ประวัติ Google ตอนที่ 6 : The Google Economy

ในราว ๆ ปี 2002 ในที่สุด Google ก็ได้เริ่มพิสูจน์ตัวเองในฐานะธุรกิจที่สามารถทำเงินได้จริง ๆ จัง ๆ เสียที เหล่านักลงทุนเริ่มได้มองเห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของ Google ที่กำลังจะมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อโลกอินเทอร์เน็ต

โปรแกรมค้นหาของ Google ถูกนำไปติดตั้งเป็นโปรแกรมค้นหาหลักของเว๊บไซต์ชื่อดังมากมาย ซึ่งหนึ่งในเว๊บไซต์ที่มีอิทธิพลสูงต่อชาวอเมริกันในขณะนั้น ก็คือ AOL หรือ American Online ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานกว่า 34 ล้านคน

ซึ่งความใหญ่โตของ AOL นี่เองที่มันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของก้าวใหม่ของ Google มันได้ช่วยให้การเข้าถึง Google นั้นขยายตัวอย่างมหาศาลมากกว่า partner รายอื่นๆ  ก่อนหน้าที่ Google เคยสร้างพันธมิตรไว้

และความคิดในการนำ Google เข้าไปเป็นโปรแกรมค้นหาหลักของ AOL สืบเนื่องมาจากตัว สตีฟ เคส ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง AOL เองที่ประทับใจในการใช้งาน Google เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การที่ บริน และ เพจ ให้ความสำคัญกับผู้ใช้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและได้ผลที่น่าเชื่อถือนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ไปเตะตาเข้ากับผู้ร่วมก่อตั้ง AOL อย่าง สตีฟ เคส

AOL ที่เป็นเว๊บไซต์ยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น
AOL ที่เป็นเว๊บไซต์ยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น

ต้องเรียกได้ว่าเป็น Deal ที่ Win-Win ทั้งคู่ทั้งฝั่ง AOL เองที่ได้โปรแกรมค้นหาระดับคุณภาพมาเป็นโปรแกรมค้นหาหลักในเว๊บไซต์ของตัวเอง ส่วน Google นั้นแน่นอนว่าจะทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้อีกในปริมาณมหาศาล

ซึ่งทำให้ Google สามารถที่จะทำโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาบนเว๊บไซต์ AOL มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากการทำโฆษณา

แม้สองผู้ก่อตั้งอย่างบริน และ เพจ ต้องการจะให้ Google เติบโตอย่างรวดเร็ว และพร้อมจะจ่ายเงินเต็มที่เพื่อให้ได้ร่วมธุรกิจกับ AOL ก็ตาม แต่ เอริก ชมิดต์ นั้น ค่อนข้างเป็นคนที่รอบคอบกว่า เพราะตอนนั้นสถานการณ์ทางด้านการเงินของ Google มีเงินสดอยู่เพียงแค่ 9 ล้านเหรียญในบัญชีเท่านั้น การทุ่มเงินจำนวนมากอาจจะทำให้ Google เดือดร้อนในภายหลังได้ แต่ สุดท้าย บริน และ เพจก็พร้อมที่จะเสี่ยง และผลก็คือสองผู้ก่อตั้งคิดถูกอย่างยิ่งกับ Deal ของ AOL ครั้งนี้

ซึ่งไม่เพียงแค่ AOL เท่านั้น Google ยังเดินหน้าทำสัญญาให้บริการค้นข้อมูลแก่ EarthLink รวมถึง อีก Deal ที่สำคัญกับ ask jeeves ที่เป็นโปรแกรมค้นหาคู่แข่ง ในการจัดหาโฆษณาที่เป็นข้อความให้ รวมถึง Ask Jeeves ยังคงเสนอผลการค้นหาของตนบนฐานของเทคโนโลยีที่ตนเป็นเจ้าของ ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนกับคู่แข่งที่สำคัญนี่เอง มันคือสัญญาณบอกว่า Google กำลังโตขึ้นอีกระดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

google ดึงคู่แข่งอย่าง Ask Jeeves มาเป็นพันธมิตร
google ดึงคู่แข่งอย่าง Ask Jeeves มาเป็นพันธมิตร

