาย ๆ ประเทศนะครับ ที่ตอนนี้เริ่มตามเหล่าบรรดาแพลตฟอร์มทั้งหลายทันเสียที หลังจากใช้ช่องโหว่ของกฏหมายมานานแสนนาน สร้างกำไรให้กับพวกเขาได้อย่างมหาศาล โดยเสียภาษีให้กับประเทศต่างๆ ที่พวกเขาเข้าไปทำธุรกิจเพียงน้อยนิดเท่านั้น

สร้างความเป็นธรรมให้กับแพลตฟอร์มของไทย

ผมว่าข้อดีของการจัดเก็บภาษีเหล่านี้นั้น อย่างแรกคงเป็นเรื่องการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งมันหลุดรอดสายตาไปนานมากแล้ว และเม็ดเงินมันก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากการเติบโตของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มาทำธุรกิจในประเทศไทย

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เหล่า startup หรือแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทยแท้ ๆ ประกอบธุรกิจในไทยมาตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าพวกเขาจ่ายภาษีเหล่านี้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาตั้งแต่แรกตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ

ซึ่งการที่แพลตฟอร์มต่างชาติหลีกเลี่ยงภาษีเหล่านี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างนึงในการทำธุรกิจของพวกเขาอย่างแน่นอน ซึ่งไม่เป็นธรรมเลยกับแพลตฟอร์มของไทยที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง

ตอนนี้ในไทยเองก็เริ่มมีหลากหลายแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นและ เริ่มที่จะสามารถสู้กับต่างชาติได้บ้างแล้ว ตัวอย่างใน Delivery Service เองที่ของไทยเรามีทั้ง Lineman และ Robinhood

หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอีกทางเลือกหนึ่งอย่าง blockdit ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเติบโตจนมีผู้ใช้งานระดับหลักล้านคน ซึ่งก็เป็นฐานขนาดใหญ่เลยทีเดียว หรือ อีกหลากหลาย startup ที่กำลังสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยพวกเขาก็ต้องเสียภาษีถูกต้องตามกฏหมายเช่นเดียวกัน

บทสรุป

ส่วนตัวผมเองค่อนข้างเห็นด้วยกับประเด็นเรื่องการเก็บภาษีที่ถูกต้อง ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ควรจะจ่ายและไม่ควรละเว้นให้กับแพลตฟอร์มใด ๆ ซึ่งเป็นเทรนด์เดียวกันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่หลายๆ รัฐเริ่มร่วมมือกันจัดการกับแพลตฟอร์มโดยเฉพาะแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ที่ใช้เทคนิคต่าง ๆ นา ๆ เพื่อเลี่ยงภาษีมาอย่างยาวนาน

ซึ่งบางครั้งสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็มักจะหาช่องโหว่จากกฏหมายเหล่านี้ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Airbnb กับธุรกิจเช่าที่พัก ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจคอนโดปล่อยเช่าที่บางคนต้องการซื้อมาเพื่ออยู่อาศัยแต่ต้องเจอเพื่อนบ้านมากหน้าหลายตาจากผู้เช่า Airbnb

Uber เองที่เริ่มต้นด้วยการขนส่งรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งมันก็ไม่ได้ถูกต้องตั้้งแต่แรกเพราะมันมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีการจ่ายภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งบริการสุดฮ็อตในตอนนี้อย่าง Delivery Service

ถ้าคุณมองลงไปในท้องถนนในทุกวันนี้ ที่มี Rider อยู่เต็มไปหมดและขับขี่ด้วยความอันตรายเนื่องจากต้องทำรอบเพื่อสร้างรายได้สูงสุด และในขณะขับขี่ก็ต้องมอง GPS เพื่อหาสถานที่สำหรับส่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงบนท้องถนนให้กับผู้ขับขี่อื่น ๆ บนท้องถนน ซึ่งผมมองว่าสุดท้ายก็ต้องมีกฏหมายมาจัดการและควบคุม Rider เหล่านี้ ไม่ให้มีมากจนเกินไปแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำขึ้นมา บางครั้งมันอาจจะไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่ที่ล้ำเลิศอะไรเลย แต่พวกเขาอาศัยช่องโหว่จากกฏหมายเหมือนเรื่องของภาษีที่มันยังล้าหลังและตามไปไม่ถึง และสามารถทำเงินให้กับพวกเขาได้อย่างมหาศาลนั่นเองครับผม