BeIn Sport vs BoutQ กับมหาศึกสงครามการเมืองในอ่าวเปอร์เซีย สู่การละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งร้ายแรงในวงการกีฬาโลก

ต้องบอกว่าด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวไกลในปัจจุบัน มันก็ได้เกิดผลกระทบต่อวงการกีฬาอย่างชัดเจนมาก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการถ่ายทอดสด ที่เรียกได้ว่าตอนนี้มีการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างรุนแรงมาก ๆ

ตัวอย่างในบ้านเราเอง กีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล มีเว็บไซต์ หรือ เพจมากมายใน facebook เองที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์กัน และทำกันแบบง่ายมาก ๆ เนื่องจากการพัฒนาของระบบ live สดในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวงการกีฬา

นั่นเองที่ทำให้ในอนาคต หากมีบริษัทใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาเหล่านี้มา อาจจะต้องพินิจพิเคราะห์แบบละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้ัน เนื่องจากการละเมิดที่ทำได้ง่ายขึ้นในยุคปัจจุบัน

เราจะเห็นเทรนด์ที่ราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาชื่อดังราคาประมูลลดลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ง่าย ๆ เหมือนในยุคปัจจุบัน

และนั่นเองที่ทำให้เกิดประเด็นใหญ่ขึ้นในวงการกีฬา กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ beIn Sport ของทางประเทศซาอุดิอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการสร้างบริการ beoutQ มาขโมยสัญญาณและออกอากาศเป็นของตนเอง

มหาศึกสงครามการเมืองในอ่าวเปอร์เซีย

เช้าตรู่ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2017 ได้มีคำแถลงที่เซอร์ไพรส์มาก ๆ จากประธานาธิบดีกาตาร์ ผ่านสำนักข่าวกาตาร์ (QNA)

สื่อระดับภูมิภาคในอาหรับ และที่อื่น ๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการรับข่าวดังกล่าว และได้ทำการเผยแพร่ให้ขยายวงกว้าง เพื่อให้ผู้คนนับล้านได้เห็นแถลงการณ์ครั้งนี้

“อิหร่านเป็นตัวแทนของอำนาจในภูมิภาค และอิสลามไม่สามารถละเลยได้ และไม่ฉลาดที่จะเผชิญหน้ากับพวกเขา” ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัลธานี ผู้ปกครองกาตาร์กล่าวในพิธีสำเร็จการศึกษาทางทหารเป็นภาษาอาหรับ

ราชวงศ์กาตาร์ รู้ตัวทันทีว่าระบบรัฐบาลของพวกเขากำลังถูกรุกราน และพวกเขามั่นใจว่ามันเป็นแผนการของ ซาอุดิอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ทำเรื่องชั่ว ๆ ดังกล่าวนี้

ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าระบบของพวกเขาถูก hack โดยกลุ่มนับรบไซเบอร์ของรัสเซียที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานดังกล่าว

พวกเขาไม่เคยเห็นการลอบโจมตีในลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาก่อน สถานการณ์ที่มีความตึงเครียดมานานหลายปี กำลังจะถึงจุดแตกหัก

ภายในสิบสามวัน ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของพวกเขารวมถึงอียิปต์และหมู่เกาะโคโมโรเล็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในการปิดกั้น เพื่อคว่ำบาตรกาตาร์แบบเต็มรูปแบบ

พวกเขาขับไล่ชาวกาตาร์ออกจากประเทศตัวเอง ตัดความสัมพันธ์ทางการเงิน และปฏิเสธที่จะให้เครื่องบินของกาตาร์ใช้น่านฟ้าของพวกเขา เหล่าร้านค้าในกาตาร์ต่างขาดแคลนอาหาร เนื่องจากประเทศนี้พึ่งพาการค้าทางบกกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก

ปัญหาใหญ่น่าจะเกิดจากกาตาร์ได้ทำการผูกมิตรกับศัตรูของซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิม

ซึ่ง ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ต่างนำทูตของพวกเขาออกจากกาตาร์ในปี 2014 เนื่องจากกาตาร์ได้ไปสนับสนุนการประท้วงอาหรับสปริง

การประกาศคว่ำบาตรสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวกาตาร์จำนวนมาก ครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศบางครอบครัวเริ่มสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนตัวไว้ในบ้านพักตากอากาศและพระราชวังเพื่อเตรียมพร้อมหากมีการรุกรานขึ้นมาจริง ๆ

องบอกว่าสงครามเย็นกับกาตาร์นั้นมีเวลานานมาหลายปีแล้ว แต่กาตาร์เริ่มตีตัวออกห่างจากเพื่อนบ้านอย่างรวดเร็วเมื่อ ฮาหมัด บิน คาลิฟา โค่นล้มบิดาของตัวเองในการรัฐประหารที่ไร้การนองเลือดในปี 1995