ถึงตอนนี้ โปรแกรมค้นหาของ Google นั้นทำตลาดแทบจะตลอด 24 ชั่วโมงในทุก ๆ วัน มันมีคำหรือ วลีนับล้านคำ ที่ผู้คนกำลังค้นหา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าและบริการแทบจะทั้งสิ้น ตัวอย่างชื่อสินค้าประจำวันเช่น “Pet food” อาจจะมีราคาประมํูลที่ถูก กว่า คำอย่าง “Investment Advice” ซึ่งเป็นกลไกของตลาดในเรื่องราคาที่ผู้ลงโฆษณายินดีที่จะจ่ายเพื่อให้โฆษณาของตนได้ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาคำ ๆ นั้นบน Google

มันทำให้ Google ได้เงินทุกครั้งที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์คลิกบนโฆษณา ที่มันแสดงขึ้นบนผลการค้นหา และมันถูกทำงานแบบอัตโนมัติ โดยระบบการประมูลออนไลน์ ซึ่งมันทำให้ Google มั่นใจได้ว่า จะได้รับราคาที่ดีที่สุดอยู่เสมอ และสร้างกระแสเงินสดปริมาณมหาศาลให้ Google มากขึ้นเรื่อย ๆ 

มันได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ทั้งระบบทำงานแบบอัตโนมัติ หรือ การเกิดขึ้นของเหล่านักการตลาดมืออาชีพ ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญการทำการตลาดผ่าน Google หรือ เหล่านักสร้าง Content ให้ติดอันดับการค้นหาใน Google ในผลการค้นหาแรก ๆ 

บริษัททั้งขนาดใหญ่ และ ขนาดเล็กนั้น ได้เข้ามาร่วมการประมูลคำหลัก ๆ เหล่านี้ และทำการส่งเงินมาให้ Google ทุก ๆ วันกว่าหลายล้านเหรียญ การที่สามารถเข้าไปใช้งานด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาสื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี หรือ วิทยุ ทำให้ เหล่าธุรกิจขนาดย่อมสามารถที่จะร่วมในการแข่งประมูลคำเหล่านี้ได้

ระบบประมูลคำค้นหา เป็นเครื่องจักรผลิตเงินให้ Google ตลอด 24 ชม.
ระบบประมูลคำค้นหา เป็นเครื่องจักรผลิตเงินให้ Google ตลอด 24 ชม.

แต่อย่างไรก็ดีนั้น การประมูลราคาที่สูงสุด ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้โฆษณาขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดของผลการค้นหา Google นั้นจะพิจารณา เรื่องความน่าสนใจของโฆษณาเป็นอีกปัจจัยด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ราคาประมูลที่สูงที่สุดเท่านั้น มันทำให้เหล่านักโฆษณาต้องมีการปรับปรุงโฆษณาให้ดึงดูดผู้ใช้งานให้มาคลิกให้มากที่สุด

การได้ทั้ง Yahoo , AOL , EarthLink และ Ask Jeeves มาเป็นหุ้นส่วนนั้น ทำให้อิทธิพลของ Google ต่อโลกอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งผลจากการกลายเป็นโปรแกรมหลักในเครือข่ายการค้นหาเหล่านี้ สุดท้ายก็ทำให้ผู้คนรู้จัก Google มากยิ่งขึ้น กลายเป็นเครือข่ายผลิตเงินให้ Google ในที่สุด

และมันส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ Google เติบโตขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ ในปี 2002 นั้น Google สร้างรายได้ 440 ล้านเหรียญ และสามารถทำกำไรได้ถึงกว่า 100 ล้านเหรียญ ซึ่งกำไรทั้งหมดมันมาจากการที่ผู้ใช้คลิกข้อความโฆษณาที่วางอยู่ทางขวาในหน้ารายงานผลการค้นหาบน Google.com

