การพุ่งทะยานสู่ความล่มสลาย ของธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM

ในวันที่ 12 สิงหาคม ปี 1981 ที่โรงแรม Waldorf Astoria ใจกลางแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก IBM ได้เปิดตัว IBM PC เพื่อเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างเป็นทางการ

ในไม่ช้า โลกก็เปิดรับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเหล่านี้ ยอดขายกว่าหลายล้านเครื่อง โดย IBM สามารถครองยอดขายเหล่านั้นได้แบบเบ็ดเสร็จ ทิ้งนำโด่งคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น

แม้สถานการณ์ในตอนนั้น จะมีบริษัทมากมายที่ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น Apple หรือ Tandy Corp แต่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไหนที่จะมาท้าท้ายความยิ่งใหญ่ของ IBM ในยุคนั้น

IBM ได้วางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยการวางตำแหน่งเรื่องของเทคโนโลยีของพวกเขา สำหรับการใช้งานในวงกว้าง และ ที่สำคัญเพื่อเป็นการกำหนดให้เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม

แต่ IBM ประเมินตลาดนี้ต่ำเกินไป การเกิดขึ้นของคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น Compaq , Dell หรือ แม้กระทั่ง Microsoft เองก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อนองค์กรที่ช้าเหมือนเต่า มีองค์กรที่ใหญ่เทอะทะ รวมถึงระบบระเบียบที่แทบไม่ต่างจากระบบราชการ

ในใช้เวลาเพียงไม่ถึงทศวรรษ ธุรกิจ PC ของพวกเขาก็ถึงคราล่มสลาย ตายจากไปแบบไม่เหลือเค้าลางของความยิ่งใหญ่ในอดีตอีกต่อไป สุดท้ายในปี 2005 บริษัทคอมพิวเตอร์สัญชาติจีนอย่าง Lenovo Group ก็ได้เข้ามา take over ธุรกิจ PC ของ IBM ไป

แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นของยักษ์ใหญ่ Big Blue ที่น่าเกรงขามอย่าง IBM กับ ธุรกิจ PC

การปฏิวัติคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มต้นอย่างไร

Steve Jobs ได้เปิดตัว Apple II ด้วยราคา 1,298 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 1977 ในขณะที่คู่แข่ง Commodore เปิดตัวตามมา ทั้งสองได้รับการออกแบบสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน Tandy ได้เปิดตัว TRS-80 ซึ่งมาพร้อมกับเกม ซึ่งในช่วงแรก ๆนั้น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเหล่านี้ จำกัดเฉพาะเกม และ เครื่องมือการเขียนโปรแกรมบางอย่างเพียงเท่านั้น

ส่วน IBM นั้นลูกค้าส่วนใหญ่เป็นองค์กร ที่ใช้ เซิร์ฟเวอร์ ของพวกเขาเป็นหลัก แต่การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทำให้ IBM ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้

ภายในปี 1980 ลูกค้าในหลาย ๆ อุตสาหกรรมของ IBM เริ่มบอกให้ IBM เข้าร่วมการต่อสู้ในศึกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ที่โรงงาน IBM ในซานดิเอโก เมือง Endicott รัฐนิวยอร์ก และเมือง Poughkeepsie รัฐนิวยอร์ก วิศวกรของ IBM กำลังเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรเปลี่ยนโลกตัวใหม่นี้

หน่วยงานที่เหมาะสำหรับการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก อยู่ในแผนกผลิตภัณฑ์ทั่วไปของ IBM ซึ่งมุ่งเน้นไปที่มินิคอมพิวเตอร์ และ เครื่องพิมพ์ดีด ที่พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างสูง

แต่หน่วยงานดังกล่าวไม่มีงบเพียงพอที่จะมาสร้าง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Frank T.Cary ซึ่งเป็น CEO ของ IBM ในตอนนั้น ตัดสินใจให้ทุนในการพัฒนา PC โดยใช้งบที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ของบริษัทเพื่อให้สามารถผลิตมันออกมาให้ได้เร็วที่สุด

