ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 13 : The Revenge of The Electric Car

ในช่วงกลางปี 2012 Tesla ทำให้เหล่าบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องตกตะลึง เมื่อบริษัทสามารถส่งมอบรถยนต์ รุ่น Model S ซึ่งเป็นยานยนต์สุดหรูใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน โดยที่การชาร์จ หนึ่งครั้งนั้นสามารถเดินทางได้ถึง 300 ไมล์ และสามารถที่จะทำความเร็วไปถึง 60 ไมล์ต่อชั่วโมงได้ ใน 4.2 วินาที และสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 7 คน และ ไร้ซึ่งเสียงรบกวน หน้าจอสัมผัสขนาด 17 นิ้ว พร้อมฟังก์ชันควบคุมมากมายในส่วนใหญ่ของรถ ซึ่งทุกอย่างนั้น Model S เหนือกว่ารถยนต์กลุ่มไฮเอนด์ส่วนใหญ่ ทั้งเรื่องของความเร็วในการขับขี่ จำนวนไมล์ต่อค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องเติมน้ำมัน ความรู้สึกในการขับขี่ แม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างพื้นที่เก็บของ Model S ก็กินขาด

Model S ของ Tesla นั้นได้แสดงให้โลกเห็นถึงรถยนต์ต้นแบบแห่งประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงเรื่องของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมัน ที่กำลังจะหมดโลกในอีกไม่ช้า ซึ่งตัว Model S นั้น มีชิ้นส่วนที่ขยับไปมาแค่โหลเดียว ชุดแบตเตอรี่ส่งพลังงานไปยังมอเตอร์ขนาดเท่ากับผลแตงโมที่ใช้หมุนล้อในทันที่ มันเป็นกลไกง่าย ๆ แต่แฝงไปด้วยประสิทธิภาพที่ยิ่งใหญ่

Model S ของ Tesla ได้ฉีกกฏของการซื้อขายรถยนต์แบบเดิม ๆ ลูกค้าไม่ต้องไปที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ หรือ ศูนย์รถยนต์อีกต่อไป เพื่อไปต่อรองเรื่องต่าง ๆ กับเซลล์ผู้กระหายเงิน แต่ ลูกค้าของ Tesla สามารถที่จะสั่ง Model S ได้ผ่านร้านของ Tesla โดยตรงรวมถึงสามารถสั่งซื้อผ่าน Online เว๊บไซต์ ง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก และสุดท้าย Tesla จะส่งรถไปถึงหาคุณถึงที่บ้านเอง

ปฏิวัติการซื้อรถยนต์ด้วยการสั่งซื้อผ่าน online
ปฏิวัติการซื้อรถยนต์ด้วยการสั่งซื้อผ่าน online

มันเป็นการปฏิวัตวงการรถยนต์ที่มีมากว่า 100 ปี แม้กระทั่งการดูแลรถยนต์ หากเกิดปัญหาข้อบกพร่องบางอย่าง วิศวกร Tesla สามารถเชื่อมต่อเข้าไปในรถผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแล้ว Download Software อัพเดตข้อบกพร่องให้ได้ทันที ราวกับมีพ่อมดในโลกเวทมนต์มาเสกให้ คงเป็นการเปรียบเทียบไม่เกินไปนัก

เรียกได้ว่าเจ้า Model S นั้นมันเปลี่ยนทุกอย่างของการคมนาคมไปอย่างสิ้นเชิง มันคือ คอมพิวเตอร์ติดล้อดี ๆ นี่เอง แม้ตอนแรกนั้น พวกบริษัทรถยนต์เก่าแก่ จะมอง Tesla เป็นเรื่องกระแสชั่วคราวที่ไม่นานจะตกไปเอง

แต่หลังจากรถยนต์ได้ส่งมอบไม่กี่เดือน ในเดือนพฤศจิกายนปี 2012 Model S ก็ได้รับตำแหน่งรถยนต์แห่งปีจากนิตยสาร MotorTrend ด้วยผลโหวตที่เป็นเอกฉันท์ครั้งแรก โดยสามารถเอาชนะ ปอร์เช่ BMW Lexus Subaru ซึ่งหลายเดือนต่อมา นิตยสาร ComsumerReport ให้คะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์กับ Model S นั่งคือ 99 เต็ม 100 พร้อมกับประกาศว่าเป็นรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยมีมา

รถยนต์แห่งปีจากนิตยสาร Motor Trend
รถยนต์แห่งปีจากนิตยสาร Motor Trend

อเมริกาไม่ได้เห็นบริษัทรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมานานมากแล้ว ครั้งสุดท้ายน่าจะเป็น ไครสเลอร์ เมื่อปี 1925 ย้อนไปเกือบ 100 ปี มัสก์ก็ไม่เคยทำรถยนต์มาก่อน แต่เขามีความฝันที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ เพียงแค่หนึ่งปีหลังจากวางจำหน่าย Model S ก็สามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำทันที

มัสก์ได้สร้างรถยนต์ในระดับเดียวกับที่ สตีฟ จ๊อบส์ สรรสร้าง iPhone ขึ้นมา และมันคล้าย ๆ กับที่ Blackberry , Nokia ต่างมอง iPhone ในช่วงแรกของการเปิดตัว เหล่าผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่  ทั้งจากอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ เยอรมนี ก็เริ่มหันมามองว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร

แม้จะประสบกับปัญหามากมายในรถยนต์รุ่นแรกอย่าง โรดส์เตอร์ แต่มัสก์ก็พยายามดูแลลูกค้าเก่าอย่างดี แม้จะมีปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงกว่าที่คิดไว้มาก แต่ Tesla เองก็ต้องการพิสูจน์ว่าบริษัทสามารถสร้างรถให้สามารถทำกำไรได้ เพื่อให้เอื้อต่อการได้รับโอกาสในการกู้เงินจากรัฐบาล และมันได้ส่งผลต่อการสร้างรถยนต์รุ่นที่สองอย่าง Model S ซึ่งมัสก์นั้นสามารถอ่านใจลูกค้าของเขาได้ขาด พวกเขายังสนับสนุนมัสก์เต็มที่

Tesla นั้นสามารถดิ้นรน จนอยู่รอดได้ ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2012 นั้น Tesla ขาย โรดส์เตอร์ รถยนต์รุ่นแรกของบริษัทไปได้กว่า 2,500 คัน มันทำให้ฝันของมัสก์นั้นเป็นจริง มันเป็นข้อพิสูจน์ว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นสามารถที่จะขับให้สนุกได้ไม่ต่างจากเจ้าตลาดที่ทำกัน

ในที่สุด Tesla ก็ก้าวไปอีกขั้นได้สำเร็จ กลายเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรที่แท้จริงได้ มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันของมัสก์เพียงคนเดียวอีกต่อไป Tesla ได้เปิดขายหุ้นให้แก่สาธารณชนในวันที่ 29 มิถุนายนปี 2010 ซึ่งทำให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 226 ล้านเหรียญ

Tesla เปิดขายหุ้นแก่สาธารณะชนได้สำเร็จ
Tesla เปิดขายหุ้นแก่สาธารณะชนได้สำเร็จ

ซึ่งการขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งนี้ของ Tesla นั้นกลายเป็นครั้งแรกของบริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศอเมริกานับตั้งแต่ฟอร์ดเปิดขายเมื่อปี 1956 ซึ่งเมื่อเงินทุนหลั่งไหลเข้ามา มัสก์ก็เริ่มขยายทีมวิศวกรรม และเริ่มสร้างโรงงานเพิ่มเติมเพื่อให้ผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น

เหล่าพนักงานของ Tesla นั้นต้องรับมือกับความต้องการที่สูงลิ่วของมัสก์ ซึ่งไม่ต่างจากเหล่าวิศวกรที่ร่วมชะตาเดียวกันที่ SpaceX บางครั้งพวกเขาถึงกับหัวปั่น มัสก์เคยนำรถ Model S ต้นแบบกลับไปที่บ้านในช่วงสุดสัปดาห์ แล้วกลับมาในวันจันทร์พร้อมขอให้เปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ราว 80 อย่าง เขาเก็บทุกรายละเอียดไว้ในหัว และจะไล่รายการรายสัปดาห์ว่าวิศวกรแก้อะไรไปบ้างแล้ว 

มันเป็นกฏแบบเดียวกันกับที่ SpaceX ทุกคนต้องทำตามที่มัสก์ขอ หากต้องการโต้เถียง ก็ต้องค้นคว้ามาอย่างดีพอ ว่าทำไมถึงทำมันไม่ได้ มัสก์ไม่ชอบคำว่าทำไม่ได้ เขาต้องการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้นำระดับโลกหลาย ๆ คนมีกัน แม้กระทั่ง สตีฟ จ๊อบส์เองก็ตาม ก็มีนิสัยคล้าย ๆ กันแบบนี้ การร่วมงานกับคนแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่เมื่อผลงานสำเร็จ มันก็มักจะเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่เสมอเช่นเดียวกัน