มันทำให้ บริน เพจ และ เอริก ชมิดต์ สามารถจะผลักดันให้ Google เติบโตได้อย่างเต็มที่ พวกเขาแทบจะปิดปากเงียบสนิท เกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินเพื่อไม่ให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Microsoft และ Yahoo รู้ว่าการค้นข้อมูลออนไลน์และธุรกิจการโฆษณาของตนนั้นทำกำไรได้มหาศาลขนาดไหน ซึ่งกว่าที่เหล่ายักษ์ใหญ่เหล่านี้จะรู้เท่าทัน Google ก็ได้พัฒนาบริการของตนเองจน ยากที่คู่แข่งจะตามทันเสียแล้ว

MSN ของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ยังไม่รู้ว่าจะถูกแย่งชิงเค้กจากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์โดย Google
MSN ของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ยังไม่รู้ว่าจะถูกแย่งชิงเค้กจากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์โดย Google

การเป็นผู้ริเริ่มทำเป็นคนแรก และการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทอเมริกาของ Google มันได้ย้ายเงินโฆษณาที่เดิมต้องจ่ายให้สื่อเก่า ๆ อย่าง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร มายังอินเทอร์เน็ตแทน และตอนนี้ บริษัทซึ่งตั้งเป้าหมายแรกเพียงแค่ต้องการเป็นผู้สนองการค้นข้อมูลเพียงอย่างเดียวอย่าง Google ได้ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต ผ่านการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตได้สำเร็จแล้ว 

แล้วเหล่ายักษ์ใหญ่ จะรู้ตัวเมื่อไหร่ ว่าพวกเขากำลังถูกแย่งชิงเค้กเม็ดเงินโฆษณาทางออนไลน์จำนวนมหาศาลที่ Google ดึงมาได้สำเร็จ และจะตอบโต้กับ การเติบโตที่รวดเร็วของ Google ได้อย่างไร Google จะทะยานไปทางไหนต่อ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

-> อ่านตอนที่ 7 : Global Goooogling

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Google ตอนที่ 5 : Hiring a Pilot

เอริก ชมิดต์ ไม่ได้มีความคิดที่จะมาเยี่ยมเยียน Google เลยในขณะที่เขาได้เดินทางมาพบ บริน และ เพจ ในเดือนธันวาคมปี 2000 แต่เนื่องจอห์น โดเออร์ แห่ง ไคลเนอร์ เปอร์กินส์ ที่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับ เอริก ชมิดต์ ซึ่ง โดเออร์นั้นอยากให้ ชมิดต์ ได้เข้าไปมีบทบาทไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ไปมีบทบาทในคณะบริหาร 

ชมิดต์ นั้นไม่เชื่อแต่แรกเริ่มว่าจะมีคนสนใจโปรแกรมค้นหาแบบจริง ๆ จัง  ๆ และจะสามารถทำให้มันเป็นธุรกิจได้ และในขณะนั้น ชมิดต์ ซึ่งกำลังเป็น CEO ของ Novell บริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดัง ก็ยังไม่ได้มีแนวคิดที่จะหางานใหม่แต่อย่างใด แต่สถานการณ์ของ Novell ขณะนั้นกำลังจะถูกขาย มันคือโชคชะตาลิขิตบางอย่างที่ทำให้ชมิดต์ ต้องเข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับ เหล่าผู้ก่อตั้ง Google

เอริก ชมิดต์ ที่ขณะนั้นเป็น CEO ของ Novell อยู่
เอริก ชมิดต์ ที่ขณะนั้นเป็น CEO ของ Novell อยู่

และในทางฟากฝั่งของสองคู่หู Google อย่าง บริน และ เพจ ก็คิดเช่นเดียวกัน ในตอนนั้นทั้งสองยังไม่ได้ต้องการหาคนอื่นมาเพื่อช่วยพวกเขา พวกเขากำลังสนุกกับการปั้นแต่ง Google ให้กลายเป็นโปรแกรมค้นหาระดับโลกให้ได้ และ การไปพบกับ ชมิดต์ ก็เหตุผลอันเดียวกัน เพราะต้องเอาใจโดเออร์ และ โมริตซ์ นักลงทุนรายใหญ่ของพวกเขาเพียงเท่านั้น

