Billion Dollar Loser ตอนที่ 12 : Road to IPO

หลังจากที่โปรเจค Fortitude นั้นดูเหมือนจะล้มเหลว แบบไม่เป็นท่า ทางเลือกสุดท้ายของ WeWork ในการหาเงินทุน เพื่อให้สถานะของบริษัทยังเดินหน้าต่อไปได้ มีอยู่ทางเดียว นั่นก็คือการนำเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะชน หรือ การทำ IPO

ต้องบอกว่าการทำ IPO หรือการนำเสนอหุ้นขายต่อสาธารณะชนนั้น เป็นเพียงวิธีหนึ่งสำหรับ บริษัทในการหาเงินเมื่อการที่จะทำการระดมทุนแบบส่วนตัวเหมือนเดิมนั้นมันเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

WeWork หวังที่จะระดมทุน 3 พันล้านดอลลาร์จากนักลงทุนเพื่อให้เงินทุนเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่า มันไม่เหมือนการระดมทุนแบบ Startup ที่ WeWork เคยทำมาก่อนทั้งกับ Benchmark หรือ Softbank

เหล่าผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนรวมจะไม่เสี่ยงกับงานของพวกเขาอย่างแน่นอน สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ “ตัวเลข”

และต้องบอกว่าตัวเลขที่สำคัญที่สุดในการแยกแยะคือปัจจัยพื้นฐาน : WeWork มีมูลค่าเท่าใดกันแน่?

ซึ่งความลับที่สกปรกโสโครกของการเติบโตอย่างรวดเร็วคือความจริงที่ว่า การประเมินมูลค่าส่วนตัวจากการระดมทุนก่อนหน้านี้ของ WeWork นั้นแทบจะไร้ความหมาย มันอยู่ที่มูลค่าจริง ที่บริษัทสร้างขึ้นหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงแค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของ Adam อีกต่อไป

แน่นอนว่าการมาถึงของ Son และ Softbank นั้น ทำให้การประเมินมูลค่า WeWork กลายเป็นสิ่งที่เกินจริงมากยิ่งขึ้น ไม่มีใครสามารถแข่งกับ Softbank เพื่อลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ใน WeWork ได้

ซึ่งมันหมายความว่ามูลค่า 47,000 ล้านดอลลาร์ จากการประเมินมูลค่าหลังจากที่ Softbank ได้ลงทุนไปนั้น มันสูงเป็นสามเท่าของที่ Hony Captial และรายอื่น ๆ ได้ลงทุนไปในปี 2016 และมันเป็นข้อตกลงระหว่าง Son และ Adam เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อสรุปเงื่อนไขของข้อตกลงแล้ว เหล่าผู้บริหารของ WeWork บางคนคิดว่าควรระมันระวังในการเผยแพร่ตัวเลขที่ต่ำกว่านี้ออกไปสู่สาธารณะชน

แม้แต่ผู้สนับสนุนของ WeWork รายแรก ๆ ของบริษัทก็ยังไม่เชื่อว่า มูลค่าของบริษัทจะสูงถึงเพียงนี้ ในเดือนเมษายน Fidelity ได้ทำการประเมินมูลค่าของ WeWork ไว้เพียงแค่ 18,000 ล้านดอลลาร์ อย่างเงียบ ๆ

แต่ทั้ง Son และ Adam คงไม่สามารถยอมรับตัวเลขน้อย ๆ ได้อย่างแน่นอน พวกเขากำลังขึ้นหลังเสือ และที่สำคัญ Son กำลังหาเงินเพิ่มสำหรับ Vision Fund ที่สองของเขา

Son กำลังหาเงินเพิ่มสำหรับ Vision Fund ที่สองของเขา (CR:DealStreetAsia.com)
Son กำลังหาเงินเพิ่มสำหรับ Vision Fund ที่สองของเขา (CR:DealStreetAsia.com)

การประเมินมูลค่าที่เหนือกว่าสำหรับหนึ่งในการลงทุนครั้งสำคัญของ Vision Fund อย่าง WeWork นั้น เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเขา มันสามารถทำให้ Softbank อวดผลลัพธ์ที่น่าประทับใจอย่างน้อยก็บนกระดาษได้

ในขณะเดียวกัน Adam ก็มีความภาคภูมิใจเป็นพิเศษ ในความจริงที่ว่าการประเมินมูลค่าใหม่และการเสนอขายหุ้นของ Uber ทำให้ WeWork กลายเป็น Startup ที่มีมูลค่ามากที่สุดในอเมริกา

เขาได้กดดันทีมสื่อสารของ WeWork เพื่อผลักดันตัวเลข 47,000 ล้านดอลลาร์ และ Minson ได้บอกกับคนอื่น ๆ ว่า WeWork จะทำ IPO ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับสถาบันการเงินที่เข้ามาแข่งขันในการทำ IPO ของ WeWork นั้นมีสามรายคือ JPMorgan , Goldman Sachs และ Morgan Stanley

JPMorgan เป็นผู้สมัครลำดับต้น ๆ เนื่องจากมีประวัติอันยาวนานกับ WeWork นอกเหนือจากการลงทุนในปี 2014 JPMorgan ยังให้ความช่วยเหลือ WeWork ในด้านเงินกู้ต่าง ๆ

และที่สำคัญยังให้เงินกู้กับ Adam จำนวน 97 ล้านดอลลาร์ ในการจำนองดอกเบี้ยต่ำสำหรับบ้านหลายหลังที่ Adm กำลังซื้อและยังช่วยอำนวยความสะดวกในสินเชื่อส่วนบุคคลกว่า 500 ล้านดอลลาร์ให้กับ Adam อีกด้วย

โดยทาง JPMorgan ได้แนะนำว่า WeWork สามารถทำ IPO ได้ด้วยการประเมินมูลค่ามากกว่า 46,000 ล้านดอลลาร์ และ อาจจะสูงถึง 63,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

สำหรับ ฝั่ง Morgan Stanley นั้นนำโดย Michael Grimes ผู้ซึ่งเคยช่วยบริษัทในการเสนอขายหุ้นทางเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษ

ซึ่งหนึ่งปีก่อนหน้านี้ทีมงานจาก Morgan Stanley ได้ให้คำแนะนำ WeWork เกี่ยวกับการระดมทุนในโปรเจค Fortitude และประเมินว่ามูลค่าจะอยู่ระหว่าง 18,000 – 52,000 ล้านดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับว่า WeWork จะสามารถอธิบายเส้นทางในการทำกำไรให้กับเหล่านักลงทุนที่สงสัยได้ดีเพียงใด

ในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ไม่กี่วันก่อนที่ Uber จะทำการทำ IPO ด้วยมูลค่าสูงกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ Goldman Sachs ได้นำเสนอกับ WeWork ด้วยการประเมินมูลค่าสูงสุดไว้ถึง 96,000 ล้านดอลลาร์

เอกสารที่เป็นหัวใจของการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะคือ S-1 ซึ่งเป็นรายงานทางการเงินที่จะต้องยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. WeWork ส่งร่าง S-1 ในช่วงปลายปี 2018 หลังจากโปรเจค Fortitude ต้องล่มไป