Frank T.Cary CEO IBM สั่งลุยธุรกิจ PC
Frank T.Cary CEO IBM สั่งลุยธุรกิจ PC

Cary ได้หันไปหา William C. Lowe ผู้ซึ่งเคยคิดเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องจักรดังกล่าวมาก่อน ซึ่ง Lowe รายงานตรงต่อ Cary โดยข้ามระบบระเบียบที่ล้าหลังทั้งหมดของ IBM รวมถึงวิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนของบริษัททั้งหมด ซึ่งปรกติต้องใช้เวลาราว ๆ 4-5 ปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใด ๆ

แต่ตลาด PC นั้นเติบโตเร็วเกินไปที่จะรอเวลาดังกล่าว Cary ต้องการให้โครงการนี้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี และพร้อมสนับสนุน Lowe เต็มที่

แผนของ Lowe คือ การซื้อส่วนประกอบต่าง ๆ และ ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่แล้ว จากนั้นนำมายำรวมกันสร้างเป็นแพ็คเกจ ที่มุ่งเน้นไปที่ตลาดผู้บริโภค โดยไม่ต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนาใหม่ ที่ต้องใช้เวลานาน

IBM PC จะไม่มีระบบปฏิบัติการที่ IBM ใช้ในเมนเฟรม แม้จะยังไม่ชัดว่าจะมีลูกค้ากี่รายจะสนใจ รวมถึงอาจถูกคัดค้านจากเหล่าพนักงานที่ขายคอมพิวเตอร์เมนเฟรม ดังนั้น โครงการนี้จึงถูกเก็บเป็นความลับขั้นสุดยอด

Jack Sams เพื่อนของ Lowe เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่รู้จักกับ Bill Gates และเขาได้ติดต่อ Gates ในวัย 24 ปี เพื่อดูว่าเขามีระบบปฏิบัติการที่อาจจะใช้กับเครื่อง PC เครื่องใหม่ของ IBM หรือไม่

Gates ที่เพิ่งลาออกจากฮาวาร์ด เพื่อมาสร้างธุรกิจใหม่ของเขาอย่าง Microsoft แต่ Gates เป็นคนที่มีสายตาที่เฉียบแหลม โดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจ

ในเดือนกรกฏาคมปี 1980 IBM ได้พบกับ Gates แต่ก็ไม่ค่อยประทับใจนัก พวกเขาจึงหันไปหา Garry Kildall ประธานฝ่าย Digital Research ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์ที่ได้รับยอมรับมากที่สุดในขณะนั้น

แต่การประชุมกับ Garry Kildall นั้นดูจะหนักกว่าฝั่ง Bill Gates การประชุมแทบไม่คืบหน้า มีการโต้เถียงกันตลอดเรื่องข้อตกลงที่ไม่เปิดเผยข้อมูลมากเกินไป และ สุดท้าย Gates จึงกลายเป็นทางเลือกเดียวของพวกเขา และ Gates ก็จริงจังกับ IBM มาก ๆ

Lowe ได้เจรจาเงื่อนไข ปริมาณ และ วันที่ส่งมอบกับซัพพลายเออร์ รวมถึง Gates เพื่อให้เป็นไปตากำหนดเวลาของ IBM

แต่ Gates กล่าว่า Microsoft ไม่สามารถเขียนระบบปฏิบัติการตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นเขาจึงซื้อระบบที่มีชื่อว่า QDOS ที่สามารถนำมาแก้ไขปรับปรุงตามความต้องการ IBM ได้

มันเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ที่จะพลิกหน้าบริษัทหน้าใหม่อย่าง Microsoft เพราะ IBM ไม่เลือกที่จะดูแลซอฟต์แวร์ตัวนี้เอง กลับให้ Microsoft เป็นคนจัดการ

นั่นหมายความว่า Microsoft ยังคงมีสิทธิ์ทุกอย่างในระบบปฏิบัติการดังกล่าว Microsoft จ่ายเงินเพียงแค่ 75,000 ดอลลาร์สำหรับ QDOS หลังจากนั้นก็นำมาแก้ไขเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย แต่การลงทุนดังกล่าวได้เพิ่มมูลค่าของบริษัทให้กลายเป็น 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในภายหลัง

