Blood Oil ตอนที่ 4 : Vision 2030

ภายในสำนักงานใหญ่ Aramco บนชายฝั่งอ่าวซาอุดิอาระเบีย เหล่าเจ้าหน้าที่อยู่ในอาการหวาดผวา สำเนาก่อนตีพิมพ์ของบทความใน The Economist ของเช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคมปี 2016 เป็นข่าวที่ไม่มีใครคาดคิด

โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ตัดสินใจนำ Aramco เข้าสู่การ IPO เสนอขายหุ้นต่อสาธาณชน ซึ่งจะกลายเป็นการเสนอขายหุ้นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเงินของโลก

ต้องบอกว่าแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Aramco ที่ได้ให้คำปรึกษากับโมฮัมเหม็ดเกี่ยวกับแผนการกระจายเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะขายเครื่องจักรทำเงินของอาณาจักรแห่งนี้

มันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลยสำหรับบริษัทอย่าง Aramco เพราะเป็นบริษัทที่มีเจ้าของผูกขาดโดยอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และบริหารงานกันอย่างลึกลับ มีปัญหาสั่งสมอยู่มากมายภายในกระบวนการบริหารของบริษัท

ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงนโยบายประชานิยมตามสไตล์ของการปกครองแบบกึ่งเผด็จการของราชวงศ์อัล ซาอุด Aramco แจกน้ำมันเชื้อเพลงหรือก๊าซธรรมชาติอย่างมากมายให้กับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งบางครั้งลูกค้าเหล่านี้แทบจะไม่ได้จ่ายเงินเลยด้วยซ้ำ

ในปี 2015 บริษัทไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของซาอุดิอาระเบียรายงานว่ามีหนี้สูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยพวกเขารับน้ำมันเชื้อเพลิงจาก Aramco แต่ไม่เคยจ่ายเงินให้กับ Aramco เลยเป็นเวลาสิบห้าปี แน่นอนว่าเชื้อเพลิงฟรีเหล่านี้ทำให้ชาวซาอุดิอาระเบียได้ใช้ไฟฟ้าที่เกือบจะฟรี

แล้วนักลงทุนในตลาดหุ้น จะรู้สึกอย่างไรกับการซื้อบริษัทที่มีผลกำไรไปอุดหนุนประชากรชาวซาอุดิอาระเบียแทนที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้น

มีโครงการที่ใช้จ่ายเงินอย่างบ้าคลั่งเพื่อตอบสนองตัณหาของเหล่าราชวงศ์มากมายที่ใช้เงินของ Aramco ก่อนสิ้นพระชนม์ กษัตริย์อับดุลลาห์สั่งให้ Aramco พัฒนาเมืองกีฬา มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์พร้อมมัสยิด

Aramco สร้างพิพิธภัณฑ์และพื้นที่การแสดง King Abdulaziz Center for World Culture ในทะเลทรายใกล้บ่อน้ำมัน โดยมีการว่าจ้างบริษัทออกแบบจากสวีเดนให้สร้างอาคารที่ดูเหมือนยานอวกาศจากภาพยนตร์ Starwars

King Abdulaziz Center for World Culture ได้รับเงินสนับสนุนจาก Aramco
King Abdulaziz Center for World Culture ได้รับเงินสนับสนุนจาก Aramco (CR:archipanic)

และในช่วงเวลาที่โมฮัมเหม็ดประกาศการเสนอขายหุ้น IPO ของ Aramco นั้น บริษัทได้สร้าง Complex มูลค่า 55 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นที่จัดงานประเพณีของซาอุดิอาระเบียที่เจ้าชายโปรดปราน นั่นก็คือ การประกวดความงามของอูฐประจำปี แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับราชวงศ์ แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ถือหุ้นชาวอเมริกันอย่างแน่นอน

เหล่าเจ้าหน้าที่อาวุโสของ Aramco กังวลใจกับความคิดของโมฮัมเหม็ด ที่ไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่า Aramco ใช้เงินอย่างบ้าคลั่งไปกับโครงการที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในทุก ๆ ปี