ชื่อรหัสของ S-1 คือ Wingspan หรือ นกที่กำลังบินและทิ้งฝูงไว้ข้างหลัง ตอนนี้ทุกอย่างใน WeWork ดูเหมือนจะมี code name เต็มไปหมด รวมถึงเคมเปญการตลาดที่เรียกว่า Stark ซึ่งตั้งชื่อตาม Tony Stark ในภาพยนตร์ Iron Man

WeWork ได้ดัดแปลงพื้นที่ห้องสมุดที่เงียบสงบใกล้กับสำนักงานของ Adam บนชั้นหกของสำนักงานใหญ่ของบริษัทให้เป็น War Room สำหรับทีมที่รับผิดชอบในการเขียนส่วนต่าง ๆ ของ Wingspan

Adam ได้หันไปหากลุ่มคนที่เขาไว้ใจที่สุดซึ่งนั่นก็คือ Rebekah ให้มาช่วยเหลือในการดูแลโปรเจค Wingspan

Rebekah พุ่งโฟกัสไปที่การสร้างภาพ สร้างแบรนด์ โดยสิ่งสำคัญที่สุดอย่างนึงที่เธอจะโฟกัสในการทำเอกสารครั้งนี้ก็คือส่วนของภาพถ่ายที่จะปรากฏขึ้นในช่วงกลางของเอกสาร S-1

แม้จะมีภาพถ่ายมากมายจากชุมชน WeWork แต่ Rebekah คิดว่าควรคิดใหญ่ขึ้น เธอมองว่าภาพที่มีอยู่ใน stock ของบริษัทนั้นยังไม่น่าดึงดูดใจเพียงพอ

นั่นเองที่ทำต้องการภาพถ่ายใหม่และจ้างตากล้องมืออาชีพ ไมว่าจะเป็น Steven Klein ที่ถ่ายให้กับนิตยสารชื่อดังอย่าง Vogue รวมถึงอดีตผู้กำกับภาพจาก Vanity Fair เพื่อส่งช่างภาพไปถ่ายภาพสถานที่ต่าง ๆ ของบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลก

Steven Klein ช่างภาพชื่อดังที่ถ่ายให้นิตยสาร Vogue (CR:Zimbio.com)
Steven Klein ช่างภาพชื่อดังที่ถ่ายให้นิตยสาร Vogue (CR:Zimbio.com)

นั่นเองที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของการถ่ายภาพเหล่านี้สูงมาก WeWork ได้ใช้เงินหลายแสนดอลลาร์ไปกับงานศิลปะเพียงอย่างเดียว “Rebekah ทำอย่างกับจะสร้างนิตยสาร Vogue ฉบับเดือนกันยายน” ผู้บริหาร WeWork คนหนึ่งกล่าว

ต้องบอกว่าการเตรียมการในโปรเจค Wingspan นั้นมีแต่เรื่องวุ่นวาย แต่ละสัปดาห์มีเหตุฉุกเฉินใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ที่ต้องมีการแก้ปัญหา บางครั้งทีมผู้บริหารของ WeWork ก็พยายามกดดันให้ Adam มุ่งเน้นไปที่ความซับซ้อนของเรื่องทางการเงิน หรือ รายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ของเอกสารมากกว่าเรื่องรูปถ่าย หรือ งานศิลปะที่ Rebekah กำลังทำอยู่

แต่ดูเหมือน Adam จะไม่สนใจ Rebekah ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงฤดูร้อนในการจัดการกับความสวยงามของเอกสารในโปรเจค Wingspan

Rebekah ใช้เวลาหลายวันในการนำไปสู่การเปิดตัว Wingspan ด้วยคำอธิบายภาพที่น่าสนใจ ซึ่งจะปรากฏในหน้าแรกของหนังสือชี้ชวน ซึ่งต้องบอกว่านี่เป็นงานที่ไม่จำเป็นอย่างยิ่ง

เหล่านักวิเคราะห์จะมองไปที่ตัวเลขและแบบจำลองและการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเพื่อแยกแยะว่า บริษัท มีมูลค่าเท่าใดกันแน่

งานมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับ WeWork ทีมสื่อสารของบริษัทพยายามอย่างมากในปี 2019 เพื่อเขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับบริษัท แบบหน้าเดียวที่มีความเรียบง่าย

เมื่อ Rebekah เสนอร่างฉบับสุดท้ายของเธอ นายธนาคาร ทนายความ และ ผู้บริหารหลายคนที่ทำงานกับโปรเจค Wingspan ถึงกับต้องอึ้งกันไปตามกัน

มันดูเหมือนไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการทำเอกสารทางการเงินที่มีความยาว และเนื้อหาที่ซับซ้อน แต่เมื่อ Wingspan ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหลังจาก 7.00 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม 2019 นักลงทุนที่มีศักยภาพจะได้รับการต้อนรับด้วยหน้าสีขาวที่ว่างเปล่า ซึ่งมีข้อความต่อไปนี้อยู่ตรงกลาง :

WE DEDICATE THIS
TO THE ENERGY OF WE—
GREATER THAN ANY ONE OF US
BUT INSIDE EACH OF US.

ถึงตอนนี้ใกล้จะถึงบทสรุปของเรื่องราวต่าง ๆ ของ WeWork กันแล้วนะครับ จะเกิดอะไรขึ้นกับ การ IPO ครั้งประวัติศาสตร์นี้ Adam จะสามารถหาเงินทุนมาเพื่อทำให้ธุรกิจของเขาเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 13 : Coup d’etat

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Geek Story EP100 : Roman Abramovich จากเด็กชายขอบก้าวผ่านธุรกิจสีเทาสู่เส้นทางมหาเศรษฐีหมื่นล้าน

โรมัน อับราโมวิช นับตั้งแต่เขาได้เข้า take over สโมสร เชลซี ที่สถานะในตอนนั้นเกือบจะล้มละลาย ในปี 2003 มหาเศรษฐีชาวรัสเซียได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้กับเชลซี ให้กลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แม้เรื่องราวของ อับราโมวิช นั้นจะผ่านเส้นทางเดินที่ไม่ได้ขาวสะอาดมามากนัก แต่เรื่องราวของเขาก็ได้ให้แง่คิดที่ไม่เหมือนใคร การเปลี่ยนจากคนชายขอบที่ต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เล็ก และเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยและประสบความความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก มันก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอนครับผม

เลือกฟังกันได้เลยนะครับ อย่าลืมกด Follow ติดตาม PodCast ช่อง Geek Forever’s Podcast ของผมกันด้วยนะครับ

🎧 ฟังผ่าน Podbean : 
https://bit.ly/2TZeh5K

🎧 ฟังผ่าน Apple Podcast :
https://apple.co/2lEqPPg

🎧 ฟังผ่าน Google Podcast : 
http://bit.ly/2kxHtQ3

🎧 ฟังผ่าน Spotify : 
https://spoti.fi/2m0PTzR

🎧 ฟังผ่าน Youtube 
https://youtu.be/XkIqOEgcjus

Billion Dollar Loser ตอนที่ 11 : Code Name Fortitude

ในเดือนสิงหาคม ปี 2018 Masayoshi Son ได้บอกกับผู้ถือหุ้นของ Softbank ว่า บริษัทหลายสิบแห่งที่เขาลงทุนผ่าน Vision Fund จะ “เข้าร่วมกับเราในฐานะครอบครัวของเรา” Son ดูเหมือนจะมีลูกที่เขาชอบเป็นพิเศษ เขากล่าว “WeWork จะเป็น Alibaba รายถัดไป”