Bill Gates กับ Deal ประวัติศาสตร์ที่พลิกชีวิตเขาไปตลอดกาล (CR:GettyImage)
Bill Gates กับ Deal ประวัติศาสตร์ที่พลิกชีวิตเขาไปตลอดกาล (CR:GettyImage)

การตัดสินใจที่ผิดพลาดของ IBM ครั้งนี้ ทำให้ Microsoft กลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำหรับระบบปฏิบัติการ PC แต่ก็ต้องบอกว่า IBM ก็ไม่ได้คิดว่าธุรกิจ PC นั้นจะใหญ่โตได้ถึงเพียงนี้

Gates ได้กล่าวในภายหลังกับเรื่องราวดังกล่าวว่า เขาเพียงแค่ “โชคดี”

IBM PC ประสบความสำเร็จในทันที

เมื่อถึงวันสำคัญ ในวันที่ 12 สิงหาคม ปี 1981 Philip D. Estridge ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมที่ขึ้นชื่อในเรื่องมาตรฐานของบริษัท ที่ได้มาดูแลการเปิดตัวครั้งนี้ เริ่มมีความสงสัยว่า จะมีใครมาร่วมงานที่ Waldorf Astoria สถานที่เปิดตัว IBM PC หรือไม่

IBM PC เป็นผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก และเป็นธุรกิจที่ IBM ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวมาก่อน แต่พบว่า มีคนมาเต็มโรงแรมที่จัดงาน

Estridge ได้บรรยายถึง PC โดยมีเครื่องหนึ่งไว้สาธิตการใช้งาน และคอยตอบคำถามผู้ที่เข้ามาร่วมชมการเปิดตัวผลิตภัณฑ์

สำหรับลูกค้า IBM ส่วนใหญ่ ต้องบอกว่า มันคือโลกใหม่ ที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน เพราะ IBM เน้นไปที่คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ขององค์กรเป็นหลัก เหล่าพนักงานที่มาคอยตอบคำถามลูกค้า ก็แทบจะไม่มีใครรู้ว่าจะใช้เจ้าเครื่อง IBM PC นี้อย่างไร

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า หลังการเปิดตัวจะเกิดอะไรขึ้น เริ่มมีการจัดส่งครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 1981 และเพียงแค่ในปีแรก IBM PC สามารถสร้างรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้มาก

มีการคาดการณ์ไว้ก่อนเปิดตัวว่า IBM จะสามารถขายได้ราว ๆ 1 ล้านเครื่องภายใน 3 ปี แต่กลับกลายเป็นว่า ในแค่เพียงปีแรกหลังเปิดตัว ลูกค้าแห่กันมาซื้อ PC ถึงกว่า 200,000 เครื่องต่อเดือน

Estridge และทีมของเขา ต้องยุ่งอยู่กับการซื้อเกม และซอฟต์แวร์ธุรกิจสำหรับ IBM PC โดยเข้าซื้อโปแกรมสเปรดชีต จาก Lotus 1-2-3 รวมถึงผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์อื่น ๆ จากซัพพลายเออร์อีกหลายหลายเพื่อมาเติมเต็มให้กับ IBM PC

และนั่นเอง เมื่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์เริ่มเขียนโปรแกรมสำหรับ IBM PC พวกเขาก็ต้องใช้ ระบบปฏิบัติการ DOS ซึ่งได้กลายมาเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมเสียแล้ว เหล่าคู่แข่งของ IBM ต้องปรับตัวมาใช้ DOS และ ชิปของ Intel มากขึ้นเช่นกัน

IBM ไม่สามารถตามคู่แข่งในตลาด PC ได้

เมื่อ IBM ได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจาก CEO คนเดิมอย่าง Cary มาเป็น John Opel ซึ่งในช่วงที่ Opel เข้ามารับตำแหน่งต่อนี่เอง เขาไม่ได้สนใจ PC มากนัก และไม่เข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้

แต่โดยรวมธุรกิจยังมีความโดดเด่น รายรับของ IBM นั้นสูงถึง 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1981 และเพิ่มเป็น 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1984 และ IBM ได้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

