เรื่องของ George Floyd ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพลวัตของเทคโนโลยี

ต้องบอกว่ากลายเป็นกระแสลุกลามไปทั่วทั้งโลกเสียแล้วสำหรับการเสียชีวิตของ George Floyd ที่เสียชีวิตโดยการกระทำที่เกินกว่าเหตุของตำรวจของอเมริกา ที่ทำให้กระแส Racism นั้นกลับมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกครั้ง

แน่นอนว่าประเด็นเรื่องการเหยียดผิว หรือ Racism นั้นเป็นประเด็นที่ฝังลึกอยู่ในชนชาติอเมริกามาอย่างยาวนาน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด กับเหตุการณ์แนวนี้ที่เกิดขึ้นมานับต่อนับ ในประวัติศาสตร์ของอเมริกา

และมันก็ไม่มีทีท่าว่าจะหายไปแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การซุกปัญหาไว้ใต้พรมเพียงเท่านั้น ผ่านการแสดงออกของประเทศอเมริกาว่าเป็นประเทศเสรีภาพและความเท่าเทียม ที่เหมือนเป็นต้นแบบของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่องราวเหล่านี้ และ ชอบดู Series ของทางฝั่งอเมริกา ที่เป็นแนวสารคดี ที่เกี่ยวข้องกับ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Racism การเหยียดสีผิว หรือ ความยุติธรรม สองมาตรฐานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอเมริกา

อย่างเรื่องราวล่าสุดที่น่าสนใจนั่นก็คือ Series ในชุด trial by media ของ Netflix ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในประเด็น Racism ที่น่าสนใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นกับ George Floyd ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้นั่นเอง

ตัวอย่าง Case ที่เกิดขึ้น ที่ลากเข้าสู่เรื่องของ Racism ของการเหยียดผิว และเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในยุคนั้นอย่างคดีของ Amadou Diallo ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยว่าเป็นผู้ร้าย และถูกกระหน่ำยิง 41 นัด ทั้งที่เขาแทบจะไม่มีอาวุธและเส้นทางให้หลบหนีเลยด้วยซ้ำที่หน้าประตูอพาร์ทเมนต์ของตัวเขาเอง

หรือในคดี Bernard Goetz ที่ยิงคนที่วัยรุ่นผิวดำ ที่จะเข้ามาปล้นตัวเขาด้วยอาวุธคือไขควงเล็ก ๆ ซึ่งทั้งสองคดีนี้ ก็ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในคดีของ George Floyd แต่มันไม่ได้ลุกลามบานปลายอย่างที่เราเห็นกันในยุคปัจจุบัน

ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องราวของฝั่ง Racism ในการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว และฝั่งต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ หรือ สีผิวนั้น มันไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวอเมริกัน เพราะมันมีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศ ผ่านประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ยาวนานของอเมริกา ตั้งแต่ยุคค้าทาส เลิกทาส ยุคที่เริ่มมีการออกกฏหมายยุติการแบ่งแยกโดยเฉพาะในเรื่องของสีผิว ที่มีการนำโดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จนไปถึงการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกา

เรียกได้ว่า พวกเขาได้ต่อสู้กับเรื่องราวเหล่านี้ในเรื่องการเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ ซึ่งมีมาตลอดในทุกยุคทุกสมัย

แล้วทำไมประเด็นของ George Floyd ถึงการเป็นกระแสลุกลามไปทั่วโลก?

ต้องบอกว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปจริง ๆ ของอเมริกา​ หรือ แม้กระทั่งโลกของเราก็คือ พลวัตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปต่างหาก ที่เป็นตัวเปลี่ยนเรื่องราวเหล่านี้ ให้มีความซับซ้อน และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าเมื่อก่อน

สิ่งแรกที่เทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องก็คือ Camera Anywhere ในปัจจุบัน ที่ทุกทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นมือถือที่ติดตามตัวเรา กล้องหน้ารถยนต์ กล้อง CCTV ต่าง ๆ ซึ่งทำให้สามารถจับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในอดีตได้แบบแทบจะ Realtime เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ และเข้าถึงได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันคงเป็นเรื่องยากในอดีต ที่จะมีกล้องคอยจับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลกเหมือนในปัจจุบัน

และพลังขับเคลื่อนที่สำคัญก็คือ พลังของ Social Media นั่นเองที่ทำให้เรื่องราว ที่เกิดขึ้นเหตุการณ์ drama ที่เกิดขึ้นที่อยู่ทุกมุมโลก เราสามารถเสพมันได้แทบจะทันที หลังจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพียงไม่นาน ผ่านการแชร์อย่างบ้าคลั่ง รวมถึงพลังของอัลกอริธึมของ Social ที่ยิ่งแชร์ มันก็ยิ่งกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุการณ์เหมือนที่ George Floyd ถูกกระทำนั้นไม่ใช่เรื่องเรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ใหม่ คือพลังที่กำลังขับเคลื่อนมันที่อยู่เบื้องหลังต่างหาก

ที่พลังของเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้น ได้ขับเคลื่อนเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคมทุกสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นดราม่า ที่จะถูกใจ อัลกอรึธึมของบรรดาแพลตฟอร์ม Social มากกว่าเรื่องราวปรกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัวเรา

ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคต เรื่องราวเหล่านี้ คงเกิดขึ้นอีก เพราะเรื่องราวของการเหยียดสีผิว หรือ เชื้อชาตินั้น มันไม่ได้จางหายไปไหน แต่มันเพียงแค่ถูกซุกไว้ใต้พรม เพื่อรอการระเบิดขึ้นมาอีกครั้งเพียงเท่านั้น

แต่เมื่อพลวัตของเทคโนโลยีกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วอย่างที่เราได้เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตนั้น เมื่อเหตุการณ์ตัวอย่างของ George Floyd เป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้เราได้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง

มันก็อาจจะทำให้เกิดการวิวัฒนาการ ให้ เรื่องราวของการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาตินั้น ไปอยู่ในฉากหลังที่ไม่ได้ผ่านหน้ากล้องแทน และไม่ได้เกิดขึ้นในฉากหน้าให้เราได้เห็นอีกต่อไป เพราะผู้คนเหล่านี้ต่างเกรงกลัวกล้องที่มีอยู่ในทุก ๆ ที่ ในยุคที่เรียกได้ว่า Camera Anywhere เหมือนดั่งกรณีของ George Floyd ที่กำลังบานปลายเหมือนอย่างที่เราได้เห็นกันในตอนนี้นั่นเองครับผม