Son ได้กล่าวกับผู้ถือหุ้นว่า WeWork กำลังปฏิวัติสิ่งใหม่ทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยี และ ระบบฐานข้อมูล เพื่อสร้างและเชื่อมต่อชุมชนในแบบที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

เขากำลังคิดที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ของ Softbank ไปอยู่ที่สำนักงาน WeWork ในญี่ปุ่น และ บอกให้เหล่าผู้ถือหุ้น เลิกกังวลเรื่องคณิตศาสตร์ตัวเลขต่าง ๆ มากนัก เขากล่าวว่า “คุณต้องรู้สึกถึงแรงผลักดันของ Adam”

แต่ตัวเลขยังคงเป็นปัญหา WeWork กำลังสูญเสียเงินไปเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 และมีเงินสดเหลือเพียงน้อยนิด แม้ว่าจะได้รับเงินจากนักลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์แล้วก็ตามที

ในเดือนเมษายนปี 2018 WeWork ได้จัดหาเงินกู้เพิ่มอีก 702 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเฉพาะที่แปลกประหลาด ซึ่งท้ายที่สุดมันถูกเฉลยด้วยการเป็นตัวเลขฉลองวันเกิดครบปีที่ 39 ของ Adam ซึ่งเมื่อนำอายุมาคูณด้วย 18 ซึ่งเป็นเลขนำโชคในศาสนายิว ก็จะกลายเป็นจำนวนเงินดังกล่าว

การกู้เงินเพิ่มด้วยการขายพันธบัตรทำให้ WeWork ต้องเปิดเผยงบการเงินรายไตรมาส ซึ่งบริษัทได้ใช้เมตริกบางอย่างที่จะนำเสนอภาพทางการเงินในแง่ดีขึ้น ด้วยการลบต้นทุนบางอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการออกแบบทางการตลาด และการบริหาร ซึ่ง บริษัทได้โต้แย้งว่ามันเป็นต้นทุนที่ทยอยจ่ายไปตามกาลเวลา

นั่นทำให้งบการเงินออกมาดูสวยน่าสนใจขึ้น ซึ่งได้เปลี่ยนตัวเลขการขาดทุน 993 ล้านดอลลาร์ของ WeWork ในปี 2017 ให้เป็นกำไร 233 ล้านดอลลาร์

ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม Adam ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจจากการขาดทุนที่เพิ่มขึ้นของ WeWork เพราะรายได้ของบริษัทยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปี และเขาได้ย้ำเตือน Son อย่างต่อเนื่องในการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ WeWork ก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น

Adam บอกกับผู้บริหารของ WeWork ว่า Son เชื่อว่า WeWork อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หากบริษัทดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ

แต่ต้องบอกว่าที่ Softbank อาจจะมีแค่ Son เพียงคนเดียว ที่หลงใหลไปกับคารมของ Adam เพราะตัวแทนคนอื่นๆ ที่ดูแลเรื่องการเงินของ Softbank ต่างพยายามกดดัน WeWork ให้กำหนดเส้นตายที่ชัดเจนว่า จะทำการ IPO เปิดตัวสู่สาธารณะเมื่อใด

แต่ Son และ Adam ได้คิดที่จะลงทุนใน WeWork เพิ่ม มีความพยายามให้ Softbank และ Vision Fund ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของ WeWork เป็นจำนวนมาก

ซึ่งแผนการดังกล่าวนั้นมีการเรียกร้องให้เติมเงินถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมันจะทำให้มูลค่าของ WeWork พุ่งขึ้นสูงกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่ง Adam ยังสามารถควบคุมบริษัทของเขาได้ ในขณะที่มูลค่าหุ้นของเขาจะสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ และจะทำให้เขาเป็นหนึ่งในคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกทันที

Code Name สำหรับแผนนี้ถูกเรียกว่า Fortitude ทีมจาก Softbank และ WeWork ต้องบินไปมาระหว่าง นิวยอร์ก โตเกียว บอสตัน เพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องข้อกฏหมาย และเรื่องการลงทุนในโปรเจคดังกล่าว

ต้องบอกว่า Softbank เป็นบริษัทที่ชอบสร้างนิสัยในการกระตุ้นสงครามราคา ด้วยการลงทุนอย่างมากในหลายบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น DoorDash และ Uber Eats แต่สำหรับ WeWork นั้น Softbank ไม่ได้ให้เงินลงทุนในคู่แข่งของพวกเขาแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน Softbank บังคับให้ Adam สัญญาว่าจะไม่ลาออกไปไหน และ ห้ามไม่ให้มาเปิดบริษัทแข่งด้วย ซึ่งหากรายได้ของ WeWork เพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นจะทำให้แผนการ Fortitude ของ ทั้ง Adam และ Son สัมฤทธิ์ผล

สำหรับ WeWork และ ตัว Adam แผนการ Fortitude มีเป้าหมายเพื่อแซงหน้า JPMorgan ในฐานะผู้ให้เช่าสำนักงานรายใหญ่ที่สุดของนิวยอร์ก ซึ่งนั่นเป็นฝันของ Adam ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ที่เขาอยากจะทำมันให้สำเร็จให้จงได้

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน Adam มีความคิดที่จะเข้าซื้อกิจการของ Cushman & Wakefield ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มูลค่า 4 พันล้านดอลลลาร์

Adam ทำการประมูลซื้อ Sweetgreen ผู้ผลิตสลัด ชื่อของบริษัทอย่าง WeWork ดูเหมือนมันจะถูกจำกัดแคบเกินไปที่จะครอบคลุมความทะเยอทะยานทั้งหมดของ Adam อีกต่อไปแล้ว

บริษัทเริ่มคิดเปลี่ยนชื่อแบรนด์ เหมือนกับที่ Google จัดการในการเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Alpabet ด้วยการที่มีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ WeWork , WeLive และ WeGrow และอีกมากมายในอนาคต WeWork จะกลายเป็น We Company

แต่ต้องบอกว่า ภายใน Softbank เองนั้น ก็ไม่ได้หลงใหลไปตามคารมของ Adam มากนักดูเหมือนมี แค่ Son เท่านั้นที่ดูจะเอาอกเอาใจ Adam เป็นพิเศษ ถึงกับเคยกล่าวกับ Adam อย่างภาคภูมิใจว่า “คนสุดท้ายที่ผมรู้สึกเช่นนี้คือ Jack Ma” ผู้ก่อตั้ง Alibaba

แต่สถานะของ Adam ในฐานะลูกชายคนโปรดของ Son อาจจะถูกพรากไปในไม่ช้า ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น Vision Fund ได้ลงทุนเพิ่มอีก 1 พันล้านดอลลาร์ใน Oyo ซึ่งเป็นบริษัท Startup ด้านการโรงแรมของอินเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