แผนก PC ที่นำโดย Estridge นั้น กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหญ่ มีพนักงานมากมาย เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10,000 คน มันทำให้กลายเป็นหน่วยงานที่ใหญ่เทอะทะอีกครั้ง ผิดจากการเริ่มต้นพัฒนา PC ที่ใช้คนเพียงไม่มากนัก

IBM ได้ทำผิดพลาดครั้งแรกกับผลิตภัณฑ์อย่าง PCjr ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ในครอบครัว บริษัทไม่มีประสบการณ์กับลูกค้าในกลุ่มนี้ ทันทีที่พนักงานขายของ IBM เริ่มเข้าหาลูกค้า พวกเขาก็รู้ว่ามีบางอย่างที่ผิดพลาดอย่างมหันต์

PCjr นั้นต่างจาก IBM PC รุ่นเดิมอย่างสิ้นเชิง บริษัทใช้เงินไปกว่า 250 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนา โดยใช้แป้นพิมพ์ขนาดเล็กที่มีชื่อว่า แป้นพิมพ์ Chicklet ทั้ง ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง บอร์ดหน่วยความจำ เรียกได้ว่า PCjr ส่วนใหญ่นั้นแทบจะไม่เข้ากันกับ IBM PC รุ่นอื่น ๆ เลย

ส่วนความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์หลักสองรายนั่นก็คือ Intel และ Microsoft ยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Intel และ Microsoft ทำเงินได้มากมายมหาศาลจากการขายผลิตภัณฑ์เดียวกันให้กับคู่แข่งของ IBM

นั่นทำให้ราคา PC ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีอะไรที่เป็นนวัตกรรม ทุกคนสามารถประกอบคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับที่ IBM ทำได้

และมันได้เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญขึ้น เมื่อ Estridge และภรรยาของเขา รวมถึงพนักงานขายของ IBM จำนวนหนึ่ง ได้ขึ้นเครื่องบินจากลอสแองเจลิส ไปยัง ดัลลาส

ในขณะที่อยู่เหนือสนามบินดัลลาส ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นดินราว 700 ฟุต กระแสลมแรงได้กระแทกเครื่องบินลงกับพื้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 137 รายซึ่งรวมถึง Estridge และพนักงานของ IBM ทั้งหมด

IBM ต้องสูญเสีย Philip D. Estridge ผู้นำคนสำคัญของธุรกิจ PCIBM ต้องสูญเสีย Philip D. Estridge ผู้นำคนสำคัญของธุรกิจ PC
IBM ต้องสูญเสีย Philip D. Estridge ผู้นำคนสำคัญของธุรกิจ PC

Estridge นั้นเป็นคนสำคัญที่สุดในธุรกิจ PC ของ IBM เขาเป็นคนที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง พนักงานต้องตกตะลึงกับการสูญเสียครั้งนี้ พนักงานหลายร้อยคนเข้าร่วมงานศพของ Estridge มันเป็นการสูญเสียทรัพยากรอันล้ำค่าที่สุดของ IBM ในธุรกิจ PC

ความผิดพลาดซ้ำสองของระบบปฏิบัติการ OS/2

ในขณะที่ IBM ยังคงขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอีกหลายล้านเครื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป กำไรจากธุรกิจ PC ก็ลดลงเรื่อย ๆ ส่วนแบ่งการตลาด PC ของ IBM ลดลงจากประมาณ 80% ในปี 1982-1984 เหลือเพียงแค่ 20% ในทศวรรษต่อมา

หลังจากถูกคู่แข่งโคลน PC และขายในราคาถูกกว่า IBM จึงคิดใหม่ทำใหม่ โดยจะสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ที่มีชื่อว่า OS/2 ซึ่งออกมาในปลายปี 1987

แต่เวลานั้น ระบบปฏิบัติการใหม่ของ Microsoft อย่าง Windows นั้นได้สู่ตลาดมาสองปีแล้ว และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม OS/2 นั้นไม่สามารถใช้โปรแกรมเก่าของ DOS ได้ ทำให้แอปพลิเคชั่นสำหรับซอฟต์แวร์ของ OS/2 นั้นต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีกว่าจะออกสู่ตลาด