ทั้งบรินและเพจ ยังไม่ต้องการให้มีใครมาจุ้นจ้านใน Google โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งพวกเขามองว่ามันเป็นการทำให้การสร้างสรรค์ของพวกเขาอาจจะต้องหยุดชะงักลง

มันเป็นเวลากว่า 16 เดือนแล้วที่ โดเออร์ พยายามที่จะควานหามือดีมาทำหน้าที่  CEO ให้กับ Google แต่มันยังไม่มีใครหน้าไหนที่ทำให้สองคู่หูผู้ก่อตั้งอย่าง บริน และ เพจ พอใจได้เลย ทั้งสองปฏิเสธคนมานับต่อนับ ในสายต่อของพวกเขานั้น ทุกอย่างที่ Google กำลังไปได้สวยในสายตาของพวกเขา และทั้งคู่พยายามสุดความสามารถในการทำให้คนที่โดเออร์ส่งมานั้นไม่มีใครอยากกลับมาทำงานด้วยเลย

จอห์น โดเออร์ ต้องการ CEO มาช่วยประคับประคองสองคู่หูผู้ก่อตั้ง Google
จอห์น โดเออร์ ต้องการ CEO มาช่วยประคับประคองสองคู่หูผู้ก่อตั้ง Google

การพบกันครั้งแรกของพวกเขาทั้งสามนั้น เต็มไปด้วยการถกเถียง บริน นั้นเริ่มโจมตี ชมิดต์ก่อนเลย เกี่ยวกับ ความอ่อนด้อย ของ ชมิดต์ ในการใช้ยุทธศาสตร์กับบริษัท Novell ที่เขาทำงานอยู่ และชมิดต์ ก็เถียงกับอย่างรุนแรง แต่มันเป็นการเถียงกันด้วยปัญญาล้วน ๆ โต้กันไปโต้กันมา ซึ่งครั้งนี้ มันทำให้ ชมิดต์เริ่มเอนเอียง เพราะ เป็นเวลานานมากแล้วที่เขาไม่ได้ถกเถียงกับใครสนุกเท่ากับการถกเถียงกับคู่หูผู้ก่อตั้ง Google อย่าง บริน และ เพจ

และการถกเถียงครั้งนี้ ทำให้สองคู่หูนั้นเริ่มหันมาสนใจ ชมิดต์ หลังจากปฏิเสธตัวเลือกหลายคนก่อนหน้านี้ไปอย่างไม่ใยดี สิ่งที่สองคู่หูชอบชมิดต์ คือ เขาไม่เพียงเป็น CEO มากประสบการณ์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ รู้ลึก รู้จริง เสียด้วย ซึ่งเป็นที่ถูกใจกับเหล่าผู้ก่อตั้ง Google เป็นอย่างมาก และความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสามมันได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ซึ่งในที่สุดนั้น ชมิดต์ ก็บรรลุข้อตกลงกับ บริน และ เพจในเดือนมกราคมปี 2001 และสรุปทุกอย่างลงตัวในเรื่องการเงินและกฏหมายในเดือนมีนาคม 2001 โดยที่ ตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงเดือนกรกฏาคม นั้น ชมิดต์จะควบตำแหน่งประธาน Google และ CEO ของ Novell โดยจะใช้เวลาที่ Google หลังจากทำงานประจำวันที่ Novell เสร็จเรียบร้อยแล้ว

และเมื่อการควบรวมกิจการของ Novell เสร็จสิ้นในเดือนกรกฏาคมปี 2001 เขาจะเข้ารับตำแหน่ง CEO ของ Google อย่างเป็นทางการ และเขายังได้จ่ายเงินส่วนตัวกว่า 1 ล้านเหรียญเพื่อซื้อหุ้นบุริมสิทธิใน Google อีกด้วย