Oyo Startup ด้านการโรงแรมจากอินเดียว ลูกรักคนใหม่ของ Masayoshi Son (CR:Skift.com)
Oyo Startup ด้านการโรงแรมจากอินเดียว ลูกรักคนใหม่ของ Masayoshi Son (CR:Skift.com)

Oyo นำโดยผู้ก่อตั้งที่อายุน้อยกว่า Adam ถึง 15 ปี “น้องชายของคุณทำได้ดีกว่าคุณมาก” Son บอกกับ Adam ในการประชุมที่ Son แสดงให้เห็นแผนการเติบโตที่ทะเยอทะยานของ Oyo

โปรเจคในฝันอย่าง Fortitude นั้น ก็ได้เริ่มได้รับแรงกดดันจากเหล่าผู้บริหารใน Softbank เอง Rejeev Misra ผู้บริหารกองทุน Vision Fund กล่าวว่า Adam กำลังผลักดัน WeWork เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความได้เปรียบ หุ้นของพวกเขาลดลง 5% เมื่อมีรายงานรายละเอียดของโปรเจค Fortitude ครั้งแรกในสื่อ

ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงเบื้องต้นให้ Softbank ลงทุนเพิ่มเติมอีก 3 พันล้านดอลลาร์ใน WeWork ในขณะที่สองฝ่ายจะร่วมมือกันผ่านโปรเจค Fortitude

ในขณะที่การเจรจาดำเนินต่อไป Berrent และ Minson ซึ่งเป็นผู้นำทีมของ WeWork ก็ยอมรับว่าหาก Softbank ใช้กลยุทธ์การอัดเงินแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในไม่ช้า WeWork ก็จะหมดเงินอีกครั้ง และผู้บริหารของบริษัทก็เริ่มกังวลว่า Softbank อาจจะเริ่มหมดความอดทน และบังคับให้ WeWork อยู่ในเงื่อนไขที่ไม่ค่อยดีนัก

พวกเขาเริ่มพิจารณาแผนสำรอง ในการนำ WeWork ทำ IPO ขายหุ้นออกสู่สาธารณะ ในปี 2018 WeWork เริ่มได้รับการเสนอขายจากธนาคารเพื่อการลงทุนโดยสรุปว่าการเสนอขายหุ้น IPO ในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นอย่างไร

บริษัทเริ่มทำเอกสาร S-1 ซึ่งเป็นเอกสารที่นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกสู่การเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป

แม้ Adam จะพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับฝั่งกองทุนจากตะวันออกกลาง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในปี 2018 ในการวางแผนการขยายธุรกิจในตะวันออกกลางในซาอุดิอาระเบียและอาบูดาบีซึ่งเป็นผู้สนับสนุนใหญ่ทั้งสองของ Vision Fund

เขามีแผนการที่จะนำเอา Flatiron School มาสู่อาณาจักรซาอุดิอาระเบียเพื่อช่วยให้ผู้หญิงเรียนรู้วิธีการเขียนโค้ด

Adam กล่าวว่า เขากำลังพูดคุยกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเกี่ยวกับการรวม WeWork เข้ากับ Neom ซึ่งเป็นเมืองแห่งอนาคตที่สร้างขึ้นจากพื้นดินทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดิอาระเบียใกล้กับ อิสราเอล

Neom เมืองแห่งอนาคตของ ซาอุดิอาระเบีย (CR:DailyExpress)
Neom เมืองแห่งอนาคตของ ซาอุดิอาระเบีย (CR:DailyExpress)

Neom นั้นจะกลายเป็นเมืองที่คาดว่าจะมีหุ่นยนต์แม่บ้าน เมฆฝนเทียม และชายหาดที่มีหาดทรายเรืองแสงในความมืด Adam คิดว่า บทบาทของ WeWork ในโครงการนี้อาจมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

แต่ดูเหมือนสถานการณ์หลังจากนั้นจะไม่สู้ดีนัก เมื่อโปรเจค Fortitude นั้นกำลังถูกเบรคอย่างเงียบ ๆ โดย ซาอุดิอาระเบียและอาบูดาบีปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ Vision Fund ลงทุนเงินเพิ่มเติมใน WeWork

ในวันที่ 18 ธันวาคมปี 2018 ธุรกิจของ Softbank ในส่วนของมือถือ ได้ทำการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการนำเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันสองรองจาก Alibaba ซึ่ง Son คาดว่าการนำเสนอขายหุ้นครั้งนี้จะนำรายได้บางส่วนไปสานฝันต่อในโปรเจค Fortitude

แต่ทุกอย่างกลับพลิกผัน เมื่อหุ้นลดลง โดยมีการสูญเสียเงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ในวันแรกของการซื้อขาย ซึ่งเป็นหนึ่งในการเปิดตัวที่เลวร้ายที่สุในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

สถานการณ์ในตอนนั้น ตลาดทั่วโลกกำลังได้รับความผันผวนเนื่องจากสงครามการค้าของอเมริกากับจีน ที่ยังคงดำเนินต่อไป และหุ้นก็ลดลงในอัตราที่ไม่เห็นมานับตั้งแต่ปี 2008

ในช่วงปลายเดือนธันวาคม หุ้นของ Softbank ลดลงมากกว่าหนึ่งในสาม ต้องบอกว่า Fortitude นั้น ได้กลายเป็นเพียงวิสัยทัศน์เพ้อฝัน ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ในหัวของ Son และ Adam ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อดูจากสถานการณ์ทางด้านการเงินของบริษัทในขณะนั้น

มาถึงตอนนี้ ต้องบอกว่า สถานการณ์ด้านการเงินของ Softbank เริ่มจะสั่นคลอน มันทำให้ Son เองก็เริ่มที่จะถูกบีบจากเหล่านักลงทุน โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันออกกลาง ที่ดูจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วยกับโปรเจค Fortitude นี้เลย

เมื่อความขัดแย้งเหล่านี้เริ่มก่อตัวขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นกับ WeWork เมื่อเริ่มมีความกดดันจากรอบด้าน ทั้งเรื่องเงินทุน เรื่องแม้กระทั่งการที่จะทำ IPO ก็ดูเหมือนตัวเลขในบัญชีของพวกเขาจะมีปัญหาอยู่มาก

ความฝันของ Adam จะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ในการล้ม JPMorgan ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในนิวยอร์ก ที่เขาตั้งเป้าไว้ตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทในช่วงเริ่มต้น WeWork จะเดินไปทางไหนต่อ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 12 : Road to IPO

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Billion Dollar Loser ตอนที่ 10 : Game of Thrones

ในปี 2017 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM จำเป็นต้องหาสำนักงานในนิวยอร์กอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับพนักงาน 600 จากแผนกการตลาด ซึ่งหลังจากพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ แล้ว จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่ในอาคาร 11 ชั้น ที่ University Place ใน Greenwich Village ซึ่งอาคารแห่งนี้ดำเนินการโดย WeWork

WeWork ได้พยายามโน้มน้าวให้บริษัทใหญ่ ๆ ใช้ข้อเสนอแบบ Space as a service แต่มันก็พบกับจุดจบอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสัญญาณ Wi-Fi ที่ขาด ๆ หาย ๆ ลิฟต์ของอาคารก็มีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พนักงาน IBM ต้องใช้บันไดอยู่หลายเดือน