Gates นั้นเคยเสนอขาย Microsoft ให้กับ IBM ในช่วงกลางปี 1986 แต่ IBM ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งส่งให้ Microsoft กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอุตสาหกรรมในทศวรรษถัดมา

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้ง Lowe , Opel และ ผู้บริหารระดับสูงคนอื่น ๆ ของ IBM ไม่เข้าใจตลาด PC เหมือนที่ Estridge เข้าใจ พวกเขามีความเข้มงวดในเรื่องการทดสอบซอฟต์แวร์ ไม่ให้มีจุดบกพร่องก่อนออกสู่ตลาด

แต่ตลาดนี้ มันได้กลายเป็นตลาดของความเร็วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คู่แข่งต่างสร้างผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเร็วกว่า และสามารถทำงานได้ดี ให้ผู้ใช้ระบุปัญหา แล้วจึงค่อยแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วแทน

รวมถึงการตัดสินใจหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องชิป โดยเฉพาะรุ่น 80386 ที่เป็นชิปรุ่นใหม่ เร็วและแรง เหมาะสำหรับคอมพิวเตอร์ในยุคถัดไป แต่แม้คู่แข่งจะย้ายไปใช้ชิปตัวใหม่กันหมดแล้ว IBM ยังคงทำงานอยู่กับชิป 286 ซึ่งทำงานได้ช้ากว่า

Opel เกษียณในปี 1986 และ John F.Akers ได้เข้ามาเป็น CEO ต่อ Akers ตระหนักดีว่า ธุรกิจเมนเฟรมเข้าสู่ช่วงตกต่ำเป็นเวลานานมากแล้ว ธุรกิจ PC ก็เริ่มตกต่ำอย่างรวดเร็ว ขนาดองค์กรก็ใหญ่เทอะทะ ไม่สามารถสู้กับเหล่าบริษัทหน้าใหม่ที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในยุคนั้นได้อีกต่อไป

จุดสิ้นสุดของ IBM PC

IBM ยังคงประคองธุรกิจ PC ต่อไปจนกระทั่ง Samuel J.Palmisano ขึ้นมาเป็น CEO ของบริษัทในปี 2002 ซึ่งในตอนนั้น IBM ยังเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่อันดับสาม

แต่ต้องบอกว่า PC ได้กลายเป็นธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ และบริษัทแทบจะไม่สามารถหากำไรได้จากธุรกิจนี้ได้อีกต่อไป เนื่องจากการแข่งขันที่สูงมาก รวมถึงการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ ๆ มากมาย

พวกเขาจึงต้องตัดสินใจยุติกิจการ PC ที่เป็นหนึ่งในตำนานของบริษัทลงเสียที ในเดือนธันวาคมปี 2004 IBM ได้ประกาศข่าวใหญ่ โดยขายธุรกิจ PC ให้กับ Lenovo ในราคา 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นจุดสิ้นสุดของ IBM PC ในท้ายที่สุด

โดยสื่อชื่อดังอย่าง New York Times ได้กล่าวถึง Deal ครั้งประวัติศาสตร์นี้ไว้ว่า

“IBM ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ เป็นต้นแบบของบริษัทอเมริกันที่ทุกคนยอมรับ พวกเขามองอนาคตตัวเองไว้ไกลกว่าแค่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ IBM กำลังโฟกัสไปที่ การบริการ การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ ที่ขับเคลื่อนองค์กรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับ IBM ได้มากกว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่พวกเขาจำเป็นต้องปิดฉากตำนานอันยิ่งใหญ่ไว้เพียงแค่นี้”

References : https://en.wikipedia.org/wiki/IBM_Personal_Computer
https://www.ibm.com/ibm/history/exhibits/pc25/pc25_birth.html
https://www.ibm.com/ibm/history/exhibits/builders/builders_lowe.html
https://spectrum.ieee.org/how-the-ibm-pc-won-then-lost-the-personal-computer-market
https://arstechnica.com/gadgets/2017/06/ibm-pc-history-part-1/
https://www.pcmag.com/news/the-rise-of-dos-how-microsoft-got-the-ibm-pc-os-contract