ระบบเรียนแบบ Track ของเด็ก ม.ปลาย ที่เลิกจำกัดเด็กด้วยแค่วิทย์-ศิลป์

หลังจากได้เห็นโพสต์จากหน้าฟีดของ facebook ที่เป็นข่าวจากเว็บ Dek-D ที่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของการเจาะการเรียนแบบ Track ของ เด็ก ม.ปลาย “กรุงเทพคริสเตียน” ที่เลิกจำกัดแค่วิทย์-ศิลป์

แม้จะเป็นข่าวเก่าเมื่อปี 2019 แต่เรื่องนี้ต้องบอกว่าน่าสนใจมาก ๆ กับการเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของการศึกษาไทยครั้งนึงเลยก็ว่าได้

ระบบใหม่ที่มีชื่อว่า BCC Next ที่นำวิทย์-ศิลป์ มาแตกแขนงเป็นแผนการเรียน (Tracks) มีการใส่วิชาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ Track นั้น และลดทอนวิชาที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดสัดส่วนวิชาชีวะใน Track วิศวะ ( อันนี้คนสายวิศวะน่าจะเข้าใจดี) หรือ ลดทอนวิชาเคมีใน Track สถาปัตย์

การแบ่งแค่วิทย์-ศิลป์ เราเคยสงสัยกันบ้างมั๊ยว่าใครเป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์นี้ขึ้นมา เมื่อความสามารถของนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงมัธยมนั้น มันมีความหลากหลายมาก ๆ แต่ถูกจำกัดไว้เพียงแค่สองทางเลือกนี้เท่านั้น

ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มันก็คงเป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเรา ที่อาชีพต่าง ๆ เริ่มมีความหลากหลาย และสามารถทำเงินเลี้ยงตัวเองในชีวิตจริงเพิ่มมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดแค่ วิทย์ กับ ศิลป์ อีกต่อไป

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ผมได้ รีวิว หนังสือ The Future Is Faster Than You Think: How Converging Technologies Are Transforming Business, Industries, and Our Lives โดย Peter H. Diamandis และ Steven Kotler ไว้ใน podcast พอดิบพอดี

หนังสือ The Future Is Faster Than You Think: How Converging Technologies Are Transforming Business, Industries, and Our Lives  โดย Peter H. Diamandis และ Steven Kotler (CR:medium)
หนังสือ The Future Is Faster Than You Think: How Converging Technologies Are Transforming Business, Industries, and Our Lives โดย Peter H. Diamandis และ Steven Kotler (CR:medium)

ซึ่งมีการวิเคราะห์ในเรื่องการเรียนการสอนในอนาคต ไว้น่าสนใจเช่นเดียว ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ได้จำกัดไว้แค่สายวิทย์ และ ศิลป์ อีกต่อไปเหมือนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนกำลังทำ

ระบบการศึกษาใหม่ในอนาคตนั้น จะเป็นสถาบันที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกที่แตกต่างออกไป และโลกเรากำลังพัฒนาไปด้วยอัตราเร่งที่ค่อนข้างสูงมาก

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 18 อเมริกาได้เผยแพร่ระบบการศึกษาแบบอุตสาหกรรมที่ออกแบบมาเพื่อผลิตนักเรียนนักศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อได้ยินระฆัง นักเรียนก็จะย้ายจาก “สถานีการเรียนรู้” แห่งหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่ง มันทำให้สามารถมั่นใจได้ในเรื่องการควบคุมคุณภาพ และผลิตนักเรียนนักศึกษาที่พร้อมสำหรับความต้องการของสังคมในตอนนั้น

แล้วความต้องการเหล่านั้นคืออะไร? ในยุคนั้นก็คงหนีไม่พ้นโรงงานอุตสาหกรรม ที่ทุกคนต้องมีมาตรฐานเดียวกันเพื่อผลิตให้ได้คุณภาพแบบเดียวกัน

แต่ตอนนี้ ทุกคนอยู่ในทางเดินที่ไม่เหมือนกันอีกต่อไป จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกเรา มันไม่สามารถสร้างชุดประสบการณ์ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน ให้กับนักเรียนทุกคนได้อีกต่อไป

โรงเรียนในปี 2030 หน้าตาจะเป็นเช่นไร

ต้องบอกว่าจินตนาการของโรงเรียนแห่งอนาคตนั้น ได้ถูกจินตนาการไว้แล้วตั้งแต่ปี 1995 เมื่อ นีล สตีเฟนสันนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง The Diamond Age

ด้วยทั้งนาโนเทคโนโลยี และ AI จะหลอมรวมกลายเป็นชีวิตประจำวันของเหล่านักเรียนนักศึกษา

The primer จะกลายเป็นคู่หูการเรียนรู้ของนักเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และปรับแต่งให้เข้ากับเฉพาะบุคคล

Primer เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบทุกอย่างตั้งแต่ระดับพลังงานไปจนถึงสภาวะทางอารมณ์ Primer จะสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เฉพาะเจาะจงกับนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น

แทนที่จะปั้นเด็กนักเรียนให้เป็นไปตามความต้องการของสังคม Primer จะมีจุดมุ่งหมายในการผลิตนักคิด ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายมากกว่า

และนั่นคือ Primer จากนิยายอย่าง The Diamond Age แต่ตอนนี้ เทคโนโลยีอย่าง Magic Leap ช่วยให้เรื่องราวในนิยายวิทยาศาสตร์ กลายเป็นจริงมากขึ้น

เทคโนโลยีของ Magic Leap นั้นช่วยให้สามารถสร้างโฮโลแกรมรอบตัว ด้วยการผสมผสานระหว่าง AR และ AI และเปลี่ยนทุกการเดินทางเป็นประวัติศาสตร์

ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะเดินไปตามถนนในแมนฮัตตัน จะเห็นอาคารต่าง ๆ เมื่อศตวรรษที่แล้ว และ Magic Leap จะแสดงโฮโลแกรม ที่ทำหน้าที่เป็นนักประวัติศาสตร์เสมือนจริง

เทคโนโลยี VR ของ Magic Leap จะยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ (CR:Road to VR)
เทคโนโลยี VR ของ Magic Leap จะยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ (CR:Road to VR)

แน่นอนว่าเพียง AR อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่การหลอมรวมกันระหว่าง AR และ AI ทำให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่นักเรียนทุกคนสามารถกำหนดเองได้

การเพิ่มเซ็นเซอร์ที่ตอบสนองต่อข้อมูลจากระบบประสาทวิทยา ตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถทำให้ตัวเองอยู่ในกรอบความคิดในการเติบโตได้ (ซึ่งงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าจำเป็นสำหรับการเรียนรู้)

ซึ่งเราจะเริ่มเห็นอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โรงเรียนในอนาคต จะมีสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สามารถปรับแต่งตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้

แล้วโรงเรียนจะเป็นอย่างไรในปี 2030 มันอยู่ที่ว่า วันนี้คุณอยากเรียนอะไร นั่นเองครับผม

References : https://www.dek-d.com/education/5329
หนังสือ The Future Is Faster Than You Think: How Converging Technologies Are Transforming Business, Industries, and Our Lives โดย Peter H. Diamandis และ Steven Kotler
https://www.trueplookpanya.com/