มัสก์นั้นสามารถคิดสิ่งที่ผู้บริโภคไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการอะไรเหมือนที่สตีฟ จ๊อบส์ทำได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องเบสิก อย่าง มือจับประตูหรือหน้าจอสัมผัสขนาดยักษ์ และมัสก์ยังสามารถที่จะคาดการณ์มุมมองร่วมในสินค้าและบริการทั้งหมดของ Tesla ได้

มัสก์นั้นสามารถที่จะจัดการทุกอย่างจากทัศนะแบบอุดมคติ เขามองว่าการออกแบบและตัวเลือกทางเทคโนโลยีทุกอย่างควรจะพุ่งเป้าไปที่การสร้างรถให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มัสก์จะชี้ขาดถึงขนาดที่ผู้ผลิตรถคู่แข่งไม่ทำกัน มันคอยผลักดันให้เขาและผู้คนรอบตัวที่ทำงานด้วยกับเขานั้นสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดได้ตลอดเวลา

แต่ มัสก์ กับ Tesla นั้นก็ต้องต่อเสื้อเพื่อความอยู่รอดอยู่แทบจะตลอดเวลา บริษัทสามารถผลิตรถเก๋งได้เพียงสัปดาห์ละสิบคันในตอนแรก แม้จะมีคำสั่งซื้ออีกหลายพันคันที่ต้องทำให้ลุล่วง 

ในปี 2012 นั้นมัสก์ก็ได้ทำเรื่องช็อก แม้สถานการณ์การเงินยังไม่ดีขึ้น โดยเขาตั้งใจที่จะสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จพลังงาน มัสก์ตั้งเป้าที่จะสร้างเครือข่ายชาร์จพลังงานทั่วโลกที่จะทำให้เจ้าของ Model S สามารถขับรถยาวบนไฮเวย์ได้และชาร์จพลังงานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

ซุเปอร์ชาร์จที่มัสก์ หวังว่าจะกลายเป็นเครื่องข่ายชาร์จทั่วโลกให้กับ Tesla
ซุเปอร์ชาร์จที่มัสก์ หวังว่าจะกลายเป็นเครื่องข่ายชาร์จทั่วโลกให้กับ Tesla

มัสก์ยืนยันว่าอีกไม่นานเจ้าของ Tesla จะสามารถเดินทางทั่วสหรัฐได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลงซักแดงเดียวเลยด้วยซ้ำ สถานีซูเปอร์ชาร์จ ที่ Tesla เรียกนั้น เป็นการลงทุนครั้งมโหฬารสำหรับบริษัทที่มีเงินเหลือเพียงน้อยนิด มีแต่คนหาว่าเขาเพี้ยนแบบสุด ๆ ในการทำเรื่องนี้

ซึ่งมันทำให้ในช่วงต้นปี 2013 นั้น Tesla กลับมาอยู่ในสถานะวิกฤติอีกครั้ง ถ้าบริษัทไม่สามารถเปลี่ยนยอดจองให้กลายเป็นยอดสั่งซื้อจริง ๆ ได้โดยเร็ว จะทำให้บริษัทสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก

มัสก์ถึงขั้นประกาศกันราคาขายต่อ Model S ให้ลูกค้าด้วย ซึ่งมัสก์นั้นได้ค้ำประกัน คำสัญญาดังกล่าวด้วยเงินหลายพันล้านของตัวเขาเอง และได้วางแผนการป้องกันขั้นสูงสุดให้กับ Tesla เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่เลวร้ายมากขึ้นไปกว่านี้

ช่วงเดือน เมษายนของปี 2013 มัสก์ได้ติดต่อเพื่อนสนิทของเขาอย่าง แลร์รี่ เพจ ที่ Google มัสก์นั้นกังวลกับสถานการณ์ของ Tesla ว่าจะอยู่รอดต่อไปได้อีกสองสามสัปดาห์ได้หรือไม่ การให้ Google เข้าซื้อ Tesla อาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายหากไม่สามารถกู้สถานการณ์ของ Tesla ได้จริง ๆ 