ในอาคารส่วนใหญ่ที่ WeWork เช่าช่วงมาต่อนั้น เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ เช่น การบำรุงรักษาลิฟต์ แต่เงื่อนไขของสัญญาเช่ากับ อาคารหลังนี้มีความผิดปรกติ และโยนให้ WeWork รับหน้าที่ในการซ่อมแซมแทน

มันเป็นผลจากการที่ Adam นั้นเป็นเจ้าของอาคารแห่งนี้เสียเอง เขาซื้อมันด้วยเงิน 70 ล้านเหรียญจาก Elie Tahari นักออกแบบแฟชั่นที่เขารู้จักจาก Kabbalah Center

โดยก่อนที่จะให้ WeWork เข้ามาเช่าพื้นที่นั้น Adam ไม่ได้เปิดเผยสัดส่วนการถือหุ้นของเขาในอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยทางจริยธรรม ซึ่งดูเหมือนเขากำลังหารายได้โดยเก็บค่าเช่าจากบริษัทของตัวเอง

University Place กับอาคารเจ้าปัญหาที่ Adam เป็นเจ้าของเสียเอง (CR:TheRealDeal.com)
University Place กับอาคารเจ้าปัญหาที่ Adam เป็นเจ้าของเสียเอง (CR:TheRealDeal.com)

ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ Adam และผู้บริหาร WeWork กลุ่มเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จัก ได้กระทำการในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว โดยการหารายได้เข้ากระเป๋าจากการเก็บค่าเช่าจาก WeWork เสียเอง

Adam , Mark Lapidus และ Ariel Tiger เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของอาคารใน Varick Street ของ WeWork ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งที่ 4 ในนิวยอร์กของบริษัท

ในปี 2013 คณะกรรมการของ WeWork ได้คัดค้านความพยายามของ Adam ที่จะซื้อส่วนหนึ่งของอาคารในชิคาโกที่ WeWork วางแผนที่จะเช่า มันเป็นเรื่องขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัทอย่างชัดเจน

ซึ่งการคัดค้านดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ แต่เมื่อ Adam เข้ามาควบคุมคณะกรรมการได้แบบเบ็ดเสร็จ เขาก็สนองตัณหาส่วนตัวได้สำเร็จ โดยในฤดูใบไม้ผลิของปี 2018 WeWork ได้จ่ายค่าเช่าให้ Adam มากกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ

Adam นั้นยืนยันมานานแล้วว่า WeWork ไม่ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของอาคาร “เราไม่ซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน” เขากล่าวในปี 2015

แต่เมื่อถึงช่วงปลายปี 2017 WeWork ได้เปิดตัวบริษัทชื่อ WeWork Property Advisors ซึ่ง WeWork จ่ายเงินประมาณ 850 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพื้นที่ของ Lord & Taylor ในแถบมิดทาวน์

มันเป็นสิ่งที่ Adam จินตนาการไว้สำหรับอาคารของตัวเองที่พร้อมด้วย โรงยิม โรงเรียน และ คลินิคทันตกรรม สำหรับพนักงานของห้างสรรพสินค้า

แผนสำหรับ WeWork Property Advisors เรียกร้องให้ระดมเงินจากนักลงทุนเพื่อช่วย WeWork ซื้ออาคาร ทีมจัดตั้งกองทุนหวังว่าจะระดมทุนได้ 1 พันล้านดอลลาร์

แต่ Adam มีความคิดที่ดีกว่า : ทำไมไม่ระดมทุนให้ได้ แสนล้านดอลลาร์ไปเลยล่ะ ? ซึ่งมันจะเป็นกองทุนวิสัยทัศน์สำหรับสิ่งปลูกสร้างและเป็นกองเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกทันที

แน่นอนว่า หาก Adam ระดมทุนได้ แสนล้านดอลลาร์ มันก็จะตอบแทนให้กับเขาได้สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์นั่นเอง มันเป็นความคิดที่บัดซบมาก ๆ ที่ผู้ก่อตั้งบริษัท กลับมาคิดหากำไรจากบริษัทของตัวเองอย่างที่ Adam ทำ

เรื่องจัดการคนก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับ Adam เช่นกัน ในปี 2017 Adam ได้มือดีอย่าง Rich Gomel ที่เข้ามาร่วมงานกับ WeWork ในตำแหน่งประธานของบริษัท ซึ่ง Gomel เองมีประสบการณ์กว่าทศวรรษที่ Starwood Hotels และอีก 5 ปีในบริษัทการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของ JPMorgan

Gomel ถูกดึงตัวมา และได้รับการดูแลอย่างดีเพื่อเป็นซีอีโอคนต่อไปของ WeWork ซึ่ง Adam จะก้าวลงจากตำแหน่ง หลังจากนำบริษัทผ่านช่วงการสเกลแบบสายฟ้าแลบ และจะขึ้นไปเป็นประธานคณะกรรมการของบริษัท WeWork ซึ่งเขาสามารถผลักดันวิสัยทัศน์ของเขาต่อไปได้ในขณะที่ Gomel จะนำ WeWork เข้าสู่ยุคใหม่ในฐานะบริษัทมหาชน

Gomel นั้นได้รับตำแหน่งแทน Artie Minson ซึ่งได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งซีอีโอของ Adam ในช่วงก่อนหน้านี้

การก้าวเข้ามาของ Gomel มีสาเหตุเนื่องมาจาก Minson เองนั้นไม่เชื่อในในเรื่องการผลักดันให้ WeWork กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างที่ Adam ฝันใฝ่ รวมถึงการที่ไปแสดงความสงสัยเกี่ยวกับเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่ Adam ใช้จ่ายในการซื้อกิจการ นั่นเป็นเหตุให้เส้นทางอนาคตของ Minson ดับมอดลงไป

มีการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้บริหาร ซึ่งมีการถูกสับเปลี่ยนเข้าออกจากผู้บริหารระดับสูงที่มีความใกล้ชิดกับ Adam อยู่ตลอดเวลา

“เขาทำให้พวกเราทุกคนทะเลาะกัน” ผู้บริหารคนหนึ่งกล่าว เขาเปรียบชีวิตตัวเองที่อยู่ใน WeWork ว่าเหมือนกำลังอยู่ในบทละครของ Series ชื่อดังอย่าง “Game of Thrones”

Adam มักจะใช้ตารางงานที่ล้นเกินไปของเขาเป็นเครื่องมือในการควบคุมบังคับให้ผู้บริหารประชุมกันทุกชั่วโมงทั้งคืน ที่บ้านคนใดคนหนึ่ง หรือต้องนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวข้ามประเทศร่วมประชุมแบบทันทีหาก Adam ต้องการ

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2017 Adam ก็ทำการสับเปลี่ยนทีมผู้บริหารอีกครั้ง โดยปรับให้ Minson จากซีโอโอของบริษัทให้กลายมาเป็นซีเอฟโอแทน และ ผลักดันคนใหม่อย่าง Jennifer Berrent ให้เข้ามาแทนที่ในตำแหน่งซีโอโอ