ชมิดต์ นั้นมีภารกิจมากมายที่ต้องทำใน Google เขารู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่เขาต้องชักจูง บรินและเพจ ให้ยอมรับความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจด้วย ยกตัวอย่างเช่น การบันทึกข้อมูลด้านการเงินและระบบเงินเดือนนั้นให้ปรับมาใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐานของ Quicken

และงานในสองปีแรกของชมิดต์ นั้น คือ การวางโครงสร้างทางธุรกิจและการจัดการไว้รอบวิสัยทัศน์ และ สิ่งต่าง ๆ ที่ บรินกับเพจ ได้ร่วมสร้างกันมาก่อนหน้าแล้ว  และผลักดันวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งทั้งสองเข้าไปในเส้นทางที่มีโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างรายได้ที่สามารถจับต้องได้ และ มาหล่อเลี้ยงธุรกิจได้จริง ๆ 

ซึ่งกลุ่มสามคนก็สามารถที่จะหล่อรวมกันทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้นด้วยความช่วยเหลือของคนนอกคนหนึ่ง คือ บิลล์ แคมพ์เบลล์ CEO ของ Intuit ซึ่งโดเออร์พาเข้ามาช่วยแนะนำพวกเขา มันทำให้ชมิดต์ ได้เรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะต้องสู้ เมื่อไหร่ต้องหาทางอื่น และจะหลอมรวมความไว้ใจต่าง ๆ ให้ทำงานไปอย่างลุล่วง ซึ่งมันได้ส่วนผสมที่ลงตัวของ Google โดย บริน เป็นนักวิ่งเต้นทางธุรกิจที่มีพรสวรรค์ ส่วน เพจ นั้น เป็นนักเทคโนโยลีที่ลึกล้ำที่สุดในกลุ่มสามคน ส่วน ชมิดต์  จะเน้นไปที่รายละเอียดของการดำเนินธุรกิจ

บิลล์ แคมพ์เบลล์ โค้ช CEO ระดับตำนาน มาคอยเป็นที่ปรึกษาให้ทั้งสาม
บิลล์ แคมพ์เบลล์ โค้ช CEO ระดับตำนาน มาคอยเป็นที่ปรึกษาให้ทั้งสาม

และเมื่อ Google ได้เริ่มเติบโตขึ้น มันก็ได้เห็นความจำเป็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ กับสิ่งที่ จอห์น โดเออร์ทำในการกระตุ้นให้ บรินและเพจ จ้าง ชมิดต์เข้ามาเป็น CEO นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ และการได้ บิลล์ แคมพ์เบลล์ โค้ช CEO ในตำนานมาช่วยเหลือในฐานะที่ปรึกษานั้น ก็ส่งผลช่วยให้ทั้งสามนั้นร่วมกันทำงานได้อย่างดียิ่งขึ้น พวกเขาได้รับการชี้แนะที่จำเป็น ในการดำเนินธุรกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ในรูปแบบของมืออาชีพ ในขณะที่การสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบในบริษัทยุคใหม่นั้น กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ ในที่สุด พวกเขาทั้งสามก็ได้ยอมรับระบบการบริหารแบบใหม่ ซึ่งมีกลุ่มคนสามคนอยู่ชั้นสูงสุด

แม้ดูเหมือน เอริก ชมิดต์ จะรั้งตำแหน่ง CEO ในกลุ่มสามคนที่ดูเหมือนจะมีอำนาจสูงสุด  แต่ในไม่ใช้ชมิดต์ ก็พบว่า อำนาจที่เขาได้มานั้นมันไม่ง่ายเลยที่จะควบคุมเหล่าคู่หูผู้ก่อตั้งทั้งสองที่ชอบเล่นนอกกรอบอยู่ตลอดเวลา ถึงตอนนี้ Google ก็ได้มืออาชีพมาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับคู่หูทั้งสองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ Google พร้อมที่จะทยานไปข้างหน้าแบบมืออาชีพ และการรังสรรค์นวัตกรรมที่เตรียมที่จะออกมาอย่างต่อเนื่องนับต่อจากนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับ Google ต่อไป โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม

–> อ่านตอนที่ 6 : The Google Economy

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :When Larry Met Sergey *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