แต่ปาฏิหาริย์ มันก็เกิดขึ้นกับมัสก์อีกครั้ง เหล่าพนักงานขายของ Tesla สามารถทำยอดขายรถได้อย่างมหาศาล แม้ Tesla นั้นจะมีเงินสดในธนาคารเหลือเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์แล้วนั้น แต่ยังสามารถผลิตรถยนต์ออกไปมากพอในระยะเวลาเพียงแค่ 14 วัน

ซึ่งมันทำให้การเงินในไตรมาสแรกของปี 2013 พุ่งกระฉูดขึ้นทันที ในเดือนพฤษภาคม ปี 2013 นั้น Tesla สามารถประกาศกำไรก้อนแรกได้สำเร็จในฐานะบริษัทมหาชน ซึ่งสามารถทำกำไรได้ 11 ล้านเหรียญจากยอดขายกว่า 562 ล้านเหรียญ

โดยบริษัทสามารถส่งรถยนต์ Model S ออกไปได้กว่า 1,400 คัน ส่งผลให้หุ้นของ Tesla พุ่งขึ้นจาก 30 เหรียญไปแตะที่ 130 เหรียญ ทำให้ Tesla สามารถจ่ายเงินกู้คืนให้กับรัฐบาลได้สำเร็จ แถมยังเป็นการจ่ายก่อนกำหนด

Tesla Model S รถยนต์ที่มาพลิกสถานการณ์บริษัทได้สำเร็จ
Tesla Model S รถยนต์ที่มาพลิกสถานการณ์บริษัทได้สำเร็จ

สิ่งสำคัญที่ มัสก์ทำไปแต่ผู้ผลิตรถคู่แข่งพลาดหรือไม่ตั้งใจที่จะทำ ก็คือการเปลี่ยนให้ Tesla กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ บริษัทไม่ได้แค่ขายรถให้ใครสักคนเท่านั้น แต่บริษัทกำลังขายภาพลักษณ์ ขายความรู้สึกที่ว่าพวกเขากำลังย่างเท้าเข้าสู่อนาคต เป็นความผูกพัน คล้าย ๆ กับที่ apple ทำกับ ทั้ง Mac , iPod หรือ แม้กระทั่ง iPhone แม้แต่คนไม่ศรัทธาจะเข้าสังกัด apple เต็มตัวก็ยังถูกถึงเข้าจักรวาลของพวกเขาเมื่อซื้อฮาร์ดแวร์ และ ดาวน์โหลดซอฟท์แวร์อย่าง iTunes

รูปแบบของ Tesla ไม่เพียงแค่ทำให้ ธุรกิจแนวคิดเดิม ๆ ของอุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงออกว่ารถไฟฟ้าคือแนวคิดใหม่ของยานยนต์ด้วย อีกไม่นานบริษัทรถยนต์อื่น ๆ ล้วนจะต้องทำตามหลักการที่นำโดย Tesla

แม้หลายคน อาจจะเคยปรามาส มัสก์ว่าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าคือโอกาสทางธุรกิจที่ห่วยแตกที่สุดของโลกใบนี้ เหล่านักลงทุนส่วนใหญ่ ต่างกระโจนหนี ในความคิดเพ้อฝันของมัสก์ โอกาสที่จะทำกำไรกับธุรกิจนี้มันมีน้อยมาก ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Tesla แตกต่างจากคู่แข่งก็คือความมุ่งมั่นในการพุ่งชนวิสัยทัศน์ของตัวเองโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงไปเลย ซึ่งนั่นก็คือการทุ่มเทสุดตัวให้กับการทำตามมาตรฐานของมัสก์ เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของสิ่งที่เคยมีมานั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 14 : A Burning Man

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

ประวัติ Elon Musk ตอนที่ 12 : Rocket Launcher

หลังจากมัสก์ ได้พาทั้ง Tesla และ SpaceX ผ่านวิกฤติครั้งสำคัญมาได้สำเร็จ มันก็ถึงเวลาที่เขาจะได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไป ที่จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติ เป้าหมายใหญ่ของมัสก์ สำหรับ SpaceX คือ การใช้ความก้าวหน้าทางการผลิตและพัฒนาการของแท่นปล่อยเพื่อทำให้ต้นทุนสำหรับนำสิ่งต่าง ๆ ไปยังอวกาศถูกลงจนกลายเป็นธุรกิจได้

ฟัลคอน 9 นั้นถือเป็นหน้าเป็นตาของ SpaceX จรวดที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 9 ตัว โดยมีเครื่องหนึ่งอยู่ตรงกลาง และ อีกแปดเครื่องล้อมรอบไว้ มันได้มีการใส่ตู้สัมภาระรูปกลมสำหรับขนดาวเทียม หรือ แคปซูล ที่สามารถขนส่งมนุษย์ขึ้นอวกาศได้ 