แต่ต้องบอกว่าการขายส่วนหนึ่งของ Aramco นั้นจะเป็นการละทิ้งวิถีทางเดิม ๆ ของซาอุดิอาระเบีย และจะเป็นก้าวแรกในกลยุทธ์ของโมฮัมเหม็ดในการย้ายออกจากธุรกิจน้ำมัน และทำการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และ สร้างงานใหม่ ๆ รวมถึงสร้างเสรีภาพทางสังคมสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประเทศที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

และที่สำคัญเขาก็มีที่ปรึกษาอย่าง McKinsey & Company ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก โดยในปี 2015 McKinsey Global Institue ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของบริษัท ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “Saudi Arabia Beyond Oil” ซึ่งเป็นแผนการสำหรับประเทศซาอุดิอาระเบียในการคิดค้นเศรษฐกิจของตนเองขึ้นมาใหม่

โดยเป็นแผนในช่วงตั้งแต่ปี 2015-2030 ซึ่ง McKinsey ได้ทำการวิจัยพบว่าซาอุดิอาระเบียสามารถเพิ่ม GDP ได้เป็นสองเท่า และสร้างงานใหม่ได้มากถึงหกล้านตำแหน่ง

และแน่นอนว่าตราประทับจากบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกนี้นี่เอง ที่ทำให้โมฮัมเหม็ดสร้างความน่าเชื่อถือได้ในระดับสากล นั่นทำให้เขาเตรียมพร้อมที่จะประกาศแผนเสนอขายหุ้นในเดือนมกราคมปี 2016 ทันที

สิ่งที่ McKinsey ทำนั้น ได้สร้างความประทับใจให้กับโมฮัมเหม็ดเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่เขาชอบจากที่ปรึกษาเหล่านี้ก็คือการสร้างตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งกระทรวงและบริษัทต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลว่าคือ “KPI” ซึ่งแน่นอนว่าโมฮัมเหม็ดจะไม่ตอบสนองต่อกลยุทธ์ใด ๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยตัวเลข

เหล่าที่ปรึกษาสามารถเปลี่ยนความคิดไอเดียบรรเจิดต่าง ๆ ของโมฮัมเหม็ดให้เป็นแผนด้วยตัวชี้วัดและเกณฑ์มาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่หัวโบราณของซาอุดิอาระเบียที่ไม่มีความเชื่อถือในความคิดของโมฮัมเหม็ด

เขาได้จ่ายเงินอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ให้กับทั้ง McKinSey และ บริษัท Boston Consulting Group (BCG) เพื่อเขียนรายงานเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทุกแง่มุม รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปซาอุดิอาระเบียให้มีความทันสมัยในอนาคต

การปฏิรูประบบราชการก็เป็นสิ่งสำคัญ โมฮัมเหม็ดเริ่มหันมาใช้ KPI เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการทำงานของรัฐบาล ซี่งเหล่ารัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม และมีการทบทวนตัวเลขเป็นระยะ ๆ หากทำไม่สำเร็จก็จะเสี่ยงต่อการถูกไล่ออกในทันที

อีกสิ่งที่สำคัญคือเรื่องการคอร์รัปชั่นที่โมฮัมเหม็ดเองได้เข้ามาปฏิรูป เขาได้เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้กับรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตพวกเขาได้รับเงินประมาณ 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน และมักจะไปรับเงินใต้โต๊ะจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ

แต่ภายใต้การนำของโมฮัมเหม็ดนั้น รัฐมนตรีแต่ละคนจะได้รับเงินหลายล้านดอลลาร์ต่อปี แต่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตาม KPI ที่เขากำหนดให้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้เขายังตั้งเป้าในการกำจัดวัฒนธรรมที่เกียจคร้าน ที่เดิมเหล่าข้าราชการทำงานไปวัน ๆ เพื่อรอใช้เงินเกษียณแบบสบาย ๆ เขาได้มอบอำนาจให้กับโมฮัมเหม็ด อัล จาดาน ทนายความคู่ใจของเขาเพื่อเข้ามาปฏิรูปกระทรวงการคลัง โดยใช้คนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น