Berrent มีภาพลักษณ์ต่อหน้าสาธารณะชนในแง่มุมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และตำแหน่งของเธอในฐานะผู้บริหารหญิงระดับสูงของบริษัท เป็นที่มาของแรงบันดาลใจสำหรับพนักงาน WeWork หลายคน

แต่เธอกลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนที่ทำงานใกล้ชิดกับเธอในฐานะ ลูกสมุนของ Adam ซึ่งไม่เพียงแค่งานด้านกฏหมายเท่านั้น เธอยังได้รับโอกาสจาก Adam เข้ามาดูแลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทอีกด้วย

Jennifer Berrent ผู้บริหารหญิงคนใหม่ที่ถูกใจ Adam เป็นอย่างมาก (CR:law.com)
Jennifer Berrent ผู้บริหารหญิงคนใหม่ที่ถูกใจ Adam เป็นอย่างมาก (CR:law.com)

เธอมักจะสะท้อนเป้าหมายที่ Adam ตั้งไว้สำหรับบริษัท คือการปลดพนักงาน 20% ของ WeWork ในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เลียนแบบมาจาก Jack Welch ในเวอร์ชั่นแบบสายฟ้าแลบที่ว่าคนงาน 10% ที่มีผลงานต่ำที่สุดของบริษัทควรถูกคัดออกอย่างสม่ำเสมอ

Adam ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับ Berrent ไม่เพียงแต่เรื่องความสามารถทางด้านกฏหมายเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความภักดีของเธอซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ Adam แสวงหามานานในเหล่าผู้บริหารของเขา

ส่วนบทบาทของ Miguel นั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงต้นของบริษัท Miguel เป็นคนกำหนดความสวยงามของ WeWork แต่เมื่อ Adam ต้องสเกลบริษัทเพื่อให้รองรับความต้องการของนักลงทุน บทบาทของ Miguel ก็จางหายไปตามกาลเวลา

เมื่อ WeWork กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานหลายพันคน Miguel ได้ปล่อยให้ใบอนุญาตทางสถาปัตยกรรมของเขาหมดอายุลง และบทบาทของเขาในกระบวนการออกแบบก็ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

การจัดการกับสถาปนิกกลุ่มใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำงานที่เติบโตขึ้นจนมีคนมากกว่า 100 คน ก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเขา ที่สำคัญ Miguel ยังคงเป็นนักออกแบบที่ขี้อายที่สุดที่สวมหูฟังและคอยสเก็ตช์แบบที่อยู่ตรงหน้าเขา

นอกจากนี้เขายังไม่เคยรู้สึกสบายใจเลยกับบทบาทในที่สาธารณะที่ Adam หวังให้ Miguel มีมากขึ้น เขาชอบยืนอยู่นอกเวทีในขณะที่ Adam กำลังร่ายมนต์ให้กับคนฟังกลุ่มใหญ่ในห้องประชุม Miguel แทบจะไม่กระตือรือร้นกับคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจใด ๆ ของ Adam เลย

แม้ Adam จะมอบอำนาจให้กับ Miguel หรือ Minson หรือใครก็ตาม แต่ดูเหมือน WeWork ยังคงเป็นบริษัทของ Adam เสมอ ทุกสิ่งที่ WeWork หมุนรอบตัวเขา และเสน่ห์ที่เขาปรับใช้กับการแสวงหานักลงทุนก็ส่งผลเช่นเดียวกันกับพนักงานของเขา

นั่นเองที่ทำให้เหล่าพนักงานเริ่มรู้จักวงจรชีวิตที่แท้จริงใน WeWork พนักงานใหม่จะเข้ามาด้วยความตื่นเต้นเป็นเวลา 6-9 เดือน

เมื่อทำงานไปจนถึง 18 เดือนพวกเขาจะพบกับความเหนื่อยล้าและท้อแท้ ซึ่งมันก็ถึงเวลาที่พวกเขาต้องถูกแทนที่ หรือต้องลาจากบริษัทไปเอง

ในช่วงท้ายของปี 2018 WeWork มีพนักงานมากกว่า 1 หมื่นคนอย่างรวดเร็ว ครึ่งหนึ่งของพวกเขาอยู่กับบริษัทน้อยกว่า 6 เดือน พนักงานหลายคนเริ่มมองว่า WeWork มีความเป็นบริษัทน้อยกว่าความเป็นลัทธิสนองตัณหาของ Adam ไปเสียแล้วจริง ๆ

ดูเหมือนเรื่องร้ายแรงอย่างปัญหาเรื่องจริยธรรมที่ Adam หาผลประโยชน์จากบริษัทเข้ากระเป๋าตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่คณะกรรมการหลายคนคงรับไม่ได้ แถมเรื่องการจัดการคน ก็ดูเหมือนว่า Adam จะไม่มีทักษะทางด้านนี้เลย เขาเป็นแค่คนที่มีสเน่ห์และคอยร่ายมนต์ให้กับเหล่านักลงทุนหลงใหลคล้อยตามความฝันของเขาได้เท่านั้น

สถานการณ์ในตอนนี้ดูเหมือนจะมาใกล้ถึงจุดสิ้นสุดเต็มทีแล้ว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Adam และ WeWork โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 11 : Code Name Fortitude

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ

Billion Dollar Loser ตอนที่ 9 : Winner Loses All

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากมีการประกาศข้อตกลงกับ Softbank อันยิ่งใหญ่ของ WeWork Jame Hodari ได้พบกับ Adam ในเช้าวันหนึ่งที่สนามบิน Francis S.Gabreski ซึ่งให้บริการเครื่องบินไอพ่นส่วนตัวที่ Long Island

Hodari เป็นซีอีโอของ Industrious ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของ WeWork ซึ่ง Adam มองว่า ทั้งสองบริษัทควรที่จะร่วมมือกันมากกว่าการต้องมาแข่งกันเอง ซึ่งจะทำให้เจ็บตัวทั้งคู่

Adam มองว่า มันจะทำให้ทั้งสองบริษัทแข็งแกร่ง และ ทำเพื่อลูกค้าทั้งใน แอตแลนตา เซนต์หลุยส์ หรือ ฟีนิกซ์ Adam สัญญาว่าเขาจะจัดการข้อตกลงใด ๆ กับ Hodari เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ร่วมก่อตั้งของเขามากกว่านักลงทุนของ Hodari

แต่หาก Hodari ไม่ต้องการมาร่วมมือกัน Adam ก็เสนอทางเลือกง่าย ๆ ให้กับ Hodari

“ผมมีทีมงาน 150 คนและเงินทุนจำนวนมหาศาลที่จะฝังคุณลงหลุม” Adam กล่าว

WeWork จะเสนอค่าเช่าฟรีหนึ่งปีให้กับผู้เช่าของ Hodari แต่หากยังไม่คิดเข้าร่วม WeWork จะเสนอเพิ่มเป็น 2 ปี แน่นอนว่าทั้งหมดได้รับเงินทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์จาก Softbank นั่นเอง

ภายในปี 2017 Adam ขู่ว่าจะบดขยี้หรือซื้อคู่แข่งแทบทุกราย ซึ่งในสหราชอาณาจักรคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ WeWork คือ Office Group (TOG)