ซึ่งรูปลักษณ์ภายในนอกของฟัลคอน 9 นั้นไม่มีอะไรฉูดฉาดเป็นพิเศษ มันคือยานอวกาศที่เทียบเท่ากับแล็ปท็อปของ apple มันเป็นเครื่องจักรที่เรียบหรูมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สำหรับงานด้านอวกาศ

หลังการปล่อยได้ 20 วินาที ผู้ชมที่อยู่ห่างออกไปสองไมล์ จึงจะได้ยินเสียงกึกก้องแบบเต็ม ๆ หูของฟัลคอน 9 เป็นเสียงที่ไม่เหมือนใคร ราวหนึ่งนาทีให้หลังมันจะเหลือแค่จุดสีแดงบนท้องฟ้า แล้วจากนั้นก็หายวับไปในอวกาศ

ฟัลคอน 9 กับเครื่องยนต์ 9 ตัว
ฟัลคอน 9 กับเครื่องยนต์ 9 ตัว

สำหรับอีลอนมัสก์ ภาพที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้กลายเป็นประสบการณ์ที่คุ้นชินอย่างหนึ่ง SpaceX ส่งจรวดขึ้นไปประมาณเดือนละครั้ง ขนส่งดาวเทียมให้บริษัทและชาติต่าง ๆ รวมทั้งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ตอนที่ฟัลคอน 1 พุ่งทะยานจาก ควาจนั้น มันยังเป็นผลงานของสตาร์ทอัพ ซึ่งต่างจาก ฟัลคอน 9 ที่เป็นผลงานของประเทศมหาอำนาจทางการบินและอวกาศ SpaceX สามารถตัดราคาคู่แข่งในสหรัฐของตัวเอง ทั้ง โบอิ้ง ล็อกฮีดมาร์ติน และ ออร์บิทัลไซแอนเซส ด้วยราคาที่มีส่วนต่างมากจนเหลือเชื่อ

มัสก์ได้พิสูจน์ว่า จรวดสามารถที่จะผลักดันสัมภาระขึ้นสู่อวกาศจากนั้นก็กลับมายังโลก และลงจอดอย่างแม่นยำที่สุดบนแท่นที่ลอยอยู่กลางทะเล หรือ แม้แต่แท่นปล่อยเดิมของมันเองก็ตาม

ซึ่งแทนที่จรวดจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ หลังกระแทกลงในทะเล SpaceX ใช้เครื่องยนต์ขับดับถอยกลับค่อย ๆ ลดลงจอดอย่างนุ่มนวล และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งทำให้ในอนาคตนั้น SpaceX คาดไว้ว่าจะตัดราคาลงเหลือแค่ หนึ่งในสิบของคู่แข่งได้สำเร็จ

ซึ่งโมเดลการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่นั้น มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันทำให้เกิดการลดราคาครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ และมันจะกลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของ Spacex ที่คู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่ยากที่จะตามทัน

ซึ่งสุดท้าย มัสก์มองว่า มันจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เหมือนกับสายการบินต่าง ๆ ในทุกวันนี้ ที่ใช้เครื่องบินลำเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างรายได้ ซึ่ง SpaceX นั้นหวังจะยึดส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ในการปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์ของโลกให้ได้

ซึ่งเป้าหมายของมัสก์คงไม่ได้ไกลเกินเอื้อม ในปัจจุบันนั้น SpaceX ส่งดาวเทียมให้ลูกค้า ทั้งชาว แคนาดา ยุโรป และ เอเชีย ไปกว่า 24 ครั้ง มีลูกค้ามารอต่อคิวกับ SpaceX กว่า 50 ราย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 5,000 ล้านเหรียญ

SpaceX นั้นไม่ได้พึ่งพา ซัพพลายเออร์จากต่างชาติมากนัก ซึ่งเป็นโมเดลที่หลาย ๆ บริษัทมักจะทำกัน มันทำให้ง่ายที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ทำให้ต้นทุนสูงเช่นเดียวกัน สำหรับ SpaceX นั้น นอกจากจะสร้างเครื่องยนต์ ลำตัวจรวด และแคปซูลเองแล้ว SpaceX ยังออกแบบเมนบอร์ด และแผงวงจร เซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือน ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ รวมถึง แผงพลังงานแสงอาทิตย์ของตัวเองด้วย