วิธีการทำงานของรัฐบาลก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการประชุมประจำสัปดาห์ของสภาเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งโมฮัมเหม็ดจะเข้ามาไล่จี้ทุกโครงการด้วยตัวเอง

แทนที่จะเป็นการประชุมแบบขอไปที เหมือนในรัฐบาลยุคก่อน ๆ รัฐมนตรีทุกคนในยุคของโมฮัมเหม็ดต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ของตนเองเป็นระยะ ๆ ต้องมีกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เพียงแค่สร้างวิสัยทัศน์ที่เพ้อฝัน

โดยก่อนที่เหล่ารัฐมนตรีจะนำเสนอโครงการใด ๆ นั้น พวกเขาจะต้องผ่านกลุ่มพิเศษภายในสภาที่ถูกจัดตั้งโดยโมฮัมเหม็ดคอยตรวจสอบชั้นนึงก่อนที่นำไปเสนอในการประชุมใหญ่ ซึ่งโมฮัมเหม็ดที่มีอายุ 30 ปี จะถามคำถามแบบไล่จี้ บางครั้งถึงขั้นตะคอกใส่รัฐมนตรีที่มีอายุมากกว่าเขาถึงสองเท่า หากทำงานไม่ได้เรื่อง

ทุกสิ่งทุกอย่างที่โมฮัมเหม็ดทำนั้นก็เพื่อให้บรรลุแผนใหญ่ที่สุดของเขานั่นก็คือ Vision 2030 ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับเสาหลักที่แข็งแกร่ง โดยซาอุดิอาระเบียจะกลายเป็นหัวใจสำคัญของโลกอาหรับและอิสลาม และจะกลายเป็น ขุมพลังการลงทุนระดับโลก และจะเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกที่เชื่อมต่อสามทวีปให้สำเร็จ

และด้วยความคาดหวังในการมีบทบาทในช่วงแรกของการเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหล่านายธนาคารจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็มุ่งหน้าไปยังริยาดเพื่อพบกับเจ้าชายแทบจะทันที

Achinta Mangla นายธนาคารลอนดอนของ JP Morgan และ Jonathan Penkin จาก Goldman Sachs Group เป็นนายธนาคาร IPO ระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งพวกเขาต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดเจ้าชายให้พวกเขาเป็นคนจัดการเรื่อง IPO

มันไม่ใช่แค่เพียงค่าธรรมเนียมหลายร้อยล้านดอลลาร์สำหรับการทำธุรกรรมเท่านั้น แต่ยังมีธุรกรรมสำหรับต่อเนื่องอีกหลายปีที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมได้อีกในอนาคต

Larry Summers อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐและประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เดินทางมาเยี่ยมโมฮัมเหม็ดเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านี้ก็มาเพื่อผลประโยชน์เพราะ Summers เองทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องการหาข้อตกลงกับ Aramco เช่นเดียวกัน

แม้กระทั่ง โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ก็เดินทางมาในฐานะที่ปรึกษาของ JPMorgan Chase เขาใช้เวลาช่วงเย็นในเต็นท์กลางทะเลทรายกับโมฮัมเหม็ดสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาการปกครองและอำนาจ แต่แน่นอนว่าเป้าหมายของแบลร์ก็คือ ข้อตกลงกับ Aramco เฉกเช่นเดียวกับทุกคนที่ได้กลิ่นเงินมหาศาลจาก IPO ครั้งประวัติศาสตร์นี้

ซึ่งสุดท้ายนั้น เงินที่ได้จากการทำ IPO ของ Aramco โมฮัมเหม็ดมีแนวคิดที่จะนำมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติและลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยี

ในช่วงเวลาดังกล่าว โมฮัมเหม็ดก็ได้มีโอกาสไปรู้จักกับ Travis Kalanick ผู้ก่อตั้ง Uber ที่กำลังเป็นสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงในตอนนั้น โมฮัมเหม็ดมองว่า Uber เป็นการลงทุนที่น่าดึงดูด