ด้วยความที่ฮาหมัดเติบโตมาในโลกที่มีความสากล และด้วยความมั่งคั่งของประเทศในยุคนั้น ความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับสหราชอาณาจักร เขาจึงเข้าเรียนที่ Royal Military Academy , Sandhurst ก่อนที่จะกลับไปโดฮาเพื่อเป็นนายทหารและในที่สุดก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เขาได้เข้ามายึดอำนาจโดยความเห็นชอบของสมาชิกคนสำคัญในครอบครัว ฮาหมัดได้เข้ามาเปลี่ยนนโยบายกาตาร์ใหม่ แม้กระทั่งการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล

เขาได้พัฒนาแหล่งก๊าซของประเทศซึ่งเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติยังไม่ได้เป็นวัตถุดิบที่ทำกำไรได้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งการเดิมพันครั้งนี้ทำให้กาตาร์ร่ำรวยมหาศาล ด้วยความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น ฮาหมัด ได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นไปที่บทบาทของกาตาร์ในส่วนที่เหลือของโลก ไม่ใช่แค่เหล่าประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเท่านั้น

หนึ่งในปัจจัยใหญ่ที่สุดคือการสร้าง Al Jazeera ช่องข่าวที่ใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยในการสรรหานักข่าวต่างประเทศ และนำเสนอให้ครอบคลุมตะวันออกกลางมากที่สุด

โดยเป็นการแสดงให้เห็นว่ากาตาร์เป็นกลาง แต่ภายในช่อง Al Jazeera เองก็แทบจะไม่มีการรายงานประเด็นทางสังคมหรือการโต้เถียงภายในกาตาร์เองแต่อย่างใด

การถือกำเนิดของ Al Jazeera คืออีกหนึ่งชนวนสำคัญ (CR:Inside Arabia)
การถือกำเนิดของ Al Jazeera คืออีกหนึ่งชนวนสำคัญ (CR:Inside Arabia)

เพื่อนบ้านของกาตาร์มองว่า Al Jazeera ไม่เป็นกลาง และเมื่อเกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อเยาวชนชาวอียิปต์ประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคที่ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเตส์หนุนหลัง

แต่หลังจากมูบารัคลงจากอำนาจ กาตาร์ก็ได้แต่งตั้งโมฮาเหม็ด มอร์ซี จากกลุ่มมุสลิมภราดรภาพให้กลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์ และนั่นเองที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียและยูเออีโมโห และสนับสนุนนายพลในการโค่น มอร์ซี และปราบปรามกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ

กาตาร์มีความเชี่ยวชาญมากกว่าซาอุฯ หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการล็อบบี้และสื่อสารกับโลกภายนอก พวกเขาเปรียบเสมือนสวิตเซอร์แลนด์แห่งตะวันออกกลางที่รักษาการติดต่อกับทุกกลุ่มเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาและนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาค

อีกปัจจัยหนึ่งที่ได้สร้างความขุ่นเคืองมายาวนานหลายปี คือ กาตาร์มีนิสัยขี้อิจฉาเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่า ด้วยความมั่งคั่งมหาศาล กองทุนความมั่งคั่งของกาตาร์ ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัทในโลกตะวันตกที่มีชื่อเสียงมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมันอย่าง Volkswagen Group หรือ Royal Dutch Shell รวมถึงการกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก โครงการพัฒนาสนามบิน Heathrow ย่านธุรกิจ Canary Wharf และสร้าง Shard ซึ่งเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในสหราชอาณาจักร

แถมกาตาร์ยังได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup) ในปี 2022 ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดรองจากโอลิมปิก

และสำหรับเหล่าเศรษฐีผู้ร่ำรวยของกาตาร์ การซื้อห้างสรรพสินค้า Harrods ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังบนถนน Old Brompton Road ในลอนดอนมูลค่า 1,500 ล้านปอนด์ในปี 2010 ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ภาษาอาหรับได้กลายเป็นภาษาที่สองของห้างดังเหล่านี้ เนื่องจากบรรดาลูกค้าผู้ร่ำรวยจากดูไบ ริยาด หรือ คูเวตซิตี้ จะมาช็อปปิ้งในช่วงวันหยุด

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็รู้สึกว่า การกระทำต่าง ๆ ของกาตาร์เกิดจากความหยิ่งผยองของพวกเขา กาตาร์มีฐานทัพ Al Udeid การสื่อสารกับชาติตะวันตกก็ดูราบรื่น แถมยังมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าประเทศอื่น ๆ

นั่นเป็นเหตุให้เหล่าชีคที่เขี้ยวลากดินของเอมิเรตส์พร้อมกับเหล่าพันธมิตร มองหาข้ออ้างที่จะตัดกาตาร์ออกไป และถือเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้

