ประวัติ Google ตอนที่ 12 : The China Syndrome

ในปี 2005 จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก และมันได้ทำให้เหล่าคนชนชั้นกลางของจีนจำนวนกว่าร้อยล้านคน ได้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ และ อินเทอร์เน็ต

และแน่นอนว่าตลาดอันหอมหวนเช่นนี้ มันดึงดูดใจบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกทุก ๆ แห่งให้มาลองชิมลางกับตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน Microsoft ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ทำการลงทุนในประเทศจีนโดยมีการจ้างงานกว่าหนึ่งพันตำแหน่ง

Google ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการเข้าสู่ตลาดที่มีขนาดมหาศาลนี้เช่นกัน บริน และ เพจต้องการที่จะสร้าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นในประเทศจีนโดยเฉพาะ จีนจึงประเทศที่มีความหมายกับ Google มาก

ซึ่งแน่นอนว่าศึกในอเมริกานั้น Google ดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายชนะในทุก ๆ ครั้งที่ Microsoft พยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของ Google แม้ความน่าเกรงขามของ Microsoft ยังคงไม่เสื่อมคลายลงแต่อย่างใด ด้วยขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่า 3 เท่าของ Google ในขณะนั้น รวมถึงการที่ Microsoft ยังคงมีรายได้อย่างมั่นคงในตลาดที่เขาครองแบบเบ็ดเสร็จทั้งระบบปฏิบัติการ Windows และ โปรแกรมชุดสำนักงานอย่าง Microsoft Office 

และด้วยความที่ทั้งสองบริษัทนั้นเติบโตมาในยุคที่แตกต่างกัน Google ที่เติบโตมาทีหลัง ถูกมองว่าเป็นขวัญใจของชาวอินเทอร์เน็ตมากกว่า ด้วยภาพลักษณ์ของความ Cool วัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ที่ Google สร้างขึ้น มันทำให้ดึงดูดเหล่าวิศวกรอัจฉริยะยุคใหม่ ๆ ไปได้มากโข

ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อ Microsoft ทำให้บิลล์ เกตส์ ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งใน Microsoft โดยมีหน้าที่เดียวคือ หาทางกำจัด Google โดยเฉพาะไม่ว่าโดยวิธีการใดก็ตาม เพราะช่วงหลังวิศวกรจาก Microsoft เริ่มที่จะถูกพลังดูดจากบริษัทอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ออกไปเรื่อย ๆ 

บิลล์ เกตส์ ต้องการบี้ Google ให้ตายเหมือนคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่เขาเคยทำมา
บิลล์ เกตส์ ต้องการบี้ Google ให้ตายเหมือนคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่เขาเคยทำมา

Microsoft ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะรั้งวิศวกรเหล่านี้ไว้ ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงกาย และ เงินทุนมากกว่า ต้องเสนอเงินและโบนัสพิเศษให้มากกว่า ซึ่งอาการสมองไหลแบบนี้ Microsoft แทบจะไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนไม่ว่าจะแข่งกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งเพียงใดก่อนหน้านี้ 

และคนที่ Microsoft โกรธแค้นที่สุด จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ดร. ไค ฟู ลี ดีกรี ด็อกเตอร์จาก คาร์เนกี เมลอน ผู้ที่เริ่มทำงานกับ Microsoft ประเทศจีนในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ Google ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นมานั่นเอง

ไค ฟู ลี ถือเป็นบุคคลสำคัญในตลาดจีนของ Microsoft ดูและการดำเนินงานและยุทธศาสตร์หลักทั้งหมดในจีนของ Microsoft เขายังมี connection ที่สำคัญกับทางฝั่งรัฐบาลจีน เป็นคนริเริ่มก่อตั้งศูนย์วิจัย Microsoft ขึ้นในเมืองหลวงของประเทศจีนอย่างเมืองปักกิ่ง

ไค ฟู ลี พนักงานคนสำคัญในตลาดจีนของ Microsoft
ไค ฟู ลี พนักงานคนสำคัญในตลาดจีนของ Microsoft

แต่แล้วในปี 2005 เมื่อ Google ต้องการรุกเข้าสู่ตลาดจีน และนี่เป็นสิ่งที่ ไค ฟู ลี นั้นใฝ่หาความท้าทายที่จะได้ทำงานกับ Google มานานแล้ว แม้ตอนนั้นเขาจะเป็นลูกจ้างของ Microsoft อยู่ก็ตามที ซึ่ง Google นั้นก็ต้องการได้มือดีอย่างเขาเพื่อมาเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยในประเทศจีนเช่นเดียวกัน