Uber กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก และอาจมีบทบาทสำคัญในประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งผู้หญิงยังคงถูกห้ามไม่ให้ขับรถ ทำให้โมฮัมเหม็ดได้ลงทุนใน Uber ไปกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้เขากลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของบริษัททันที

Travis Kalanick ที่ได้รับเงินลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์จากโมฮัมเหม็ด
Travis Kalanick ที่ได้รับเงินลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์จากโมฮัมเหม็ด (CR:marketwatch)

หลังจากนั้นไม่นานโมฮัมเหม็ดก็มุ่งหน้าไปยังซิลิกอน วัลเลย์

โมฮัมเหม็ดได้บุกไปเยี่ยมชมบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google แต่เป้าหมายของเขาก็คือการลงทุนในบริษัท Startup หน้าใหม่ที่จะเปลี่ยนโลก

แต่เมื่อโมฮัมเหม็ดได้เข้ามาเจอกับบริษัท VC ของอเมริกา กลับพบความจริงที่ว่า บริษัท VC เหล่านี้แทบไม่ต้องการเงินจากโมฮัมเหม็ด เพราะพวกเขามีเงินมากพออยู่แล้วในการลงทุน

VC คนเดียวที่ดูเหมือนจะกระตือรือร้นที่จะพบเจ้าชายอย่างแท้จริง คือ Joe Lonsdale ผู้ร่วมก่อตั้ง Palantir บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนระดับตำนานของซิลิกอน วัลเลย์อย่าง Peter Thiel

ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ Fairmont Hotel บนยอดเนินเขา Nob Hill ของเมืองซานฟรานซิสโก โมฮัมเหม็ดได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า “ผมต้องการสะพานเชื่อมระหว่างซาอุดิอาระเบียกับซิลิกอน วัลเลย์ ผมต้องการความช่วยเหลือจากพวกคุณในการปฏิรูปประเทศของเรา”

โมฮัมเหม็ดได้บอกกับกลุ่ม ที่รวมถึงนักลงทุนชื่อดังอย่าง Marc Andreessen , Peter Thiel, John Doerr และ Michael Moritz ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของบริษัทร่วมทุนที่มีประสบการณ์หลายสิบปีในการสนับสนุนสตาร์ทอัพซึ่งได้กลายเป็นบริษัทมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ต้องบอกว่ารูปแบบการร่วมทุนสามารถที่จะปรับขนาดได้เรื่อย ๆ แน่นอนว่าหากกลุ่ม VC จากซิลิกอน วัลเลย์เหล่านี้ได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าจากโมฮัมเหม็ด พวกเขาจะทำเงินได้อีกมากมายก่ายกองขนาดไหน

แต่สุดท้ายต้องบอกว่าเหล่า VC จากซิลิกอน วัลเลย์ผู้โอหังนั้นดูเหมือนจะเคลื่อนตัวช้าไปเสียแล้วกับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากโมฮัมเหม็ด แนวคิดของพวกเขาต้องการใช้วิธีเดิมคือลงทุนเพียงเล็กน้อยใน Stage แรก ๆ ของ Startup แต่เป้าหมายของโมฮัมเหม็ดต้องการลงทุนขนาดใหญ่และเขาต้องการที่จะทำแบบทันที

ก่อนที่ VC จากซิลิกอน วัลเลย์จะคิดหาวิธีดึงดูดเงินจากโมฮัมเหม็ดได้ มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะพวกเขากำลังจะถูกตัดหน้าจาก นักลงทุนจากแดนตะวันออกไกลผู้ไม่ฝักฝ่ายใด ซึ่งสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มจากซิลิกอน วัลเลย์ แล้วนักลงทุนปริศนาผู้นั้นจะเป็นใคร เงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ได้รับจากการ IPO ของ Aramco จะไปตกอยู่ที่ไหน โปรดอย่าพลาดติดตามต่อในตอนหน้านะครับผม

–> อ่านตอนที่ 5 : One Billion Per Minute

ย้อนไปอ่านตั้งแต่ตอนแรก & Credit แหล่งข้อมูลบทความ