SpaceX พยายามอยู่หลายปีเพื่อพิสูจน์กับ NASA ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตรฐานก็ดีพอที่จะสู้กับอุปกรณ์เฉพาะราคาแพงที่เชื่อกันมาในอดีต ซึ่งอุปกรณ์ของ SpaceX โดยส่วนใหญ่นั้นมักจะสร้างขึ้นจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปโภคที่หาได้ทั่วไปเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งหลาย ๆ เทคโนโลยีของ SpaceX นั้น เริ่มลอกเลียนแบบโดยคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งทีสำคัญอย่าง Blue Origin ของ เจฟฟ์ เบซอส ซึ่งใช้วิธีการดึงคนของ SpaceX โดยเสนอเงินให้มากกว่าถึงสองเท่า มันทำให้ความสัมพันธ์ของมัสก์ และ เบซอสย่ำแย่

Blue Orign ของ เจฟฟ์ เบซอส คู่รักคู่แค้นของ มัสก์
Blue Orign ของ เจฟฟ์ เบซอส คู่รักคู่แค้นของ มัสก์

ตัวของมัสก์เองนั้น เติบโตในฐานะของ CEO และผู้เชี่ยวชาญด้านจรวด พร้อม ๆ กับที่ SpaceX ได้รับการบ่มเพาะในฐานะบริษัทจนได้ที่ ในตอนเริ่มต้นการเดินทางของ ฟัลคอน 1 ที่ SpaceX มัสก์นั้นได้เรียนรู้จากหน้างานเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมกับตำราที่เขาหามาอ่านเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับจรวดขนาดใหญ่ขึ้นมา 

และ SpaceX ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนา พวกเขายังทำการทดลองยานพาหนะใหม่ ๆ ระหว่างการปล่อยจรวดจริง ๆ ในแบบที่บริษัทอื่นไม่กล้าทำกัน หลายครั้ง SpaceX มักประกาศว่าพวกเขากำลังทดลองเครื่องยนต์ใหม่หรือขาสำหรับลงพื้นแบบใหม่

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ก็ล้วนแล้วมาจากความคิดของมัสก์แทบจะทั้งสิ้น มัสก์มักจะขอให้พนักงานทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และความทะเยอทะยานในการทำสิ่งใหม่ ๆ ของมัสก์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมดลงไป

ตัวอย่างการปล่อยยานในเดือนธันวาคมปี 2010 ซึ่ง SpaceX ได้ส่ง ดรากอนอคปซูลไปยังวงโคจรโลกและกลับมาได้สำเร็จ  ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของบริษัท และใคร ๆ ก็ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมานานหลายปีกับโครงการดังกล่าว

ดรากอน แคปซูลของ SpaceX
ดรากอน แคปซูลของ SpaceX

ซึ่งหลังจากปล่อยสำเร็จ ก็ได้มีงานเลี้ยงฉลองขึ้น แต่แทนที่จะเป็นการฉลองชัยสำหรับ SpaceX แต่มัสก์นั้นกลับต่อว่าทีมงานเป็นชั่วโมง เพราะโครงยึดหลังคาสำหรับจรวดในอนาคตล่าช้ากว่ากำหนด

แต่สุดท้ายนั้นคำถามที่ค้างคาใจของเหล่าพนักงาน SpaceX คือ เมื่อไหร่กันที่พวกเขานั้นจะได้เห็นผลตอบแทนก้อนโต หลังจากความพยายามทุ่มเทอย่างหนักให้กับ SpaceX ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้พนักงาน SpaceX ส่วนใหญ่นั้นจะได้รับค่าจ้างที่ดี แต่มันก็ไม่ได้มากมายจนเกินไปเมื่อเทียบกับความทุ่มเท และความอัจฉริยะของพวกเขาเหล่านี้

ส่วนใหญ่พวกเขามาเพราะต้องการที่จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ร่วมกับมัสก์ พวกเขาเห็นวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ แม้จะสามารถไปทำงานที่รับเงินเดือนได้สูงกว่านี้ แต่ เป้าหมายของ SpaceX เป็นสิ่งที่ท้าทายพวกเขาให้ยืนหยัดอยู่สู้กับมัสก์ เพื่อสร้างสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติเราในเรื่องอวกาศนั่นเอง 

–> อ่านตอนที่ 13 : The Revenge of The Electric Car

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Sand Hill Road *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