มันเป็นการแย่งชิงตัวบุคลากรระดับสูงสุดรายแรกที่ Google สามารถช่วงชิงมาจาก Microsoft ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ Microsoft โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยทีเดียว และพร้อมจะโจมตีกลับด้วยการดำเนินการทางกฏหมายกับ Google 

แต่คำขู่จาก Microsoft ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เพราะ ในเดือน กรกฏาคม ปี 2005 ไค ฟู ลี ก็เดินตามคนอื่นๆ  ที่ทิ้ง Microsoft เข้าหา Google ซึ่งทำให้ Google ยิ่งแข่งแกร่งมากขึ้นไปอีกขั้น เพราะได้รับพนักงานระดับสูงที่มีความรู้และ Connection ที่ดีกับรัฐบาลจีน รวมถึงชุมชนนักพัฒนาในประเทศจีนอีกด้วย

Google ต้องการให้ ไค ฟู ลี มาดูแลตลาดจีนเช่นเดียวกัน
Google ต้องการให้ ไค ฟู ลี มาดูแลตลาดจีนเช่นเดียวกัน

เมื่อถูก Google หยามถึงเพียงนี้ Microsoft จึงต้องเล่นไม้แรง ด้วยการฟ้องร้องทางกฏหมายต่อ Google และ ไค ฟู ลี ทันที ซึ่ง Microsoft ได้กล่าวหาว่า Google นั้นได้ยั่วยุให้ ลี ไค ฟู ฉีกสัญญาจ้างที่ได้เซ็นไว้กับ Microsoft ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่ง ไค ฟู ลี นั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ เอื้อต่อการเข้าสู่จีนหรือการพัฒนาเทคโนโลยีค้นหาของ Google ในประเทศจีน

ซึ่งสุดท้าย Microsoft ได้ชัยชนะครั้งนี้ชั่วคราว จากคำสั่งศาลที่ห้าม ไค ฟู ลี ร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาข้อมูล แต่ผู้พิพากษายังยอมให้ ไค ฟู ลี สามารถทำงานในจีนต่อได้ และช่วยส่งสารไปยังเหล่าพนักงานอาวุโสของ Microsoft ไม่ให้ย้ายไปอยู่กับ Google 

ขณะที่คดีของ ไค ลี ฟู ยังอยู่ในกระบวนการคลี่คลาย ตลาดอินเทอร์เน็ตในจีนก็ได้เกิดความร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ Yahoo ได้ประกาศลงทุนหนึ่งพันล้านเหรียญใน อาลีบาบา บริษัท อินเทอร์เน็ตชั้นนำของจีน 

ส่วน Google นั้นหลังจากคดีของ ไค ฟู ลี จึงต้องหาแผนสำรองด้วยการซื้อหุ้น Search Engine ชื่อดังของจีนอย่าง Baidu.com ที่มี Design และ Concept เรียบง่ายแบบเดียวกับ ที่ Google ทำ

และเมื่อ Baidu ทำ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ มันได้เพิ่มมูลค่าตลาดนับพันล้านเหรียญให้แก่ Google และทำให้มูลค่าของ Google ในขณะนั้นมีมูลค่ามากกว่า amazon และ ebay รวมกันเสียอีกด้วยซ้ำ ตอนนี้ Google เติบโตจนเหลือเพียงแค่ Microsoft เท่านั้นที่พวกเขายังล้มไม่ได้

Google เลือกถือหุ้นใน  Baidu เป็นแผนสำรองแทน
Google เลือกถือหุ้นใน Baidu เป็นแผนสำรองแทน

ในขณะที่ Google คิดว่าตัวเองเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี แต่ความจริงแล้วนั้น Google ทำเงินด้วยการโฆษณา ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับสื่อแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ ปีแรกที่เข้าตลาดนั้น Google มีมูลค่าในตลาดมากกว่าบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Time Warner เสียด้วยซ้ำ

การที่ Google ทำให้ข้อมูลทั่วโลกเข้าถึงได้ผ่านทางออนไลน์  และการที่ Google สามารถที่จะดึงดูดเอาวิศวกรที่ฉลาดที่สุดจากทั่วโลกได้พร้อมกันนั้น มันส่งผลอย่างชัดเจนต่อการเติบโตขึ้นและพัฒนามาจนถึงขั้นนี้ได้ ตอนนี้ Microsoft เริ่มที่จะหนาว ๆ ร้อน ๆ แล้วกับการเติบโตอย่างรวดเร็ว และ ดึงเอาคนเก่ง ๆ ฉลาด ๆ จากแทบทั่วทั้งโลกของ Google แล้ว Microsoft จะแก้หมากเกมส์นี้อย่างไร ก่อนที่จะยักษ์ใหญ่ที่ทำลายคู่แข่งให้ย่อยยับมามากมายจะถูก Google แซงหน้าไปได้สำเร็จ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 13 : Broadcast Yourself

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