แต่ดูเหมือนกาตาร์จะไม่แคร์ เพราะด้วยความมั่งคั่งของพวกเขา ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดที่รองรับประชากรในประเทศจึงได้รับการออกแบบใหม่ โดยไม่แคร์เพื่อนบ้านชาวอาหรับอีกต่อไปนั่นเอง

การถือกำเนิดขึ้นของ beoutQ

ต้องบอกว่า beoutQ เป็นมากกว่าแค่การละเมิดลิขสิทธิ์แบบธรรมดา ๆ ทั่วไปที่เราได้เห็นกันทั่วโลก ที่มีการลักลอบนำสัญญาณไปใช้อย่างผิดกฏหมาย แต่ส่วนใหญ่ เป็นการกระทำแบบลับ ๆ ไม่ประเจิดประเจ้อเหมือนกับสิ่งที่ beoutQ ทำ

beoutQ เป็นองค์กรละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมี 10 ช่องสัญญาณที่เริ่มออกอากาศทางผู้ให้บริการดาวเทียม Arabsat หลังจากข้อพิพาททางการทูตกระตุ้นให้ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( UAE ) บาห์เรน และ  อียิปต์

ไม่นานหลังจากที่กาตาร์ถูกปิดล้อม ช่อง beIn ซึ่งเป็นช่องกีฬาชื่อดังได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศคู่ขัดแย้งกับกาตาร์

การสอบสวนของ Al Jazeera ในปีที่แล้วเปิดเผยว่า  ผู้ให้บริการซาอุดีอาระเบีย 2 ราย คือ Selevision และ Shammas มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานที่ดำเนินการโดย beoutQ 

การสอบสวนพบว่า beoutQ ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทสื่อแห่งหนึ่งในเขตอัล-กิราวัน กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย แต่ทางซาอุดีอาระเบียได้ปฏิเสธการอ้างว่า beoutQ อยู่ในราชอาณาจักร

beoutQ กับการละเมิดลิขสิทธิ์แบบอื้อฉาวที่สุดครั้งนึงในวงการกีฬาโลก (CR:soupskotom.com)
beoutQ กับการละเมิดลิขสิทธิ์แบบอื้อฉาวที่สุดครั้งนึงในวงการกีฬาโลก (CR:soupskotom.com)

โดยสำนักข่าว Al Jazeera ได้รับเอกสารที่พิสูจน์ว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างบริษัทซาอุดิอาระเบียและฝ่ายบริหารของ Arabsat

การสอบสวนยังแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ใช่การกระทำของแฮ็กเกอร์ทั่วไป เหมือนในประเทศอื่น ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบบูรณาการที่มีการปกปิดอย่างเป็นทางการและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากซาอุดิอาระเบีย

ในการให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera อัยการของกาตาร์กล่าวว่าจำเลยหนึ่งในสามคนที่ถูกกล่าวหาว่าสื่อสารกับซาอุดิอาระเบียและอียิปต์เกี่ยวกับปัญหานี้ได้เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียหลังจากการปิดล้อมดังกล่าว

จำเลยได้พบกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของซาอุดิอาระเบีย Maher Mutreb และแชร์ข้อมูลลับและละเอียดอ่อนกับหน่วยข่าวกรองอียิปต์

Mutreb เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของซาอุดิอาระเบียที่ทำงานให้กับที่ปรึกษาอาวุโสของมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดิอาระเบีย (ผู้ที่เข้าซื้อสโมสรนิวคาสเซิล แห่งพรีเมียร์ลีก)

ตามรายงานจาก   ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรม Mutreb มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการสังหาร Jamal Khashoggi นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย   ในสถานกงสุลของประเทศในอิสตันบูลเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2018

บทสรุป

แม้ตอนนี้สถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากซาอุดิอาระเบียต้องการเข้ามาลงทุนในสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่าง นิวคาสเซิล ซึ่งมีการล็อบบี้จนสามารถปิดดีลดังกล่าวได้ในท้ายที่สุด

แต่จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของ beoutQ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่แคร์สายตาชาวโลก ซึ่งทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียถูกจัดให้อยู่ใน Priority Watch List โดยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นเวลาถึงสองปี

นั่นเองที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่ล้มเหลวในการปกป้องและบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ทั่วโลก

ซึ่งทางการสหรัฐได้มีการบีบบังคับให้ ซาอุดิอาระเบียเพิ่มการบังคับใช้กฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับ beoutQ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในเวทีการค้าโลกนั่นเองครับผม

แล้วคุณล่ะมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับผม

References :
https://www.qatar-tribune.com/news-details/id/124128
https://www.broadbandtvnews.com/2021/10/07/saudi-arabia-to-lift-ban-on-bein-sports/
https://theathletic.com/news/saudi-arabia-reverses-bein-sport-ban/
https://www.aljazeera.com/economy/2020/6/16/explainer-the-piracy-case-against-saudis-beoutq-channel