แต่ TOG ไม่แคร์เพราะพวกเขาเป็นเจ้าตลาด และเพิ่งได้รับเงินทุนจาก Blackstone ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน TOG มูลค่า 640 ล้านดอลลาร์ นั่นทำให้ Adam รู้สึกโกรธมาก ๆ

และทีมกฏหมายของ WeWork ยังเดินหน้ายื่นฟ้อง บริษัทที่เลียนแบบ WeWork สามแห่งได้แก่ UrWork , We Labs และ Hi Work โดยอ้างว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อทางการค้าของ WeWork

แน่นอนว่า Masayoshi Son ไม่ได้ลงเงิน 4.4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้บริษัทเติบโตแบบปรกติ Adam ต้องทำให้ได้มากกว่านั้น “เครือข่ายสังคมออนไลน์” ที่เขาสัญญาไว้กับ Son นั่นทำให้เขาต้องการพื้นที่ทุกหนทุกแห่งให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

มันทำให้แผนการของบริษัทต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทีมการตลาดของ WeWork มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่า Son บอก Adam ว่า ควรมีพนักงานขายให้ได้อย่างน้อย 1 หมื่นคน

WeWork ได้จ้างพนักงาน 30 คนต่อสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน จนในที่สุดมีพนักงานใหม่กว่า 100 คนในทุก ๆ วันจันทร์ ในเดือนธันวาคม 2017 เพียงหนึ่งปีหลังจากเปิดสาขาที่ 100 ที่เบอร์ลิน WeWork ได้เปิดเพิ่มจนมีสำนักงานแห่งที่ 200 ที่สิงคโปร์

ความต้องการพื้นที่ลุกลามบานปลายอย่างรวดเร็ว จนทีมอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ต้องมีการทำข้อตกลงการจ่ายเงินที่มากโข เพื่อครอบครองพื้นที่ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าโมเดลของ WeWork นั้นจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันมากมายในตลาด WeWork เริ่มเสนอค่านายหน้าด้วยค่าคอมมิชชั่นที่น่าตกใจ : 100% ของค่าเช่าปีแรกที่ผู้เช่ารายใหม่จ่ายให้ สำหรับข้อตกลง 2 ปี อีกทั้ง WeWork นั้นยังแถมให้ฟรีอีก 1 ปี นั่นหมายความว่า บริษัทจะไม่มีรายได้เลยตลอด 24 เดือนแรก

หุ้นส่วนหลายคนเริ่มกังวลกับสถานการณ์ของบริษัท โดยเฉพาะจากทางฝั่ง Benchmark Capital ที่เพิ่งมีปัญหากับ Travis Kalanick ผู้ก่อตั้ง Uber ที่กำลังโดนขับไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นมา

Travis Kalanick ที่กำลังถูกขับไล่จาก Uber ที่เขาตั้งขึ้นมากับมือ (CR:Vox.com)
Travis Kalanick ที่กำลังถูกขับไล่จาก Uber ที่เขาตั้งขึ้นมากับมือ (CR:Vox.com)

Bill Gurley ซึ่งดูแลการลงทุน Uber ของ Benchmark เริ่มกลัวว่า Adam อาจจะสร้างปัญหาแบบเดียวกับที่ Kalanick ทำ Gurley จึงได้บินไปนิวยอร์กเพื่อเผชิญหน้ากับ Adam ที่สำนักงานใหญ่ของ WeWork

Gurley ได้ตำหนิ Adam ที่ขายหุ้น WeWork ของเขาจำนวนมาก แม้ว่า Benchmark จะมีปัญหากับ Kalanick แต่เขาก็ไม่ได้ขายหุ้น Uber ออกไปเลยแม้แต่หุ้นเดียว

ทีม Benchmark ยังวิจารณ์กลยุทธ์ของ Adam และความจริงที่ว่า WeWork พลาดการคาดการณ์อีกครั้ง ในปี 2014 Adam บอกกับนักลงทุนว่า WeWork จะทำกำไรมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 แต่บริษัทกำลังจะขาดทุนเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนของการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากจนเกินไป

หลังจากนั้นไม่นาน Adam ก็ได้เริ่มเสนอแนวคิดใหม่โดยพยายามทำให้ WeWork กลายเป็นธุรกิจ SaaS (Space as a Service)

โดยมีแนวคิดก็คือ บริษัทุกขนาดจะไม่จัดการพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของตนเองอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนการบริหารพื้นที่ทางกายภาพของตนเองไปที่ WeWork โดยจะมีการเปลี่ยน WeWork ให้เปรียบเสมือนระบบ Cloud ของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งนั่นจะทำให้ WeWork เป็น “แพล็ตฟอร์ม” ตามความฝันทางด้านเทคโนโลยีของ Adam

การพยายามผลักดัน WeWork ให้กลายเป็นธุรกิจ SaaS นั้นเป็นเพียงวิธีการล่าสุดที่ Adam และผู้บริหารคนอื่น ๆ ของ WeWork พยายามที่จะผูกบริษัทของพวกเขากับยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ ในซิลิกอน วัลเลย์

WeWork ต้องการอาคารสำนักงาน เฉกเช่นเดียวกับ Uber ต้องการรถยนต์ และ Airbnb จำเป็นต้องมีอพาร์ตเมนต์ WeWork จะกลายเป็นเครือข่ายสมาชิกมืออาชีพที่ดีกว่า LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่มีการรวบรวมจากแต่ละสถานที่จะทำให้กลายเป็น Google Analytics สำหรับพื้นที่สำนักงาน หรือแม้กระทั่งการจินตนาการให้ WeWork เปรียบเสมือน คลังสินค้าของ Amazon ที่มีจิตวิญญาณมากกว่า

โดย Dave Fano ผู้ก่อตั้ง Case ซึ่งเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเติบโตของ WeWork กล่าวว่าเป้าหมายของ WeWork คือ การกำจัดตัวเองไม่ให้เป็นเหมือนบริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์เหมือนในอดีต

ในขณะที่ WeWork นั้นมีเหล่าบริษัท Startup มากมายที่เป็นสมาชิกในสำนักงานให้เช่าของพวกเขา แต่ยังไม่มีใครใน Silicon Valley เชื่อว่า WeWork เป็นหนึ่งในพวกเขา Adam แทบใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ

ซึ่งในการสร้างทีมเทคโนโลยี Adam ได้ว่าจ้าง Shiva Rajaraman ซึ่งเคยเป็นวิศวกรที่ Youtube , Spotify และ Apple ซึ่ง Adam ได้บอกกับ Rajaraman ว่า เขาควรจะออกจาก Apple เพราะสิ่งที่ WeWork กำลังสร้างนั้น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า iPhone มาก

Shiva Rajaraman มือดีด้านเทคโนโลยีที่ Adam ได้มาร่วมทีม (CR:CTech.com)
Shiva Rajaraman มือดีด้านเทคโนโลยีที่ Adam ได้มาร่วมทีม (CR:CTech.com)

ทีมเทคโนโลยีของ WeWork เติบโตขึ้นจากจำนวนครึ่งโหลในปี 2013 เป็นมากกว่า 200 คน งานแรกที่ Rajaraman ต้องทำคือโปรเจค Space Man ซึ่งเป็นการสร้างและดูแลระบบภายในองค์กรแทนที่จะ outsource ไปยังบริษัทอื่น

โดย Space Man ที่ Rajaraman ต้องเข้ามาดูแลนั้น ไม่สามารถประมวลผลการชำระเงินที่เข้ามา ในตอนที่บริษัทได้ทำการเปิดตัวที่ Mexico เมื่อ WeWork เปิดให้บริการในอินเดีย ซึ่งผู้เช่าส่วนใหญ่ต้องการชำระเป็นเงินสด ทีมวิศวกรต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อหาวิธีในการนำเงินสดเข้าสู่ระบบ

ในส่วนของเทคโนโลยีในสำนักงานนั้น WeWork ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ใต้โต๊ะในห้องประชุมเพื่อระบุจำนวนคนที่ใช้ในระหว่างวัน พวกเขาทดลองใช้กล้องและไมโครโฟนที่สามารถติดตามการแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียงได้

บริษัทกำลังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลกกับปัญหาภายในสำนักงาน มีทีมหนึ่งใช้ Machine Learning เพื่อคาดการณ์การใช้งานห้องประชุม ซึ่งให้ความแม่นยำ 80% และสามารถแนะนำพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการประชุมแต่ละประเภทได้

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของ WeWork คือการใช้อัลกอริธึมที่สามารถสร้างเค้าโครงคร่าว ๆ ของพื้นที่สำนักงานใหม่ได้เร็วกว่าสถาปนิกที่เป็นมนุษย์ของบริษัท

แต่ต้องบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำทั้งหมดนั้นดูเหมือนจะไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นการนำสิ่งต่าง ๆ มาประกอบกันเท่านั้น

การก่อสร้างเป็นธุรกิจที่สกปรก และเป็นการยากที่จะเชื่อมโยงข้อตกลงระหว่างผู้รับเหมาช่วงกับอัลกอริธึมได้ บริษัทได้ปรับปรุง supplychain ของเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน แต่นั่นหมายความว่าพวกเขาได้เพียงแค่ส่วนลดเท่านั้น ไม่ใช่การคิดค้นอุตสาหกรรมใหม่แต่อย่างใด

ซึ่งนอกเหนือจากการทำให้ธุรกิจหลักของ WeWork มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ความหวังก็คือเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ อย่างน้อยต้องช่วยให้ WeWork หาวิธีในการสร้างรายได้ในโมเดลรูปแบบใหม่ ๆ

เซ็นเซอร์ในห้องประชุมอาจตรวจจับเมื่อสมาชิกใช้ห้องโดยไม่จ่ายเงิน Son และ Adam นั้นได้พูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดของ “การเป็นสมาชิกเสมือน” โดยผู้คนจะเข้าร่วมชุมชนของ WeWork โดยไม่ต้องเช่าโต๊ะทำงาน

WeWork ได้สัญญากับเหล่านักลงทุนอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นคนกลางที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ซอฟต์แวร์ Salesforce ไปจนถึงส่วนลดบริการอย่าง Lyft

ในปี 2017 Adam พยายามซื้อบริษัท Comfy ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีแอปเพื่อจัดการระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นในการสร้างอาคารซึ่งเหมาะกับ WeWork และผู้ก่อตั้ง Comfy ก็ให้ความสนใจ

แต่การเจรจาก็ดำเนินไปหลายเดือน ผู้ก่อตั้งทั้งสามของ Comfy ต้องการเงินสดนอกเหนือจากหุ้นของ WeWork แต่ Adam ปฏิเสธ โดยยืนยันว่าทั้งสามเป็นคนโง่ที่ไม่รับหุ้นที่มูลค่าจะเติบโตได้ในอนาคตอย่าง WeWork

มีหลากหลายกิจการที่ Adam ต้องการซื้อ หลังจากได้เงินจำนวนมหาศาลจาก Softbank เขามีความคิดที่จะซื้อแม้กระทั่ง Slack และ Zoom ซึ่งตอนนั้นยังเป็นบริษัทที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

แต่ผู้บริหาร WeWork หลายคนต่างสับสนกับท่าทีของ Adam กับความสนุกสนานในการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ เหล่าผู้บริหารหลายคนต้องการให้ Adam เข้าหาบริษัทอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจของ WeWork

แต่ต้องบอกว่าท่าทีของ Adam นั้น แค่ต้องการซื้อ ๆ ๆ ไม่ใช่การหาพันธมิตรแต่อย่างใด ซึ่งการเจรจามักจบลงไม่สวยทุกครั้ง Adam นั้นคิดว่าถ้าเขาควบคุมบริษัทเหล่านี้ได้มันจะทำได้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็นความคิดที่ไร้สาระเอามาก ๆ

Adam ทุ่มเงินอย่างดุเดือดจนเมื่อคู่แข่งในธุรกิจสำนักงานและพื้นที่สำนักงานได้รับคำถามจากนักลงทุนว่าเขาวางแผนที่จะเอาชนะ WeWork อย่างไร บริษัทคู่แข่งต่างขยาด เพราะเงินของ Softbank และความกระหายที่อยากซื้อกิจการของ Adam นั้นสูงลิบลิ่ว

แต่สิ่งที่เหลือเชื่อคือ การซื้อบริษัทของ Adam นั้นบางครั้งดูเหมือนคนโง่ และดูจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของ WeWork เลย ตัวอย่างเช่น เขาใช้เงิน 13.8 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ใน Wavegarden บริษัทสัญชาติสเปนที่ผลิตสระว่ายน้ำในทะเลสำหรับนักเล่นเซิร์ฟ

Adam อ้างว่าเขาเห็น Wavegarden เป็นยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพสำหรับองค์กรที่ WeWork จะช่วยเหลือในอนาคต แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูเหมือนการเล่นของเด็กน้อยมือเติบ ที่เพิ่งเห็นเงินมหาศาลอยู่ในมือเสียมากกว่า

ในห้องประชุมผู้บริหารที่สำนักงานใหญ่ของ WeWork มีรูปถ่ายขนาดใหญ่ของ Adam กำลังโต้คลื่น และนั่นเองทำให้เหล่าผู้บริหารระดับสูงรวมถึงพนักงานต่างสับสนกับการกระทำในครั้งนี้ของ Adam เป็นอย่างมาก

ต้องบอกว่า มาถึงตอนนี้ สถานการณ์ของ WeWork หลังจากได้รับเงินทุนนั้น ดูจะสับสนกับทิศทางของบริษัทเป็นอย่างมาก

Adam ดูเหมือนคนที่ไม่เคยจับเงินจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ความคิดของเขานั้น เพียงแค่จะไล่ซื้อกิจการ หรือซื้อธุรกิจเพื่อมาตอบสนองตัณหาส่วนตัวเพียงเท่านั้น ไม่ได้ใส่ใจถึงยุทธศาสตร์ของบริษัทเลย และที่สำคัญความควาดหวังของ Softbank นั้นสูงลิบลิ่วกับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลขนาดนี้

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลังจากนี้ Adam จะแบกรับความกดดันจากการลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลได้หรือไม่ WeWork จะเดินไปในทิศทางไหนต่อ โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 10 : Game of Thrones

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